กลับสู่หน้าหลัก

ทำเหมือนไม่ได้ทำ

โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 15:50:12

เมื่อก่อนคิดว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องยุ่งยากเกินตัว
เป็นเรื่องของการนั่งสมาธิ เดินจงกรมอย่างเดียว
เป็นเรื่องของพระของเจ้า คนธรรมดาอย่างเราไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวด้วย

แต่หลังจากเห็นความสับสนวุ่นวายในชีวิต
เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วก็แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
ก็ปล่อยให้มันเกิดอยู่นั่นแหละ ทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ
เหมือนเป็นภาวะที่ต้องจำทน
เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์สับเปลี่ยนวนเวียนกันไป

ความทุกข์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในทุกผัสสะที่มากระทบ
ไม่ว่าจะเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าสังเกตดูดีๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็พาใจให้ขุ่นมัวได้
ตาเห็นรูปที่ไม่สวยไม่งาม หูได้ยินเสียงที่ไม่เพราะ
จมูกได้กลิ่นเหม็น ลิ้นรับรสที่ไม่พึงปรารถนา
กายสัมผัสสิ่งที่ไม่นิ่มนวล ทั้งหมดมาลงอยู่ที่ใจ
เกลียด ชัง ไม่ชอบ ไม่อยากเอา ไม่อยากได้
แม้แต่ความคิดที่อยู่ในหัวตลอดวันตลอดคืน
ก็สามารถทำให้ใจรับทุกข์ได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามใจก็ยินดี
อยากให้มีความสุขอยู่อย่างนั้นนานๆ
ชีวิตไม่น่าจะมีอยู่แค่ว่าเมื่อสุขหรือทุกข์ขึ้นมาก็แล้วๆ กันไป

จึงเห็นว่าน่าจะลองปฏิบัติธรรมดู เผื่อความทุกข์จะลดน้อยลงบ้าง
ก่อนนอนจึงหันมานั่งสมาธิ เพื่อให้จิตเกิดความสงบ แต่ก็เปล่า
นั่งๆ ไป ก็ไม่เห็นว่ามันจะสงบตรงไหน มีแต่ความฟุ้งซ่าน
ส่วนมากก็เคลิบเคลิ้มไปเรื่อย บางครั้งก็วูบลงไปในความเวิ้งว้าง
วันไหนที่เหน็ดเหนื่อยมามาก ความง่วงก็เอาไปกินอีก
จึงปฏิบัติไปแบบไม่ได้อะไร แล้วก็ไม่เห็นว่าการนั่งหลับตาทำสมาธิ
มันจะพ้นทุกข์ตรงไหน แต่ก็ปฏิบัติไปแบบไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้

หลังจากที่ได้มาเจอครู จึงรู้ว่าแท้จริงแล้วการปฏิบัติธรรม
ไม่เกี่ยวกับรูปแบบ พิธีการเดิมๆ ที่คิดเอาไว้เลย
เพียงมีสติรู้ทันกายใจของเรา ในปัจจุบันขณะ
จะสถานที่ไหน อยู่ในอิริยาบถอย่างไรก็ปฏิบัติได้
จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็รู้ไป
เพียงแต่มี รู้ คือสติและสัมปชัญญะกำกับอยู่ด้วย
ก็สามารถดำเนินไปในชีวิตประจำวันอย่างปกติ
แล้วไม่ต้องไปป่าวประกาศบอกใครว่าเราเป็นนักปฏิบัติ
ไม่ต้องไปทำอะไรที่มันผิดแปลกแตกต่างกว่าชาวบ้านเขา
เราจึงทำ(ปฏิบัติ)เหมือนไม่ได้ทำอะไร ในสายตาคนภายนอก

เมื่อมองย้อนเข้ามาดูภายในจิตในใจของตัวเอง
การทำเหมือนไม่ได้ทำ ก็คือการทำที่เป็นธรรมชาติที่สุด

เมื่อวางจิตวางใจได้ถูก การปฏิบัติธรรมจึงไม่ได้ยากลำบากอะไรเลย
เพียงแค่มีความรู้ตัวเพียรตามดูจิตที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้นก็พอแล้ว
แต่ที่ยังทำให้ต่อเนื่องไม่ได้ก็เพราะว่า การรู้มักจะคู่กับการเผลอ
ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอะไรนักหนา
ที่จะต้องมานั่งโทษตัวเองว่าไม่น่าเผลอเลยเรา
ถ้าไม่เผลอนี่สิผิดปกติสำหรับคนอย่างเราๆ
เมื่อเผลอแล้วก็แล้วๆ กันไป ก็รู้ว่าเมื่อกี้เผลอไปนะ
ก็กลับมาอยู่ที่รู้ในปัจจุบันอารมณ์ต่อไป

เมื่อรู้ไปบางครั้งเราก็คิดว่าที่ว่ารู้ไม่รู้ว่ารู้จริงหรือเปล่า
หรือว่ารู้แบบเผลอเพ่งไป อันนี้ก็ให้เตือนตัวเองไว้ว่า
ถึงจะรู้แบบเพ่งก็ช่างมันเถอะ ขอเพียงมีสติระลึกได้อยู่เสมอๆ ก็พอแล้ว
เมื่อชำนาญมากขึ้น ก็จะสังเกตได้ว่าระหว่างการเผลอกับการเพ่ง
จะมีตัวผู้รู้อยู่ ที่แยกออกมาจากอารมณ์ต่างๆ ที่ถูกรู้

แต่การปฏิบัติไม่ใช่ว่าจะมีอยู่เพียงแค่นี้
ที่เราเรียกว่าการดูจิต ก็คือเมื่อดูอารมณ์ หรือกิเลสที่เข้ามากระทบแล้ว
ต้องหันกลับมามองดูจิตตัวเอง ว่ามีความรู้สึกอย่างไร
จิตมีความยินดีหรือยินร้าย ต่ออารมณ์ที่ถูกรู้อยู่นั้น
แต่บางครั้งดูจนอารมณ์นั้นหายไปหรือเปลี่ยนเรื่องไปแล้ว
แต่จิตก็ยังมีความยินดียินร้ายค้างคาอยู่ต่อไปอีก
เมื่อตามดูจิตไปเรื่อยๆ ความยินดียินร้ายนั้นก็จะหายไปเอง

จิตที่มีความยินดียินร้ายจะมีผลกระทบมาถึงกายด้วย
อาจเป็นความอึดอัด แน่นหน้าอก วูบไหว ฯลฯ
จึงสังเกตได้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเข้าไปยึดไปอยากเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อปรารถนาที่จะพ้นจากทุกข์
ผมก็มีคำขวัญสำหรับตัวเองว่า ขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ปฏิบัติ
ดีกว่ายืน เดิน นั่ง นอน อยู่เฉยๆ หายใจทิ้งไปวันๆ
เปลืองเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์

เมื่อปฏิบัติๆ ไป ทำๆไป แบบสบายๆ
ก็ถึงจุดหนึ่งที่ว่า ทำเหมือนไม่ได้ทำ

ผมเขียนกระทู้นี้ขึ้นมาด้วยความรู้ที่มีอยู่แค่หางอึ่ง
แต่จุดประสงค์หลักก็เพื่อเตือนสติตัวเองแค่นั้น
ผิดถูกยังไงก็ขอให้ครูมาช่วยขยายความแล้วหล่ะครับ : )
โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 15:50:12

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 16:20:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 16:27:41
เพื่อน ๆ น้อง ๆ บางคนมักจะบ่นให้ฟังว่า ทำไปไม่ถึงไหนซะที แล้วก็รู้สึกท้อใจ
ที่จริง ก็ไม่เห็นต้องท้อใจให้เสียเวลาเลยนะ  ทำไปแบบสบาย ๆ อย่างที่คุณโยคาวจรว่าไว้ในกระทู้นี้
คิดเสียว่า ขอให้ได้ลงมือทำ ก็พอแล้ว 
ตรวจสอบตัวเองบ้างเป็นระยะ
แล้วปล่อยให้ผลเป็นไปเอง ก็น่าจะใช้ได้แล้วละ(มั้ง)
โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 16:27:41

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 17:28:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ วิทวัส วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 21:28:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พีทีคุง วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 02:23:25
"การทำเหมือนไม่ได้ทำ ก็คือการทำที่เป็นธรรมชาติที่สุด"
เป็นศิลปะอันเอกในการรู้เข้ามาที่ชีวิตและการใช้ชีวิต
เลยทีเดียว
อนุโมทนาครับพี่โยฯ
โดยคุณ พีทีคุง วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 02:23:25

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 07:52:51
ขออนุโมทนากับโยด้วยครับ
สิ่งที่โยปฏิบัติมานั้น เป็นการปฏิบัติที่ราบรื่นและมีพัฒนาการมาตามลำดับ
สิ่งที่ผมเห็นจากโยอย่างเสมอต้นเสมอปลายก็คือ
ความอดทนและความพากเพียร
ประเภทขี้เกียจก็ปฏิบัติ ขยันก็ปฏิบัติ
ถูกดุถูกด่าอย่างไร ก็พากเพียรปฏิบัติ คลำผิดคลำถูกมาตามลำดับ
เป็นตัวอย่างที่ดีของนักปฏิบัติคนหนึ่งเชียวครับ

สิ่งที่โยเขียนมาให้อ่าน เป็นเรื่องที่มีประโยชน์
เพราะเอาเรื่องจริงของตนเองมาเขียน
กว่าจะได้ความรู้มาเขียนได้ขนาดนี้
ก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความลำบากมามาก
เพื่อนฝูงได้มาอ่านบทเรียนเหล่านี้ ก็นับว่าเป็นกำไร ที่ได้อ่านกันฟรีๆ

แต่เมื่ออ่านแล้ว ก็มีจุดที่ฝากให้ระวังใจตนเองนิดหน่อยครับ
คือบางคนอ่านวิธีปฏิบัติของโยแล้ว อาจจะรู้สึกว่าวิธีนี้ดีที่สุด
คือเจริญสติสัมปชัญญะไปเลย โดยไม่ต้องทำสมาธิ
อันที่จริงการดูจิตกับการทำสมาธิเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกัน
พระป่าส่วนมาก ท่านจะเริ่มการปฏิบัติด้วยการทำสมาธิ
เพราะท่านมีเวลามาก มีผัสสะรุนแรงน้อย มีงานคิดน้อยกว่าชาวเมือง
เมื่อจิตมีสมาธิแล้ว จึงน้อมจิตมาเจริญปัญญา
เรียกว่าใช้ สมาธิอบรมปัญญา ที่สุดก็มีทั้งสมาธิและปัญญา

ส่วนพวกเราชาวเมือง จะทำสมาธิก็ไม่มีเวลาความต่อเนื่อง หรือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย
จึงต้องช่วยตนเองด้วยการใช้ ปัญญาอบรมสมาธิ
คือใช้สติปัญญารู้นิวรณ์เข้าไปเลยจนนิวรณ์สงบ
แล้วจิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ พอที่จะเจริญปัญญาต่อไปได้เช่นกัน
แต่สมาธิชนิดนี้ มักจะเป็นขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ
นานๆ จิตจึงจะรวมลงเอง ถึงอัปปนาสมาธิสักครั้งหนึ่ง
บางคนไปรวมครั้งแรกเมื่อบรรลุอริยมรรคเลยก็มี

พวกเราเมื่อใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็เป็นเรื่องที่เหมาะกับตนเอง
วิธีการของท่านอื่น โดยเฉพาะการใช้สมาธิอบรมปัญญา
ก็เป็นเรื่องดีของท่านเหมือนกัน
การปฏิบัติ จึงไม่มีคำว่า แนวทางใด ดีที่สุด
เพราะท่านใดใช้แนวทางใดแล้ว จิตใจผ่อนคลายจากกิเลสตัณหา
ผ่อนคลายจากความทุกข์อันเกิดแต่ความยึดมั่น
ก็นับว่าแนวทางนั้น ดี สำหรับท่านนั้นแล้ว
นักปฏิบัติจึงไม่ขัดแย้งกัน เรื่องแนวทางของใครดีกว่าของใคร
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 07:52:51

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:06:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 11:13:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 11:39:54
_/I\_ สาธุกับพี่โยครับ อิ อิ สำหรับคำขวัญสุดแจ๋วนั้นผมขอยืมไปใช้บ้างนะครับ ^-^
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 11:39:54

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 12:59:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ สายขิม วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 13:39:56
ตอนนี้ของขิมกำลังอยู่ในภาวะที่ปฏิบัติเหมือนกับพวกที่เก็บเล็กผสมน้อย
คือว่าขิมพยายามทำทุกวัน จะน้อยจะมาก อีกเรื่องนึง ทำไป ทำไป จนบางครั้งท้อ
ถามตัวเองว่า เอ การที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ พยายามรู้ตัวตลอดทุกอิริยาบท
เดิน นั่ง กิน พิมพ์งาน ยกเว้นตอนคิดงาน มักเผลอตลอด ยิ่งทำขิมก็ยิ่งพบกับ
ความเผลอของตัวเอง บางวันเผลอเป็นร้อย ๆ ครั้ง ร้อย ๆ ครี้งจริง ๆ ค่ะ

ยิ่งตอนหลัง งายเยอะ ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด ไม่ได้ไปพบครูบาอาจารย์
ขิมก็งมทำไปเรื่อย คือว่าทำแล้วก็ไม่รู้ว่าที่ทำน่ะมันถูกหรือผิด พอนึกได้
ก็ทำความรู้ตัวตลอด แต่ก็ยังสงสัยว่า เอ เราทำแค่นี้น่ะ น้อยไปรีปล่าว
แล้วทำแค่นี้มันจะเกิดปัญญาเหรอ ทำไมทุกข์เราไม่เห็นน้อยลงเลย
มันก็ยังทุกข์อยู่นั่นแหละ เพียงแต่ขี้เกียจไปใส่ใจมัน มันทุกข์ก็ช่างมัน
เดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็มาใหม่ บางทีการที่เรางดการต่อล้อต่อเถียง
ก็เพราะว่าเบื่อที่จะไปต่อล้อต่อเถียง รำคาญ เถียงไปก็แค่นั้น
เราหงุดหงิดเดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็มาใหม่ มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี่แหละค่ะ

บางทีก็เห็นการสู่รู้ของตัวเอง คือว่าประเภทอยากรู้อยากเห็น ก็ช่างมัน
รู้ไปก็แค่นั้นไม่ใช่เรื่องของเรา รู้ไปเราก็ช่วยอะไรไม่ได้ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ
คิดอะไรมาก พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว แล้วก็ต้องวนเวียนแบบนี้ใหม่อีกนั่นแหละ

แต่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจิตจะยอมรับแบบใสแจ๋วนะคะ มันมีความขุ่นมัว
มีวูบไหว จะมากจะน้อยแล้วแต่เหตุการณ์ แต่ที่สังเกตุได้อย่างนึงก็คือ
ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ ตกใจ สะเทือนใจ มันจะมีอาการวูบ ๆ ที่อก  อาการ
เหมือนกันทุกประการ เพียงแต่จะแรงจะเบาต่างกันเท่านั้นเอง
ถ้าไม่แยกอารมณ์ออกมา เป็นว่า ดีใจนะ เสียใจนะ ขิมว่าอาการที่เกิดกับจิตน่ะ
ไม่ได้แตกต่างกันเลยค่ะ ขิมก็ไม่ทราบว่าถูกหรือปล่าวนะคะ แต่ที่ปฏิบัติอยู่
พบแบบนี่น่ะค่ะ
โดยคุณ สายขิม วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 13:39:56

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 15:14:02
ขอบพระคุณมากค่ะ
สาธุ  _/|\_
โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 15:14:02

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 08:11:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 09:39:02
สาธุครับขิม
ดีใจด้วยที่ขิมพบว่าตนเองเผลอวันละเป็นร้อยๆ ครั้ง
ผมเองก็เผลอแทบทุกนาทีเหมือนกัน
ได้เจอเพื่อนที่เผลอเก่งๆ แล้วดีใจครับ
ดีใจกว่าเจอคนที่เผลอวันละครั้ง(ตั้งแต่ตื่น จนหลับ)เสียอีก

ผมเองก็เหมือนขิม คือปฏิบัติมานานนักหนาแล้ว ทุกข์ไม่ได้น้อยลงเลย
คือเห็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาที่มีสติสัมปชัญญะ
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นและดับไปเลย
แต่ความต่างจากเมื่อก่อนก็คือ ความทุกข์มันละเอียดขึ้นทุกที
กระทั่งปีติสุขเพราะความสงบ ก็ยังเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นภาระ เป็นทุกข์ของจิต

ผมเองก็เห็นความสู่รู้ของจิตเหมือนขิม
คือเมื่อจิตทรงตัวรู้อยู่สักช่วงหนึ่ง
มันจะไหวตัวขึ้นมา เป็นความอยากรู้ อยากทบทวน อยากหาข้อสรุป
เกี่ยวกับการที่จิตทรงตัวรู้อยู่นั้น
เกิดเป็นอุทธัจจะ อยู่เสมอ เพราะจิตมันกลัวจะไม่พ้นทุกข์

จิตของผมก็เหมือนขิม ที่มันยังมีความวูบไหวเป็นครั้งคราว
และความวูบไหวต่างๆ นั้น ก็คือทุกข์ทั้งก้อน
แต่เดี๋ยวนี้ เพียงเห็นสิ่งที่มันไม่วูบไม่ไหว เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

สรุปแล้ว ปฏิบัติมาตั้งนาน ก็ยังมีสภาวะอย่างเดียวกับที่ขิมกล่าวไว้
เพราะสภาวะทั้งหมดที่ขิมกล่าวไว้นั้น
คือสภาวะปกติธรรมดา ของคนที่ยังไม่หมดกิเลสนั่นเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 09:39:02

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ สายขิม วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 17:09:36
_/\_ ขอบพระคุณค่ะครู  ขิมอ่านธรรมะของครูแล้วเหมือนได้ต่อยอด
การปฏิบัติของตัวเอง ยิ่งช่วงที่การปฏิบัติถดถอยด้วยแล้ว
ทำให้มีแรงฮึดขึ้นอีกเป็นกองเลยค่ะ
โดยคุณ สายขิม วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 17:09:36

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ เจื้อย วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 17:44:57
_/I\_ สาธุค่ะ ที่บอกว่าปฏิบัติมาตั้งนาน ทุกข์ก็ไม่ได้น้อยลง หนูก็เป็นอยู่เหมือนกัน แต่เป็นในแง่ที่ว่า ยิ่งปฏิบัติมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นทุกข์มากขึ้นเท่านั้น และสิ่งที่เห็นว่าทุกข์นั้น เมื่อก่อนไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์หรอก นึกว่าเป็นสุขเสียด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้กลับมองว่ามันเป็นทุกข์ไปซะแล้ว

เพียงแต่ว่า ขณะที่ไม่เผลอ จิตมันมีการปรับตัวรับกับความทุกข์ที่เข้ามาหาเราได้ดีขึ้น คือพอเรารู้สึกเป็นทุกข์ปุ๊ป ถ้าเรามีสติปั๊ป เราจะถอนจิตออกมาจากความทุกข์นั้นได้ง่ายขึ้น และหนูสังเกตเห็นว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น มันล้วนเกิดจากอารมณ์ปรุงแต่งของเราเองทั้งสิ้น ไม่มีใครมาทำให้เราทุกข์ได้ นอกจากเราทำตัวเราเอง (แบบว่า จิตมันโง่เอง) พอเราแยกจิตออกจากอารมณ์ได้ มองเห็นความปรุงแต่งของจิต ไม่ไปนั่งจมคลุกเคล้าอยู่กับมัน สักพักนึง เราจะมองเห็นมันค่อยๆสลายไป แต่แล้วมันก็เกิดขึ้นไหม่ได้อีกเรื่อยๆ เกิด ดับ เกิด ดับ ของมันอย่างนั้นแหละ ถ้าตามดูมันอยู่ มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าเลิกตามดูเมื่อไหร่ รู้สึกตัวได้อีกที ก็จมไปกับทุกข์นั้นแล้ว

เมื่อก่อนเคยได้อ่านคำพูดนึงน่าสนใจมาก เค้าบอกในทำนองที่ว่า เธอมีสิทธิที่จะใช้คำพูดที่ไม่ดีกับฉันได้ แต่คำพูดนั้นไม่มีสิทธิที่จะมากระทบจิตใจฉันได้ ตอนนั้น ก็ไม่รู้วิธีหรอกว่าเค้าทำวิธีไหนกันเหรอ แต่เดี๋ยวนี้รู้เทคนิคแล้วค่ะ : )

ป.ล สำหรับหนู ก่อนหัดดูจิต ไม่เคยเผลอเลยค่ะ แต่พอหลังปฏิบัติแล้ว รู้สึกตัวได้ว่าเผลอทั้งวัน เผลออยู่เกือบทุกนาที หรือบางทีทุกวินาทีก็มี แว๊บนึง เผลอแล้ว แว๊บนึง เผลอแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาทีไร ก็เผลอไปก่อนหน้านั้นแล้วทุกที และมีบางทีที่ขนาดรู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว ยังมีขี้เกียจปล่อยให้จิตเผลอต่อไปอีกก็มี แหะๆ
โดยคุณ เจื้อย วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 17:44:57

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ น้ำ วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 21:44:57
คุณโยเขียนได้เรียบง่าย งดงามจริงๆเลยครับ ตรงเหลือเกิน

ผมเองบางทีบอกเพื่อนว่า กำลังถือศีล กำลังปฏิบัติธรรม เพื่อนๆยังโห่เลยครับ
ว่ามาดไม่ให้ ก็ดีเหมือนกันครับ ท่าทางเรามันคงจะเหมือนคนบาปซะมากกว่า
ตกลงก็เลยปฏิบัติแบบมาดไม่ให้เนี่ยแหละครับ เก๋ดี

เดี๋ยวนี้พอมีทุกข์สุขเข้ามา
ก็ไม่ได้คิดจะไปหาเหตุของทุกข์ของสุขอย่างแต่ก่อนครับ
แต่มองดูความทุกข์ความสุขกันเลย อย่างนี้กระมังที่ท่านเรียกว่า ปฏิบัติตรง
คือตรงไปที่ทุกข์เลยทีเดียว ไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลาครับ
โดยคุณ น้ำ วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 21:44:57

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ โยคาวจร วัน พฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม 2543 08:04:07
(๏) ขอบคุณครับครู : )
และสาธุกับผู้ปฏิบัติทุกท่านด้วยครับ
อีกอย่างหนึ่งเคยสังเกตไหมว่าเวลา 1 ชั่วโมงปกติ
กับเวลา 1 ชั่วโมงตอนปฏิบัตินั่งสมาธิหรือเดินจงกรม มีความรู้สึกว่ามันไม่เท่ากัน
เดินๆ ไปกว่าจะครบตามที่กำหนดไว้ ทำไมมันช่างยาวนานเหลือเกิน
คงเหมือนทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่ไอน์สไตน์กล่าวว่า
เวลา 1 ชั่วโมง ที่นั่งคุยกับสาว เหมือนเวลาผ่านไปแค่ 1 นาที
แต่เวลา 1 นาที ที่นั่งบนเตาไฟร้อนๆ เหมือนเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง
เมื่อความรู้สึกว่าเวลามันต่างกันมากอย่างนี้
ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่จากการปฏิบัติธรรมเดินจงกรม
เป็นกำลังเดินเล่นอยู่ แต่มีความรู้ตัวอยู่ด้วย
อีกมุมมองหนึ่งถึงจะรู้ว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่
ก็บอกตัวเองว่ารู้สึกนานก็ดีสิ จะได้ปฏิบัติได้นานๆ
เหมือนปฏิบัติได้มากกว่าปกติ ร฿ู้ตัวให้ติดต่อกันได้มากกว่าเดิม
นี่เป็นวิธีสำหรับคนเริ่มต้นเท่านั้น รวมทั้งผมด้วย : )
โดยคุณ โยคาวจร วัน พฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม 2543 08:04:07

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม 2543 10:07:32
ขออนุโมทนาในความเพียร ความตั้งใจ ของทุกๆท่านในที่นี้ครับ

ได้อ่านกระทู้นี้แล้วเบิกบานใจจริงๆครับ ^---^
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม 2543 10:07:32

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ บุษกริน วัน พฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม 2543 17:13:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ กอบ7 วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 20:55:03
ขออนุโมทนา ครับ
ผมคงต้องเพียรดีมาก ครับ
ขอบคุณทุกคนครับ
โดยคุณ กอบ7 วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 20:55:03

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 28 กรกฎาคม 2543 22:07:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com