กลับสู่หน้าหลัก

ปุจฉา-วิสัชนา "หลวงตาบัว" บนเกาะอังกฤษ

โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:24:17

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2543

ปุจฉา-วิสัชนา
"หลวงตาบัว"
บนเกาะอังกฤษ


ตัณหาเป็นที่เกิดของทุกข์ใช่ไหม?

- ทุกข์อย่างไรเป็นตัณหา อย่างไหนไม่เป็นตัณหา ต้องพิจารณาอีกคือความอยากให้ทุกข์หายไปเฉยๆ เป็นตัณหา แต่ถ้าอยากรู้เหตุผลว่า ทุกข์เป็นอะไร มีอะไรเป็นเหตุ จะดับทุกข์ได้อย่างไร นี่เป็นมรรคความยากในทางที่จะปลดเปลื้องทุกข์ หันไปหาทางสันติสุข ไม่ใช่ตัณหา เป็นมรรค

สติกับสมาธิเป็น 2 ขั้นของมรรค 8 ดูเหมือนจะเป็นขั้นที่ 7-8 สติกับสมาธิในมรรค 8 ต่างกันอย่างไร?

- สติเป็นตัวกำกับจิต สมาธิอาศัยสติควบคุมจนจิตตั้งตรงอยู่ได้เกิดเป็นความสงบขึ้นมาหลายครั้ง คือครั้งแรก เป็นขณิกสมาธิ สงบชั่วครู่แล้วก็ถอน ต่อมาสงบลึกขึ้นหน่อย เป็นอุปจารสมาธิ ต้องอาศัยสติควบคุมจนกระทั่งปัญญาเข้ามาพิจารณา ปัญญาก็ต้องอาศัยสติจึงจะพิจารณาสิ่งต่างๆ ได้ตลอด และสติก็เป็นมหาสติ ปัญญาก็เป็นมหาปัญญา ได้ถ้ามีสติเข้าควบคุม จิตที่มีโทษอยู่ อาศัยสติเป็นเครื่องป้องกันแก้ไขโทษในจิต ถ้าจิตสงบเป็นอิสระ ไม่มีกิเลสฟุ้งแล้ว ก็ไม่ต้องแก้ไขในขณะนั้น จิตก็สงบอย่างแนบแน่น เป็น อัปปนาสมาธิ พูดตามภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

การฝึกหัดเบื้องต้นลำบาก ประการหนึ่งยังไม่เคยทำ ไม่เคยเห็นผลของการทำมาบ้าง ต้องอาศัยสติบังคับ เป็นการฝืนใจเราด้วยเหตุผล พอผลเริ่มปรากฏในจิตแล้ว ความสนใจ ความมีแก่ใจ ความพยายามจะค่อยตามมา ยิ่งปรากฏผลมากน้อยเพียงไร ก็ยิ่งอยากเห็นผลที่แปลกประหลาดยิ่งๆ ขึ้นไป ความเพียรก็ตามมาเอง ธรรมเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คือ อิทธิบาท 4 มีฉันทะ-ความพอใจ, วิริยะ-ความเพียร, จิตตะ-ความชอบใจ ฝักใฝ่, และวิมังสา-คือการใคร่ครวญ ต่างมีกำลังมากขึ้นตามๆ กัน จนสามารถยังผู้บำเพ็ญให้ถึงจุดที่มุ่งหมายได้โดยไม่มีอุปสรรคมากีดขวางได้

เมื่อทำสมาธิได้แล้ว จะถึงเวลาที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องนั่งภาวนาอีกต่อไปหรือคะ?

- ก่อนที่เราจะอ่านหนังสืออก เราต้องพากเพียรเรียนและสะกดให้เป็นคำหัดเขียน ใช่ไหม ? พอเราจะเขียนคำว่า "ท่าน" ก็ต้องท่องว่า "ท่าน" ต่อมาเขียนได้ไว พอนึกถึงท่านก็เขียนได้โดยไม่ต้องท่อง "ท่าน" เมื่ออ่านเขียนได้แล้ว ผู้นั้นเลยหยุดอ่านหยุดเขียนกระนั้นหรือ ?

การฝึกสมาธิก็เหมือนกัน ตอนแรกต้องใช้สติคอยควบคุม บังคับให้ต้องทำ ทำไปๆ ผู้ปฏิบัติจะได้ผล พบผลต่างๆ เอง และเกิดความคล่องแคล่วชำนิชำนาญขึ้น เมื่อทำสมาธิและพยายามถอดถอนกิเลส จนหลุดพ้นแล้วเมื่อไร ท่านผู้หลุดพ้นก็ยังทำสมาธิอยู่ต่อไป แต่ไม่ใช่ทำความเพียรเพื่อปลดเปลื้องกิเลสกันอีก เพราะกิเลสหมดไปแล้ว เวลาพักนอนหลับท่านก็หยุด เวลาตื่นขึ้น สติกับปัญญาก็ใช้ในกิจการต่างๆ ตลอดการทำสมาธิภาวนาต่อไปไม่ทอดทิ้งงานที่เคยทำ เหมือนผู้รู้หนังสือ อ่านเขียนได้มาก ก็อ่านเขียนไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่างๆ ยิ่งขึ้น มิได้หยุดไปเลยเพราะความที่เขียนได้อ่านออกเพียงเท่านั้น การทำสมาธิภาวนาของผู้สิ้นกิเลสแล้วก็เช่นกัน จำต้องทำไปเพื่อวิหารธรรม ความอยู่สบายในทิฐธรรมที่ธาตุขันธ์ยังครองตัวอยู่
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:24:17

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:32:15
ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
ปุจฉา - วิสัชนา
"หลวงตาบัว"
บนเกาะอังกฤษ

เวลาไม่สงบใจ ขอท่านให้คำแนะนำว่าจะแก้อย่างไร

-ธรรมดาของผู้ปฏิบัติ ก็เหมือนที่อธิบายมาแล้ว จะต้องใช้ วิริยะ มากจนเกิดความสงบ และใช้สติปัญญาแก้สิ่งขัดข้องตามความเหมาะสม ของการปฏิบัติ จนกระทั่งผู้ปฏิบัติทราบด้วยตนเองว่า พร้อมที่จะหลุดพ้นไป ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว เพราะธรรมเป็นความเสมอภาค และพร้อมที่จะแสดงผลมากน้อยแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริงอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าและพระสาวกในพระไตรปิฎกก็บอกว่าทานต้องบังคับพระองค์ตั้งความเพียรเป็นอันมากจนกระทั่งได้ตรัสรู้ นับแต่นั้นจนเสด็จเข้าปรินิพพาน พระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านก็ยังเข้าสมาธิและนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นการอยู่สะดวกสบายระหว่างขันธ์กับจิต ที่เรียกว่าเป็น "วิหารธรรม" จนถึงเวลาที่จิตจะแยกออกจากร่างกาย ซึ่งจะทนอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เข้าสู่นิพพานอันเป็นบรมสุข สิ้นกังวลโดยประการทั้งปวง

ตอนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าปรินิพพาน ท่านก็ทำสมาธิ คือเข้าปฐมฌานไปโดยลำดับถึงสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ แล้วถอยกลับลงมาปฐมฌาน แล้วทรงเข้าปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน จึงปรินิพพานระหว่างรูปฌานกับอรูปฌานต่อกัน

เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงทำและรู้เห็นได้ถึงขั้นสูงสุดดังนี้ พระสาวกทั้งหลายก็ได้พากเพียรทำตามจนได้บรรลุผลเป็นพระอรหันต์ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบพระธรรมจนได้ตรัสรู้และทรงถือเป็นธรรมเครื่องพร่ำสอนหมู่ชนจนวันเสด็จเข้าสู่พระนิพพานเราทั้งหลายจึงได้ลงใจนับถือ....

"พุทธัง สรณัง คัจฉามิ".... ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

"ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ".... ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง

"สังฆัง สรณัง คัจฉามิ".... ถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

เรื่อยมาในฐานะเป็นพุทธบริษัท มิได้ยกเอาบุคคลใดมาเป็นสรณะ อย่างสนิทใจเหมือนพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์องค์วิเศษเหล่านี้เลย

วิปัสสนาไม่เข้าถึงฌาน จริงไหม?

-พระพุทธเจ้าก็ทรงเข้า "ฌานสมาบัติ" พระสาวกก็เพียรชำระกิเลสจนถึงความบริสุทธิ์ เป็นพระอรหัตอรหันต์ 4 ประเภท ซึ่งความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ 4 ประเภทนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จิตท่านมีคุณพิเศษไปตามนิสัยวาสนาดังที่ได้รับความยกย่องทางเอตะทัคคะต่างๆ กัน เมื่อขันธ์กับจิตยังไม่แยกจากกัน ท่านก็เข้าสมาธิสมาบัติไปตามอัธยาศัยที่ถนัดต่างๆ กันจนถึงวาระสุดท้าย

"ฌาน" เป็นสถานที่พักใจ ส่วน "วิปัสสนา" เป็นการพิจารณาสภาวธรรมเพื่อรู้แจ้งตามความเป็นจริงและปล่อยวางไปโดยลำดับ กระทั่งหมดสิ้นที่ควรปล่อยวาง จึงถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ส่วนการที่ วิปัสสนาจะเข้าถึงฌานหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของโมฆบุรุษจะลูบคลำกันไปตามวิสัย จึงไม่ขอเกี่ยวข้อง

ไม่ทราบว่าอาการเข้าฌานนั้นเป็นอย่างไร

- อย่าไปกังวลกับฌาน ฌานเป็นเพียงผลพลอยได้ในการปฏิบัติ ไม่ควรเอามาเป็นอารมณ์ การมุ่งฝึกหัดเพื่อตัดกิเลสให้ขาดจากใจเป็นสิ่งที่ควรสนใจอย่างยิ่ง

จิตหมายความว่ากระไร?

- 1.วิญญาณในขันธ์ 5 นั้น เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งภายนอกมาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรา เมื่อสัมผัสจิตก็รู้ แล้วก็ดับไป อันเป็นเรื่อง เกิดๆ ดับๆ

2.ความรู้เป็นพื้นๆ นี้เป็นจิต จะไปก่อภพ ก่อชาติ ไปเกิด ณ ที่ใด ก็แล้วแต่สิ่งที่แทรกอยู่ในจิต

จิตกับปัญญา เป็นอันเดียวกันใช่ไหม?

- จิตกับปัญญา เป็นคนละอัน แต่สัมพันธ์กัน มีทางที่จะเป็นอันเดียวกันได้ สำหรับผู้ปฏิบัติจะพึงรู้โดยธรรมชาติตามลำพังในขณะปฏิบัติตามหลักทั่วไป สติกับปัญญา เป็นธรรมเกิดและดับได้เช่นสิ่งทั่วไป จึงเป็นอันเดียวกับใจยังไม่ถนัด แต่เป็นของ "มรรค" หรือเครื่องมือแก้กิเลสเพื่อความบริสุทธิ์แห่งใจต่างหาก

จะขอนั่งสมาธิพร้อมกับท่านอาจารย์นานๆ ได้ไหม?

- การนั่งสมาธินานๆ สำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติแล้วก็ไม่เป็นปัญหา แต่ผู้ที่มาเริ่มเรียนใหม่ๆ จะให้นั่งนานๆ ไม่ได้ ดังนั้นต้องกำหนดเวลาตามควรแก่ความสามารถของตนๆ ส่วนจะนั่งพร้อมใครหรือไม่นั้นย่อมเป็นไปตามโอกาส ที่สำคัญควรนั่งพร้อมใครหรือไม่นั้นย่อมเป็นไปตามโอกาส ที่สำคัญควรนั่งตามอัธยาศัยโดยลำพัง จะได้นานหรือไม่เป็นอัธยาศัยของเจ้าของเอง

อนัตตาต่างกับการไปเกิดใหม่อย่างไร?

- อัตตา-อนัตตา เป็นธรรมคู่กันตลอดจนสุดสายสมมติ กระทั่งจิตพ้นกิเลสแล้ว เป็นจิตเป็นบุคคลพิเศษไปแล้ว อัตตาและอนัตตาก็หายไปเองไม่ต้องถูกขับไสไล่ส่งใดๆ ทั้งสิ้น มีเฉพาะความบริสุทธิ์ของจิตล้วนๆ เป็นเอกจิต เอกธรรม ไม่มีสองกับสิ่งใดอีกแล้ว

คำว่า อนัตตา เป็นธรรมไตรลักษณ์ ผู้ประสงค์ความบริสุทธิ์ วิมุตติ พระนิพพาน จำต้องพิจารณา "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" จนรู้แจ้งเห็นจริงในไตรลักษณ์นี้แล้ว จึงชื่อว่าจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี เพราะพระนิพพานมิใช่อนัตตา จะบังคับให้มาอยู่กับอนัตตา ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ และเป็นทางเดินเพื่อพระนิพพานได้อย่างไร
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:32:15

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:45:02
เหมือนเดิมครับ ก๊อบเขามาเฉยๆ ว่างๆก็แวะเข้าไปเยี่ยมชมเขาหน่อยก็แล้วกันครับที่
www.matichon.co.th
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:45:02

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 09:48:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 11:54:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 12:23:18
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 12:44:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ tana วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 18:51:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ แมน วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 22:55:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 08:24:01
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 15 กรกฎาคม 2543 20:35:03
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com