กลับสู่หน้าหลัก

จากตัวกู - ของกู ถึงจิตอวิชชา

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:10:35

เราเคยพูดกันถึงเรื่อง ความเห็นว่าจิตเป็นเราหรือสักกายทิฏฐิ 
และเรื่อง ความยึดว่าจิตเป็นเรา หรือจิตเป็นตัวกู ไปคราวหนึ่งแล้ว 
วันนี้จะขอคุยกันต่อให้หมดเปลือกของพระพุทธศาสนากันเสียที 
เพราะถ้าไม่ผิดแผน .. ปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า 
ผมก็คงไม่มีโอกาสมาคุยกับพวกเราอีกแล้ว 

จิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู ยังไม่ใช่จิตอวิชชา
แต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยสังโยชน์ที่เรียกว่า มานะ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัสมิมานะ 
(การถือตัวว่านี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่นเป็นนี่, การถือเราถือเขา 
- พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก) 
หากสามารถผ่านด่านของ จิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู แล้ว 
จึงจะถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติ คือจิตอวิชชา 

ก่อนที่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู กับจิตอวิชชา 
ผมขอทบทวนแนวทางการปฏิบัติ 
ก่อนจะพบความยึดมั่นว่าจิตเป็นตัวเรา สักเล็กน้อย 

ในบื้องต้น ให้ผู้ปฏิบัติจำแนกให้ออก ระหว่างจิตผู้รู้ กับอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ 
แล้วรู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏ 
โดยจิตที่ไม่หลงเข้าไปแทรกแซง ยินดี ยินร้ายต่อสิ่งที่ถูกรู้นั้น 

การจะจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ 
ไม่ได้ทำด้วยการเอากำลังเข้าหักหาญฉุดดึงจิตออกจากอารมณ์ 
แต่อาจจะเริ่มจากการทำสมถะ จนจิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง(สงบ) 
แล้วรู้ขึ้นว่า ความสงบเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ และจิตก็เป็นเพียงผู้รู้ความสงบ 

ถ้าเริ่มต้นจากการทำสมถะไม่ได้ ก็ให้ใช้ปัญญา 
คือเฝ้าสังเกตกิเลสสักตัวหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ 
เช่นความสงสัย ความโกรธ ฯลฯ 
แล้วเฝ้ารู้อย่างใจเย็นๆ จนมันดับไป 
ก็จะพบว่า กิเลสเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เกิดแล้วก็ดับไป 
ส่วนจิตเป็นผู้รู้ ผู้ดูกิเลสที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป 
ถ้าทำคราวเดียวยังจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่ออก 
ก็อย่าตกอกตกใจ ให้เฝ้ารู้กิเลสที่กำลังเกิดไปเรื่อยๆ ด้วยความใจเย็น 
ไม่นานนักก็จะจำแนกได้ว่า อันนี้อารมณ์ที่ถูกรู้ อันนี้จิตผู้รู้อารมณ์ 

จากนั้น ก็เพียรมีสติ รู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏเรื่อยไป 
ด้วยจิตที่รู้ตัว ไม่เผลอ 
จะเห็นว่าบางคราว จิตก็อยู่คนละส่วนกับอารมณ์ 
บางคราว จิตก็จมอยู่กับอารมณ์ แยกกันไม่ออก 
หลักปฏิบัติในขั้นนี้มีอันเดียว 
คือให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ก็จะเห็นความเกิดดับของอารมณ์ทั้งปวงเรื่อยไป 

ด้วยวิธีนี้ สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะแก่กล้าไปตามลำดับ 
ถึงจุดหนึ่ง ความคิดนึกปรุงแต่งก็จะดับไป 
ผู้ปฏิบัติจะเกิดความรู้รวบยอด 
ถึงความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง 
และรู้จักกับธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ตายเป็นครั้งแรก 
ถึงตรงนี้ ผู้ปฏิบัติจะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว ว่าจิตเป็นเรา 
เพราะความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา เกิดจากความคิดนึกปรุงแต่งทั้งสิ้น 

หลังจากนั้น สติปัญญาก็จะละเอียดยิ่งขึ้น 
ทำให้รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปด้วย 
จะเห็นว่า ก่อนที่กิเลสจะเกิดขึ้น มันจะต้องมีผัสสะ 
คือการกระทบอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 
หากกระทบแล้ว สติปัญญาตามทัน มันก็จบอยู่เพียงเท่านั้น 
ถ้าตามไม่ทัน จะพบว่า เมื่อมีผัสสะ 
ก็จะมีการปรุงสัญญาคือความจำได้หมายรู้ และเวทนา ขึ้นมาในจิต 
หากรู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบอีก 
แต่ถ้ายังรู้ไม่ทัน สัญญาและเวทนาจะปรุงเป็นความคิดขึ้นมา 
ถ้ารู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบอีก 
แต่ถ้ารู้ไม่ทัน ตะกอนกิเลสที่อยู่ในภวังคจิตก็จะเริ่มฟุ้งขึ้นมา 
กิเลสจะผุดขึ้นมากลางอก 
ถ้ารู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบได้เหมือนกัน 
แต่ถ้าไม่รู้ทัน กิเลสจะหลอกล่อให้จิตเกิดตัณหา เป็นแรงทะยานออกไปยึดอารมณ์ 
ตรงนี้ถ้ารู้ทัน กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบลงอีก 
แต่หลังจากนั้น ถ้าจิตหลงส่งทะยานออกไปยึดอารมณ์แล้ว 
จิตจะเกิดความเป็นตัวกู ของกู  ขึ้นมากระโดดโลดเต้นทันที
ตรงนี้สายเสียแล้ว ที่จะพ้นจากความทุกข์เพราะความเป็นตัวตนของจิต

ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ ยังคงเห็นความเกิดดับของอารมณ์ ดังที่เคยเห็นมาแล้ว 
แต่สติปัญญาจะว่องไว และเข้าใจกลไกของจิตมากขึ้นเรื่อยๆ 
จนกระทั่งเกิดความรู้รวบยอดครั้งที่สอง 
คราวนี้กิเลสราคะ โทสะ และโมหะ จะเบาบางลงมาก 
เพราะสติปัญญาว่องไว พอที่จะไม่ปรุงแต่งเติมเชื้อไฟให้กิเลส 
พอประกายกิเลสเกิดวาบขึ้น สติปัญญาจะทำงานเป็นอัตโนมัติ 
แล้วกิเลสก็จะดับไป ก่อนที่จะลุกลามเป็นไฟกองใหญ่ 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:10:35

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:13:50
แม้จะผ่านการเกิดความรู้รวบยอดถึงสองครั้งแล้ว 
ผู้ปฏิบัติก็ยังไม่เห็นจิตอวิชชาอย่างแท้จริง 
จะเห็นได้ก็เพียงเงาๆ ของจิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกูเท่านั้น 

ด้วยสติปัญญาที่ละเอียดมากขึ้น 
ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นกิเลสตัณหาละเอียดมากยิ่งขึ้น 
และจะเห็นว่า จิตยังมีความพอใจในกามคือความสุขทางกายทั้งปวง 
เมื่อได้ความสุขนั้นมา ก็ยังมีความพอใจ อิ่มใจ 
เมื่อไม่ได้ความสุขนั้น ก็มีความขัดใจ หรือขุ่นใจเล็กๆ 
จิตจะรู้ชัดว่า จิตยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก 
ซึ่งหาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้ 
เพราะสิ่งเร้าภายนอกล้วนเป็นของที่เกิดๆ ดับๆ ไปตามสภาพ 

ในขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิตใจตนเอง 
อาจจะรู้เห็น จิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกู ได้เป็นครั้งคราว 
แต่ถึงยังไม่ชำนาญทางจิต 
ก็จะเห็นชัดถึงความไม่มีสาระของสิ่งเร้าภายนอก 
รวมทั้งความไร้สาระของกาย 
จนเกิดความรู้รวบยอดครั้งที่สาม 

จิตในขั้นนี้ ก็จะไม่ไหลไปตามสิ่งเร้าภายนอก 
แต่จะจำกัดวงความรู้เข้ามาที่ตัวจิตเอง 

อาศัยความสังเกตจิตตนเองอย่างละเอียดที่สุด 
ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสังโยชน์เบื้องสูง 4 ประการ แทรกอยู่ในจิต 
คือรูปราคะ ความพอใจในการเพ่งรูป 
อรูปราคะ ความพอใจในการเพ่งนาม 
อุทธัจจะ ความกระเพื่อมไหวนิดๆ ของจิต 
เพื่อจะสรุปทบทวนสิ่งที่จิตกำลังดำเนินอยู่ 
ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีความถูกผิดอย่างไร 
และการปฏิบัตินั้น จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้หรือไม่ 
เป็นความไหวกระเพื่อมในเรื่องของทิฏฐิ คือความเห็นผิดเห็นถูก 
ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านไปในกาม
และ มานะ คือความรู้สึกเทียบเราเทียบเขา 

ถึงจุดนี้ ผู้ปฏิบัติส่วนมากจะมองกิเลสไม่ออก 
เพราะกิเลสในขั้นนี้ ล้วนเป็นกิเลสของคนรักดี
 
เช่นความพอใจในสมาธิ อันได้แก่รูปราคะและอรูปราคะ 
ความพอใจในปัญญา อันได้แก่อุทธัจจะ 
แม้กระทั่งความนอบน้อมถ่อมตน 
รู้สึกว่าครูบาอาจารย์เป็นของสูง 
ส่วนเรายังต่ำต้อยจะต้องพยายามเอาอย่างครูบาอาจารย์ให้ได้ 
อันนี้ก็คือมานะ 
กิเลสเหล่านี้ หน้าตาไม่เหมือนกิเลส 
แต่หน้าตาเหมือนกุศล 
ผู้ปฏิบัติส่วนมากจึงนอนแช่มันอยู่ด้วยความเต็มใจจนตลอดชีวิต
 

แต่ผู้มีปัญญารอบคอบ หรือได้รับคำชี้แนะจากครูอาจารย์
จะเกิดความเฉลียวใจย้อนสังเกต โดยไม่จงใจเพ่งจ้อง 
และรู้ชัดด้วยใจว่า
เมื่อมีรูปราคะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ยินดีในรูปราคะ 
เมื่อมีอรูปราคะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ยินดีในอรูปราคะ 
เมื่อมีอุทธัจจะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น 
เมื่อมีมานะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้เทียบตนเองกับท่าน

ทันทีที่รู้ถึงจิตที่เป็นเรา หรือจิตที่มีอัสสมิมานะ 
ความเป็นเราของจิตก็จะสลายตัวลงทันที 
จิตจะเข้าถึงสภาวะอันหนึ่ง 
ที่เข้ามารู้อยู่ที่จุดเดียว คือตัวจิตเอง 
จะกล่าวว่า เป็นสภาวะที่เป็นหนึ่ง 
คือจิตผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ เป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ 
เมื่อมันเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง 
ก็ย่อมไม่มีความซึมซ่านของจิตออกไปภายนอก
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:13:50

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:15:37
ตรงจุดที่ จิตอันมีความยึดจิตว่าเป็นเรา สลายลงนี้ 
จิตจะเข้าถึงความเบิกบาน ผ่องใส สงบสงัดอยู่ภายใน 
จะเห็นชัดว่า สิ่งใดที่นอกเหนือจากจิตออกไปนั้น ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น 
นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรอีกเลย 
จิตตรงนี้แหละ คือจิตอวิชชา 

ผู้ปฏิบัติจะหวงแหนจิตชนิดนี้มาก 
เพราะมันช่างผ่องใสหมดจดเบิกบาน ดังหนึ่งจิตที่เข้าถึงนิพพานแล้ว 
แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังเสื่อมลงได้อีก 
คือเสื่อมกลับไปเป็นจิตที่มีอัสสมิมานะ หรือจิตที่ยึดว่าเป็นเรา 
แม้จะพยายามรักษาอย่างไร มันก็ยังเสื่อมได้อีก 
หรือในขณะที่มันยังไม่เสื่อม 
มันก็เหมือนกับยังมีขอบเขต มีจุดมีตำแหน่งที่กำหนดได้ 
และหากมีเจตนาสักน้อยหนึ่งที่จะไปกำหนดรู้หรือพิจารณามัน 
มันก็จะเสื่อมลงทันที กลายเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ
ครั้นจะไม่กำหนด ก็กลัวว่ามันจะผิดจะเสื่อมอีก 
พอกลัวผิด มันก็เสื่อมลงอีกเช่นกัน 

เมื่อมันเสื่อมแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่คืนดีง่ายๆ 
เว้นแต่จะอาศัยการรู้สังโยชน์เบื้องสูง 
แล้วเฉลียวใจรู้จิตที่ถูกยึดมั่นว่าเป็นเรา ดังที่เคยปฏิบัติมา 
แต่ที่ง่ายกว่านั้น ก็คือการเฉลียวใจสักนิดว่า 
จิตกำลังแสดงไตรลักษณ์ให้ดู 
เพียงเฉลียวใจนิดเดียว มันก็กลับเจริญไปเป็นจิตอวิชชาอีก 

จิตอวิชชา เป็นจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ 
มันไม่รู้จักตัวจิตเอง ว่าเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวแปรปรวนที่หวังพึ่งไม่ได้ 
ผู้ปฏิบัติจึงเกิดสมุทัยคือความอยากรักษาจิตดวงนี้เอาไว้อย่างเป็นชีวิตจิตใจ 
ต่อเมื่อปฏิบัติมรรค จนจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
แล้วเกิดความรู้รวบยอดเป็นครั้งที่สี่ โดยรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ์ 
คือเข้าใจสภาพความเป็นจริงของก้อนทุกข์ตัวสุดท้ายนี้แล้ว 
จึงเข้าถึงนิโรธ คือความดับทุกข์ ความสลัดคืน ความไม่อาลัยใยดีในจิตดวงนี้ 
จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นทั้งปวง 
และตัณหากับทิฏฐิ ก็ไม่อาจกลับตั้งขึ้นในจิตได้อีก

สรุปแล้ว ตรงที่จิตยึดว่าจิตเป็นเรา กับจิตอวิชชานั้น 
มันยังเหลื่อมกันอยู่อีกนิดหนึ่ง 
คือพอเห็นความยึดว่าจิตเป็นเรา แล้วความยึดสลายตัวลง 
ก็จะเข้าถึงจิตอวิชชา ซึ่งผ่องใสเบิกบานอย่างยิ่ง 
เป็นจิตรู้ที่ไม่คิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นการสร้างภาระใดๆ ให้เกิดขึ้นกับจิต 
เมื่อรู้อยู่กับรู้จนเพียงพอแล้ว 
จิตก็จะสลัดคืนสรรพสิ่ง กระทั่งตัวจิตเอง สู่ธรรมชาติ 
หมดกิจในทางพระพุทธศาสนาแต่เพียงเท่านี้เอง
 

*********************************** 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:15:37

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:27:48
เพื่อประกอบการทำความเข้าใจเพิ่มเติม 
ผมขอคัดลอกบันทึกส่วนตัว อันเป็นข้อสนทนาธรรม 
กับพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐสูงสุดรูปหนึ่ง
นำมาให้ผองเพื่อนชาววิมุตติได้อ่าน ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อกัน 
(ส่วนท่านที่ไม่ได้เป็นสมาชิกและหลงผ่านเข้ามา 
ถ้าคิดว่าการอ่านธรรมะแบบป่าๆ จะก่อความไม่สบายใจ
เพราะไม่สอดคล้องกับความเห็นที่มีอยู่
ก็ขออย่าได้อ่านให้จิตใจเศร้าหมองเลย)

*********************************** 

หลวงปู่... กลับจากสหรัฐ มาพักที่........ 
และเรากับนุช มีโอกาสไปนมัสการท่านเมื่อ 18 มิถุนายน 2543 
การเข้ากราบนมัสการครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ธรรมด้วยการสังเกตจิตใจของหลวงปู่ 
พบว่าจิตของท่านไม่ต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องประคองรักษา 
ในเวลาปกติ ท่านจะอยู่กับความสุข ความเบิกบานเพราะความหมดภาระของจิต 
จิตลอยตัวอยู่เหนือขันธ์ ปราศจากโดยสิ้นเชิงจากอุปาทานขันธ์ 
ในยามที่ท่านติดต่อสนทนากับใคร หรือเพ่งเล็งความสนใจไปที่ใคร 
สติของท่านจดจ่อลงไปที่ผู้นั้นหรือจุดนั้น 
ส่วนจิตก็อยู่ส่วนจิต ไม่เคลื่อนไหว ไม่กระเพื่อม 
การคิดนึกปรุงแต่งทั้งปวงเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ 
ส่วนจิตไม่ทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้น นับเป็นกิริยาจิตล้วนๆ 

เราเฝ้ามองด้วยความปลาบปลื้มใจ ด้วยความเคารพยกย่อง 
แล้วก็สังเกตเห็น มานะ ปรากฏขึ้นใจจิต 
คือรู้ชัดว่า จิตเคารพเทิดทูนหลวงปู่ไว้เบื้องสูง 
และปรารภว่า แม้เราเองก็จะพยายามปฏิบัติ 
ให้ได้อย่างหลวงปู่ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ 

ขณะที่สังเกตเห็นมานะนั้นเอง จิตก็ย้อนหมุนกลับนิดหนึ่ง 
เห็นความยึดมั่นว่าจิตเป็นเราชัดเจนเป็นครั้งแรก 
แล้วความยึดมั่นว่าจิตเป็นเราก็สลายตัววับไป 
เหมือนอารมณ์ชนิดอื่นที่ถูกรู้นั่นเอง 
จิตเข้าถึงความแช่มชื่นเบิกบานอยู่ช่วงหนึ่ง 
หลังจากนั้นความฟุ้งในธรรมก็เกิดขึ้น 
คือจิตน้อมลงพิจารณาธรรมที่ผ่านพบมานั้น 
แล้วจิตก็ย้อนเห็นความยึดมั่นว่าจิตเป็นเราอีก 
จากนั้นก็สลาย เหลือแต่ธรรมชาติที่เบิกบานอีกช่วงหนึ่ง 

เข้าใจแล้วว่า สังโยชน์เบื้องสูงเหมือนเงาของจิต 
เมื่อมีสติปัญญารู้เท่าทันเงานั้น ก็สามารถย้อนมาเห็นจิตที่เป็นตัวเราได้ 
และเมื่อเห็นความเป็นตัวเราของจิต 
ความเป็นตัวเราก็ดับไปเช่นเดียวกับอารมณ์อื่นๆ 
การปฏิบัติธรรมในช่วงนี้ มีความละเอียดประณีตยิ่งกว่าที่เคยทำมาได้ในอดีต 

ปฏิบัติธรรมอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งระลึกถึงหลวงปู่ด้วยความเคารพบูชา 
เมื่อ 1 กรกฏาคม 2543 จึงขึ้นไปกราบท่านพร้อมกับนุชและประไพ 
ในวันเดินทางนั้น จิตมีอาการเสื่อมจากธรรมเล็กน้อย 
ก็มีปัญญาเห็นว่า จิตเขาแสดงไตรลักษณ์ให้ดู 
จิตก็กลับผ่องใสสว่างแช่มชื่นอีก รู้สึกว่าทำง่ายขึ้นมาก 

คุณน้อย คุณหมอทรงศักดิ์ และแตน นำไปกราบท่านที่กุฏิ 
เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. หลวงปู่ได้บังคับรถเข็นของท่านออกมาหน้ากุฏิ 
แล้วหยุดรถเข็นลงตรงหน้าเราพอดี 
เมื่อนมัสการแล้ว เราเงยหน้าขึ้นมองท่าน 
ท่านก็ทอดสายตามองมาเช่นกัน ก่อนจะกวาดสายตาไปยังญาติโยมทั้งปวง 
ขณะนั้นเราทราบด้วยใจชัดเจนเหมือนตาเห็นรูปว่า 
จิตของท่านเบิกบานผ่องใสปราศจากธุลีอยู่เหนือขันธ์ 
ก็เกิดความโสมนัสใจ ปรารภซ้ำๆ อยู่ในใจว่า 
จิตพระอริยะเจ้าอยู่เหนืออุปาทานขันธ์ 
รู้แจ้งพระนิพพาน มีความสุขอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ 

หลวงปู่หันกลับมามองเรา สบตากัน จิตก็เข้าสัมผัสกันอย่างแจ่มแจ้ง 
เหมือนต่างก็ฉายไฟส่องมองถึงกันอย่างทะลุปรุโปร่ง 
จิตของท่านก็ยิ่งร่าเริงเบิกบาน กล่าวธรรมขึ้นกับเราว่า 

"พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี 
พระนิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง 

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบพระนิพพาน 
แล้วครูบาอาจารย์มีหลวงปู่มั่นเป็นต้น 
ก็ศึกษาสืบต่อกันมากจนถึงรุ่นของเรา 
มีแต่อย่างเราที่เข้าใจแล้วนี้แหละ 
ที่จะรักษาสืบทอดธรรมของพระพุทธเจ้ากันต่อไปอีก 

ธรรมะเป็นของรู้กันได้ด้วยใจ 
จิตใจของผู้ถึงธรรมก็ย่อมสื่อถึงกัน และเข้าใจกันได้ 
เหมือนอย่าง ... อะไรน้อ..." (หลวงปู่นึกไม่ออก) 

ท่านเจ้าคุณอุบาลีครับ (เรากราบเรียนท่าน) 

"อือม์ ใช่ ... ท่านเจ้าคุณอุบาลีกับหลวงปู่มั่นนั้น ท่านสื่อกันด้วยใจ 
มีความเข้าใจกันแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องใช้คำพูด 
ท่านใดปฏิบัติอย่างใดก็รู้ถึงกันอย่างชัดเจน" 

หลวงปู่หันไปมองญาติโยมแล้วกล่าวอีกว่า 
"ครูบาอาจารย์แต่ละองค์มีปฏิปทาต่างๆ กัน 
อย่างท่านพระอาจารย์ฝั้น เวลาญาติโยมไปหาท่าน ท่านจะเทศน์ให้ฟังเสมอ 
แต่ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านจะเรียกให้ญาติโยมนั่งสมาธิ ไม่ต้องพูดคุยอะไร 
พอถึงเวลาก็ให้ญาติโยมกลับ 
ส่วนเรา ก็แสดงธรรมบ้างตามโอกาส 

หลวงปู่มองมาทางเรา 
ซึ่งขณะที่เฝ้าดูจิตอยู่นั้น จิตเคลื่อนไปหน่อยหนึ่ง 
พอเราเห็นไตรลักษณ์แล้วก็กลับคืนดังเดิม 
โดยหลวงปู่กล่าวว่า 
"เมื่อจิตมันเคลื่อนจากตรงนี้ ก็รู้ทันมัน มันแสดงไตรลักษณ์ 
ถ้ารู้ทัน มันก็กลับมาง่าย ไม่มีอะไรหรอก 

การปฏิบัติเมื่อเข้าถึงจุดนี้ ก็มีแต่รู้อยู่ตรงนี้เรื่อยไปจนจิตมันแจ้งออกมาเอง 
เมื่อจิตของเรามันแจ้งออกมาแล้วนั้น 
เรามีความสุขความเบิกบานอยู่ปีกว่าๆ 
จากนั้นจิตจึงเข้าสู่สภาพที่เหนือสุขเหนือทุกข์ ไม่มีอะไรแล้ว 
เราก็สุขสบายอยู่อย่างนี้แหละ 
เมื่อบวชทีแรกก็ไม่นึกว่าเราจะทำมาได้จนถึงเพียงนี้ 
ไม่นึกว่าจะมีความสุขได้ถึงเพียงนี้ 
พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง 
ความสุขอื่นเสมอด้วยความสงบของพระนิพพานไม่มี 
เอาล่ะ เราพูดแค่นี้ ใครมีอะไรก็พูดไป" 

เมื่อได้รับโอกาส เราน้อมศีรษะลงยกมือไหว้ท่านแล้วถามว่า 
"หลวงปู่ครับ ผมปฏิบัติด้วยการดูจิต 
แล้วมาติดอยู่ที่ตรงนี้นานแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป" 
(ที่ถามสั้นเพียงนี้ เพราะทราบชัดกับใจแล้ว 
ว่าท่านเห็นจิตใจเราจนหมดเปลือกและเข้าใจแล้วว่าเราต้องการถามอะไร) 

ท่านยิ้มน้อยๆ ด้วยอาการที่สงบเย็น แล้วตอบว่า 
"ให้ปฏิบัติอยู่ที่ตรงนี้แหละ 
เมื่อจิตมันอิ่ม มันพอแล้ว มันแจ้งออกไปเองแหละ 
ก็จะเป็นผู้รักษาสืบทอดพระศาสนาของพระพุทธเจ้าต่อไป" 

เราถามท่านอีกว่า 
"ผมควรจะรู้อยู่อย่างนี้ หรือจะต้องพิจารณาอย่างใดอีกหรือไม่" 

ท่านตอบว่า "ไม่ต้องพิจารณาอะไรหรอก ในจุดนี้ให้รู้อยู่อย่างนี้แหละ 
เมื่อมันพอแล้ว มันจะแจ่มแจ้งในพระนิพพานเอง 
แล้วจะร้องว่าอ๋อ มันง่ายแค่นี้เอง ทำไมแต่ก่อนเราถึงไม่เห็น 
เหมือนอย่างเรานี้ พอมันแจ้งออกมาแล้วถึงกับด่าตนเองว่า 
ทำไมมันโง่แท้น้อ ของเท่านี้ ทำไมไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ 
แล้วก็จะมีความสุขอยู่ในใจตนเองอย่างเต็มเปี่ยม" 

ท่านเหลียวกลับไปมองญาติโยมบางคน แล้วกล่าวว่า 
"เราไม่ได้คุยอวดนะ เรารู้อย่างไรเราก็พูดอย่างนั้น 
แล้วธรรมดา เราก็ไม่พูดเรื่องอย่างนี้หรอก"

ขณะนั้นมีโยมในวัดอีก 2 คนขึ้นมากราบท่าน 
ท่านก็กล่าวว่า "อ้าวเพิ่งมา เทศน์จบแล้ว 
ก็ไม่มีอะไรหรอก เราเทศน์ของเก่า 
ก็มีแค่พุทโธ ธัมโม สังโฆเท่านั้นแหละ 
เอาล่ะ ไปได้" 
(3 กรกฎาคม 2543) 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:27:48

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ดังตฤณ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:30:30
เคยปรารภกับพี่ปราโมทย์
ว่าตั้งแต่อ่านที่หลวงตาบัวกับหลวงปู่ดูลย์พูดถึงอวิชชา
ผมก็ไม่กล้านึกว่าตัวเองเข้าใจเรื่องของอวิชชาอีกเลย
เนื้อหาในกระทู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาพุทธธรรมรุ่นต่อๆไปครับ
โดยคุณ ดังตฤณ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:30:30

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ หลังเขา วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:52:25
สาธุครับคุณอา
เมื่อเช้าเพิ่งบ่นกับคุณอาเรื่องการปฏิบัติอยู่ก็พอดีคุณอามาโพสต์กระทู้ธรรมให้อ่านพอดี
พออ่านๆไปเห็นชัดว่าเรายังติดอยู่แค่ต้นทางเอง
ที่เหลือได้แต่อ่านไว้เป็นแผนที่ใจที่ไม่รู้จะมีโอกาสได้ใช้ในชาตินี้หรือเปล่า:)
โดยคุณ หลังเขา วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:52:25

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 10:15:47
แม้ว่าวันนี้จะยังไม่อาจรู้เห็น จิตที่เป็นตัวเราและจิตอวิชชา ได้ก็ตาม
แต่จิตก็มีความสดชื่นให้เห็นได้ เพียงแค่ได้อ่านธรรมที่ครูได้เมตตาเผื่อแผ่ให้
...ขอกราบขอบพระคุณครูเป็นอย่างสูงครับ...

โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 10:15:47

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ tana วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 10:53:21
จะพยายาม ที่จะไม่ให้ครูผู้สอนสั่งมาผิดหวังครับ  จะพยายามต่อไป
โดยคุณ tana วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 10:53:21

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ กระต่าย วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 11:04:44
สาธุ สาธุ สาธุ _/I\_
กราบขอบพระคุณค่ะคุณอา
ได้แต่อ่านไปขนลุกไปตลอดเวลา จะตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่
ขอเดินรอยตามเพื่อสืบทอดพระศาสนาของพระพุทธเจ้าต่อไปด้วยคนค่ะ
โดยคุณ กระต่าย วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 11:04:44

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 11:44:47
สาธุ สาธุ สาธุ
อ่านแล้วขนลุกซู่เลยครับ

เวลาที่จะใกล้ชิดครูได้ ก็จะสั้นลง
ต้องเร่งปฎิบัติให้มากขึ้นแล้ว


โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 11:44:47

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 12:19:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ หนึ่ง วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 12:55:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 13:55:56
_/\_ _/\_ _/\_
จะตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น
ตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง
โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 13:55:56

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 15:05:00
สาธุ...
ขอบคุณครับพี่

ช่วงนี้เขียนอะไรไม่ค่อยออก
พอเขียนก็เห็นมานะของตัวเองก็ลบออก
เขียนแล้วลบๆ อยู่อย่างนี้มานานแล้วครับ
ดูจิตไปเขียนกระทู้ไป ก็เลยเขียนไม่ได้เลย :)

ขออนุญาตเอาเปรียบเข้ามาสาธุอย่างเดียวนะครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 15:05:00

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 15:38:39
_/I\_ สาธุครับคุณอา ได้อ่านที่คุณอาเขียนครั้งนี้ ทำให้คนโง่อย่างผม
เข้าใจได้มากขึ้นครับ รู้สึกใจหายเหมือนกันครับ ที่โอกาสที่จะได้คำชี้แนะ
จากคุณอาเริ่มน้อยลง ผมเองก็จะตั้งใจปฎิบัติ เพื่อใช้เวลาที่เหลือให้คุ้มค่าที่สุดครับ
โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 15:38:39

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ไมค์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 15:53:36
สาธุครับคุณอา

อ่านกระทู้นี้แล้วก็ใจหายเหมือนกัน
จะตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่ให้คุณอาต้องเสียแรงโดยเปล่าประโยชน์แน่นอนครับ
โดยคุณ ไมค์ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 15:53:36

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ฐิติมา วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 21:12:39
ขอกราบขอบพระคุณคุณอา ด้วยความเคารพอย่างสูงคะ
พออ่านกระทู้จบแล้วใจหาย มองเห็นความประมาทของตัวเองมากมายเหลือเกิน เหมือนระเริงรื่นอยู่บนกองไฟ
ขอจดจำคำคุณอาสั่งสอน และเพียรพยายามทำให้มากขึ้น... เพียรเดินตามครูจนถึงจุดหมายคะ _/|\_
โดยคุณ ฐิติมา วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 21:12:39

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ Lee วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 07:18:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 07:49:17
_/\_
ขอบพระคุณครับ

กระทู้นี้ผมมีความรู้สึก 2 อย่าง
1.กระทู้นี้ เมื่ออ่านจบหรือขณะอ่าน
ทำให้จิตใจสงบเป็นสมาธิได้เป็นอย่างดีเหมือนกับว่า
กระทู้นี้มีพลัง แฝงอยู่มาก
2.เกิดความวิตกว่า ครูจะไปใหน
ทำให้กลัวภัยกิเลสมากขึ้น เพราะโดยนิสัยแล้ว
ยากที่ใครจะห้ามปรามได้โดยง่าย

แต่ก็อีกนั่นแหละ จะรั้งครูไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตนคงไร้สาระไปหน่อย
สำหรับความรู้สึกที่สองนั้น ผมจะเก็บไว้เป็นข้อเตือนใจเมื่อคราวกิเลสรุกเร้า

สองความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ มันยากที่จะบรรยายจริงๆครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 07:49:17

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ มรกต วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 08:01:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 08:09:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ สายขิม วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 11:57:27
สาธุค่ะครู...กราบขอบพระคุณครูค่ะที่อุตสาห์สั่งสอนศิษย์โง่อย่างขิม
อ่านกระกู้ไป ดูจิตตัวเองไป พบความสงบ แต่ในความสงบกลับพบความไม่สงบ
เกิดความวูบวาบในจิต รู้สึกว่าเวลาเหลือน้อย รู้สึกเสียดาย เราไปอยู่ที่ไหนหนอ
มัวไปทำอะไรอยู่ตั้งนาน หลงงมอยู่กับกิเลสมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ แล้วตอนนี้ก็
มีโอกาสที่น้อยคนเหลือเกินที่จะมาพบหนทางแบบนี้ มาพบครู แล้วยังจะปฎิบัติแบบ
หวานเย็นอยู่อีก ปฏิบัติแล้วก็ล้มกระดานมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ต่อแต่นี้ เวลาที่เหลือของชีวิตนี้ โอกาสที่จะมีต่อไปนี้ ศิษย์ของครูคนนี้ จะตั้งใจปฏิบัติ
แม้จะยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงฝั่ง ก็จะตั้งใจค่ะครู ให้สมกับเวลาที่ครูอุตสาห์สั่งสอน

กราบขอบพระคุณครูค่ะ _/\_
โดยคุณ สายขิม วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 11:57:27

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ นุดี วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 12:29:15
_/\_
สาธุค่ะ
จะตั้งใจและพยายามปฏิบัติต่อไปค่ะ
โดยคุณ นุดี วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 12:29:15

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 15:47:30
ผมขออนุโมทนา ที่พวกเราอ่านกระทู้แล้ว
เกิดความตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมให้จริงจังมากขึ้น
เพราะธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสาระประโยชน์ต่อชีวิต
ไม่ใช่ของพ้นยุคพ้นสมัย แต่ยังคงคุณค่าเต็มเปี่ยมอยู่ในปัจจุบัน
ขอเพียงผู้ปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องและต่อเนื่อง
ความทุกข์ก็จะหลุดร่วงไปเป็นลำดับๆ ต่อหน้าต่อตานี้เอง
แล้วความเชื่อมั่น เลื่อมใสศรัทธาในธรรมของพระพุทธเจ้า
ก็จะเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจของเรา อย่างไม่มีวันคลอนแคลนไปได้เลย

เมื่อวานยังคุยกับคุณดังตฤณว่า
คุณดังตฤณ เขียน ทางนฤพานภาคนิยาย จบแล้ว
ผมเองก็เขียน ทางนฤพานภาคธรรมบรรยาย จบแล้วเหมือนกัน
คือจบลงในกระทู้นี้เอง
ทั้งคุณดังตฤณและผม ได้ทำในสิ่งที่คิดว่าควรจะทำ ให้กับพวกเราแล้ว
นับว่าหมดภาระทางใจลงเสียที

ที่จริงกระทู้นี้ ยังไม่ใช่กระทู้ลา
แต่พวกเราหลายคนก็ตั้งท่าเตรียมใจลากันแล้ว
ซึ่งก็เข้าทีเหมือนกัน เพราะแสดงถึงความไม่ประมาท และการพึ่งตนเอง
การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าประมาท
และไม่คิดพึ่งตนเอง เอาแต่ติดยึดตัวบุคคล
ก็ไปไม่รอดหรอกครับ
ผมเห็นพวกเราประกาศจุดยืนอย่างนี้แล้ว
ก็รู้สึกว่าเป็นบุญของผม ที่ได้เจอกับพวกเราทุกคน
ผู้มีพื้นฐานความคิดจิตใจของกัลยาณชนชาวพุทธที่แท้จริง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 15:47:30

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ หนึ่ง วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 17:28:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 17:21:17
        สาธุ สาธุ สาธุ
กราบขอบพระคุณครับคุณอา
ได้อ่านธรรมอันเลิศที่อยากรู้มานาน
นับเป็นบุญวาสนาจริงๆครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 17:21:17

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 12:01:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ aek123 วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 14:54:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 08:25:06
(๏) สาธุครับ : )
จะตั้งใจปฏิบัติเช่นกันครับ
เสียดายวันเวลาที่ผ่านมาไม่รู้มัวไปทำอะไรอยู่
โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 08:25:06

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ น้ำ วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 23:48:42
ขอบคุณพี่ปราโมทย์มากครับ ผมนับเป็นคนมีวาสนาคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสได้พบพี่
พบเพื่อนๆที่นี่

มีความรู้สึกคล้ายๆคุณมะขามป้อมครับ (คงได้แค่คล้ายๆ เพราะยังอ่อนหัดอยู่มาก)
เขียนกระทู้แล้วเห็นมานะ เลอะเทอะไปหมด พักนี้เลยไม่ค่อยกล้าเขียนอะไร

อ่านกระทู้ของพี่แล้ว เหมือนทุกครั้ง ที่ปลื้ม เย็น สงบขึ้นมาในอก
ดูความปลาบปลื้มนั้น เดี๋ยวมันก็สงบลงไป

ถึงจะฟุ้งซ่านอยู่ พอได้อ่านกระทู้ของพี่ทีไร ก็สงบลงง่ายๆทุกที

ผมไม่เห็นว่าพี่จะหายไปใหนนะครับ รู้สึกแต่เพียงว่า
ถึงเวลาแล้ว เท่านั้น
โดยคุณ น้ำ วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 23:48:42

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 07:52:05
ทั้ง คุณมะขามป้อมและคุณน้ำ อย่าไปกังวลเรื่องมานะเลยครับ
เพราะกระทั่ง พระอนาคามี ท่านก็ยังไม่พ้นจากอำนาจของ มานะ
ขืนรอจนหมดมานะคือบรรลุพระอรหันต์ แล้วจึงค่อยเขียนกระทู้
ก็ยังน่าสงสัยว่า จะมีพระอรหันต์ที่ไหนมานั่งเขียนกระทู้อยู่อีก

ขอเพียงตั้งใจเขียน ความจริง ในใจตนเอง
เขียนไปด้วย ความเมตตา ต่อหมู่เพื่อน
แล้วก็คอย รู้ทัน มานะในจิตใจไปเรื่อยๆ
ก็จะเกิด ประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและส่วนรวมครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 07:52:05

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 10:02:33
_/|\_ ขอบคุณครับพี่สำหรับข้อคิดดีๆ

จะว่าไป
ตอนเขียนก็มีมานะอยากเขียน
ทีหลังพอเขียนเสร็จ คิดไปคิดมา
กลายเป็นความไม่อยากเป็นผู้แสดงธรรมขึ้นมาอีก
โดนกิเลสเล่นงานทั้งขึ้นทั้งล่องเลย :o)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 10:02:33

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 13:09:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ kittipan วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 19:47:06
ธรรมของครูงดงาม นิ่มนวล เข้าใจง่าย
อ่านที่ไรรุ้สึก สบายใจ และเย็นใจทุกครับ
นับว่าเป็นบุญของต๊ะแล้วทีได้พบครู เ
มื่อก่อนเคยคิดว่าจะทำอย่างไรปัญญาถึงจะเกิด
แต่ก็คิดไม่ออก ได้แต่ทำสมาธิ
จนได้พบครู  พระคุณของครูนั้นหาที่สุดมิได้
ครูที่สอนในทางโลก สอนเท่าไหร่ไม่หลุดพ้นทุกข์ 
แต่ครูในทางธรรม ท่านพาหลุดพ้น นับเป็น
"ครู  ยอดครู " ที่หาไม่ได้อีก
  สำหรับต๊ะเองยังต้องศึกษาอีกมาก
แต่กระทู้นี้เหมือนเป็นแผนที่สำคัญที่เดียว
ที่จะนำพาไปให้ถึงที่สุด แห่งการปฎิบัติ
ขออนุโมทนาครับ.....
โดยคุณ kittipan วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 19:47:06

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ น้ำ วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 22:02:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 28 กรกฎาคม 2543 22:50:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ วิทวัส วัน จันทร์ ที่ 7 สิงหาคม 2543 08:58:47
สาธุครับ
โดยคุณ วิทวัส วัน จันทร์ ที่ 7 สิงหาคม 2543 08:58:47

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ ต๊าน วัน อังคาร ที่ 8 สิงหาคม 2543 23:38:26
_/|\_สาธุค่ะอา
โดยคุณ ต๊าน วัน อังคาร ที่ 8 สิงหาคม 2543 23:38:26

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com