กลับสู่หน้าหลัก

อย่าส่งจิตออกนอก คือ นอกอะไร

โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 18:15:49

ขออนุญาตเรียนถาม เรื่องที่ท่านส่วนใหญ่ในวิมุติ จะทราบแล้ว แต่ถ้าผมไม่รีบถามตอนนี้เกรงว่าจะพลาดประโยชน์อันพึงได้
คือเมื่ออ่าน คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ที่ว่า
“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์”
และ “อย่าส่งจิตออกนอก”
เมื่ออ่านแล้วก็เกิดศรัทธา ว่านี่คือสัจธรรมที่กลั่นเป็นเพชรแล้ว
แต่เมื่อพิจารณาก็รู้ตัวว่ายังไม่เข้าใจในสิ่งที่เคยคิดผาดๆว่าเข้าใจ

คือว่า จิตส่งออกนอก นั้น คือนอกจากอะไรครับ
ผมเข้าใจว่า คือ นอกจาก อารมณ์ในปัจจุบันขณะ ใช่หรือไม่
เดิมคิดว่า หมายถึงอย่าส่งจิตออกนอกจิต แต่นั่นก็ดูจะกลับเป็นการเพ่งที่จิตไปเสีย

ความสงสัยนี้เป็นผลจากการคิดไม่ใช่ผลจากการปฎิบัติ จึงอาจจะเกินขอบเขตวัตถุประสงค์ของวิมุติไป ก็ขออภัยด้วยครับ แต่ผมไม่เห็นที่ใดจะให้ความกระจ่างเรื่องนี้ได้ดีกว่าที่นี้แล้ว
โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 18:15:49

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 08:41:12
ถ้าจะให้เข้าใจคำสอนเรื่อง อย่าส่งจิตออกนอก อย่างง่ายๆ
ขั้นแรกควรเข้าใจเสียก่อนครับ ว่า ส่งจิตออกนอก เป็นอย่างไร

หากเฝ้าสังเกตอยู่ที่จิตใจตนเองให้สม่ำเสมอ
(ไม่ใช่เพ่ง / ควบคุม / บังคับ นะครับ)
จะเห็นว่า บ่อยครั้งมันเกิดความอยาก เป็นแรงขับ หรือผลักดันจิตใจ
ให้วิ่งออกไปจับ/ยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เช่นในขณะที่ตามองเห็นสาวสวย จิตจะเกิดราคะคือความรักใคร่ชอบใจรูปอันนั้น
แล้วจิตก็จะเกิดกระแสความอยากพุ่งขึ้นในอก
แล้วผลักดันจิตให้ "หลง" ทะยานออกไปทางตา
เพื่อดูสาวคนนั้นอย่างลืมตัวของตัวเอง
ตอนนั้นจิตตนเองมีราคะก็ไม่เห็น จิตมีความอยากดูอยากได้ก็ไม่เห็น
กระทั่งตัวเองนั่งอยู่ หรือยืนเดินอยู่ ก็ลืมหมด
เหมือนร่างกายตนเองหายไปจากโลก
อันนี้ก็เพราะส่งจิตออกนอก ทะยานไปหลงยึดอารมณ์ที่เห็นนั่นเอง

หรือบางทีไม่ได้รู้เห็นรูปหรือเสียงใดๆ
แต่นั่งอยู่เฉยๆ สัญญาคือความจำเรื่องสาวสวยที่เห็นเมื่อวานนี้ผุดขึ้น
ความคิดปรุงแต่งเรื่องสาวก็เกิดขึ้น
เช่นเธอเป็นใครที่ไหนหนอ ทำอย่างไรจะรู้จักและรักกันได้
ในขณะที่คิดนั้น จิตใจหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด
จิตถูกราคะครอบงำก็ไม่รู้
จิตทะยานอยากเข้าไปอยู่ในภพหรือโลกของความคิดก็ไม่รู้อีก
กระทั่งตนเองกำลังจะเดินไปตกท่อข้างทาง ก็ยังไม่รู้อีก
คือลืมกายลืมใจของตนเองในปัจจุบันเสียหมดสิ้น
มีแต่หลงอยู่กับความคิดและกิเลสตัณหาอย่างเดียว

นี่แหละครับคืออาการที่ส่งจิตออกนอกไปตามกระแสกิเลสตัณหา
ไม่มีสติสัมปชัญญะ หลง เผลอ ไม่รู้เท่าทันสภาพธรรมในกายในใจตนเอง

ที่ท่านสอนว่าอย่าส่งจิตออกนอก
ก็คือสอนไม่ให้หลงขาดสติสัมปชัญญะ
หลงไปตามอำนาจกิเลสตัณหา
เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ
ถ้าจะพูดด้วยภาษาปริยัติ
ก็กล่าวได้ว่า ให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัยคือตัณหา
แต่คำว่าอย่าส่งจิตออกนอก
เป็นการสอนถึงสภาวะหรืออาการของจิตจริงๆ
ที่มันหลงไปตามสมุทัยคือตัณหา
และไม่รู้จักทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ของตนเอง
สรุปแล้ว อย่าส่งจิตออกนอกก็คือ
อย่าขาดสติสัมปชัญญะ เพราะจะไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง
และจะหลงทะยานไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา

และเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมากเข้า
ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจคำว่า อย่าส่งจิตออกนอก ได้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
จนถึงขั้นจิตมีสติ สมาธิ และปัญญาเต็มที่
มันจะ หยุด
และ รู้อยู่กับรู้
ไม่มีการส่งออกหรือกระเพื่อมไหวใดๆ
หยุดความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด
ถ้าปฏิบัติมาถึงอย่างนี้
ก็จะเข้าใจได้ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
เป็นคำสอนเพื่อการปฏิบัติได้ตลอดสายทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 08:41:12

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 08:56:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 09:03:09
อ้อ แถมหน่อยครับ
ที่ถามว่า อย่าส่งจิตออกนอก หมายถึงนอกจากอะไร?
ขอเรียนว่า นอกจาก รู้
หรือนัยหนึ่งก็คือ
นอกไปจากความมีสติสัมปชัญญะและรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง

ถ้าถามต่อว่า นอกไปทางไหน
ขอเรียนว่า นอกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ถ้าถามว่า นอกแล้วส่งผลเป็นอย่างไร
ขอเรียนว่า ส่งผลเป็นอุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 09:03:09

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 09:19:58
สาธุ กราบขอบพระคุณครับครู
จะน้อมนำเป็นข้อปฏิบัติต่อไป
_/|\_
โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 09:19:58

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 10:04:46
อย่าส่งจิตออกนอก
ฟังแล้วเหมือนกับการควบคุม บังคับ หรือเพ่งที่จิตไม่ให้ส่งออกนอก
จริงๆ แล้วท่านหมายถึง
ส่งจิตออกนอกก็ให้รู้ว่าจิตเผลอส่งออกไปข้างนอกแล้ว
ไม่ได้บังคับไม่ให้ส่งออก แต่ให้คอยรู้ว่าเผลอส่งออก

เหมือนเราจับควายป่ามาเลี้ยงไว้
แต่ก็ต้องผูกเชือกไว้ สนสะพายไว้ สำหรับคอยดึงเวลามันพยศ
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะจับควายมัดไว้ไม่ให้มันเคลื่อนไหว
พอนานๆเข้า ควายก็เชื่องลง ก็ไม่จำเป็นต้องกระตุกเชือกบ่อยๆ
จนในที่สุดก็สามารถปล่อยเชือกได้เลย เพราะควายมันไม่วิ่งไปไหนอีกแล้ว

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 10:04:46

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 12:23:08
สาธุ ขอบคุณ คุณมะขามป้อมด้วยครับ
โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 12:23:08

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 13:09:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ฐิติมา วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 13:13:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 14:25:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 08:17:12
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 08:17:12

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 12:06:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 14:33:40
เมื่อคืนตื่นขึ้นมาตีสองครึ่ง
เดินจงกรมดูความรู้สึกที่ลมสัมผัสที่ปลายจมูก
จิตมีกำลังมากเป็นพิเศษคืนนี้ไม่อาการง่วงเลย
(อานิสงส์ที่ได้อ่านกระทู้ที่113ก็เป็นได้)
เดินไปสักพักจิตนึกภาพในอดีดขึ้นมา
สติก็ระลึกรู้ขึ้นมาทันจับความรู้สึกแรกนึกได้
พอรู้ทัน(ปัญญาในปัจจุบันขณะ)ก็รู้ว่า..สักแต่ว่าความนึกคิด
สังเกตุที่ใจเกิดขัดใจอึดอัดในหัวอกเล็กน้อยก็หายไป

จิตนึกภาพราคะขึ้นอีก...สติจับความรู้สึกแรกนึกได้
ก็รู้ทันว่า..แค่ความคิด..เกิดอึดอัดในอกเล็กน้อยก็หายไป..

เป็นอยู่สักพักเกิดความสุขเบิกบานขึ้นและรู้ว่า..
ตัณหามาหลอกล่อครอบงำเราไม่ได้

สติก็มาระลึกรู้ความสุขเบิกบานอีก อยู่สักพัก
ปัญญาก็พินิจพิเคราะห์ว่า...เจ้าจะสุขอะไรกันหนักหนา...
พอรู้ทันความพอใจในสุข..ความสุขเบิกบานก็หายไป
สติก็มาระลึกรู้ที่ลมสัมผัส...(เหมือนการรู้ตัวทั่วพร้อมมากขึ้น)
ปัญญาก็วินิจพิเคราะห์ว่า..ใครเป็นผู้รู้ผู้เห็น...
สติก็พยายามระลึกรู้ควานหาผู้รู้....ไล่ไปไล่มาสักพัก
ปัญญาก็วินิจพิเคราะห์ว่า...เอารู้ไปแสวงหาผู้รู้ทำไม่ได้..

สติก็มาระลึกรู้ที่ลมสัมผัสอีก...
สติมาระลึกรู้ลงไปที่ลมสัมผัสมากขึ้น...เห็นรูปตัวเองขึ้นมา
เหมือนกับมองเห็นตัวเองในกระจก..อยู่สักพัก
ปัญญาก็วินิจพิเคราะห์เป็นสิ่งถูกรู้....ก็รู้ทันในนิมิต...นิมมิตหายไป

สติระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมมากขึ้นอีก
เห็นความปวดเมื่อย..เห็นความดีใจ...ฯลฯ
เห็นสติทำงานเหมือนกับหอคอยที่อยู่บนประตูเมือง
คอยระลึกรู้ตอนมีสัมผัส...ถ้ามีอะไรพิเศษ
สติปัญญาทำงานเหมือนพี่กับน้องเลย

เรามีหน้าที่ดูอย่างเดียว

มีข้ออยากเรียนถาม
มโนวิญญาณกับวิญญาณอันเดียวกันหรือ?ครับ
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 14:33:40

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ aek123 วัน เสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2543 15:02:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 08:02:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 08:48:11
: )
โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 08:48:11

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 09:33:14
สาธุครับคุณอี๊ด

สำหรับคำถาม ขอยกพจนานุกรมของพระธรรมปิฎก มาดังนี้

วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์,จิต,
ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน
เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น
ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ;

วิญญาณ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
๓. ฆานวิญญาณความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย(รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

มโนวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ,
ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ
********************************************************
ส่วนในแง่ปฏิบัติ
มีเรื่องต้องคุยกันอีกมากพอสมควรครับ
เกี่ยวกับเรื่อง จิต ใจ(มโน) และวิญญาณ
แต่ตอนนี้ยังไม่ว่างพอที่จะคุยเรื่องนี้น่ะครับ
เลยต้องของดเว้นเอาไว้ก่อน
(แต่เพื่อนท่านอื่นจะอธิบายเพิ่มเติมประการใด ก็เชิญนะครับ)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 09:33:14

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ น้ำ วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 23:51:18
ใหนๆผมก็เลอะเทอะจากมานะของตัวเองตอนเขียนตอบกระทู้ที่แล้ว
ก็ขอฉวยโอกาสเผลอต่อเลยก็แล้วกันครับ

ผมเองเห็นคล้ายๆกับคุณมะขามป้อมอีกแล้ว (คล้ายๆเท่านั้นเองครับ
เพราะยังห่างจากเพื่อนๆนัก)
ตั้งแต่วันที่ขอให้พี่ปราโมทย์สอนดูจิต ก็ยังเผลออยู่ทุกเวลา
เผลอแบบตั้งใจเผลอเลย คือรู้ว่าอยากจะมอง (อะไรก็แล้วแต่ที่อยากจะมอง)
ก็รู้ว่ากำลังอยากจะมอง เสร็จแล้วก็รู้อยู่กับตัวเลยว่า เอาล่ะ จะเผลอแล้ว
แล้วก็ปล่อยจิตกระโจนพรวดออกไปมองเลย มองแล้ว ระหว่างทางไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย
ว่าทำอะไรอยู่ หายอยากแล้ว กลับ

คือเผลอมันทุกขณะ ว่างั้นเถอะครับเพราะเดี๋ยวก็มอง เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด
เดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน อืม์ นั่งเฉยๆแท้ๆ ยังวุ่นวายดีพิลึก

อ่านถึง ตัวรู้ ผู้รู้ อ่านแล้ว จิตก็ควานหาใหญ่ ใหนผู้รู้ หาจนหงุดหงิด
แล้วก็คิดเอาดื้อๆเลย ว่าอย่าไปหาเลย เอาแค่ รู้ ก็พอ ส่วนใครจะรู้
เดี๋ยวก็รู้เอง เลิกหา ง่ายดี

ดูจิตไป เผลอ แล้วก็เพ่ง แล้วก็เผลออีก เหมือนตุ๊กตาล้มลุก

นั่งประชุมกับลูกค้า ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเสนองาน ก็นั่งดูจิต
ตั้งคำถามขึ้นมาว่า เรารู้สึกอย่างไรกับคนที่พูด แล้วก็ดูไป
ดูไม่ออก ไม่รู้สึกอะไร อ้อ...ยังตั้งใจดู เลยไม่เห็น
ดูไปสบายๆ ขยับตัวนิดหน่อยพอให้รู้สึกตัว
ประเดี๋ยวความรู้สึกต่อคนที่พูดก็โผล่ออกมา แว้บเดียว เพ่งอีกแล้ว หายไปเลย

เผลอ...เพ่ง...เผลอ...เพ่ง
ทั้งวัน
โดยคุณ น้ำ วัน จันทร์ ที่ 24 กรกฎาคม 2543 23:51:18

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 08:50:16
ทำใจให้สบายๆ อย่าเผลอ และอย่าเพ่งจ้อง
แล้วปฏิบัติธรรมไปตอนที่มีผัสสะ
คือตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ... ใจคิดนึก นั่นแหละครับ

อย่างเช่น เราเห็นเด็กสองคนเดินมาด้วยกัน
คนหนึ่งเป็นลูกเรา อีกคนหนึ่งเป็นหลานเรา
ลองสังเกตความรู้สึกที่แตกต่างกันในใจของเราดู
จะพบความแตกต่างของระดับราคะ และความลำเอียงได้ไม่ยากเลย

หรือถ้าเราได้ยินเสียงเพลง จะพบว่า บางเพลงจะชอบมากกว่าบางเพลง
กระทั่งอ่านทางนฤพาน หรือดูละคร
ก็จะพบว่าแต่ละบท แต่ละตอน มีความชอบไม่เท่ากัน
บางตอนก็มีราคะ บางตอนมีโทสะ บางตอนสนุก บางตอนเบื่อ ฯลฯ

การปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องทำในชีวิตจริง ตอนที่มีผัสสะนี่แหละครับ
พอมีผัสสะแล้ว ก็คอยวัดจิตวัดใจตนเองเรื่อยๆ ไป
ไม่นานก็จะรู้เองว่า อะไรคือนาม อะไรคือรูป อะไรคืออารมณ์ อะไรคือจิต
กิเลสอกุศลเป็นอย่างไร บุญกุศลเป็นอย่างไร ตัณหาเป็นอย่างไร
และรู้ชัดว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงล้วนแต่แปรปรวนไม่แน่นอน เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
แล้วในแต่ละวัน ควรหาเวลา
เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิสักช่วงหนึ่งให้เป็นกิจวัตรไว้ด้วย
จะช่วยให้มีกำลังในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากขึ้น

หัดอยู่อย่างนี้ ไม่ยากอะไรหรอกครับ
อย่าเบื่อ อย่าชี้เกียจ และอย่าคิดสงสัยมากนักก็แล้วกัน
ถึงไม่ได้มรรคผลนิพพานอย่างใจนึก
แต่การจะประคองตัวอยู่กับโลก
ก็จะอยู่ได้อย่างทุกข์น้อยลง ให้เห็นได้ทันตาแล้วครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 08:50:16

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 09:15:18
ชอบที่พี่ปราโมทย์กล่าวไว้ข้างบนครับว่า

".....ตอนนั้นจิตตนเองมีราคะก็ไม่เห็น จิตมีความอยากดูอยากได้ก็ไม่เห็น
กระทั่งตัวเองนั่งอยู่ หรือยืนเดินอยู่ ก็ลืมหมด
เหมือนร่างกายตนเองหายไปจากโลก
อันนี้ก็เพราะส่งจิตออกนอก ทะยานไปหลงยึดอารมณ์ที่เห็นนั่นเอง...."

แสดงให้เห็นถึงลักษณะอันหนึ่งของจิตที่ไม่มีสัมปชัญญะ
ถ้าเพ่งเกินไป เรียกว่าสติกล้า มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งครับ
คือ มีแต่จิตของตนโดดเด่นเท่านั้นโลกทั้งโลกเบาโหวง
เหมือนจะหายไป

ถ้ากำหนดสติสัปชญะได้พอดีๆ ก็จะเห็นทั้งโลก เห็นทั้งตนเอง
(ทั้งตนเองและโลกเป็นหนึ่งเดียวไม่แตกต่างกัน)
แต่เห็นในลักษณะที่ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นยนต์เดินไปมา
เป็นลักษณะที่สำคัญของการที่กายและจิต (จิตและอารมณ์)
แยกจากกันครับ

เรื่องควานหาจิต เป็นกันแทบทุกคนแหละครับคุณน้ำ
หาไม่เจอหรอกครับ เพราะตัวที่ควานหาก็คือจิตเอง
แต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา เป็นจิตที่ถูกปรุงแต่งแล้ว
ไม่มีทางรู้ ไม่มีทางพบหรอกครับว่าจิตคืออะไร
(ทั้งๆ ที่ตัวจิตแสดงตัวให้เห็นอยู่ทนโท่ตลอดเวลา)

เจริญสติสัมปชัญญะไปเรื่อยๆ เถิดครับ
เผลอบ้าง เพ่งบ้างก็ช่างมัน เมื่อปัญญาเกิด
ก็จะเห็นเอง เข้าใจได้เองว่า จิตคืออะไร ธรรมคืออะไร
โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 09:15:18

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 11:47:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ น้ำ วัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543 21:54:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 28 กรกฎาคม 2543 22:15:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ มรกต วัน เสาร์ ที่ 29 กรกฎาคม 2543 12:19:28
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ จ้อม วัน จันทร์ ที่ 31 กรกฎาคม 2543 13:00:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com