กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องที่เคยสังเกตุ คนปกติกับนักปฏิบัติฯ

โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 09:12:47

ในช่วงระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติฯมานี้ ผมได้เคยพาคนหลายๆคนไปหาครู เพื่อที่จะ
ได้มีคนปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นๆ กลุ่มคนที่ผมพาไปหาครูนี้ จากการสังเกตุของผมเอง
ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก ไม่มีความรู้ ไม่ได้สนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมเลย แต่ปกติเป็นคนรักความสงบ,สดชื่น
และดำเนินชีวิตในธรรมนองครองธรรม ศีล 5 จะถือครบหรือไม่ครบ กลุ่มนี้ไม่ค่อยจะใส่ใจนัก
แต่ก็ไม่ทำชั่วโดยเจตนา เว้นแต่เรื่องที่ชาวบ้านเขามองว่าเป็นเรื่องปกติเช่น การตบยุง,
การใช้กระดาษที่ทำงานมาทำงานส่วนตัว ,ฯลฯ เรียกว่าปกติของคนทั่วๆไปนั่นแหละครับ

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ใฝ่ใจเรื่องการปฏิบัติธรรม ถือศีล5 โดยตั้งใจ นั่งสมาธิเป็นประจำ
อ่านหนังสือธรรมะเป็นงานอดิเรก ก็คล้ายๆกับพวกเรานี่แหละครับ เพียงแต่ยังไม่รู้จักครู
และยังไม่รู้จักสติปัฐฐาน4

ทั้งสองกลุ่มนี้ ผมพาไปหาครูด้วยจุดประสงค์เดียวกัน คือ ปรารถนาให้เขาได้รู้จักกับการปฏิบัติ
ที่ถูกต้อง ส่วนหลังจากที่เขารู้แล้ว จะทำหรือไม่ทำนั้นก็คงต้องปล่อยให้พวกเขาจัดการกับชีวิตเขาเอง

และทั้งสองกลุ่มนี้ ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนและสะดุดหูผมเกือบทุกครั้ง คือ
กลุ่มแรก     ครูจะชมว่า จิตสดชื่นดี และเกือบทั้งหมด " รู้ตัวเป็น "
กลุ่มที่สอง  เกือบทั้งหมดอีกเหมือนกันที่จะถูกชมว่า" ฟุ้งซ่าน ,มัว และที่สำคัญ รู้ตัวแทบจะไม่เป็นเอาซะเลย "

จากความแตกต่างนี่แหละครับที่เป็นเครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้นในใจผม
ทำไมหนอคนที่ใฝ่ใจอยู่แล้ว ปฏิบัติอยู่แล้วจึงเป็นไปในแนวนั้นเสียเกือบหมด
ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการปฏิบัติ กลับได้สิ่งที่น่าชื่นใจ
ก็ได้แต่กำหนรู้ความสงสัยเมื่อสงสัยหนัก และเมื่อคราวที่พอมีปัญญาเกิดขึ้นบ้าง
ก็อาศัยสะสมคำตอบมาเรื่อยๆ จนถึงบางอ้อ

คือกลุ่มแรกนั้น เขามีชีวิตเป็นปกติของเขาเองไม่ว่าจะเรื่องกิน อยู่ หลับ นอน
เรียกว่าในชีวิตประจำวันของเขานั้น "เป็นปกติ"
ส่วนกลุ่มที่สองนั้น ชีวิตไม่ค่อยปกติเท่าไร เนื่องจากยังอยู่ในภาวะฆราวาส แต่ต้องฝืน
วิถีชีวิตเดิม เช่นเคยตบยุงเมื่อโดนกัด ก็ฝืนไว้, เคยหัวถึงหมอนก็นอนก็ต้องมานั่งสมาธิ,
จากเคยอ่านหนังสือสัพเพเหระ ก็มาอ่านหนังสือธรรมะ,ฯลฯ เรียกว่าเกือบทั้งหมดของชีวิตเปลี่ยนไปมาก
และที่สำคัญครั้งที่พาไปหาครูนั้น ทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กลุ่มแรกจะมีความรู้สึกกับครูว่าครู เป็นผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับผู้อาวุโสท่านอื่น
อาจจะเห็นว่าต่างกันตรงที่ครู มีความสงบมากกว่า
ส่วนกลุ่มที่สองนั้นไปกันคนละเรื่องเลยคือ ครู แทบจะเป็นผู้วิเศษ ครูมองหน้าก็หงอย
ครูชวนคุยก็เกร็ง บอกให้รู้ตัว ก็พาลไปคิดอีกว่ารู้อย่างไร พอโดนครูทักว่า" คิดแล้วเห็นมั๊ย"
ก็เกิดความสงสัย พอสงสัยก็คิดอีก ก็โดนทักอีก เลยไปกันใหญ่เลย
แต่ไช่ว่ากลุ่มหลังนี่จะน่าน้อยใจ เพียงแต่ในระยะแรกเท่านั้นแหละครับที่น่าน้อยใจ
เพราะหลังจากที่กลุ่มหลังรู้ตัวเป็นแล้วและสามารถปรับตัวให้เป็นปกติได้แล้ว
ทีนี้แหละครับกลุ่มหลังนี่พัฒนากันแบบไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว แต่ในขณะที่กลุ่มแรกเคยเป็นอย่างไรก็เป็น
อย่างนั้น ไม่ยอมไปใหนเสียที  เรียกว่ามั่นคงเหลือเกิน ใครจะไปใหนก็ช่าง ฉันจะเล่นสนุกไปวันๆอย่างงี้แหละ
ก็เพลินดีเหมือนกันสำหรับคนกลุ่มแรก

ในคราวต่อมาผมก็มานั่งคิดต่อว่า"ทำอย่างไรการรู้ตัวของคนกลุ่มแรกจึงจะมาอยู่กับคนกลุ่มหลัง"
ไล่ไปไล่มาทางออกของปัญหา มันง่ายนิดเดียวเอง คือก็รู้อย่างเป็นปกติ ไม่ต้องไปใส่บัญญัติ
ไม่ต้องไปใส่สมมติว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไร เพียงแต่รู้ (พูดยากเหมือนกันเนาะ)เช่นเรานั่ง เราก็รู้ตัวว่าเรานั่ง
สงบเราก็รู้ว่าสงบ การใส่บัญญัติเหมือนการไปเพิ่มภาระให้จิตใจต้องคอยมานั่งนึกอยู่ตลอดเวลา
เป็นการเพิ่มงานให้จิตทำโดยเปล่าประโยชน์จริงๆ เพราะการไปใส่บัญญัติ อย่างน้อยก็ต้องคิดก่อน
และการคิดในเรื่องการหาคำศัพท์มาใส่มันก็รวดเร็วจนสติเราตามไม่ค่อยจะทัน (สติจะหลุดกันตอนนี้เสียเยอะ)
การมีชีวิตประจำวัน ขอให้มีความเป็นปกติให้มาก เคยมีนิสัยอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้นให้เป็นปกติ
เพียงแต่เพิ่มความรู้ตัวขึ้นมาและอย่าพยายามฝืนเด็ดขาด เว้นไว้แต่กรณีที่เกิดความอยาก,ไม่อยาก อันนี้ต้องฝืนกันครับ
ด้วยวิธีอย่างนี้ชีวิตเราจะมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวเป็นปกติได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เพราะเราไม่ต้องไปฝืนและ
เราก็ยังมีสติอยู่ ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ปฏิบัติ

เล่ามาจนถึงตอนนี้ก็เลยมีเรื่องที่เคยสังเกตุสำหรับคนกลุ่มหลังนี่อีกแต่เอาไว้วันหลังค่อยมาเล่าแล้วกันครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 09:12:47

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 09:29:13
สาธุ ครับ เป็นกระทู้ที่ดีมาก
เพราะได้มาด้วยบทเรียนที่เจ็บปวด และราคาแพงของคุณธีรชัยแท้ๆ
คงต้องรออ่านตอนต่อไป อย่างจิตใจจดจ่อครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 09:29:13

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 10:34:23
สาธุ ขอบคุณครับ
โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 10:34:23

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 11:31:30
แหะๆ กระทู้นี้โดนครับ ผมเป็นพวกกลุ่มหลังซะด้วย แทบจะเหมือนกับที่คุณเก๋เขียนมา
100% ครับ ยกเว้นตรงก็เรื่องการพัฒนาก็เท่านั้นแหล่ะครับ ขอบคุณมากจริงๆครับ
กระทู้นี้มีประโยชน์สำหรับศิษย์ปลายแถวอย่างผมจริงๆครับ
อิ อิ ผมรออ่านต่อนะครับ
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 11:31:30

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ฐิติมา วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 13:18:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 19:35:44
     สาธุครับ ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยซักเล็กน้อยนะครับ จากประเด็นนี้เป็นไปได้ไหมครับว่า เหตุอาจมีส่วนมาจาก พวกที่สองที่ศึกษามามากนั้น อาจมีความหวังหรือจุดมุ่งหมายว่าตนเองต้องการอะไร เช่น พระนิพพาน เป็นต้น จึงทำให้มีความตั้งใจที่จะทำให้ได้มากจนเกินไป เข้าข่ายตึงเกินไป ส่วนพวกแรกแม้จะมีความต้องการแต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า ไม่ถึงกับมากมายนักคงไม่เท่ากันกับพวกที่สอง จึงสามารถทำตัวได้อย่างง่ายๆ สบายๆ อาจเข้าข่ายถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ยังไม่ค่อยจะเดือดร้อนเท่าไร อันนี้คงต้องออกตัวไว้ก่อนว่า คงไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกคนนะครับ เพียงแต่ลองตั้งข้อสังเกตุดูน่ะครับ เวลาคนเราต้องการอะไรมากๆ ก็ส่งผลให้เกิดมีมานะขึ้นมา อยากจะทำให้ได้อย่างที่ตนเองต้องการ อยากไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ไวๆ พอมากไปก็เกิดเป็นความตึงจนเกินไป แต่ถ้าสามารถหาจุดพอดีให้กับตัวเองได้แล้ว สามารถที่จะเห็นความต้องการที่เกินไปของตัวเองได้แล้ว คนประเภทที่สองจึงเป็นประเภทที่จะต่อยอดไปได้อีกไกล เพราะมีความมุ่งหวังที่แน่วแน่มาแต่แรกแล้ว แต่สำหรับคนประเภทแรกคล้ายๆ กับว่าเหมือนเพียงมาหาเส้นทางของตัวเองที่จะเลือกหรือไม่ก็เพื่อตอกย้ำความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเลือกเดิน พอทำๆ ไปเมื่อเริ่มรู้สึกว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ควรเลือกเดินจริงๆ แล้วสำหรับตัวเอง ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมาเข้าสู่วัฏจักรแบบพวกประเภทที่สองได้เหมือนกัน แต่พวกประเภทแรกนี่ก็มีสิ่งที่น่ากลัวอยู่เหมือนกันนะครับผมว่า ก็ตรงที่ การที่ยังไม่มีทิศทางหรือจุดยืนที่แน่นอนนั้น อาจส่งผลให้เลิกล้มการเดินทางในเส้นทางนี้หรือเส้นทางที่ถูกต้องไปเลยก็เป็นได้ ดังนั้นก็อาจสรุปได้ว่า การปฏิบัติที่ตึงไปหรือหย่อนไปนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติทุกประเภท เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
       ไม่ทราบว่าที่ขอแสดงความคิดเห็นไปนี้จะมีส่วนบ้างรึเปล่าครับ ส่วนตัวผมเองแล้วดูเหมือนจะเอียงๆ ไปทางด้านพวกแรกมากกว่านะครับ ไม่ใช่เรื่องจุดหมายนะครับ แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติครับ ที่ดูเหมือนจะเหลาะแหละไปมากทีเดียว แต่ยังไงก็ต้องพยายามครับ เจริญในธรรมครับ :)
โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 19:35:44

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ มรกต วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 20:04:58
ขอบคุณคะ :-)
เป็นเหมือนกลุ่มที่ 2
เพราะการปฏิบัติไม่เป็นไปตามธรรมชาติของจิต
แฝงไปด้วยความอยาก  ต้องทบทวนใหม่คะ:-)
โดยคุณ มรกต วัน อังคาร ที่ 1 สิงหาคม 2543 20:04:58

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 00:13:47
อย่าอุบตอนสองไว้นานนะคะ รอฟังอยู่ด้วยค่ะคุณเก๋
โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 00:13:47

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 07:44:26
ข้อวินิจฉัยของ คุณธาตุธรรม มีส่วนถูกตรงมากเลยครับ
สาธุ ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 07:44:26

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 12:08:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 15:30:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 19:08:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน พุธ ที่ 2 สิงหาคม 2543 19:21:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 08:03:33
เรื่องที่เขียนต่อนี้ ผมจะขอเล่าเฉพาะที่เคยสังเกตเห็น ,เคยเป็น ในสิ่งที่เคยผิดพลาดมาก่อน
และบางอย่างก็ยังอยู่ในปัจจุบันนี้(ยังสู้กันอยู่)

ในลำดับแรกที่ผู้ปฏิบัติหลังจากที่ได้พบครู และได้วิธีการปฏิบัติ เกือบจะทั้งหมด
รู้สึกมีความสุข,สุขใจที่ได้ปฏิบัติ พร้อมๆกับความสุขนี้มันมีสิ่งแฝงมาอีกอย่างหนึ่งคือ
ความอยากก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ดังนั้นนักปฏิบัติมือใหม่จึงพยายามหา
ทางที่คิดว่าทำให้ตัวเองก้าวหน้าได้เร็วที่สุด นั่นก็มี 1.อ่าน 2.ฟัง 3.เพียรปฏิบัติ แน่นอนครับ
เกินพอดีเกือบทั้งหมด
1. การอ่าน นักปฏิบัติใหม่เมื่อเริ่มเป็นแล้วจะหวังความก้าวหน้าในทางธรรมสูงมากในขั้นนี้ ส่วนมาก
ยังไม่ได้สนใจคำว่า นิพพาน เพียงแต่รู้ว่าปฏิบัติแล้วมีความสุข ,อยากเป็นแบบนักปฏิบัติท่านอื่นๆ
ที่ได้ปฏิบัติมานานกว่า,อยากคุยกับเขารู้เรื่อง,อยากฯลฯ
จึงพยายามหาอ่านหนังสือ, บทความ
ธรรมะที่ใหนที่มี ก็ไปหาอ่านตอนที่อ่านน่ะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่หลังอ่านนี่สิน่าหนักใจ เพราะตอนที่อ่าน
ไม่มีสติไปคุมดังนั้น อะไรที่ตรงกับความต้องการของเรา กิเลสก็จะเก็บๆเอาไว้โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
เมื่อไปปรากฏผลอันน่าหนื่อยในภายหน้านั่นแหละถึงจะได้รู้ว่า หากอ่านแบบไม่มีสติคอยคุมแล้ว
มันไม่คุ้มเลย

2.การฟัง นักปฏิบัติมือใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นนักฟัง ที่ใหนมีการพูดคุยเกี่ยวกับธรรมะ
ก็จะเข้าไปฟัง เรื่องการฟังนี่ไม่ค่อยอันตรายเท่าไรนัก เพราะความทรงจำของคนมันสั้น ไม่นานก็ลืม
การเก็บเอาไปมันก็เลยพลอยน้อยไปด้วย แต่ถ้ามีการพูดคุยเช่นการถกธรรม ปุจฉา-วิสัจฉนา
ส่วนใหญ่จะโดดเข้าร่วมวงด้วยถ้าโชคดีไม่ได้เป็นผู้ตอบ หรือไม่มีโอกาสตอบ นี่ก็สบายไป
เพราะทั้งหมดเราแค่เป็นผู้ดู, ผู้ฟังเท่านั้น แต่หากเข้าไปร่วมด้วยเมื่อไรละก็ มีติดกลับมาแน่นอน
แต่ในหัวข้อนี้ ไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร เพราะถ้าไม่เป็นคนช่างจดช่างจำเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็จะไม่หนักหนา
แค่ไม่กี่วันก็หายไปแล้ว เพราะอย่างที่บอก ความทรงจำของคน มันสั้น

3.เพียรปฏิบัติ นักปฏิบัติมือใหม่นี่ จะปฏิบัติในแนวที่คิดว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแบบเอาเป็นเอาตายเลย
เช่นการพยายามมีสติ รู้ แต่ถ้ารู้ตัวแบบธรรมดาๆ คงจะธรรมดาเกินไปไม่เหมือนการปฏิบัติธรรม
ก็เลยมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นอีกเช่น ขับรถอยู่ แต่ไปกำหนดรู้ลมหายใจ รถเกือบจะชน(รถ)คนอื่น ก็มี
หรือเวลาทำงานอยู่ กลับมานั่งคิดว่า ตอนนี้ข้าพเจ้าอยู่อารมณ์ใหนหว่า ราคะ ,โทสะ หรือโมหะ ,ฯลฯ
เพราะมันเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่อยู่ในลักษณะ ถูก แต่ผิด คือถูกวิธี แต่ผิดเวลา ผลก็เลยพังหมด
ทั้งเรื่องปัจจุบันก็แย่ ภาวนาก็ร่วงเพราะไม่มีโอกาสที่จะทำให้ได้เต็มที่ทั้งสองอย่าง
ดังคำโบราณท่านว่าจับปลาสองมือ

ในหัวข้อการอ่าน และการฟังนั้น มีสิ่งที่ควรระวังมากๆอยู่อย่างหนึ่งคือแหล่งที่มาของบทความนั้นๆ
ด้วยว่าเราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียน หรือรู้ว่าใครเป็นผู้เขียน,ผู้พูดแต่เราก็ไม่รู้ภูมิธรรมของเขา ดังนั้นจึงต้องระวังมากๆ
ผมเคยอ่านคำเทศนาของหลงปู่มั่น ได้คติสั้นๆคอยเตือนใจและได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
นั่นก็คือหลวงปู่มั่นท่านสอนว่า "ธรรมะหากออกจากปากพระอริยะนั่นแลธรรมแท้ แต่หากออกจากปาก
ปุถุชน ทั้งหมดนั่นคือสัทธรรมปฏิรูป" เหตุเพราะธรรมะทั้งหลายหากไม่รู้แจ้งเห็นชัดแล้ว มีอย่างเดียวที่จะ
ทำได้ก็คือการคาดเดา และถ้าหากบอกเล่าประสบการณ์แล้วก็ยังไม่จัดว่าเป็นการกล่าวธรรม
ดังนั้นนักปฏิบัติพึงระวังให้ดี เพราะทุกวันนี้มีนักตีความธรรมะเยอะมากถ้าไม่อยากมีอกุศลกรรมติดตัวไปด้วย
ก็อย่าเผลอไปตีความกับเขาก็แล้วกันครับ หากมีข้อสงสัยวิธีที่ได้ผลเด็ดขาดที่สุด ก็ใช้วิธีที่ครูสอน
อยู่เป็นประจำคือดูความสงสัยนั้นซะไม่นานนัก ความสงสัยก็จะคลายตัวไปเองและอย่าเข้าใจว่า
เรื่องที่เราสงสัยมันจะหายไปนะครับ เพราะเรายังไม่รู้มันก็ยังไม่รู้อยู่นั่นแหละ แต่เป็นการทำลายตัวที่จะก่อปัญหา
นั่นคือความอยากแก้ปัญหา เชื่อเถอะว่า ไม่มีใครที่รู้ไปหมดทุกเรื่อง ดังนั้นถ้าเรารู้เรื่องภายนอก
น้อยลงไปหน่อยก็ไม่เห็นจะเป็นไรเลย หนำซ้ำยังสบายกว่าคนอื่นเสียอีกตรงที่ เราไม่มีวิจิกิจฉาที่ต้องหนักใจ
กลับมารู้ตัวเราดีกว่าครับ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น เมื่อเรารู้แล้ว หมดความสงสัยแล้ว
มันก็แค่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็จางหายไปเท่านั้นเอง

และหลังจากนักปฏิบัติได้ปฏิบัติผ่านมาในระยะหนึ่ง กิเลสที่หนักอึ้ง ก็ก่อตัวตามมาด้วยเช่นกัน นั่นคือ
ความอยากที่จะบรรลุธรรม ทำไมผมถึงกล่าวว่าต้องผ่านมาระยะหนึ่งก่อน นั่นก็เพราะว่า
เรื่องของการบรรลุธรรม สำหรับชาวบ้านทั่วๆไปเขายังพูดว่ามันเรื่องไกลตัวนัก และอีกอย่างหนึ่ง
นั่นก็ด้วยเหตุการณ์ข้างบน คือการอ่าน, การฟังอย่างขาดสติควบคุม ก็เลยทำให้นักปฏิบัติ
เท่านั้นแหละที่เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ไกลตัว ซึ่งก็ถูก แต่มันผิดตรงที่การนำความอยากออกหน้า การปฏิบัติ
เลยไม่ค่อยจะไปใหน เพราะพอมีอะไรเปลี่ยนแปลงปุ๊บ ก็จะดีใจ พอดีใจก็เลยเหลว เพราะลงไปที่กิเลสหมด
ตรงนี้วิธีแก้ที่ผมเคยใช้คือ ลืมมันซะ มาทำที่เหตุดีกว่า เรื่องของผลมองเสียว่าเป็นเรื่องไกลตัว
เอาเฉพาะข้างหน้านี้ เอาเฉพาะปัจจุบันนี้รู้ตัวให้ดีที่สุด ผลจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมันเถอะ

ในการปฏิบัติธรรมของผมนั้น มีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นบ่อยมากมีครั้งหนึ่งเกิดคำถามนี้ในใจ
"ในสมัยพุทธกาล หนังสือก็ไม่มีให้อ่าน วิทยุก็ไม่มีให้ฟัง อินเตอร์เน็ตก็ไม่มีให้เล่น วัดก็แทบจะไม่มี
ชาวพุทธก็มีเพียงแค่หยิบมือเดียว แต่ทำไมเพียงแค่การฟังเทศน์ ท่านจึงปฏิบัติธรรมได้
และได้เป็นอย่างดีด้วย อันนี้ก็ได้คำตอบมาอีกเช่นกันว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น ฟังก็หาฟังยาก เพราะ
ฉะนั้น หากฟังอะไรจับใจความของการปฏิบัติได้ ก็จะเอาแต่ตรงนั้นไม่ไปหาทางอื่นอีก
และข้อธรรมที่ได้ เป็นธรรมแท้ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงว่านี่คำสอนแท้หรือเปล่า
การลงหลักปักที่มั่นกับการปฏิบัติในแนวทางเดียวนี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติ แต่หากจะแวะเล่นสนุก
ตามรายทาง คงไม่ซีเรียสอะไร แต่ก็ต้องทำใจไว้ด้วยว่า วัฏฏะสงสารนี้ ไม่เคยปราณีใคร

หากจับจุดของการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ผลกันจริงๆแล้วผมว่าไม่ต้องไปสนใจอะไรอื่นอีก เอาแต่เรื่องตัวเรา ใจเราเท่านั้น
ชีวิตปกติเคยมี เคยเป็นอย่างไร ก็คงเป็นอย่างนั้น เคยโหวกเหวกก็โหวกเหวกกันไป(แต่อย่าลืมสติ) เท่านี้ก็คงจะพอแล้ว
และยิ่งหากปฏิบัติได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้วเมื่อเหตุดี ผลคงไม่ต้องพูดถึงนะครับ

พูดมาเสียยาวยืด ขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับตอนต่อนี่ให้ฟังว่าทำไมช้านัก เพราะว่าเขียนแล้วลบๆ
ด้วยเกรงว่าจะไปกระทบใครเข้า ไม่รู้จะเขียนอย่างไรดี จนครูต้องเข้ามาปลอบนั่นแหละเลยค่อยๆเขียนมาได้น่ะครับ
ม่ายงั้น สงสัยอีกนานกว่าจะได้อ่าน : )

ขอบคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 08:03:33

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 10:58:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 11:59:01
สาธุครับ

(ผมหายหน้าไปเสียหลายวัน เป็นเพราะไม่สบายครับ)

"สูงสุดคืนสู่สามัญ"
เช่นนั้นแล.....
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 11:59:01

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 12:31:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 21:35:12
สนุกดีค่ะ คุณธีรชัย
สาธุค่ะ
โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 21:35:12

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2543 08:50:34
กระทู้นี้อ่านสนุกจริง อย่างที่คุณแมวกล่าว
แต่เป็นความสนุกที่มีเบื้องหลังรันทดพอสมควร
เพราะคนที่ตั้งใจอย่างรุนแรงที่สุด จนปวดหัวแทบระเบิด
เข้าขั้นบอบช้ำน้ำตาตก ก็คือคุณธีรชัยนี่เอง
แต่ด้วยนิสัยนักสู้ที่ไม่ท้อถอย
จึงได้ความเข้าใจ นำมาเล่าให้เพื่อนที่ตามมาทีหลังได้ฟังกัน

การปฏิบัติธรรมของกลุ่มที่สองนั้น เร่ิมต้นด้วยความอยาก
เช่นอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ ในธรรม
แล้วก็นำความเคยชินในการแสวงหาความรู้แบบเก่าๆ มาใช้
คือพยายามคิด พยายามถาม จะให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติให้ได้
ครั้นคิดว่าเข้าใจแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติธรรม
โดยปฏิบัติต่อจิตตนเองเหมือนเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย
พยายามผูกมัดตบตี จะให้ควายร้องอ๋อ ให้ได้
ทั้งที่การปฏิบัติธรรมนั้น จะเอากำลังเข้าหักหาญไม่ได้
ต้องใช้สติปัญญา ใช้ความเยือกเย็น เข้าไปเรียนรู้ความจริงของขันธ์และจิต

สำหรับกลุ่มแรก มีจิตใจแบบเด็กๆ คือมาด้วยความสบายอกสบายใจ
บอกให้ดูก็ดู บอกให้สังเกตก็สังเกต ไม่มีมารยาในการปฏิบัติ
แต่ด้วยความที่ไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติ
และเห็นว่า การเจริญสติสัมปชัญญะ เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาเสียเหลือเกิน
ตอนนี้จึงขอเล่นกับโลกไปก่อน เอาไว้อีกหน่อยจึงค่อยกลับมาปฏิบัติ
ผลจึงเป็นอย่างที่คุณธีรชัยกล่าว คืออยู่แค่ไหนก็แค่นั้นตลอดไป

มีข้อสังเกตหน่อยหนึ่งครับ
ว่าคุณธีรชัย จำแนกคนปกติกับนักปฏิบัติออกจากกัน
เสมือนจะยอมรับกลายๆ ว่า นักปฏิบัติคือคนผิดปกติ :)
ความจริง ชาวโลกเขาก็มองนักปฏิบัติส่วนมากเป็นคนผิดปกติอยู่จริงๆ
เพราะมักจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากมาตรฐานปกติที่ชาวโลกเขารู้จักกัน
เรื่องนี้ นักปฏิบัติไม่ควรหวั่นไหวหรอกครับ
แต่ก็ไม่ควรทำตัวให้ผิดปกติมากนัก จนคนอื่นเขาไม่กล้าปฏิบัติธรรม
เราควรทำตัวให้กลมกลืนไปกับชาวโลก
เพียงแต่มีศีล 5 เป็นนิจศีลก็พอ
ยิ่งปฏิบัติด้วยการดูจิตด้วยแล้ว
ยิ่งไม่มีใครทราบเลยว่า เรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่

และเมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็จะทราบชัดเองครับ
ว่าจิตที่ไม่ถูกกิเลสครอบงำต่างหาก คือจิตปกติ
อันนี้เป็นความปกติของธรรม

ในโลกก็เลยมีแต่คนปกติของโลก กับคนปกติของธรรม
ล้วนแต่ปกติด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็อยู่ด้วยกันได้อย่างแนบเนียนที่สุดทีเดียว
ไม่รู้สึกแบ่งแยก ว่าโน่นพวกเขาที่ไม่ปฏิบัติธรรม
และนี่พวกเราที่ปฏิบัติธรรม
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2543 08:50:34

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2543 11:15:22
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ความเคยชินเก่าๆ เท่าที่สังเกตได้จากตัวเอง
คือ ความเคยชินเก่าๆ ในการปฏิบัติธรรม  ที่เป็นความเคยชิน
กับวิธีปฏิบัติ ในแบบที่ไม่มีความรู้ตัว  ซึ่งเกิดจากการตีความผิด
ต่อคำแนะนำสั่งสอน  ที่ได้ยินได้ฟังมา  จนทำให้ผมต้องกลายเป็น
นักปฏิบัติแบบหมกมุ่นครุ่นคิด และแบบเพ่งจ้อง เพื่อให้อารมณ์ดับไป
(เกิดความอยากและพยายามที่จะดับทุกข์ ด้วยการคิด และการเพ่ง)
ผลที่ได้ก็คือ  กลายเป็นคนฟุ้งซ่านทั้งวัน  และเกิดความหนักตึง
ทั้งกายและใจ  ยิ่งนานวันเข้า จิตใจก็ยิ่งจมดิ่งลึกไปในความไม่รู้ตัว
จนกลายเป็นความเคยชินของจิตใจ
เมื่อมีความเคยชินในวิธีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องแล้ว
ก็กลายเป็นว่า  พอเริ่มที่จะปฏิบัติครั้งใด
จิตใจก็ตกไปอยู่กับความฟุ้งซ่านและเพ่งโดยไม่รู้ตัว
เป็นอย่างนี้อยู่หลายปีทีเดียวครับ

เมื่อได้มาพบครู ก็เลยจัดเป็นกลุ่มที่สองอย่างที่คุณธีรชัยกล่าวไว้
คือรู้ตัวไม่เป็น  แต่ด้วยความตั้งใจที่จะเรียนรู้
จึงพยายามที่จะรู้ให้เป็น  โดยคอยสังเกตอาการของจิต
เมื่อถูกครูทักว่า เผลอไปแล้ว  หรือ อันนั้นเพ่งเอา
และที่สำคัญคือ พยายามจับให้ได้ถึงอาการของจิต
เวลาที่ครูบอกว่า  อย่างนั้นแหละ ให้รู้ตัวไว้อย่างนั้นเรื่อยๆ
(ถ้าครูไม่บอก ก็ไม่รู้ครับว่า อย่างนั้นเรียกว่า รู้ตัว)
แล้วเปรียบเทียบอาการของจิตทั้งที่เผลอ เพ่ง และรู้ตัว
ก็พอจะทราบได้ว่า  การปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

เมื่อจิตได้เรียนรู้อย่างนี้แล้ว ก็เห็นว่า ที่ผ่านมาเรายังปฏิบัติไม่ถูกต้อง
คือยังไม่มีความรู้ตัว  จึงได้เพียรที่จะฝึกให้รู้ตัว
แต่ด้วยความเคยชินเก่าๆ  ช่วงแรกก็ทำได้ยากมาก
เพราะเคยชินกับการคิดและเพ่งมานาน
ต่อมาจิตใจจึงค่อยคลายออกจากความเคยชินเก่าๆ
จนรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่า  ปฏิบัติได้สบายกว่าเมื่อก่อนแล้วครับ




โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2543 11:15:22

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2543 20:15:47
ขอบคุณคุณเก๋มากค่ะ วิเคราะห์ได้ดีมากเลยค่ะ
และคงเป็นประโยชน์กับพวกเรามากเลย
ขออนุโมทนาในความเพียร และการพยายามที่จะ
ช่วยแนะนำเพื่อนฝูง ซึ่งนับว่าคุณเก๋มีบารมีมากพอ
ทีเดียวที่สามารถนำญาติมิตรเพื่อนฝูงเข้ามาได้ เพราะ
ตัวเองได้พยายามแล้ว ก็ให้รู้สึกว่ายากแสนเข็นที่จะให้
ใครมาเข้าใจได้  ได้แต่เสียดายแทนพวกเขาเหล่านั้น
ที่ได้พยายามแนะนำเขาได้มาพบกับการปฏิบัติที่นับว่า
เป็นทางลัด ซึ่งคงต้องกราบขอบพระคุณพี่ปราโมทย์อย่างสูงที่ได้ให้โอกาสได้พบกับหนทางปฏิบัติที่ลัดสั้นได้เช่นนี้
เหลือเพียงความเพียรของตัวเองเท่านั้นที่ต้องทำต่อไปเพื่อเป็นการสนองพระคุณครู อย่างที่หาที่เปรียบไม่ได้เลย
กราบขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ
โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2543 20:15:47

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com