กลับสู่หน้าหลัก

ต่อจากกระทู้ ใหม่ ของคุณพัลวัน

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 08:44:52

ว่าจะตอบกระทู้ คุณพัลวัน หลายวันแล้ว แต่เพิ่งว่างครับ
เลยขอตั้งเป็นกระทู้ใหม่ก็แล้วกัน
เพราะกระทู้เดิม ผู้อ่านแล้ว อาจจะคิดว่าจบแล้ว

ที่คุณพัลวัน กล่าวว่าคนเราหลงของ(อารมณ์)ใหม่
แต่อาการหลงและกิเลสตัณหาเป็นของเก่านั้น
เป็นทัศนะที่แหลมคมทีเดียว
เพราะอะไรใหม่ มันล้วนแต่น่าสนใจ น่าทดลองบริโภค
บางครั้งก็เห็นๆ อยู่ว่าเนื้อหาสาระของสิ่งใหม่นั้นก็ไม่น่าจะมีอะไรมากนัก
แต่คนเราก็ต้องพยายามบริโภค เพื่อความเป็นคนทันสมัย มีรสนิยม และโก้เก๋
เช่นใช้นาฬิกาเรือนละล้าน ขับรถคันละ 50 ล้าน
หรือมีอีหนูหลายๆ คนทั้งที่สังขารไม่อำนวย
การบริโภคของใหม่ จึงมีทั้งเหตุผลจูงใจทางกาย และทางจิตใจ

อันที่จริงที่ว่าอารมณ์ใหม่นั้น เอาเข้าจริงมันใหม่เพียงสมมุติบัญญัติเท่านั้น
เพราะอารมณ์หรือสิ่งที่เราสัมผัสได้นั้น มันมี 2 ชั้นซ้อนกันอยู่
อันหนึ่งคือปรมัตถธรรมหรือตัวจริงของมัน ซึ่งรู้ได้เมื่อเกิดผัสสะ
อีกอันหนึ่งคือสมมุติบัญญัติ ซึ่งเกิดตามมาในภายหลังด้วยความคิด

ตัวปรมัตถธรรมนั้น มันก็ของเก่าล้วนๆ
เช่นเดียวกับกิเลสตัณหาอุปาทานนั่นเอง
เช่นเมื่อตาเห็นรูป ก็คือเห็นสีแก่อ่อนที่ตัดกัน อันนี้คือตัวจริงของรูป
พวกเราลองทดลองดูรูปชนิดนี้ก็ได้
โดยการหันหน้าไปในทิศทางที่ไม่นึกมาก่อนว่าจะเห็นอะไร
แว่บแรกที่ตาเห็น แต่ไม่ทราบว่าเห็นรูปอะไร
นั่นแหละคือตัวอย่างตัวจริงของรูป


ถัดจากนั้นอีกวับเดียว ความจงใจจะดู ก็เริ่มหยั่งลงไปที่รูปนั้น
(ตรงนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เข้มแข็งพอ
ความรู้ตัวจะหลุดตามความจงใจ พุ่งไปพินิจพิจารณาอารมณ์นั้น
เพราะเป็นของที่เพิ่งสัมผัส ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร
ต้องฝึกกันนานพอสมควรครับ
จึงจะรู้ในช่วงรอยต่อที่เปลี่ยนอารมณ์ โดยไม่หลงได้)

แล้วรูปสัญญาหรือความจำรูปได้ ก็ผุดขึ้นมา
และรูปสัญญานั้น ก็มีลักษณะเป็น ฆนสัญญา คือการมองในองค์รวมของกลุ่มสี
ไม่ได้มองสีตามลักษณะที่เป็นสีแก่อ่อนตัดกัน
แต่มองอย่างเป็นวัตถุสิ่งของเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา
แล้วบอกว่านี่คือรูปของสิ่งนี้ๆ

จากนั้นสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งก็เกิดตามมา
ว่าอันนี้ดี อันนี้เลว อันนี้สมควรแก่เรา อันนี้ไม่สมควรแก่เรา
ตรงช่วงที่เกิดสัญญาขึ้นนั้นเอง ที่เริ่มเกิดสมมุติบัญญัติ
ว่ารูปที่เห็นคือรูปอะไร เป็นของใหม่หรือของเก่า

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราหันหน้าออกไปนอกหน้าต่าง
ตาก็เกิดไปเห็นสีที่ตัดกันกลุ่มหนึ่ง
สีแต่ละสีที่เห็น มันก็ของเก่านั่นแหละ
คือสีในช่วงที่สายตาของคนจะมองเห็นได้
ในทางปรมัตถธรรมหรือความจริงแล้ว
มันจึงเป็นแค่ของที่เคยรู้เคยเห็นมาแล้ว
แต่พอสัญญาแปลว่า ผู้หญิง สวย สาว ขาว แปลกหน้า
ตรงที่จิตมันเกิดสมมุติบัญญัติขึ้นมานี่แหละ
จึงเกิด "อารมณ์ใหม่" หรือผู้หญิงคนใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมา

แม้เสียง ในความเป็นจริงมันก็เสียงเก่าๆ คือเสียงในช่วงความถี่ที่หูคนฟังได้
กลิ่น รส สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็เป็นของเก่าเช่นกัน
ต่อเมื่อมีสมมุติบัญญัติขึ้นแล้ว จึงจะเป็นของเก่าหรือของใหม่ขึ้นมา

สรุปแล้ว เพราะความรู้ไม่เท่าทัน ไปหลงสมมุติบัญญัติ
จึงมีของใหม่และของเก่าขึ้นมา
ส่วนอารมณ์ตัวจริง ตลอดจนกิเลสตัณหาอุปาทานนั้น มันเป็นของแบบเก่าๆ
(ตำราชั้นหลังเรียก ของจริง นี้ว่าปรมัตถธรรม)
ที่วนเวียนหลอกลวงซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง
ดังนั้น ถ้าเราเจริญสติสัมปชัญญะจนเกิดปัญญา
สามารถมองสิ่งทั้งหลายทะลุสมมุติบัญญัติเสียได้
จิตใจก็จะพ้นจากความหลอกลวงของสังสารวัฏได้

****************************************

ขอแถมอีกหน่อยครับ
มีนักปฏิบัติบางกลุ่มเหมือนกัน
ที่ยังขาดการวางพื้นฐานทางจิตที่มี
คือยังไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีธรรมเอก อ่านจิตใจตนเองไม่ออกจริง
หลงเพ่งบ้าง เผลอไปบ้าง แต่คิดว่ากำลังรู้อยู่
พอได้ฟังเรื่องปรมัตถ์และบัญญัติ
ก็พยายามเจริญสติโดย รู้ปรมัตถ์ ทิ้งบัญญัติ
อันนี้ทำไม่ได้จริงหรอกครับ
เพราะจะพากับหลงบัญญัติเรื่องปรมัตถ์ไปหมด
ถ้าทำอย่างนั้นได้จริง พระพุทธเจ้าท่านสอนวิธีนั้นไว้แล้วครับ
แต่นี่ท่านกลับสอนศีล สมาธิ ปัญญา ไปตามลำดับ

เรื่องนี้ถือว่าเราคุยกันเองนะครับ
อย่านำไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น
ให้เขาเกิดความขัดเคืองใจโดยเปล่าประโยชน์เลย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 08:44:52

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 08:53:48
ขออนุญาตแก้คำที่ตัดต่อผิดที่ และคำผิด 2 แห่งนะครับ
เพราะผิดแล้วอ่านเข้าใจยาก

สรุปแล้ว เพราะความรู้ไม่เท่าทัน ไปหลงสมมุติบัญญัติ
จึงมีของใหม่และของเก่าขึ้นมา
ส่วนอารมณ์ตัวจริง ตลอดจนกิเลสตัณหาอุปาทานนั้น มันเป็นของแบบเก่าๆ
ที่วนเวียนหลอกลวงซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง
(ตำราชั้นหลังเรียก ของจริง นี้ว่าปรมัตถธรรม)
***********************************************
ขอแถมอีกหน่อยครับ
มีนักปฏิบัติบางกลุ่มเหมือนกัน
ที่ยังขาดการวางพื้นฐานทางจิตที่ดี

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 08:53:48

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ดังตฤณ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 10:08:23
สาธุครับ
แต่ ... อิอิ แซวหน่อยเถอะ
รถคันละ 50 ล้านมีด้วยเหรอครับพี่
สงสัยไฟหน้าฝังเพชรพันกะรัตแน่ๆเลย
โดยคุณ ดังตฤณ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 10:08:23

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ aek123 วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 11:04:28
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 11:22:09
สาธุครับ

เอ...คุณศรันย์ครับ  เคยได้ยินมาจากตอนประมูลรถที่กรมศุลกากรนะครับ ที่มีเศรฐีนีสาวประมูลได้ไป แต่ไม่แน่ใจครับว่าเกิน 50 ล้านบาทหรือเปล่า???
โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 11:22:09

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 16:19:17
ผมก็ฟังข่าวมาจากการประมูลรถนั่นแหละครับ
แต่มันนานแล้ว เลยจำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ชัด จำได้แต่ว่าหลายสิบล้าน
(ถ้าจะใช้สำนวนแบบแขก ต้องบอกว่า ราคา 500 โกฏิ แปลว่าราคาแพงมาก)
อีกคันหนึ่ง 20 กว่าล้าน คันนี้พวกดาราประมูลได้ไป
ส่วนมันจะฝังเพชรพลอยหรือเปล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน
และเมื่อซื้อไปแล้ว จะกล้านำออกมาขับหรือเปล่า ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันครับ

อ้อ ฝากบอกคุณดังตฤณในที่นี้หน่อยนะครับ
ว่าอย่าเขียนชื่อผมไว้ในคำนำ ทางนฤพาน เลยครับ
เพราะทั้งเล่ม หาชื่อใครอีกไม่ได้เลย
กระทั่งชื่อคนสำคัญที่สุด ที่ชื่อ ศรันย์ ไมตรีเวช น่ะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 16:19:17

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ อลวน วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 23:50:26
สาธุครับ
บังเอิญวันก่อนได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่เทสก์
ท่านก็บอกว่า ในตอนแรกสุดที่เห็นสิ่งต่างๆนั้นน่ะ นั่นแหละครับ ยังไม่มีบัยญัติ
ก็ฟังๆแล้วยัไม่ค่อยแจ่ม
แค่พอรู้เรื่องบ้างเท่านั้น
พอได้อ่านของอาแล้ว...
เอ่อ..เข้าใจแล้วครับ แต่ก็ยังตามไม่ทันครับ เพราะเกิดเร็วมาก คงต้องฝึกอีกนาน...
ขอบคุณอามากครับ
โดยคุณ อลวน วัน เสาร์ ที่ 19 สิงหาคม 2543 23:50:26

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ดังตฤณ วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 10:39:22
ถ้าผมมีห้าสิบล้าน
ผมเอาไปปลูกวัดให้พี่ดีกว่า ;-)
วันก่อนเพิ่งคุยกับอู๊ด ว่ารวยแล้วก็จำเป็นต้องซื้อภาพความรวยมาแต่งชีวิต
แต่ซื้อขนาดนี้ดูโง่ๆชอบกลนิ
ที่เคยรู้ บอลเกียยังใช้รถราคาไม่ถึงขนาดนี้เลย
โดยคุณ ดังตฤณ วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 10:39:22

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ เจื้อย วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 13:30:48
บอลเกียนี่ใครเหรอคะ พี่ดังตฤณ

(อยากรู้มากถึงขั้น ต้องกลับไป log in ใหม่เชียวนะเนี่ย อิอิ)
โดยคุณ เจื้อย วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 13:30:48

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ kittipan วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 14:15:48
สาธุครับ
โดยคุณ kittipan วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 14:15:48

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ดังตฤณ วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 14:21:59
สุลต่านบรูไน
มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งตลอดกาล
แต่ไม่ถูกลิสต์ในนิตยสาร forbs
เพราะถือว่าไม่ได้รวยขึ้นมาจากการทำธุรกิจ
(คือความเป็นจริงแล้วรวยขึ้นมาจากระบบราชวงศ์
ที่รู้กันทั่วไปว่าเอาเปรียบชาวบ้านซึ่งยากจนเสียมาก)
โดยคุณ ดังตฤณ วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 14:21:59

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 18:42:16
ขอเรียนเพิ่มเติมจากที่คุณ อลวน กล่าวสักเล็กน้อยครับ
อันที่จริงการรู้ปรมัตถธรรม ไม่ใช่ทำได้เพียงแค่ช่วงที่เกิดผัสสะช่วงแรกๆ เท่านั้น
แต่ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะเป็น จิตมีธรรมเอก
จะสามารถเห็นปรมัตถธรรมได้ตลอดสายทีเดียว

ตัวอย่างเก่าที่ยกบ่อยๆ เพราะชาวลานธรรม/วิมุตติส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาว
ก็คือเมื่อตาเห็นรูป(สีที่ตัดกันกลุ่มหนึ่ง) ตรงนี้ยังไม่มีบัญญัติ
พอสัญญาทำงานผุดขึ้น ก็จะจำรูปได้ ว่า อ้อ รูปผู้หญิง/ผู้ชาย
ตรงที่สัญญาผุดขึ้นนี้ ตัวสัญญาก็มีสภาวะที่เป็นปรมัตถธรรมด้วย
คือมันเป็นอาการของจิตที่ไหวผุดขึ้นมา
ส่วนที่กระทบจิตแล้วรู้ว่ารูปนั้นรูปนี้ แปลออกมาเป็นข้อความ/ความคิด
อันนี้เป็นสมมุติบัญญัติ
พอสัญญาทำงานแล้ว สังขารก็รับลูกต่อ คือคิดนึกปรุงแต่งไป
เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นความชอบความชัง ความเฉยๆ บ้าง
บรรดาสังขารทั้งหลายก็มีสภาวะที่เป็นปรมัตถธรรมเช่นกัน
คือเป็นอาการไหวของจิตที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนสมมุติบัญญัติก็วิ่งตามมาอย่างรวดเร็ว
เช่นคิดว่า อ้อ จิตมีราคะหนอ อ้อ จิตมีโทสะหนอ

บรรดาผู้ปฏิบัติที่จิตมีสติสัมปชัญญะอย่างแท้จริง
จิตตั้งมั่นเป็นธรรมเอก
จะสามารถเห็นปรมัตถธรรมของ รูป และนาม ได้อย่างชัดเจน
และจำแนกได้ด้วย ว่าส่วนนี้คือปรมัตถธรรม ส่วนนี้คือสมมุติบัญญัติ
แล้วเห็นความเกิดดับของปรมัตถธรรมต่อเนื่องกันเรื่อยไป

ส่วนผู้ที่ไม่เคยเตรียมความพร้อมของจิต แล้วโดดเข้ามาเจริญสติปัฏฐานเลยนั้น
จิตตามรู้ปรมัตถธรรมไม่ทัน เพราะพอรู้อารมณ์ จิตก็เคลื่อนเสียแล้ว
พอความคิดเกิดขึ้น ก็ใช้การกำหนด ใช้การบริกรรมถึงปรมัตถธรรม
เช่นบริกรรมว่า รูปหนอๆ โกรธหนอๆ
ซึ่งก็คือการคิดอยู่กับสิ่งอันเป็นสมมุติบัญญัติ
โดยอาศัยสัญญาถึงปรมัตถธรรมที่เคยเรียนมาจากตำรานั่นเอง
จิตในขณะนั้นกำลังเคลื่อนอยู่ หลงอยู่ เพ่งอยู่ ฯลฯ แต่ไม่รู้ทัน
ส่วนมากที่พบเห็นมา ก็จะพลาดกันตรงจุดนี้แหละครับ
ไม่ใช่ว่าตำราของเขาไม่ดี
หากแต่อ่านตำราแล้ว ดำเนินจิตไม่ได้เหมือนตำราเสียแหละมาก
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 18:42:16

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ อลวน วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 22:45:14
ขอบพระคุณมากครับคุณอา
ได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นอีกขั้น
การเจริญสติเป็นสิ่งที่ละเอียดจริงๆ
ถ้าคุณอาไม่แนะนำ ก็คงยังไม่รู้ครับ
ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆกับตัวเอง
คือที่นึกว่ารู้ทันนั้นน่ะ ยังเป็นส่วน
ของสมมติอยู่...นี่แสดงว่า
ยังห่างไกลความจริง คือปรมัตถธรรมอยู่มาก
ต้องพยายามต่อไปครับ...
โดยคุณ อลวน วัน อาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2543 22:45:14

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 08:24:18
_/\_ ขอบพระคุณครับ

รถคันละ50ล้านยังไม่เคยได้ยิน แต่คันละ 30กว่าปลายๆ(ตอนที่ดอลล์ละ25บาท
ตอนนี้ไม่รู้กลายเป็นเท่าไรแล้วนะครับลองคูณดู)เคยเห็นรูปแล้วครับ
หน้าตาดุดัน มีม้าในกระโปรงนี่ก็ประมาณสัก 5-600ตัวเห็นจะได้
เป็นรถกึ่งๆคอนเซ็ปท์คาร์ ของแมคคราเลนส์(แต่ก่อนเขาทำรถแข่งให้กับฮอนด้า
ชื่อว่า แมคคราเลนส์-ฮอนด้าซึ่งชนะเกือบทุกรายการ)เป็นรถสปอร์ต 3ที่นั่ง
คนขับนั่งหน้าตรงกลาง อีก 2ผู้โดยสารนั่งอยู่ข้างหลัง เขาเทียบเหมือนที่นั่งเครื่องบินรบ
แต่ผมเทียบเหมือนตุ๊กๆบ้านเราน่ะครับ เฟอร์รารี่ หรือปอร์ชที่ว่าเจ๋งๆ
นี่กลายเป็นลูกแมวไปเลย

เรื่องรถนี่ มันไม่จบยาก ผมเคยไฝ่ฝันถึงรถปิคอัพ สภาพดีๆ
สักคัน เพื่อจะได้ใช้งานให้ดีหน่อยตอนนั้นใช้รถประเภท ตามเก็บ
(วิ่งๆไปต้องคอยตามเก็บอะไหล่ มันจะหลุดเป็นชิ้นๆ ฮ่ะๆๆ)
จนมาถึงทุกวันนี้ความอยากหน้าเดิมมันยังอยู่เลยครับ เซ็งมันเหมือนกันไม่รู้จักพอ
ทีแรกมันก็จะเอาปิคอัพสภาพดีหน่อย พอได้มาและผ่านไปหน่อย
มันก็จะเอารถเก๋งญี่ปุ่นมือสอง
ถัดมามันก็จะเอารถเก๋งมือหนึ่ง
ถัดมาอีกมันก็จะเอายุโรป,เบนซ์,ฯลฯ นี่ยังไม่เห็นวี่แววว่ามันจะหยุดเลยนะครับ
ตอนนี้เวลาอยาก ก็คิดถึงอดีตตอนที่ได้คันใหม่มา มันเห่ออยู่พักนึงมันก็ชิน
พอมันชินพักนึงมันก็เบื่อ พอมันเบื่อมันก็อยากได้คันใหม่อีก
คิดอย่างนี้มันเลยหายอยากเลยครับเพราะตามใจมัน มันก็ไม่หายเสียที
ตามใจกันจนเบื่อเลยครับ ฮ่ะๆๆ
โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 08:24:18

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 08:28:11
แก้คำผิดครับ
"เรื่องรถนี่ มันไม่จบยาก "เป็น "เรื่องรถนี่มันจบยาก"
โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 08:28:11

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 08:59:15
เรียน คุณธีรชัย

เอ... รถยนต์คันไหนกันนะ ที่เอาม้าไปไว้ในกระโปรงรถได้ตั้ง 500 ตัว

อือม์... ถ้าเอาไปยัดไว้ได้จริง คงจะเป็นรถยนต์ที่มีกระโปรงรถที่ใหญ่และยาวมากเชียว เพราะม้าแต่ละตัวเนี่ยมันก็ตัวไม่เล็กๆเชียวนะ แล้วมันจะวิ่งบนถนในเมืองไทยได้หรือครับ??? ท่าทางว่า ซอนสวนพลูนี่คงจะเข้าไปไมได้แน่ๆเชียว

:-)

มาแซวเล่นนะครับ (ดักคอความอยากได้รถใหม่น่ะครับ :) )

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 08:59:15

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 09:26:17
สภาวะที่พี่ปราโมทย์และคุณพัลวันพูดถึง อ่านแล้วก็เข้าใจครับแต่เข้าใจแบบจินตมยปัญญา
มีความรู้สึกว่าโชคดีจังเลยที่ได้รู้เห็นรูปร่างหน้าตาของธรรมที่เรายังไม่ถึง (จริง ๆ แล้วยังไม่ถึงอะไรสักอย่าง)
เหมือนกับเรากำลังเดินทางไปยังที่ ๆ มีสิ่งที่เราต้องการเห็นรออยู่
มีคนที่ไปถึงมาแล้วมาบอกเล่าลักษณะหน้าตาของสิ่งนั้นให้เราฟังพอแก้ความอยากได้บ้าง

เมื่อไรที่อ่านธรรมที่เพื่อน ๆ และพี่ ๆ ไปถึงมาและเล่าให้ฟังก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราก็มีความสุขเหมือนกับ
ว่าเราได้ไปสัมผัสกับสถาวะนั้นเหมือนกัน (จิตมันปรุงแต่งสถาวะนั้นขึ้นมาว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ตามสัญญาเก่า ๆ )

แต่การปฏิบัติของผมมันไปแบบเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ จริง ๆ ครับ
บางทีก็รู้สึกละอายครับที่จะไปพบกับพี่ปราโมทย์ (เพราะไม่มีอะไรก้าวหน้า อย่าว่าแต่ก้าวหน้าเลยครับ
แค่ยืนอยู่กับที่ก็อาจจะไม่ใช่ อาจจะถอยหลังไปด้วยซ้ำ)

แต่ก็ดีใจครับที่ได้มาเจอกับพี่ ๆ และเพื่อน  ๆ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 09:26:17

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 10:01:24
เมื่อ คุณอลวน สนใจเรื่องปรมัตถธรรม
ผมจึงขอเรียนเรื่องปรมัตถธรรมเพิ่มเติมสักเล็กน้อย

ในพระไตรปิฎก มีคำว่า ปรมัตถ์ อยู่ 416 แห่ง
อยู่ในพระสูตร 5 แห่ง อีก 411 แห่งปรากฏในคัมภีร์กถาวัตถุ พระอภิธรรมปิฎก
(เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.200 เศษ)
และในบรรดา 411 แห่งนั้น ท่านใช้คู่กับคำว่า สัจฉิกัตถะ
คือใช้คำว่า สัจฉิกัตถปรมัตถ์ 386 แห่ง
อีก 25 แห่งใช้คู่กับคำว่า สัจฉิกัตถะ แต่เขียนแยกจากกัน
ดังนั้น จะสรุปว่าในพระสูตรมีแต่คำว่าปรมัตถ์
ส่วนในพระอภิธรรมปิฎก มีแต่คำว่า สัจฉิกัตถปรมัตถ์  ก็ได้

แต่คำว่าปรมัตถ์ในพระสูตรทั้ง 5 แห่งนั้น
ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
แต่เป็นวาทะของพระสาวกตรงๆ บ้าง
เป็นคำอธิบายกระทู้ธรรมที่พระสาวกเขียนขึ้น
แต่อ้างพระดำรัสของพระพุทธเจ้าบ้าง ดังนี้

แห่งแรกปรากฏในคาถาของพระเตลุกานิเถระ
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 18 เถรคาถา(พระไตรปิฎกเล่มที่ 26) ความว่า
[387] เรามีความเพียรค้นคิดธรรมอยู่นาน ก็ไม่ได้ความสงบใจ จึงได้ถาม
            สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า ใครหนอในโลกเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ใครเล่า
            เป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ เราจักปฏิบัติธรรมของใคร ซึ่ง
            เป็นเครื่องให้รู้แจ้งปรมัตถ์

หมายเหตุ คำว่า ปรมัตถ์ ในพระสูตรนี้ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงอะไร
แต่ถ้าวิเคราะห์จากเนื้อความที่ท่านพระเตลุกานิเถระ
ท่านแสวงหา ผู้ถึงฝั่ง และผู้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ
ดังนั้น ปรมัตถ์ธรรมที่ท่านปรารถนาจะรู้แจ้งจึงไม่ใช่สิ่งอื่น
แต่ควรจะได้แก่ นิพพาน อันเป็นฝั่งและอมตะ เท่านั้น


แห่งที่ 2 ปรากฏในคุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ 2 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21
ขุททกนิกาย มหานิทเทส (พระไตรปิฎกเล่มที่  29)
ว่าด้วยนรชนเป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ความว่า
(49)สัตว์โลกตายแล้วเพราะความแตกแห่งจิต นี้เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์

หมายเหตุ พระสูตรตรงส่วนนี้ท่านพูดชัดถึง บัญญัติทางปรมัตถ์
เพราะปรมัตถ์แท้ ไม่มีคำพูด จะพูดออกมาก็ต้องอาศัยบัญญัติเช่นกัน
และปรมัตถ์ในพระสูตรนี้ ไม่ได้หมายถึงนิพพาน
แต่หมายถึงธรรมที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เช่นขันธ์ 5 เป็นต้น
อนึ่ง เนื้อหาของพระสูตรช่วงนี้ เป็นการอธิบายกระทู้ธรรม
แล้วอ้างอิงถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นช่วงๆ
โดยไม่ได้ระบุว่า  เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าแสดงที่ใด แก่ใคร เมื่อใด
ดูลักษณะน่าจะเป็นส่วนที่เขียนขยายความขึ้นโดยพระสาวก


แห่งที่ 3  ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่ม 21
ขุททกนิกาย มหานิทเทส ชราสุตตนิทเทสที่ 6 ว่าด้วยชีวิตเป็นของน้อย
(พระไตรปิฎกเล่มที่  29) เนื้อความเหมือนกับข้อความแห่งที่ 2

แห่งที่ 4 ใน ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21
ขุททกนิกาย มหานิทเทส (พระไตรปิฎกเล่มที่  29) ความว่า
(701)พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา
ซึ่งสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8
อมตนิพพานเป็นปรมัตถ์ใหญ่ (มหนฺตํ   ปรมตฺถํ   อมตํ   นิพฺพานํ)
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.

หมายเหตุ หากวิเคราะห์จากเนื้อหาของพระสูตรเล่มนี้
จะพบว่ามีลักษณะเป็นบทประพันธ์อธิบายธรรมของพระพุทธเจ้า
ยกเอาธรรมขึ้นมาแล้วอธิบาย พร้อมทั้งอ้างอิงคำสอนของพระพุทธเจ้า
แสดงให้เห็นร่องรอยว่า พระไตรปิฎกส่วนนี้ น่าจะถูกเขียนเพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลัง


และแห่งที่ 5 ใน เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส พระสุตตันตปิฎก เล่ม 22
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส (พระไตรปิฎกเล่มที่ 30) ความว่า
[173] คำว่า มเหสี ในอุเทศว่า มเหสี ธมฺมมุตฺตมํ ดังนี้
ความว่า ชื่อว่า มเหสี เพราะอรรถว่ากระไร? …
ชื่อว่า มเหสี เพราะอรรถว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา
แล้วซึ่งความทำลายกองมืดใหญ่ ซึ่งความทำลายวิปลาสใหญ่ …
ซึ่งความยกขึ้นซึ่งธรรมเป็นดังว่าธงใหญ่
ซึ่งสติปัฏฐานใหญ่ ซึ่งสัมมัปปธานใหญ่ ซึ่งอิทธิบาทใหญ่ ซึ่งอินทรีย์ใหญ่ ซึ่ง
พละใหญ่ ซึ่งโพชฌงค์ใหญ่ ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ใหญ่
ซึ่งอมตนิพพานเป็นปรมัตถ์ใหญ่.

หมายเหตุ อันเป็นคำอธิบายธรรมที่พระศาสดาทรงตอบคำถาม
ของพราหมณ์เมตตคูศิษย์พรหามณ์พาวรี
(ท่านพระเมตตคูเป็นศิษย์น้องท่านพระอชิตะ ซึ่งผมเคยเขียนกระทู้ไว้แล้ว)
(พระสูตรเล่มนี้ น่าจะเขียนขึ้นภายหลังเช่นกัน
เพราะพระสูตรที่เป็นเนื้อธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงต่อพระเมตตคู
มีอยู่สมบุรณ์แล้วในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25)


คราวนี้มาถึงคำว่าปรมัตถ์ ในพระอภิธรรมปิฎกกันบ้าง
ในบรรดาพระอภิธรรมปิฎกทั้ง 12 เล่ม
ซึ่งมีเนื้อหามากพอๆ กับพระวินัยและพระสูตรรวมกัน
มีคำว่าปรมัตถ์อยู่ 411 แห่ง เฉพาะในตอนต้นของพระอภิธรรมปิฎกเล่ม 4
คัมภีร์กถาวัตถุปกรณ์ (แต่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช)
มหาวรรค ปุคคลกถา
อันเป็นคำถามคำตอบเพื่อแก้ความเห็นผิด
ของผู้ที่กล่าวว่า ตนหยั่งเห็นบุคคล โดยสัจฉิกัตถปรมัตถ์
เพราะอันที่จริง ไม่มีบุคคลที่จะให้หยั่งเห็นตั้งแต่แรกแล้ว
เรื่องปรมัตถ์ในพระอภิธรรมปิฎก มีอยู่เพียงเท่านี้เอง

(มีคำอธิบายในพระอภิธรรมส่วนนี้
คำว่า สัจฉิกัตถะ หมายถึงสภาวะที่จริงแท้
ปรมัตถะ หมายถึง อรรถอันยิ่ง อันอุดม
อันไม่ต้องยึดถือด้วยอาการมีการฟังตามกันมาเป็นต้น
ทั้งนี้หมายถึงสภาวธรรมที่จำแนกเป็น
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ รวม ๕๗ อย่าง
ซึ่งจะเห็นว่า ในที่นี้ ไม่รวมถึงนิพพานที่พระสูตรเรียกว่าปรมัตถ์ใหญ่)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 10:01:24

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 11:57:08
ผมฝากเป็นข้อสังเกตไว้ว่า
ในชั้นเดิมคำว่า ปรมัตถ์ ไม่ได้รับความสนใจเท่าไรหรอกครับ
เพิ่งมาปรากฏว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในมุมมองของนักการศึกษา
ก็เมื่อไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
ซึ่งท่านพระอนุรุทธาจารย์ท่านแต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.900 เศษ

ผมมีข้อคิดเห็น (ขอย้ำว่าข้อคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงนะครับ) ว่า
ที่พระศาสดาไม่ทรงกล่าวถึง ปรมัตถ์ นั้น เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว
ส่วนที่พระรุ่นหลังท่านกล่าวว่า การเจริญวิปัสสนาต้องรู้ปรมัตถ์ ก็น่าฟังเช่นกัน
ด้วยเหตุผลดังนี้คือ

พระพุทธเจ้าท่านมักจะแสดง ธรรมต้นทางของการปฏิบัติ
คือทรงสอน เพื่อให้นำไปปฏิบัติ (ไม่ใช่เพื่อประเทืองปัญญาพาคิดปรุงแต่ง)
อันได้แก่การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา (สมถะและวิปัสสนา) ไปตามลำดับ
เช่นการเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านเน้นย้ำให้พวกเราเจริญสติสัมปชัญญะกัน
เพราะถ้าเจริญถูกต้องเพียงพอ ก็จะเข้าใจธรรมในลำดับต่อไปได้
เช่นสามารถจำแนกปรมัตถ์และบัญญัติได้
มีปัญญาแทงตลอดอริยสัจจ์ 4 จนบรรลุมรรคผลนิพพานได้
เราจะไม่ค่อยพบคำสอนที่มีหลักฐานตรง ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับปรมัตถ์ และมรรคผลนิพพาน
แม้แสดง ก็แสดงอย่างผิวเผินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เช่นทรงกล่าวว่า มรรคชั้นนั้นละสังโยชน์นั้นๆ
ท่านไม่ได้อธิบายว่า สภาวะของมรรคเป็นอย่างไร มีวิถีจิตอย่างไรที่จะเกิดมรรคผล
และพระนิพพานไม่มีธาตุ 4 ไม่มีอรูป 4 ไม่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะ ถ้าเริ่มต้นถูก ก็ไปสู่ปลายทางที่ถูกได้
แต่ถ้ายิ่งไปครุ่นคิด หมกมุ่น
พยายามทำให้แจ้งปลายทางด้วยความจำและความคิด
ก็ยิ่งขัดขวางการปฏิบัติมากขึ้นเท่านั้น


*************************************************************

ยังมีธรรมอีกมากมาย ที่พระพุทธเจ้าและพระมหาสาวก
จนถึงพระสาวกในชั้นการสังคายนาครั้งที่ 3 ท่านไม่ได้สอนไว้
แต่คนรุ่นหลังกลับมาเน้นย้ำให้ความสำคัญกันมากเหลือเกิน
เช่นเรื่องวิถีจิต  โสฬสญาณ  กรรมฐาน 40 หทยวัตถุ
และเรื่องสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายความหมายของคำสอนบางเรื่องกว้างขวางออกไป
เช่นเรื่อง  ธาตุ 4 เป็นต้น

การไปศึกษาธรรมที่แต่งเติมขึ้นในยุคหลัง
นอกจากเป็นการข้ามขั้นตอนแล้ว
บางทีอาจจะไปกระทบถึงคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าและพระไตรปิฎกเสียด้วย
เช่นถ้ายึดมั่นอย่างรุนแรงในเรื่องรูปปรมัตถ์
(ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่ารูปปรมัตถ์แม้แต่แห่งเดียว)
ก็ง่ายที่จะปฏิเสธมหาสติปัฏฐานlสูตร บางบรรพ
เช่นปฏิเสธอิริยาปถบรรพ ที่ทรงแสดงการเจริญสติ
ด้วยการระลึกรู้อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน
เพราะหากพิจารณาเชิงปรมัตถ์แล้ว บางสำนักชี้ว่า ยืน เดิน นั่ง นอนไม่ใช่ปรมัตถ์
ปฏิเสธปฏิกูลมนสิการบรรพ ที่พิจารณากายเป็นอวัยวะต่างๆ
เพราะเห็นว่า อวัยวะแต่ละชิ้นไม่ใช่รูปปรมัตถ์
ปฏิเสธนวสีวถิกาบรรพ คือการพิจารณาศพ 9 อย่าง นับแต่ตายใหม่ๆ จนเน่าสลายไป
เพราะเห็นว่าศพไม่ใช่รูปปรมัตถ เป็นต้น

หรือถ้ายึดเรื่องกรรมฐาน 40 อันปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็จะสรุปว่า
กายคตาสติ เป็นเพียงการทำสมถะกรรมฐานเท่านั้น
ทั้งที่พระศาสดาทรงแสดงกายคตาสติสูตร
อันมีเนื้อหาสอดคล้องกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
แล้วทรงสรุปว่า เป็นทางแห่งมรรคผลนิพพาน
ทั้งยังมีพยายามของนักปฏิบัติ คือท่านพระอานนท์
ที่ท่านทำคืนสุดท้ายก่อนวันสังคายนาให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ
จนบรรลุพระอรหันต์ในเวลาใกล้รุ่ง
(อ่านเพิ่มเติมได้จากกระทู้ ธรรมที่ยังพระอานนท์ให้บรรลุพระอรหันต์)

หรืออย่างเรื่องโสฬสญาณ ก็ไม่มีในพระไตรปิฎก
และบางส่วนมีเนื้อหาขัดแย้งกับญาณชื่อเดียวกัน
ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเสียด้วยซ้ำไป
จำได้ว่าผมเคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในลานธรรมครั้งหนึ่งแล้ว
จึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีกให้เสียเวลาอ่านของหมู่เพื่อน

หรือเรื่องหทยวัตถุ ที่หมายถึงเนื้อหัวใจและน้ำเลี้ยงหัวใจสีต่างๆ
ก็เป็นเรื่องที่แต่งเติมขึ้นภายหลัง
และเริ่มขัดแย้งกับวิทยาการสมัยใหม่ที่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้
โดยผู้ผ่าตัดแล้ว ก็ยังรู้อารมณ์ที่เป็นนามธรรมได้ดังเดิม
เรื่องนี้จะทำให้ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไม่รอบคอบ
ไม่เชื่อถือในพระญาณของพระพุทธเจ้า เพราะคิดว่าพระองค์สอนไว้ผิด
ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องแต่งเติมขึ้นในภายหลังเท่านั้น

ในชั้นนี้ ผมขอสรุปความเห็นส่วนตัวว่า
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ รวมทั้งธรรมในชั้นพระไตรปิฎก
เพียงพอ และเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับนำไปปฏิบัติ
ส่วนธรรมชั้นหลังที่พระเถระท่านแต่งเติมขยายความขึ้นนั้น
ก็กระทำด้วยเจตนาดี และน่าสนใจเหมือนกัน
แต่ควรศึกษาด้วยความระมัดระวัง
อย่างน้อยก็ควรทราบว่า เป็นธรรมชั้นหลัง
และหากมีส่วนใดจะไม่สอดคล้องกับธรรมชั้นเดิม
ก็ควรยึดธรรมชั้นเดิมเป็นหลักไว้
อันนี้เป็นเรื่องความนิยมส่วนตัวนะครับ ท่านใดจะเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ไม่ว่ากัน
เพราะโดยส่วนตัวที่ยอมสิโรราบต่อธรรมชั้นเดิม
ก็เพราะเห็นว่าลงกันได้พอเหมาะพอดี ทั้งภาคปริยัติกับการปฏิบัติ
ไม่มีสิ่งใดจะคัดค้านหรือขัดแย้งต่อคำสอนชั้นเดิมได้เลย

อีกสิ่งหนึ่งที่ขอฝากเพื่อนพ้องไว้ก็คือ
การอ้างอิงธรรมะจากตำราในโอกาสต่อไปนั้น
ขอให้เราสวมจิตใจของนักวิชาการกันให้มาก
คือระบุที่มาหรือแหล่งอ้างอิงกันให้ชัดเจน ว่ามาจากพระไตรปิฎกหรือที่อื่น
เพราะการศึกษาพระพุทธศาสนาในยุค IT
จะไปตีขลุมเอาคำสอนชั้นหลังมาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้
เพราะถ้าเกิดผิดความจริงที่วิทยาการยุคนี้พิสูจน์ได้เมื่อไร
จะได้ไม่เกิดความเสียหายไปถึงพระพุทธเจ้า ว่าท่านสอนผิดเอาไว้

คงจบเรื่องปรมัตถ์ ที่อยากจะคุยกันเพียงเท่านี้ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 11:57:08

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 12:36:50
ขอแก้คำผิดหน่อยหนึ่งครับ
...ทั้งที่พระศาสดาทรงแสดงกายคตาสติสูตร
อันมีเนื้อหาสอดคล้องกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
แล้วทรงสรุปว่า เป็นทางแห่งมรรคผลนิพพาน
ทั้งยังมีพยานของนักปฏิบัติ คือท่านพระอานนท์
ที่ท่านทำคืนสุดท้ายก่อนวันสังคายนาให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ
จนบรรลุพระอรหันต์ในเวลาใกล้รุ่ง...
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 12:36:50

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 13:13:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ พีทีคุง วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 16:21:15
สาธุ ครับอา
โดยคุณ พีทีคุง วัน จันทร์ ที่ 21 สิงหาคม 2543 16:21:15

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน อังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2543 11:13:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2543 11:36:28
สาธุครับ
มีหนังสือแนะนำสำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับ ปรมัตถ์
เป็นของหลวงพ่อพุทธทาส ในชุดธรรมโฆษณ์
ชื่อหนังสือ ...ปรมัตถสภาวธรรม...
แต่ขอให้อ่านจากฉบับสมบูรณ์ เพราะจะเข้าใจได้ง่าย
และกระจ่างกว่า การอ่านจากฉบับย่อโดย เช่นนั้นเอง (นามแฝง)
หนังสือเล่มนี้ที่เป็นฉบับสมบูรณ์ ยังไม่เห็นวางขายตามร้านหนังสือ
ส่วนฉบับย่อมีวางขายทั่วไป
เคยไปถามที่สวนโมกข์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทราบว่าหมด และยังไม่ได้พิมพ์ใหม่
แต่ก็สามารถยืมจากห้องสมุด ม.เกษตร มาถ่ายเอกสารได้ครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2543 11:36:28

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2543 12:23:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ kittipan วัน อังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2543 16:52:52
สาธุครับ รู้สึกว่าหลวงพ่อเทียนท่านก็พูดถึง ปรมัถ์ ไม่รู้ว่าเป็นอันเดียวกันรึป่าวครับ
โดยคุณ kittipan วัน อังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2543 16:52:52

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ dolphin วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 14:00:24
ขอบพระคุณค่ะ ^)^
โดยคุณ dolphin วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 14:00:24

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ นุดี วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 16:28:49
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 28 สิงหาคม 2543 09:58:31
หลานพีทีคุง ส่งความมาบอกผมว่า 
ในพระไตรปิฎกนั้น ยังมีคำว่าปรมัตถ์อีกหลายคำ
จากเดิมที่ผม seach พบคำว่าปรมัตถ์ 416 แห่ง
หาก seach ด้วยคำว่า ปรมัตถ ไม่มีการันต์ 
จะมีคำว่า ปรมัตถ์ และปรมัตถ รวม 467 คำ เพิ่มจากที่พบเดิม 51 คำ
ผมต้องขอบคุณพีทีคุงเป็นอย่างมากครับ ที่ช่วยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

บรรดาคำที่พีทีคุงสำรวจพบเพิ่มขึ้นนั้น ล้วนเป็นคำสมาส
คำเต็มๆ จะได้แก่คำว่า ปรมัตถสัจจะ ปรมัตถประโยชน์ 
ปรมัตถธรรม และปรมัตถบารมี

คำว่าปรมัตถสัจจะ เป็นพระวาจาของพระพุทธเจ้าเอง
ที่ทรงกล่าวกับภารทวาชะในจังกีสูตรที่ 5 
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก
มีข้อสังเกตว่า ปรมัตถสัจจะในที่นี้ น่าจะได้แก่ความจริงแท้สูงสุด
เพราะธรรมอันนี้ เป็นคำที่พระศาสดาทรงกล่าวกับนักบวชนอกพระพุทธศาสนา
ซึ่งถามถึงสัจจะสูงสุด โดยไม่ได้ถามถึงแนวทางปฏิบัติวิปัสสนาแต่อย่างใด

สำหรับคำว่าปรมัตถประโยชน์ 
ปรากฏในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17  22 และ 23
ความหมายก็คือประโยชน์อันยิ่ง หรือประโยชน์สูงสุด

คำว่าปรมัตถธรรม เป็นคำกล่าวของอสิตฤาษี 
ปรากฏในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17
ฤาษีท่านนี้ เป็นผู้พยากรณ์ลักษณะของพระสิทธัตถกุมาร
แล้วกลับมาบอกหลานชาย(จำได้ว่าคือท่านพระอัญญาโกณทัญญะในเวลาต่อมา) ว่า
พระกุมารจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
จะทรงแสดงปรมัตถธรรม คือธรรมอันสูงสุด
ทั้งนี้ ฤาษีไม่น่าจะทราบถึงเรื่องรูปรมัตถ์ ฯลฯ
เพราะถ้าทราบ คงเจริญวิปัสสนาไปได้เองแล้ว
ไม่ต้องร้องไห้เสียใจว่า จะไม่มีอายุอยู่จนได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

คำว่าปรมัตถบารมี ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 25
หมายถึงบารมีขั้นสูงสุดของพระโพธิสัตว์ มี 10 ประการ
(บารมีเริ่มจาก บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี อย่างละ 10 ประการ)

จึงฝากเป็นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ครับ
แต่ผมก็เห็นว่า ความหมายของคำว่าปรมัตถ์เหล่านี้ 
น่าจะแตกต่างจากความหมายในชั้นหลังมากทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 28 สิงหาคม 2543 09:58:31

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 28 สิงหาคม 2543 15:27:53
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com