กลับสู่หน้าหลัก

ความลงรอยกัน ระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 10:36:51

นักปริยัติบางท่านไม่ค่อยชอบนักปฏิบัติ
เพราะเห็นว่านักปฏิบัติชอบพูดธรรมะเอาเองแบบอัตโนมัติ
จึงเกิดเป็นห่วงว่า จะทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือน
บางครั้งถึงกับแสดงปฏิกิริยาดูถูกดูหมิ่น หรือโจมตีเอาแรงๆ
ซึ่งถ้าเรามองด้วยใจที่เป็นธรรม ก็จะเห็นว่า
ที่นักปริยัติเขาห่วงนั้น มีเหตุผลไม่น้อยทีเดียว
เพราะสำนักปฏิบัติที่ผิดเพี้ยน ทำลายพระธรรมวินัย
และมุ่งลาภสักการะ ก็มีอยู่มากจริงๆ เสียด้วย

ส่วนนักปฏิบัติก็มักจะกลัว(คารม)ของนักปริยัติ
เพราะเถียงไม่ทัน อธิบายสภาวะไม่ถูก
จนเห็นว่า การจะต้องเกี่ยวข้องกับนักปริยัติ เป็นภาระอันใหญ่
และทำให้เกิดความวุ่นวายใจ และกระทบต่อเวลาการปฏิบัติธรรม

ผมเองเคยศึกษามาทั้งด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติ
กลับเห็นว่า ปริยัติกับปฏิบัตินั้น ไปด้วยกันได้
ถ้าต่างฝ่ายไม่ใจแคบ แล้วพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

เนื่องจากหมู่เพื่อนในที่นี้เป็นนักปฏิบัติ
วันนี้ผมจะลองยกตัวอย่างให้พวกเราดูว่า
ปริยัตินั้น ใช้ได้จริงๆ (ถ้ารู้จักใช้ให้เป็น)

เอาเรื่องปรมัตถธรรมก็ได้ครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
ทางปริยัติในชั้นอภิธัมมัตถสังคหะ และวิสุทธิมัคค์ ถือว่า
การทำสมถะต้องรู้บัญญัติ ส่วนการทำวิปัสสนาจะต้องรู้ปรมัตถ์
ในขณะที่นักปฏิบัติกล่าวกันว่า ถ้ามีแต่สติ ก็เป็นสมถะเท่านั้น
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะถูกต้อง จึงจะเป็นวิปัสสนา

คำพูดของทั้งสองฝ่ายนี้ พอที่จะตีกันตายได้ทีเดียว
เพราะไม่เห็นว่าจะมีอะไรสอดคล้องไปด้วยกันได้เลย
ในเมื่อฝ่ายหนึ่งจำแนกสมถะและวิปัสสนา ด้วยอารมณ์บัญญัติและปรมัตถ์
อีกฝ่ายหนึ่งจำแนกด้วยเครื่องมือของการดำเนินจิต คือสติและสัมปชัญญะ

ต่างฝ่ายต่างก็มีหลักฐานในตำรามาอ้างอิงเสียด้วย
โดยฝ่ายปริยัติ อ้างอิงอภิธัมมัตถสังคหะ และวิสุทธิมัคค์
ในขณะที่ฝ่ายปฏิบัติ อ้างอิงมหาสติปัฏฐานสูตร และพระสูตรอื่นๆ
ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องปรมัตถ์เลย

ถ้าเราพากเพียรปฏิบัติด้วยการเจริญสติ และสัมปชัญญะ
เราจะพบว่า หากเราเอาสติไปจดจ่อกับอารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง
อารมณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ในบรรดา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์
จิตก็จะน้อมไปหาความสงบอย่างเดียว
แต่ถ้าเมื่อใด ในขณะที่รู้อารมณ์นั้น เรามีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว
แล้วจิตก็ตั้งมั่น เป็นธรรมเอก ไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์
ลองสังเกตให้ดีเถอะครับว่า อารมณ์ที่สติไประลึกรู้ในขณะนั้น
มันก็เป็นปรมัตถ์ตรงตามตำรานั่นเอง
เพราะจิตในขณะนั้น ไม่หลง ไม่ยินดียินร้าย
รู้โดยไม่ปรุงแต่งสมมุติบัญญัติขึ้นมาให้รกจิต
หรือปรุงแต่ง ก็จำแนกได้ว่า นี้เป็นความปรุงแต่ง

สิ่งที่มาสัมผัสตา ก็คือสีเท่านั้น และไม่มีชื่อว่าสีนั้นสีนี้ รูปนั้นรูปนี้
สิ่งที่มาสัมผัสหู ก็คือคลื่นเสียง ไม่ใช่เสียงนั้นเสียงนี้
สิ่งที่มาสัมผัสจมูก ก็คือกลิ่น ไม่ใช่กลิ่นนั้นกลิ่นนี้ หอมหรือเหม็น
สิ่งที่มาสัมผัสลิ้น ก็คือรส ไม่ใช่รสนั้นรสนี้ อร่อยหรือไม่อร่อย
สิ่งที่สัมผัสกาย ก็คือธาตุ มีความเย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว ดึงดูดและซึมซ่าน
ไม่ใช่ยุงกัด แดดร้อน ถูกคนตี ฯลฯ
สิ่งที่มาสัมผัสใจ ก็คือธัมมารมณ์ เป็นความไหว เป็นความปรุงแต่งของจิต
ไม่ใช่ความคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ดีหรือชั่ว

แต่ถ้าถามผู้ปฏิบัติว่าทราบได้ไหมว่า
เป็นรูปอะไร เสียงอะไร กลิ่นอะไร รสอะไร
สัมผัสอะไร ธัมมารมณ์อะไร ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลาง
นักปฏิบัติก็ทราบ เพราะจิตย่อมมีสมมุติบัญญัติเกิดขึ้นเสมอ
แต่ก็ทราบว่า มันเป็นอยู่ด้วยสมมุติบัญญัติ ไม่ใช่สภาวะจริงๆ ของมัน

**********************************************

บางคราวนักปริยัติกับนักปฏิบัติ ก็เถียงกันคนละจุด
เช่นนักปริยัติบอกว่า นักปฏิบัติไปมองผู้หญิงสวยๆ แล้วบอกว่าจิตรู้ทัน
ก็จะรู้ทันได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เรียกว่าผู้หญิงสวยนั้น คือบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์
อันนี้ก็เพราะนักปริยัติกำลังเพ่งเล็งอารมณ์ที่สัมผัสทางตา
ในขณะที่นักปฏิบัติบางคน ไม่สนใจหรอกว่า
สิ่งที่เห็นทางตานั้นมีปรมัตถ์อย่างไร
รู้แต่บัญญัติ คือรู้ว่าเห็นสาวสวย
แต่เมื่อรู้แล้ว จิตปรุงแต่งราคะขึ้นมา
นักปฏิบัติก็รู้ถึงปรมัตถ์ของราคะอันเป็นความปรุงแต่งของจิต
ไม่ใช่รู้แต่เพียงชื่อของราคะ หากแต่เห็นความเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แสดงบทบาท จนถึงความดับไปของราคะ
นับเป็นการเพ่งเล็งปรมัตถ์กันคนละส่วน
คือฝ่ายหนึ่งเน้นรูปปรมัตถ์ อีกฝ่ายหนึ่งเน้นเจตสิกปรมัตถ์
เมื่อพูดคนละเรื่องเดียวกันอย่างนี้ จะให้เข้าใจและลงรอยกันได้อย่างไร

*************************************************

หรืออย่างเรื่องเจตสิกก็มีปัญหาเหมือนกัน
คือนักปริยัติยึดตามคำของพระสารีบุตร ที่ท่านว่า
ท่านไม่สามารถจำแนกเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ออกจากกันได้
เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดพร้อมกัน ทำงานร่วมกัน และดับไปพร้อมกัน
ส่วนนักปฏิบัติ เดี๋ยวก็พูดว่ารู้เวทนา เดี๋ยวก็พูดว่าสัญญาผุดขึ้น
แล้วสังขารปรุงแต่งต่อไป
เหมือนกับว่าแต่ละขณะๆ นั้น
เกิดเพียงเวทนา สัญญา หรือสังขาร อันใดอันหนึ่งเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว เจตสิกทั้งเวทนา สัญญา สังขาร
ก็เกิดพร้อมกันกับจิตนั่นเอง
แต่บทบาทเด่นของแต่ละตัวนั้น มันเด่นกันคนละขณะ
เช่นในขณะที่ถูกน้ำร้อนลวกมือ
(ทั้งน้ำร้อน ทั้งมือ ล้วนเป็นบัญญัติ ถ้ากางตำราพูดก็ต้องบอกว่ามีการสัมผัสทางกาย)
ก็เกิดความรับรู้(กายวิญญาณ)ถึงทุกขเวทนาทางกาย
ผู้ปฏิบัติรู้ทุกข์เวทนาทางกายที่เกิดขึ้น ด้วยความมีสติ
ซึ่งตัวสติก็คือสังขารอันหนึ่งนั่นเอง
และในขณะเดียวกันนั้น ก็มีความจำได้หมายรู้อารมณ์ทางกาย คือสัญญาเกิดขึ้นด้วย

พอบทบาทของทุกขเวทนาที่เป็นพระเอกผ่านไป
คราวนี้สัญญาก็เล่นบทพระเอกแทน คือหมายรู้ว่านี่ร้อน นี่อันตราย
ขณะนั้นก็ไม่ใช่ว่า เจตสิกอื่นจะไม่มี
มันมีแต่มันไม่ได้เป็นพระเอกเท่านั้นเอง
หลังจากนั้น สังขารก็ทำหน้าที่พระเอก
คือคิดกลุ้มอกกลุ้มใจ เสียใจว่าน่าจะระวังตัวให้มากกว่านี้ เป็นต้น

**********************************************

ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก ที่นักปริยัติกับนักปฏิบัติคุยกันไม่รู้เรื่อง
เพราะมีข้อจำกัดมากมายทั้งด้านภาษา อคติ พูดคนละเรื่องเดียวกัน ฯลฯ
ทั้งที่ความจริงแล้ว ธรรมส่วนมากก็พอไปด้วยกันได้ในหลักการใหญ่ๆ
ลองดูสิครับว่า ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะให้ได้จริงๆ แล้ว จะรู้ปรมัตถ์หรือไม่รู้
และจะเห็นปรมัตถ์แสดงไตรลักษณ์ หรือไม่เห็น
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ถึงพยายามจะรู้ปรมัตถ์
แต่ถ้าเจริญสติและสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง
ทำอย่างไรก็ไม่อาจเห็นปรมัตถ์จริงๆ ได้เลย

หมู่นี้ผมพูดเรื่องปริยัติมากสักหน่อย เพราะไม่อยากเห็นชาวพุทธทะเลาะกัน
ทั้งที่ต่างคนต่างรักดี และต่างก็รักพระศาสนาด้วยกัน
ข้อจำกัดก็คือ เรายังศึกษาตนเองไม่มากพอ
ถ้าศึกษาให้มากพอแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะต้องทะเลาะกับใคร
เพราะผู้ใดเข้าใจตนเองได้อย่างแจ่มแจ้ง
ก็จะเข้าใจเพื่อนร่วมทุกข์ได้อย่างแจ่มแจ้งเช่นกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 10:36:51

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 10:48:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ tana วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 13:29:53
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ dolphin วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 13:50:39
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 18:42:44
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 23 สิงหาคม 2543 21:16:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 07:53:03
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 08:44:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 09:52:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 11:24:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ หนึ่ง วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:58:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 14:04:49
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ นุดี วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 16:38:18
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ บอย วัน อาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม 2543 09:56:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com