กลับสู่หน้าหลัก

ว่าด้วยกฤษณมูรติ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 10:38:43

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านงานของกฤษณมูรติ
เพราะชอบในภาษาที่ธรรมดาเข้าใจง่าย
วันนี้เห็นพี่ดังตฤณเขียนเกี่ยวกับ กฤษณมูรติ ในลานธรรม
จึงอยากจะมาชวนกันคุย วิพากษ์ วิจารณ์ ในเชิงพุทธศาสน์
กันต่อที่นี้ครับ

ผมจะหยิบข้อความจากหนังสือของกฤษณมูรติที่ผมมีอยู่ในขณะนี้
เล่มหนึ่ง(เธอคือโลก) มาลองเปรียบเทียบ กับการปฏิบัติ
ทางพุทธของเราว่าเป็นอย่างไรครับ

1. กฤษณมูรติมักจะพูดถึง การแบ่งแยกระหว่างผู้ดู กับ
สิ่งที่ถูกดู ว่าเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง และปัญหาทั้งปวง
แล้วเขาก็บอกว่าแท้ที่จริง ทั้งผู้ดู และสิ่งที่ถูกดูคือสิ่งเดียวกัน
ตรงนี้ เวลาอ่านต้องระวังครับ มันฟังเหมือนจะขัดแย้งกับการที่
เราเจริญสติสัมปชัญญะ กำหนดผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้แยกจากกัน

ตรงนี้ผมขอยกขอความที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้มาเปรียบเทียบ
เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้นครับ >>
จิตที่คลุกเคล้าเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์ กลับแยกส่วนธรรมชาติ
จิตที่แยกจากอารมณ์ กลับกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ


แท้ที่จริงการแบ่งแยกระหว่าง ผู้ดู กับ สิ่งที่ถูกดู
ในความหมายของกฤษณะมูรติ ก็คือการแบ่งแยกส่วนธรรมชาติ
อันเนื่องมาจากจิตที่คลุกเคล้าไปกับอารมณ์
ส่วน การแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ก็คือการแยกจิต
กับอารมณ์ ในพุทธศาสนา ก็คือการมองธรรมชาติตามที่เป็นจริง
โดยไม่แยกส่วนนั้นเอง

2. กฤษณมูรติมักพูดถึง อิสระเสรีภาพจากกรอบของความคิด
และความทรงจำ ดูเหมือนเขาให้ความสำคัญกับความคิดเป็นพิเศษ
เขากล่าวว่า ความคิดสิ่งที่หล่อเลี้ยงความกล้ว เช่นเดียวกับ
ความพึ่งพอใจ
(หน้า 73)

ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิจสมุปบาทของพระพุทธเจ้า แต่
หยาบกว่า คือเริ่มจากสังขาร แล้วก็ไปกิเลสตัญหาเลย
ในขณะเดียวกันแนวทางในการตัดกระแสปฏิจจสมุปบาทของ
เขาไม่ชัดเจน ไม่เป็นขั้นเป็นตอนนักในการปฏิบัติ
แต่ก็นับว่าเข้าเค้าทีเดียว

เขามักจะพูดถึงการเฝ้ามองความงามของธรรมชาติ
แม่น้ำ พระอาทิตย์ อยู่เฉยๆ โดยไม่วิพากษ์ วิจารณ์
ไม่มีพอใจ ไม่พอใจ ไม่มีถูกผิด เช่น

เมื่อคุณดูดอกไม้ มองดูสีสันโดยไม่ตั้งชื่อให้มัน ไม่มีชอบ
หรือไม่ชอบเข้ามาเกี่ยว ไม่มีสิ่งบดบังระหว่างตัวคุณกับ
สิ่งที่คุณเห็นว่าเป็นดอกไม้ ปราศจากถ้อยคำ ปราศจากความคิด
เมื่อนั้นเองที่ดอกไม้จะมีสีสันและความงามเป็นพิเศษ
แต่เมื่อคุณมองดอกไม้ผ่านความรู้ทางพฤษศาสตร์ เมื่อคุณพูดว่า
"นี่คือกุหลาบ" คุณได้จำกัดการมองดูไว้ภายใต้เงื่อนไขแล้ว

การมองดูและการเรียนรู้ค่อนข้างเป็นศิลปะ แต่คุณไม่จำเป็น
ต้องเข้าวิทยาลัยเพื่อเรียนศิลปะการมองดูและการเรียนรู้ คุณสามารถ
เห็นและเรียนรู้ได้ที่บ้าน คุณสามารถมองดูต้นไม้ และค้นหาว่า
คุณมองดูมันอย่างไร ถ้าคุณรู้สึกไว้ ตื่นตัวที่จะมองดู คุณจะพบว่า
ช่องว่างระหว่างคุณกับดอกไม้ได้หายไป และเมื่อช่องว่างหายไป
คุณย่อมมองเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เด่นชัดเหลือเกิน...
(หน้า 78)

ข้อความนี้ถ้าคนทั่วไปอ่านอาจงุนงงว่าพูดถึงอะไร
แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติเป็นแล้ว ก็จะทราบได้ทันทีว่า คำว่า
การมองดูและการเรียนรู้ หมายถึง การรู้ตัวทั่วพร้อม
(สัมปชัญญะ) ที่รู้ทั่วทั้งภายนอกและภายใน
และแน่นอน สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ย่อมหมายถึงมหาสุญญตานั้นเอง

เท่านี่ก่อนนะครับ เดียวค่อยมาต่อ
หรือใครจะวิจารณ์ อะไรต่อก็เชิญนะครับ
ทำนองว่า อ่านหนังสือของกฤษณมูรติ แล้วมีความเห็นว่าอย่างไร?
ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละท่านครับ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 10:38:43

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 11:27:00
อยากจะช่วย คุณมะขามป้อม วิจารณ์ตามคำชักชวน
แต่วิจารณ์ไม่ได้เพราะไม่เคยอ่านงานของคุณกฤษณะ
งานนี้จึงต้องขอนั่งหน้าเวที ฟังผู้รู้ทั้งหลายคุยกันดีกว่าครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 11:27:00

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 11:34:50
เหมือนกันครับ ผมก็ไม่เคยอ่าน
จะได้อ่านก็คงจากที่วิมุตตินี่แหละครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 11:34:50

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:02:00
ผมก็ไม่เคยอ่านแบบจริงๆจังๆเช่นเดียวกันครับ แต่จากเท่าที่สัมผัสได้ดูเหมือนว่าเขามองโลกอย่างเป็น ศิลปธรรมชาติ มากกว่าที่จะมองไปในทางวิปัสสนาอย่างทางเถรวาทเรา ผมจึงไม่ได้สนใจที่จะศึกษา แม้ว่าจะมีหลายท่านเคยแนะนำให้ศึกษาก็ตาม

ความรู้สึกของผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ก็จะรออ่านต่อครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:02:00

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ นิดนึง วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:12:13
ไม่ได้อ่านจริงจังเหมือนกันค่ะ คุณมะขามป้อมลองเล่า
มาให้ฟังเลยดีกว่าค่ะ เพราะเคยอ่านผ่านๆ เห็นว่าใกล้เคียงจะเป็นปรัชฌามากกว่าค่ะ
โดยคุณ นิดนึง วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:12:13

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:35:19
ผิดคาดนะครับ
ผมนึกว่าหลายคนในที่นี้จะอ่านกัน
ลองอ่านเกี่ยวกับ การเฝ้าดู
ของเขาอีกหน่อยก็แล้วกันครับ

(หน้า 78)
มีคำถามว่า "เราจะทำอย่างไร ขณะที่มองดูอาทิตย์อัสดงแล้วเกิดมีความคิดอุบัติขึ้น"

ลองนึกดูก่อนเล่นๆ นะครับว่าถ้าเราเจริญสติปัฏฐานอยู่
แล้วมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร
แล้วลองอ่านความเห็นของกฤษณมูรติดู





เราจะทำอย่างไรน่ะหรือ โปรดทำความเข้าใจนัยความหมายของคำถามด้วย
นั่นคือคุณมองดูอาทิตย์อัสดง แล้วความคิดก็แทรกขึ้นมา แล้วคุณก็พูดว่า
"เราจะทำอย่างไรดี" ใครคือเจ้าของคำถามที่ว่า "เราจะทำอย่างไรดี"
คือความคิดใช่หรือไม่ที่พูดว่า "ฉันจะทำอย่างไรดี" คุณเข้าใจคำถามนี้ไหม
ลองมาพูดใหม่ว่า มีอาทิตย์อัสดง มีความงามของมัน มีสีสันที่งดงาม
เป็นพิเศษ มีความรู้สึก มีความรัก แล้วความคิดก็แทรกเข้ามา แล้ว
ผมก็บอกตัวเองว่า "นี่แน่ะฉันจะทำอย่างไรดี" ลองฟังดูอย่างรอบคอบสิ
ลองติดตามดู ไม่ใช่ความคิดหรอกเหรอที่พูดว่า "ฉันจะทำอย่างไรดี"
"ฉัน" ที่พูดว่า "ฉันจะทำอย่างไรดี" เป็นผลจากความคิด ดังนั้นคือความคิด
นั้นเองที่มองเห็นสิ่งที่เข้ามาแทรกแซงความงามและพูดว่า "ฉันจะทำอย่างไรดี"

โปรดอย่าทำอะไรทั้งสิ้น(หัวเราะ) หากคุณทำอะไร ก็เท่ากับสร้าง
ความขัดแย้งขึ้น เมื่อคุณมองเห็นอาทิตย์อัสดงและความคิดได้แทรกเข้ามา
โปรดจงรู้ตัว ระลึกรู้ในอาทิตย์อัสดง และ ความคิดที่เข้ามาสู่
โปรดจงอย่าได้ขับไล่ความคิด โปรดจงรู้ตัวในทุกสิ่ง ทั้งในอาทิตย์อัสดง
และในความคิดที่เข้ามาแทรก
เมื่อนั้นคุณจะพบว่า ถ้าคุณตระหนัก
รู้โดยไม่ได้มุ่งกดข่มความคิดที่เข้ามาสู่ ไม่ได้มุ่งต่อสู้ขัดขวางความคิด
ถ้าคุณไม่ได้ทำอะไรเช่นว่านั้น เมื่อนั้นเองความคิดจะสงบลง
เพราะความคิดนั่นเองที่พูดว่า "ฉันจะทำอย่าไรดี" นั่นคือเล่ห์กล
อย่างหนึ่งของความคิด อย่าได้ตกหลุมพลางของมัน แต่โปรดจง
เฝ้าดูสิ่งทั้งหมดที่กำลังเกิดข฿ึ้น


นี่คงจะคล้ายกับเวลาที่ใครต่อใครเกิดความสงสัย
แล้วพี่ปราโมทย์ให้ดูที่ความสงสัยเอง :)

ที่จริงแล้วส่วนตัวผมคิดว่าแล้วทางของเขาคล้ายกับ
พุทธเรามากทีเดียว สิ่งที่เขาพูดคือความระลึกรู้
เป็นหัวใจของพุทธศาสน์นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เรียบเรียงเป็นระบบ แบบแผน
เหมือนของเรา

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:35:19

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:41:51
ตอนนี้ยังไม่เจออะไรที่ขัดแย้งในหลักการกับหลักศาสนาพุทธนะครับ
แล้วจะค่อยๆ เอา High light วิธีคิดของเขามาลงให้อ่านกัน
ในกระทู้นี้ หรือถ้าเพื่อนท่านใด เห็นว่าเรื่องใดขัดแย้งกัน
ก็นำมาลงให้ดูกัน ก็ได้ครับ ถือว่าร่วมกันศึกษางานของ
ปราชญ์ทางจิตวิญญาณท่านหนึ่ง
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:41:51

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:44:11
ตรงจุดที่เขาพูดดีก็ฟังดูดีครับ
เขาเคยศึกษาพุทธศาสนามาแต่เด็ก
หยิบยืมศัพท์และแนวทางง่ายๆจากพุทธไปมากมาย
เท่าที่ผมอ่านหนังสือเขาทั้งฉบับแปลและฉบับจริง
ก็พบร่องรอยที่เป็นเค้าของปัญญาทางพุทธเต็มๆ

พูดง่ายๆว่าเขาอัดเรื่องเกี่ยวกับสติและปัญญาไว้
แต่บั่นทอนกำลังศรัทธาทุกชนิด
เช่นใช้คำว่าอย่าเดินตามก้นศาสดา
ไม่ให้แนวทางที่ชัดเจน
และไม่ยอมรับว่าบัญญัติเป็นขั้นๆแบบพุทธสมควรถูกกล่าวถึง
อีกประการหนึ่งเขาปฏิเสธการทำสมาธิเช่นดูลมหายใจจนถึงฌาน
ทั้งที่เขาเองเคยผ่านมาก่อน
และแน่นอนย่อมเป็นพื้นกำลังให้เขาเกิดกำลังสติกว่าคนธรรมดา
เขาจะย้ำกล่าวเสมอว่าสมาธิแบบนิ่งนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล
ใครทำก็ผิดแน่นอน

ฯลฯ

เขียนตอนออนไลน์ครับ ได้ความน้อยหน่อย
โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 12:44:11

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 13:21:48
เรื่องปฏิเสธศาสดา เท่าที่อ่านคิดว่าเขาปฏิเสธในลักษณะที่เป็นสมมุติบุคคล
ที่คนหลงงมงายนะครับ แต่คิดว่า เขาไม่ได้ปฏิเสธพระธรรม หรือ สัจจธรรม
เหมือนบ้านเรา คนไหว้พระเหมือนกันแต่มีเหตุผลอยู่เบื้องหลังต่างกัน

เรื่องการปฏิเสธการทำสมาธิ ข้อเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบเหมือนกันครับ
เป็นไปได้ที่ว่าเขาพูดในแนว การใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
หรือพูดถึงตัวสัมมาสมาธิที่ประกอบดัวยสัมปชัญญะ โดยตรง
(ผมค่อนข้างมองโลกในแง่ดีหน่ะครับ ฮิ ฮิ)

เรื่องแนวทางของเขา
คิดว่าเขารวบรัด ตัดความ เข้าไปที่สติและปัญญาอย่างที่พี่ดังตฤณว่า
อาจจะเหมาะสำหรับคนบางคน
และไม่เหมาะสำหรับคนบางคนครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 13:21:48

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 13:25:08
ประวัติ ของ กฤษณามูรติ ในวัยเยาว์ เคยถูกเชิดขึ้นเป็น พระศรีอารย์อวตารมาก่อน โดย สมาคม Esoteric ซึ่งเป็นสมาคมที่ศึกษารหัสลัทธิ ในอังกฤษและมีความเชื่อว่าจะมีองค์พระศรีอารย์มาจุติ ได้เสาะหาเด็กในอินเดียที่ มีมหาบุคลิกลักษณะ ตรงตามคำทำนาย และพบ กฤษณามูรติ และน้องชาย (วัยประมาณ 10 กว่าขวบ)  มีบุคลิกตรง ตามตำรา จึงนำมาดูแลที่อังกฤษ โดยได้รับการศึกษาที่ ม.ออกซ์ฟอร์ด  เดิมน้องชายของกฤษณามูรติ เป็นคนที่สมาคมจับตาว่าจะเป็นองค์อวตาร แต่เมื่อทั้งคู่เข้าสู่วัย 19-20 น้องชายได้ป่วยเสียชีวิต  ทำให้ภาระและแรงกกดดันมาอยู่ที่กฤษณามูรติ ในช่วงนั้นกฤษณามูรติ ได้บันทึกถึงปรากฎการณ์ ทางจิตวิญญาณ ด้านใน เช่นการตื่นขึ้นกลางดึก พร้อมกับภาวะปรากฎแสงสว่างรู้ (มีข้อสังเกต คือมีบันทึกถึงการเจ็บปวดทางกายภาพด้วย) และการสัมผัสภาวะทางจิตที่ลึกซึ้ง ( listener - ผมอนุมาน จากคำบรรยาย ในข้อเขียนบางตอน ว่า อาจคล้ายกับ เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ในช่วงนั้นที่ กฤษณามูรติ เริ่มแทนตัวเองด้วยสรรพนาม บุคคลที่สาม the speaker ไม่ใช่ I และท่ามกลางความตะลึง ของผู้ศรัทธา ได้ประกาศยุบคณะผู้ติดตาม และประกาศให้เลิกการหวังพึ่งพิงจากคำสอนของผู้อื่น และลัทธิศาสนาใดๆ
(เก็บความจาก ความจำ ที่เคยอ่านปีกแห่งอิสรภาพ ฉบับจัดพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งผู้แปลได้รวบรวมประวัติกฤษณามูรติ ไว้ และถูกตัดทอนออกในฉบับจัดพิมพ์ครั้งหลัง )

เป็นไปได้ว่าประสบการณ์ในวัยเยาว์ ทำให้ กฤษณามูรติ มองศาสนาทั้งหมด เป็นความงมงายทั้งหมด และปฎิเสธ การศึกษาทำความเข้าใจลัทธิใดๆ และการฟังผู้ใด จนลืมไปว่านั่นเป็นการสร้างอัตตาละเอียดขึ้นเช่นกัน(ผมนึกถึง ทีฆนัขขะปริพาชก ผู้มีวาทะ ว่า วาทะใดๆก็ไม่คู่ควรแก่ข้าพเจ้า จนพระศาสดาเตือนว่า ถ้าชนนั้นวาทะนั้นก็ไม่ควรแก่เธอเช่นกัน)  กฤษณามูรติ ปฏิเสธศาสดาจริงๆครับ หากนำข้อเขียนของเขามาตีพิมพืในชื่อฝรั่งผิวขาว เป็นไปได้ว่าจะโดนโจมตีในข้อหาเหยียดผิวทีเดียว เพราะแม้เชื้อชาติจะเป็นอินเดีย แต่โตขึ้นในอารยธรรมตะวันตก

แนวคิดของกฤษณามูรติ อีกแนวคิดหนึ่งคือ การมองมนุษย์ทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยตรรกะที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีความสุข ความทุกข์ ในขณะแห่งผัสสะเช่นกัน มนุษย์จึงมีธาตุแม้เช่นเดียวกัน เหมือน หนึ่งน้ำในแก้วกับในมหาสมุทร เป็นน้ำเช่นเดียวกัน (ตรงนี้ยัง OK) ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงเป็นหนึ่งเดียว กัน เหมือนน้ำในแก้ว กับน้ำในมหาสมุทรเป็นหนึ่งเดียวกัน (ตรงนี้น่าจะเป็น FALSE LOGIC) ความทุกข์ ของเพื่อนมนุษย์คือความทุกข์ของเรา และเราต้องรับผิดชอบกิเลส ของมนุษย์อื่นด้วย หากเธอไม่ต้องการความรุนแรงในเวียดนาม เธอควรเริ่มต้นที่การรู้จัก ความรุนแรงภายในตัวเธอก่อน  (ตรงนี้ที่มีความงามของกวีนิพนธ์ และประทับในคนหนุ่มสาวได้งาย)

เขียนจากความจำเพื่อแลกเปลี่ยนกับคุณมะขามป้อมได้แค่นี้ ยังไม่มีเวลาไปคัดข้อเขียนมาอ้างอิงครับ

โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 13:25:08

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 13:57:31
ผมพอจะหาข้อความที่เขาปฏิเสธศาสนา หรือศาสดาได้นะครับ
ลองอ่านดูก่อนครับ

(หน้า 101)
เห็นได้ชัดว่าจิตใจของคนเราได้ถูกวางเงื่อนไข ในคริสตศาสนา
ในฮินดู ในพุทธศาสนา และด้วยลัทธิความเชื่ออื่นๆ หากว่าคนเราไม่เป็น
อิสระจากลัทธิความเชื่อทั้งหลาย ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเฝ้าดู ที่จะค้นหา
ด้วยตัวเองว่ามีความจริงซึ่งไม่บิดเบี้ยวด้วยความคิดหรือไม่ เราต้อง
เป็นอิสระจากศีลธรรมทางสังคมทั้งปวง เพราะศีลธรรมของสังคมนั้น
หาใช่ศีลธรรมไม่ จิตใจที่ไม่มีศีลธรรมสูงส่ง จิตใจที่ไม่ยึดมั่นในความถูกต้อง
ย่อมไม่สามารถเป็นอิสระได้ นั่นคือคำอธิบายว่าทำไมการเข้าใจตนเอง
จึงเป็นเรื่องสำคัญ...


ฟังดูผิวเผินแล้วน่าหวาดเสียวจริงๆ ครับ สำหรับผู้แสวงหาที่ไม่มีหลัก

แต่จริงๆ แล้วเขากำลังพูดถึงปรมัตถ์ พูดถึงความจริง
ที่คนเราเกิดมามีแต่ขันธ์ทั้ง 5 ติดตัวมา แล้วมาสร้าง มาพอกพูน
มีนั่นมีนี่ มีตัวตน มีศาสนาของตน ทั้งที่ความเป็นจริง
มันมีแค่ขันธ์ 5

จริงอยู่ศาสนา ศรัทธา นั้นเป็นสิ่งนำไปสู่วิมุติ หรือปรมัตถ์
แต่เอาเข้าจริงๆ เมื่อเรานั่งลงวิปัสสนา นั้นมันมีแต่กาย
กับใจ เท่านั้นอย่างอื่น(ศาสนา ศาสดา)ไม่มีเลย
ความรู้ ความทรงจำ ซะอีกที่กลับเป็นภาระของจิต

ถ้าเรายอมรับตรงนี้ได้ เราก็ยอมรับในคำพูดของเขาได้ครับ

ผมทำความเข้าใจกับสิ่งที่กฤษณมูรติพูดตามประสบการณ์หน่ะครับ
อย่าคิดมากว่า เรามาตั้งป้อมถกเอาถูกเอาผิดกัน :)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 13:57:31

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 15:01:02
คุณมะขามป้อมเคยอ่านงานเขียนของท่านเขมานันทะมั้ย
มีลักษณะแนวคิด แนวการปฏิบัติ มุมมองธรรมชาติ
คล้ายกันกับท่านกฤษณะมูรติเลย
เวลาอ่านแล้วจะรู้สึกถึงความกว้างใหญ่
ความอิสระ ปลดเปลื้องพันธนาการทุกอย่าง
ชอบจาริก แสวงบุญไปเรื่อยๆตามที่ต่างๆ
ไม่ผูกตัวเองติดไว้กับอะไร
ถ้าตัวเองเป็นผู้ชาย ยังคิดอยู่เลยว่า
มีโอกาสก็จะร่อนเร่พเนจรแบบนี้แหละ
(เอ..รู้สึกแว่วๆว่า ฟุ้งซ่าน มาแต่ไกลเลย
ใครดุเราหว่า  อิอิ)
โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 15:01:02

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 15:29:23
เรื่องการศึกษาความคิดของนักปราชญ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากครับ
ลำพังเราจะฟังถ้อยคำบางส่วนบางเรื่องแล้วนำมาวิเคราะห์
ก็อาจจะได้ภาพที่คลาดเคลื่อนได้
อย่างเต๋าก็พูดถึงความว่าง เซ็นก็พูดถึงความว่าง
พุทธพูดถึงการดับตัณหา เชน/ชินะ ก็พูดถึงเหมือนกัน

หากมีข้อมูลมากขึ้น เราคงจะได้ภาพว่า
คำสอนสูงสุดของท่านกฤษณมูรติ คืออะไร
มรรคหรือวิธีเข้าถึงสิ่งสูงสุดนั้น คืออะไร

ต่อเมื่อเห็นสองจุดนี้แล้ว จึงจะพออนุมานได้ว่า
คำสอนของท่านผู้นี้ กับพระพุทธศาสนาสอดคล้องกัน หรือขัดแย้งกัน
หรือสอดคล้องกับลัทธิศาสนาใดกันแน่

อย่างการกล่าวถึงการไม่คิดนึกปรุงแต่ง แล้วรู้เห็นธรรมชาตินั้น
อาจเป็นการรู้แล้วปล่อยวางก็ได้
หรืออาจเป็นการรู้เพื่อหลอมรวมจิตวิญญาณเข้ากับธรรมชาติก็ได้
ถ้าเป็นอย่างแรก ก็ต้องกล่าวว่าท่านกฤษณมูรติรับความคิดทางพระพุทธศาสนาไปใช้
(ไม่ใช่ท่านรู้เองเห็นเอง เพราะพระพุทธเจ้าจะอุบัติในยุุคที่ยังมีพระศาสนาไม่ได้)
ถ้าเป็นอย่างหลัง ท่านก็ไม่ใช่พุทธ
แต่อาจจะเป็นเต๋า ฮินดู หรือลัทธิใหม่ๆ ของท่านก็ได้

ยังรออ่านเรื่องราวการวิเคราะห์ของคุณมะขามป้อม คุณดังตฤณออฟไลน์
และจากท่านอื่นๆ ด้วยครับ
โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นหลัก คือนิโรธ กับมรรค
เรื่องนี้ไม่ต้องรีบร้อนเขียนก็ได้
เพราะเราศึกษากันเพื่อความรื่นเริงทางปัญญา
ถ้ารีบร้อนนัก เดี๋ยวจะเคร่งเครียดเหมือนการเรียนปรัชญาน่ะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 15:29:23

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 15:39:54
เพิ่งเห็นข้อเขียนของคุณ listener คุณมะขามป้อม และคุณไพ
น่าอ่านน่าฟังดีครับ ช่วยกันมองคนละมุม เดี๋ยวก็คงเห็นช้างทั้งตัวได้ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 15:39:54

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 18:54:33
ความจริงผมก็ไม่มีอคติอะไรกับกฤษณะมูรติ
ตรงข้าม สมัยก่อนจะคลั่งไคล้เอาด้วยซ้ำ
เพราะหลงความสงบในสำเนียงภาษาของเขา

แต่เริ่มรู้สึกทะแม่งๆตอนเพื่อนบางคนบอก
ว่าสงสัยกฤษณะมูรติจะเป็นพระปัจเจกโพธิ์
หรือไม่ก็เป็นอริยบุคคล
ก็นึกขึ้นมาว่าชักไม่เข้าการ
เพราะทราบดีว่ากฤษณะมูรติเขียนเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าไว้อย่างไร
แบบว่าอ่านแล้วแน่ใจได้เลยครับ
จะไม่มีอริยบุคคลที่ไหนพูดอย่างนั้นเด็ดขาด
แต่อันนี้ก็แยกแยะออกจากความงามในภาษาสงบของเขา
รู้ดีว่าจิตใจเขาสงบ เยือกเย็น เป็นสุข
ซึ่งมองในมุมของชาวโลกทั่วไป
ความสงบและศานติที่มีประจำใจไม่เสื่อมคลายเช่นนั้น
น่าจะเพียงพอแล้วกับการเชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากวิถีกิเลส

อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมุติว่าเขาจะพ้นกิเลสไปแล้วจริง
ผมก็ไม่เชื่อว่าเขาจะนำใครพ้นกิเลสตามไปด้วยได้
เหตุผลหลักคือปฏิบัติมาจนถึงวันนี้
ทราบดีว่าระดับสาวกธรรมดานั้น
ถ้าขาดกำลังศรัทธาเป็นตัวหนุนแล้ว
ลำพังแค่กำลังสติปัญญาสามัญ
ไม่มีทางที่จะเอาจิตดิ่งถึงมรรคถึงผลแน่

เพราะจิตคนนั้นกลับกลอกลังเลได้ทุกเมื่อ
หากขาดศรัทธาเชื่อมั่นในพระศาสดา
ไม่พึ่งกระแสพุทธคุณ ก็หมดสิทธิ์เอาตัวรอดได้
เว้นแต่จะปรารถนาปัจเจกโพธิภูมิมาก่อน

อย่างมะขามป้อมว่าครับ
คงไม่ได้ตั้งป้อมถล่มอะไร
เพราะกฤษณะมูรติก็หมดตัวตนไปจากโลกนานแล้ว
ถ้าให้วิจารณ์เฉพาะเนื้องานของเขา
ผมลองสังเกตตัวเองแล้วพบว่าตอนอ่านจบ
จะรู้สึกสงบแบบส่งออกนอก
เพราะเนื้อหางานเขียนและงานพูดของเขาส่วนใหญ่
แม้เน้นให้รู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน
แต่ก็เหมือนให้สังเกตสังการายละเอียดภายนอกมากกว่า
มีส่วนบรรยายการอ่านใจตัวเองอยู่บ้าง
แต่เหมือนจะสะกดให้คนอ่านหรือคนฟังเคลิ้มคล้อย
อย่างถ้าจับหลักภาวนาจริงๆเป็นเรื่องเป็นราว
ก็มีอะไรเช่นให้นั่งนิ่งๆ หัวแม้เท้าจดกัน
ตั้งใจจะไม่ขยับสักสองนาที
ซึ่งแบบนั้นเป็นสมถะแน่ๆ

เขามักตั้งข้อสังเกตกับเรื่องของกิเลสเป็นอย่างๆ
เช่นความประหม่า หรือความโกรธ
หรืออาจให้สังเกตว่าประสบการณ์เดิมจะกลับคืนมาอีกครั้ง
กลับคืนมาสู่ใจ ภาวะอันเดียวกันกับที่เคยเกิด ฯลฯ
พูดถึงปัจจัยแวดล้อมมากมาย
พอจบลง ลองค้นว่าเขาจะให้ทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดกับใจ
ก็ไม่เจออะไรที่แน่ชัดนัก
หลังอ่านหนังสือของเขา ผมเคยมีเวลาเดินเล่นที่ชายหาด
ก็มักเกิดคำถามในหัว ว่าเมื่อกี้เราอ่านอะไรไป
ตอนนี้เราได้อะไรให้หยิบจับมาใช้ประโยชน์บ้าง
ในหัวมักได้คำตอบเป็น
สงบ
สังเกตความงดงามรอบตัว
ไม่ต้องทำอะไร

ตอนหลังมารู้ว่าระดับที่ ไม่ต้องทำอะไร นั้น
ไม่ใช่สำหรับผู้เริ่มต้นแน่ๆ
และความจริงก่อนจะไม่ต้องทำอะไร
ที่แท้ ต้อง ทำอะไรมาเยอะ
เยอะมาก
ขูดกิเลสทีละชิ้น ทีละปื้นนั้น ต้องอาศัยเวลาแรมปี

เมื่อปฏิเสธการสาธยายการปฏิบัติแบบเป็นขั้นเป็นตอน
สิ่งหนึ่งที่ผมพบมาจากบุคคลระดับนี้
คือมักเป็นแรงกระตุ้นให้ได้คิด
มากกว่าเป็นแรงกระตุ้นให้ได้ทำ
กฤษณะมูรติมักพูดอะไรที่ชวนให้เกิดความสับสน ไขว้เขว
เช่นว่าแม้แต่ตัวเขาก็อย่าเชื่อ อย่ามาตามก้นเขา
พอเขาพูดอะไรอย่างนี้ผมมักเกิดคำถาม (แบบวัยรุ่นขณะนั้น)
ว่างั้นตูจะเสียเวลามาฟังทำไม ฮ่วย
คืออ่านมาเพลินๆ มาสะดุดก็ตอนเขาชอบพูดอะไรแบบนี้แหละ

การไม่อยากให้ใครมายึดติดก็เป็นเรื่องหนึ่ง
การกระทำที่ยังผลให้คนอื่นเกิดความไม่ยึดติดจริงๆก็อีกเรื่องหนึ่ง
เขาตระเวนไปตามที่ต่างๆทั่วโลก
เพียงเพื่อพูดสารพัดแล้วบอกว่าอย่าเชื่อ อย่ายึดติดกับเขา
เขาเคยบอกแม้กระทั่งว่าวิธีการบรรลุถึงอิสรภาพทางความคิดนั้นไม่มี
ไม่ต้องแสวงหา ต้องได้คำตอบจากตัวเอง
และเขาก็หวังว่าทั้งชีวิตของเขา
จะมีคนเข้าใจเขา (หรือลุสัจจะอย่างเขา) สักเพียงสองสามคน

ถ้าเชื่ออย่างนั้นจริง เขาจะตระเวนไปรอบโลกหลายสิบปีเพื่ออะไร?

จนเดี๋ยวนี้ ถ้าไปนั่งรอหมอไพทำฟันแล้วเจอหนังสือกฤษณะมูรติบนหิ้ง
ก็จะหยิบมาอ่าน เหมือนอย่างที่ไม่รังเกียจเวลาฟังเพลงประโลมใจ
โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2543 18:54:33

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 09:31:30
พี่ปราโมทย์ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจครับ

ผมให้คะแนนเขามากหน่อยเรื่องมรรควิธี
เพราะเห็นว่าสอดคล้องกับทางสายเอก
ในรูปแบบที่เอาปัญญานำ คือมีสัมปชัญญะ และมีสัมมาสมาธิ
ผมคิดว่าสำหรับมรรคไม่ว่าจะเจริญอย่างใดอย่างหนึ่ง
ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนที่เหลือก็ย่อมเจริญ
อยู่เองในตัว

สำหรับตัวบุคคล ผมคงบอกไม่ได้เหมือนกันว่า
เขารับเอาแนวทางของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ หรือว่าคิดค้นเอง
(เขาพูดอยู่เสมอว่าเขาเป็นอิสระจากศาสนา ลัทธิใดๆ)
ก็คงขอข้ามประเด็นนี้ไปนะครับ

กับมาพูดในสิ่งที่เขาไม่มีบ้างดีกว่าเดียวจะหาว่าผมเชียร์
กฤษณมูรติ :)

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 09:31:30

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 09:50:54
ประเด็นสำคัญที่แทบจะไม่เคยได้ยินเขากล่าวถึงเลย
เห็นจะเป็น ตัวจิตเอง อันเป็นจุดหลักของพุทธศาสนา

ถ้าหยิบหนังสือของเขาขึ้นมาอ่าน ตัวใหญ่ใจความหลัก
ก็คงจะเป็นเหมือนตัวอย่างที่แสดงให้ดูข้างบนครับ
คือจะพูดถึงสาเหตุของความทุกข์ว่ามาจาก ความแปลกแยก
ระหว่างตัวเองกับสิ่งต่างๆ และก็เสนอ วิธีการเฝ้าดูอยู่เงียบๆ
ในการเข้าถึงธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีการแบ่งแยกระหว่าง
ผู้ดู และสิ่งที่ถูกดู (มีการกล่าวถึงว่าสิ่งที่ถูกดูมีทั้งรูปภายนอก
และนามภายใจครับ)

แต่สิ่งที่เขาไม่ได้พูดถึงคือตัวจิต ความเป็นอนัตตาของจิต
ความหลุดพ้นของจิตจากอวิชชา เหมือนกับเขาไม่ได้ย้อนกลับ
มาดูที่ตัวจิตเอง ดังนั้นในส่วนของนิโรธนี้
ผมให้คะแนนเขาสักครึ่งส่วนของพระพุทธเจ้าครับ
(อันนี้ประเมินจากคำบรรยายของเขานะครับ
ตัวจริงของเขาจะบรรลุธรรมระดับไหน นั้นได้แต่คาดเดาครับ)

ในส่วนเนื้อหาความละเอียดในข้อธรรมนั้นยังน้อยกว่า
ทางพุทธเรามาก เรียกว่าแพ้หลุดลุ่ยครับ

********************************************************

อย่างไรก็ตามถ้าใครได้หยิบหนังสือของเขาขึ้นมาอ่าน
แล้วคั้นเอาส่วนน้ำที่เป็นคำพรรณาความงามต่างทิ้งไป
ก็ยังมีส่วนที่ได้ประโยชน์ในเรื่องของ อุบาย การโยนิโสมนสิการ
กับตัวความคิด ที่เรามีปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเล่ม
ให้เราหยิบยืมมาใช้ได้ในการเจริญสติในชีวิตประจำวันได้

สำหรับผมเองตั้งแต่ได้พูดคุยสนทนากับพี่ปราโมทย์
ได้รู้จักแก่นแท้ของการปฏิบัติ ก็ไม่เคยได้หยิบหนังสือ
ธรรมเล่มใดมาอ่านอีกเลย (จะมีอ่านบ้างก็เพื่อหาข้อมูล
มาบอกเล่าสู่กันฟังนี้แหละครับ)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 09:50:54

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 10:05:08
ตอบพี่ไพ
อย่างที่บอกแหละครับไม่ค่อยได้อ่านงานของใครแล้วตอนนี้
สำหรับกฤษณมูรติ ก็เป็นเรื่องเก่าๆ สมัยก่อน
เป็นเหมือนบันไดขั้นหนึ่งที่เราเคยเหยียบมาครับ

อ้อ...วันก่อนไปซื้อเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ไซอิ๋ว
เชิงพุทธ น่าสนใจมากครับ (จำชื่อหนังสือจริงๆ ไม่ได้ครับ)
เป็นเล่มแรกของเขมานันทะครับที่อ่าน
แต่จนบัดนี้ยังวางอยู่บนโต๊ะเลยครับ อ่านไม่จบง่ะ ;-)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 10:05:08

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 10:45:45
เท่าที่อ่านเรื่องของคุณกฤษณะฯ มาจนป่านนี้ ผมยังไม่เห็นชัดว่า
ความจริงสูงสุด หรือการที่รู้จักตนเองของคุณกฤษณะฯ นั้น มีสภาวะอย่างไร
ส่วนมรรควิธี ถ้าเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะอย่างแท้จริง ก็คือวิถีแห่งพุทธ
ผลก็ย่อมไม่หนีไปจากมรรคผลนิพพานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

แต่คนที่พูดถึงการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น มีอยู่มากมาย
แม้ในปัจจุบัน ไปทางไหน ก็พบแต่ผู้เจริญ "สติสัมปชัญญะ"
ทั้งที่สิ่งที่เจริญนั้น บางทีก็ไม่ใช่สติสัมปชัญญะในทางพระพุทธศาสนา
ดังนั้น แม้คุณกฤษณะฯ จะพูดถึงเรื่องสติสัมปชัญญะไว้
(อาจจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น)
แต่เราก็ไม่ทราบถึงคุณภาพแท้จริง
ว่าใช่ หรือไม่ใช่สัมมาสติและสัมมาทิฏฐิ(สัมปชัญญะ)

สะกิดใจนิดหนึ่งตรงที่ คุณดังตฤณ กล่าวถึงความไม่เคารพพระศาสดา
จุดนี้ไม่ใช่วิสัยที่พระอริยบุคคลจะมีได้
เพราะพระโสดาบันนั้น ท่านมีองค์คุณประจำใจ 5 ประการ
คือ 1 - 3 ความเคารพแน่นแฟ้นในพระรัตนตรัย
4. ความไม่ถือมงคลตื่นข่าว
5. ความไม่มีบุญเขตนอกพระพุทธศาสนา
(หมายถึงถ้าทำบุญกับศาสดาหรือนักบวชของศาสนาอื่น
จะทำในลักษณะการสงเคราะห์ ไม่ใช่ทำด้วยความเคารพเป็นสรณะ)

อย่างไรก็ตาม ผมมีจุดที่มีประสบการณ์แตกต่างจากคุณดังตฤณอยู่จุดหนึ่ง
คือตรงที่คุณดังตฤณ กล่าวว่า
"ระดับสาวกธรรมดานั้น
ถ้าขาดกำลังศรัทธาเป็นตัวหนุนแล้ว
ลำพังแค่กำลังสติปัญญาสามัญ
ไม่มีทางที่จะเอาจิตดิ่งถึงมรรคถึงผลแน่
เพราะจิตคนนั้นกลับกลอกลังเลได้ทุกเมื่อ
หากขาดศรัทธาเชื่อมั่นในพระศาสดา
ไม่พึ่งกระแสพุทธคุณ ก็หมดสิทธิ์เอาตัวรอดได้
เว้นแต่จะปรารถนาปัจเจกโพธิภูมิมาก่อน"


จุดนี้คุณดังตฤณ อาจจะนึกถึงกรณีที่ "มติ" เมื่ออ่านเรื่องพระพาหิยะ
แล้วเกิดปีติเพราะความศรัทธาท่วมท้นใจ
จนจิตรวมตัดกระแสลงได้
จึงเห็นว่า ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีศรัทธา รับกระแสจากครูบาอาจารย์

อันที่จริงการแล่นไปสู่กระแสธรรมนั้น มีได้หลายลักษณะ
ถ้าไปด้วยกำลังของศรัทธา เรียกว่า สัทธานุสารี
นับเป็นหนึ่งในพระอริยบุคคล 7 ประเภทคือ
1. อุภโตภาควิมุตต   [ท่านผู้หลุดพ้นแล้วโดยส่วนทั้งสองคือสมาธิและปัญญา]
2. ปัญญาวิมุตต      [ท่านผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอำนาจปัญญา]
3. กายสักขิ          [ท่านผู้สามารถด้วยกาย]
4. ทิฏฐิปัตต         [ท่านผู้ถึงแล้วด้วยความเห็น]
5. สัทธาวิมุตต       [ท่านผู้พ้นแล้วด้วยอำนาจศรัทธา]
6. ธัมมานุสารี       [ท่านผู้ประพฤติตามธรรม]
7. สัทธานุสารี       [ท่านผู้ประพฤติตามศรัทธา]
(รายละเอียดเชิญหาอ่านเอาเองนะครับ
ใน พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ก็มีชัดเจน)

กรณีบุคคลที่แล่นไปสู่กระแสธรรมด้วยความรื่นเริงในธรรม ก็เช่น "ปู่ชนะ"
คือเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะไป
ก็พบความลึกซึ้งแปลกใหม่ของธรรมที่ไม่เคยพบไปตามลำดับ
เป็นแรงดึงดูดให้พากเพียรเจริญสติสัมปชัญญะอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น ไม่ได้คำนึงถึงพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง
แต่จิตก็รุดไปสู่ธรรมได้ด้วยกระแสปัญญา

การมีนักปฏิบัติหลายๆ คน
ทำให้เราได้รู้จัก "ทางนฤพาน หลายๆ รูปแบบ
แต่ก็จะพบว่า ไม่เกินไปกว่าที่พระศาสดาทรงแสดงไว้
และปรากฏในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 10:45:45

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 11:02:56
โพสต์เมื่อกี๊ ไม่เห็นข้อความใหม่ของ คุณมะขามป้อม ครับ
ถ้าเข้ามาไม่ถึงจิตถึงใจ
ก็ยังเป็นความรู้ส่วนนอก อย่างที่คุณดังตฤณ กล่าวไว้นั่นเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 11:02:56

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 11:11:32
ความหมายของผมคงเป็นว่า
ถ้าไม่เชื่อเสียเลยว่ามรรคมี ผลมี
ผู้ทำได้ไว้ก่อนมี น่าทำตามท่านบ้าง
ก็คงไม่มีจิตดำเนินตามนั้นครับพี่ตุ้ม
เพราะที่กฤษณะมูรติกล่าวไว้
มีหลายแห่งที่ระบุว่าต้องปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิตใจ
รวมทั้งความเชื่อต่างๆด้วย
ผมคิดว่าถ้าปราศจากความเชื่อในการดำเนินจิต
ไม่มีความศรัทธาในตัวผู้นำ (คือศาสดา)
สิ่งที่เกิดขึ้นคือปล่อยจิตใจให้เหม่อไปกับกิเลสมากกว่าจะสู้กับกิเลส

เอ้อ นึกได้อีกอย่าง
ไม่รู้ป่านนี้นักเรียนในโรงเรียนอุดมคติแบบกฤษณะมูรติ ที่ไม่มีการให้เกรด
จะออกไปอยู่ในสังคมกันท่าไหน
เพราะคงต้องมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรองวิทยาฐานะแน่ๆ
อันนี้ก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งที่กฤษณะมูรติสร้างขึ้นมาให้ยึดติดกับความไม่ยึดติด
โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 11:11:32

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 11:19:49
ผมมีแง่มมุมเกี่ยวกับคำว่า "ศาสนา" ครับ

ผมมีความรู้สึกว่า ไม่ว่าศาสนาใดๆในโลกนี้ที่โลกนับถือว่าเป็นศาสนา ล้วนกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาได้ทั้งสิ้น เว้นไว้ก็เพียงศาสนาพุทธ

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า พุทธศาสนา มิได้มีเพียงให้เราเชื่อ มิได้มีเพียงวิธีการปฎิบัติเท่านั้น แต่พุทธศาสนายังมีความจริงแท้ของธรรมชาติบรรจุไว้เต็มเปี่ยม และเราสามารถที่จะหยิบและตักตัวงตามความสามารถของเราได้อย่างเต็มที่ และเต็มไปด้วยความรับผิดชอบเต็มที่เช่นเดียวกัน

เมื่อก่อนโน้นในวัยเด็ก ผมก็มองเห็นพุทธศาสนา เป็นศาสนาเฉกเช่นศาสนาอื่น แต่พอนานๆไป เมื่อนำตัวเองเข้ามาคลุกคลีกับพระพุทธศาสนามากขึ้น ผมกลับมีความรู้สึกว่า ทั้งเลือดเนื้อ จิตใจ ความคิด การกระทำ การพูดจา ของผมนั้น ล้วนแต่อิงแอบแนบแน่นกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่เรียกว่า หากไม่มีศาสนพุทธแล้วผมก็อยู่ไม่ได้ (แต่ชาตินี้ก็ไม่มีใครเอาพระพุทธศาสนาไปจากใจผมได้ แม้จะเอาชีวิตผมไปได้ก็ตาม)

ผมมีความรู้สึกว่า พระพุทธศาสนา เป็นทุกๆอย่างของผม ในตัวผม ครอบครัวของผม และบุตรบริวารของผม และเป็นธรรมชาติทั้งหมดทั้งปวงที่ทั้งแวดล้อมตัวผมอยู่ และสอดแทรกอยู่ในตัวผมด้วย

และผมไม่เคยรู้สึกอีกเลย ว่าพระพุทธศาสนา เป็น ศาสนา อย่างที่เคยรู้สึกมา และไม่เคยพูดว่า "พุทธศาสนา" อีกเลย เพิ่งจะมีก็คราวนี้เท่านั้น ปกติจะใช้คำว่า ธรรมอันองค์พระศาสดาแสดงไว้ดีแล้วบ้าง พระพุทธองค์ทรงชี้บ้าง หรือข้อความที่มีความหมายในทำนองนี้ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมแห่งพระพุทธองค์ คือ สัจจธรรม คือธรรมอันเป็นความจริงในทุกๆส่วน

ไม่เคยมีความรู้สึกว่า คำสอนของพระพุทธองค์ คือคำสั่งที่จำต้องปฎิบัติตาม แต่เห็นว่าคือสิ่งที่ควรปฎิบัติตามอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่มีสิ่งใดที่จะควรยิ่งกว่า เพียงแต่เราเองต่างหากที่จะมีแรง มีกำลัง ปฎิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร

ทำได้เท่าใด ก็ได้รางวัลไปเท่านั้น ตามส่วน สมควรแก่การทำของตน

จะกล่าวว่า ในทุกวันนี้ ก็เหมือนตนเองอยู่ท่ามกลางความอบอวลของเครื่องหอม อันตลบอบอวลมิสร่างซา หากความหอมหวลนั้นคือธรรมอันพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้นเอง และยังแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรอีกมากมาย

มีหลายครั้งเหมือนกัน ที่ผมแอบยิ้มกับตัวเอง ว่าตัวเองเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่ต้องไปยึดมั่นในศาสนา แต่เป็นคนที่โชคดีกว่านั้น เพราะได้อยู่อิงแอบกับความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยมีกระแสแห่งเมตตา กระแสแห่งกรุณา เผื่อแผ่มาล้อมรอบเราอยู่เสมอ จนแม้ทุกข์หรือปัญหาใดๆ ก็เรื่องเล็กไปเสียทั้งนั้น แม้จะรู้ว่าทุกข์หากแต่ไม่เคยกลัวเกรงเลยแม้แต่น้อย

ไม่ทราบว่าจะบรรยายให้ถูกได้อย่างไรครับ แต่คิดว่าคงจะสื่อให้พอเห็นภาพกันได้บ้าง

และที่สำคัญ ผมไม่ปฎิเสธขั้นตอนใดๆที่มีในพระพุทธศาสนา เพราะรู้ว่าล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แม้จะเป็นสมมุติบัญญัติ เป็นพุทธบัญญัติ แต่ก็เกื้อกูลเพื่อไปให้ถึงทาง ทางแห่งความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น
โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 11:19:49

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 26 สิงหาคม 2543 08:14:08
สาธุครับ คุณพัลวัน
ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าพระพุทธศาสนาเป็นอะไรอื่น
นอกจากเป็นธรรมชาติเนื้อเดียวกับชีวิตจิตใจ
กระทั่งศาสนพิธีต่างๆ ก็ทำไปอย่างนั้นเอง เพราะเป็นรูปแบบที่จำเป็น
เนื่องจากธรรมแท้ที่พ้นสมมุติบัญญัติ เป็นสิ่งที่รักษาถ่ายทอดกันไม่ได้
ก็ต้องอาศัยสมมุติบัญญัติ เช่นคำพูด พิธีกรรม ฯลฯ เป็นเครื่องทรงร่องรอยไว้

เข้าใจความหมายในคำพูดของ คุณดังตฤณ แล้วครับ
ถ้าคุณกฤษณะเห็นว่าให้ปล่อยความเชื่อทั้งหลายทิ้งจากจิตใจ
ก็จะคล้ายกับที่คุณ listener กล่าวถึงพราหมณ์เล็บยาว
และทำนองเดียวกับที่ปัญญาชนในบ้านเราบางส่วน
พูดกันถึงความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
คำพูดที่ไม่มีมรรควิธีรองรับ ก็คือความเชื่อหรือความเห็นอันหนึ่ง
ที่ควรปล่อยวางทิ้งเสียด้วย เพราะถือไว้แล้วก็เท่ากับนอนประคองก้อนอัตตาไว้เหมือนกัน

แต่ถึงตอนนี้ ผมว่าเราอย่าไปสรุปเลยครับ ว่าคุณกฤษณะท่านเป็นอะไร
เพราะการศึกษาบุคคลสักคนหนึ่งไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ
เรารู้แค่ว่า ท่านพูดอะไร ท่านสอนอย่างไร ก็น่าจะพอสมควรแล้ว
ไม่จำเป็นต้องแขวนป้ายให้คุณกฤษณะ ว่าเป็นเจ้าลัทธิใด เป็นพุทธหรือไม่
เพราะคุณกฤษณะ คงไม่ชอบให้ทำอย่างนั้นหรอกครับ
เนื่องจากมันดูธรรมดาและขาดความงามเกินไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 26 สิงหาคม 2543 08:14:08

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน จันทร์ ที่ 28 สิงหาคม 2543 10:09:45
ขอบคุณทุก ๆ ท่านครับที่ให้ผมเอาเปรียบ
กว่าจะอ่านหนังสือจบทั้งเล่มต้องใช้เวลาตั้งมากมาย
และถ้ายิ่งอ่านแบบวิเคราะห์แล้วก็ยิ่งต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก

ผมได้ทราบภาพของท่านกฤษณะฯ เพียงเลา ๆ เพียงเวลาไม่ถึงชั่วโมง
แต่อย่างว่าครับนิสัยอย่างผม ไม่สามารถเป็นปราชญ์ได้เลย

มีกัลยาณมิตรก็ดีอย่างนี้แหละครับ
ไม่ต้องไปลองผิดลองถูก ว่าทางนี้ใช่หรือไม่
แต่ทางที่เดินในปัจจุบันก็ยังไม่ถึง (ยังไม่รู้จริงอยู่ดีว่าใช่หรือไม่)
เอาความรู้สึกที่มีในใจเป็นตัวตัดสินใจ

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน จันทร์ ที่ 28 สิงหาคม 2543 10:09:45

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com