กลับสู่หน้าหลัก

อุปาทานขันธ์

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 08:16:16

ผมนั่งครุ่นคิดอยู่หลายวัน ว่าควรจะเขียนเรื่อง อุปาทานขันธ์ ดีหรือไม่?

ก็คิดว่า เขียนเสียวันนี้ดีกว่า ในวันที่ครูยังอยู่ช่วยต่อเติมและแก้ไขให้ หากวันหน้าคงไม่กล้าที่จะเขียนอะไรอย่างนี้อีก

อีกประการหนึ่ง เพราะมีความเกี่ยวเนื่องในเชิงเนื้อหา ในข้อความที่ครูได้โพสต์เข้ามา ในกระทู้ ลูกโป่ง ด้วย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ผมจึงตัดสินใจเล่าให้ฟังกันวันนี้เลยครับ

เมื่อเริ่มศึกษาธรรมแรกๆ มีคำหนึ่งที่ผมได้ยินหูบ่อยที่สุดคือคำว่า "ขันธ์ 5" ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า ขันธ์ 5 นี้ มีความสำคัญต่อการปฎิบัติธรรมอย่างยิ่ง

แรกๆนั้นก็ศึกษาความหมายของคำว่า ขันธ์ 5 จากหนังสือ คู่มือมนุษย์ ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

ความหมายของขันธ์ 5 ที่ท่านได้อรรถาธิบายไว้ในนั้น เรียบง่าย และรัดกุม เพียงพออยู่พอสมควรแล้ว

แต่เมื่อพยายามศึกษาเรื่องขันธ์ 5 ให้มากไปอีก (ศึกษาในที่นี้หมายถึงการขวนขวายหาหนังสือมาอ่านครับ) ก็พบว่า เรื่องของ สังขารขันธ์ ช่างวุ่นวายจริง (วุ่นวายสมกับคำว่า สังขาร เลยครับ)

ผมพบว่า มีการพยายามเอาธรรมต่างๆไปลงไว้ใน สังขารขันธ์ กันให้มากมายไปหมด จนเกินที่จะเข้าใจได้ และไม่แน่ใจด้วยครับ ว่าจะจดจำได้หมดหรือเปล่า?

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่ขันธ์อื่นๆ มีการจำแนกไม่มากมายอะไรนัก เช่น รูป หากจะแยกแยะก็อาจจะได้ อาการ 32 บ้าง หรือ มหาภูตรูป 4 บ้าง(ดิน น้ำ ลม ไฟ) ซึ่งก็ยังง่ายต่อการศึกษา แต่หากว่าพอมาถึงสังขารขันธ์ ทำไมมันมากมายนัก แค่จดจำชื่อก็ไม่ไหวแล้ว จะให้ศึกษาในของจริงก็ยิ่งจะยากยิ่งกว่าไปอีก

ผมพึงพอใจในความหมายของ สังขารขันธ์ ที่ท่านอาจารย์ พุทธทาส ท่านได้ให้ไว้มากกว่า

ท่านให้ไว้ง่ายๆ สั้นๆ ที่ผมจดจำมาถึงทุกวันนี้ว่า "สังขารขันธ์ ก็คืออความคิด"

ถัดจากนั้นมาอีกหลายปี ผมได้เริ่มฝึกวิธีดูจิตจากครู ได้ฝึกฝนสติ-สัมปชัญญะ เฝ้าดูอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ผมพบว่า ธรรมทั้งหลายอันแบ่งแยกได้ว่าเป็น รูป-นาม นี้ มีมากมาย มากกว่าจะจำแนกออกเป็นเพียงขันธ์ 5 นี้ เท่านั้น จะบอกว่าที่มีมากมายเหล่านั้น สงเคราะห์ลงได้ในสังขารขันธ์ทั้งสิ้นก็ไม่ได้

เพราะไม่เคยได้ยินมาในพระสูตร ว่าพระพุทธองค์ทรงสาธยายให้ท่านใดฟัง ว่าสังขารขันธ์ มีธรรมมากมายหลายอย่างรวมกันอยู่ในนั้น หากจะมีอยู่ ก็เคยได้ยินว่ามีอยู่ในตำราชั้นหลังเท่านั้น

ผมก็เลยสงสัยว่า พระพุทธองค์ท่านทรงมีพระประสงค์สิ่งใด ในเรื่องของขันธ์ 5

ผมมีข้อสังเกตอันหนึ่ง ที่ติดอยู่ในใจนานแล้ว ก็เมื่อครั้งที่ได้ไปบวชที่วัดใกล้บ้าน ในบทสวดมนต์ทำวรรตเช้า ผมเห็นคำว่า ขันธ์ 5 ถูกเขียนรวมกับอุปาทานเสมอ เขียนเป็นว่า ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา (อาจจะจำการสะกดแบบไทยๆผิดนะครับ) และจะแปลเป็นไทยว่า อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์

ผมเลยพยายามลองสังเกตในที่อื่นๆดูบ้าง ก็พบว่า พระพุทธองค์ไม่เคยเอ่ยถึง ขันธ์ 5 โดดๆเลย แต่จะทรงกล่าวว่า อุปาทานขันธ์ เสมอไป

ผมจึงว่ามีอะไรๆซ่อนนัยอยู่ในนี้แน่นอน...

ตามปกติผมนิยมพิจารณากายอยู่บ่อยๆ เพราะเห็นได้ง่าย และทำให้ใจสงบเป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อสงบแล้วก็จึงไปพิจารณาที่เวทนาบ้าง กิเลสที่เกาะกุมใจบ้าง แล้วแต่โอกาส

มีวันหนึ่งขณะที่ผมพิจารณากายอยู่นั้น ผมเห็นว่ากายนี้เป็นเหมือนก้อนธาตุอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผมลองส่งใจไปสำรวจอย่างละเอียดก็พบว่า กายนี้ไม่รู้สุข ไม่รู้ทุกข์ อีกด้วย พอหันกลับมาที่ใจตนเองก็ถึงบางอ้อ ว่าที่แท้สุขหรือทุกข์นั้นเป็นที่ตัวใจต่างหาก

พิจารณาไปถึงขนาดว่า เมื่อมีมีดมาแทงกายให้ทะลุ เลือดก็ไหล แต่กายก็ไม่ทุกข์ แม้เลือดจะไหลแต่กายก็ไม่ทุกข์ ที่ทุกข์นั้นคือใจต่างหาก ก็ลองเราตายลงไป กายวางอยู่ที่พื้น มีคนหนึ่งมามีมาแทง กายมันจะสะดุ้งสะเทือนหรือเปล่า? ก็เปล่า!

ความรู้ตรงนี้ได้ทำให้ผมย้อนกลับมาสอบทาน ว่าทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสว่า อุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ แต่เราก็เห็นว่ากายมันไม่ทุกข์นี่นา และทำไมพระพุทธองค์ไม่ทรงตรัสเลยว่า ขันธ์นี้เป็นตัวทุกข์? แต่ทำไมจึงต้องมีอุปาทานมาอยู่ข้างหน้าขันธ์ด้วยเล่า?

ในขณะที่ขับรถในตอนเช้าวันหนึ่ง ก็มีความรู้ขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ว่ามีอยู่ 5 อย่าง แท้จริงแล้วขันธ์นั้นมีมากกว่า 5 อย่าง มากมายไปหมด แต่มี 5 อย่างนี้ล่ะที่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน

เมื่อมีอุปาทานลงในขันธ์ใด ขันธ์นั้นก็เป็นตัวทุกข์

ผมเอาเรื่องนี้มาปรึกษาครู ว่าที่แท้ขันธ์ 5 นี้ ท่านจำแนกเอาตามที่อุปาทานไปตั้งอยู่เท่านั้น ครูเลยช่วยอนุเคราะห์ให้อีกหน่อยว่า


10/7/43  15:08  สันตินันท์
        ขันธ์มันจะมีความหมายอะไรครับ มันก็ของธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น ท่านสอนให้เรารู้ทุกข์ ไม่ใช่รู้ขันธ์ เพราะขันธ์ไม่ใช่ทุกข์ แต่อุปาทานขันธ์ต่างหากที่เป็นทุกข์

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 08:16:16

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 08:20:52
> เมื่อมีอุปาทานลงในขันธ์ใด ขันธ์นั้นก็เป็นตัวทุกข์

สัจจะแท้
โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 08:20:52

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ โยคาวจร วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 08:39:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 09:04:33
เมื่อสมัยผมเริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เกิดความสงสัยว่า สังขาร คืออะไร
เพราะอะไรๆรอบๆตัวเราก็โดนเรียกว่าสังขาร แล้วจริงๆสังขารคืออะไร
เกิดความสงสัยขึ้นมา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากสมัยนั้นผมยังไม่มีครู
ก็เลยได้แต่พักความสงสัยนั้นเอาไว้ในใจ จนวันหนึ่งทำสมาธินี้อยู่
แล้วบังเอิญจังหวะเหมาะความคิดนี้ก็ผุดขึ้นมา ถามว่า สังขารคืออะไร
ก็มีคำตอบออกมาว่า มันก็เหมือนกระสอบนั่นแหละ ใส่ข้าว ก็เรียกว่ากระสอบข้าว
ใส่ถั่วก็เรียกว่ากระสอบถั่ว ใส่ปุ๋ยก็เรียกกระสอบปุ๋ย
ก็เลยเข้าใจและไม่สงสัยกับคำว่าสังขารอีก เพราะทุกสิ่งที่เราไปเรียกได้ ใส่บัญญัติได้
มันเป็นสังขารทั้งสิ้น จนหมดสงสัยคำนี้ไปเลย เพราะเข้าใจว่าทุกสิ่งมันเป็นสังขาร
พอเข้าใจได้อย่างนั้น ความคิดสงสัยในพระธรรมคำสอน ก็ลดน้อยลงไป
หากมีอะไรที่ไม่รู้ นั่นก็เป็นเพราะเราไม่รู้ ไม่ไช่คำสอนของพระพุทธองค์น่าสงสัย
ทุกวันนี้เลยไม่มีความคิดสงสัยในคำสอนพระพุทธองค์เลย
จนวันนี้มีครู ก็เลยได้ต่อทางมาอีกหน่อย คือ รู้ก็คือรู้ ก็แค่นั้น ไม่ต้องไปวุ่นวายใส่
บัญญัติ เพราะทั้งหมดรอบตัวเราหรือแม้กระทั่งตัวเรา มันก็คือสังขารเช่นกัน
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 09:04:33

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 09:27:28
ผมเข้าใจอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะถูกหรือเปล่านะครับ

คำว่าทุกข์แปลว่าทนอยู่ได้ยาก ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ก็น่าจะถูกแล้ว
เพราะดูตามรูปศัพท์ คำว่าอุปทาน(ความยึดมั่น)ขยายคำว่าขันธ์
รวมเป็นขันธ์(อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น) คือตัวทุกข์ (ทนอยู่ได้ยาก)

ทุกขเวทนา นั้นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ทุกขเวทนาเป็นเวทนา มีลักษณะเป็นทุกข์(ทนอยู่ได้ยาก)เหมือนกัน
ทีนี้คนเราเกิดทุกขเวทนาก็เมื่อเรา ไปอุปาทาน(ยึดมั่น)ในขันธ์
ขันธ์มันทนอยู่ได้ยาก มันต้องเปลี่ยนแปลง และก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้
แต่เราอยากให้มันคงอยู่ เราอยากเป็นเจ้าของ เราก็เกิดทุกขเวทนา

ตัณหา(ความทะยานเข้าไปยึด) จึงเป็นเหตุแห่งทุกขเวทนานั่นเอง
โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 09:27:28

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 09:46:02
เรื่องของขันธ์ และอุปาทานขันธ์ มีแง่มุมซับซ้อนมากมายในเชิงปฏิบัติครับ
ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้สักที แต่ยังไม่ว่างพอที่จะเขียนได้
เมื่อคุณพัลวันตั้งกระทู้นี้ก็ดีแล้วครับ ขอแจมบางเรื่องที่นึกได้ตรงนี้เสียเลย

ผู้ศึกษาพุทธศาสนาจำนวนมากจะคิดว่า
สัตว์ประกอบด้วยขันธ์ 5 บ้าง ขันธ์ 4 และ ขันธ์ 1 บ้าง
ที่จริงก็ผิด ตั้งแต่ที่คิดว่ามีสัตว์แล้ว
อันที่จริงขันธ์ก็คือธรรมชาติอันหนึ่ง
ที่เมื่อประกอบกันเข้า แล้วมีวิญญาณและสัญญาครอง
จึงถูกหมายรู้เอาเข้ามาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

เดิมขันธ์ก็เป็นเพียงธรรมชาติอันหนึ่ง
เช่นรูปขันธ์ ก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง หรือหินก้อนหนึ่ง
ต้นไม้นั้น มันจะอยู่ หรือมันจะตาย มันไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร
รูปขันธ์ก็เช่นเดียวกัน เพราะมันก็เพียงแต่ประกอบกันขึ้นด้วยธาตุ
ไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ โดยตัวเองแม้แต่น้อย

คราวนี้เมื่อรูปขันธ์นี้มีวิญญาณและสัญญาครองอยู่
ความยึดถือว่ารูปเป็นของตนก็เกิดขึ้น
คือรูปกายนี้เป็นโพรง เป็นคูหาให้จิตอาศัยอยู่
จิตก็ยึดเอาว่านี่เป็นกายของเรา

แม้เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นธรรมชาติแต่ละอย่างๆ
มีบทบาทหน้าที่เฉพาะของมันเอง
เมื่อจิตไปรู้สิ่งใดเข้า ก็ยึดเอาว่าเป็นของเราๆ ไปเสียทุกอย่าง
พอสิ่งนั้นแปรปรวน ไม่สมปรารถนา ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนขึ้นมา
ไม่เหมือนร่างกายหรือสมบัติของคนอื่นที่เราไม่ได้ผูกพันเกี่ยวข้องด้วย
แม้จะวิบัติแปรปรวน เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์ด้วย
เพราะจิตไม่ได้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
ขันธ์ที่จิตเข้าไปยึดมั่นนั่นแหละ
จึงจะเป็นตัวทุกข์ครอบงำกระทบกระเทือนจิตใจตนเองได้

พระศาสดาจึงทรงสอนให้เรามองตามความเป็นจริง
ให้เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เพื่อถอดถอนความยึดมั่นในขันธ์ว่าเป็นของตนเสีย
สิ่งที่ท่านต้องการให้เราเรียนรู้ คือการสลัดคืนอุปาทานขันธ์เสีย
โดยเห็นขันธ์ 5 เป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่งๆ เท่านั้น
ไม่ใช่ให้รู้ขันธ์ 5 เพื่อความฉลาดรอบรู้อะไร
เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งสอนให้เรารู้อะไรเล่นๆ หรือรู้เอาไว้อวดกัน
แต่สอนเพื่อให้ทำลายอุปาทานขันธ์เสีย จะได้ไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป
เมื่อขันธ์ประสบกับความวิบัติพลัดพรากทั้งปวง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 09:46:02

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:09:25
เพิ่มเติมเรื่องทุกข์สักหน่อยครับ
คำว่าทุกข์ มีใช้ในธรรมหลายเรื่อง จึงมีความหมายต่างๆ กันไปด้วย
แต่รวมความแล้ว ก็คือความทนอยู่ไม่ได้ และความเสียดแทงต่างๆ

ทุกข์อันแรกที่เราน่าจะทำความเข้าใจก็คือ ทุกข์ในสามัญลักษณ์หรือไตรลักษณ์
ที่ท่านสอนว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์(ทนอยู่ไม่ได้)
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา"
คำว่าสิ่งใดๆ นี้แหละ ได้แก่สังขารธรรม อันเป็นธรรมชาติฝ่ายปรุงแต่ง
(คู่กับสังขารธรรมคือ วิสังขารธรรม หรือธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คือนิพพาน)
ดังนั้น ตัวขันธ์ 5 เองซึ่งเป็นสังขารธรรม
(หรือธรรมฝ่ายปรุงแต่ง หรือธรรมที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิด)
จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตา
ที่คุณมะขามป้อม กล่าวว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์นั้น จึงเป็นโดยนัยที่กล่าวนี้

ทุกข์อันที่ 2 ที่เราน่าจะรู้จักก็คือทุกขเวทนา หรือความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกายทางใจ
มันเกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะก็ไม่เกิดขึ้น
ท่านจึงสอนว่า "ผัสสะเป็นปัจจัยของเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยของตัณหา"

ทุกข์อันที่ 3 คือทุกขอริยสัจจ์ หรือทุกขสัจจ์
เป็นทุกข์ที่เกิดจากตัณหาอุปาทาน ซึ่งรวบย่อลงมาว่า
ได้แก่อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั่นเอง

เวลาเราพูดถึงศัพท์เทคนิคทางพระพุทธศาสนา
บางคราวก็ทำให้ยุ่งยากแก่ผู้แรกศึกษาเหมือนกัน
อย่างทุกข์ ก็มีหลายนัยตามที่กล่าวแล้ว
หรือสังขาร ก็มีหลายนัย
คือ สังขารที่คู่กับวิสังขาร ได้แก่สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งรูปและนาม
กับ สังขารขันธ์ ได้แก่ความคิดนึกปรุงแต่ง ซึ่งเป็นนามธรรมล้วนๆ

เพราะมันยุ่งยากสำหรับการสื่อความเข้าใจอย่างนี้แหละครับ
ทำให้ผมเห็นว่า นักปฏิบัติก็ไม่ควรทิ้งปริยัติเสียเลย
มิฉะนั้นจะคุยกันไม่รู้เรื่อง
อันนี้ก็เป็นปัญหาจริงอย่างที่นักปริยัติเขาว่านะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:09:25

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:14:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:20:51
ขอบคุณครับพี่
แสดงว่าบรรทัดสุดท้ายผมเขียนผิด ต้องเป็น
ตัณหา(ความทะยานเข้าไปยึด) จึงเป็นเหตุแห่งทุกขอริยสัจจ์ นั่นเอง

แต่ว่ารบกวนพี่อธิบาย ทุกขอริยสัจจ์ ว่ามันคืออะไรกันแน่ครับ
เป็นความทุกข์เหมือนทุกขเวทนาหรือเปล่าครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:20:51

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:24:36
ขออนุญาตถามนะครับ อุปาทานขันธ์ ที่เป็นตัวทุกข์ นั้น คือ ขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งของอุปาทาน เป็นทุกข์ หรือ อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์  ครับ

ผมคิดว่า อุปทาน นั้นคือตัวทุกข์ (ไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์) โดยเทียบจาก ตัณหา เป็น ทุกข์สมุทัย ตามแนวอริยสัจ และ ตัณหาเป็นปัจจัย ต่อ อุปาทาน ตามแนว ปฏิจสมุปบาท ก็จะลงตัวกันพอดี

โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:24:36

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ naruntorn วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 10:36:13
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 11:25:43
เรียน คุณ listener

เรื่อง อุปาทานนี้จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือว่าเป็นตัวทุกข์ อันนี้ไม่เคยพิจารณาครับ หากแต่เห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ ซึ่งก็ยังเห็นไม่จริง อาศัยจำๆมาจากพระสูตรน่ะครับ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน ธรรมจักกัปปวัตนสูตรน่ะครับ

หากเห็นจริงว่า การเกิดเป็นทุกข์ ผมคงจะพ้นความเป็นปุถุชนไปแล้วล่ะครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 11:25:43

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ โจโจ้ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 11:36:45
สาธุ - ขอบคุณมากครับ
พอดีกำลังป่วย ไข้ขึ้นสูง ไอ จาม ครั่นเนื้อตัวสารพัด
สะกิดให้เห็นถึงอุปาทานได้ตรงเวลาเลยครับ...
อุปาทานขันธ์....
โดยคุณ โจโจ้ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 11:36:45

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 11:49:09
เรื่องอุปาทานขันธ์ และทุกข์อริยสัจจ์นั้น
ไม่มีใครแสดงได้ดีเท่ากับพระศาสดาหรอกครับ
เราเป็นลูกหลานของท่าน ก็มาฟังคำของพ่อแม่เราโดยตรงดีกว่า
อัญเชิญมาจากมหาสติปัฏฐานสูตร เลยครับ

[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นดังนี้ว่า
อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง
ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ฯ
จบขันธบรรพ

หมายเหตุ ตรงนี้จะเห็นชัดเลยว่า
ท่านมองขันธ์ที่ให้ใช้เจริญสติปัฏฐาน ว่าคืออุปาทานขันธ์
ถือเป็นสภาพธรรมอันหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ถ้าเห็นจริงว่า ขันธ์เป็นสภาพธรรมอันหนึ่งๆ
ตัณหาและทิฏฐิก็ไม่ก่อตัวขึ้นในจิตใจ
ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นอีก
ขันธ์จะเป็นเพียงธรรมชาติ ไม่ใช่ที่ตั้งแห่งความยึดมั่นต่อไป


คราวนี้มาเรื่องทุกขอริยสัจจ์บ้างนะครับ
จากสติปัฏฐานสูตรเช่นกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน
แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์
แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์
แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน
ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ

ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก
หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์
ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา ฯ

ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน
ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ
ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้
ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ

ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ
ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน
ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว
อันนี้เรียกว่าโสกะ ฯ

ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน
กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ
ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว
อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ

ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย
ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส
อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ

ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต
ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส
อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ

ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น
ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว
อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ

ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน
ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน
ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก
ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น
อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน
ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน
ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล
ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ
คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์
หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น
อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน
ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา
อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา
ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา
แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า
โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา
ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย
ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา
แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า
โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา
ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา
แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า
โอหนอ ขอเราไม่พึงมความตายเป็นธรรมดา
ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา
แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์
ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส
เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า
โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา
ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย
ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา
แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน
อุปาทานขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ

*************************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 11:49:09

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 12:39:32
_/\_ สาธุครับ
เข้าใจแล้วครับผมแปลคำว่า อุปาทานขันธ์ผิดไปควรแปลว่า
ขันธ์ที่ประกอบด้วยความยึดมั่นเป็นทุกข์ คือนำความทุกข์มาสู่
ทุกข์ตัวนี้น่าจะเป็นอันเดียวกับทุกขเวทนาใช่ไหมครับ
ส่วนขันธ์ 5 ธรรมดานั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นทุกข์ทนยาก
แต่จะไม่นำความทุกข์มาสู่ถ้าเราไม่ได้ยึดมั่นเอาไว้

ประเด็นที่ทำให้เข้าใจผิดก็คือ
ผมไปคิดว่า ขันธ์ 5 จะเป็นทุกข์(เวทนา)ได้อย่างไรในเมื่อมันก็เป็นเพียงขันธ์
ก็เลยตีความว่าทุกข์หมายถึงทุกทนยาก
ซึ่งพอจะมีความหมายอยู่บ้าง

ที่แท้มันก็มีความแตกต่างระหว่างขันธ์ 5 กับอุปาทานขันธ์ 5
เข้าใจประเด็นแล้วครับ ขอบคุณคุณพัลวันและพี่ปราโมทย์
แก้ความเห็นผิดนี้ให้ครับ _/\_

โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 12:39:32

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 13:00:29
สาธุ แจ่มแจ้งครับ ขอบคุณครับ ครู ขอบคุณคุณพัลวัน คุณมะขามป้อมด้วยครับ
โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 13:00:29

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 13:17:34
สาธุครับ คุณมะขามป้อม

ที่จริงผมก็ post บกพร่องและรวบรัดไปนิดนึงครับ ที่จริงตรงที่อธิบายว่า "ก็ลองเราตายลงไป กายวางอยู่ที่พื้น มีคนหนึ่งมามีมาแทง กายมันจะสะดุ้งสะเทือนหรือเปล่า? ก็เปล่า!" ผมควรจะเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า "มันก็เพียงแต่ดับทำลาย แต่หาได้รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนไม่ มีแต่ใจนั้นต่างหากที่แบกความรู้สึกทุกข์เอาไว้" แต่ผมก็ post ไปในตอนแรกเท่าที่ใจเขาอุทานไว้เท่านั้นครับ ต้องขออภัยที่มิได้ขัดเกลาให้ดีครับ

และมีอีกข้อความหนึ่งซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะเพิ่มเติมไปก็คือ "ผมมีความเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ 5 อย่างจำแนกแจกแจง ก็เพียงเพื่อทำลายหรือถอดถอนอุปาทานนั้นเท่านั้น ว่าสิ่งเหล่านั้นมิใช่ตน หาความเป็นตนไม่ได้ หาได้เพื่อแสดงภูมิความรู้ว่ารู้ขันธ์ทั้ง 5 ได้ละเอียดปานใด ดังนั้นจึงไม่แปลกหากจะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงจำแนกแจกแจง รูป ไว้ว่าเป็นเพียง มหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามมติของคนในสมัยนั้น มิได้แจกแจงเป็น เซล เป็นอะตอม เป็นอนุภาคอย่างวิทยาศาสตร์สมัยนี้"

ต้องขออภัยด้วยครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 13:17:34

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 13:41:38
สาธุครับคุณมะขามป้อม
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 13:41:38

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 14:27:02
ขอเพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ

ทุกขอริยสัจนั้น เกิดมาแต่ตัณหาอุปาทาน
คือเมื่อจิตไปหลงยึดขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวกู ของกูแล้ว
ก็จะเกิดปัญหาว่า กูแก่ กูเจ็บไข้ กูตาย
กูประสบกับสิ่งที่ไม่รัก กูพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
กูไม่สมปรารถนา กูเศร้าโศก กูคร่ำครวญร่ำไรรำพัน
กูไม่สบายกาย กูไม่สบายใจ กูคับแค้นใจ ฯลฯ

อันที่จริงนั้น กูไม่มี มีแต่ขันธ์ 5
แต่เพราะความไม่รู้ จิตจึงไปยึดเอาขันธ์ 5 มาเป็นตัวกูของกู
แล้วบรรดาความทุกข์ทั้งหลาย
ก็เกิดตามมาเป็นทิวแถวเพราะความแปรปรวนของขันธ์ 5
ท่านจึงสรุปรวบยอดว่า
อุปาทานขันธ์ หรือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น นั่นแหละคือตัวทุกข์

คราวนี้พระอรหันต์ท่านฉลาดแล้ว
ไม่หลงยึดขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวกูของกูอีกแล้ว
ท่านก็พ้นจากทุกข์อริยสัจได้เด็ดขาด
เพราะท่านไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพราก ฯลฯ
เนื่องจากไม่มี ท่าน เสียแล้ว มีแต่ธรรมชาติธรรมดาล้วนๆ

แต่พระอรหันต์ยังรู้ ทุกขเวทนาทางกาย
เพราะยังมีผัสสะทางกายอยู่เหมือนปุถุชนนั่นเอง
เช่นท่านยังถูกฆ่า ถูกตี ยังอาพาธเจ็บปวดเพราะโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุได้
เพราะยังต้องอาศัยรูปขันธ์อันนี้อยู่ เนื่องจากยังไม่สิ้นวิบาก
แต่ท่านไม่ต้องเสวยทุกขเวทนาทางใจแม้แต่น้อย
ไม่เหมือนพวกเรา ที่เจ็บกายแล้ว ก็พลอยเจ็บใจไปด้วย

ดังนั้น แม้จะดับตัณหาสนิทแล้ว ดับทุกขอริยสัจ สนิทแล้ว
ก็ดับได้เฉพาะ ทุกขเวทนาทางใจ
แต่ทุกขเวทนาทางกาย ก็ยังต้องรับไปตามสภาพนั่นเอง
จนกว่าจะถูกวันดับขันธปรินิพพาน
คือวันที่ขันธ์ดับไปตามเหตุปัจจัย
ก็จะหมดเครื่องเชื่อมต่อเข้าหาทุกข์เวทนาทางกายอีกต่อไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 14:27:02

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 14:40:28
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ tana วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 19:00:21
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 21:33:42
พอพี่ตุ้มทำกิจของพระไปจนไม่ต้องทำอีก
อรรถธรรมที่ขยายคงลึกซึ้งแจ่มแจ้งถึงใจยิ่งกว่านี้ไม่รู้เท่าไหร่
นึกแล้วปลื้มแท้
โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543 21:33:42

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 06:59:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 07:54:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 14:12:24
ผมเข้าใจว่า
ขันธ์ไม่ได้เป็นทุกข์
ขันธ์เป็นเพียงสิ่งๆหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัย
แต่เมื่อใดที่จิตไปหลงยึดว่าเป็นตน-ของตน เข้า
จิตที่หลงไปยึดขันธ์ก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา

จิตที่ไปหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นทุกข์
จิตที่ไปหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นสมุทัย
จิตที่พ้นจากการหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นนิโรธ
จิตที่กำลังพัฒนา เพื่อให้พ้นจากการหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นมรรค
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 14:12:24

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 14:26:53
ขอภัยครับ เขียนผิดไป ขอแก้ไขข้อความใหม่ตามนี้ครับ

จิตที่ไปหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นทุกข์
ความไม่รู้จักขันธ์ตามความเป็นจริง จนทำให้จิตไปหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน  จึงเป็นสมุทัย
จิตที่พ้นจากการหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นนิโรธ
จิตที่กำลังพัฒนา เพื่อให้พ้นจากการหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นมรรค
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 14:26:53

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 14:27:17
ขออภัยครับ เขียนผิดไป ขอแก้ไขข้อความใหม่ตามนี้ครับ

จิตที่ไปหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นทุกข์
ความไม่รู้จักขันธ์ตามความเป็นจริง จนทำให้จิตไปหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน  จึงเป็นสมุทัย
จิตที่พ้นจากการหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นนิโรธ
จิตที่กำลังพัฒนา เพื่อให้พ้นจากการหลงยึดขันธ์ว่าเป็นตน-ของตน จึงเป็นมรรค
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 14:27:17

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 16:27:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:01:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:32:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com