กลับสู่หน้าหลัก

อริยสัจจ์ - ในทัศนะของผม

โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 15:42:15

เห็นคุณมะขามป้อม ปรารภว่าขอฟังธรรมจากผมบ้าง
พอดีเมื่อไม่กี่วันมานี้  ได้เขียนไว้เรื่องหนึ่ง
เพื่อแลกเปลี่ยนกับญาติมิตร
แต่ยังไม่ได้นำมาแลกเปลี่ยนในวิมุตติ
จึงขอถือโอกาสนี้ นำมาแลกเปลี่ยน ณ ที่นี้
และขอความกรุณาจากครู และทุกๆท่าน 
ช่วยแนะนำในสิ่งที่ยังไม่ถูกต้องด้วยครับ
..................................................................

มีญาติมิตรที่ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง ได้ขอให้ผมช่วยเขียนธรรมะ
เสนอต่อผู้สนใจการปฏิบัติธรรม โดยให้ผมช่วยอธิบายในเรื่องของ
อริยสัจจ์ ทั้งที่จริงแล้ว  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราชาวพุทธ
เคยได้ยินได้ฟังกันมานักต่อนักแล้ว หากแต่ว่าญาติมิตรท่านนั้น
ได้มองเห็นถึงความสำคัญว่า
การปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์นั้น
พวกเราจะต้องมีความเห็นที่ถูกต่อเรื่องอริยสัจจ์
การปฏิบัติจึงจะไม่เป็นไปอย่างฟุ้งเฟ้อ
และปรากฏผลเป็นความคลายออก หลุดออก
หรือพ้นไปเสียจากกองทุกข์ทั้งปวง

ผมเองก็เคยละเลยที่จะทำความเข้าใจต่อ
เรื่อง อริยสัจจ์ มาก่อนหน้านี้ จนเมื่อไม่นานนี้เอง
จึงพอจะเข้าใจในหลักของอริยสัจจ์ได้บ้าง
การละเลยที่จะทำความเข้าใจต่อเรื่อง อริยสัจจ์ นี้เอง
ได้กลายเป็นเหตุให้ผมต้องปฏิบัตธรรมด้วยความยากลำบาก
และหลายช่วงถึงกับปฏิบัติออกนอก กรอบของพุทธศาสนา เลยทีเดียว

บ่อยครั้งที่พวกเรา มักจะได้ยินได้ฟังว่า
การศึกษาพุทธศาสนานั้นแบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ
ปริยัติ (ปริยัติธรรม) ปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรม) และปฏิเวธ (ปฏิเวธธรรม)
ต่อจากนั้นก็มีการอธิบายขยายออกไปในแต่ละส่วน
ว่าเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร 
ทีนี้ก็เลยเกิดเป็นปัญหาสำหรับพวกเรา
ที่มีพื้นฐานของจิตใจไม่เข้มแข็งพอ 
ทำให้ตีความหรือเข้าใจความหมายผิดไป
ยิ่งถ้านำไปปฏิบัติด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็นผลเสียอย่างยิ่ง
เพราะลำพังของความเข้าใจที่ผิด
ก็ทำให้จิตใจจมแช่อยู่ในทุกข์มากแล้ว
ยิ่งเข้าใจผิดแล้วปฏิบัติไปตามที่เข้าใจผิด
ก็ยิ่งทำให้จิตใจจมแช่อยู่ในทุกข์มากยิ่งขึ้นไปอีก
จนยากที่จะหลุดพ้นออกไปได้
(เหมือนติดคุกแล้วยังถูกใส่โซ่ตรวนอีก)

แท้ที่จริงแล้ว ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นั้น
มีที่มาจากพระไตรปิฎก ในส่วนที่กล่าวถึง
การตรัสสอนเหล่าสาวก ภายหลังจากการตรัสรู้ใหม่ๆ
โดยพระพุทธองค์ทรงประกาศคำสอนว่าด้วย
อริยสัจจ์ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
และได้ทรงแจกแจงในรายละเอียดไปอีกว่า
ทุกข์เป็นอย่างไร 
สมุทัยคืออะไร 
นิโรธเป็นอย่างไร 
มรรคคืออะไร
จนเกิดมีอรหันตสาวกเกิดขึ้นได้มากมายในเวลาไม่นานเลย

คำสอนในเรื่องอริยสัจจ์นี้  เมื่อเข้าใจแล้วจะเห็นว่า
ไม่ได้มีรายละเอียดหรือเรื่องราวมากมายแต่ประการใดเลย
แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า
พวกเราส่วนมากพยายามที่จะเรียนรู้อะไรต่อมิอะไร
มากมายเสียจนเกินจำเป็น  แต่ก็ยังไม่อาจนำมาใช้
เพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากทุกข์ได้เลย 
แถมยังกลายเป็นความอวดดี ถือตน มากขึ้นไปอีกว่า
ฉันนี่แหละคือผู้รู้ธรรมะมากมาย
ใครจะถามอะไรก็ตอบได้หมด ไม่ว่าจะเป็นปิฎกใด
คำภีร์ใด อภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทใด
ก็ตอบได้อย่างไม่ติดขัดเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากปุถุชนอย่างผม หรือคนทั่วไปเลย 
เพราะยังต้องเป็นทุกข์อยู่แทบจะทุกลมหายใจเข้าออก

ตรงนี้ต้องขอให้พวกเราทำความเข้าใจไว้ว่า 
ความรู้ในทางพุทธศาสนานั้นมีมาก 
แต่เราควรจะรู้เพียงเท่าที่จำเป็น
ที่จะช่วยให้เราปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และพ้นไปจากทุกข์เท่านั้น 
จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลยที่จะต้องมีความรู้ชนิดเหลือกินเหลือใช้ 
จนต้องดิ้นรนบากบั่นให้ตัวเองมีความรู้มากๆ
(แต่ถ้าจิตใจเขารู้ขึ้นมาได้เองก็ไม่เป็นไร)

มีต่อครับ......
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 15:42:15

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 15:47:25
ขอย้ำให้เข้าใจว่า
ความรู้ที่เกินจำเป็น แม้จะมีมากเพียงไรนั้น 
ก็ไม่ช่วยให้จิตใจพ้นทุกข์ได้เลย 
ขอเพียงแค่มีความรู้เท่าที่จำเป็นก็พอแล้ว

ความรู้เท่าที่จำเป็นก็มีเพียง
- รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปริยัติ
- รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปฏิบัติ
- รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปฏิเวธ

รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปริยัติ เป็นอย่างไร
รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปริยัติ ก็คือ
- ทุกข์ เป็นอย่างไร
- สมุทัย อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นคืออะไร
- นิโรธ ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นเป็นอย่างไร
- มรรค อันเป็นเหตุให้ทุกข์สิ้นไปนั้น คืออะไร

รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปฏิบัติ เป็นอย่างไร
รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปฏิบัติ ก็คือ
- ทุกข์ ให้กำหนดรู้
- สมุทัย ให้ละ
- นิโรธ ควรทำให้แจ้ง
- มรรค ควรเจริญให้มาก

รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปฏิเวธ เป็นอย่างไร
รู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านปฏิเวธ ก็คือ
- ทุกข์ ได้กำหนดแล้ว
- สมุทัย ได้ละแล้ว
- นิโรธ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
- มรรค ได้เจริญให้มากแล้ว

การที่จะรู้อริยสัจจ์ 4 ในด้านต่างๆนั้น 
แท้ที่จริงเราทำให้รู้เพียง 2 ด้านเท่านั้น คือในด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติ 
ส่วนด้านปฏิเวธนั้นจะเกิดตามมาเอง 
เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจกระจ่างขึ้น ผมจะขออธิบายถึง
การรู้ในด้านปริยัติ และปฏิบัตินั้นทำได้อย่างไร

การรู้ในด้านปริยัติ ทำได้ง่ายๆโดยการใช้วิธี
การเรียนเหมือนกับที่พวกเราเรียนหนังสือทางโลก
จะด้วยการฟัง การอ่าน การคิด การถาม การเขียน ก็ใช้ได้ทั้งนั้น 
แต่ต้องให้ผลคือ รู้ว่า


- ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ 
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ 
การไม่ได้ตามที่อยากได้เป็นทุกข์ ฯลฯ (ทุกข์)


- จิตที่มีอวิชชาแล้วหลงไปจมแช่ในอารมณ์ต่างๆ
ด้วยความอยากได้ อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น
คือเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)

- จิตที่พ้นจากอวิชชา เป็นความสิ้นไปแห่งทุกข์ (นิโรธ)

- การมีความเห็นชอบ  ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการชอบ
เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ
เป็นเหตุให้ทุกข์สิ้นไป (มรรค)

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า
ความรู้ในด้านปริยัตินั้น รู้เท่าที่ผมกล่าวไว้ก็เพียงพอแล้ว
อย่าได้หาความรู้ให้มากไปกว่านี้เลยครับ
เพราะหลายๆท่านนั้น ยิ่งรู้มากก็ยิ่งจมแช่อยู่ในความรู้
ไม่อาจเอาตัวรอดจากทุกข์ได้แม้แต่เท่าปลายขนแมวครับ
ผมเองก็เป็นอยู่หลายปี  แต่ตอนนี้ไม่เอาแล้วครับ
เพราะเข้าใจแล้วว่า ความรู้ก็คือความรู้ ไม่อาจใช้ดับทุกข์ได้

การรู้ในด้านปฏิบัติ
ทำได้โดย การสร้างความรู้ตัว แล้วใช้ความรู้ตัวนั้น
ในการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดรู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
และเจริญมรรคทั้ง 8

ขอเน้นย้ำในเรื่องการปฏิบัติว่า
- จะปฏิบัติได้นั้น ต้องมีความรู้ตัวให้ได้เสียก่อน
จึงจะกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดรู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
และเจริญมรรค ได้อย่างถูกต้อง (จะมีผลทำให้ทุกข์ลดน้อยลง)
- อย่าได้พยายามหรืออยากที่จะดับทุกข์เป็นอันขาด 
เพราะจะผิดไปจากหลักอริยสัจจ์ทันที
เนื่องจากพระพุทธองค์สอนให้ กำหนดรู้ทุกข์
ให้ละความอยากอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ 
การพยายามหรืออยากที่จะดับทุกข์นั้น
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่เหตุที่จะดับทุกข์ได้เลย

ส่วนการรู้ในด้านปฏิบัติ ผมเองก็ยังรู้ไม่ได้
เพียงแค่รู้ได้ว่า  หากยึดหลักการปฏิบัติด้วยความรู้ตัว
แล้วให้รู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกตัว
(รู้สิ่งปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง) ได้แล้ว
ความทุกข์ก็จะเบาบางลง กิเลสตัณหาหลายๆอย่าง
ที่เกิดขึ้นในจิตก็จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ยากขึ้น
บางอย่างก็ไม่อาจทำให้เป็นทุกข์ได้
(กิเลสตัณหาก็ยังมีอยู่ แต่จิตใจไม่ถูกครอบงำได้ง่ายๆ
ด้วยกิเลสตัณหานั้น)
...............................................
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 15:47:25

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 16:05:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 16:22:10
สาธุ สาธุ สาธุ

คุณสุวัฒน์เปรียบเหมือนดาบที่อยู่ในฝัก นานได้ชักออกมาที่ก็ได้เห็นความเฉียบคมที่ปกปิดไว้จริงๆครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 16:22:10

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:13:52
สาธุ สาธุ สาธุ ครับ
ผมเห็นรังสีดาบในฝักของคุณสุรวัฒน์มานานแล้ว ตั้งแต่พบกันที่จัสโก้ รัตนาธิเบศร์
อ่านกระทู้นี้แล้ว สมใจและชื่นใจจริงๆ
โดยเฉพาะในแง่มุมการจำแนกปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ลงในสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ของอริยสัจ 4
นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือได้เคยพิจารณามาก่อน
จัดเป็นการพิจารณาที่แยบคาย ลงตัว และมีประโยชน์อย่างยิ่งครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:13:52

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ tana วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:25:39
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:34:35
_/\_ สาธุครับ
โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 30 สิงหาคม 2543 19:34:35

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 00:11:48
ล้ำเลิศจริงๆครับคุณสุรวัฒน์
โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 00:11:48

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 09:06:34
_/\_ สาธุครับ
มีมุมมองที่น่าฟังอย่างนี้ เขียนมาอีกนะครับ
เขียนกันอยู่ 2-3 คน มันไม่ค่อยครึกครื้น
เขียนกันมาเยอะๆ ก็จะได้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิน
ความเพียรในการปฏิบัติครับ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 09:06:34

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 09:52:32
ที่จริงแล้ว ผมไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้อะไรมากมายเลยครับ
อ่านธรรมที่ใช้ศัพท์ยากๆก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
ส่วนการพิจาณาเรื่องอริยสัจจ์ เข้ากันกับ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นั้น
เป็นเพียงแวบเดียวของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อได้อ่านพระไตรปิฎก เล่ม 4
เรื่อง ปฐมเทศนา

[๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว
แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว.

เมื่อเห็นความเข้ากันได้แล้ว ก็ได้สนทนากับญาติมิตรท่านหนึ่ง
ญาติมิตรท่านนั้นเมื่อได้ฟังก็เกิดความเบาสบายของจิต จึงขอให้ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องขอยกคำชมและคุณความดีทั้งหมด
ให้กับหลวงปู่วัย จตฺตาลโย และครูปราโมทย์ สันตยากร ครับ
เพราะหากไม่ได้หลวงปู่ กับ ครู เมตตาอบรมสั่งสอนแล้ว
ผมก็ไม่อาจเขียนเรื่องนี้ได้เลย
ส่วนคำติเตียนและสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ผมขอรับไว้เองครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 09:52:32

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 11:03:58
ธรรมเมื่อจะเกิดกับจิต ย่อมเกิดในแวบเดียวครับ
แต่ธรรมที่เกิดจากสมอง จะต้องใช้เวลากลั่น กรอง เรียบเรียง ปรุงแต่ง ฯลฯ
ความเรียบง่าย โปร่งเบา กับความรกรุงรังจึงผิดกันมาก

ขออนุโมทนากับการปฏิบัติของคุณสุรวัฒน์ครับ
ขอให้เจริญสติสัมปชัญญะอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน
ให้มากเสมอต้นเสมอปลายต่อไปนะครับ
ส่วนการแสดงธรรมเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นก็ควรทำตามโอกาสอันควร
อย่าให้เป็นภาระกับจิตใจนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 11:03:58

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 15:51:35
น้อมรับคำสอนของครูไปปฏิบัติครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 15:51:35

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ วิทวัส วัน เสาร์ ที่ 2 กันยายน 2543 12:23:27
สาธุ สาธุ สาธุ

เป็นการแสดงธรรมที่ไพเราะมากครับ เพราะจริงๆ
โดยคุณ วิทวัส วัน เสาร์ ที่ 2 กันยายน 2543 12:23:27

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com