กลับสู่หน้าหลัก

จดหมายจากเอี้ยง

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 10:10:58

วันนี้ได้รับเมล์ฉบับหนึ่งจากป้าเอี้ยงของน้องๆ และหลานๆ
ถามปัญหาเกี่ยวกับการทำความรู้ตัวทั่วพร้อม
ผมเห็นว่าเรื่องที่ถามมีความสำคัญ น่ารู้ น่าศึกษา
จึงขออนุญาตป้าเอี้ยง นำมาเผยแพร่ในวิมุตติไว้เลย
เพราะพวกเราที่สงสัยเรื่องนี้ แล้วไม่ได้ถาม ยังมีอยู่อีกหลายท่าน

> กราบครูค่ะ
> ตั้งใจว่าจะไม่ถามอะไรอีกแล้วนับตั้งแต่ที่ครูประกาศว่าจะไปบวช
> เพราะทราบว่าถ้าถามอะไรไป ครูจะบอกกลับมาเสมอว่าให้ฝึกไป
> แต่วันนี้หนูต้องขอรบกวนครูล่ะค่ะ แค่อยากทราบเรื่องเดียวค่ะครูว่า
> คำว่ารู้ตัวทั่วพร้อมนี่คืออะไรคะ
> ตอนนี้กำลังหัดดูกายในชีวิตประจำวัน แต่ยิ่งทำยิ่งงง 
> เอี้ยงอยากทราบว่า ขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติที่ต้องได้จริงๆ
> คือเราต้องรู้ตัวให้ได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกันใช่ไหมคะ

> เช่นขณะที่เรานั่งกำลังคิดเรื่องงาน  แล้วเอามือท้าวคาง
> สิ่งที่เราต้องได้จริงๆ ก็คือเราต้องรู้ตัวว่าเรากำลังนั่ง
> (ที่ว่านั่งก็ต้องรู้ทุกส่วนด้วยใช่ไหมคะว่านั่ง ไม่ใช่เฉพาะที่ก้นนั่ง)
> เรากำลังท้าวคาง เรากำลังหายใจ เรากำลังคิด เรากำลังมองงาน
> เรากำลังกระพริบตาตลอดจนกรอกตา และรู้อาการของจิต ในเวลาเดียวกันใช่ไหมคะ
> ที่ถามเพราะทำแล้วมันเหมือนจิตเขาจะเน้นเป็นจุดๆ น่ะค่ะ
> จะรู้แค่ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนใหญ่ เช่น ยกมือ หรือเดิน
> (แต่เรื่องกระพริบตา กรอกตา หรือกระทั่งหายใจ นี่ยังจับได้น้อยอะค่ะ)
> แต่ถ้านั่งแล้วยกมือ ขึ้น จิตเขาจะไม่ค่อยรู้การนั่ง เขาจะไปรู้ที่การยกมือ
> แต่ที่แน่ๆ เขาจะเน้นไปที่อาการทางจิตเป็นส่วนใหญ่ จนจะกลายเป็นเพ่งไปอะค่ะ
> ขอโทษค่ะครูที่รบกวน  แต่ที่ถามก็เพื่อจะได้ค่อยๆ
> ฝึกไปเพื่อให้ถึงจุดหมายที่ถูกทางอะค่ะครู

ตอบเอี้ยง
ที่พี่ว่าจะสำรวมระวังนั้น ไม่ได้แปลว่าจะไม่ตอบปัญหาธรรมะของพวกเรา
โดยเฉพาะผู้หญิง แต่หมายถึงว่าพี่จะจริงจังกับการเจริญสติของตนเองให้มาก
จะพูดอะไรตามความจำเป็น และไม่คลุกคลีวุ่นวายอยู่กับผู้อื่น
เพื่อให้เวลากับตนเองให้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น
เอี้ยงมีปัญหาธรรมะอะไรก็ถามได้ตามปกติ
อย่ามาชวนคุยเรื่องโลกๆ ก็แล้วกัน

คำถามของเอี้ยงเป็นคำถามที่ดีมากทีเดียว
เพราะเรื่องความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก
คิดว่าต้องรู้กายทั้งตัว พร้อมกับรู้จิตไปด้วย
ซึ่งตามธรรมชาติของจิตแล้ว ย่อมรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น
มันจะมีอาการอย่างที่เอี้ยงเห็นนั่นเอง ว่ารู้ไปทีละอย่างๆ

ทีนี้เมื่อพูดว่า จิตรู้ได้ทีละอย่าง
บรรดานักเพ่งทั้งหลายก็จะไปเพ่งกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นเพ่งมือเพ่งเท้า
ครูอาจารย์ก็พยายามแก้ให้ บอกว่าอย่าไปเพ่งอย่างนั้น
ให้รู้ไปสบายๆ ทั้งตัว เพื่อจะแก้อาการเพ่ง
ทีนี้บางคนพอรู้ทั้งตัวแล้ว ก็กลายเป็นเพ่งทั้งตัวอีก
ครูอาจารย์ก็เลยสอนอีกว่า ให้รู้จิตใจตนเองไว้ ว่ามันกำลังเผลอเพ่งอยู่
คราวนี้นักปฏิบัติก็หันมาเพ่งจิตต่อไปอีก เพราะชอบเพ่งอยู่แล้ว
เพราะครูอาจารย์ให้รู้อะไร ก็เพ่งอันนั้น

เมื่อทำอันนั้นก็ไม่ถูก ทำอันนี้ก็ไม่ถูก
คราวนี้ผู้เรียนก็ยิ่งสับสนหนักเข้าไปอีก
ว่ารู้ตัวทั่วพร้อมทำไมมันต้องรู้อะไรมากมายนัก
เช่นรู้มือเท้าที่เคลื่อนไหวแล้ว ก็ยังต้องรู้กายทั้งกายอีก
แล้วยังต้องรู้ทันจิตใจตนเองอีก ใครจะไปทำได้
เพราะจิตนั้นย่อมรู้อารมณ์ได้เพียงทีละอย่างเท่านั้น

อันที่จริงไม่ใช่ต้องไปรู้อะไรมากมายอย่างนั้น
ถ้าเอี้ยงรู้ทันจิตตนเอง ไม่เผลอ (รวมทั้งไม่เผลอเพ่ง) อันเดียวก็พอแล้ว
เช่นเดินจงกรมไปเรื่อยๆ แรกๆ ก็รู้การเคลื่อนไหวของเท้า
หรือของกายไปอย่างสบายๆ อย่าเผลอเพ่งลงในเท้าหรือในกาย

ต่อมาพอจิตมีกำลังขึ้น จิตมันจะมาเห็นอารมณ์
หรืออาการของจิตในส่วนที่เป็นนามธรรมได้
เช่นเดินไปแล้วก็เห็นความฟุ้งซ่านในจิต เห็นว่าความฟุ้งซ่านไม่ใช่จิต
แล้วความฟุ้งซ่านก็ดับไป ก็เห็นอีกว่าจิตสงบ
ก็รู้เท่ารู้ทันจิตใจเรื่อยๆ ไป

สักพักจิตก็คิดและหนีไปเที่ยวอีก
ก็ให้คอยรู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่านและหนีเที่ยว
ถ้าดูแล้วมันก็ยังฟุ้งจนสู้ไม่ไหว
ก็กลับมารู้การเคลื่อนไหวเท้าของเราต่อไปอีก
โดยไม่ให้จิตจมลงในเท้า

ความรู้ตัวทั่วพร้อม จึงไม่ใช่การรู้อะไรทีละหลายๆ อย่าง
แต่หมายถึงการรู้โดยไม่หลง

เช่นรู้เท้าเคลื่อนไหว โดยจิตไม่หลงไปที่เท้า
หรือบางคนกำหนดลมหายใจ
ก็รู้ลมหายใจโดยจิตไม่หลงไปกับลมหายใจ
(หนึ่ง-สามีกระต่าย ก็เพิ่งถามปัญหาจุดนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเช่นกัน)

เรื่องการฝึกปฏิบัตินั้นไม่ต้องฝึกมากเรื่องหรอกเอี้ยง
ฝึกความไม่หลงอันเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว
เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนพระรูปหนึ่งว่า
ให้เจริญสติรักษาจิตตนเองอย่างเดียวก็พอแล้ว
เพราะเท่ากับปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่านครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว


คำถามของเอี้ยงมีประโยชน์มาก พี่ขอเอาไปลงวิมุตติด้วยนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 10:10:58

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 10:25:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 10:51:22
ความรู้ตัวทั่วพร้อม ที่จริงก็คือ รู้ หรือ ผู้รู้ นั่นแหละครับ
ที่นี้ถ้าเรารู้ ได้ถูกต้องไม่เผลอมันก็เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า
รู้ตัวทั่วพร้อมคือ รู้ครอบคลุมเบาๆ โดยไม่เพ่งที่จุดใดจุดหนึ่ง

มันมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองอย่างครับ
คือ ความไม่เผลอ ทำให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม
ในขณะเดียวกัน ความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็ทำให้ไม่เผลอครับ

ผมเองใช้การรู้ตัวทั่วพร้อมแบบนี้เป็นอุบายไม่ให้จิตเพ่ง
และหลงไปกับอารมณ์ที่เข้ามาที่จุดใดจุดหนึ่ง
แต่ให้รู้ทั่วอย่างครอบคลุม อย่างเบาๆ
หลายคนอาจสับสนว่าทำได้อย่างไรอย่างที่พี่ปราโมทย์กล่าว
แต่จริงๆ แล้วก็คือ พยายาม รู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
(จริงๆ แล้วรู้ทั้งหมดทำไม่ได้หรอกครับ)

เหมือนเรามีน้ำแก้วหนึ่ง ถ้าเอาไปใส่ขวด
น้ำหนักของน้ำต่อพื้นที่ ที่มันกดลงที่ก้นขวดก็จะมาก
กว่าถ้าเราเอาน้ำนี้ ไปใส่ในภาชนะที่มีก้นกว้างกว่าเช่นกาละมัง
พอจะนึกภาพออกไหมครับ

เหมือนกับนกบางชนิดที่มันเดินบนใบบัวที่ผิวน้ำได้
เพราะว่ามันมีนิ้วเท้าที่ยาว ทำให้น้ำหนักกระจายออกไป
ไม่กดลงไปที่จุดใดจุดหนึ่งไงครับ

ถ้าใครถนัดเรื่องเทคโนโลยี
ก็เหมือนกับเทคโนโลยีโทรศัพท์แบบ CDMA
ที่กระจายพลังงานออกไปในทุกความถี่ทำให้สามารถ
รองรับผู้ใช้ได้มากกว่าเทคโนโลยีแบบเก่า

อุบายแบบนี้มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในธรรมชาติครับ :)

ทำไมอุบายนี้จึงใช้ได้? ทำให้รู้โดยไม่หลงได้
จิตนั้นเริ่มแรกสุดมันทำหน้าที่หลักของมันครับคือ รู้อารมณ์
หลังจากนั้นมันก็จะเริ่มปรุงแต่งเกาะไปตามอารมณ์
ถ้าเรา หางานหลักให้มันทำมากที่สุด คือ รู้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
มันก็ไม่เหลือ เวลาจะไปเที่ยวเล่น ตามอารมณ์
นี่เรียกว่า หางานให้จิตทำ คือ ไม่ให้มันว่างมากจนหลงไปตามอารมณ์

*********************
ถ้าดูในพจนานุกรม
ความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็คือสัมปชัญญะนั่นเองครับ

สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก,
ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้; มักมาคู่กับสติ (ข้อ ๒ ในธรรม
มีอุปการะมาก ๒)

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 10:51:22

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 11:54:47
ตรงนี้ผมมีประสบการณ์ที่อาจจะแกตต่างไปอีกหน่อยครับ

คือเมื่อใดที่มีความรู้ตัวชัด ผมเห็นอาการของจิตที่แตกต่างไปจากในขณะทั่วไปอยู่ 3 ประการ ครับ คือ

1. จิตมีอาการเพียงสักแต่ว่ารู้ เมื่อรู้ก็วางครับ
2. จิตเขาไปรู้อารมณ์ต่างๆอย่างอิสระ พลิกพลิ้วได้รวดเร็ว ไม่ข้องแวะกับอารมณ์ใดๆนานนัก
3. มีความสว่าง มิใช่เห็นเป็นดวงสว่าง แต่เหมือนกับว่า เมื่อจิตเข้าไปรู้อะไร ก็มีความแจ่มชัดครับ

เท่าที่สังเกตดู จิตก็เข้าไปรู้อารมณ์ทีละอย่าง มิได้รู้อารมณ์ทุกๆอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะทั้งหมดครับ แต่การรู้นั้นรู้แล้ววางเร็วมาก ต่างจากขณะทั่วไปที่เมื่อรู้อะไรแล้วบางทีก็คลุกคลีกับอารมณ์อันนั้น หรือบางทีก็ไม่รู้ว่ากำลังรู้อารมณ์อันนั้น (เพราะอาวรณ์ต่ออารมณ์อันเก่าอยู่ มีความพยายามจะเข้าไปหาอารมณ์อันเก่าอยู่ หรือพยายามจะสร้างอารมณ์อันเก่าขึ้นมาใหม่ เป็นต้นครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 11:54:47

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 13:44:44
เรื่องศิลปะการปฏิบัติที่คุณมะขามป้อม และคุณพัลวันเล่ามานั้น
ค่อนข้างเป็นเรื่องความถนัดเฉพาะตัวของพวกมือเก่าครับ
ส่วนคนหัดใหม่ ควรจะรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่เป็นกลางไปก็พอแล้ว
ถ้าไปพยายามเลียนแบบความรู้ตัวทั่วพร้อม อย่างที่คุณมะขามป้อมบอกว่า
"รู้ครอบคลุมเบาๆ โดยไม่เพ่งที่จุดใดจุดหนึ่ง"
ก็อาจจะไปสร้างความรู้ตัวทั่วพร้อมขึ้นมาได้

มีนักปฏิบัติที่พลาดตรงนี้กันมามากเหมือนกัน
แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว จิตมันเป็นไปเอง และเรารู้ตามที่จิตเป็น
อย่างนั้นก็ไม่เป็นปัญหาครับ สบายดีเสียอีกแบบที่คุณมะขามป้อมว่า
เพราะมันแก้ความฟุ้งซ่านได้เด็ดนักทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 13:44:44

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 14:10:13
เพิ่มเติมอีกหน่อยครับ

ความรู้ชัดที่ปรากฎขึ้นอย่างที่จิตเขาเป็นไปเองนั้น ผู้เฝ้าดูอยู่มิได้ทำอะไรเลย ไม่ต้องทำแม้แต่พยายามเลยแม้แต่น้อย แต่จิตผู้รู้นี้เขาจะพลิกพลิ้วไปตามผัสสะที่ปรากฎ

แต่หากเมื่อจิตเสื่อมลงแล้ว จิตมักจะพยายามที่จะสร้างความรู้ชัด เนื่องมากจากความอยาก ความอาลัย ในความรู้ชัดที่เสื่อมลงไป ตรงนี้จะสังเกตเห็นได้ว่า มีความพยายามอยู่ และจิตก็มิได้เห็นว่าความพยายามเป็นของแปลกปลอม แต่กลับไปพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ได้อย่างเก่า

ตรงนี้ผมก็เคยโดนครูตำหนิมาแล้วครับ ที่ศาลาลุงชิน ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 14:10:13

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 15:34:50
เห็นด้วยกลับพี่ปราโมทย์ครับ
เป็นแค่อุบายที่ใช่เริ่มต้นกำหนดจิตหน่ะครับ
เพื่อให้จิตตั้งมั่นได้เร็ว
แต่การดำเนินของจิตต่อๆ
ไปต้องปล่อยให้จิตดำเนินไปเองครับ
เช่น อาจจะตกภวังค์ หรือ อาจเลื่อนเข้าอุปจาระคือจิตตั้งมั่นอยู่เองครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 15:34:50

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 15:56:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ฐิติมา วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 19:41:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lee วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 21:01:37
ขออนุญาต ถามหน่อยเถอะครับ

ผมแก้จุดนี้ไม่หลุดมา 4 เดือนแล้ว

ผมสังเกตได้ว่า รู้กับคิดนี่ ติดกันมาก ผมไม่สามารถที่จะรู้ไป คิดไปได้เลย  พยายามประคองรู้ไว้เสมอๆ แต่สังเกตได้ว่า พอกระแสคิดฟุ้งขึ้นมา  รู้ก็ล้มระเนระนาด อย่างน้อยก็อึดใจหนึ่ง  กว่าจะระลึกได้ว่าเผลอไปในความคิด  พอรู้ว่าคิด ก็ไม่คิด เป็นการแทรกแซงไปอีก

ไม่เห็นจะได้อย่างที่คุณมะขามป้อมเคยบอกว่า จะเห็นความคิดร่อนเป็นอีกชั้น  (ไม่ใช่ว่าคุณมะขามป้อม แต่บอกว่า ตัวผมเองถ้าจะยังทำไม่ถูกนะครับ )

ผมขอ Tip & Trick เรื่องนี้ด้วยครับ
โดยคุณ Lee วัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543 21:01:37

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 08:50:03
คุณหมอ Lee เล่าว่า
"ผมสังเกตได้ว่า รู้กับคิดนี่ ติดกันมาก ผมไม่สามารถที่จะรู้ไป คิดไปได้เลย
พอกระแสคิดฟุ้งขึ้นมา  รู้ก็ล้มระเนระนาดอย่างน้อยก็อึดใจหนึ่ง 
กว่าจะระลึกได้ว่าเผลอไปในความคิด  พอรู้ว่าคิด ก็ไม่คิด "

ที่คุณหมอสังเกตเห็นว่า รู้กับคิดติดกันมาก อันนี้ก็ถูกแล้วครับ
เหมือนที่หลวงพ่อเทียนท่านกล่าวว่า
"คิดเหมือนหนู รู้เหมือนแมว พอหนูมาปุ๊บ แมวก็จับหนูปั๊บ"
แต่ปัญหาของคุณหมอก็คือ หนูมาแล้ว แต่แมวนอนหลับ
พอแมวตื่น หนูก็หนีไป คือพอรู้ ก็ไม่คิด
นี่ก็คือแมวตะครุบหนู คือพอรู้ ก็ไม่คิด
ที่ปฏิบัติอยู่นี่ก็ถูกแล้วนี่ครับ
หน้าที่ของคุณหมอคือ การทำให้เจ้าแมวอ้วนขี้เซา ตื่นได้เร็วเท่านั้นเอง

ธรรมะนั้นศึกษากันด้วยตัวหนังสืออย่างนี้มันยุ่งยากมากครับ
เพราะมีแง่มุมแยกย่อยมากมายเหลือเกิน
อย่างเรื่องของความคิด เป็นต้น
ถ้าเราเจริญสติอยู่เป็นปกติธรรมดา
เราจะพบว่า ก่อนที่เราจะคิดออกมาเป็นคำพูดได้นั้น
จิตได้ผ่านกระบวนการทำงานมาแล้วไม่น้อยเลย

ในชั้นแรกนั้น กระแสความคิดที่ผุดขึ้นมา จะเป็นคลื่นอะไรบางอย่าง
ถ้าสติรู้ทันตั้งแต่จุดนี้ ด้วยจิตที่รู้ตัวไม่เผลอไปตื่นเต้นเพ่งจ้องกับกระแสนั้น
ก็จะเห็นกระแสนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
โดยเราเองก็ไม่ทราบว่า จิตคิดเรื่องอะไร
แต่ถ้ากระแสนั้นกระทบเข้ากับความรับรู้ของจิตแล้ว สัญญาเข้าไปหมายรู้
แล้วแปลออกมาเป็นภาษาที่แต่ละคนคุ้นเคย
ตรงนี้คือการคิดออกมาเป็นคำพูด เป็นสมมุติบัญญัติ
พอสติเข้าไปรู้ทัน ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง
ความคิดอันเป็นคำพูดสมมุติบัญญัติก็ขาดไป
ส่วนความคิดแท้ๆ ที่เป็นกระแส เป็นปรมัตถ์
อาจจะขาดหรือไม่ขาดก็ไม่แน่
ให้มีสติรู้ตามสภาพที่มันเป็นต่อไป ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์อะไร
อันนี้ก็เข้าลักษณะที่ว่า คิดไป รู้ไป อย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งคือ การคิดเป็นคำพูด
ถ้าจะคิดงานให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นงานความคิด
จะมัวไปกังวลสนใจที่จะคิดไปรู้ไปไม่ได้หรอกครับ
เพราะถ้าไปรู้เข้าเมื่อไร ความคิดตามสมมุติบัญญัติก็ขาดเมื่อนั้น
พอดีไม่สามารถพูดกับใครได้ ไม่สามารถคิดงานได้
เพราะการพูด การคิดงาน จำเป็นต้องอาศัยสมมุติบัญญัติ
รู้ เป็นศัตรูของสมมุติบัญญัตอย่างร้ายกาจที่สุด
จนหลวงพ่อเทียนท่านว่า พอรู้ ความคิดก็ดับ เหมือนแมวตะครุบหนู

ในเวลาที่เราต้องคิดตามหน้าที่นั้น ก็คิดไปเถอะครับ
แต่ถ้าคิดแล้วกิเลสตัณหาเกิดตามหลังความคิดมา
ก็ให้มีสติรู้ทันกิเลสตัณหา อย่าให้มันเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่คิดของเราได้
เช่นคิดงานอยู่แล้วเกิดขี้เกียจ ตัวขี้เกียจเป็นสิ่งแปลกปลอม ให้รู้ทันมัน
พอมันดับไปแล้วก็คิดตามหน้าที่ต่อไป

ยังมีการคิดอีกชนิดหนึ่ง เป็นการคิดฟุ้งเลื่อนๆ ลอยๆ ของจิต
เหมือนจะรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง
คิดชนิดนี้แหละครับ ที่เรามีสติรู้อยู่กับจิตได้ ไม่ไหลไปกับกระแสฟุ้งซ่านนั้น
ตรงนี้บางคนก็พูดว่าเป็นการ "คิดไป รู้ไป"
เพราะไม่ต้องใช้ศักยภาพทางความคิดให้เป็นเรื่องราว

อีกแบบหนึ่ง เป็นจิตของท่านที่ฝึกจนหมดธุระแล้ว
เวลาจะคิด ท่านคิดไปอย่างเต็มที่เลย ไม่ต้องระวังรักษาจิต
เพราะจิตไม่มีความกระเพื่อมหวั่นไหวใดๆ เลยแม้แต่น้อย
แบบนี้ยังเกินวิสัยที่พวกเราจะทำได้ในตอนนี้

รวมความแล้ว แค่เรื่องความคิดนี่ ก็มีแง่มุมมากมายหลายแบบ
อาจจะมีแบบอื่นๆ อีก แต่ตอนนี้นึกได้เท่านี้ครับ
ส่วนคุณหมอก็อย่าไปกังวลว่า ทำอย่างไรจะ คิดไปรู้ไป ได้
เราทำได้แค่ไหน ก็เป็นความจริงของเราแค่นั้น
ส่วนผู้อื่นเขาจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่านผู้นั้น

หัดให้เจ้าแมวขี้เซามันตื่นไวๆ เท่านั้นก็พอแล้วครับคุณหมอ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 08:50:03

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 09:20:13
คิดมากระวังจะกลายเป็น
ความพยายามจะหยุดคิดนะครับ เดี๋ยวจะเกิดทุกข์ :)

ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ความพยายามที่จะรู้หรือหยุดคิดครับ
แต่อยู่ที่ การสังเกตเห็นไตรลักษณ์ของความคิด
เห็นความไร้แก่นสารของความคิด เพื่อไถ่ถอนอุปาทานครับ
ความสำคัญจึงอยู่ที่การเห็นความคิด เกิดดับ เกิดดับนั่นเองครับ

การเจริญสติปัฏฐานอย่างน้อยก็จะต้องมีเจตนาในการกำหนดจิต
เข้าใจว่า เจตนาตัวนี้เองที่ทำให้คุณหมอลีรู้สึกว่า
ทำอย่างไรก็ไม่พ้นความคิด
(เดาเอาหน่ะครับ เพราะผมก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลา)
เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกครับ
เราทำได้เพียงแต่รู้ว่ามันมีอยู่
(ที่ท่านว่า รู้ว่าจิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น ในหมวดจิต)
และนำมันมาใช้ประโยชน์ในการเจริญสติสัมปชัญญะครับ

เรื่องความคิดร่อนเป็นอีกชั้นหนึ่งนั้น
เป็นเรื่องที่ผมพอจะสังเกตเห็นได้ในจังหวะที่ภาวนาได้ดี
ก็เลยพอจะอนุมานได้ว่า จิตและอารมณ์ของพระอรหันต์
เป็นอย่างไร เท่านั้นเองครับ
ให้ปัญญาเขาเกิดเองเถิดครับ อย่างเก็บธรรมะไปฟุ้งเลย :)





โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 09:20:13

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ โยคาวจร วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 10:07:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 10:36:19
เมื่อวันอาทิตย์ที่ศาลาลุงชิน ผมนั่งใกล้ๆกับคุณหมอ
และได้ยินคุณดังตฤณอธิบายเรื่องการคิด ฟังแล้วมีความละเอียดลุ่มลึกมาก
แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็แวบขึ้นมาว่า  ที่คุณดังตฤณอธิบายนั้น
เป็นธรรมที่ยากและลึกเกินไปกว่าที่ผมจะรู้ได้ในขณะนั้น
จิตก็เลยไม่พยายามเรียนรู้  ทั้งๆที่ผมเอง  ก็ยังเผลอไปในความคิดมาก
เห็นคุณหมอ ตั้งใจเรียนรู้มากในวันนั้น (ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ)
และที่คุณหมอบอกว่า แก้จุดนี้ไม่ได้มา 4 เดือนแล้ว
ผมเห็นว่า ถ้ายังคิดจะแก้ ก็จะยิ่งแก้ไม่ได้ เพราะเกิดความอยากที่จะแก้เสียแล้ว
ให้เจริญสติสัมปชัญญะไปเรื่อยๆ อย่างที่ครูแนะนำ
ปล่อยให้จิตพัฒนาไปเอง จนกว่าแมวขี้เซาจะกลายเป็นแมวปราดเปรียว
ถึงตอนนั้น ไม่ต้องแก้ก็เป็นเองครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 1 กันยายน 2543 10:36:19

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ Lee วัน เสาร์ ที่ 2 กันยายน 2543 13:56:09
สาธุครับ  พี่ปราโมทย์ และ คุณมะขามป้อม

ผมเองจริงๆ ยังไม่สามารถเห็นได้ละเอียดเท่าที่พี่และคุณตฤณอธิบาย หรอกครับ
น่าจะเป็นเพราะจิตยังไม่นิ่ง ไม่ละเอียดพอ  คงต้องดูจิต และ สังเกตไปอีกเรื่อยๆ

ไม่สงสัยครับว่าที่สอนนั้นถูกหรือผิด เพราะ เชื่อว่าถูกแน่ๆ

ผมระลึกถึงตอนที่เจอพี่ครั้งแรก พี่สอนให้สังเกตดูราคะ ละเอียด ตอนนั้นดูไม่เห็นครับ  อีกหลยเดือนจึงเห็นราคะละเอียด  จึงเข้าใจว่าคืออะไร

ต่อมาก็โมหะละเอียดซึ่ง เห็นแล้ว และอยู่กับมันอยู่

ผมสังเกตเห็นว่า ถ้าเราแช่กิเลสใดอยู่ เราจะไม่สามารถเห็นกิเลสนั้นได้  ต้องเป็นตอนที่เรามีสติดีขึ้น จิตนิ่งขึ้น จึงสามารถเห็น กิเลส ที่จรมาครอบจิต 

ความคิดนี่ก็เป็นอะไรที่ผมเข้าใจว่ามันละเอียด และจิตคงต้องมี ความละเอียด ความไว มากพอสมควร ด้วยการปฏิบัติของผมขณะนี้คงไม่สามารถเห็นได้ อนาคตขึ้นกับความพยายาม

ผมคงไม่ถามว่า แล้วผมทำอย่างไรจึงจะเห็น ละเอียดขึ้น จิตตั้งมั่นขึ้น  เพราะคำตอบคงเป็นว่า ก็ดูให้มากขึ้น ปฏิบัติให้มากขึ้น  (เคยถูกด่า หน้าม้านมาแล้วกับคำถามนี้ว่า เป็นคำถามโง่ๆ )

ขอบคุณครับ  ทุกๆท่าน รวมทั้งคุณดังตฤณ 
ว่าแต่ว่าไม่เห็นคุณดังตฤณ มี comment บ้าง อุตสาห์ไล่จิตกับผมตั้งนาน : )
โดยคุณ Lee วัน เสาร์ ที่ 2 กันยายน 2543 13:56:09

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ อี๊ด วัน อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2543 14:22:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ จ้อม วัน อังคาร ที่ 5 กันยายน 2543 12:42:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 5 กันยายน 2543 12:56:32
_/|\_ สาธุขอบพระคุณครับพี่ปราโมทย์
โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 5 กันยายน 2543 12:56:32

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ นุดี วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 16:49:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 08:19:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com