กลับสู่หน้าหลัก

"อรหันต์" กับทางเสื่อมของผู้ปฏิบัติธรรม

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2543 18:40:55

ผมได้อ่านพระสูตรเรื่องหนึ่ง เป็นคำสอนของท่านพระมหากัสสปเถระ
เกี่ยวกับธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสำคัญผิดว่าตนเป็นพระอรหันต์
และธรรม 10 ประการที่เป็นความเสื่อมในธรรมวินัย
เห็นว่าเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เราสำรวจและเตือนตนเองได้เป็นอย่างดี
จึงขออัญเชิญมาให้พวกเราอ่านร่วมกัน

จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 16
อังคุตรนิกาย ปัณณาสก์ที่ 2 เถรวรรคที่ 4 อัญญสูตร

ธรรมบทนี้ เป็นธรรมที่ท่านพระมหากัสสปเถระแสดงให้พระภิกษุฟัง
ณ วัดป่าไผ่ (เวฬุวันวิหาร) ใกล้เมืองราชคฤห์
เราจะเห็นว่า ท่านพระมหากัสสปเถระไม่ได้อยู่ถ้ำปิบผลิคูหาตลอดเวลา
แต่ท่านเข้ามาพักในวัดเป็นครั้งคราวเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม วัดในยุคนั้น ก็มักจะเป็นวัดนอกเมือง ไม่ใช่วัดกลางเมือง
เช่นวัดเวฬุวันอยู่ใกล้เมือง วัดอัมพวัน ก็อยู่นอกกำแพงเมือง เป็นต้น
การอยู่วัดของท่านในครั้งกระนั้น จึงไม่ต่างจากการอยู่วัดป่าในยุคนี้)

พระสูตรนี้เริ่มโดย ท่านพระมหากัสสปะได้เล่าให้พระภิกษุฟังว่า
มีพระบางองค์สำคัญผิดโดยสุจริต แล้วได้ประกาศตนว่าสำเร็จพระอรหันต์
แต่เมื่อ "พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ผู้ฉลาดในสมาบัติ
ผู้ฉลาดในจิตของผู้อื่น ผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
ย่อมไล่เลียง สอบถาม ซักถามภิกษุนั้น
ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้เปล่า ถึงความเป็นผู้ไม่มีคุณ
ถึงความไม่เจริญ ถึงความพินาศ"
  (หมายถึงพบว่าไม่ได้เป็นพระอรหันต์จริง)

ตรงนี้มีจุดน่าสังเกตนิดหนึ่งว่า  พระพุทธเจ้าและพระสาวกบางท่าน
สามารถกำหนดรู้ได้เอง ว่าใครบรรลุธรรมหรือไม่ เป็นพระอรหันต์หรือไม่
แต่ที่ท่านสอบซักไล่เลียง ก็เพื่อให้เจ้าตัวรู้ว่า ตนยังไม่เป็นพระอรหันต์
ไม่ใช่ท่านจะต้องนั่งสอบอารมณ์เสียก่อน จึงจะทราบได้ว่า บรรลุหรือไม่
ถึงยุคนี้ พระป่าท่านก็ยังไม่นิยมสอบอารมณ์กัน เพราะเสียเวลาเกินจำเป็น
แค่เพียงมองหน้าก็รู้ถึงใจกันแล้ว

ท่านพระมหากัสสปเถระ เล่าให้พระภิกษุฟังต่อไปว่า
พระตถาคตหรือสาวกท่านย่อมพิจารณาว่า
เพราะเหตุใด จึงเกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้โดยบริสุทธิ์ใจ
พระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ... กำหนดใจด้วยใจแล้ว
ย่อมรู้ภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก
ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้จึงมีความสำคัญผิด ...
จึงพยากรณ์อรหัตผลด้วยความสำคัญผิดว่า
เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตบางประการคือ
กรณี "อรหันต์สำคัญผิด" นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ
ที่ท่านพระมหากัสสปเถระยกมา น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น
และแรงจูงใจให้ท่านยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าว
ก็น่าจะเกิดจากเหตุการณ์จริงในช่วงนั้น
ที่พระเถระฝ่ายปริยัติธรรมสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์
แล้วพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เป็นจริง

น่าแปลกใจนะครับ ว่าทำไมท่านพระมหากัสสปเถระผู้เป็นพระป่า
จึงวิจารณ์ข้อผิดพลาดของพระฝ่ายปริยัติ
มิหนำซ้ำยังมาแสดงธรรมเรื่องนี้ในวัด
ซึ่งมีพระปริยัติและพระหนุ่มเณรน้อยมากมายเสียอีก
จะว่าท่านอคติต่อพระปริยัติก็เป็นไปไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว
ผมเข้าใจว่า ท่านอาจจะเจตนาอธิบาย
ให้พระหนุ่มเณรน้อยเข้าใจว่า โอกาสพลาดมันมีได้จริง
ไม่ควรตระหนกตกใจจนระส่ำระสายว่าขนาดอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปริยัติยังพลาดได้
และควรถือเป็นบทเรียน ที่จะไม่ให้พลาดอย่างนั้นบ้าง

ท่านพระมหากัสสปเถระคงไม่มีเจตนาซ้ำเติมพระฝ่ายปริยัติ
แม้จะมีเรื่องราวในอรรถกถาธรรมบทอยู่มากมาย
ถึงความขัดแย้งระหว่างพระฝ่ายปริยัติต่อพระปฏิบัติ
(พระปฏิบัติท่านจะไม่ขัดแย้งด้วย
แต่มักจะถูกรุกรานจนมีเรื่องถึงพระพุทธเจ้าเสมอ
ดังนั้น หากนักปฏิบัติในยุคนี้ จะถูกนักปริยัติรุกรานบ้าง
ก็ขอให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องธรรมดามาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล)

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ ในครั้งพุทธกาลนั้น การศึกษาพระปริยัติธรรมมีขึ้นแล้ว
โดยพระภิกษุจะทรงจำพระวินัยบ้าง พระสูตรต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง
แล้วถ่ายทอดอบรมสั่งสอนต่อสานุศิษย์
กระทั่งบางคราว พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้พระภิกษุสาธยายพระสูตรให้ทรงฟังก็มี

พระปริยัติธรรมในยุคนั้น ยังไม่น่ากลัวเท่าพระปริยัติธรรมในยุคถัดๆ มา
ซึ่งยิ่งนานวัน ยิ่งละเอียดซับซ้อน
เพราะมีการเขียนตีความและขยายความธรรมในชั้นเดิมมากขึ้นทุกที
โอกาสที่ผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมในชั้นหลังจะพลาดเพราะรู้มากไป จึงยิ่งมีมาก
และเมื่อพลาดแล้ว ก็ไม่มีพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกที่ชำนาญทางจิตจะแก้ไขให้
เพราะท่านผู้ศึกษามากคงไม่ยอมฟังท่านที่เรียนตำรามาน้อยกว่าตน

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ
ท่านผู้ศึกษาและสั่งสอนพระปริยัติธรรมนั้น
ไม่ใช่อยู่ๆ ท่านจะสำคัญตนเป็นพระอรหันต์ได้
ผมเข้าใจว่า ท่านจะต้องลงมือเจริญสติไปแล้ว แล้วจึงเกิดวิปลาสขึ้น
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2543 18:40:55

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2543 18:48:02
คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า เหตุใดผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมมากจึงพลาดได้
เรื่องนี้ผมยังไม่มีเวลาค้นคว้าข้อมูลในครั้งพุทธกาล
แต่จากการได้พบปะผู้ปฏิบัติในยุคนี้หลายท่าน
ที่เชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม
ถึงขั้นอธิบายจิต เจตสิก รูป นิพพานได้ละเอียดถี่ยิบ
จึงพอจะเข้าใจว่า เหตุใดผู้ที่ฝังใจกับพระปริยัติธรรมมากๆ
บางท่านจึงไม่สามารถเจริญสติได้ถูกต้อง และจิตไม่ยอมเจริญปัญญาจริงๆ

จุดแรกก็คือ ผู้เจริญสติ ที่รู้พระปริยัติธรรมมาก
มักจะขาดการปรับพื้นฐานให้จิตพร้อมจะเจริญสติเสียก่อน
เพราะคิดว่าสมาธิไม่มีความจำเป็นมากนัก
จึงมักเจริญสติด้วยจิตที่ยังไม่มีความตั้งมั่น รู้ตัว และเป็นกลางจริง
จิตยังไม่ปลอดจากนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความฟุ้งซ่าน
ตรงนี้ก็ทำให้หลงผิดได้ง่ายๆ เหมือนกัน

จุดต่อมาก็คือ เมื่อเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์อยู่นั้น
มักจะพยายามจำแนกอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์กับอารมณ์ที่เป็นบัญญัติ
เมื่อคิดมาก ระวังมาก แทนที่จะรู้ ก็กลายเป็นคิดไป

คือจิตกลายสภาพจากการทำหน้าที่ รู้อารมณ์ปรมัตถ์
ไปเป็น คิดและหลงบัญญัติปรมัตถ์
เช่นเมื่อเห็นความโกรธเกิดขึ้น
ก็ไม่สนใจจะรู้สภาวะของความโกรธอันเป็นเจตสิกปรมัตถ์จริงๆ
แต่กลับไปคิดใส่ชื่อสภาวะที่กำลังเกิดนั้นว่า ความโกรธ
หรือเมื่อตาเห็นรูป ถ้าไม่ตั้งสติเน้นและบัญญัติตรง "รูป"
ก็ต้องตั้งสติเน้นและบัญญัติตรง "เห็น"

ธรรมชาติของจิตนั้น ถ้าใช้สติกำหนดลงตรงจุดใด สิ่งนั้นก็มักจะดับไป
เช่นกำลังมีราคะ พอรู้ว่ามีราคะ ราคะก็มักจะดับไป
กำลังฟุ้งซ่าน พอรู้ว่ากำลังฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านก็จะดับไป
คราวนี้เมื่อเอาสติมาจ่ออยู่กับ "เห็น" ผ่านไปช่วงหนึ่ง เห็นก็จะดับไป
คือจิตดับความรับรู้ลง
มันดับด้วยอำนาจของการเอาสติจดจ่อ
ซึ่งก็คือการดับด้วยกำลังของสมาธินั่นเอง
ตรงจุดนี้จิตจะพลิกเข้าสู่ภพของอสัญญีพรหม
แต่ผู้ปฏิบัติอาจจะสำคัญมั่นหมายว่า เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้

ตรงนี้ก็เป็นจุดที่อาจพลาดได้อีกจุดหนึ่ง

จุดที่อาจจะพลาดได้อีกจุดหนึ่งก็คือ เมื่อเจริญสติอยู่นั้น
พอเห็นความเกิดดับไปเพียงเล็กน้อย จิตยังไม่ทันจะยอมรับความจริง
ความรู้หรือความจำที่สั่งสมมานาน ก็จะเข้ามาทำงานแทนปัญญา
คือจิตมันเกิดอาการหยุดการเจริญปัญญา มัน lock ตัวเองอยู่เพียงนั้น
เพราะรู้สึกว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว พอแล้ว เห็นจริงแล้ว
จิตตรงนี้ จะไม่ยอมเจริญปัญญาต่อไป
แม้จะเจริญสติ ก็เป็นสติกระด้างๆ ทื่อๆ ขาดการวิจัยวิจารณ์ธรรม
แต่ไม่ว่าจะนึกถึงธรรมบทใด ธรรมนั้นก็ปรากฏแจ่มแจ้งไปหมด
เพราะเคยอบรมเล่าเรียนคิดค้นมาแล้วมากนั่นเอง

ขอย้ำกับหมู่เพื่อนว่า ตรงนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว
ไม่ใช่ผลการศึกษาจากพระไตรปิฎก
ว่าเหตุใดผู้ที่ศึกษาพระปริยัติธรรมมากจึงพลาดได้
และผมเองก็ไม่ได้ดูหมิ่นผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมมากๆ
เพราะผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม แล้วลงมือปฏิบัติเลย
ก็พลาดหรือหลงผิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ได้เช่นเดียวกัน
เพียงแต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น


ในพระสูตรนี้ อันเป็นคำสอนของท่านพระมหากัสสปเถระ
ยังได้แสดงธรรมอีก 10 ประการ ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ปฏิบัติ
เข้าถึงความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ คือไม่เจริญในการปฏิบัติธรรม ได้แก่

1 - 5  เป็นผู้ปฏิบัติที่จิตใจถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณ์ 5
ได้แก่กามฉันทะหรืออภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ ฟุ้งซ่าน และความสงสัย

6 เป็นผู้ชอบการงาน ยินดีในการงาน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน
เช่นการสร้างวัด การศึกษาพระปริยัติธรรมไม่รู้จบ ฯลฯ
(คำสอนนี้เป็นคำสอนพระนะครับ เป็นฆราวาสท่านไม่ให้เกียจคร้านในการงาน)

7 เป็นผู้ชอบในการคุย
ใครที่ช่างคุย แล้วถูกครูอาจารย์ห้ามไม่ให้คุยมาก จนคับแค้นใจ
ขอให้พิจารณาธรรมตรงนี้ให้มากนะครับ

8 เป็นผู้ชอบการนอนหลับ

9 เป็นผู้ชอบความเป็นผู้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ประเด็นนี้ ชาวลานธรรม/วิมุตติก็พิจารณามากๆ หน่อยนะครับ

10 เป็นผู้มีสติหลงลืม ถึงความทอดธุระในระหว่างในคุณวิเศษเบื้องบน
ด้วยการบรรลุคุณวิเศษเบื้องต่ำ
เช่นบรรลุพระโสดาบันแล้ว ไม่ขวนขวายปฏิบัติต่อไป
เพราะนอนใจว่าถึงจุดปลอดภัยแล้ว เป็นต้น

ท่านพระมหากัสสปเถระกล่าวสรุปว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นหนอไม่ละธรรม 10 ประการนี้แล้ว
จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นหนอละธรรม 10 ประการนี้แล้ว
จักถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ ฯ


การที่ท่านแสดงธรรม 10 ประการนี้ต่อท้ายจากเรื่อง "อรหันต์สำคัญผิด"
ก็น่าจะเป็นข้อสังเกตได้แล้วว่า ท่านแสดงธรรมเรื่องนี้ให้พระหนุ่มเณรน้อยฟัง
เมื่ออธิบายเหตุผลที่ทำให้ท่านผู้รู้พระปริยัติธรรมมากๆ สำคัญผิดแล้ว
ท่านจึงสอนต่อว่า ควรละธรรมอันใด และควรเจริญธรรมอันใด
เพื่อจะเจริญยั่งยืนในพระธรรมวินัยเป็นพระอรหันต์ตัวจริงได้ต่อไป
มิใช่จะเอาแต่ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างไม่รู้จบ
(แต่จะไม่ศึกษาเลยก็ไม่ได้
เพราะไม่ใช่วิสัยของพระสาวกที่จะรู้หลักการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง)
โดยสำคัญผิดว่า รู้มาก ฟังมาก คิดมากแล้ว จะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

***************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2543 18:48:02

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 07:03:35
สารธุ!!! สาธุ!!! สาธุ!!!

ลำพังเพียงความโกรธ แม้คุ้นเคยกันมานานมากแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่า ในวันแรกที่ได้เห็นความโกรธ (มิใช่เผลอไปในความโกรธจนไร้สติ) ก็ได้เห็นว่า เจ้าตัวความโกรธที่ว่านั้น หาได้มีรูปร่างหน้าตา นัยยะ อย่างที่เคยคิดว่าควรจะเป็นแม้แต่น้อย ในขณะนั้นแทบจะไม่รู้เลยว่านี่คือความโกรธ จนกระทั่งต้องดูสิ่งแวดล้อม คือความคิด และปฎิกริยาที่เกิดขึ้นต่อๆมา จึงจะพอเข้าใจว่านี่คือความโกรธ

ที่เล่าตรงนี้ให้ฟัง ก็เพราะคิดว่า การพยายามบัญญัติธรรมที่พบ ว่าชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการพยายามรู้ธรรมตามความเป็นจริงในปัจจุบันมากนัก แต่ผมก็รู้สึกว่าผมจะนิยมชมชอบการบัญญัติธรรมมากกว่าการรู้ธรรมจริงๆ แม้ว่าระยะหลังนี้จะเพลาๆไปบ้างแล้วก็ตามครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 07:03:35

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 07:07:03
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 08:28:23
ขอบพระคุณครับ
_/\_
โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 08:28:23

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พีทีคุง วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 10:59:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ กระต่าย วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 12:17:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 4 กันยายน 2543 17:51:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 5 กันยายน 2543 10:39:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นุดี วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 17:02:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:02:11
โดนใจจริงๆครับ
มีอีกอย่างนึ่งที่เคยเจอ..ที่ทำให้น่าหลงสำคัญตนได้เหมือนกัน
คือภาคนิมิตที่บอกเหตุการณ์ต่างๆ
ซึ่งมันวิเศษจริงๆเหมือนจริงเหมือนจัง

เป็นสิ่งที่จะเกิดกับนักภาวนาไม่มากก็น้อย
เมื่อเราเจริญสติไปจุดนึ่งก็จะเห็นกระแสจิตตัวเอง
จิตเขามีกำลังแล้วจะขยายปรากฏในรูปแบบของภาพ แสง เสียง ฯลฯ

เท่าที่เคยเป็นอยู่ช่วงนึ่ง
เมื่อจิตรวมตัวแล้วขยายออกในรูปภาพนิมิต
ปรากฏเห็นตัวเองสามารถฟันฝ่าอุปสรรค์ต่างๆ
ไปเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนจริงเหมือนจัง
มาได้เป็นลำดับๆจนเห็นตัวเองผ่านอุปสรรค์ต่างๆ
ไปหมดจนถึงที่ปลอดภัย(วิ่งเข้าเส้นชัย)
เล่าย่อๆ
มันน่าสำคัญตนจริงๆ
โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:02:11

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ อิม วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 21:02:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 10:49:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ มรกต วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 12:49:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 16:08:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com