กลับสู่หน้าหลัก

คุยกันเบาๆ เรื่องทิฏฐิ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 10:51:34

เพื่อนนักปฏิบัติเมล์มาถามผมบ่อยๆ ว่า ทำอย่างไรจะข่มหรือละกามได้
แต่ไม่มีใครเคยถามผมว่า ทำอย่างไรจะละทิฏฐิได้
ยกเว้นสักกายทิฏฐิ ที่มีผู้ถามถึงวิธีละอยู่เป็นครั้งคราว
ซึ่งผมก็ตอบว่า ให้เจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ ไป

พระศาสดาทรงสอนว่า "กษัตริย์ต่อกษัตริย์ มักขัดแย้งกันเพราะกามและทิฏฐิ"
ซึ่งหมายความว่า นักการเมืองหรือนักปกครอง
มักจะขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างหนึ่ง
เพราะผลประโยชน์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ อีกอย่างหนึ่ง

ทรงสอนว่า "นักบวชกับนักบวช มักจะขัดแย้งกันเพราะทิฏฐิ"
เพราะเรื่องกามนั้น ต่างคนต่างเห็นโทษภัย และพยายามละอยู่แล้ว
แต่เรื่องทิฏฐินั้น ไม่ค่อยมีใครเห็นว่ามีโทษภัย
จึงไม่ค่อยระมัดระวังอันตรายจากทิฏฐิกันเท่าที่ควร
พากันปล่อยให้ทิฏฐิอิงอาศัย เดินเข้าเดินออกในจิตใจตนเองได้ทั้งวัน

เมื่อเช้านี้ ก่อนจะออกจากบ้านไปทำงาน
ผมเห็นแม่บ้าน (แม่บ้านเป็นคำไทยแท้ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในบ้าน) จิตใจกำลังผ่องใสมีกำลัง
จึงแนะว่า อย่าทำความรู้ตัวอยู่เฉยๆ ให้เดินปัญญาด้วย
โดยรู้ลงไปเวลาจิตมีความเห็นต่างๆ มันจะเกิดความเป็นเราขึ้นมา

แม่บ้านของผมก็คอยเฝ้ารู้อยู่ที่จิตใจตนเอง
แล้วก็พบว่า ทุกคราวที่เกิดความเห็น
(ความเห็นไม่ใช่ความคิดนะครับ
ความเห็นจะมีการให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า อันนี้เป็นอย่างนี้
อันนี้ดี - ไม่ดี  ผิด - ถูก  ควร - ไม่ควร ฯลฯ
ตามการประเมินค่าและมาตรฐานของตนเอง)
จิตจะเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นนั้นเสมอ
แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่สุด จิตก็ยังยึดถือความเห็นที่เกิดขึ้น
เช่นตอนขับรถออกจากบ้าน มีรถอีกคันหนึ่งปาดหน้า
ก็เห็นความเห็นว่า ทำอย่างนี้ไม่ดี ไม่คิดถึงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
เห็นถึงการให้ค่าว่า ดี - ไม่ดี ถูก - ผิด
แล้วเห็นว่าจิตเข้าไปยึดถือความเห็นนั้น

พบอีกว่า ทุกคราวที่เกิดความยึดในความเห็น
จะเกิดความขัดข้อง เป็นกลุ่มก้อนขึ้นที่กลางอก
ถ้ายึดถือแรง ก้อนนี้จะโตและแน่น ถ้ายึดเบาๆ ก้อนก็เล็กและเบาบาง
ยึดขึ้นทีไร ก็ทุกข์ทีนั้น
และเธอก็สรุปว่า คนเราทะเลาะกันก็เพราะยึดในทิฏฐินี้แหละ

ผมขับรถไป ก็เล่าเพิ่มเติมให้ผู้โดยสาร/แม่บ้าน ฟังต่อไปว่า
ความยึดมั่นในความเห็นนั้น ตำราเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน
เมื่อเกิดความเห็นแล้วยึดความเห็น
ก็จะเกิดตัวเราขึ้นมา เป็นเจ้าของความเห็นนั้น
และเมื่อเกิดตัวเรา หรือตัวกู หรือที่สมัยนี้ชอบเรียกว่าเกิดอัตตาตัวตนขึ้น
ก็จะมีปฏิกิริยาเป็นก้อนแน่นหน้าอกขึ้น
ใครที่อัตตาแรง ก็เหมือนแบกครกตำข้าวไว้กลางอก
ไม่รู้เลยว่ากำลังเป็นทุกข์อยู่เพราะภาระการแบกหาม
เพราะตอนนั้นกำลังหลง มีแต่เราเก่ง เราถูก ฯลฯ

แม่บ้านผมก็บอกว่า ลำพังความเห็นเกิดขึ้นนั้นยังไม่ทุกข์หรอก
จิตต้องเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นก่อน จึงจะเกิดทุกข์

และเจ้าความทุกข์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ต่อเนื่องกันไป
ใหญ่บ้างเล็กบ้างไปตามกำลังความยึดมั่น
ถ้าเฝ้ารู้อยู่ตรงนี้ ก็มีงานกรรมฐานให้ทำได้ทั้งวันทีเดียว

ผมก็เล่าต่อว่า สักกายทิฏฐิ ก็คือความเห็นเหมือนกัน
เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง สักกายทิฏฐิจะไม่เกิดขึ้นอีก
แต่ทิฏฐิอื่นๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอดไป
แม้พระอริยบุคคลชั้นสูง ท่านก็ยังมีทิฏฐิคือความเห็นเกิดขึ้นเสมอ
เพียงแต่ท่านไม่ยึดถือในความเห็นนั้นเท่านั้น
เมื่อไม่ยึดทิฏฐิ ก็ไม่ทุกข์เพราะทิฏฐิ
เหมือนที่ขันธ์ก็มีอยู่ แต่เมื่อไม่ยึดขันธ์ ก็ไม่ทุกข์เพราะขันธ์

เมื่อเช้าคุยกันเท่านี้ เพราะขับรถถึงที่ทำงานเสียก่อน
แล้วต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปทำงาน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 10:51:34

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 10:55:34
ปกติเมื่อพูดถึงคำว่า ทิฏฐิ
ในตำรามักจะหมายถึง มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เท่านั้น

ไม่ได้แปลว่า ความเห็น ที่ครอบคลุมถึงความเห็นในทุกๆ เรื่อง
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเราฆ่ากันได้เพราะขัดแย้งในเรื่องทิฏฐิทุกๆ เรื่อง
เช่นสามีอยากจะไปตีเทนนิส ภรรยาอยากจะไปตีแบดมินตัน
แต่ลงท้ายทั้งสองคนก็ตีกันเอง เพราะมีความเห็นขัดแย้งกัน
แล้วต่างคนต่างก็ยืดหยัดยึดมั่นในความเห็นของตน

เพื่อนบางท่านอาจจะงงๆ ว่าถ้าเราไม่มีความเห็นเสียเลย จะดีหรือ
ขอเรียนว่า จิตเขาย่อมมีความคิดและความเห็นเกิดขึ้นได้เสมอ
ไม่ใช่จะห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติมีความคิดและความเห็น
เพียงแต่อย่าไปยึดมั่นในความเห็นของตนมากนัก เพราะตนเองจะเป็นทุกข์เอง

บางท่านอาจจะคิดต่อไปว่า ถ้าไม่ให้ยึดมั่นในความเห็น
ก็แสดงว่าชาวพุทธต้องไม่มีอุดมการณ์
เพราะอุดมการณ์คือความเห็นว่าสิ่งนี้ดี สมควรทำ หรือสมควรไปให้ถึง
ในจุดนี้ขอเรียนว่า ชาวพุทธมีอุดมการณ์ได้
หากพิจารณาโดยถ่องแท้ด้วยเหตุผลแล้ว
เห็นว่าสิ่งนี้ควรทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อตน และ/หรือ ผู้อื่น

แต่ในการทำนั้น ก็ไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์จนลืมศีล 5
หรือถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
และหากทำไปเต็มที่แล้ว ได้ผลเพียงใดก็ยอมรับเพียงนั้น
ไม่ทุกข์ร้อนเพราะแรงยึดมั่นในอุดมการณ์

เมื่อพูดถึงความยึดมั่นในความเห็นแล้ว
ก็ขอแจกแจงถึงความยึดมั่นทั้ง 4 ประการเสียเลย
ตัวอุปาทานนั้น พระศาสดาทรงแจกแจงไว้ 4 ประการคือ
กามุปาทาน คือความยึดมั่นในกาม
ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นในความเห็น
สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในศีลพรต
อัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นในวาทะว่าเป็นตัวตน
เราจะเห็นว่า ทั้ง 4 ประการนี้ครอบคลุมสิ่งที่คนเรายึดมั่นไว้หมดแล้ว

ทีนี้ตำรารุ่นหลังท่านก็มาอธิบายต่อว่า
พระโสดาบัน ละ ทิฏฐุปาทานได้  เพราะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว
ละ สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในการถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างผิดๆ
และละ อัตตวาทุปาทาน คือการมีวาทะ(ทัศนะ)ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตน
ส่วนกามนั้น ใครๆ ก็ทราบว่า พระอนาคามีท่านละกามได้
แต่ถ้าระบุว่า พระอนาคามีท่านละ กามุปาทาน ได้
แล้วจะเหลืออุปาทานอะไรให้ผู้เจริญอรหัตตมรรค ละกัน

ตำราก็เลยตีความใหม่ว่า กามุปาทาน ไม่ได้หมายถึงกามราคะเท่านั้น
แต่รวมถึงรูปราคะ และอรูปราคะเข้าไปด้วย
ดังนั้น พระอนาคามี ก็ยังมี กามุปาทาน ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงละได้

ตำรารุ่นหลังเกิดจากการตีความของนักปราชญ์นั่นแหละครับ
เราควรรับฟังไว้ประกอบความรู้
แต่ในส่วนของผมเองแล้ว กลับเห็น(ความเห็นส่วนตัวนะครับ)ว่า
ท่านผู้เจริญอรหัตมรรค ท่านยังมีอุปาทานหลายอย่าง
จะเรียกว่าอุปาทานชนิดไหนก็แล้วแต่เถิด
แต่ไม่ใช่มีอุปาทานเฉพาะ กามุปาทาน แน่ๆ
เว้นแต่จะขยายการตีความคำว่า กามุปาทาน ออกไปให้กว้างสุดขีด

เช่นท่านยังยึดในความสุขสงบ ด้วยอำนาจกระตุ้นของรูปราคะและอรูปราคะ
ท่านยังยึดในความเห็นในทางดี ด้วยอำนาจกระตุ้นของอุทธัจจะ
เช่นเห็นว่า การทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนา เป็นสิ่งที่ดี
หรือนิพพานเป็นของดีที่จะต้องพยายามไปให้ถึง
ที่สำคัญคือ ท่านยังยึดถือจิต ด้วยอำนาจกระตุ้นของมานะและอวิชชา
และจะต้องพยายามทำจิตให้หลุดพ้นให้ได้

ถ้าเอาของจริงๆ มาพูดกันก็มีปัญหาน้อยครับ
แต่ถ้ากางตำราเถียงกัน ก็อดมีความยึดในทิฏฐิ ไม่ได้หรอกครับ
พอยึดแล้วก็จะร้อน และเกิดก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก
หาความสบายใดๆ ไม่ได้เลย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 10:55:34

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 12:10:21
ท่านผู้เจริญอรหัตมรรค ท่านยังมีอุปาทานหลายอย่าง

ขอให้ครูช่วยขยายความหน่อยครับ อ่านแล้วไม่เข้าใจครับ ตรงนี้ครูต้องการชี้ว่า อรหัตมรรค มิใช่ อรหัตผล ใช่มั้ยครับ?

โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 12:10:21

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 13:20:22
ผมหมายถึงพระอนาคามี ผู้กำลังพากเพียรเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูงครับ
ไม่ได้หมายถึงท่านผู้ได้ อรหัตตมัคคญาณ นะครับ
เพราะแบบหลังนี้เพียงวับเดียวก็ถึงอรหัตตผลแล้ว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 13:20:22

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 13:22:57
_/|\_ _/|\_ _/|\_
"ลำพังความเห็นเกิดขึ้นนั้นยังไม่ทุกข์หรอก
จิตต้องเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นก่อน จึงจะเกิดทุกข์"

สาธุครับ
โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 13:22:57

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 14:49:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นุดี วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 17:28:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ฐิติมา วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 21:16:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 21:21:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 22:57:00
ในฐานะคนทำงาน คงต้องมีความเห็นต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในที่ประชุม 
1. แสดงความเห็นตามเหตุผลอันสมควร โดยไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้อง fight  -  อย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่าคะ ?
2. เมื่อ รู้ แล้ว ทำให้คิดวุ่นวายน้อยลง  เหมือนกับจะคิดช้าลงไป หรือขี้เกียจจะคิดโดยปริยาย  แล้วก็ดูเหมือนจะทุกข์น้อยลงเพราะมีอะไร ๆ ให้จิตเข้าไปยึดน้อยลงกว่าเดิม  -  อย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่าคะ ?
3. หรือว่าคำตอบสำหรับทั้งสองข้อคือ ถูกต้องสำหรับนักปฏิบัติ  แต่อาจไม่ถูกใจทางโลก ?
ขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ _/|\_
โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 22:57:00

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 07:49:52
_/\_
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 07:49:52

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 09:12:50
ไม่ถูกหรอกครับแมว
เมื่อมีหน้าที่ต้องคิด ต้องแสดงความเห็น ก็ต้องทำให้เต็มที่
เพียงแต่อย่าอินกับมัน เท่านั้นเอง
กระท่ังการคิดก็จะคิดได้กว้าง ไกล และเที่ยงตรงมากขึ้น
เพราะคิดด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติที่รุนแรง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 09:12:50

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 09:16:03
มีเพื่อนๆ ตังคำถามเกี่ยวกับอุปาทาน 4 กันหลายท่าน
เดี๋ยวถ้าว่าง จะเขียนเพิ่มเติมให้นะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 09:16:03

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:05:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 10:36:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2543 21:59:35
พี่กล่าวถึงเรื่องนี้พอดีกับที่ผมกำลังสนใจดูความเห็นของตัวเองทีเดียวครับ ผมเองสังเกต (จากคนอื่นก่อน เห็นวิจารณ์สิ่งรอบข้าง ก็เลยวิจารณ์เขาไปแล้วจึงมามองตัวเองเอาบ้าง ก็ไม่ดีไปกว่าเขา) ว่าเรามักจะแสดงความเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งรอบข้างเสมอ แม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม เป็นอาการที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของจิตที่ได้เที่ยววุ่นวายไม่รู้จักหยุดหย่อน เมื่อไปตัดสินสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้าก็จะเผลอยึดเอาความเห็นนั้น แล้วก่อเกิดความคิด ความเปรียบเทียบ ความทุกข์บานปลายไปใหญ่โตครับ

ผมเข้าใจเหลื่อมออกไปนิดหนึ่งว่า เราพูดถึงคำว่าทิฐิ นอกจากจะกล่าวถึงมิจฉาทิฐิ (เรามักจะวิจารณ์ความเห็นของคนอื่นในเชิงลบ) แล้ว เรามักจะใช้คำนี้ในความหมายของ ทิฐิมานะด้วย คือเลยเถิดไปถึงเอามาเปรียบเทียบกับทิฐิของเราเข้าไปด้วย เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นทวีคูณ ถึงกับต้องออกแรงถกเถียงกันจนเกิดโทสะตามมาอีก และกิเลสอย่างอื่นตามมาโกลาหล

ผมขอเสริมคุณมะเหมี่ยวอีกนิดหนึ่งครับ ผมเองก็มักจะมีเหตุให้ถกเถียงกับเพื่อนฝูงหรือผู้ร่วมงานอยู่บ้าง แม้จะไม่ยินดีนักแต่หากเป็นหน้าที่ก็ต้องทำครับ จะนั่งเฉยๆคงไม่ได้ เพราะเรายังอาศัยและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับผู้อื่นอยู่ และความคิดอ่านของเรา (ซึ่งหลายครั้งจำเป็นต้องมีอคติด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่เราทำงานแลกเปลี่ยนมา) ก็ต้องใช้เพื่อผลประโยชน์นั้น

เมื่อต้องคลุกกับกิเลสมากขนาดนี้ บ่อยครั้งที่สติตามไปไม่ทัน ผมก็จะเลยเถิดไปจนมารู้ตัวเอาเมื่อมันพัวพันกันจนเป็นโทสะวิ่งพุ่งจากอกมาที่หน้าแล้ว ดีที่แรงพอจะกระตุ้นสติได้ทุกครั้ง จึงแก้ไขมาได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ไว้ใจไม่ได้เลย หากไม่รักษาสติไว้ก็คงถอยกลับไปมีชีวิตที่โกลาหลเหมือนที่เคยพบมาจนเบื่อหน่าย

แต่จะให้พ้นไปนั้นคงไม่ง่ายนักครับ เรายังอยู่ในสังคม และความจริงแล้ว การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันนั้น ก็เป็นการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกันคนอื่นนี่
เองครับ

จุดที่ผมวางไว้ก็คือ อย่าคลุกคลีกับผลประโยชน์มากไปกว่าที่จะดำรงชีวิตของเราไว้เท่านั้น และพยายามพิจารณาความต้องการปัจจัยซับซ้อนต่างๆในชีวิตลงเรื่อย เพื่อให้เรียบง่ายเข้า และเป็นอิสระต่อผลประโยชน์ที่หล่อเลี้ยงปัจจัยเหล่านั้นในที่สุดครับ
โดยคุณ น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2543 21:59:35

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com