กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องของ อุปาทาน 4

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 14:59:22

กระทู้ "คุยกันเบาๆ เรื่องทิฏฐิ" ซึ่งในตอนท้ายพาดพิงไปถึงอุปาทาน 4 นั้น
เป็นที่สนใจของหมู่เพื่อนบางท่าน และมีคำถามเพิ่มเติมเข้ามาหลายเรื่อง
เช่นสงสัยว่า ทิฏฐุปาทาน เป็นเรื่องของความเห็น
อัตวาทุปาทานก็เป็นเรื่องความเห็นเช่นกัน แล้วทำไมจึงต้องแยกกัน
บางท่านก็สงสัยว่า แล้วความยึดถือในลูกเมีย ทรัพย์สิน ชื่อเสียงเกียรติยศ
ความยึดถือกาย ความยึดถือจิต ฯลฯ ควรจะจัดเป็นอุปาทานประเภทใด

ถ้าตามตอบเป็นรายคำถามคงเสียเวลามาก
วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่อง อุปาทาน 4 เสียเลยดีกว่า

************************************

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อหาของ อุปาทาน 4
เราน่าจะเข้าใจสถานะของคำสอนเรื่องนี้เสียก่อน

คำสอนเรื่องอุปาทาน 4 ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท
จัดเป็นคำสอนเชิงอภิธรรม หรือเชิงปรมัตถ์ คือพูดถึงสภาพธรรมล้วนๆ
ไม่ใช่ธรรมะที่สอนเกี่ยวกับปุคคลบัญญัติ หรือเรื่องบุคคล ตัวตน สัตว์ เรา เขา
ท่านจึงไม่กล่าวถึงความยึดถือในครอบครัว ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ฯลฯ

คำสอนเรื่องอุปาทาน 4 เป็นคำสอนสำหรับนักบวช หรือผู้แสวงหาความหลุดพ้น
ไม่ใช่คำสอนสำหรับชาวบ้านทั่วไป
พระศาสดาจึงทรงเพ่งเล็งอธิบาย หรือจำแนกชนิดของอุปาทาน
ตามกลุ่มของสภาวธรรมที่ผู้แสวงหาความหลุดพ้นพากันติดอยู่
เพื่อจะได้พากันถอดถอนอุปาทานนั้น
ไม่ใช่เพื่อให้ฟังกันเล่นเพลินๆ หรือประเทืองปัญญา

สำหรับวิธีการศึกษาเนื้อหาของเรื่องอุปาทาน 4 นั้น
ถ้าจะให้เข้าใจง่าย สมควรปรับมุมมองเสียหน่อย
ในเมื่อธรรมอันนี้ ออกมาจากพระทัยของพระศาสดา และทรงประทานให้แก่ผู้ปฏิบัติ
เราก็ควรลงมือปฏิบัติ เพื่อรองรับพระธรรมนั้นด้วยจิตใจของเราเอง
จึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้งและผสานเข้ากับการปฏิบัติในชีวิตจริงได้
เพราะเราเอาตัวผู้ศึกษาเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
วิธีนี้จะต่างจากการเรียนธรรมะแบบเดิม ที่เอาตำราเป็นตัวตั้ง
โดยศึกษาว่าตำราแยกแยะธรรมนี้อย่างไรบ้าง
ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ก็มักไม่ถึงใจ และนำไปปฏิบัติได้ยาก

เราจึงควรพากันเจริญสติสัมปชัญญะ
โดยการนั่งสมาธิและเดินจงกรมแบบที่เป็นวิปัสสนา
แล้วคอยเฝ้ารู้ว่า จริงๆ แล้ว จิตไปยึดมั่นอะไรได้บ้าง
ด้วยวิธีนี้ เราอาจจะพบมุมมองที่แปลกใหม่สำหรับอุปาทาน 4 ก็ได้

******************************************

สิ่งที่จิตพร้อมจะทะยานไปยึดได้เสมอก็คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย
เช่นเดินจงกรมอยู่ดีๆ เกิดเห็นเงาอะไรวอบแว่บผ่านมา
จิตก็มักจะทะยานออกไปยึดสิ่งที่ตาเห็นนั้น
ถ้าสิ่งนั้นสวยงาม จิตก็ยินดี ถ้าสิ่งนั้นน่าเกลียดน่ากลัว จิตก็ยินร้าย
หรือนั่งสมาธิอยู่ในป่า ได้กลิ่นหอมรวยรินของดอกไม้ป่า
จิตก็หลงเข้าไปยึดกลิ่นนั้น ด้วยความยินดี

สรุปแล้ว สิ่งที่จิตเข้าไปยึดก็คือ "สิ่งแวดล้อมภายนอก" ที่ไปรู้เข้า
หรือจะกล่าวว่า จิตไปยึดมั่นใน "สิ่งที่รับรู้ได้ทางอายตนะทางกายทั้ง 5" ก็ได้
สิ่งนี้น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ กามุปาทาน นั่นเอง

สิ่งต่อมาที่จิตยึดมั่นก็คือ"ความคิดเห็นต่างๆ"
ทั้งความคิดเห็นที่ดีและที่ชั่ว ทั้งความเห็นถูกและความเห็นผิด
จิตยึดได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะยึดได้เฉพาะมิจฉาทิฏฐิอย่างเดียว
เหมือนที่ตำราชั้นหลังเพ่งเล็งไปที่มิจฉาทิฏฐิเป็นหลัก
และเมื่อยึดความเห็นแล้ว จะเห็นถูกหรือเห็นผิด ก็เกิดทุกข์ทั้งนั้น
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ ทิฏฐุปาทาน

สิ่งต่อมาที่จิตมักยึดถือ นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และความคิดเห็นของตนเอง
ก็คือ "ความเชื่อที่สืบทอดกันมา"
สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ความเชื่อที่สำคัญก็คือ
การถือศีลอย่างนี้ การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติอย่างนี้ จะเป็นทางพาให้พ้นทุกข์ได้
เช่นก่อนจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ควรจะจุดธูปเทียนเท่านี้ๆ ดอก
ต้องไหว้พระสวดมนต์ หรืออัญเชิญปีติทั้ง 5 เสียก่อน
และต้องแผ่ส่วนบุญให้เจ้ากรรมนายเวร ภูติผีปีศาจ
ต้องนั่งหันหน้าทิศนั้นทิศนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล
บรรดา "ความเชื่อ" ทั้งหลายนี้แหละ
เราไม่ได้คิดเอง แต่เชื่องมงายตามกันมา
ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องคอยสำรวจใจตนเองเหมือนกัน ว่าหลงไปยึดถือหรือเปล่า
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ สีลัพพตุปาทาน

นอกจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดนึกปรุงแต่งของจิต และความเชื่อทั้งหลายแล้ว
นักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญ จะสังเกตเห็นความยึดถือที่ลึกลับที่สุด
ในจิตใจเรานั้น มีอะไรอยู่ตัวหนึ่ง ที่มันเรียกตัวเองว่า เรา เรา เรา
มันมีวาทะ หรือมันพูดอยู่ตลอดเวลา ว่าเรา เรา เรา
แล้วจิตก็หลงยึดเอาจริงๆ ว่า เรา เรา เรา
มันเป็นเสมือนแกนกลางของการรับรู้ทั้งปวง
ไม่ว่าสิ่งที่ถูกรู้จะเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดเห็น หรือความเชื่อต่างๆ
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า อัตวาทุปาทาน
และเพราะความยึดมั่นนี้แหละ
เมื่อจิตไปประสบกับอารมณ์อันละเอียด คือรูปฌานและอรูปฌานเข้า
จิตก็จะกระหยิ่มยินดีมีความสุข เพราะความยึดมั่นจิตนั่นเอง

ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่จิตไปติดยึดจริงๆ ที่รู้ได้ในระหว่างการปฏิบัติ
นอกเหนือจากความยึดมั่น 4 อย่างนี้แล้ว ผมก็ไม่เห็นความยึดมั่นอย่างอื่นอีก
เพราะครอบคลุมตั้งแต่สิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดเห็นภายในของตนเอง
รูปแบบและความเชื่อถือที่สืบทอดกันมา
จนถึงความยึดถือในศูนย์กลางของทุกสิ่ง คือ เรา เรา เรา

ขอเรียนว่า เรื่องที่เล่ามานี้ จะไม่ตรงกับตำราชั้นหลังบ้าง
(เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ซึ่งผู้ศึกษาควรจะมีความคิดเห็นได้)
แต่ที่นำมาเล่าก็เพราะเห็นว่า
พอจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เพื่อนนักปฏิบัติใช้สำรวจตนเองได้ว่า
จิตใจยังหลงไปยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่บ้าง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 14:59:22

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:18:36
สาธุ!!! สาธุ!!! สาธุ!!!

หรือจะกล่าวว่า จิตไปยึดมั่นใน "สิ่งที่รับรู้ได้ทางอายตนะทางกายทั้ง 5" ก็ได้ สิ่งนี้น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ กามุปาทาน นั่นเอง

อ่านตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงคำว่า "เพลิดเพลินในกามคุณทั้ง 5" เสียจริงๆเลยครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:18:36

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:28:45
เมื่อเช้าเดินจงกรมอยู่ แล้วเกิดนึกขึ้นว่า
เอ..พระพุทธเจ้ามีจริงเหรอ ใครบอก
เห็นก็ไม่เคยเห็น ได้ยินแต่บอกเล่ามาเท่านั้น
ทำไมถึงเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า
แล้วก็เกิดความเห็นขึ้นว่า...
นี่ไงเล่า ถ้าเกิดปัญญา พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่นี่แหละ
ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่เขาบอกๆกันมาหรอก
ทำให้รู้สึกว่า การยึดถือความเชื่อที่บอกๆกันมา
ไม่ว่าเรื่องใดๆ คำศัพท์ คำนิยามของอาการจิตต่างๆ
ทำให้การปฏิบัติไขว้เขวจากภาวะจริงไปหมด
เพราะมีตัวตั้งเอาไว้ก่อนแล้ว
พยายามเดินให้ถึงเป้าหมายที่หลงตั้งขึ้นเอง
เป็นเป้าหมายที่มีแต่เปลือกปลอมๆ
ยิ่งเดินก็ยิ่งหลงไปจากภาวะจริง

อืม..คราวนี้เขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้แฮะ
หรือฟุ้งเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่รู้
โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 15:28:45

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 16:09:10
น่าจะเข้าข่ายฟุ้งเป็นเรื่องเป็นราวครับ

ความจริงนั้นมีอยู่ 2 ระดับคือสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ
ความคิดที่ว่า "สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าก็ไม่มี
พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ไม่มี ตัวเราก็ไม่มี"
ยังจัดเป็นความคิดสุดโต่งครับ เพราะปฏิเสธสมมุติสัจจะ
ขอย้ำว่า แม้จะเป็นสมมุติ มันก็เป็นสัจจะคือความจริงอันหนึ่ง
ไม่ใช่ไม่มี หรือไม่จริงนะครับ แต่มันจริงโดยสมมุติ

คราวนี้เราต้องรู้จักจำแนกว่า
อะไรเป็นความจริงโดยสมมุติ อะไรเป็นความจริงโดยเนื้อแท้
อย่างพระพุทธเจ้านั้น โดยสมมุติของโลก
พระองค์ก็ทราบว่า "พระองค์" เป็นพระพุทธเจ้า
แต่โดยความจริงอันแท้
พระองค์ท่านก็ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่ามีหรือไม่มีพระพุทธเจ้า
ท่านเห็นแต่ว่า ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

อย่างที่ประไพว่า "พระพุทธเจ้าไม่มี จิตที่มีปัญญานั่นแหละคือพระพุทธเจ้า"
ความเห็นอันนี้ก็คือความเห็นอันหนึ่ง
รู้แล้วก็โยนทิ้งไปได้เลยครับ เก็บมาคิดก็รกรุงรังจิตใจเปล่าๆ
มันก็แค่สภาวะปรุงแต่งอันหนึ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 16:09:10

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 16:29:50
รับทราบครับพ้ม
รู้แล้วโยนทิ้งแล้วครับ
ใครหว่า...ประไพ
ครูแก่ๆที่ไหนเนี่ย
โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 16:29:50

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 17:45:24
_/|\_ _/|\_ _/|\_
สาธุ สาธุ สาธุ

ช่วงนี้พิจารณา "ความเกาะเกี่ยว" ของจิต
ในสิ่งที่จิตเข้าไปหมายรู้ต่างๆอยู่
ได้การจำแนกอย่างแจ่มแจ้งอย่างนี้
ช่วยให้เห็นแผนที่ได้มากทีเดียว

ระลึกถึงธรรมที่คุณอาแจงทีไร
นึกถึงเวลาอ่านพระสูตร
ที่ผู้ฟังพระพุทธเจ้าแล้วตอนท้ายมักกล่าว
"เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย"
เลยทีเดียวครับ _/|\_ _/|\_ _/|\_
โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 17:45:24

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 20:48:31
ได้อ่านเรื่องของคุณพี่หมอไพแล้วทำให้นึกถึงเรื่องวิปลาส หากจำไม่ผิดก็จะเป็นเรื่องของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีครับ

มีอยู่พรรษาหนึ่ง ขณะจำพรรษาอยู่ในป่าเขาที่ไหนก็ไม่ทราบ(คือผมไม่ทราบ เพราะจำไม่ได้แล้วครับ) ก็เกิดวิปลาสขึ้นว่า พระพุทธเจ้าไม่มี อะไรๆก็ไม่มี (ผมเข้าใจเอาเองว่า น่าจะเกิดจากพิจารณา อนัตตลักษณะ อย่างเพ่งมากไปจนไม่เฉลียวใจ) จนกระทั่งออกพรรษา พอท่านเห็นว่า จีวรนี้เก่าแล้วควรจะเปลี่ยนใหม่ พอเห็นเท่านี้วิปลาสที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีก็หายไป

จะผิดจะถูกอย่างไร ผมจำได้แน่ๆว่าอ่านมาจากคอลัมน์ของคุณนามกาย ในมติชนสุดสัปดาห์ครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 20:48:31

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 07:42:42
_/\_
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 07:42:42

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 08:00:04
หลวงปู่เทสก์ ครับคุณพัลวัน
ท่านเล่าว่าพิจารณาอนัตตาอยู่แล้วเกิดทิฏฐิวิปลาสไป
แต่ไม่กี่วันก็หายได้เอง
(ไม่เคยได้ยินเรื่องเปลี่ยนจีวรครับ ไม่ทราบว่าคุณนามกายไปได้ข้อมูลมาจากไหน)
จากประสบการณ์นี้เอง ท่านจึงสอนบ่อยๆ เรื่องสมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ
ท่านสอนให้รู้ทันสมมุติ แต่ไม่ยึดสมมุติ ไม่ใช่ปฏิเสธสมมุติด้วย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 08:00:04

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 09:22:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 10:40:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ Lee วัน ศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2543 21:19:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 07:56:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ มรกต วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 08:22:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ กอบ วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 10:28:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com