กลับสู่หน้าหลัก

ว่าด้วยสัมปชัญญะ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:46:40

สัมปชัญญะคือตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิ
เป็นธรรมมีอุปการะมากควบคู่กับสติ
วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้ถ้าขาดสัมปชัญญะ
แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย ไม่มีสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ
หมู่เพื่อนควรมาทำความรู้จักกับสัมปชัญญะกันเถิด


************************************************

ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น
สัมปชัญญะเป็นธรรมสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญควบคู่ไปกับสติ
บางคราว เมื่อกล่าวถึงการเจริญสติ
ก็มีความหมายรวมถึงการเจริญสติและสัมปชัญญะ
เพราะหากเจริญสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง
การเจริญสติจะกลายเป็นการทำสมถกรรมฐานไปทันที

นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย ไม่มีสัมปชัญญะ !!!
มีแต่เอาสติเพ่งจ้องใส่อารมณ์ที่กำลังปรากฏ
และเมื่อขาดสัมปชัญญะ ก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้จริง
จิตในขณะนั้นจะแข็ง ซึม ทื่อ เหมือนคนสะกดจิตตนเอง
แม้จะรู้อารมณ์ ก็รู้ไปอย่างทื่อๆ ไม่นานจิตก็ซึมด้วยโมหะ
ซึมแล้วเพลินสุขเหมือนคนติดยาบ้าง
ตกภวังค์บ้าง หรือส่ายออกรู้ออกเห็นสิ่งภายนอกบ้าง
หาสาระอันใดในทางการเจริญปัญญาไม่ได้เลย

การที่สติจดจ่อเข้ากับอารมณ์อันเดียว แล้วจิต"หลง"อยู่กับอารมณ์นั้น
จะไม่สามารถจำแนกแยกแยะสมมุติบัญญัติ
กับสภาวะหรือปรมัตถ์ออกจากกันได้
เช่นเมื่อเอาสติกำหนดรู้ลมหายใจ ก็เพ่งทื่อๆ เข้าไปที่ลมหายใจ
กำหนดบริกรรมพุทโธ จิตก็หลงทื่อๆ อยู่กับพุทโธ
หรือรู้การกระเพื่อมของท้อง ก็รู้ไปอย่างทื่อๆ
ที่มันทื่อๆ ก็เพราะขณะนั้นมีแต่สติ
ไม่มีปัญญา เพราะตัวปัญญาถูกกดให้นิ่งๆ อยู่ ไม่สามารถทำงานได้
แม้บางท่านจะพยายามนึกว่า สิ่งที่ถูกรู้เป็นรูป รู้เป็นนาม
ก็ยังเป็นเพียงการน้อมนึก ไม่ใช่การเห็นแจ้งเป็นปัจจุบันด้วยใจ
เพราะจิตยังไม่มีสัมปชัญญะจริงๆ
คือจิตยังเคลื่อนหลงไปตามอารมณ์ แต่ไม่รู้ทันจิตตนเอง
ซึ่งจิตในขณะนั้น กำลังถูกโมหะครอบงำอยู่นั่นเอง


ในตำรารุ่นหลังมักกล่าวว่า การทำสมถะจะต้องรู้อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ
แต่ถ้าเป็นคนที่ชำนาญในการทำสมถะ และชำนาญในการสังเกตจิตจริงๆ
จะพบว่า ในเบื้องต้นจิตจะรู้อารมณ์อะไรก็ได้
แต่ถ้าขาดสัมปชัญญะเมื่อใด จิตก็จะพลิกไปเป็นสมถะเสมอ
หมดสมรรถภาพไม่สามารถรู้ปรมัตถ์ได้
และเมื่อทำสมถะจนจิตสงบลงถึงขั้นจริงๆ แล้ว
จิตไม่มีปัญญาจะไปจำแนกบัญญัติและปรมัตถ์ได้
จิตไปรู้อะไร ก็รู้ไปอย่างทื่อๆ และไร้เดียงสาเท่านั้นเอง
มันไม่สนใจหรอกว่า ขณะนั้นมันรู้อะไร
มีแต่จมแช่ลงในอารมณ์อันเดียวเท่านั้น


นอกจากนี้ การที่รู้ปรมัตถ์ โดยจงใจรู้ปรมัตถ์ แล้วไม่รู้ทันจิต
จิตก็จะพลิกกลับไปสู่ความหลงทันที เพราะขาดสัมปชัญญะ
อย่างมากที่สุดก็ได้สมถะ ทั้งที่เริ่มต้นด้วยการรู้ปรมัตถ์ ก็ตาม

แต่เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะ จิตก็จะสามารถเจริญวิปัสสนาได้
จิตในขณะนั้น สามารถจำแนกได้ชัด
คือมีสมมุติบัญญัติก็รู้ว่ามีสมมุติบัญญัติ และไม่หลงสมมุติบัญญัติ
ส่วนปรมัตถ์ ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้น และไม่หลงปรมัตถ์
ไม่ใช่ว่าในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่นั้น จะไม่รู้สมมุติบัญญัติ
เพราะสมมุติบัญญัติ มันก็มีความจริงของตัวมันเองอยู่
ไม่ใช่ไม่มีจริง  แต่มันมีจริงโดยสมมุติ


ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงมีความเห็นต่างจากตำราอยู่บ้าง
คือตำราเห็นว่า ถ้ารู้บัญญัติก็เป็นสมถะ แต่ถ้ารู้ปรมัตถ์ก็เป็นวิปัสสนา
แต่ผมมีความเห็นว่า ถ้ามีสติอย่างเดียวไม่มีสัมปชัญญะ อันเป็นการทำสมถะ
จิตย่อมจะหลงกับอารมณ์อันเป็นสมมุติบัญญัติ
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ อันเป็นการเจริญวิปัสสนา
จิตย่อมจะรู้ทันทั้งปรมัตถ์และบัญญัติตามความเป็นจริง

พระศาสดาท่านจึงทรงสอนต้นทาง อยู่ที่การเจริญสติสัมปชัญญะ
ไม่ได้ทรงเน้นย้ำเรื่องอารมณ์กรรมฐานในเรื่องบัญญัติและปรมัตถ์แต่อย่างใด

เพราะถ้าเจริญสติสัมปชัญญะถูกต้อง ก็จะรู้จักปรมัตถ์เอง
และแม้ถึงจะคิดถึงปรมัตถ์ แต่เจริญสติสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็เป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้น
เพราะจิตหลงอยู่แค่บัญญัติเรื่องปรมัตถ์เป็นอารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง


ผมมีความเห็นอีกว่า การเจริญวิปัสสนา จะต้องรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง
คำว่าสิ่งทั้งปวง หมายถึงทั้งปรมัตถ์และบัญญัติด้วย
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะการเจริญวิปัสสนานั้น
ต้องทำในทุกๆ ขณะของการดำรงชีวิตที่มีความตื่นอยู่

ไม่ใช่เก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง หรือในสำนักที่ไม่มีผัสสะแปลกใหม่มากระทบ
แล้วทุกวันก็เจตนากำหนดรู้ปรมัตถ์ไปเรื่อยๆ
โดยเจตนาไม่สนใจบัญญัติ

วิปัสสนาจริงๆ นั้น ต้องพากเพียรทำอยู่
ทุกคราวเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึก
และธรรมชาติของจิตนั้น เมื่อรู้อารมณ์อันเป็นปรมัตถ์ด้วยอายตนะทั้ง 6 แล้ว
ก็มักจะรู้บัญญัติต่อเนื่องด้วยอายตนะคือใจด้วย
(เว้นแต่อารมณ์ที่มากระทบถ้าอ่อนมาก เพียงจิตไหวนิดหนึ่งก็ดับตกภวังค์บ้าง
หรือจิตทำงานไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่ทันจะเสพย์อารมณ์ ก็ดับตกภวังค์บ้าง
กรณีเช่นว่านี้ น่าจะทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะจิตเดินปัญญาไม่ได้)
จะเลือกรู้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเจตนาไม่ได้
สิ่งสำคัญ อยู่ที่การรู้ให้ทันและรู้ให้ตรงตามความจริง
ทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ ต่างหาก


เช่นเมื่อเดินไปตามถนน เห็นสุนัขเดินสวนมา
สติปัญญาจะทำงานทันที คือจำแนกได้ชัดเจนโดยไม่ตั้งใจจะจำแนกว่า
รูปที่มากระทบตา ก็คือสภาพธรรมอันหนึ่ง
ตรงนี้ต้องรู้ด้วยใจจริงๆ จึงจะรู้ปรมัตถ์
ไม่ใช่รู้ด้วยการพยายามคิดว่าสุนัขไม่มี มีแต่รูป

ถ้ารู้ด้วยใจจริงๆ แล้ว จะทราบเลยว่า
การที่ตากระทบรูปนั้น ไม่ก่อน้ำหนักใดๆ ขึ้นในจิตใจเลย

ถัดจากนั้นก็มีบัญญัติและรู้บัญญัติว่า "สุนัข"
รู้ความคิดที่ว่า "นี่มันสุนัขบ้าให้ระวังไว้"
จิตเกิดมีอาการไหววูบขึ้นมาในใจ ก็รู้อาการนั้น
อาการไหววูบนี้ ก็เป็นเจตสิกปรมัตถ์อันเป็นฝ่ายนามธรรมอันหนึ่ง
รู้แล้ว จิตอาจจะมีบัญญัติว่า นี่คือความตกใจ/กลัว
หรือจะไม่สรุปว่านี่คือความตกใจ/กลัวก็ได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร
เพียงเห็นอาการวูบ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ก็พอแล้ว

จากนั้นก็หาทางหลบหลีกเสียด้วยความมีเหตุผล
ไม่ใช่เห็นสุนัขบ้าเดินมา ก็ไปกำหนดว่ารูปๆ
ไม่ใช้สติปัญญา แต่ทำใจทื่อๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว
แล้วเดินเข้าไปให้สุนัขกัดแบบปล่อยตามบุญตามกรรม
อย่างนี้เรียกว่าไม่มีปัญญา หรือไม่มีสัมปชัญญะอีกชนิดหนึ่ง
(จะกล่าวถึงชนิดของสัมปชัญญะต่อไปทีหลัง)
แม้แต่สัตว์ต่างๆ เขาก็ไม่นิยมทำกัน เพราะเมื่อมีภัยเขาก็ยังรู้จักหลบหลีกเสีย

สรุปแล้ว ตามความเข้าใจส่วนตัวของผม
ถ้ามีสัมปชัญญะอยู่ก็คือมีปัญญาอยู่
เพราะสัมปชัญญะนั่นแหละคือตัวปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ
จิตใจในขณะนั้นจะสามารถจำแนกแยกแยะผิดชอบชั่วดี ควร-ไม่ควรได้
จิตจะรู้ปรมัตถ์โดยความเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง และรู้สมมุติโดยความเป็นสมมุติ
ไม่หลง ไม่ซึมทื่อ ไม่มีเจตนาจะยอมรับ
หรือปฏิเสธความจริงใดๆ ทั้งสมมุติและปรมัตถ์
จิตที่เจริญวิปัสสนาจะมีสภาพเช่นนี้
ไม่ใช่รู้แต่ปรมัตถ์ โดยไม่รู้บัญญัติ
อันเป็นเรื่องการปฏิบัติที่เจตนาทำให้ผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง

***************************************
(ยังมีต่อ)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:46:40

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:50:59
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับสัมปชัญญะกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นดีกว่า
สัมปชัญญะนั้น ท่านจำแนกเอาไว้ 4 ชนิดด้วยกันคือ

สาตถกสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดว่ามีประโยชน์
หรือตระหนักในจุดหมายปลายทางของการกระทำต่างๆ
เป็นความรู้ ความฉลาดที่จะเลือกกระทำ หรือไม่กระทำใดๆ
โดยเพ่งเล็งถึงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่เป็นประโยชน์เป็นสำคัญ
เช่นรู้จักทำสมถะ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน เพื่อผลคือความสงบของจิต
รู้จักทำวิปัสสนา ไม่ปล่อยใจให้ซึมเซา เพื่อผลคือความมีปัญญาของจิต เป็นต้น

สัปปายสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดว่า
สิ่งนั้นหรือการกระทำนั้น สมควรแก่ตน
อย่างเช่นรู้ชัดว่า จะทำอย่างใดให้อกุศลลดลงและกุศลเจริญขึ้น
หรืออย่างพระธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศหนาว
ก็รู้จักสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่นพอเหมาะกับภูมิประเทศ
หรือกรณีที่เห็นสุนัขบ้าเดินมา ก็รู้จักหลบหลีกเสีย เป็นต้น

โคจรสัมปชัญญะ คือความรู้ตระหนักในหน้าที่การงานของตน
เช่นมีหน้าที่ปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตนเอง
ก็ไม่ลุ่มหลงมัวเมาเที่ยวดูหนัง ละคร คอนเสิรต จนลืมกรรมฐาน

อสัมโมหสัมปชัญญะ
ธรรมอันนี้แหละคือเครื่องมือสำคัญของการเจริญวิปัสสนา
ลองฟังความหมายในเชิงปริยัติธรรมก่อนนะครับ
ผมยกมาจากพจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
อ่านแล้วจะทราบชัดเลยว่า ปราชญ์ที่แท้จริงนั้น
ท่านอธิบายธรรมไม่ต่างจากที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่เลย

"อสัมโมหสัมปชัญญะ"  คือรู้ชัดว่าไม่หลง
หรือตระหนักในตัวเนื้อหาสภาวะ
ไม่หลงฟั่นเฟือน คือเมื่อไปไหน ทำอะไร
ก็รู้ตัวตระหนักชัดในการเคลื่อนไหว
หรือในการกระทำนั้น และในสิ่งที่กระทำนั้น
ไม่หลง ไม่สับสนเงอะงะฟั่นเฟือน
เข้าใจล่วงตลอดไปถึงตัวสภาวะในการกระทำที่เป็นไปอยู่นั้น
ว่าเป็นเพียงการประชุมกันขององค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ
ประสานหนุนเนื่องกันขึ้นมาให้ปรากฏเป็นอย่างนั้น หรือสำเร็จกิจนั้นๆ
รู้ทันสมมุติ ไม่หลงสภาวะเช่นยึดเห็นเป็นตัวตน

โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักในเรื่องราว เนื้อหา สาระ
และสภาวะของสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องหรือกระทำอยู่นั้น
ตามความเป็นจริงโดยสมมุติสัจจะ
หรือตลอดถึงโดยปรมัตถสัจจะ

มิใช่พรวดพราดทำไป หรือสักว่าทำ
มิใช่ทำอย่างงมงายไม่รู้เรื่อง
และไม่ถูกหลอกให้ลุ่มหลงหรือเข้าใจผิดไปเสียด้วยความพร่ามัว
หรือด้วยลักษณะอาการภายนอกที่ยั่วยุ หรือเย้ายวน เป็นต้น"

ไม่มีตรงไหนเลยครับ ที่ท่านระบุว่า ให้รู้แต่ปรมัตถ์อย่างเดียว
เพราะเหตุใด
ก็เพราะการเจริญวิปัสสนานั้น ต้องรู้ตามความเป็นจริง
ต้องแจ่มแจ้งตามที่รู้เห็นทั้งสมมุติและปรมัตถ์ที่จิตไปรู้เข้า
จะไปแยกส่วนรู้เฉพาะปรมัตถ์นั้น ไม่มีใครทำได้จริงหรอกครับ
เพราะกระทั่งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
ท่านก็ยังรู้สมมุติ แล้วอนุโลมตามสมมุติ ไม่ปฏิเสธสมมุติ
จะสุดโต่งทิ้งสมมุติไม่ได้ จะกลายเป็นทิฏฐิวิปลาสไป
และหากใช้สติบังคับจิตใจให้หมายรู้เฉพาะปรมัตถ์
ดีไม่ดีก็อาจจะเกิดสัญญาวิปลาสได้ด้วย

สิ่งที่พวกเราพยายามฝึกฝนกันนั้น คือการทำความรู้ตัว
ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ฟั่นเฟือนไปตามอารมณ์ที่มากระทบ
เมื่อฝึกแล้วก็จะรู้ชัดถึงสมมุติ โดยความเป็นสมมุติ
และรู้ชัดถึงปรมัตถ์ โดยความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง

หากยังหลงอยู่ จิตยังเคลื่อนไปตามสิ่งเร้าโดยไม่รู้ทัน
ก็จะไม่สามารถรู้เห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงได้
แต่จะรู้เห็นแล้วยินดียินร้ายไปตามแรงขับของกิเลสตัณหาเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงกล่าวกับหมู่เพื่อนเสมอๆ ว่า
ให้รู้ตัวเข้าไว้ อย่าหลง อย่าเผลอ
อย่าส่งส่ายไปทางอายตนะต่างๆ โดยไม่รู้เท่าทัน
เพราะถ้าทำต้นทางของการเจริญอริยมรรคอย่างนี้ได้  ก็จะเจริญในธรรมได้
แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย มักฝึกสติโดยไม่มีความรู้ตัวจริงๆ
จิตถูกโมหะครอบงำไว้
ซึ่งโมหะนี้แหละ เป็นต้นทางของการก่อภพก่อชาติต่างๆ นั่นเอง


**************************************
(ยังมีต่อ)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:50:59

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:55:23
คราวนี้ก็มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ว่า เราจะสร้างสัมปชัญญะได้อย่างไร

ผมมีข้อสังเกตว่า จิตที่จะมีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ได้จริงๆ นั้น
ต้องเป็นจิตที่มี ธรรมเอก หรือเอโกทิภาวะ
หรือมีจิตผู้รู้แยกจากอารมณ์ที่ถูกรู้ หรือสัมมาสมาธิ แล้วแต่จะเรียก

คือต้องเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น นุ่มนวล ว่องไว
และควรแก่การงานคือไม่เซื่องซึมมัวเมา หรือเพลินสุขเหมือนคนติดยาเสพติด
(ผมเคยเขียนไว้หลายคราวแล้ว ถึงเรื่องการเข้าถึงธรรมเอก
ทั้งด้วยสมาธิ และด้วยปัญญา
ในที่นี้จึงขอไม่กล่าวถึงเพราะจะแตกประเด็นมากเกินควร)

เมื่อมีธรรมเอก หรือจิตผู้รู้แล้ว
จะต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ หรือความเฉลียวใจ
เป็นเครื่องมือทำความรู้จักกับสัมปชัญญะและกระตุ้นให้สัมปชัญญะทำงาน
โดยสังเกต(อย่างสบายไม่เคร่งเครียด) ถึงจิตตนเองให้ถ่องแท้
ก็จะพบว่า สติ(สัมมาสติ) สมาธิ(สัมมาสมาธิ)
และปัญญา(สัมมาทิฏฐิหรือสัมปชัญญะ) นั้น ทำงานควบคู่กันอยู่

จิตจะมีปกติทรงตัว ตั้งมั่น นิ่มนวล เบิกบาน เป็นสัมมาสมาธิอยู่
หากไม่มีสิ่งเร้าภายนอกมารบกวน จิตก็จะมีสติระลึกรู้อยู่ที่จิต
และมีความรู้ชัด มีความรู้ตัว ไม่หลง ไม่ถูกโมหะครอบงำ คือมีสัมปชัญญะอยู่

หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบ ทางตา หู … ใจ
จิตก็ยังตั้งมั่นเป็นปกติ มีสัมมาสมาธิอยู่
ไม่ซึม เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกโมหะครอบงำ ไม่ฟุ้งซ่านกระจัดกระจายออก
ส่วนสติจะตามระลึกรู้อารมณ์หรือสิ่งแปลกปลอมนั้นอย่างเป็นอัตโนมัติ
แต่ไม่ใช่เพ่งจ้องไปตามความหลง เพราะจิตจะต้องไม่หลง
แล้วสัมปชัญญะก็จะพิจารณา คือรู้อารมณ์นั้นตามความเป็นจริง
ตรงนี้เป็นการทำงานของจิตในด้านการเจริญปัญญา

แต่ส่วนมากนักปฏิบัติจะขาดธรรมเอก
พอมีสิ่งมากระทบ สติก็จะพุ่งใส่สิ่งนั้นและลืมตัวทันที
จิตก็จะถลำเข้าไปยึดอารมณ์ จมอยู่กับอารมณ์
หมดความสามารถที่จะให้สัมปชัญญะทำหน้าที่ รู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมั่นฝึกจิตให้มี จิตผู้รู้ คือเป็นธรรมเอก
แล้วใช้โยนิโสมนสิการ สังเกตจิตใจตนเองอยู่เสมอ
เพื่อไม่ให้สติปิดกั้นสัมปชัญญะ
คือไม่เพ่งเสียจนปัญญาทำงานไม่ได้อย่างอิสระ
แต่ให้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ทำงานกลมกลืนไปด้วยกัน

เฝ้ารู้สภาวะที่ปรากฏเรื่อยไป จนกำลังปัญญาอ่อนลง คือเริ่มสับสนงุนงง
กำลังสติอ่อนลง คือไม่ว่องไวปราดเปรียวในการระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
และกำลังของสมาธิอ่อนลง คือเริ่มฟุ้งซ่าน กระจัดกระจาย
ก็กลับเข้าหาความสงบเพื่อกระตุ้นธรรมเอกใหม่
พอจิตมีกำลังแล้ว ก็กลับเข้าทำงานเจริญปัญญาต่อไปอีก

สติ สมาธิ และปัญญาทั้ง 3 ด้าน ก็จะพัฒนาไปด้วยกันอย่างไม่เนิ่นช้า

************************************
ขอเรียนเพิ่มเติมว่า งานเขียนชิ้นนี้เขียนจากประสบการณ์
ของคนที่ยังมีกิเลสตัณหาหนาแน่น มีสติปัญญาอ่อนด้อย
อาจจะไม่ตรงตามตำราชั้นหลังบ้าง
ผู้อ่านสมควรระมัดระวังและใช้ปัญญาพิจารณา
หากผมเข้าใจผิด ก็จะได้ไม่เข้าใจผิดเหมือนผมไปด้วย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:55:23

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 11:58:22
^___^

_/|\_

โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 11:58:22

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ tana วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 12:39:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 13:31:04
สาธุ!!! สาธุ!!! สาธุ!!!

แล้วเพลินสุขเหมือนคนติดยา
ผมเคยเป็นนะครับ อาการแบบนี้ เคยสังเกตเห็นว่าเวลาเรามีความสุขในสมาธิ มันช่างคล้ายกับอาการการเคลิ้มฝันหลังจากที่เราได้ทานยาแก้แพ้ (คลอเฟนนิรามีน) แล้วเราง่วง ในขณะที่เราเคลิ้มจะหลับ อาการเพลินในความสุขช่างเหมือนกัน (แต่ความสุขต่างกันนะครับ - ช่วงก่อนนี้ผมอยู่เชียงใหม่ พอเข้าหน้าหนาวผมจะเป็นหวัดอย่างแรงครับ เป็นน้ำมูกใสๆ หมอบอกว่าแพ้อากาศ ผมเลยทานคลอเฟนนิรามีนบ่อยมาก เภสัชกรบอกผมว่า ยานี้ไม่มีอันตรายนอกจากทำให้ง่วงเท่านั้น คนตั้งครรภ์ก็ทานได้ ผมเลยมีเป็นกระปุกเลยครับ)

จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือของพระที่เป็นฝรั่ง (เป็นศิษย์ของหลวงปู่ชา - ผมจำชื่อท่านไม่ได้ครับ) ท่านว่า ฌาณนั้นเหมือนกับยา LSD ครับ ท่านว่าอย่างนั้น ผมจำท่านมาอีกที

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 13:31:04

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 13:55:43
ชอบข้อความนี้จังเลยครับ


ถัดจากนั้นก็มีบัญญัติและรู้บัญญัติว่า "สุนัข"
รู้ความคิดที่ว่า "นี่มันสุนัขบ้าให้ระวังไว้"
จิตเกิดมีอาการไหววูบขึ้นมาในใจ ก็รู้อาการนั้น


เคยเห็นอยู่ครับ แต่ไม่รู้ว่าอันนี้เขาจัดว่าเป็นอะไร และไม่ได้สนใจว่าเขาจัดไว้ให้ว่าเป็นอะไร รู้แต่ว่าเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิตเท่านั้น นี่หากว่ารู้มาก่อนว่า อย่างนี้เรียกว่าปรมัตถ์ สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ปฎิกริยาของจิตหลังจากที่ได้ "รู้ปรมัตถ์" คงจะมัวอยู่กับความตื่นเต้นที่ได้รู้ปรมัตถ์เป็นแน่

เหตุนี้แหละครับ ผมจึงชื่นชอบพระสูตรมากกว่าครับ เพราะเรียบง่าย และตรงไปตรงมา เพื่อขจัดเสียซื่งโมหะของผู้นั้น (มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่ออวดรู้ของผู้แต่งตำรา ซึ่งตำราบางเล่มผมอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ)
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 13:55:43

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 14:24:50
สาธุ ขอบคุณครับ
โดนใจเข้าอย่างจังครับ
โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 14:24:50

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 15:37:18
ผมเคยพบเห็นปัญหาในลานธรรมหลายคราวมาแล้ว
คือเมื่อมีผู้กล่าวว่านิยมพระสูตร ก็คล้ายกับว่าต่อต้านพระอภิธรรม
เรื่องนี้ไม่อยากให้คิดอย่างนั้นกันนะครับ
เพราะพระอภิธรรมก็เป็นหนึ่งในพระไตรปิฎกเหมือนกัน
ผมเองที่จริงก็ชอบศึกษาเหมือนกัน
ชอบฟังวิทยุรายการของอาจารย์แนบ อาจารย์สุจินต์มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
เพิ่งมาขยาดอภิธรรมเอาตอนหลังที่ลูกศิษย์อาจารย์แนบ
หันไปเป็นพวกเข้าทรงเสียหลายท่านนี่เอง

ผมเพิ่งไปได้หนังสือดีมาเล่มหนึ่ง ชื่อ ความเข้าใจเรื่องอภิธรรม
เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งพระองค์ท่านเป็นนักปริยัติที่ปราดเปรื่องสุดขีดองค์หนึ่ง
ทั้งยังเป็นนักปฏิบัติระดับครูบาอาจารย์ในสายพระป่าองค์หนึ่ง
ลองหามาศึกษาดูนะครับ แล้วจะเข้าใจพระอภิธรรมในขั้นพื้นฐานได้ไม่ยาก

จุดเด่นก็คือ ท่านจำแนกข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นออกจากกัน
อันเป็นวิธีการศึกษาที่ปัญญาชนยุคนี้คุ้นเคยกัน
เช่นท่านระบุชัดเลยว่า พระอภิธรรมปิฎกไม่ปรากฏที่มาในตำราชั้นบาลี
บางคัมภีร์มีหลักฐานว่าแต่งขึ้นภายหลัง
ส่วนคัมภีร์ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครแต่ง
ก็มีอรรถกถา(ซึ่งแต่งขึ้นภายหลัง)ระบุว่า
เป็นธรรมเทศนาบนดาวดึงส์ให้พระพุทธมารดาฟัง
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อธิบายขึ้นภายหลัง และมีข้อโต้แย้งได้อีกมาก

ท่านระบุว่าในอรรถกถายกย่องพระอภิธรรมมาก
ถึงกับประณามผู้คัดค้านว่าเป็นคนนอกศาสนาทีเดียว
(อันนี้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกนะครับ)
จากจุดนี้ ท่านได้วิเคราะห์ว่าความรุนแรงของฝ่ายนิยมอภิธรรม
ได้สะท้อนว่าคงมีผู้คัดค้านพระอภิธรรมมาตั้งแต่ยุคแรกแต่งแล้ว

ถัดจากนั้นท่านจึงกล่าวถึงคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
ซึ่งแต่งขึ้นราวเกือบพันปีหลังพุทธกาล
บางเรื่องท่านก็เห็นด้วย บางเรื่องท่านก็วิจารณ์
เช่นเรื่องอายุรูปว่าเท่ากับ 17 ขณะจิตนั้น
อันที่จริงคงเป็นช่วงเวลาที่จิตไปรู้รูปคราวหนึ่งๆ
ไม่ใช่อายุจริงๆ ของรูป เป็นต้น

ท่านสรุปไว้ชัดเจนครับว่า
"สารัตถะในพระอภิธรรมนั้นมีมาก
ถึงท่านจะไม่แสดงประวัติให้พิสดารไว้อย่างไร
สารัตถะในอภิธรรมนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ควรจะศึกษา
เมื่อศึกษาแล้ว ก็จะทำให้ได้ความรู้ในพระพุทธศาสนา
พิสดาร(กว้างขวาง)ขึ้นอีกเป็นอย่างมาก"


ผมเองก็เห็นด้วยว่าพระอภิธรรมเป็นสิ่งที่น่าศึกษา
แต่ควรศึกษาอย่างนักการศึกษาที่ดีนะครับ
ถ้าเดินตามรอยบาทของสมเด็จพระญาณสังวรฯ แล้วละก็
โอกาสเมาตำราก็จะไม่เกิดขึ้นครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 15:37:18

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 15:58:40
รู้สึกว่าผมจะติดยาบ่อยมากเลย
พอปฏิบัติแล้วสบายมีความสุขก็นึกว่าปฏิบัติได้ดี
ทั้งๆ ที่วิธีนั้นเคยเป็นวิธีที่ปฏิบัติผิดมาแล้ว
ก็กลับเอามาปฏิบัติผิดใหม่ได้อีก
ยังกลัวอยู่เลยว่าถ้าไม่มีครูบาอาจารย์แล้วจะทำยังไง
โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 15:58:40

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 18:58:44
โย ยังปฏิบัติแบบเด็กติดยาจริงๆ ครับ
ถ้ารู้ทันว่าติดอยู่ อาการก็ไม่สาหัสนัก
ถ้ารู้ไม่ทัน จึงจะน่าเป็นห่วงครับ
ที่ผ่านมาตอนนี้ ยาที่ติดก็อ่อนกว่ายาที่เคยติดเมื่อก่อนครับ

ถ้ารู้ทันได้เองว่าติดอยู่ ก็รู้ไปด้วยใจเป็นกลางว่ายังติดอยู่
ไม่มีครูบาอาจารย์ก็ไม่เป็นไรครับ หัด รู้ ให้มากเข้าไว้ก็แล้วกันครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 18:58:44

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ไพ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 20:37:32
ตั้งใจอ่านอยู่ 2 เที่ยว มีความสงสัยอย่างนี้ค่ะพี่
1. ที่พี่บอกว่า นักปฏิบัติร้อยละร้อย ไม่มีสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ
    แต่อันนี้หมายถึงว่า เฉพาะพระอรหันต์จึงจะมีสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ
    ด้วยรึเปล่าคะ คือ พระอริยะขั้นต้นๆ ก็ยังมีหลง มีเผลออยู่ ใช่รึเปล่า

2. ตรงเรื่องของหมาบ้า...
    ตอนที่ตากระทบรูป ยังไม่ก่อน้ำหนักใดๆขึ้นในจิต
    ตอนนี้ยังไม่ใช่ สัญญา ใช่มั้ยคะ
    คือเหมือนมีแค่คลื่นบางอย่างกระทบจิต
    พอรู้ว่าเป็น สุนัข  ตรงนั้นถึงเริ่มจะเป็นสัญญา
    แล้วพอเกิดอาการ ไหววูบขึ้นมาในใจ
    ตรงนี้คือ เกิดสังขาร แล้ว
    ไม่ทราบว่า ไพเข้าใจถูกมั้ยคะพี่
     เหมือนอย่าง ความคิด ก็ทำนองเดียวกัน
    คือตอนแรกมีแค่คลื่นบางอย่างกระทบจิต
    แล้วค่อยรู้ว่า มีความคิดเกิดขึ้น
    ถ้ามีอาการไหววูบขึ้นในจิต ก็แปลว่า
    กระโดดเข้าไปอยู่ในความคิดแล้ว
    อย่างงี้ ใช่มั้ยคะพี่

3.  ตรงที่พี่บอกว่า รู้ชัดสมมติโดยความเป็นสมมติ
     รู้ชัดถึงปรมัตถ์โดยความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง
     เหมือนอย่างกับว่า เรารู้สึกถึงความเป็น เรา
     ก็เป็นจริงในสมมติ แต่รู้ชัดในปรมัตถ์ไปพร้อมๆกัน
     ว่า  เรา ไม่มีอยู่จริง เป็นขันธ์ 5 กองหนึ่ง
     เป็นเพียงธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง
     เหมือนโต๊ะ เหมือนเก้าอี้
     อย่างงี้ ใช่มั้ยคะพี่

4.  ถ้าสรุปลงทั้งหมด เหมือนกับว่า
     ให้เราดูจิต ดูความเคลื่อนไหวของจิต
     เหมือนกับกำลังดูทีวี ฟังวิทยุ
     แค่ดูเฉยๆ ฟังเฉยๆ รู้ตัวว่ากำลังดู กำลังฟัง
     เห็นทั้งทีวี และเห็นคนที่กำลังดูทีวี
     จนเห็นความเป็นธรรมชาติธรรมดา
     ของทั้งทีวี และคนดูทีวี
     เหมือนอย่างที่กำลังพิมพ์ถามคำถามอยู่นี้
     ก็เห็นทั้งคำถาม เห็นคนที่ถาม
     เห็นอาการเคลื่อนไหวของมือที่พิมพ์
     เห็นอารมณ์ของจิตว่ายินดีหรือยินร้ายหรือเฉยๆ
     แล้วก็เห็นว่าทั้งคำถาม ทั้งคนที่ถาม
     ก็ยังเป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ
     อยากรู้ไปเรื่อยๆ  เป็นธรรมชาติธรรมดา
     ที่ในที่สุด เมื่อได้คำตอบ ก็ต้อง รู้แล้วทิ้ง
     อีกจนได้
     พี่..ทำไมชีวิตมันวนเวียนอยู่อย่างงี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
     เบื่อจังเลย  โง่ไม่หายซักที

โดยคุณ ไพ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 20:37:32

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ฐิติมา วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 20:53:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 07:54:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 08:07:20
สาธุ
_/\_

ข้อความท่อนนี้สำคัญมากต่อการปฏิบัติจริงๆครับ
"แล้วทุกวันก็เจตนากำหนดรู้ปรมัตถ์ไปเรื่อยๆ
โดยเจตนาไม่สนใจบัญญัติ"
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 08:07:20

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 08:31:25
1. พระอรหันต์จึงจะมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ครับ
แต่ตามความหมายที่ผมว่านักปฏิบัติส่วนมากขาดสัมปชัญญะนั้น
หมายถึงนักปฏิบัติส่วนมาก ยังปฏิบัติไปด้วยจิตที่มีโมหะครอบงำโดยไม่รู้ทันครับ
มักจะปฏิบัติไปอย่างไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้กิจของอริยสัจจ์ ไม่รู้วิธีเจริญสติ
เอาแต่เผลอบ้าง เพ่งบ้างไปตามเรื่อง
กระทั่งการนั่งคิดถึงเรื่องปรมัตถ์ ซึ่งไม่ใช่การรู้ปรมัตถ์ด้วย

2. ทำนองนั้นครับ ตัวธัมมารมณ์จริงๆ กระทั่งตัวความคิดจริงๆ
มันเป็นสภาวธรรมเท่านั้น
ไม่มีคำพูดเป็นคำๆ ครับ ที่พูดเป็นคำๆ เป็นบัญญัติซึ่งอาศัยสัญญาขึ้นมาภายหลัง

3. เกือบถูกครับ ผิดนิดเดียวตอนท้ายครับ
ตัวโต๊ะเก้าอี้นั้น ถ้ารู้มันโดยความเป็นรูป เป็นธาตุอันนั้นเป็นปรมัตถ์
ถ้าสำคัญว่ามันเป็นโต๊ะเก้าอี้ ก็ยังเป็นสมมุติบัญญัติครับ

ที่ผมกล่าวว่า "รู้ชัดสมมติโดยความเป็นสมมติ
รู้ชัดถึงปรมัตถ์โดยความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง"
อันนี้เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง คือการรู้ปรมัตถ์นั้น
จิตจะรู้แล้วจำแนกเอาสมมุติบัญญัติออก
ก็จะเห็นเพียงธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่เรียกกระทั่งชื่อว่าปรมัตถ์ด้วยซ้ำไป
ถ้าจิตยังสำคัญว่า นี่ปรมัตถ์ ก็ยังไม่เข้าถึงรู้จริงๆ ครับ
เพราะเอาบัญญัติไปใส่ปรมัตถ์เสียอีกแล้ว

4. ไม่ต้องคิดมากครับ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง
ทำต้นทางให้ดี ปลายทางก็เข้าถึงเองครับ
อย่าไปคำนึงคำนวณถึงปลายทางเอาล่วงหน้า
เจริญสติสัมปชัญญะให้มากๆ ไว้ครับ
จะไม่รู้เรื่องปรมัตถ์หรือบัญญัติเลยก็ไม่เป็นไร
มันอาจจะไปรู้เอาวับเดียวในภายหลัง ก็เป็นได้ครับ

ส่วนที่เห็นว่าชีวิตมันวนเวียนซ้ำซากน่าเบื่อนั้น
เป็นความเห็นผิด ตั้งแต่เห็นว่า "ไพมีชีวิต" แล้วครับ
ที่ว่ามันวนเวียนซ้ำซากน่าเบื่อ ก็เพราะมีความขัดใจ
แค่ความรู้สึกเท่านี้ ถ้ามีโยนิโสมนสิการ
ก็จะเข้าใจกิเลสตนเองได้อีกหลายตัวทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 08:31:25

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ มรกต วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 12:23:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 21:04:36
ผม สรุป บอก ตัวเองอย่างนี้ถูกไหมครับ ว่า รู้ตาม ความเป็นจริง ไม่ต้อง ไปคิดให้รู้มากกว่าความเป็นจริง ที่ปรากฎ
ผมนึก ถึง ท่อนท้ายของสติปัฎฐาน สูตร ที่ว่า “สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่  แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก “

อีกประการหนึ่งที่ขอเรียนถามคือ คือ เวลา เข้าไป เพลินในอารมณ์ เมื่อ รู้สึกตัวขึ้นมา จะเห็นว่า ไม่ได้ไปเพลิน ในอารมณ์ เมื่อ แรก สัมผัส แต่ไป เพลิน ในความคิดที่ ตามหลัง สัมผัสแรก มากกว่า

เช่น เห็นสาวสวย  จะไม่ได้เผลอไปในรูปที่เห็นเท่าไหร่ แต่ จะเผลอไปใน อาการที่คิดต่อจากที่เห็นมากกว่า  ไม่แน่ใจว่าข้อสังเกตนี้ จะถูกหรือไม่ หรือเป็นเฉพาะคนไป

โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 21:04:36

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 08:14:06
ใช่ครับคุณ listener
ให้รู้ตามความเป็นจริงเท่าที่รู้ได้
ไม่ใช่ เจตนา และอยาก จะรู้ให้เกินกว่าที่สติปัญญาจะรู้ได้จริง
ให้ฝึกฝนพัฒนาสติสัมปชัญญะให้มาก
แล้วก็จะรู้ได้ว่องไว รู้ได้ละเอียด
และรู้ความจริงของจริงได้มากขึ้น โดยไม่ต้องฝืน


ขณะที่รู้อารมณ์ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธัมมารมณ์จริงๆ
ตรงนั้นจิตเพียงแต่รู้เท่านั้น ยังไม่เสพย์อารมณ์
จิตตรงนี้ยังเป็นอุเบกขาหรือเป็นกลางอยู่ตามธรรมชาติ

อย่าพยายามไปกำหนดจิตให้หยุดนิ่งลงตรงนี้เพื่อจะรู้แต่ปรมัตถ์นะครับ
เพราะกำหนดไม่ได้จริงหรอก
ตอนที่คิดจะกำหนดนั้น
จิตมันขึ้นวิถีใหม่ หรือขึ้นกระบวนการของจิตรอบใหม่แล้ว
ตรงนี้แหละที่ผู้เรียนตำราชั้นหลังปฏิบัติผิดกันมาก
กลายเป็นหลงคิดตามสัญญาเท่านั้น

จึงควรปล่อยให้จิตเขาทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดา
คือเมื่อถัดจากรู้รูป เสียง .. ธัมมารมณ์ นั้น
จิตจะอาศัยความจำรูปได้ ความจำเสียง .. ธัมมารมณ์ได้
เอามาเป็นปัจจัยสนับสนุนความคิดนึกปรุงแต่ง
แล้วเกิดกิเลสตัณหาอุปาทานขึ้นตรงช่วงหลังนี้
ตามตำรารุ่นหลังเขาเรียกว่า "ชวนะ"
จิตก็จะเกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง

แต่ตัวความคิดนึกปรุงแต่ง เช่นกิเลสตัณหา
และกลไกที่จิตแล่นไปก่อทุกข์ (ไม่ใช่เรื่องหรือเนื้อหาที่คิดนะครับ)
มันก็เป็นความจริงหรือปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมของมันเหมือนกัน
ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้มันไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไปเลย
อันนี้ก็เป็นวิปัสสนาเหมือนกัน ในหมวดของ เวทนา จิต และธรรม

ที่คุณ listerner เห็นเรื่องสาวสวยนั้น เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ
ดีทีเดียวครับ ที่สังเกตจนรู้จริงได้อย่างนี้
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 08:14:06

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 09:30:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 10:13:19
สาธุ ขอบคุณครับครู
_/|\_
โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543 10:13:19

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2543 07:28:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ จ้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2543 15:35:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 15 กันยายน 2543 09:38:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ อี๊ด วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 16:47:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com