กลับสู่หน้าหลัก

ดูจิต เป็นเมตตาได้อย่างไร

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 07:24:57

ผมเคยมีความสงสัยอยู่ประการหนึ่ง ว่าพระผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ ทำไมจึงมักมีแต่เมตตา ทั้งๆที่แนวทางการฝึกฝนของท่าน ไม่เห็นจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเมตตาเลย บ้างก็พิจารณากาย บ้างก็พิจารณาใจ มีน้อยที่พิจารณาลงที่ตัวเมตตา

ผมตั้งสมมุติฐานเอาไว้ว่า คงเป็นเพราะบารมีเก่าของท่านมากกว่า

ผมเคยได้รับรสแห่งเมตตาที่ไม่มีประมาณมาครั้งแรกในชาตินี้ ก็เมื่อไปกราบหลวงพ่อสีทน วัดถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย มีความรู้สึกว่า บรรยากาศรอบๆตัวช่างอบอุ่นเสียจริงๆ มีความรู้สึกเหมือนเด็กทารกที่อยู่ในอ้อมกอดของมารดา ทั้งๆที่ก่อนจะไปกราบท่าน ใจก็ตื่นเต้น แต่เมื่อได้พบกับท่านแล้วไม่มีความตื่นเต้นเหลืออยู่เลย มีแต่อิ่มเอมในความสุขความอบอุ่น ซึ่งรู้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเมตตาที่ท่านแผ่มาให้

เมื่อวานนี้ ผมได้เห็นตัวอย่าง ว่าการปฎิบัติธรรม แม้เราจะไม่นึกถึงเมตตา แต่ก็เป็นเมตตาอยู่ในตัว วันนี้ผมเลยมาเล่าให้ฟัง

มีน้องคนหนึ่ง ที่มักจะมีวาจาและอากัปกริยาที่ออกจะกวนอารมณ์มากไปหน่อย อีกทั้งดูเหมือนกับขาดวินัยในการทำงาน และรวมถึงทักษะในการทำงานเป็นทีม ทำให้เกิดความหงุดหงิดแก่ผมได้บ่อยๆ

เมื่อวานนี้ก็เป็นอีกหนหนึ่ง ที่เขาทำให้ผมหงุดหงิดได้

แต่คราวนี้มีปรากฎการณ์เปลี่ยนไป จากปกติที่ใจผมมักจะไปคลุกคลีอยู่กับความหงุดหงิดนั้น ทำให้ความหงุดหงิดนั้นมีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่มาคราวนี้หลังจากที่จิตคลุกคลีอยู่ในความหงุดหงิดนั้นได้ช่วงสั้นๆ จิตก็เห็นว่าความรู้สึกหงุดหงิดนั้นเป็นของร้อน จิตมีอาการพยายามที่จะดิ้นให้หลุดไปให้ได้ มีจังหวะจิตเองได้ส่งตัวเองออกไปรู้ที่น้องคนนั้น ก็พบว่าน้องคนนั้นมิได้เจตนาแต่เป็นนิสัยปกติของเขา และจิตเองก็หาได้ไม่พอใจในน้องคนนั้นไม่ แต่เมื่อหันกลับมามองตัวเอง ก็พบว่า ความขุ่นข้องหมองใจยังปรากฎอยู่ที่กลางอก

เมื่อจิตมองดูอยู่อย่างนั้น จิตก็พยายามที่จะไม่คลุกคลีเอาด้วยกับอารมณ์อันนั้น มองดูอยู่ แม้ว่าจะดูอย่างเผลอมากกว่าอย่างรู้ตัว (ดูอย่างเผลอเป็นอย่างไร ก็เป็นเหมือนอย่างคนที่ไม่ได้ฝึกการดูจิตน่ะครับ แต่มีสติอย่างที่ชาวบ้านเขาเรียก) จิตก็พยายามมองว่า อารมณ์สักแต่ว่าอารมณ์ (ในขณะที่เห็นความพยายามนี้ ความหลง หรือความมัว หรือตัวโมหะ ก็ลดลง)

ในระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆ จิตก็รำพึงว่า "วันๆมีแต่การต่อสู้กับความหลงอารมณ์เท่านั้น นอกนั้นก็ไม่มีอะไรต้องทำเลย"

หลังจากรำพึงแล้ว จิตก็หันกลับมาดูความหงุดหงิดต่อไป แล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่า "ตนเองช่างโง่จริงๆ ที่ไปหลงโกรธเอากับคนไม่รู้เรื่อง ที่จริงอากัปกริยาของเขานั้นก็เป็นเปล่าๆเท่านั้นหรอก มีแต่เราที่หลงโง่ไปโกรธเขาเอาเท่านั้น"

เมื่อจิตสัมผัสถึงความเปล่าๆในอากัปกริยาของน้องคนนั้นแล้ว (หมายถึงอากัปกริยาที่น้องเขาแสดงออกมาสร้างความหงุดหงิดแก่เรานั้น ไร้ความหมายใดๆต่อเรา) ความหงุดหงิดใจก็ดับหายไป แต่มีความสุขผุดขึ้นแทนที่กลางอกนี้ และแผ่ออกไป ซึ่งอาการเช่นนี้ ไม่แตกต่างอะไรกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่มองดูลูกของตัวเองแม้แต่น้อย

พิจารณาในความสุขที่ปรากฎกลางอก ก็พบว่าในนั้นมีแต่ความปราถนาดีปรากฎ และจิตเองก็เอาน้องคนนั้นเป็นที่หมาย เมื่อเห็นดังนี้จึงถึงบางอ้อว่า "การดูจิต เป็นเมตตาเพราะเหตุนี้"

(และตรงนี้ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนด้วย ว่าอภัยทานเป็นเมตตาได้อย่างไร)

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 07:24:57

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 08:01:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 09:47:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 10:07:44
เรื่องของความเมตตานั้น มีได้หลายระดับครับ
ในทางโลกก็มีความเมตตา แบบมีผู้เมตตา และมีผู้ที่รับความเมตตา
เช่นมีพ่อมีแม่ ที่ให้ความเมตตาต่อลูกของตน
มีคนใจบุญ ที่เมตตาต่อคนอื่น หรือสัตว์อื่น
ความเมตตาระดับนี้ ยังค่อนข้างแปรปรวนง่าย
เช่นพ่อแม่เมตตาลูกแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นราคะ คือเกิดผูกพันเป็นเจ้าของ
หรือคนใจบุญ อาจจะเลิกเมตตาคนบางคน
เพราะไอ้หมอนั่นมันพูดกวนโทสะ ขึ้นมา เป็นต้น

อุบายที่จะให้เกิดความเมตตาระดับนี้ ก็มีอยู่มากมาย
เช่นสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น มองผู้อื่นเหมือนลูกหลาน
หรือคิดถึงอกเขาอกเรา เห็นเขาเคยคิดผิด ทำผิด เหมือนเราเมื่อก่อน
แล้วเขาก็จะต้องจมกับผลทุกข์ที่ตามมา เหมือนที่เราเคยทุกข์มาก่อน ฯลฯ

ความเมตตาอีกชนิดหนึ่ง เป็นความเมตตาแบบเหนือโลก
ผู้เมตตานั้นท่านประจักษ์ชัดถึงความประจวบมีขึ้นเป็นคราวๆ ของสรรพสิ่ง
ไม่มีเขา ไม่มีเรา แต่กระแสเมตตาก็เกิดขึ้นได้
เพราะจิตของท่านปราศจากศัตรูของความเมตตา
(คล้ายกับที่สมาธิเกิดขึ้น เพราะจิตปราศจากนิวรณ์อันเป็นศัตรูของสมาธิ)
เมตตาชนิดนี้ ผ่องใส เยือกเย็น อบอุ่น (แปลกนะครับ ทั้งเย็นทั้งอุ่น)
เบิกบาน แผ่ไพศาลไม่มีประมาณ
และเสมอกันหมดแก่ "สัตว์" ทั้งปวง

จิตที่จะเกิดเมตตาชนิดนี้ได้ ไม่ต้องอาศัยอุบายอะไรเลย
ไม่ยุ่งยากและแปรปรวนเหมือนความเมตตาแบบโลกๆ เสียด้วยสิ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 10:07:44

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 10:14:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ มรกต วัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543 12:14:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ จ้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2543 15:57:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 15 กันยายน 2543 09:37:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ tuli วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 21:29:33
เมื่อก่อนผมดูจิตด้วยใจเฉยๆ  ปรากฏว่าโมหะแทรกตลอด  แต่เดี๋ยวนี้ผมดูแล้วเป็นกุศลจิตตลอด  (มันเกิดเอง  แต่ถ้าไม่เกิดก็ใช้อนุสติ 10 กุศลก็เกิด)  แล้วก็รักษา + ดูกุศลจิตนั้นไว้ตลอดเวลา  ปรากฏว่าโทสะหายไป  และกลายเป็นเมตตาจิตเกือบตลอด
พอดีไปอ่านพบคำสอนของหลวงปู่ฝั้น  ท่านบอกว่ามีสิ่งที่ต้องทำอยู่2อย่างคือ ทำกุศลจิตให้เกิด  และรู้อยู่เสมอ
โดยคุณ tuli วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 21:29:33

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com