กลับสู่หน้าหลัก

วิถีแห่งจิต

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:22:24

1. ไม่ปรากฏเรื่องวิถีจิตในพระไตรปิฎก

จิตมีธรรมชาติเกิดดับอย่างรวดเร็วสืบเนื่องกันอยู่เสมอ
ช่วงใดที่จิตไม่ได้ออกรับรู้อารมณ์
ก็มีสภาพเป็นจิตที่หลับอยู่ เรียกว่า "ภวังคจิต"
เมื่อใดจิตออกมารับรู้อารมณ์ ตำราท่านเรียกว่า "วิถีจิต"

อันที่จริงไม่ปรากฏคำว่า "วิถีจิต" ในพระไตรปิฎก กระทั่งในพระอภิธรรมปิฎก
เพราะเป็นเรื่องที่นักปราชญ์ชั้นหลังท่านบัญญัติขึ้นเอง
แต่ก็เขียนขึ้นอย่างมีมูลความจริงที่นักปฏิบัติพอจะพิจารณาเห็นตามได้
ภายหลังจากที่ได้ลงมือเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง
ตามคำสอนตรงของพระพุทธเจ้าแล้ว

2. ตำรามีประโยชน์ถ้าศึกษาอย่างมีวิจารณญาณ

ก่อนที่เราจะพูดกันเรื่องวิถีจิต เราควรทำใจเสียก่อนว่า
การศึกษาตำราเพื่อค้นหาสาระประโยชน์ควรทำอย่างมีวิจารณญาณ
ส่วนใดที่เห็นว่าเกินจริง ก็แขวนไว้ก่อน
แล้วศึกษากลั่นกรองเอาเฉพาะสาระประโยชน์มาใช้
จึงจะสมกับเป็นวิธีการศึกษาของปัญญาชนในยุค IT

ในเรื่องวิถีจิตนั้น มีการกล่าวถึงบางสิ่งที่ดูจะเกินความจริงมากไป
เช่นสอนกันว่า จิตเกิดดับได้รวดเร็วถึงแสนโกฏิขณะ
ในเวลาชั่วลัดนิ้วมือเดียว (เวลาชั่วงอนิ้วมือแล้วดีดออก)
ส่วนนี้ควรจะมองในแง่ว่าเป็นโวหารของการประพันธ์
คือท่านต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่าจิตเป็นสิ่งที่เกิดดับว่องไวมาก
แต่ถ้าไปเชื่อว่าจิตเกิดดับเร็วขนาดนั้นจริง ก็จะเกิดความท้อใจ
เพราะใครจะไปศึกษาปฏิบัติอะไรได้
ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนั้น
นอกจากการอ่านและเรียนรู้ตามตำรา อย่างไม่มีทางพิสูจน์ความจริงได้เลย

การใส่จำนวนนับให้มากๆ เป็นลีลาการเขียนหนังสือของนักปราชญ์ในยุคนั้น
ซึ่งเราจะพบได้บ่อยครั้งในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา
เช่นใน "อรรถกถาธรรมบท" ซึ่งท่านพระพุทธโฆษาจารย์ประพันธ์ขึ้น
ระบุว่า เมืองสาวัตถีมีประชากร 7 โกฏิ
(จำนวนใกล้เคียงกับคนไทยทั้งประเทศในขณะนี้)
ได้ฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระอริยบุคคล 5 โกฏิ ไม่บรรลุ 2 โกฏิ
เวลาเช้าพระอริยะทั้งหลายท่านตักบาตร (พระคงฉันไม่ไหว)
หลังจากนั้นก็ไปวัดฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า (วัดต้องใหญ่มาก)

เราไม่ควรจริงจังกับเรื่องจิตเกิดดับได้แสนโกฏิขณะในชั่วลัดนิ้วมือเดียว
เพราะในตำรานั้นเอง ระบุเรื่องอายุรูปรูปหนึ่งว่าเท่ากับ 17 ขณะจิต
มิฉะนั้นจะต้องกล่าวว่า ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว
(ผมลองดีดนิ้วดูแล้ว 5 วินาทีดีดได้ประมาณ 10 ครั้งขึ้นไป)
จิตรู้รูป เช่นตาเห็นรูปได้เท่ากับ แสนโกฏิหารด้วย 17
คือ 5882.353 โกฏิครั้ง ในเวลาประมาณครึ่งวินาที
ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า ประสาทตาของมนุษย์
จะมีความไวในการรับรู้รูปได้เร็วถึงขนาดนั้น

คำสอนที่แต่งขึ้นใหม่ในตำราชั้นหลังพระไตรปิฎกชนิดนี้แหละครับ
ที่เมื่อวิทยาการยุคนี้พอจะยืนยันได้ว่าไม่จริง
ก็จะทำให้คนที่ไม่รู้จักจำแนกคำสอน ว่าเป็นคำสอนของท่านผู้ใดแน่
หันไปล่วงเกินพระพุทธเจ้า ว่าท่านไม่มีพระสัพพัญญุตญาณจริง
(ทำนองเดียวกับที่ตำรากล่าวว่า หทยวัตถุหรือเนื้อหัวใจและน้ำเลี้ยงหัวใจสีต่างๆ
เป็นที่รับรู้อารมณ์ที่เป็นนามธรรมบ้าง เป็นที่จิตเกิดดับในภวังคจิตบ้าง
พอถึงยุคที่เปลี่ยนหัวใจได้ หรือเกิดมีหัวใจเทียมขึ้น
ก็เริ่มสร้างความไม่เชื่อถือในหมู่ปัญญาชนบ้างแล้ว)

จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทั้งหลาย
ที่จะต้องช่วยกันจำแนกประเภทและยุคสมัยของคำสอนต่างๆ
เพราะคำสอนตรงของพระศาสดานั้น เรียบง่าย ตรงไปตรงมา
และนำผู้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ได้อย่างไม่จำกัดด้วยกาล คือเป็นจริงเสมอไป
ไม่มีผู้ใดจะคัดค้านว่าไม่จริงได้
ส่วนคำสอนที่แต่งเติมในชั้นหลัง อาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างจริงๆ
ซึ่งผมคาดการณ์ว่า ตำราในส่วนเกี่ยวกับรูปปรมัตถ์
จะเป็นส่วนแรกที่ถูกคัดค้าน เพราะวิทยาการยุคนี้เริ่มก้าวทันแล้ว

คราวนี้เราลองมาศึกษาวิถีจิต ทั้งจากตำราและในมุมมองของนักปฏิบัติกันบ้าง
แล้วจะพบว่า ตำราชั้นหลังที่ตัดส่วนเกินจริงออก ไม่ใช่จะเหลวไหลอย่างที่คิด
หากแต่มีประโยชน์เกื้อกูลต่อนักปฏิบัติในระดับหนึ่งทีเดียว
คือช่วยเตือนไม่ให้เราเกิดความหลงผิดว่า จิตเที่ยง
หรือเห็นว่าอารมณ์เกิดดับ แต่จิตไม่เกิดไม่ดับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:22:24

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:24:13
3. เรียนรู้เรื่องวิถีจิตจากตำรา

ถ้านับเลขจาก 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, ถัดไปก็กลับนับเป็น 0. ใหม่
ระบบของวิถีจิตก็คล้ายๆ กับการนับเลขชุดนี้
เพียงแต่ไม่ได้นับไปถึง 9 แล้วต่อด้วย 0
หากแต่นับไปถึง 16 แล้วจึงต่อด้วย 0 รวมเป็นเลขชุดละ 17 ตัว
(จิตไม่จำเป็นต้องเกิดครบ 17 ขณะอย่างนี้เสมอไปนะครับ
บางกรณีที่อารมณ์ไม่แรง หรือเป็นอารมณ์ทางใจล้วนๆ ก็เกิดน้อยกว่านี้ได้)

เลข 0 หมายถึง ภวังคจิต คือจิตที่อยู่ในภพดั้งเดิมของจิตเอง
ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับขันธ์ 5
เป็นสภาพที่จิตยังไม่ได้รับรู้อารมณ์ใดๆ เลย
ส่วนเลขตัวถัดๆ มา หมายถึงจิตในแต่ละขณะที่เกิดดับสืบทอดการทำงานกันไป
จนหมดวาระการทำงานแล้วก็ตกภวังค์อีกครั้งหนึ่ง

เราลองมารู้จักกับวิถีจิตตาม  คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ  กันก่อน
อย่าตกใจกลัวนะครับ อันที่จริงก็คือศาสตร์อันหนึ่งนั่นเอง
ใครไม่สะดวกใจจะศึกษาก็ไม่ว่ากัน
ผมเพียงแต่ต้องการเทียบเคียงให้ผู้สนใจเห็นว่า
ตำราอภิธรรมก็มีเค้าความจริงที่เห็นได้จากการปฏิบัติ
ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยเหลวใหลแต่อย่างใด

ความหมายของจิตตุปปาทะ วิถีจิต และ ขณะ

คำว่า จิตตุปปาทะ คือ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกที่ประกอบ
ในที่นี้มี ความหมายว่า ในวิถีนั้นมีจิตเกิดขึ้นกี่ดวง
นับแต่ อาวัชชนจิต คือ จิตที่รับอารมณ์ ใหม่เป็นต้นไป
ส่วน ภวังคจิต แม้จะมีอยู่ในวิถีนั้นด้วยก็ไม่นับ
เพราะภวังคจิตเป็น จิตที่รับอารมณ์เก่า

จิตเกิดขึ้นในวิถีนั้นกี่ดวงก็นับเรียงดวงไปเลย
ไม่ว่าจิตนั้นจะทำกิจอย่างเดียวกัน หรือทำกิจต่างกัน
เช่น ชวนจิตในวิถีนั้นมี 7 ดวง หรือ 7 ขณะ ซึ่งทำชวนกิจอย่างเดียวกัน
ก็นับเป็นจิตตุปปาทะ 7 ขณะ หรือ 7 ดวง
ตทาลัมพนจิตในวิถีนั้นมี 2 ขณะ หรือ 2 ดวง
ซึ่งทำตทาลัมพนกิจอย่างเดียว ก็นับเป็นจิตตุปปาทะ 2 ดวง หรือ 2 ขณะ
(คำแปลจะกล่าวถึงทีหลังนะครับ)

คำว่า วิถีจิต คือ จิตในวิถีนั้นมีกี่อย่าง มีความหมายว่า
จิตในวิถีนั้น ทำกิจ กี่อย่าง ทำกิจอย่างหนึ่งก็เรียกว่ามีวิถีจิต 1
นับแต่อาวัชชนจิต คือจิตที่รับอารมณ์ ใหม่เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับจิตตุปปาทะ แต่ไม่นับเรียงดวง นับเป็นพวก ๆ
เช่น ชวนจิตมีจิตตุปปาทะ 7 แต่ทำชวนกิจอย่างเดียวเท่านั้นก็เรียกว่าวิถีจิต 1,
ตทาลัมพนจิต 2 ดวง ทำตทาลัมพนกิจอย่างเดียวก็เรียกว่า วิถีจิต 1 เช่นกัน
รวมชวนจิต 7 ตทาลัมพนจิต 2 เป็นจิต 9 ดวง ก็เรียกว่า มีวิถีจิต 2 เป็นต้น

คำว่า ขณะ คือ จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งก็นับเป็นขณะหนึ่ง
เรียกว่า ขณะจิต บางทีก็เรียก ขณะ เฉย ๆ
แต่ว่าจิตที่เกิดขึ้นดวงหนึ่งที่เรียกว่าขณะหนึ่งนั้น
ยังแบ่ง ได้เป็น 3 อนุขณะ หรือ 3 ขณะเล็ก
คือ อุปาทขณะ หมายถึงขณะที่จิตเกิดขึ้น 1 อนุขณะ,
ฐีติขณะ หมายถึงขณะที่จิตตั้งอยู่ 1 อนุขณะ
และ ภังคขณะ หมายถึง ขณะที่จิตนั้นดับไป 1 อนุขณะ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ขณะจิตหรือจิตแต่ละดวงนั้น
มีอายุ 3 อนุขณะ คือ อุปาทขณะ 1 (เกิดขึ้น),  ฐีติขณะ 1 (ตั้งอยู่),  ภังคขณะ 1 (ดับไป)

อนึ่งจิต 17 ขณะ เท่ากับอายุของรูปธรรมรูป 1
มีความหมายว่า จิตเกิดดับ ไป 17 หน รูปจึงดับไปหนหนึ่ง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
รูปแต่ละรูปมีอายุเท่ากับ จิตเกิดดับไป 17 ดวง หรือ 17 ขณะ
รูปที่มีอายุเท่ากับ 17 ขณะจิต หรือ 51 อนุขณะนั้น
มีชื่อเรียกว่า สตฺตรสายุกรูป มีอยู่ 28 รูป
ยังมีรูปที่อายุน้อยกว่านี้อีก 6 รูป
(ขออนุญาตไม่กล่าว เพราะจะเพิ่มประเด็นมากไป)

(เรื่องอายุรูปนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับตำรา
ความจริงรูปจะมีอายุเท่าไร เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์
ส่วนพระพุทธศาสนานั้น ท่านถือเอาใจเป็นใหญ่ เอาใจเป็นประธาน
อายุของรูปที่ว่านี้จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่จิตสัมพันธ์กับรูปคราวหนึ่งๆ
หรือหมายความว่า การรู้รูปคราวหนึ่ง ที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องใช้ 17 ขณะจิต
หรือต้องมีจิตเกิดดับสืบต่อกัน 17 ดวง จึงจะรู้รูปได้เต็มที่คราวหนึ่ง
ไม่ใช่ตัวรูปจริงๆ มีอายุเท่ากับ 17 ขณะจิต
เรื่องนี้ผมเคยคุยกับหมอยุทธ (หมอ tuli) ไว้ครั้งหนึ่ง
แต่เพิ่งพบพระวินิจฉัยของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
จึงทราบว่าท่านเคยพิจารณาในจุดนี้ไว้ก่อนแล้ว)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:24:13

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:26:43
เมื่อเราพอจะเข้าใจเรื่องขณะจิตแล้ว คราวนี้มาทำความรู้จักกับวิถีจิต
ซึ่งเป็นการสืบต่อกันเป็นชุดๆ ของจิตแต่ละดวงหรือแต่ละขณะ
อย่างไรก็ตาม วิถีจิตมีหลายประเภท
บางประเภทมีครบ 17 ขณะ บางประเภทมีไม่ครบ
ในที่นี้จะขอยกมาเฉพาะวิถีที่ครบ 17 ขณะจิต ที่เรียกว่า
อติมหันตารมณ์วิถี หรือวิถีที่เกิดจากอารมณ์ที่แรงมาก

เพื่อให้เข้าใจอติมหันตารมณ์วิถีง่ายขึ้น
ผมขอจัดกลุ่มของขณะจิตเป็นชุดๆ ดังนี้

ชุดแรกเป็นจิตที่ยังมีอารมณ์เก่า คือยังไม่ได้รับอารมณ์ใหม่
มีอยู่ 3 ดวง ได้แก่ อตีตภวังค(อักษรย่อในตำราอภิธรรมใช้คำว่า ตี)
ภวังคจลนะ (น) และ ภวังคุปัจเฉทะ (ท)
(ขอเรียนว่า ผมไม่พบคำว่าอตีตภวังค ภวังคจลนะ
และภวังคุปัจเฉทะ ในพระไตรปิฎก
จึงน่าจะเป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่
ภายหลังการสังคายนาครั้งที่ 5 ที่ลังกา
เพราะในการสังคายนาครั้งที่ 5
ได้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร)

คราวนี้มาทราบถึงความหมายของศัพท์แต่ละคำกัน

ขณะที่ 1 อตีตภวังค เป็นภวังคจิตดวงแรกที่กระทบกับอารมณ์ใหม่
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อารมณ์ใหม่มากระทบกับภวังคจิตดวงใด
ภวังคจิตดวงนั้นได้ชื่อ ว่า อตีตภวังค

ตัว ภวังคจิต มี กรรมอารมณ์ หรือกรรมนิมิตอารมณ์
หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
อันเป็นอารมณ์ที่ได้มาจากภพก่อน หรือนัยหนึ่งอารมณ์เก่า
แต่เพียงอารมณ์ใหม่มากระทบเท่านั้นเอง
ดังนั้น จิตดวงนี้จึงยังไม่เรียกว่า วิถีจิต

ขณะที่ 2 ภวังคจลนะ เป็นภวังคจิตที่ไหวตัว
เพราะเหตุที่มีอารมณ์ใหม่ มากระทบ
แต่ยังคงเป็นภวังคจิตที่มีอารมณ์เก่าอยู่
จึงยังไม่เรียกว่าวิถีจิตเหมือนกัน

ขณะที่ 3 ภวังคุปัจเฉทะ เป็นภวังคจิตที่ตัดกระแสภวังค
คือ ปล่อยอารมณ์ เก่า วางอารมณ์เก่า
เพื่อรับอารมณ์ใหม่ที่มากระทบนั้นต่อไป
ภวังคุปัจเฉทะนี้ ก็ยังคงเป็นภวังคจิตที่มีอารมณ์เก่าอยู่
จึงยังไม่เรียกว่าวิถีจิตเช่นเดียวกัน

ชุดที่ 2 เป็นจิตที่รับอารมณ์ใหม่แล้ว แต่ยังไม่เสพย์อารมณ์ใหม่
ประกอบด้วยจิต 5 ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนะ (ป),  ปัญจวิญญาณ (วิ),
สัมปฏิจฉันนะ (สํ ), สันตีรณะ (สัน) และ โวฏฐัพพนะ (วุ)
(ขอเรียนว่า ผมไม่พบคำว่า ปัญจทวาราวัชชนะ  สันตีรณะ
และ โวฏฐัพพนะ ในพระไตรปิฎก
ส่วนปัญจวิญญาณก็คือวิญญาณทางอายตนะ 5 (ยกเว้นใจ)
สำหรับคำว่า สัมปฏิจฉันนะ พบ 1 แห่งในคัมภีร์กถาวัตถุปกรณ์
ซึ่งแต่งขึ้นในช่วงการสังคายนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช)

คราวนี้มาทราบถึงความหมายของศัพท์แต่ละคำกัน

ขณะที่ 4 ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นกิริยาจิต(เป็นกลาง ไม่ดีไม่ชั่ว)
เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาอารมณ์ ใหม่ที่มากระทบนั้น
ว่าเป็นอารมณ์ที่มาทางทวารหรืออายตนะไหน
จะได้เป็นปัจจัยให้สัญญาณแก่ วิญญาณจิตทางทวารนั้น

ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้เป็นปฐมวิถีจิต
คือ เป็นจิตดวงแรกที่ขึ้นวิถี หรือที่นับเป็นวิถี
เพราะจิตดวงนี้ได้รับอารมณ์ใหม่แล้ว
และจิตดวงต่อ ๆ ไป ก็รับอารมณ์ ใหม่ และนับเป็นวิถีจิต
จนกว่าจะสุดวิถี คือ กลับเป็นภวังคไปตามเดิม

ขณะที่ 5 ปัญจวิญญาณ ก็เกิดขึ้นตามควรแก่อารมณ์ คือ
จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นเห็นรูป โสตวิญญาณ เกิดขึ้นได้ยินเสียง
ฆานวิญญาณ เกิดขึ้นรู้กลิ่น  ชิวหาวิญญาณ เกิดขึ้นรู้รส
กายวิญญาณ เกิดขึ้นรู้สึกในสัมผัส

ขณะที่ 6 สัมปฏิจฉันนะ  ก็เกิดขึ้นรับอารมณ์จากปัญจวิญญาณ
เพื่อเสนอต่อไป ยังสันตีรณะ

ขณะที่ 7 สันตีรณะ เกิดขึ้นไต่สวนอารมณ์นั้น ว่าดีหรือไม่ประการใด

ขณะที่ 8 โวฏฐัพพนะ คือ มโนทวาราวัชชนจิต (เป็นอเหตุกจิตอันหนึ่ง)
ที่ทำหน้าที่ โวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวาร
เกิดขึ้นเพื่อตัดสินและกำหนดให้เป็น กุสล หรือ อกุสล หรือกิริยา
ตามควรแก่ มนสิการ และบุคคล

กลุ่มจิตชุดที่ 3 เป็นกลุ่มจิตที่ทำหน้าที่เสพย์อารมณ์
(อีกเช่นเคยครับ คือไม่มีคำว่าชวนจิตในพระไตรปิฎก)
ประกอบด้วยจิตขณะที่ 9 ถึงขณะที่ 15 รวม 7 ขณะ เรียกว่าชวนจิต
เกิดขึ้น เสพอารมณ์นั้นเป็นกุสล อกุสล กิริยา
ตามที่โวฏฐัพพนะได้ตัดสินและกำหนดมานั้น แล้ว
และถ้าเสพให้เป็นกุสลก็เป็นกุสลทั้ง 7 ขณะ
ให้เป็นอกุสลหรือกิริยาอย่างใดก็เป็น อย่างนั้นแต่อย่างเดียวตลอดทั้ง 7 ขณะ
ชวนจิตที่เกิดได้ในวิถีนี้ ได้เฉพาะกามชวนจิต 29 ดวงเท่านั้น

(ผมขอตั้งข้อสังเกตกับคำว่า 7 สักหน่อยครับ
ตามสำนวนบาลีนั้น 7 อาจจะไม่ได้หมายถึงจำนวน 7 จริงๆ ก็ได้
แต่อาจหมายถึงจำนวนที่  "ไม่มาก" ก็เป็นได้)

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มส่งท้าย มี 2 ขณะ หรือ 2 ดวง
คือขณะที่ 16 และ 17 เรียกว่า ตทาลัมพนะ ทั้ง 2 ดวง
(ไม่มีคำว่าตทาลัมพนะ ในพระไตรปิฎกเช่นกัน)
เกิดขึ้นยึดหน่วงอารมณ์ที่เหลือจาก ชวนะนั้นอีก 2 ขณะ
เป็นอันครบ 17 ขณะจิต เป็นอันสิ้นสุดวิถี และสิ้นอายุของอารมณ์ใหม่นั้นด้วยพอดี
แล้วก็กลับเป็นภวังคจิต รับอารมณ์ต่อไปตามเดิม

ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมนอกพระไตรปิฎก
พวกเราที่พึงใจจะรับทราบไว้ ก็ศึกษากันดูนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:26:43

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:30:50
4. เรียนรู้เรื่องวิถีจิตจากจิตตนเอง

ก่อนจะเข้าเรื่องการเรียนรู้วิถีจิตจากจิตตนเอง
ผมมีของฝากมาแบ่งกันอ่าน คือขออัญเชิญพระนิพนธ์ของ
_/\_ _/\_ _/\_สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช _/\_ _/\_ _/\_
ท่านได้เปรียบเทียบวิถีจิตโดยทำให้เป็นบุคลาธิษฐาน
เพื่อให้พอจะเห็นภาพการทำงานสืบเนื่องกันของจิต ดังนี้

ในเรื่องวิถีจิตนี้ ท่านแสดงอุปมาเหมือนคนนอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง
คือเหมือนอย่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่งนอนคลุมศีรษะอยู่ที่โคนต้นมะม่วงที่กำลังมีผล
แต่ตื่นขึ้นด้วยเสียงของมะม่วงผลหนึ่งที่ตกลงมาในที่ใกล้
จึงได้เอาผ้าออกจากศีรษะลืมตาขึ้นมองดู ก็เอามือจับผลมะม่วงนั้น
คลำดู สูดกลิ่นดู ก็รู้ว่าเป็นมะม่วงสุก จึงบริโภค
และกลืนกินมะม่วงพร้อมทั้งเสมหะ แล้วก็หลับไปใหม่

ตัวอย่างนี้มาเทียบกับจิต
เวลาของภวังคจิตก็เหมือนอย่างเวลาที่บุรุษนั้นกำลังหลับ
เวลาที่อารมณ์มากระทบประสาท ก็เหมือนอย่างเวลาที่ผลมะม่วงตกลงมา
เวลาแห่งอาวัชชนจิตคือจิตคำนึง ก็เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นตื่นขึ้นด้วยเสียงของมะม่วงนั้น
เวลาที่จักขุวิญญาณเป็นไป ก็เหมือนอย่างเวลาที่บุรุษนั้นลืมตาขึ้นดู
เวลาแห่งสัมปฏิจฉันนจิตคือจิตรับ ก็เหมือนกับเวลาที่บุรุษนั้นเอามือหยิบผลมะม่วง
เวลาแห่งสันตีรณจิตคือจิตพิจารณา ก็เหมือนอย่างเวลาที่คลำดูด้วยมือ
เวลาแห่งโวฏฐวนจิตคือจิตที่กำหนดอารมณ์
ก็เหมือนอย่างเวลาที่สูดดมดูจึงรู้ว่ามะม่วงสุก
เวลาแห่งชวนจิตคือจิตที่แล่นไป ก็เหมือนอย่างเวลาที่บริโภคมะม่วง
เวลาที่จิตหน่วงอารมณ์นั้น อันเรียกว่าตทาลัมพนจิต
ก็เหมือนอย่างเวลาที่กลืนกินผลมะม่วงนั้นพร้อมทั้งเสมหะ
เวลาที่จิตตกภวังค์ไปใหม่ ก็เหมือนอย่างเวลาที่หลับไปอีก


คราวนี้อยากจะให้หมู่เพื่อนย้อนศึกษาของจริงในจิตตนเอง
จะพบว่า จิตมีกระบวนการทำงานไปในลักษณะเดียวกับตำรานั่นเอง
เพียงแต่ไม่ได้เร็วจนถึงขนาดที่สติตามไม่ทัน
หรือขนาดลัดนิ้วมือเดียวแสนโกฏิขณะ
โดยผมจะลองยกตัวอย่างการทำงานของจิต
ที่เริ่มด้วยจักษุทวารมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

เมื่อแรกที่มีรูปมากระทบตานั้น ตายังไม่สามารถจะรับรู้รูปได้
ทั้งที่รูปก็มีอยู่ตรงหน้า ทั้งที่ตาก็ลืมอยู่
เพราะจิตในขณะแรกเริ่มนั้นยังอยู่ในภวังค์ คือยังไม่ตื่นขึ้นมาทำงาน
ถัดจากนั้นจะเกิดความไหวตัวของจิตในภวังค์
แล้วตัดกระแสภวังค์ขึ้นมาเพื่อรับรู้สิ่งเร้าอันใหม่ที่กำลังเข้ามากระทบ
สภาพช่วงนี้ ไม่ได้ต่างไปจากตำราที่กล่าวถึงจิตชุดแรก
ซึ่งเป็นจิตที่ยังมีอารมณ์เก่า คือยังไม่ได้รับอารมณ์ใหม่ และมีอยู่ 3 ดวง

เมื่อแรกที่จิตตื่นตัวขึ้นจากภวังค์นั้น
จิตยังอยู่ในสภาพที่งงๆ ว่าควรจะรับรู้อารมณ์ทางใดดี
(คล้ายกับคนตื่นนอนแล้วต้องพยายามจับให้ชัดว่า
สิ่งที่แปลกปลอมที่ทำให้ตนตื่นนั้น
มันมาจากหน้าบ้าน หลังบ้าน ใต้ถุนบ้าน หลังคาบ้าน หรือกลางบ้าน)

และเมื่อสำรวจพบว่า สัญญาณหรืออารมณ์ที่มากระทบทางตา
เป็นสัญญาณหรืออารมณ์ที่ชัดที่สุด แรงที่สุด
ก็จะเกิดความรับรู้ทางตา หรือจักษุวิญญาณขึ้น
ตรงนี้จึงเกิด ผัสสะ ทางตาขึ้นมา
เพราะมีการประจวบกันของ ตา รูป และวิญญาณทางตา
แต่สิ่งที่ตาเห็นนั้น มีสภาพเป็นเพียงสีเท่านั้น
จิตเพียงแต่รับรู้สี หรือสีที่ตัดกันนั้น โดยยังไม่รู้ว่า นี้คือรูปอะไร

กลไกการทำงานขั้นต่อไปของจิตก็คือ
จิตจะเกิดความสนใจ หรือใส่ใจในรูปที่ไม่รู้ว่าคืออะไรนั้น
แล้วสัญญาก็จะผุดขึ้น เพื่อหมายรู้ว่า นี้คือรูปอะไร
แล้วมีการประเมินค่าว่า ดี หรือไม่ดี น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา
เมื่อประเมินค่าแล้ว จิตก็จะเลือกทางดำเนินของตนเองต่อไป
ทั้งที่เป็นทางแห่งกุศล หรืออกุศล หรือเป็นกิริยาไปอย่างนั้นเอง
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการทางใจ ไม่ใช่กระบวนการรับรู้ทางตาอีกแล้ว
และน่าจะเทียบเคียงได้กับกลุ่มจิตในชุดที่ 2

เมื่อจิตเลือกที่จะดำเนินทางอกุศล สังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นฝ่ายอกุศล
คือเกิดกิเลสขึ้นในช่วงนี้ แล้วจิตก็หลงทะยานไปตามแรงยั่วของกิเลส
เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก่อภพก่อชาติ ก่อทุกข์ขึ้นในจิต
หรือเมื่อจิตเลือกที่จะดำเนินทางกุศล จิตก็ปรุงกุศลเจตสิกขึ้นมา
แล้วกุศลเจตสิกนั้นก็ปรุงแต่งจิต แล้วจิตก็ทะยานไปตามความปรุงแต่งฝ่ายดี
ก่อภพ ก่อชาติ ก่อทุกข์อย่างคนดีขึ้นมา เป็นต้น

แต่ถ้าจิตมีความฉลาด มีสติสัมปชัญญะ เป็นกุศลจิตอันประณีตจริงๆ
จิตก็จะรู้เท่าทันความเกิดขึ้นและดับไปของรูป (ในตัวอย่างนี้คืออารมณ์ทางตา)
หรือรู้เท่าทันความเกิดขึ้นและดับไปของเวทนา
หรือรู้เท่าทันความเกิดขึ้นและดับไปของกุศลและอกุศล
หรือรู้เท่าทันสภาพธรรมทั้งปวงที่กำลังปรากฏขึ้นกับกายและจิต

สิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงของชวนจิต คือช่วงกลุ่มจิตชุดที่ 3
แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการของจิตในตำราส่วนนี้
ท่านเพียงกล่าวรวมๆ กันว่าเป็นช่วงชวนวิถี
ที่จิตเสพย์อารมณ์รวม 7 ขณะเท่านั้น

สภาพธรรมในช่วงนี้แหละครับ
ที่พวกเรานักปฏิบัติเรียนรู้กันอยู่เป็นส่วนมาก
เพราะมีแง่มุมให้ศึกษาจิตตนเองได้กว้างขวางพิสดารมาก
มันน่าจะเป็นช่วงความสืบต่อระหว่างตัณหา อุปาทาน
ภพ ชาติ และทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท

เมื่อจิตเสพย์อารมณ์ไปถึงจุดหนึ่ง
จิตจะเริ่มเฉื่อยชา หมดกำลังแล้วตกภวังค์ หรือตายจากภพชาตินั้น
เพื่อรอเวลาที่จะตื่นขึ้นตามวงจรครั้งใหม่
ตรงนี้ก็คือกลุ่มจิตชุดสุดท้ายนั่นเอง

สิ่งที่ผมยังไม่เห็นพ้องกับตำราก็คือ
ผมไม่ได้เห็นว่า การเสพย์อารมณ์ของจิตแต่ละคราว
จะมีระยะเท่ากันเสมอไป (7 ขณะ)
เพราะบางเรื่องรู้แล้วก็ดับวับไป
บางเรื่องรู้แล้วก็ทรงอยู่ช่วงหนึ่ง สั้นบ้างยาวบ้างไม่เท่ากัน
แต่ที่แน่นอนก็คือ อารมณ์ที่เกิดกับจิตแต่ละคราวจะไม่ยาวนัก
เพราะจิตจะเปลี่ยนอารมณ์เร็วมากจริงๆ
ที่ท่านกล่าวว่า 7 ขณะ ถ้าแปลความหมายว่า "สั้นๆ ไม่มากนัก"
ก็เป็นสิ่งที่น่าจะตรงกับความเป็นจริง
มากกว่าที่จะกล่าวว่า 7 ต้องเป็น 7 อย่างเดียวเท่านั้น

*************************************

5. วิถีจิตตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถึงแม้พระศาสดาจะไม่ทรงสอนพระอภิธรรมเรื่อง วิถีจิต
และไม่ทรงแจกแจงรายละเอียดเรื่อง จิต เจตสิก รูป นิพพานไว้ก็ตาม
แต่พระองค์ก็ทรงประทานพระอภิธรรม
ที่พอสมควรกับการปฏิบัติธรรมไว้แล้ว
คือ โพธิปักขิยธรรม เช่น อริยสัจจ์ ขันธ์ อายตนะ สติปัฏฐานฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิจจสมุปบาท
อันแสดงถึงการทำงานสืบเนื่องกันของจิต
นับตั้งแต่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ
ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และทุกข์
นับเป็นวงจรหรือวิถีของจิตที่ทรงคุณค่าสูงสุดเพื่อการดับทุกข์อย่างแท้จริง
มิใช่เรื่องที่จะให้เรียนรู้ เพื่อที่จะรอบรู้เท่านั้น

ทั้งยังทรงสอนถึงเครื่องมือ คือการเจริญสติสัมปชัญญะ
เพื่อให้เราได้เรียนรู้เรื่องทุกข์ และการดับทุกข์ไว้ด้วยแล้ว
ซึ่งผมเชื่อว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้สมบูรณ์เพียงพอแล้ว
ที่จะพาผู้ปฏิบัติตามให้พ้นทุกข์ได้
เพราะเรื่องอย่างนี้ ใครจะรู้ดีกว่าพระองค์ ผู้ทรงเป็นราชาแห่งธรรม
ส่วนที่ผู้ใดต้องการจะเรียนรู้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน
เพราะถ้าเรียนรู้ตำราชั้นหลังโดยเฉพาะคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะได้แล้ว
กลับไปอ่านพระอภิธรรมปิฎก จะได้อรรถรสอีกมากทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:30:50

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:34:24
ช่วงหลังนี้ผมเขียนเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างปริยัติกับการปฏิบัติขึ้นหลายเรื่อง
เช่นเรื่องทิฏฐิ เรื่องอุปาทาน เรื่องสัมปชัญญะ และเรื่องนี้
(คิดว่าเรื่องประเภทนี้ คงจะพอแล้วครับ)
เป็นการเขียนขึ้นตามคำเรียกร้องของศิษย์อาวุโส คือ rising_sun
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักปฏิบัติพอจะเข้าใจนักปริยัติบ้าง
ต่อไปเมื่อถูกเกรี้ยวกราดรุกรานมา จะได้ทำใจได้ว่า
นักปริยัติเขาก็มีดีของเขาอยู่ เขารู้จักพระพุทธศาสนาลึกซึ้งในอีกแง่มุมหนึ่ง
เรานักปฏิบัติเมื่อไม่มีปัญญาจะอธิบายชี้แจงสิ่งที่เรารู้ ให้เขาเข้าใจได้
ก็ไม่ควรจะไปโกรธแค้นอะไรกับเขา
เพราะไม่ใช่ความผิดของเขาที่ไม่เข้าใจเรา
แล้วเอาเวลาที่จะต้องทะเลาะโต้เถียงกัน มาปฏิบัติธรรมดีกว่า

คิดเสียว่า พวกเรามุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์
เพื่อปลดปล่อยจิตใจจากอำนาจของทิฏฐิและตัณหา
เพื่อลดภาระการแบกหามสิ่งต่างๆ ไว้ในใจ
ไม่ใช่เพื่อความเป็นปราชญ์ฉลาดรอบรู้ เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
พ่อของเราคือพระพุทธเจ้า ท่านสอนเรามาก็เพื่อสิ่งนี้นั่นเอง


*************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 12:34:24

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 15:04:16
ขออนุญาติพี่เสริมตรงส่วนท้ายด้วยค่ะ
(จากหนังสือ แผ่นดินดับ โดยท่านเขมานันทะ)
ปล. ไม่ได้ต้องการโปรโมทหนังสือ
       หรือยั่วน้ำลายคุณน้ำ นะคะ
......................................................
3 มิถุนายน 2541
......................................................
มีดไม่ใช่หิน และหินไม่ใช่มีด
ต่อได้มีดมาลับกับหิน มีดจึงคมคาย
เปล่งปลั่ง พร้อมใช้งาน
รู้จักรู้จริงในความรู้ตัวแล้ว
ปรารภโพธิปักขิยธรรม 37
ยกขึ้นไตร่ตรองทีละหมวด
เห็นความเนื่อง ความสัมพันธ์ ความต่าง
เป็นดังปรางค์ประสาทที่นายช่างผู้เป็นยอดอัจฉริยะ
ออกแบบบรรจงสร้างขึ้นให้ตระการตา
ตื่นใจเพลิน เป็นสุขในการพิจารณาธรรมของพระพุทธเจ้า
เป็นสุขทางปัญญาไม่ใช่เพทนาการ
สุขที่ได้รู้ได้เห็นสิ่งที่ท่านผู้รู้วางอุบายไว้
ดังลูกอ่านพินัยกรรมลายแทงของบิดา
ผู้ฉลาดล้ำลึกวางไว้ ฝังนิธิทางปัญญาไว้แก่ลูก

โพธิปักขิยธรรม 37 จะกลายเป็นเครื่องหลอกหลอน
มายาไปทันทีสำหรับผู้ยังไม่มีมีด
หินที่คว้ามายึดถือ คือ ธรรมะนี้จะกลายเป็นสิ่งสกปรก
มอมใจให้มัวหมอง แทนใสกระจ่าง
หินกลับทำให้จิตใจทื่อ กล่าวคือ
ลัทธิถ้อยเติบโตดังวัชพืช ครอบครองเนื้อที่ว่างของใจ


มหาปราสาทแห่งปัญญาโพธิปักขิยธรรม
เป็นองค์รวมแห่งเครื่องมือ เป็นชุดพิเศษของเครื่องมือ
ในการเข้าสู่อิสรภาพ
เพียงศาสตราวุธสำแดงความเป็นเอกภาพ
เปล่งปลั่ง มารก็ฝ่อ
เพราะทั้งหมดเป็นเพียงอุบาย ตัดไม้ข่มนาม
ผู้เงื้ออาวุธพิเศษเป็นผู้เข้าใจกลไกความสัมพันธ์
ตั้งแต่ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปธาน 4, อินทรีย์ 5,
พละ 5, โพชฌงค์ 7, อริยมรรคมีองค์ 8
หยิบอันหนึ่งอันใดขึ้น อันอื่นติดมาด้วย
พิจารณาแยกหมวด, สโมธานหมู่ ให้รู้สึกเป็นสุข
ดังเป็นทายาทเจ้าของอาวุธโบราณที่ล้ำค่านี้


ฉวยถูกทางเป็นธรรมาวุธ ธรรมศาสตา
คมคายแปลบปลาบ ในการละอุปาทาน
เป็นเครื่องฟอกจิตจากสภาพหมักหมมให้สดใส
ฉวยผิด ยิ่งลับยิ่งทื่อ มืดมัวดังอยู่ในน้ำครำ
เป็นอุปาทานในธรรมเสียเอง
โดยไม่เข้าใจตื้นลึกหนาบางของอุบาย
ของยอดอัจฉริยะบุรุษอันไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน


เพื่อปลุกโพธิจิต อุบายโพธิปักขิยธรรมจึงถูกแลเห็น
ด้วยปรีชาญาณของพระพุทธองค์
ว่าจะเป็นอุบายสำคัญในการเจริญภาวนา
ทุกๆหมวดธรรม มีเนื้อหาเดียว คือ
เพื่อบริหารโพธิให้เจริญ ดังการกินอาหารหลายหมวดหมู่
เพื่อจุดประสงค์เดียว คือ เจริญงอกงามความรู้ตัว
ในสติปัฏฐาน 4, ในอินทรีย์ 5, พละ 5 ฯลฯ

ส่วนปฏิจจสมุปทาทนั้นไม่ใช่ศาสตรา
ที่จะนำมาลับจิตให้คมกล้า
แต่เป็นการเห็นแจ้ง
ขืนนำมาพิจารณาโดยไม่มีการภาวนา
ก็ปวดหัวเปล่า ผลได้จากการนึกคิด
ก็เป็นการคาดเดา และจิตใจก็มืดเพราะเหตุนั้น
ต่อเมื่อรู้ล้วนๆ บริสุทธิ์ดีแล้ว
การเห็นก็เกิดขึ้นเองตามกำลังแห่งโพธิ


ธรรมะนั้นไม่มีอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อความรู้ตัว
มากำหนดอยู่กับความไม่มีของธรรมะ
ความรู้ตัวจึงรู้ความไม่มีอย่างชอบธรรม
กล่าวคือไม่บ้า ไม่วิกลจริต
รู้ตัวในความไม่มีอะไรให้ยึดติดนั่นเอง

พิจารณาธรรมก็เป็นความสุข
ปฏิบัติยิ่งเป็นสุข
เผื่อแผ่เจือจานผู้อื่นยิ่งเป็นสุข
อยู่คนเดียวก็เป็นสุข
อยู่ที่ใดก็เป็นสุขทุกเมื่อ
คราวจะตายก็ควรจะตายเป็นสุข
โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 15:04:16

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ tana วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 20:21:53
มึนนนนนนนนนนนน
โดยคุณ tana วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 20:21:53

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 16 กันยายน 2543 21:08:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ พีทีคุง วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 00:48:09
ส่วนปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่ใช่ศาสตรา
เห็นด้วยกับท่านเขมานันทะทีเดียว
ตัวที่เป็นศาสตรา หรือ ว่าเป็นอุปกรณ์ของจิต
ให้แจ่มแจ้งให้ปฏิจจสมุปบาทได้นั้น
ไม่มีอะไรเหนือไปกว่าอุปกรณ์สอง
คือสติและสัมปชัญญะเลย
ขืนไปพินิจพิเคราะห์ด้วยความคิด
เข้าใจได้อย่างมากไปตามเหตุผล
ยกเว้นจะแทงตลอดธรรมชาติ
ความคิดที่พินิจพิเคราะห์อยู่ตรงนั้น

อันนี้ แสดงความเห็นส่วนตัวครับ
โดยคุณ พีทีคุง วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 00:48:09

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ วิทวัส วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 10:30:40
ผมเชื่อว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้สมบูรณ์เพียงพอแล้ว
ที่จะพาผู้ปฏิบัติตามให้พ้นทุกข์ได้
เพราะเรื่องอย่างนี้ ใครจะรู้ดีกว่าพระองค์ ผู้ทรงเป็นราชาแห่งธรรม
-------------------------------

อ่านตรงนี้แล้วเกิดความตื้นตันขึ้นมาครับ ผมเองก็เชื่อว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้ดีแล้ว พอเหมาะแล้ว อย่างนี้เหมือนกันครับ
โดยคุณ วิทวัส วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 10:30:40

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 12:41:16
ก่อนอื่นขอสารภาพผิดก่อนครับ
ผมจำรายละเอียดของโพธิปักขิยธรรมผิดไป
ที่ถูกจะประกอบด้วยสติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4,
อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8
ต้องขอบคุณคุณไพ ที่ทำให้นึกขึ้นได้
โดยยกเรื่องของท่านเขมานันทะมากล่าวขึ้น

ส่วนคุณธนา ถ้าไม่อ่านก็ไม่มึนหรอกครับ :)
เรื่องนี้เอาไว้ให้คนที่ชอบความซับซ้อน เขาอ่านกัน
ขนาดแม่บ้านผม ยังไม่อ่านเลย เพราะรู้สึกว่า
ธรรมะควรจะเป็นของเบา เรียบง่าย ไม่ใช่หนักและซับซ้อนอย่างนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณดังตฤณตั้งข้อสังเกตว่า
ผมคงไม่ชอบอ่านงานของท่านเขมานันทะ
ผมก็สารภาพว่าใช่ เพราะต้องใช้ความพยายามและเวลาในการอ่านมาก
เพื่อจะแยกเนื้อหาธรรม กับสำนวนโวหารออกจากกัน
วิธีเขียนธรรมะให้งดงามในเชิงวรรณศิลป์นั้น ก็ดีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ดี
เพราะเป็นประโยชน์ในการจูงใจบุคคลบางกลุ่ม ให้หันมาอ่านธรรมะกันบ้าง
แต่ผมมีเวลาจำกัด จึงชินที่จะอ่านหนังสือเพื่อเข้าใจเนื้อหาให้เร็วที่สุด
ดังนั้นเมื่ออ่านงานของท่านน้อย จะไม่อาจร่วมวิเคราะห์งานของท่านได้

ส่วนที่หลานพีทีคุงกล่าวมานั้น ผมอ่านรู้เรื่อง และเห็นด้วย

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เพราะท่าน รู้แจ้งแทงตลอด ปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาท จึงไม่ใช่ตัวการกระทำ
แต่ตัวการกระทำ คือการเจริญสติสัมปชัญญะ
อันทำให้เกิดความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม

หากศึกษาพระพุทธประวัติจะพบว่า
ช่วงสุดท้ายที่จะตรัสรู้นั้น ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท
โดยทรงพิจารณาว่า อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ ---> อวิชชา
แล้วทรงย้อนพิจารณาว่าอวิชชา ---> ชาติดับไม่เหลือ ทุกข์จึงดับ
จุดนี้น่าสนใจนะครับ ว่าท่านไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับความสงบของสมาธิ
เพราะสมาธิไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา เพียงแต่เกื้อกูลต่อการใช้ปัญญา
แต่ท่านก็คงไม่ได้คิดๆๆ เอา เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท
เพราะอันนั้นเป็นความฟุ้งซ่าน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดปัญญาเช่นกัน
ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงจุดที่พอดีได้
ซึ่งผมก็ไม่เห็นอะไรจะดีกว่าการเจริญสติสัมปชัญญะเลยครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 12:41:16

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ พัลวัน วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 19:35:03
หากใช้ความคิด ไปพิจารณาปฎิจจสมุปบาท ก็หัวระเบิดเอาเท่านั้นเองครับ ไม่ใช่ใครหรอกครับ ผมเองก็เกือบหัวระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ (เพราะปวดหัว) ครับ

ก็แค่ วิญาณปจฺจยา นามรูปํ ก็งงจะแย่แล้ว แถมยังตามด้วย นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ ก็ยิ่งมึนตึ๊บไปอีก

ศึกษาปฎิจจสมุปบาทด้วยประสบการณ์ตรงต่อธรรมง่ายกว่ากันเยอะเลยครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2543 19:35:03

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ มรกต วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 07:39:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 07:51:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 08:24:56
เห็นด้วยกับพี่ธนาครับ : )
โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 08:24:56

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ หลังเขา วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 14:03:18
อ่านๆดูแล้วก็รู้สึกว่าพอจะเข้าใจได้แต่รู้สึกว่ามันมากไปครับ
เพราะเท่าที่สังเกตุตัวเองมาผมรู้สึกว่าการจะสังเกตุได้ละเอียดขึ้นเป็นลำดับต้องอาศัยสติที่กล้าแข็งมากๆ
ซึ่งไม่น่าจะใช่วิสัยของผู้เริ่มปฏิบัติจะทำได้ตามที่ว่ามาข้างต้นครับ
รู้สึกว่าหลักสูตรที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ดีกว่ามากเลยครับ
เริ่มจากพื้นฐานของคนสติอ่อนไล่ไปเรื่อยๆก็จะเห็นละเอียดขึ้นเองชัดขึ้นเอง
เพราะถ้าเป็นตามนี้ตอนที่ผมเริ่มปฏิบัติจะสังเกตุไม่เห็นเลยครับ
แถมมีหวังจะพาลท้อไปซะอีก
โดยคุณ หลังเขา วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 14:03:18

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 14:19:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 14:20:58
สาธุ ขอบคุณครับครู ขอ save ไว้ค่อยๆอ่านนะครับ
อยากเตือนหมู่เพื่อนว่า อย่าได้ประมาทธรรมของ สมเด็จพระญาณสังวรนะครับ
ถ้าอ่านหนังสือปุจฉาวิสัชชนา ของหลวงปู่เทสก์ จะพบว่า พระชาวต่างประเทศ ที่เป็นลูกศิษย์ท่านมัก จะผ่านการบวชที่วัดบวรฯ โดยสมเด็จท่านเป็นอุปัชชาย์ และ ส่งต่อให้หลวงปู่เทสก์อบรม ต่อ
การที่ท่านฝากฝังลูกศิษย์กันได้ ผมเข้าใจว่าทั้งสองท่านมีความเคารพในภูมิธรรมของกันและกันในระดับหนึ่งนะครับ
โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 14:20:58

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 18:46:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 19:07:23
การขุดเอาปริยัติลึกๆมาจาระไนด้วยมุมมองของผู้ปฏิบัตินั้น
ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ จะกี่ร้อยกี่พันปีผ่านไปก็ตาม
ฉะนั้นได้อ่าน ได้รับไว้เป็นความรู้ประดับบ่า
ก็นับว่าโชคดีครับ พวกเราศึกษาเรื่องยากกว่านี้กันมาตั้งเท่าไหร่
ยังผ่านกันมาได้เลย ในตำราโลกๆนั่น
โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 18 กันยายน 2543 19:07:23

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 08:29:32
ที่ผ่านมาเป็นพันปี ไม่มีจุดบรรจบของนักปริยัติกับนักปฏิบัติสักทีครับ
เพราะต่างถือตำราคนละเล่ม ถือความจริงคนละด้าน
แล้วการศึกษาก็อยู่ในมือของนักปริยัติฝ่ายเดียว
ซึ่งแม้นักปริยัติหรือนักปฏิบัติบางท่าน
อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างจากตำราออกไปบ้าง
ก็จะถูกกดดันคุกคามทันที จนไม่มีใครอยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว

ผมเพิ่งเห็นท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นี่แหละครับ
ที่ทรงกล้าใช้วิจารณญาณของพระองค์ต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย
เพราะพระองค์ท่านทรงเชี่ยวชาญสูงสุดทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ
ลองฟังพระวินิจฉัยเกี่ยวกับความหมายของ "วิญญาณ มโน และจิต" ดูบ้างก็ได้ครับ
คือทรงเสนอให้จำแนกความหมายของ จิต มโน วิญญาณ ให้ถูกที่
ถ้ากล่าวถึงพระอภิธรรม ก็ให้กล่าวถึงความหมายตามพระอภิธรรม
คือถือว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นสิ่งเดียวกัน
แต่หากจะกล่าวถึงธรรมในพระสูตร ก็ให้กล่าวถึงความหมายตามพระสูตร
เพราะถ้านำความหมายตามพระอภิธรรมมาอธิบายพระสูตร
ก็จะเกิดความไม่ลงตัวขึ้น
โดยท่านทรงอธิบายดังนี้

ในพระสูตรนั้น จิตมีความหมายอย่างหนึ่ง
วิญาณมีความหมายอย่างหนึ่ง มโนมีความหมายอย่างหนึ่ง
ดั่งที่แสดงแล้วใน อนัตตลักขณสูตร และในอาทิตตปริยายสูตร

กล่าวโดยย่อ (ใน)อนัตตลักขณสูตร วิญญาณนั้นเป็นขันธ์ 5 ข้อหนึ่ง
ซึ่งตกในลักษณะของไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ดั่งที่ในพระสูตรนั้นสอนให้รู้ว่า วิญญาณเป็นอนัตตา

ในอาทิตตปริยายสูตร  มนะ(ใจ)เป็นอายตนะภายในข้อหนึ่ง
ที่ท่านสอนให้พิจารณาว่าเป็นของร้อน
ร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

คราวนี้ ใครพิจารณาวิญญาณว่าเป็นอนัตตา
พิจารณามนะว่าเป็นของร้อน
ต้องมีผู้พิจารณาอีกผู้หนึ่ง
ไม่ใช่วิญญาณพิจารณาวิญญาณเอง หรือมนะพิจารณามนะเอง
ในตอนท้ายของพระสูตรทั้งสองนี้ ก็แสดงว่าจิตพ้นจากอาสวกิเลส
แต่ว่าไม่ได้แสดงว่าวิญญาณพ้นหรือมนะพ้น
จะแสดงอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะเมื่อวิญญาณเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้พ้นกิเลส
และมนะก็เป็นของร้อนเพราะไฟกิเลส
ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้พ้น

นักอภิธรรมบางท่านได้กล่าวหาผู้ที่แสดงอย่างนี้ว่า
แสดงขันธ์ 6 คือแสดง จิต เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งขันธ์
เพราะว่าตามอภิธรรมนั้น จิต มนะ วิญญาณ อยู่ในหมวดจิตอันเดียวกัน

คราวนี้ถ้าพิจารณาดูให้รู้อธิบายของท่าน
และเมื่อต้องการจะพูดถึงธรรมะในปิฎกไหน
ก็เอาอธิบายของปิฎกนั้นมาอธิบาย ก็ไม่ยุ่ง
คือว่าเมื่อจะอธิบายอภิธรรม ก็อธิบายว่าทั้งสามนี้เหมือนกัน
แต่ว่าเมื่อจะอธิบายพระสูตร ก็อธิบายตามหลักฐานในพระสูตรดั่งกล่าวมาแล้ว

แต่อภิธรรมนี้ได้เป็นที่นิยมนับถือมาเป็นเวลาช้านาน
พระอาจารย์ผู้อธิบายพระสูตร เมื่อจะอธิบายถึงจิต ถึงมโน ถึงวิญญาณ
ก็คัดเอาคำอธิบายในอภิธรรมมาใส่ไว้ในพระสูตรด้วย
เพราะฉะนั้น จึงเกิดความสับสนกันขึ้น
ดังเช่นบาลีพระสูตรกล่าวถึงจิต
พระอาจารย์ผู้อธิบายก็คัดเอามาจากอภิธรรมว่า
"จิตฺตนฺติ วิญญาณํ" วิญญาณชื่อว่าจิต
เป็นอย่างนี้เป็นพื้นตั้งแต่ชั้นอรรถกถาลงมา
อันนี้แหละเป็นเหตุให้สับสนกัน
ถ้าหากว่าแยกเสียดั่งที่กล่าวมาแล้วก็จะไม่สับสน


ผมเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นไปถึงอนาคตได้
จำเป็นต้องปรับวิธีการศึกษาเสียใหม่
ผู้ศึกษาจะต้องมีความเป็นนักวิชาการให้มากขึ้น
ไม่ใช่ต้องศึกษาด้วยการเชื่ออย่างเดียว
ห้ามใช้วิจารณญาณ และห้ามเถียง
แต่ต้องเป็นนักวิชาการที่มีจริยธรรมนะครับ
ไม่ใช่คิดแต่จะโค่นล้มทฤษฎีเก่าเพื่อความเด่นดัง
แต่ควรศึกษาเพื่อกลั่นกรองแยกแยะธรรมแต่ละยุคสมัยให้ชัดเจน
หากธรรมยุคหลังเกิดไปขัดแย้งกับวิทยาการยุคใหม่แล้วล้มลง
จะได้เหลือธรรมส่วนของพระศาสดาเอาไว้ให้ชาวโลกต่อไปได้
เพราะธรรมแท้ของพระศาสดา โดยเฉพาะอริยสัจจ์ 4 นั้น
ยังไงก็เป็นจริง และพาผู้เข้าถึงให้พ้นทุกข์ได้จริงตลอดไปครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 08:29:32

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 08:51:06
เห็นด้วยกับคุณ listener ครับ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นั้น
ท่านออกไปศึกษากับครูบาอาจารย์พระป่าเหมือนกันครับ
อย่างหินหมากเป้งของหลวงปู่เทสก์ ท่านก็เคยไปพักอยู่
ตอนเช้า ท่านก็ออกบิณฑบาตเหมือนพระเณรธรรมดานั่นเอง
ท่านไม่ได้แบกอำนาจวาสนาบารมีไปอวดใคร
ท่านไปอย่างพระแท้ๆ ที่งามแสนงามจริงๆ
ใครได้พบได้เห็นก็ปลื้มใจมากครับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 08:51:06

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 09:05:19
สาธุ สาธุ สาธุ


"ในอาทิตตปริยายสูตร  มนะ(ใจ)เป็นอายตนะภายในข้อหนึ่ง
ที่ท่านสอนให้พิจารณาว่าเป็นของร้อน
ร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น"


กำลังสงสัยอยู่พอดีเชียว เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่เห็น ทำให้เห็นว่าเป็นเราไปไม่ได้ แต่เป็นความสงสัยอยู่ลึกๆ มีน้อยๆ ยังไม่ทันรู้ว่าสงสัยอะไร พอดีได้ข้อความนี้สะกิดใจเข้าเต็มเปาพอดีเลยครับ

สาธุ สาธุ สาธุ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 09:05:19

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ อี๊ด วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 16:53:36
สาธุ..ขอบพระคุณครับ
จิต มโน วิญญาณ ,ผมเห็นคุณอาเขียนค้างไว้ในกระทู้ก่อนแล้วเว้นไว้
เพราะข้อจำกัดและความขัดแย้งกันในตำรานี้เอง…….
โดยคุณ อี๊ด วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 16:53:36

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 19:22:00
ใช่ครับคุณอี๊ด ผมเองไม่อยากยุ่งกับข้อขัดแย้งทางตำราหรอกครับ
เพราะเถียงกันแล้วกิเลสที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น กิเลสที่มีอยู่แล้วก็รุนแรงขึ้น
กุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่ได้เกิด กุศลที่เกิดแล้วก็เสื่อมไป
นี่ถ้าวิมุตติเป็นเวทีเปิดแบบลานธรรม ก็จะไม่เขียนเรื่องเหล่านี้ครับ
แต่ที่นี่เป็นเวทีปิด มีพวกเราอ่านกันไม่กี่คน ก็เลยเขียนให้อ่านกันได้
เพื่อให้นักปฏิบัติพอจะเข้าใจความคิดของนักปริยัติบ้าง
แต่ไม่ใช่เพื่อให้ไปเถียงกับนักปริยัตินะครับ
และเป็นการเตรียมตัวไว้อธิบายกับคนที่กล่าวล่วงเกินพระพุทธเจ้าด้วยความเข้าใจผิด
ในกรณีที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกิดพิสูจน์ได้ว่าตำราชั้นหลังไม่เป็นความจริงขึ้นมา
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 19:22:00

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 25 กันยายน 2543 15:20:45
^-^ _/|\_
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 25 กันยายน 2543 15:20:45

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com