กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องของ โพธิจิต

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:00:57

เซ็น กับเถรวาท มีรากฐานต้นกำเนิดอันเดียวกัน
เป้าหมายก็มุ่งสู่ความหลุดพ้นอันเดียวกัน
แต่กระบวนการอธิบายธรรม กลับเป็นตรงข้ามกันหลายส่วน
ปัญหาที่น่าพิจารณาก็คือ สิ่งที่อธิบายเป็นตรงข้ามกันนั้น
เป็นสิ่งที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกันจริงๆ
หรือเป็นเพียงภาษา หรืออุบาย ที่แตกต่างกันเท่านั้น ?
และคำสอนของทั้งสองฝ่าย มีประโยชน์อย่างใดบ้าง ?

เราลองมาคุยกันสัก 2 ประเด็น คือเรื่องโพธิจิต กับการปลุกโพธิจิตให้ตื่นขึ้น
(หมายเหตุ ... ทัศนะของเซ็นที่ผมยกมากล่าวนี้
มาจากการศึกษางานของท่านเว่ยหล่างและท่านฮวงโป
อาจจะไม่ครอบคลุมไปถึงคำสอนของเซ็นสาขาอื่นๆ)

**************************************

โพธิจิต

แนวความคิดเรื่อง โพธิจิต เป็นแนวความคิดฝ่ายเซ็น
สาระสำคัญก็คือ ทัศนะที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีธรรมชาติแห่งการตรัสรู้(รู้ธรรม)อยู่ในตนเอง
แต่ธรรมชาติอันนี้ ถูกปิดบังเอาไว้ด้วยความหลงผิดของจิต
(เหมือนกับมีเพชรอยู่แล้ว แต่หมกอยู่ในโคลนตม)
คือจิตเที่ยวยึดมั่นสิ่งภายนอก แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมก็ยึดมั่นในวัตรปฏิบัติต่างๆ
เช่นการถือศีล ทำสมาธิ และขบคิดพิจารณาธรรม เป็นต้น

คำสอนเรื่อง โพธิจิต ไม่ปรากฏในธรรมฝ่ายเถรวาท
กล่าวคือในฝ่ายเถรวาท ไม่เชื่อเรื่องที่ว่าสัตว์มีโพธิจิตอยู่แล้ว
แต่กลับเห็นว่า จิตประกอบด้วยเจตสิกทั้งอกุศล กุศล และเป็นกลางๆ
จิตเป็นสิ่งที่อบรมได้  จิตที่อบรมดีแล้วหลุดพ้นได้
และที่สำคัญคือ จิตเป็นสิ่งที่เกิดดับต่อเนื่องกันตลอดเวลา
(แม้แต่จิตพระอรหันต์ ก็ยังเกิดดับอยู่นั่นเอง
เพียงแต่ท่านฉลาดจนกิเลสตัณหาย้อมไม่ติดเท่านั้นเอง)

คำสอนของฝ่ายเถรวาทคล้ายๆ กับว่า
เมื่อมีดิน มีพันธุ์พืช มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเกิดเป็นต้นไม้
เมื่อต้นไม้ตาย เกิดทับถมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
จึงกลายเป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ หรือเพชร
เพชร หรือจิตที่หลุดพ้น หรือโพธิจิต จึงไม่ได้มีมาแต่แรก

คำสอนจุดนี้ดูจะขัดแย้งเป็นตรงข้ามกัน
ซึ่งผมคงไม่ชวนเถียงว่า คำสอนของใครถูกหรือผิด
เพราะจิตใจของผมไม่ได้เป็นกลางจริง
แต่โน้มเอียงที่จะเชื่อเฉพาะคำสอนตรงของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว
สิ่งที่อยากจะชวนพิจารณาก็คือ คำสอนของแต่ละฝ่ายมีประโยชน์อย่างใดบ้าง

ถ้าทำใจให้กว้าง ก็จะเห็นว่า แต่ละฝ่ายมีข้อดีอยู่เช่นกัน
กล่าวคือคำสอนเรื่องโพธิจิตของเซ็น
ฟังแล้วเกิดกำลังใจว่าเรามีพระรัตนตรัยอยู่กับตัวแล้ว
ไม่ต้องค้นหาในที่อื่น แต่ให้น้อมเข้ามาศึกษาอยู่ภายในนี้แหละ
ทั้งพระพุทธเจ้าเอง เมื่อก่อนท่านก็มีกิเลสเหมือนเรานี่เอง
แต่ท่านค้นพบโพธิจิตแล้ว
เราเองก็น่าจะเจริญรอยตามท่านได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อเข้าถึงโพธิจิตแล้ว
ก็ไม่เห็นว่าอาจารย์เซ็นจะสอนให้ยึดโพธิจิต หรือยึดความว่างใดๆ
เพราะจุดสุดท้าย ก็ตรงกัน คือความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
คำสอนเรื่องโพธิจิต จึงอาจเป็นเพียงอุบาย
เพื่อปลุกเร้าให้เกิดการแสวงหาสัจจธรรมภายในจิตตนเองก็ได้
ซึ่งถ้าเป็นเพียงอุบาย ไม่ยืนยันว่าโพธิจิตเป็นอัตตา
ก็น่าจะไม่มีข้อขัดแย้งกับเถรวาทในสาระสำคัญแต่อย่างใด

ส่วนคำสอนของเถรวาท ก็มีความสุขุมรอบคอบ
โดยสอนให้รู้จักความเกิดดับของจิต คือจิตเป็นอนัตตา
เพื่อไม่ให้ผู้ศึกษาเกิดความหลงผิด
จนบ่มเพาะสักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเราให้เติบกล้า

*************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:00:57

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:05:47
การปลุกโพธิจิต

มรรควิถีของเถรวาทกับเซ็นก็ดูจะตรงข้ามกันอีก
คือเถรวาทสอนให้เรียนรู้อุปาทานขันธ์ หรือสิ่งที่จิตไปหลงยึดมั่นเข้า
จนรู้จริงแล้วจึงเลิกยึดมั่น จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

และก่อนที่จะถึงขั้นเรียนรู้อุปาทานขันธ์ได้
ท่านก็สอนให้รู้จักรักษาศีล และทำสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมของจิตเสียก่อน

ในขณะที่เซ็นดูเหมือนจะไม่สนใจกับสิ่งที่จิตไปยึดมั่นเข้า
หากแต่สอนให้ตัดตรงเข้าสู่โพธิจิตเลยทีเดียว

เซ็นปฏิเสธการปฏิบัติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป
แต่สอนให้ลืมตาตื่นต่อสัจจธรรมขึ้นเลย โดยเน้นให้ รู้ ไม่ใช่คิด
เพราะความคิดนั้นแหละ คือสิ่งปิดบังความจริง ด้วยประสบการณ์เก่าๆ ของผู้คิดเอง
ทั้งยังปฏิเสธเงื่อนไขของการปฏิบัติทั้งหลาย
จนคล้ายกับว่า เซ็นไม่มีไตรสิกขาในส่วนของศีล และสมาธิ

ความจริงถ้าผู้ใดมีทัศนะว่า สัตว์ทั้งปวงมีโพธิจิตอย่างหนึ่ง
กับฝึก รู้ อย่างต่อเนื่องจริงจังไม่ให้จิตตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสตัณหาอีกอย่างหนึ่ง
ถึงจะไม่สมาทานศีล จิตก็ย่อมมีศีลเอง
เพราะจะเกิดความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างหนึ่ง
และเพราะจิตไม่ถูกความชั่วย้อมเอาอีกประการหนึ่ง
เซ็น จึงอาจจะไม่พูดถึงศีล แต่จะกล่าวว่าเซ็นไม่มีศีล ก็คงไม่ถนัดนัก
ส่วนเรื่องสมาธิ เท่าที่ทราบก็มีการทำสมาธิกัน
เพราะชื่อของเซ็น ก็คือฌาน อันเป็นชื่อของสมาธินั่นเอง

สำหรับคำสอนเรื่อง ให้รู้ ไม่ให้หลงความคิด
อันนี้ก็คือหลักการสำคัญของวิปัสสนา

และแม้เซ็นจะไม่สอนให้เรียนรู้เรื่องอุปาทานขันธ์
แต่ในขณะที่ รู้ นั้นเอง สิ่งแรกที่จิตไปรู้เข้าจะไม่ใช่โพธิจิต
หากแต่เป็นรูปและนามขันธ์ต่างๆ อันเหมือนคูหาที่(โพธิ)จิต อาศัยอยู่นั่นเอง
(เพราะเซ็นเองก็ย้ำนักหนา ว่าไม่ให้ใช้จิตแสวงหาจิต
คือไม่ได้สอนให้มองตรงเข้าหาโพธิจิต)
ต่อเมื่อรู้สิ่งปรุงแต่งต่างๆ จนวางเพราะเห็นไตรลักษณ์แล้วนั่นแหละ
จึงจะพบโพธิจิต หรือจิตที่หลุดพ้น
ดังนั้นจะกล่าวว่าเซ็น ไม่เรียนรู้อุปาทานขันธ์ ก็ไม่เชิงนัก
ที่จริงเขาเรียนรู้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้เรียกชื่อว่า อันนี้คือขันธ์อันนี้

*********************************************

ที่ผมนำเรื่องนี้มาพูดขึ้น ก็เพราะเห็นว่า
เราควรจำแนกให้ออกว่า คำสอนส่วนไหนเป็นของเถรวาท ส่วนไหนเป็นของเซ็น
อย่าให้สับสนปะปนกัน จนตัวเราเองก็งง พอพูดไปแล้วก็พาให้ผู้อื่นงงด้วย
แต่ไม่ใช่จำแนกเพื่อจะข่มซึ่งกันและกัน หากแต่เพื่อพยายามทำความเข้าใจกัน
เพราะถึงอย่างไร เซ็น ก็อยู่ในร่มของพระพุทธศาสนาร่วมกับเถรวาท
และในอนาคต ยังไม่แน่เหมือนกันว่า เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนา
ชาวโลกเขาอาจจะนึกถึงมหายานและเซ็นมากกว่าเถรวาท
เพราะเขาแทบจะไม่รู้จักเถรวาทแล้ว ก็เป็นได้

*************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:05:47

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ Tuledin วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:21:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 12:51:18
ผมมีทัศนคติส่วนตัว ต่อเรื่องนี้ที่ค่อนข้างจะแปลกไปอีกนิดครับ

ผมมีความเห็นว่า จิตผู้รู้เขาก็มีธรรมชาติเป็นอย่างของเขาเอง หากแต่ตัวโมหะนี้มาครอบงำ จึงทำให้จิตเขาหลงยึดอารมณ์ต่างๆแล้วก็ก่อภพก่อชาติ หากสิ้นโมหะลงเสียได้จิตก็ไม่หลงใดๆอีก

ซึ่งก็ไม่ได้ยืนยันว่าความเห็นของผมนี้จะถูกนะครับ แต่ในปัจจุบันนี้เห็นอย่างนี้จริงๆครับ และเห็นด้วยว่า เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าจะเถรวาทหรือเซ็นก็อย่างเดียวกันจริงๆครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 12:51:18

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ โยคาวจร วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 13:30:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 20:15:35
_/\_
สาธุ


โดยส่วนตัวผมเห็นว่า เซ็น เป็นกลวิธีการสอนที่แยบคายอย่างหนึ่ง
ซึ่งถ้าหากมองกันที่จุดประสงค์ของเซ็น ผมเห็นว่าเหมือนกัน
กล่าวคือ ในพระวินัยซึ่งผมบังเอิญได้ไปอ่านเจอเมื่อไม่กี่วันนี้ นอกจากจะ
เพื่อความเป็นระเบียบ เรียบร้อยของหมู่คณะแล้ว ความสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมเห็น
จากพระวินัย คือการอยู่อย่างมีสติ-สัมปชัญญะที่พร้อมสมบูรณ์
และจากที่ได้อ่านพระสูตรหลายๆพระสูตร เช่นเดียวกัน ก็จะโยงมาตรงที่
การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์โดยมีสติ-สัมปชัญญะบริบูรณ์อีกเช่นกัน

ย้อนกลับมาตรง เซ็น ซึ่งผมยังไม่มีความรอบรู้อะไรนัก
เพียงแต่ได้อ่านงานของท่านฮวงโป และนิทานเซ็นอีกนิดหน่อย
เช่นเดียวกัน จุดประสงค์หลักของเซ็นที่ผมจับใจความได้ ก็คือการ
มีสติ-สัมปชัญญะที่บริบูรณ์เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น นิทานเซ็นเรื่องหนึ่งที่คงจะคุ้นหูกัน ที่กล่าวถึงพระเซ็น
ท่านหนึ่ง นั่งสมาธิแล้วเผลอหลับไป อาจารย์ก็เลยเอาไม้ขนาบเข้าไป1ที
ถ้ามองกันเผินๆ ก็คิดว่า อาจารย์เซ็นนี่โหดจัง
แต่ถ้าสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ นั่งสมาธิแล้วไม่หลับ อาจารย์จะตีทำไม
แล้วถ้าหากพระลูกศิษย์ เกิดขาดสติอย่างแรง ส่งจิตออกนอก ย้อนกลับมารู้
ไม่ทันแล้ว ก็คงจะเป็นปัญหาระหว่างศิษย์-อาจารย์ แทนที่จะเป็นนิทานเซ็นให้
พวกเราได้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้


เหมือนกันกันกับทางพระป่าที่ท่านไปนั่งสมาธิริมที่สูง-ที่น่ากลัว
เพื่อให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่ทางพระของเราบางองค์นี่
ท่านเด็ดขาดมาก คือเอาชีวิตเป็นเดิมพันกับสติเลยทีเดียว

ผล(มีสติ-สัมปชัญญะ)เหมือนกัน แต่วิธีการต่างกัน
โยงไปโยงมาผมเห็นว่า ไม่ว่าจะจะเป็นแนวทางใหน ไม่ว่าจะเป็น เซ็น ,เถรวาท ,ฯลฯ
ถ้าหากลงมาตรงที่ " เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อย่างแท้จริง" ผมเห็นว่าก็ใช้ได้หมด

แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องการปฏิบัติแล้ว เอาเพียงไม่กี่วิธีก็พอ
แต่ขอให้โยงมาตรงที่ มี"สติ-สัมปชัญญะ"สมบูรณ์ และการปฏิบัติของเรานั้น
เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อย่างแท้จริงน่ะครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 20:15:35

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 07:56:55
ประเด็นเรื่องความนิยมเซ็นนั้น ผมเองนิยมมากเหมือนกันครับ
แม้แต่หลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ยืมคำสอนของฮวงโป มากล่าวสอนศิษย์บ่อยๆ

หากเป็นผู้เข้าใจแจ่มแจ้งถึงเรื่องการเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว
การนิยมเซ็น ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่จุดที่น่าห่วงใยก็คือ ปัญญาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับคำสอนของเซ็น
เพลิดเพลิน หรือหลงเสพย์ถ้อยวลีอันลึกล้ำทางสมอง
และยึดมั่นในวาทะเรื่องความไม่มีตัวกูของกู ความว่าง มหาสุญญตา ฯลฯ
ทั้งที่ไม่รู้จักสติสัมปชัญญะจริงๆ เลย
ในที่สุดก็ได้มาแต่เปลือกของเซ็น
รวมทั้งมองข้ามการพัฒนาจิตใจตามหลักไตรสิกขาของเถรวาท
แล้วเอาเรื่องความไม่ยึดมั่น มาเป็นข้ออ้างในการสนองกิเลส
ถ้าเป็นแบบนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เถรวาทเสียหายเท่านั้น
แต่ยังจะทำให้เซ็นเสียชื่อไปด้วย

ถ้าเป็นผู้มีปัญญา รู้จักการเจริญสติสัมปชัญญะอันเป็นทางสายเอก
สามารถจับแก่นธรรมของเถรวาทและเซ็นได้
ก็จะพบความจริงข้อหนึ่งว่า ธรรมแท้ไม่มีนิกาย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 07:56:55

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ มรกต วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 08:09:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 09:55:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 14:04:56
"ปัญญาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับคำสอนของเซ็น เพลิดเพลิน หรือหลงเสพย์ถ้อยวลีอันลึกล้ำทางสมอง และยึดมั่นในวาทะเรื่องความไม่มีตัวกูของกู ความว่าง มหาสุญญตา ฯลฯ ทั้งที่ไม่รู้จักสติสัมปชัญญะจริงๆ เลย"

อ่านประโยคนี้แล้วทำให้นึกถึงเพื่อนของผมคนหนึ่ง เขานิยมเซนจริงๆครับ แต่ว่านิยมในแนวทางนี้ครับ คือ มีความเห็นว่า เขาเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ดังนั้นเขาจะไม่ทำตามกฎกติกาของใคร เพื่อแสดงว่าเขาเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น (แต่ที่จริงแล้ว เขากลับแสดงความยึดมั่นถือมั่นในกฎของตนเองอย่างเหนียวแน่น)

และเพราะว่าเพื่อนของผมคนนี้ เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก จึงมีความสำคัญตนด้วยว่าเป็นผู้รู้ ผมจึงไม่อาจที่แม้จะกล่าวเตือนอะไรได้ และเขาก็หาได้รู้ด้วยไม่ว่า เขาทำเป็น "น้ำชาล้นถ้วย" อย่างในนิทานเซนแล้ว และไม่มีใครที่จะว่ากล่าวตักเตือนเขาได้ด้วยสิครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 14:04:56

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 21:12:39
เซ็นทุกนาที

นักศึกษาเซ็น ต้องปฏิบัติอย่างน้อย 10 ปี จึงมีสิทธิสอนคนอื่นได้

เตนโนเพิ่งผ่านการฝึกอบรม ได้เป็นอาจารย์คนหนึ่ง
ไปเยี่ยมอาจารย์ นันอิน  บังเอิญวันนั้นฝนตก
เตนโนจึงสวมรองเท้าไม้ถือร่ม

เมื่อปฏิสันถารตามธรรมเนียมแล้ว อาจารย์นันอินถามว่า

“ ผมเข้าใจว่า คุณวางรองเท้าไว้ตรงทางเข้า อยากทราบว่าคุณวางร่ม ไว้ข้างซ้ายหรือข้างขวาของรองเท้า “

เตนโนงง ตอบไม่ได้ในทันที รู้สึกตัวว่ายังไม่สามารถเป็นเซ็นทุกนาที
เธอจึงมอบตนเป็นศิษย์อาจารย์นันอิน ศึกษาอีก 6 ปี จึงสำเร็จความเป็นเซ็น ทุกนาที


จากเรื่องนี้ ผมคิดว่า เราคงได้เค้าโครงการฝึกเซ็นครับ
ว่าจริงๆ ปัญญาทางลัด หรือ ตรัสรู้โดยฉับพลัน ไม่มีคำว่าบังเอิญ
เป็นการเจริญสติ ในทุกนาทีเหมือนกัน
โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 21:12:39

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 21:52:14
ผม เข้าใจว่า คำว่า จิตเดิมแท้ ที่บริสุทธิ์ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับเถรวาท

คำสอนเรื่องจิตเดิมแท้ เหมือนบอกว่า น้ำที่แท้ คือ H2O ไม่มี ฝุ่น หรือ pollution เจือปน ซึ่งถูกต้องโดยคำนิยาม แต่อาจจะนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ลำบาก

เนื่องจากน้ำที่เกิดโดยธรรมชาติ แม้แต่ น้ำฝนในเมืองหลวงที่มีอากาศสกปรก  ก็ย่อมมี มีฝุ่นละอองตั้งแต่เกิด

อุปมากับ หากอวิชชาเป็นปัจจัยต่อสังขารแล้ว ก็เกิดปฏิจสมุปบาทสายทุกข์เป็นจิตที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา จิตโดยธรรมชาติของปุถุชนจึงมิได้บริสุทธิ์ดังจิตเดิมแท้  จึงยังต้องมีกระบวนการในการแยกจิตธรรมชาติออกจากสิ่งสกปรกอีกที ไม่ว่าโดยการป้องกันต้นทาง คือใช้สติกั้น หรือการกลั่นออก คือใช้สัมมาสมาธิ

ผมเห็นว่าแนวการปฎิบัติของเซ็น  ก็คืออุปมานุสติ หรือการหน่วงเอาธรรมที่สงบระงับคือพระนิพพาน (ในรูปจิตเดิมแท้) เป็นอารมณ์ บวกกับ การมีสติสัมปชัญญะ ดูกายดูจิต ดังที่คุณหมอ lee ยกตัวอย่างครับ
โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 20 กันยายน 2543 21:52:14

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 07:40:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 11:15:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 19:34:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 25 กันยายน 2543 15:10:03
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ จ้อม วัน ศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2543 13:31:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com