กลับสู่หน้าหลัก

ทุกข์

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 09:54:42

ผมเคยเรียนเรื่องอริยสัจจ์ 4 มาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา
เรียนแล้วเกิดความสงสัยอย่างมากว่า ทุกข์ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้จัก
แต่เหตุใดพระพุทธเจ้าท่านต้องมาสอนให้สาวกรู้จักทุกข์ด้วย
(คนรุ่นผมตอนเด็กเขามีวิชาศีลธรรมให้เรียนกัน
ตำราของกระทรวงศึกษาธิการสอนไว้ จำได้เลยว่า นิพพาน แปลว่า ตาย
ตอนเด็กๆ จึงรู้สึกว่า นิพพานนี่น่ากลัว ไม่น่าปรารถนาเลย)

ความทุกข์ที่พระองค์นำมาแสดง เป็นของตื้นๆ พื้นๆ อย่างยิ่ง
เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว
เพราะใครๆ ก็เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
หรือใครๆ ก็รู้ว่า การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์  และเมื่อไม่ได้อย่างที่ใจอยากก็เป็นทุกข์
ใครๆ ก็เคยเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ เหี่ยวแห้งใจ

ตอนโตขึ้นมาหน่อย อ่านพระพุทธประวัติบ้าง ชาดกบ้าง
แล้วรู้สึกรักพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง
เพราะท่านต้องทนลำบากบำเพ็ญบารมีมาตั้งสี่อสงไขยแสนมหากัปป์
ในพระชาติสุดท้ายก็ทรมานพระกายจนสลบ
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของมหาบุรุษที่กินใจเด็กๆ มาก
แล้วก็มาสงสัยอยู่อีกหน่อยหนึ่งว่า
ท่านทนลำบากตั้งมากมาย เพียงเพื่อจะทราบและสั่งสอนว่า
ใครๆ ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายกระนั้นหรือ
ความลำบากของพระองค์ กับธรรมที่ทรงรู้ เหตุใดจึงมีน้ำหนักต่างกันนัก

แรกที่เริ่มลงมือศึกษาปฏิบัติธรรมจริงๆ จังๆ ได้ฟังครูบาอาจารย์สอนว่า
รู้ทุกข์อย่างเดียวก็คือปฏิบัติกิจของอริยสัจจ์ 4 ครบแล้ว
แต่ก็ยังเห็นว่าทุกข์ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้ง
มรรคต่างหาก เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว้างขวางมาก

ปฏิบัติมาช่วงหนึ่งจึงเห็นความสำคัญของเรื่องทุกข์จับใจ
ว่าประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า ให้รู้ว่าคนเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
เพราะอันนั้น ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า
ให้รู้และยอมรับด้วยใจว่า
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตลอดจนบรรดาความทุกข์ต่างๆ และสิ่งทั้งปวง
มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดาต่างหาก
ถ้าไปหลงยึด หรือปฏิเสธมันเข้า นั่นแหละจะเกิดทุกข์ซ้ำสอง


การปฏิบัติธรรม ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะเพื่อเรียนรู้ความจริงตรงหน้า
จนกระทั่งจิตยอมรับความเป็นธรรมดาของความทุกข์ทั้งหลาย (ซึ่งก็คือสิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้น)
รู้ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน
จิตจึงพ้นจากความดิ้นรนแส่ส่ายเพราะสิ่งธรรมดาที่ต้องเผชิญนั้น

ธรรมที่ตื้นๆ ตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละครับ
ที่ท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบพากันอุทานว่า
"เป็นธรรมตื้น
แต่ทำไมหนอ จึงไม่รู้จัก จนต้องฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
แล้วต้องลงมือปฏิบัติธรรมแทบล้มแทบตาย
กว่าใจจะยอมลงให้กับ ธรรม ธรรมดาๆ อันนี้"


************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 09:54:42

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 09:59:53
ข้อสังเกต ..

1. ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงนั้น
มีทั้งทุกข์ตาม บัญญัติ อันได้แก่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ความพลัดพราก การประสบสิ่งที่ไม่พอใจ ความไม่สมอยาก ฯลฯ
และทุกข์ในมุมมองของ ปรมัตถ คืออุปาทานขันธ์

2. บุคคลจำนวนมากในครั้งพุทธกาลบรรลุพระโสดาบัน
ด้วยการฟังธรรมในขั้นบัญญัติ และไม่รู้จักธรรมในขั้นปรมัตถ์จนตลอดชีวิต
เช่นท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นพระโสดาบัน
ทั้งที่ท่านไม่เคยฟังธรรมเรื่องขันธ์ 5 เลย
เคยฟังแต่เรื่องเกิดแก่เจ็บตายธรรมดาๆ นี่เอง

จนตอนที่เจ็บหนัก ใกล้จะอนิจจกรรม
ท่านพระสารีบุตรจึงแสดงเรื่องขันธ์ 5 ให้ฟัง
ซึ่งท่านเศรษฐีก็ร้องไห้ด้วยความเสียดายโอกาส แล้วบ่นว่าได้ฟังช้าไป

3. ธรรมที่ทรงแสดงต่อหลายท่าน ในขั้นสุดยอดเพื่อการบรรลุพระอรหันต์นั้น
(เท่าที่จำได้ตอนนี้) มักจะเป็นธรรมในขั้นปรมัตถ์
เช่นทรงสอนอนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์แก่ท่านพระปัญจวัคคีย์
ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยอายตนะเป็นของร้อน แก่ชฎิล 1,000 รูป
ทรงแสดงเรื่องสักแต่รู้ สักแต่เห็น สักแต่ทราบ แก่ท่านพระพาหิยะ
และท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์
เพราะได้ฟังพระศาสดาทรงแสดงธรรมเรื่องเวทนา 3 ไม่เที่ยง  เป็นต้น

4. จากข้อ 2 - 3 จะเห็นได้ว่า พระศาสดาทรงแสดงธรรมอย่างมีการจำแนก
ผู้ฟังจึงได้ประโยชน์จากธรรมอย่างถึงใจ
ส่วนพวกเราชาวพุทธในยุคนี้ ฟังธรรมเฟ้อเกินไปหรือเปล่า
เพราะต่างก็พูดถึงปรมัตถธรรมได้คล่องปาก เพราะจำได้ขึ้นใจ
แต่กลับไม่รู้ธรรมเหมือนท่านที่ฟังเพียงธรรมในขั้นบัญญัติเมื่อครั้งพุทธกาล
เป็นไปได้ไหมครับ ว่าความรู้ที่เต็มสมองนั้น
ได้ปิดกั้นจิตใจไม่ให้เปิดขึ้นรับธรรมเสียแล้ว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 09:59:53

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ กระต่าย วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 10:21:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ โยคาวจร วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 10:47:21
ในหนังสือเรียนน่าจะสอนให้เด็กปฏิบัติธรรมไปตามวัย
ไม่ใช่แค่อ่านผ่านๆ ไปเพื่อทำคะแนนสอบอย่างเดียว
แล้วไม่รู้จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร
โดยคุณ โยคาวจร วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 10:47:21

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 11:15:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 13:04:47
สาธุ!!! สาธุ!!! สาธุ!!!

"เป็นไปได้ไหมครับ ว่าความรู้ที่เต็มสมองนั้น ได้ปิดกั้นจิตใจไม่ให้เปิดขึ้นรับธรรมเสียแล้ว"

ประโยคนี้ ถูกใจจริงๆครับ (ไม่ใช่ชอบใจ แต่กระทบกับใจจริงๆครับ) ทำให้นึกถึงเมื่อก่อน ที่โดนพระป่าท่านตำหนิเอา ว่า "นั่นไม่ใช่ปัญญา นั่นเป็นธรรมะสัญญา"

เสียดายผมจำชื่อและฉายาของท่านไม่ได้ครับ แต่ก็ยังระลึกคุณของท่านอยู่ในทุกวันนี้

สำหรับประโยคคำถามของครูนี้ ผมมีความเห็นว่า "ความหลงว่าเป็นตนเป็นผู้รู้" หรืออาการของ ชาล้นถ้วย นี้ล่ะคือตัวปิดกั้นจิตไม่ให้เปิดรับธรรมครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 13:04:47

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ tana วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 13:49:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ กอบ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 15:06:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 15:08:10
ไม่มีความรู้  จึงอยากมีความรู้  จึงมัวแต่หลงหาความรู้
มีความรู้น้อย  จึงอยากมีความรู้มาก  จึงมัวแต่หลงหาความรู้เพิ่ม
มีความรู้มาก  จึงคิดว่าเรารู้แล้ว จึงหลงในความรู้
หากมัวหลงในความรู้เสียแล้ว  ความรู้ก็คือ เครื่องปิดกั้นมรรคผล นั่นเอง

หากไม่อยากเป็นตามคำที่ครูกล่าวว่า ...ความรู้ที่เต็มสมองนั้น ได้ปิดกั้นจิตใจไม่ให้เปิดขึ้นรับธรรมเสียแล้ว
ก็ขอให้พากัน เจริญสติสัมปชัญญะ  โดยปล่อยเรื่องของความรู้ ให้เป็นไปตามวาสนาก็แล้วกัน
และเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะ  จนถึงระดับหนึ่งก็จะพบว่า
แท้ที่จริงแล้ว  ความรู้ก็เป็นเพียงสิ่งสิ่งหนึ่งเท่านั้น
หรือเป็นเพียงอารมณ์อย่างหนึ่งเท่านั้นเองครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 15:08:10

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 16:15:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 17:16:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 19:35:06
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ มรกต วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 07:38:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 08:14:35
สาธุครับ
อยากเรียนถาม..มาร5 ในเชิงปฏิบัติคืออะไรครับ
ขอบพระคุณครับ

โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 08:14:35

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 09:25:06
ผมไม่ได้เล่าถึงที่มาของกระทู้นี้
ยิ่งพอไปเขียนข้อสังเกตเข้า
วัตถุประสงค์ของกระทู้ก็เลยเบี่ยงเบนไปนิดหน่อย

เรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 3 - 4 คืนก่อน ผมเดินจงกรมอยู่ตอนตีหนึ่งกว่าๆ
เดินทีแรกก็เริ่มตามสูตร คือรู้ที่เท้ากระทบพื้นไป
รู้ความแข็งของพื้น กับความยืดหยุ่นของเท้าไปเรื่อยๆ
พอจิตมีกำลัง จิตก็ขึ้นมารู้ชัดอยู่ที่จิต ซึ่งสงบและเบิกบานอยู่

สักพักจิตก็สอนจิตว่า จิตในจุดนี้ยังยึดขันธ์ 5 อยู่ ยังไม่หลุดพ้น
แล้วจิตก็รู้ลงไปในกาย เห็นกายเป็นรูปอันหนึ่งที่กำลังปรากฏ
เป็นของทิ้ง คือเอาไว้ไม่ได้ ไม่นานการประชุมกันอยู่ของธาตุ ก็จะสลายตัวไป
แม้ในส่วนของนามธรรม ก็เป็นของทิ้งเหมือนกัน
เพราะมันเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยของมัน
ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง ที่จะยึดเอาไว้ได้
เมื่อจิตพิจารณามาถึงจุดนี้ โดยมีปรมัตถธรรมของกายและใจ
เป็นเครื่องรองรับยืนยันให้เห็น
จิตก็เห็นจริงแล้ววางกายวางจิตลงชั่วขณะ ราวๆ 2 - 3 วัน

การที่จิตเจริญปัญญานั้น จิตจะต้อง
(1) เจริญของเขาเอง แล้วแต่เขาจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาพิจารณา
โดยก่อนหน้านั้น ผู้ปฏิบัติก็เพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้น

(แต่ต้องไม่เพ่งกดจิตตนเองจนเจริญปัญญาไม่ได้
และไม่หลงฟุ้งซ่านขาดสติสัมปชัญญะ
เมื่อจิตจะพิจารณาธรรม เขาก็จะหาแง่มุมขึ้นมาพิจารณาเอง)
และ(2) มีสภาวธรรมรองรับ คือรู้เห็นสภาวธรรมที่กำลังปรากฏไปด้วย
เช่นถ้าจิตพิจารณาโทสะ ก็จะดำเนินตอนที่สภาวะของโทสะกำลังปรากฏอยู่
ไม่ใช่เจริญปัญญาอยู่บนนิมิต หรือความคิดลอยๆ ด้วยเหตุผลหรือตรรกะ
ไม่มีประจักษ์พยานอันเป็นสภาวธรรม หรือปรมัตถธรรมรองรับ
เช่นนั่งคิดว่า โทสะเป็นยังไง มันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปยึดถือมัน เป็นต้น
เพราะอันนั้นจะเป็นความฟุ้งซ่าน ยังไม่ใช่การเจริญปัญญาที่แท้จริง
หรืออย่างที่เคยเล่าเมื่อไม่นานนี้ว่า
แม่บ้านผมเห็นการที่จิตเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็น แล้วเกิดทุกข์
อันนั้นแหละจิตเจริญปัญญา เพราะไม่ได้จงใจจะเห็น
แต่จิตไปรู้เห็นเท่าทันสภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้น
พร้อมทั้งเข้าใจเหตุผลต้นปลาย แล้วปล่อยวางได้
ถ้ารู้แล้วแบกไว้ก็ยังไม่ใช่ปัญญา
ต้องรู้แล้ววางได้ จึงจะเป็นปัญญา


ตอนนั้นจิตประจักษ์ชัดว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
ที่เกิดขึ้นทั้งรูปนามล้วนแต่เป็นก้อนทุกข์ทั้งนั้น
กายนี้ จิตนี้ เขาเกิดแก่เจ็บตาย เขาทุกข์ไปตามเรื่องของเขา
ถ้าจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เพราะมีปัญญาเห็นธรรม
คือความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ของกายของจิต
ความทุกข์ก็ไม่กระทบถูกต้องเข้าถึงจิต

เมื่อผ่านภาวะนั้นมาแล้ว กลับมาบัญญัติให้พวกเราฟัง
คำบัญญัติกลายเป็นถ้อยคำที่พื้นๆ ธรรมดาๆ อย่างยิ่ง
คือ"เกิด แก่ เจ็บ ตาย ... เป็นทุกข์ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับจิต
แต่ตัณหา เป็นเหตุให้จิตเป็นทุกข์
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง จิตก็หลุดพ้น"
ความอัศจรรย์ของธรรมที่จิตรู้ กับความธรรมดาของธรรมที่บัญญัติออกมา
มันมีรสชาด และความจืดชืดต่างกันราวฟ้ากับดินทีเดียว

ก่อนหน้านี้ จิตผมก็เคยดำเนินถึงจุดนี้หลายคราวแล้ว
ที่จำได้คือครั้งแรกนั้น จิตเห็นจิตอยู่ แล้วเกิดรู้จริงว่า
ไม่มีใครทำจิตให้หลุดพ้นได้ นอกจากจิตเขาจะหลุดพ้นเอง
ต่อมาพิจารณาสัญญา
ต่อมาไปเห็นหลวงปู่สุวัจน์เข้า
ต่อมาเห็นอริยสัจจ์
คราวสุดท้ายนี้เห็นทุกข์เข้า เป็นต้น
แต่ละครั้งแต่ละคราว จิตจะปล่อยวางด้วยการรู้สภาวธรรมที่ต่างๆ กัน
โดยไม่มีความจงใจ และไม่มีความคาดหวัง
เพราะถ้าจงใจ ตัณหาจะเข้าแทรกทันที

พบเรื่องพวกนี้หลายคราวเข้า ก็เลยเข้าใจชัดว่า
เหตุใดธรรมที่ครูบาอาจารย์นับแต่พระศาสดาลงมา
เมื่อแสดงออกมาเป็นคำพูด บางครั้งดูธรรมดาๆ ไม่น่าจะมีผลมาก แต่ก็มีผลมาก
ทั้งนี้ก็เพราะธรรมในจิตใจของท่าน
และธรรมในจิตใจของท่านผู้มีวาสนาได้ฟังธรรมจากท่าน
ย่อมมีรสชาดและความลึกซึ้งไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับคำพูด

คิดจะเล่าเรื่องนี้ให้พวกเราฟังครับ
แต่พอตัดเอาเรื่องของตนเองออก
เขียนกระทู้ออกมาแล้ว มันกลายเป็นคนละเรื่องไปได้
จึงจำเป็นต้องเอาเรื่องการปฏิบัติของตนเองออกมาเล่า
ทั้งที่คิดจะเลี่ยงแต่แรกแล้วครับ
เพราะเกรงใจคนที่หลงเข้ามาอ่าน เขาอาจจะเข้าใจผิดว่าโอ้อวดก็ได้
แต่ครั้นไม่พูดออกมา ก็สื่อความเข้าใจได้ยากเสียอีก
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 09:25:06

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 09:51:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 10:26:18
เรียนคุณอี๊ด

มาร คือสิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ
หรือตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
ตามตำราชั้นหลังประมวลจากพระไตรปิฎกไว้เป็น มาร 5 ได้แก่
1 กิเลสมาร มารคือกิเลส (พบคำนี้ในพระไตรปิฎก 6 แห่ง)
2 ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ (พบ 4 แห่ง)
3 อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม
(ไม่พบมารชนิดนี้ในพระไตรปิฎก แต่มีร่องรอยที่ทำให้ตำราชั้นหลัง
ท่านสถาปนามารชนิดนี้ขึ้นไว้เหมือนกัน ซึ่งจะกล่าวในตอนท้าย) 
อภิสังขารเป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น
ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์
4 เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร (พบ 1แห่ง)
5 มัจจุมาร มารคือความตาย (พบ 1 แห่ง)

มารทั้ง 5 นี้ ขัดขวางผู้ปฏิบัติ เช่นเมื่อกิเลสมารคุกคาม จิตก็ไม่ตั้งมั่น
เมื่อมัจจุมารคือความตายคุกคาม ก็หมดโอกาสปฏิบัติธรรม เป็นต้น

ความจริงเรื่องมาร 5 นี้ ที่ผมเคยอ่านแล้วจับใจที่สุด
เป็นมาร 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อพระราธะ
จึงอัญเชิญมาให้อ่านกันเอาเองครับ
(จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 9 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
2. ราธสังยุต ปฐมวรรคที่ 1  มารสูตร  ว่าด้วยขันธมาร

      [366] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้
ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า มาร?

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ
เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี
เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร
เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์
บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้
บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ  เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ
เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี  ผู้ตายจึงมี
เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณว่า เป็นมาร
เป็นผู้ทำให้ตาย  เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์
บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้
บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.


อายาจนวรรคที่ 3  มารสูตร ว่าด้วยการละความพอใจในขันธมาร
      [389] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส
ทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์
ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร
เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

ดูกรราธะ ก็อะไรเล่าเป็นมาร?
ดูกรราธะ รูปเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในรูปนั้นเสีย.
เวทนาเป็นมาร ... สัญญาเป็นมาร ... สังขารเป็นมาร ...
วิญญาณเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในวิญญาณนั้นเสีย.

ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

                         
นี่แหละครับ มาร 5 ในเชิงปฏิบัติ ที่น่าสนใจมากทีเดียว

ความจริงในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงมารชนิดต่างๆ
เช่นกิเลสมาร และเทวปุตตมารไว้เช่นกัน
ทั้งยังกล่าวถึงมารอีกหลายชนิด ที่ตำราชั้นหลังไม่ได้กล่าวถึง
ลองอ่านดูเองนะครับ จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 22  ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

[427] คำว่า มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล
ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร
ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ
ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไป ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้น นั่นแล.


รวมแล้วเป็นมารอีกหลายชนิดทีเดียว
และตำราชั้นหลังท่านคงรวบเข้าเป็นอภิสังขารมาร
จะขาดก็แต่มารดำ มารขาว
ที่สำนักกรรมฐานบางแห่งเขาสอนกันเท่านั้นแหละครับ :)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 10:26:18

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ กระต่าย วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 12:02:09
สาธุ สาธุ สาธุ

ถ้ารู้แล้วแบกไว้ก็ยังไม่ใช่ปัญญา
ต้องรู้แล้ววางได้ จึงจะเป็นปัญญา

พักนี้เข้าคลุกวงในซะหน้ามืดเลยค่ะ
ขอบพระคุณคุณอาที่คอยสอนสั่ง และให้คำแนะนำ :-)
โดยคุณ กระต่าย วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 12:02:09

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 13:23:53
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543 19:20:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 23 กันยายน 2543 08:26:53
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 23 กันยายน 2543 08:26:53

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ พีทีคุง วัน เสาร์ ที่ 23 กันยายน 2543 22:33:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 25 กันยายน 2543 15:14:23
_/|\_ ^-^
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 25 กันยายน 2543 15:14:23

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ หนึ่ง วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 13:41:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ จ้อม วัน ศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2543 13:18:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com