กลับสู่หน้าหลัก

เทิดทูนพระวินัย

โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 08:17:32

เมื่อไม่นานมานี้บังเอิญผมได้อ่านพระวินัยจากหนังสือเรื่อง
"ท่านพ่อของชาวบ้าน พระอาจารย์ลี ธัมมธโร" เนื้อหาช่วงต้นได้กล่าวถึงพระวินัย
ซึ่งเป็นเหมือน กฏ ระเบียบเมื่อบวชพระ เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ให้เกิดความมีระเบียบ เรียบร้อย และที่สำคัญที่สุด "เพื่อความดับทุกข์อย่างแท้จริง"

ในส่วนของพระวินัยที่ได้อ่านพบนั้น เมื่ออ่าน และคิดไตร่ตรองแล้ว
เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้น ท่านทรงเป็นบรมครู เป็นเนื้อนาบุญที่สำคัญที่สุดของโลก
ถ้าพูดเป็นคำพูดของคนสมัยนี้ ก็คงจะกล่าวได้ว่า สุดยอดของปรมาจารย์

ที่จริงผมอยากจะกล่าวคำเทิดทูนพระองค์ท่านให้มากกว่านี้
เพราะเท่าที่เขียนมานี้ เมื่อย้อนกลับไปอ่านดู ก็ยังไม่ถึงครึ่งที่คิดเทิดทูนท่าน
_/\_  _/\_  _/\_

เหตุที่คิดอย่างนั้น เพราะนอกจากคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงสอนเอาไว้นั้น
ทันสมัยตลอดเวลา, เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อย่างแท้จริง
และในหลายๆพระสูตร ก็เห็นสิ่งที่เรียกว่า เป็นอนุสาสนีย์ปาฏิหารย์
ดังเช่นในพาหิยสูตรและในอีกหลายๆพระสูตร

ย้อนกลับมาที่พระวินัยที่ผมเห็นว่ามีความน่าทึ่ง,น่าตื่นตาตื่นใจนั้นก็เนื่องมาจาก
ในทุกข้อของพระวินัยนั้น หากไล่ย้อนมาถึงจุดประสงค์ของการออกพระวินัยนั้น
ทุกข้อ โยงมาที่จุดประสงค์ๆเดียวคือ มีสติ-สัมปชัญญะที่พร้อมบริบูรณ์ และยังมีบางข้อ
ที่นอกจากจะเน้นเรื่องสติสัมปชัญญะแล้วก็ยังเป็นการปกป้องตนเอง
ให้รอดพ้นจากการนินทา-ว่าร้ายจากผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

หากอ่านตามการจัดหมวดหมู่นั้น พระองค์ท่านก็แยกออกเป็นหลายหมวด
ตั้งแต่หยาบที่สุดจนถึงละเอียดที่สุดคือ
1. ปาราชิก 4
2. สังฆาทิเสส 13
3. อนิตย 2
4. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30
5. ปาจิตตีย์ 92
6. ปาติเทศนียะ 4
7. เสขิยะ 75
8. อธิกรณสมถะ 7
รวม 227 ข้อพอดี

ในส่วนของหมวด-หมู่นี้นั้นหากอ่านไล่เริ่มมาตั้งแต่ปาราชิกจนถึงเสขิยนั้น
หากเปรียบเทียบกับการปฏิบัตินั้น ก็มาสอดคล้องกันอีก คือจะค่อยๆ
ไล่มาตั้งแต่กิเลสชั้นหยาบ มาจนถึงชั้นละเอียดตามลำดับดังเช่น ในข้อ
ปาราชิกนั้นประกอบไปด้วย

ข้อ1  ภิกษุเสพเมถุน ต้องปาราชิก
ข้อ2  ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ราคา 5 มาสก ต้องปาราชิก
ข้อ3  ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก
ข้อ4  ภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก

จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 ข้อนี้จัดการ กิเลส-ตัณหาที่หยาบที่สุดและเป็นภัยต่อสังคมโดยตรง
ถัดไปก็จะค่อยๆละเอียดขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงเสขิยะ

ในเสขิยะ 75 นี้ถ้าดูกันลงในรายละเอียดแล้วก็จะเห็นว่า
เป็นเรื่องของการเน้นในเรื่องของการมีสติ-สัมปชัญญะ
และครอบคลุมถึงกิจวัตรประจำวันของภิกษุสงฆ์ได้เกือบทั้งหมด
โดยในหัวข้อ เสขิย75 นี้ แยกย่อยออกเป็น
1. สารูป
2. โภชนปฏิสังยุต
3. ธัมมเทศนาปฏิสังยุต
และ 4. ปกิณณกะ

ตัวอย่างเช่น
ในหมวด สารูป ก็กำหนดให้ภิกษุต้องนุ่ง,ห่มให้เรียบร้อย
เมื่อเข้าไปในบ้านของฆราวาส ต้องระวังตัวทุกลมหายใจเลย นับตั้งแต่
การยืน, การเดิน, การนั่ง, อิริยาบทเมื่ออยู่ในบ้าน ควรทำอย่างไร
แม้ในพระวินัยข้อนี้ ก็เห็นได้ว่าตรงกันกับการปฏิบัติฯคือ การมีสติ สัมปชัญญะ
คือรู้ตัวตลอด ห้ามเผลอ เพราะเผลอเมื่อไรก็เป็นอันว่ามีโอกาสสูงมากที่จะผิดวินัย
เช่น ไม่ไกวแขนเมื่อไปในบ้าน, ไม่สั่นศรีษะเมื่อไปในบ้าน, ไม่พูดเสียงดังเมื่อไปในบ้าน,
ไม่โคลงกายเมื่อไปในบ้าน, ฯลฯ ทุกข้อ เมื่อเทียบกับการปฏฺบัติธรรมแล้ว
โดยส่วนตัวเห็นว่า นี่คือการปฏิบัติธรรมแบบทุกลมหายใจเลยทีเดียว
และเมื่อเผลอ ก็ต้องได้รับการลงโทษและแม้การลงโทษนี้ก็ยังเจาะลึก
เข้ามาที่ตัว(ของภิกษุ)เอง เช่นการปรับอาบัติ ก็จะทำให้เกิดความละอาย
และเกิดความระมัดระวังสติกันต่อไป

พระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นนี้ ดูเหมือนจะเป็นรายละเอียดที่ค่อนข้างยุ่งยาก
ในการปฏิบัติตามอย่างเป็นธรรมชาติ แต่หากรู้ถึงจุดประสงค์แล้ว ในทุกๆข้อของพระวินัย
นี้ปฏิบัติตามได้ไม่ยากนักหากมีจุดประสงค์ในการบวชเป็นจุดประสงค์เดียวกับ
พระพุทธศาสนาคือ"ถึงความดับทุกข์"
คือทุกหัวข้อของพระวินัยจะมาลงตรงที่ "มีสติ-สัมปชัญญะ" ซึ่งก็เป็นหัวใจ
ในการปฏิบัติธรรม และในทุกข้อ ก็ยังจัดได้ว่าเป็นการจัดการกับกิเลสไปในตัว
จึงถือได้ว่าพระวินัย เป็นอาวุธที่จะใช้จัดการกับกิเลสได้อีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

จุดประสงค์ที่เขียนนี้ก็เพราะทึ่งในพระปรีชาญาณและการมีพระเนตรยาวไกล
ของพระพุทธองค์ จึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นเป็นการแสดงความเคารพและเทิดทูนพระพุทธองค์
หากมีข้อบกพร่องประการใดในการนำเสนอต่อสาธารณแล้ว ผมขอรับผิดไว้ทั้งหมดแต่ผู้เดียว
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 08:17:32

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 09:43:35
คุณธีรชัย จับแก่นของพระวินัยเอาไว้ได้เต็มๆ ทีเดียวครับ
เพราะมีการยืนยันมาแล้วโดยพระพุทธเจ้าเอง
ว่าการเจริญสติอย่างเดียว ทดแทนการรักษาพระวินัยทั้งหมดได้

เคยมีพระรูปหนึ่ง เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาพระวินัย
ก็เกิดความท้อใจว่า กระดิกตัวนิดเดียวก็ผิดพระวินัยแล้ว ท่านควรจะสึกเสีย
เพราะอยู่ไปจะทำให้พระธรรมวินัยเสียหาย
แต่เมื่อท่านไปทูลลาสึก พระศาสดากลับถามท่านว่า
ถ้าวินัยและข้อวัตรมีมากเกินไปจนปฏิบัติไม่ไหว
หากให้เหลือข้อเดียวจะปฏิบัติได้ไหม
ท่านรับว่าถ้ามีข้อเดียวท่านทำได้ และไม่จำเป็นต้องลาสิกขา
พระศาสดาจึงทรงสอนให้ท่านมีสติทุกเมื่อ
่ท่านรับปฏิบัติ จนบรรลุพระอรหันต์ได้ในที่สุด
ทั้งท่านก็ไม่ได้ทำผิดพระวินัยต่างๆ ด้วย
เนื่องจากมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว

ความจริงพระวินัยนั้น เกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ
เช่นเกิดจากพระท่านทำไปแล้ว รู้สึกว่าไม่เหมาะสมเองก็มี
ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่เหมาะสมก็มี
เป็นเรื่องขัดเกลาลดภาระทางใจก็มี

พระวินัยแต่ละข้อนั้น เป็นไปเพื่อความสบายในการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น
เช่นการเสพย์เมถุนจะขัดขวางการปฏิบัติ
เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครอบครัว เป็นภาระพะรุงพะรัง
ทั้งจิตใจหลังการเสพย์เมถุนก็จะกระเพื่อมไหว ไม่สงบ อ่อนแอ

การที่พระมีทรัพย์สินเงินทอง ก็มีภาระผูกพันจิตใจต้องระวังรักษา
และก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากูมีอำนาจอยู่ในมือ
จะไม่ถอดเขี้ยวเล็บ หมดพิษสง แบนติดดินแบบพระมือเปล่า
ซึ่งนอกจากจะไม่รู้สึกกร่างแล้ว ยังรู้สึกเบาสบาย อบอุ่นใจในความเป็นพระแท้ด้วย

การที่พระอวดอุตริ ทำให้ผู้คนแตกตื่นมาทำบุญ
จิตใจก็จะยะโสโอหังขึ้นมาง่ายๆ มันมีสภาพเหมือนอึ่งพองลม
ในที่สุดก็ต้องท้องแตกตายเพราะลาภสักการะและชื่อเสียง

บรรดาเสขิยวัตรทั้งหลาย เป็นเครื่องทำให้พระงาม
และมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกการเคลื่อนไหว
ซึ่งความจริงแล้ว กิริยามารยาทในสังคมไทยนั้น
เดิมถอดแบบพระวินัยมามากทีเดียว
เช่นรับประทานอาหารคำไม่โตเกินควร
ไม่พูดระหว่างมีอาหารในปาก ไม่เคี้ยวดัง ซดดัง
ไม่เดินกินอาหาร ไม่ล่อกแล่กเหลียวหน้าเหลียวหลัง ฯลฯ
คนที่ถูกกล่อมเกลามาจากครอบครัวแบบนี้ พอไปบวชก็ไม่ลำบากนัก
แต่เด็กรุ่นต่อไป ไปบวชคงอึดอัดมากขึ้น
เพราะสังคมเดี๋ยวนี้ทิ้งกิริยามารยาทแบบไทยๆ ซึ่งถอดพระวินัยมา
เช่นจะกินแฮมเบอร์เกอร์สักชิ้น ต้องอ้าปากให้กว้างเกือบคืบจึงจะกัดได้ เป็นต้น

พระพุทธเจ้าท่านสอนพระของท่านให้เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว
และเป็นผู้ดีแท้ๆ ที่ไม่มีเครื่องประกอบอิสริยยศใดๆ
จึงน่าอัศจรรย์จริงๆ ที่ลูกพระพุทธเจ้านั้น จนแสนจน
แต่วิญญูชนได้พบเห็นแล้ว รู้สึกงามจับตาจับใจจริงๆ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 09:43:35

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ วิทวัส วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 11:39:17
สาธุครับ
โดยคุณ วิทวัส วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 11:39:17

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ อี๊ด วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 11:59:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ โยคาวจร วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 14:05:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543 15:24:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พุธ ที่ 27 กันยายน 2543 07:15:36
ว่าจะไม่เขียนแล้วในกะทู้นี้ แต่อดทึ่งไม่ได้ ที่ทึ่งนี่มิใช่ทึ่งใน ธรรมวินัย ที่คุณธีรชัย หรือ นายน้องเท็ด นำมาเขียนในนี้ เพราะเมื่ออ่านแล้วยองรับเลยโดยไม่มีข้อขัดแย้งเพราะโดยส่วนตัวถึงจะไม่ละเอียดในการจับจุดได้แบบนายน้องเท็ดก็เคารพในธรรมวินัยมานานแล้วและคิดเสมอว่าจะต้องมีอะไรในนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงทรงตั้งขึ้นมา  แต่ที่ทึ่งคือทึ่งในนายน้องเท็ดที่มีความละเอียดได้ขนาดนั้น ละเอียดพอที่จะหาจุดขืนในธรรมวินับลงมาที่สติ-สัมปชัญญะได้เอง โดยไม่มีใครบอกเลย ขอยอมรับค่ะ ว่าสมแล้วที่เป็นเจ้าของโรงงานนำบริวารของตนเองได้
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พุธ ที่ 27 กันยายน 2543 07:15:36

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พุธ ที่ 27 กันยายน 2543 07:18:17
เข้ามาแก้คำผิดค่ะ รู้สึกเขียนผิดมากเกินไป อะค่ะ แหะๆ
ขอแก้ ละเอียดพอที่จะหาจุดขืนในธรรมวินับ เป็น ละเอียดพอที่จะหาจุดยืนในธรรมวินัย
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พุธ ที่ 27 กันยายน 2543 07:18:17

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 28 กันยายน 2543 08:25:45
_/\_ขอบพระคุณครับครู

ขอบคุณเจ้เอี้ยงที่ชมครับ
: )
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 28 กันยายน 2543 08:25:45

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ จ้อม วัน ศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2543 13:42:18
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com