กลับสู่หน้าหลัก

ขันธ์ 5 เป็นภาระอันหนัก เว้ย!!

โดยคุณ ไพ วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 14:14:09

พระธรรมเทศนาบางส่วนของพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี
ธรรมะเดิมๆ ฟังแล้วฟังอีก ไม่เบื่อเลย
บางครั้งบางช่วงจังหวะของชีิวิต
กลับอ่านแล้วกระทบใจอย่างแรง
(ตั้งใจให้ป้าเอี้ยงอ่านโดยเฉพาะด้วยล่ะ)
...........................................................

ภารา หเว ปัญจักขันธา  ขันธ์ 5 เป็นภาระอันหนัก เว้ย
ภารหาโร จ ปุคคโล       แต่บุคคลยังยึดถือภาระไว้
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก  การแบกภาระไว้ เป็นทุกข์ในโลก
ภารนิกเขปนัง สุขัง       การปล่อยวางภาระเสีย เป็นความสุข
นิกขิปิตวา ครุง ภารัง     บุคคลปล่อยวางภาระเสียได้แล้ว
อัญญัง ภารัง อนาทิย     ไม่เข้าไปยึดถือเอาสิ่งอื่นเป็นภาระอีก
สมูลัง ตัณหัง อัพพุยห    เป็นผู้รื้อถอนตัณหา กับทั้งมูลรากได้แล้ว
นิจฉาโต ปรินิพพุโต ติ  เป็นผู้หมดความอยาก แล้วปรินิพพาน ดังนี้
......................................................................................................
คราวนี้จะวางจะทิ้งได้อย่างไรกัน
ก็ของได้มาตั้งแต่เกิด แล้วจะทิ้งได้อย่างไร มันก็เป็นของเหลือวิสัย
เหมือนกัน จะไปทิ้งให้ใครก็ทิ้งไม่ได้อย่างที่อธิบายมาเบื้องต้น
เอาไปทิ้งให้คนนั้นคนนี้เขาเลี้ยงให้ ถึงทิ้งไปมันก็ยังไม่หมด
มันก็ยังคงของเก่า การทิ้งแบบนี้ไม่มีหนทาง

พระพุทธเจ้าทรงทิ้งแบบของพระองค์ เป็นการทิ้งอีกแบบหนึ่ง
อย่างที่ทรงเอามาแนะนำสั่งสอน เพราะมีแบบอย่างการทิ้งของ
พระองค์แล้ว ทรงละทิ้งได้แล้ว ทรงเป็นสุข จึงทรงนำมาสอนพวกเรา

วิธีทิ้งของพระองค์ ทรงทิ้งด้วยการสละ การวาง ที่จะสละได้
ก็เพราะมารู้เท่าเข้าใจ เหตุนั้น จึงทรงนำเอาเรื่องของขันธ์ 5
มาอธิบายให้พวกเราเข้าใจ ให้พวกเรารู้เรื่องของขันธ์ 5


ให้รู้จักหน้าตาของขันธ์ 5 ลักษณะอาการของขันธ์ 5
เพื่อว่าเมื่อขันธ์ 5 มันเกิดขึ้นแล้ว มีอยู่เข่นนี้แล้ว
รู้เรื่องของขันธ์ 5 ตามเป็นจริง เช่น ความเกิดเป็นทุกข์
ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ไม่สบายเป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์ และก็มารู้ว่า ขันธ์ 5 ตัวนี้คือ ธาตุ 4
เมื่อมันแตกดับ ก็เรียกว่าธาตุ 4 มันแตกดับ
ถ้ามันเจ็บก็เหมือนกับ ธาตุ 4 มันบิ่น
คือเพียงแต่บิ่นไป ยังไม่ทันแตกดับ
มันตาย คือธาตุ 4 มันแตกไม่ใช่บิ่น
ดังนั้นจึงได้ขยายธาตุ 4 ออกเป็นอาการ 32

เมื่อผู้มาพิจารณาจนเห็นตามเป็นจริงเช่นนี้แล้ว
เวลาล้มป่วยเจ็บไข้หรือตายไปก็ดี ทำให้เห็นชัดตามเป็นจริงว่า
มันไม่ใช่ตัวตน บุคคลเราเขา มันเป็นสักแต่ว่าธาตุแตก
ขันธ์ดับ ไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัวของเรา หรือเป็นเพียงธาตุบิ่น
ขันธ์บิ่น ไม่ใช่ใครทั้งหมด

เมื่อเข้าใจชัดตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว เราจะไม่เข้าไปยึดว่า
อันนั้นเป็นของเรา การสละ สละได้ด้วยอย่างนี้ ทิ้งได้อย่างนี้
ถ้าเรายังไม่เห็นชัด มันจะไปยึดว่าเป็นของเราอยู่ตลอดเวลา
ไม่ยอมทิ้ง ไม่ยอมสละ

พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า ถ้าใครไม่เห็นภัย เห็นโทษ
ในอุปาทานขันธ์
คือ การเข้าไปยึดขันธ์ 5 ว่าเป็นของตน
ของตัว เมื่อใดแล้ว ก็จะไม่พ้นทุกข์

ถ้าหากเห็นภัยของการเข้าไปยึดขันธ์ 5 ว่าเป็นของตน
ของตัวแล้ว ก็จะสิ้นภพสิ้นชาติ ไม่มาเวียนว่ายตายเกิดต่อไป

นี่! การสละ การละ การทิ้งของพระพุทธเจ้า เป็นอย่างนี้
ทิ้งด้วยการรู้เท่า ทิ้งด้วยการเห็นตามเป็นจริง

เผณปิณฑูปมัง รูปัง รูปอุปมาด้วยฟองน้ำ
เราคงจะเคยเห็น น้ำที่ตกจากชายคาข้างบน ลงมากระทบ
น้ำข้างล่าง มันจะเกิดเป็นฟองขึ้นมา ทีแรกเล็ก แล้วค่อยโตขึ้นๆ
แล้วฟองน้ำนั้นก็แตกออกไป เป็นน้ำตามเดิม น้ำจากข้างบน
ตกลงมาอีก กระทบน้ำข้างล่าง เกิดเป็นฟอง แล้วก็แตกไปเป็น
น้ำของเก่า ฟองน้ำเกิดขึ้นมาเพราะถูกกระทบจากหยาดน้ำข้างบน
มันแปรสภาพขึ้นมา แล้วมันก็สลายดับไป

คนเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เกิดมาจากดิน แล้วก็สลายลงไป
เป็นดิน ที่ว่ามันเกิดจากดิน หมายความว่า ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
มารวมกัน เป็นรูปร่างลักษณะ เป็นหู เป็นตา เป็นอวัยวะทุกชิ้นส่วน
แปลกๆต่างๆกัน เช่น เป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนต่ำ คนสูง คนขาว
คนดำ ฯลฯ สารพัดทุกอย่างตามเรื่องของมัน อันนี้เปรียบได้กับ
ฟองน้ำ มันเกิดจากน้ำ พอมันสลายลงไปก็เป็นน้ำของเก่า
รูป เมื่อสลายลงไป ก็เป็นดิน น้ำ ของเก่า ไม่ได้เป็นอื่นไกล

เวทนา ปุพพุฬูปมา เวทนาเปรียบเหมือนกับคลื่น
เมื่อน้ำมากระทบฝั่ง เกิดคลื่นขึ้นมา เกิดเสียงขึ้นมา แล้วก็หายไป
คลื่นสลายลงเป็นน้ำของเก่า ถ้าไม่มีการกระทบ มันก็ไม่เกิดคลื่น
หรือไม่มีเสียงดังขึ้นมา เวทนา ก็เกิดจากการกระทบกัน เช่น
เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มีลมพัดมาสัมผัส รู้สึกว่าเย็น
เย็นนั้นหมายถึง เวทนา นั่นเอง เกิดขึ้นแล้ว ก็หายไป
เวทนาเกิดขึ้นในตัวของเรา ทิ้งก็ไม่ได้ ทีนี้จะทำอย่างไรได้
ถ้าผู้มาพิจารณาถึงเรื่อง เวทนา จนเข้าใจแล้ว ก็จะปล่อยวางลงได้


มรีจิกูปมา สัญญา สัญญาอุปมาเปรียบเหมือนกับพยับแดด
พยับแดดนั้นเวลาแดดร้อน เรามองดูไปข้างหน้าจะเห็นยิบๆยับๆ
เป็นตนเป็นตัวจริงๆ เวลาเข้าไปใกล้แล้วหายไป ไม่ทราบไปไหน
ไม่มีตนไม่มีตัว
สัญญา คือ ความจดจำ เราจำอะไรก็ตาม เหมือนกับมีสิ่งเป็นจริง
เป็นจังทุกอย่าง แต่เวลาเข้าไปดูจริงๆไม่มี นอกจากนั้น เราจำนั่น
จำนี่แล้วก็ลืมไป จำเรื่องใหม่อีก แล้วก็ลืมไปอีก ในผลที่สุดจำอะไร
ก็ไม่ได้ ไม่มีเหลือสักอันเดียว นี่เราได้ความรู้จากมัน เพราะมีสัญญา
เหตุนั้นจึงว่า ถ้าหากเรามาเข้าใจเรื่องสัญญาตามเป็นจริงแล้ว
เราปล่อยวางได้ง่าย


สังขารา กทลูปมา สังขาร ท่านอุปมาเหมือนกับต้นกล้วย
ธรรมชาติของต้นกล้วยนั้น มันไม่มีแก่น
ทำไมสังขารจึงไม่มีแก่นสาร  อย่างศาลานี้ เราไปตัดต้นไม้ในป่ามา
แล้วก็เอามาทำมาสร้างศาลาขึ้น จนเป็นตนเป็นตัวมิใช่หรือ
จะเรียกว่า สังขารไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เป็นแก่นสารได้อย่างไร
อันนี้เป็นของตื้นๆหรอก เรามาปรุงมาแต่งศาลาขึ้นมาในที่นี้
ให้เป็นศาลาสวยสดงดงาม ให้เป็นของทนทานถาวร
ครั้นอยู่ไปอยู่ไปโดยไม่ได้คิดนึกเลย ต้นไม้ล้มครืนมาใส่ทีเดียว
หายวับไปเลยซีกหนึ่ง นั่นเห็นปรากฏชัดทีเดียว หรือถ้าต้นไม้
ไม่ล้มใส่ มันก็ไม่มีสาระอยู่ในตัว ดูซี ศาลาอยู่ไปได้ไม่กี่ปี
ประเดี๋ยวก็ต้องพังทลายลงไปหมด พังแล้วไปไหน มันก็พังลง
เป็นขี้ดินของเก่านั่นแหละ

สังขาร คือตัวของเราก็เช่นเดียวกัน อีกนัยหนึ่ง ตัวของเรา
เรียกว่า ตัวสังขาร สังขารธรรม คำว่า "สังขาร" หมายถึง
เกิดจากการปรุงการแต่ง ตัวของเรานี่ก็เกิดจากการปรุงการแต่ง
อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกัน อาศัยบุญกรรมปรุงแต่ง
ให้เป็นรูปขึ้นมา
ก็ดูซี ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมาเป็นเด็กแล้วก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ
มาจนถึงป่านนี้ แล้วเด็กมันหายไปไหน มันมีสาระอะไรกัน
ตรงนั้น แล้วหนุ่มสาว มันผ่านมาแล้ว มันไปไหนหมด
แม้กระทั่งความแก่เดี๋ยวนี้ นานๆเข้ามันก็จะหมดไปอีกล่ะ
ในผลที่สุดมันก็จะต้องดับ
แล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะทีนี้ เนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ไม่ได้นั่ง
ตัวตนของเราทั้งหมดไม่มีใครเอาไปทำปลาร้าปลาส้มกิน
ทิ้งเปล่าๆหมด ไม่มีเรื่องมีราวอะไรเลย แม้ที่สุดหนอนก็ไม่ได้
กินด้วยซ้ำ เอาไปฝัง เอาไปเผาทิ้ง มันมีอะไรเหลืออยู่บ้างล่ะ
ในตัวของคนเรา มีดีอะไรบ้าง นอกจากจะเป็นภาระกับคนอื่น
แล้ว ก็ไม่มีดีอะไรเลย คนตายแล้วก็เป็นภาระของคนอื่นอีก
อย่างที่เขาว่ากันนั่น "คนตายขายคนเป็น" ต้องทำศพทำเมรุกัน
ให้ใหญ่โตอึกกระทึกครึกโครม มีหน้ามีเกียรติ พอทำศพเสร็จแล้ว
ลูกหลานที่ยังไม่ตายหมดเงินหมดทอง เป็นหนี้เป็นสินเขาก็แยะ
มันได้อะไรล่ะของพรรค์นั้น ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเหลือเลย

มายูปมัญจ วิญญาณัง ท่านอุปมาเปรียบวิญญาณเหมือนมายา
มันหลอกให้เราหลงเชื่อ ลืมตัว แท้จริงแล้วอายตนะภายนอก
กระทบอายตนะภายใน เกิดความรู้สึกขึ้นรู้สึกแล้วก็หายไป
วิญญาณ คือ ความรู้สึกที่เกิดจากการกระทบ กระทบแล้วรู้สึกขึ้นมา
แล้วก็หายไป ไปไหนก็ไม่ทราบ มันหลอกให้เราหลงเชื่อความรู้สึก
อันนั้น
สัมผัสรู้สึกแล้วก็หายไป มันเลยไปเวทนา สัญญา สังขาร
เสียหมด หายไป หมดไป จึงว่าไม่มีสาระอะไรเลย
สาระที่เราพึงจะได้จากมัน คือ ได้ความรู้เรื่องของมัน
เราเอาความรู้เหล่านี้มาคิดพิจารณา ให้เห็นตามความเป็นจริง
ด้วยตนเอง เมื่อเห็นชัดเจนแล้วมันก็ปล่อยวางลงไปได้
ไม่ยึดไม่แบกหามไว้อีก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราปล่อยวาง
ด้วยวิธีอย่างนี้


เมื่อเรายังครองขันธ์ 5 อยู่ ยังมีชีวิตอยู่ มีสิ่งที่ให้พิจารณาว่ารูป
มันเป็นอย่างนี้ๆ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญา สังขาร วิญญาณ
มันเป็นอย่างนี้ๆ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างนี้ แล้วก็สลายดับไป
เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว เช่นสังขารที่มันปรุงแต่งนั้น เราไม่เอา
เป็นจริงเป็นจัง เราเอาเพียงแต่เป็นเครื่องใช้ ใช้แล้วก็ปล่อยทิ้งเสีย
อย่าให้มันหนักอกหนักใจของเรา เราก็จะได้ความสุขสบาย


ปัญญาอุบายที่เราได้จากการพิจารณา จนเห็นชัดตามเป็นจริง
มันเป็นประโยชน์แก่เรา เมื่อถึงคราวที่ รูปเจ็บป่วย หรือแตกสลาย
เราก็เห็นเป็นสักแต่ว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อเวทนา ความสุข ความทุกข์
เกิดขึ้นมา ก็อุปมาเปรียบเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง มันมาประเดี๋ยว
ประด๋าวก็หายไป คลื่นลูกอื่นเกิดขึ้นอีกแล้วก็หายไป ลูกใหม่มาอีก
กระทบแล้วก็หายไป หายไป

ลองคิดดูซี ตั้งแต่เกิดมานี่ ร้องไห้ร้องห่มเราก็เคยมาแล้ว
ไม่ทราบว่ากี่ครั้ง แล้วพวกนั้นมันหายไปไหนหมด
มันก็หายไปตรงนั้นแหละ เหมือนกับคลี่นเป็นก้อนขึ้นมา
แล้วก็สลายลงเป็นน้ำนั่น เวทนาที่เกิดขึ้น มันก็หายไป
เช่นเดียวกัน เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็จะเห็นโทษว่า อ้อ!
เวทนามันเป็นเช่นนี้เอง ไม่มีสาระอะไร ก็จะปล่อยวางลงไปได้


ภารนิกเขปนัง สุขัง ความปลงภาระเสีย เป็นสุขยิ่งนัก

ถ้าหากพากันปล่อยวางได้เช่นนี้ ก็จะพากันเป็นสุข
ถึงแม้ทุกข์ยังมีอยู่ มันก็จะไม่กวนใจ อันนี้เป็นคำพูดที่ฟังยากสักหน่อย

ทุกข์มีอยู่ ทำไมถึงจะไม่รบกวนใจ
การเจ็บหัวปวดท้อง เป็นไข้ไม่อยู่ดีสบาย มันจะไม่เข้าไปถึงใจ
ได้อย่างไร ถ้าหากผู้มาคิดค้นพิจารณาอย่างที่อธิบายมาแล้ว
เป็นความจริงว่า จิตใจถ้าหากเข้าไปอยู่ที่สงบ
เป็นเอกเทศของมันต่างหากแล้ว จิตอันนั้นจะมองเห็น
ขันธ์ 5 อันนี้ชัดทีเดียว เห็นเวทนาที่มีอยู่ชัดทีเดียว
แต่มันไม่ได้ไปรบกวนจิตใจ ให้เดือดร้อนเป็นทุกข์หรอก
มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณเกิดขึ้น ก็สักแต่ว่าเวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ได้ไปรบกวนจิตใจให้ได้รับ
ความทุกข์เดือดร้อน


ข้อนี้ ถ้าจะอุปมาเปรียบเทียบ ก็คงจะพอเห็นได้แค่นี้ว่า
เมื่อเรามีสิ่งใด หรืออารมณ์ใด ที่เป็นที่ชอบใจของเรามาก
เช่นไปดูภาพยนต์ ฟ้อนรำ ดูละคร ดูลิเก มันก็เพลินสนุก
อยู่กับเรื่องเหล่านั้น อันที่นั่งเมื่อยอยู่ก็ไม่รู้สึก หรือยุงกัด
ก็ไม่รู้สึก จะเพลินสนุกไปกับเรื่องที่เราชอบใจนั้น

ถ้าเรามาหัดจิตจนได้รับความสงบนิ่ง แล้วพิจารณาธรรมะ
ให้เป็นธรรมทั้งหมด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เหล่านี้ พิจารณาให้เห็นเป็นธรรมตามความเป็นจริงได้แล้ว
มันจะเพลินสนุกอยู่กับความรู้นั้น เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณที่เกิดขึ้นมาในตัวของเรา มันก็จะไม่ไปรบกวน
ความสุขสงบ หรือความเพลิดเพลินกับความรู้อันนั้น
เรียกว่า เวทนาไม่เข้าไปรบกวนจิตใจได้ นี่พอจะเทียบเคียง
ให้เข้าใจกันได้

สรุปรวมความที่อธิบายถึงเรื่องขันธ์ 5 มายืดยาวในวันนี้ว่า
ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้สอนที่อื่นไกล
ทรงสอนธรรมะ คือ สอนที่ตัวของเรา ทรงสอน ธาตุ 4
ขันธ์ 5 ก็อยู่ที่ตัวของเราทุกคน

ธาตุ 4  ก็พูดถึงเรื่องรูป ประกอบด้วยธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม
ขันธ์ 5 ก็เพิ่มเข้ามาที่รูป คือ นามธรรม มี เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ก็อยู่ที่ตัวของเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น

พิจารณาธรรมะ ถ้าหากออกไปนอกจากตัวของเราแล้ว
จะไม่เห็นของจริง ถ้าพิจารณาอยู่ในขันธ์ 5 นี้ จะเห็น
ของจริง การปฏิบัติธรรม ถ้าหนีจากตัวของเราแล้ว เรียกว่า
ธรรมแตก ไม่ใช่ธรรมเป็นก้อน ธรรมแตกก็กระจัดกระจาย
จับไม่ได้ ไม่รู้ชัดตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทั้งหลาย พิจารณาธรรมะขอให้
มีหลัก อย่าให้หนีไปจาก ธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ
ถ้าหากจับเรื่องของขันธ์ 5 ได้แล้ว ให้พิจารณาอันนี้อยู่ตลอด
เวลา อย่าพากันไปนั่งอยู่แต่ในความสงบ อยู่เฉยๆ มันไม่ได้
ความรู้ ไม่ได้ความอัศจรรย์ การนิ่งๆเฉยๆไม่ดี มันไม่เป็น
ของแปลกประหลาดอะไร จิตจะรวมหรือไม่รวม จิตสงบหรือ
ไม่สงบก็ตาม ให้น้อมนำคำสอนอันนี้ไปพิจารณาอยู่ตลอดเวลา
ในครั้งหนึ่ง จะได้ความรู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงขึ้นมา


เอาละ วันนี้เทศน์เพียงเท่านี้
โดยคุณ ไพ วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 14:14:09

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 19:48:45
^-^ _/|\_ ไหนๆ ก็เขียนมาให้หนูอ่านโดยเฉพาะก็ขออนุโมทนานะคะ ขอให้เจริญในธรรมค่ะ ^-^ _/|\_ อ่าแล้วอย่าลืมดูจิตเน่อ เวลาอ่านอะไรอะค่ะ พี่สาว
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 19:48:45

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 22:26:10
สาธุ... สาธุ... สาธุ...

เห็นหัวข้อแล้วก็กระทบใจ แต่เมื่ออ่านแล้วยิ่งกระทบใจยิ่งกว่า

พักนี้ บางทีในขณะที่พิจารณาอยู่ ก็สังเกตเห็นว่า รูปขันธ์ นามขันธ์ ก็สักแต่ว่า ปฎิกริยา เท่านั้นเอง แม้ในร่างกายนี้ก็เหมือนเป็นถุงที่บรรจุเอาเครื่องในเนื้อเลือดไปเท่านั้น ก็รวมๆกันอยู่และเป็นไปตามปฎิกริยาอันเป็นปกติของเขาไปเท่านั้นเอง เขามารวมตัวกันชั่วคราว แล้วเดี๋ยวเขาก็จากกันไป หาอะไรเป็นแก่นสารไม่ได้เลย

ส่วนใจนั้นเล่าก็เห็นว่ามีแต่ พฤติ(กรรม)ของจิตเขาเท่านั้น ที่ไหวตัวไปตามผัสสะที่มากระทบเท่านั้นเอง เป็นเพียงปฎิกริยาของจิตที่ไหวไปตามผัสสะเท่านั้น แม้แต่ อวิชชา ตัณหา อุปาทานก็มีทิฎฐิว่า เป็นเพียง พฤติ(กรรม)ของจิตเขาเท่านั้น (และเพราะเหตุว่าเป็นเพียง พฤติ(กรรม)ของจิตนี้เท่านั้น ทำให้การเจริญสติ-สัมปชัญญะอย่างถูกต้อง ก็สามารถที่จะไปพ้นจากห้วงทุกข์นี้ได้เช่นกัน)

มีอีกสิ่งหนึ่งที่เข้าใจก็คือ ผู้คนบางพวกจะไม่เข้าใจเอาเสียเลย ว่าลำพังการเจริญสติ-สัมปชัญญะอย่างถูกต้องนั้น จะทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างไร เพราะว่าในใจของเขาเหล่านั้น ไปสมมุติเอา กิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน ว่าเป็นสิ่ง เป็นตัว เป็นอัน ที่ต้องประหัตประหารกันให้สิ้นซาก เมื่อมาเจอการเจริญสติ-สัมปชัญญะ ตามแนวทางแห่งสติปัฎฐาน 4 เลยพาลเข้าใจไปว่า นี่เป็นเพียงสมถกรรมฐานเท่านั้น เพราะเหมือนกับอยู่เฉยๆ ไม่ออกแรงไปประหัตประหารกิเลสตัณหากันเสียเลย (แต่หากเขาออกแรงไปประหัตประหาร ตัณหา อวิชชา ด้วยวิถีทางอื่นที่เขาจัดสรรกันขึ้นมาใหม่ ก็ไปเสวยผลแห่งวิบากกรรมที่ไม่สิ้นสุดอีก บางสำนักถึงกับต้องปราบมารกันทีเดียว ซึ่งมีเยอะมาก หากเราดูหนังจีนกันบ่อยๆ คงจะได้เห็นพวกเทพ-มาร ที่ต้องประหัตประหารกันไม่สิ้นสุดเสียที)

หากสังเกตสักนิด ที่คำว่า "ตรัสรู้" แปลว่า "รู้แจ้ง" นั้น ก็บอกชัดเจนอยู่แล้ว ว่าทำความรู้ให้แจ้ง ไม่ได้บอกให้ไปประหัตประหารกิเลสตัณหาสักหน่อย หรือหากว่าสังเกตในคำอุทานของพระอรหันต์ จะเห็นกันอย่างชัดเจนเลยว่า ไม่มีคำว่าประหัตประหารกิเลสได้แล้ว มีแต่ "พรหมจรรย์เราสิ้นสุดแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว เราเป็นผู้สลัดคืนแล้ว เราเป็นผู้สำรอกตัณหาออกแล้ว ..." อะไรทำนองนี้ทั้งสิ้น ไม่เคยได้พบที่ใด ที่คำอุทานของพระอรหันต์ท่านจะอุทานว่า "เราประหารกิเลสได้สิ้นแล้ว" (หรือว่าผมอาจจะอ่านตกหล่นก็เป็นได้นะครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 22:26:10

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 22:30:36
เอ... ท่าทางผมจะออกนอกเรื่องไปสักหน่อยครับ ขออภัยด้วยครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 22:30:36

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ สายขิม วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 07:29:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 07:41:18
สาธุ สาธุ สาธุ
และอนุโมทนากับหมอไพ ที่พิมพ์ธรรมะดีๆ มาให้อ่านกัน

มีแปลกใจหน่อยเดียวครับ
ตรงที่มีคำว่า "เว้ย" อยู่ในธรรมะของหลวงปู่เทสก์ด้วย
เพราะหลวงปู่เทสก์ท่านเป็นพระที่สุภาพนุ่มนวลอย่างที่สุด
เป็นวาสนาที่ตรงข้ามกับหลวงตามหาบัวทีเดียว
ที่ผมเคยได้ยินท่านเทศน์นั้น ท่านมักกล่าวว่า
"ขันธ์ 5 เป็นภาระหนักเน้อ"
สงสัยว่าคนรุ่นหลังจะถอดเทปผิด หรือนำไปพิมพ์แล้วเรียงพิมพ์ผิด ก็ได้ครับ
เพราะหลวงปู่เทสก์ท่านไม่กล่าวคำประเภท โว้กว้าก โว้ยเว้ย อะไรเหล่านี้แน่ๆ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 07:41:18

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 08:20:10
ขอบคุณพี่ไพที่กรุณาพิมพ์มาให้อ่านค่ะ
...เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า
การเจริญสติ-สัมปชัญญะอย่างถูกต้อง
จิตจะเดินวิปัสสนาเองเสมอ หรือไม่ ค่ะ
โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 08:20:10

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ มรกต วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 08:30:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 09:30:05
ในแต่ละวันที่ผ่าน ๆ ไป
มีทั้งดีใจ เสียใจ พอใจ หงุดหงิดใจ
แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในด้านทุกข์เสียมากกว่า คือหงุดหงิดใจ ไม่พอใจ เพราะจิตมันยังยึดติดอยู่นั่นเอง(ที่พูดนี่สังเกตจากตัวผมเองทั้งนั้นเลย)

เช้า ๆ ก่อนทำงานผมจะเข้ามาเปิดอ่านธรรมะในวิมุตติแทบทุกวัน เป็นอาหารของจิตไจ
ขออนุโมทนากับผู้ให้ธรรมะด้วยครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 09:30:05

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 09:38:39
การเจริญสติสัมปชัญญะนั่นแหละครับ คือการเจริญสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนา
สติเป็นตัวระลึกได้ หรือระลึกรู้ถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
สัมปชัญญะเป็นตัววิจัยธรรมด้วยการ "รู้ตามความเป็นจริง"
เมื่อรู้จริงแล้ว จิตก็ตัดหรือวางอารมณ์นั้น
ซึ่งการจัด การวางนั้น เป็นคุณลักษณะของปัญญา

คนโบราณท่านเปรียบเทียบการเจริญสติสัมปชัญญะเหมือนการเกี่ยวข้าว
คือสติจะเป็นการรวบรวงข้าวเข้ามาไว้ในกำมือ
สัมปชัญญะหรือปัญญาเป็นเหมือนการเอาเคียวตัดรวงข้าวนั้น
คุณลักษณะของสติ คือการจับไว้ ส่วนคุณลักษณะของปัญญาคือการตัด

แต่จิตจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ได้
จะต้องอาศัยการสนับสนุนของธรรมเอกหรือสัมมาสมาธิ
ดังนั้นในการเจริญวิปัสสนา จึงต้องอาศัยสติ สมาธิ ปัญญา ทำงานควบคู่ไปด้วยกัน
หากไม่มีสัมมาสมาธิ สติก็ไม่บริสุทธิ์เพราะจิตปราศจากอุเบกขา
สัมปชัญญะหรือปัญญาก็ทำงานไม่ได้
เพราะสิ่งที่จะทำงานได้คือความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ปัญญา

ดังนั้นที่โจ้ถามว่า "การเจริญสติ-สัมปชัญญะอย่างถูกต้อง
จิตจะเดินวิปัสสนาเองเสมอ หรือไม่"
จึงเป็นคำถามที่ไม่ถูกต้องนักครับ
เพราะไม่ใช่เจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้อง "แล้ว" จิตจึงจะเดินวิปัสสนาได้เอง
แต่การเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้องนั้นแหละ "คือ" การเจริญวิปัสสนา
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 09:38:39

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ aek123 วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 11:09:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 14:22:22
สะดุดตรงคำว่า เว้ย!! นี่แหละพี่
ก็เลยตั้งใจอ่าน แล้วตั้งใจพิมพ์มาให้อ่านกัน:-)

สงสัยอีกแล้ว.....
เรากำลังปฏิบัติเพื่อให้แจ้งต่อภาวะที่จิตไร้สภาพปรุุงแต่ง
หรือว่าปฏิบัติเพื่อให้จิตแจ้งภาวะที่เรายึดถือปรุงแต่ง
หรือว่าทำให้แจ้งทั้งสองอย่าง...(คะ)
(ขี้เกียจโดนดุว่าฟุ้งซ่านจังเล้ย)
โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 14:22:22

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 15:00:16
_/|\_ ขอบพระคุณค่ะคุณอา

เมื่อก่อนที่กลัวว่า จิตจะไม่เดินวิปัสสนา
ทำให้มีเสียงคอยพากษ์ ว่าอย่างนั้น อย่างนี้
เพราะกลัวจะไม่ได้ความรู้
ต่อมาก็มีอีกตัวมาพากษ์ซ้อนเจ้าตัวแรกไปอีกที
เหนื่อยน่าดู   : P
หลัง ๆ ค่อยพากษ์น้อยลงหน่อยค่ะ
แล้วยิ่งได้อ่านกระทู้คราวนี้ "ความกลัวไม่ได้ความรู้" จะได้ลด ๆ ลงไปอีก....  : D
โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 15:00:16

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 10 ตุลาคม 2543 17:01:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 08:04:33
เรื่องที่หมอไพถาม ผมเพิ่งเขียนในกระทู้เมื่อไม่นานมานี้เองครับ
ลองหาเอานะครับ อาจจะอยู่ในกระทู้เกี่ยวกับขันธ์ หรือทุกข์ อะไรนี่แหละ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 08:04:33

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 15:21:30
สาธุขอบพระคุณมากครับ_/|\_
โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 15:21:30

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 22:55:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com