กลับสู่หน้าหลัก

ปัญญาเพื่อความพ้นทุกข์

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 08:40:33

เราเคยได้ยินกันจนชินหูเกี่ยวกับปัญญา 3 ชนิดคือ
สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา
วันนี้เราลองมาสนทนากันว่า นักปฏิบัติผู้อบรมภาวนามยปัญญานั้น
จะเกิดปัญญารอบรู้ในเรื่องใดได้บ้าง
เพื่อนๆ แต่ละท่าน อาจจะกำหนดคำตอบด้วยตนเองก็ได้
ว่าท่านเองมีปัญญาเรื่องใดบ้าง อันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม

*************************************

หากให้ผมลองประมวลว่า ที่ปฏิบัติธรรมมานานนั้น ได้ความรู้อะไรบ้าง
ก็เห็นจะสรุปได้ว่า พอจะรู้อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

ความรู้ชนิดแรก เป็นผลของสมถกรรมฐาน
แล้วจิตน้อม (บางท่านถึงขั้น น้อมจิต ไปได้ตามใจปรารถนา แต่ผมทำไม่ได้ถึงเพียงนั้น)
ไปรู้ถึงอดีตบ้าง
จิตน้อมไปรู้ถึงความตายและความเกิดของสัตว์ต่างๆ บ้าง
ได้เห็นว่า ในการเดินทางท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏนั้น เป็นเรื่องเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง
เดี๋ยวก็ขึ้นสูง เดี๋ยวก็ลงต่ำ หาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลย
หากแต่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามกระแสกรรมของตนเอง
ช่วงใดวิบากกรรมที่ดีให้ผล ก็เกิดหรือประสบพบเห็นสิ่งที่เจริญกายเจริญใจ
ช่วงใดวิบากกรรมที่เลวให้ผล ก็เกิดหรือประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่เจริญกายเจริญใจ
บางคราวรู้ถึงปัญหาชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า เนื่องจากกรรมบางอย่างกำลังจะให้ผล
จึงพยายามดิ้นรนที่จะป้องกันแก้ไข แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสกรรมได้

ด้วยความรู้พิเศษอันเป็นผลของสมถกรรมฐานนี้เอง
เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กัมมสกตาปัญญา คือความรู้ว่ากรรมเป็นสมบัติของเราเอง

ความรู้ชนิดนี้ยังเป็นความรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะชาวพุทธ
เพราะคนศาสนาอื่นที่เป็นกัมมวาที ก็มีอยู่
เนื่องจากสมถกรรมฐาน เป็นของสาธารณะ ในลัทธิศาสนาอื่นก็มี

แต่การที่เป็นกัมมวาทีนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะพ้นจากความหลงผิดได้
เพราะจิตที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา จะเกิดความหลงผิดได้ว่า
จิตนี้แหละเที่ยง จิตนี้แหละเป็นอมตะ
เมื่อมันออกจากร่างหนึ่งแล้ว ก็ไปเกิดในร่างใหม่ได้
และร่างใหม่จะดีหรือเลว จะพบความสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมที่เคยทำมา
ซึ่งอันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นั่นเอง

ปัญญาที่ยิ่งกว่านี้ อันเป็นภาวนามยปัญญา ยังมีอยู่อีก
แต่เป็นปัญญาอันเกิดจากการเจริญวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา
ได้แก่ปัญญาที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ นั่นเอง
ดังเช่นที่พวกเราเดินจงกรม รับรู้ความรู้สึกทางกายที่มากระทบกัน ระหว่างเท้ากับพื้น
หรือรับรู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเป็นกลางๆ ในจิต
หรือรับรู้ถึงกุศล และอกุศลที่เกิดขึ้นในจิต เป็นต้น
เราก็จะรู้ชัดอยู่เสมอๆ ถึงความเกิดดับของรูปธรรมและนามธรรม อย่างเป็นปัจจุบัน
ด้วยจิตที่เป็นกลาง ปราศจากความยินดีและความยินร้าย
หรือถ้าจิตเกิดความยินดียินราย ก็รู้ทันอีก
จนจิตกลับเข้าสู่ความตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏต่อไป

วิปัสสนาปัญญานี้ จะทำให้สิ่งเร้าต่างๆ ทั้งทางวัตถุและนามธรรม
ลดอำนาจยั่วยวนจิตให้หลงใหล จนถึงขั้นที่จิตจะรู้จักปล่อยวางต่อไป

ในระหว่างการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน
จะสังเกตเห็นกลไกการทำงานของจิตได้ด้วย
คือเห็นชัดว่า ความทุกข์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ
แต่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ เมื่อจิตทะยานเข้าไปยึดอารมณ์อันหนึ่งอันใด
หากจิตไม่ทะยานเข้าไปยึดอารมณ์ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น
นี้คือการชิมลางที่จะเห็นอริยสัจจ์อย่างถึงใจ อันเป็น โลกุตรปัญญา
แต่ในขั้นที่เราเห็นความเกิด - ดับของทุกข์ พร้อมด้วยเหตุปัจจัยของทุกข์ กันอยู่อย่างนี้
ยังเป็นขั้นการเจริญวิปัสสนาด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่

จิตที่เจริญวิปัสสนาปัญญามากเข้าๆ ก็จะเริ่มถอดถอนตนเองออกจากสิ่งห่อหุ้ม
จนหลุดออกจากสิ่งห่อหุ้ม เสมือนไม่มีอะไรห่อหุ้มอยู่อีก
แต่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า จิตยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์
มันมีสภาพคล้ายๆ กับต้นไม้ ที่แหวกพ้นจากดินขึ้นมา ยืนต้นแตกกิ่งใบได้แล้ว
สัมผัสกับความโปร่งว่างของอากาศ
สัมผัสความเย็นของหยาดฝน สัมผัสความอบอุ่นของแสงแดด
ดูเหมือนจะเป็นอิสระเต็มที่ ถ้าไม่ย้อนสังเกตเห็นว่า รากยังติดดินอยู่

ปัญญาที่จะถอนรากของจิตจากอุปาทานขันธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เรียกว่าโลกุตรปัญญา
เป็นสภาพที่จิตมีปัญญาจนยอมรับด้วยใจถึงทุกข์อริยสัจจ์ที่ปรากฏอยู่
ปราศจากตัณหาหรือความอยากที่จะพ้นจากทุกข์ แล้วเที่ยวแสวงหาสิ่งอื่นเป็นที่อิงอาศัย
ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ ออกความคิดความเห็น หรือให้ค่ากับสิ่งทั้งปวง
เป็นสภาพคล้ายๆ การยอมจำนน แต่ไม่ใช่การยอมจำนน
แต่เป็นการหยุด เงียบ ระงับ สลัดคืนทุกสิ่งกระทั่งจิตให้กับธรรมชาติไป
แล้วก้าวเข้าสู่ความดับ ทั้งรูป นาม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ กระทั่งตัวจิตเองในวับเดียว

เมื่อจิตผ่านสภาวะนั้นออกไปแล้ว จิตก็หมดรากที่จะยึดขันธ์
หมดธุระการงานที่จะต้องพากเพียรต่อไป
มีแต่ความเบิกบานสบายบนความไม่ยึดติดอะไรเลย

ผมพอจะเข้าใจ ปัญญาชนิดนี้และการทำงานของมัน บ้างแล้ว
เพราะเห็นบุคคลตัวอย่าง และเห็นร่องรอยมาแล้ว
แต่ที่ต้องนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก่อนที่จะทำได้จริง
ก็เพราะต่อไปจะไม่มีโอกาสเล่าอีกแล้ว
จึงหวังเพียงการทิ้งร่องรอยไว้ให้หมู่เพื่อนทั้งหลาย
จะได้เห็นแนวทางพอที่จะตามๆ กันไปได้ต่อไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 08:40:33

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 09:03:06
_/\_ _/\_ _/\_
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 09:03:06

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ โยคาวจร วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 09:09:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ dawn วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 12:42:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 13:34:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 14:34:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2543 11:49:47
สาธุครับ ขอบพระคุณครับ
เห็นคุณอาไปบวชแล้ว
เกิดอาการอยากบวชมั้ง
แต่ในส่วนลึกไม่ชอบการขึ้นหิ้ง พิธีกรรม

ชอบวิถีชีวิตฤาษีมากกว่า
โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2543 11:49:47

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2543 14:09:02
ออกนอกเรื่องไปหน่อย.......กลับเข้าเรื่องของปัญญา

>นักปฏิบัติผู้อบรมภาวนามยปัญญานั้น
>จะเกิดปัญญารอบรู้ในเรื่องใดได้บ้าง
ในมุมมองของผม
ในบางครั้งมีความรู้สึกว่า

จิตนี้แหละเที่ยง จิตนี้แหละเป็นอมตะ
เมื่อมันออกจากร่างหนึ่งแล้ว ก็ไปเกิดในร่างใหม่ได้
และร่างใหม่จะดีหรือเลว จะพบความสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมที่เคยทำมา

เป็นความรู้สึกส่วนลึกๆอย่างนั้นจริงๆครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2543 14:09:02

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2543 15:26:36
จิตนี้ที่จริงแล้วตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์ครับ
คืิอไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย

จิตเองก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และนามรูป
และเมื่อจิตเกิดมาแล้ว ก็อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ตลอดเวลา
เช่นเราจะสั่งให้มันตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่แปรปรวน หรือไม่ให้มันตกภวังค์ ก็สั่งไม่ได้
จะสั่งให้มันเลือกรู้เฉพาะอารมณ์ทางตา ไม่รู้อารมณ์ทางหู ก็ไม่ได้
จะสั่งให้มันเลือกรู้แต่อารมณ์ที่ดี ไม่รู้อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ไม่ได้
จะสั่งให้มันดีตลอด ไม่ให้เกิดอกุศลเลย ก็สั่งไม่ได้
จะสั่งให้มันโกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้หายโกรธเลย ก็สั่งไม่ได้เช่นกัน

แต่ที่อี๊ดรู้สึกว่า จิตมีหนึ่งเดียว แล้วเวียนรู้อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ดีบ้างชั่วบ้าง
พอตายแล้วก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่
ทัศนะอย่างนี้เป็นทัศนะธรรมดาทั่วไปครับ
ส่วนมากใครๆ ก็รู้สึกอย่างนี้ (เว้นแต่พวกที่คิดว่าตายแล้วสูญ)
เนื่องจากจิตที่เกิดมาใหม่นั้น มันมีความจำได้หมายรู้เกิดมาด้วยพร้อมกับจิต
และจิตดวงใหม่ มันรับมรดกกรรมสืบเนื่องมาจากจิตดวงเก่าๆ
เราก็เลยคิดว่ามันเป็นอันเดียวกัน
คล้ายๆ กับเราจุดไม้ขีดไฟ แล้วเอาไฟไปจุดเทียน
ไฟของไม้ขีด กับไฟของเทียนมันร้อนเหมือนกัน แสงสีเหมือนกัน
เราก็เลยนึกว่า มันเป็นไฟอันเดียวกัน
ทั้งที่มันเป็นเพียงไฟที่ต่อเนื่องกันไปเท่านั้น
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2543 15:26:36

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม 2543 13:20:52
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม 2543 13:20:52

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ tuli วัน อาทิตย์ ที่ 15 ตุลาคม 2543 21:41:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 13:38:33
ขอบพระคุณพี่มากครับที่ช่วยชี้ทางให้
จะพยายามต่อให้ดียิ่งขึ้นครับ
( พี่จะบวชเมื่อไหร่ครับช่วงนี้ผมไม่ได้ไป
ที่ศาลาอาจจะตกข่าวไป)
โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 13:38:33

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 14:52:50
ว่าจะบวชก่อนเข้าพรรษาหน้าครับคุณปิ่น
สำหรับศาลา เดือนนี้ผมก็คงไม่ได้ไปเหมือนกัน
เพราะจะไปทำบุญที่ต่างจังหวัดหลายวันครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 14:52:50

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 15:52:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 16:18:13
ขออนุโมทนาด้วยครับพี่ปราโมทย์ ดีใจด้วยครับ
ที่พี่จะได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้เสียที ดีใจมาก
ครับที่ได้มีโอกาสรับคำแนะนำจากพี่ไม่งั้นคงพาย
เรืออยู่ในอ่างอีกนานทีเดียว _/|\_
โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 16:18:13

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 16:52:17
ขอความกรุณาเพื่อนด้วยครับ ถ้าทราบกำหนดบวชครูรบกวนแจ้งใน วิมุติ หรือลานธรรมด้วยครับ

ผมยังแก้นิสัยธุระเยอะไม่ได้เลยไม่ได้ไปที่ศาลาฯ
แต่ตั้งใจจะไปงานครูให้ได้ครับ
โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 16:52:17

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 22:32:45
สาธุค่ะ
โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน จันทร์ ที่ 16 ตุลาคม 2543 22:32:45

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 08:00:34
การบวชของพระป่ากับพระบ้านไม่เหมือนกันหรอกครับคุณ listener
พระป่านั้น ไม่มีกำหนดบวชที่แน่นอน ก่อนบวชเราต้องไปอยู่กับครูบาอาจารย์ก่อน
ท่านเห็นสมควรเมื่อไหร่ก็พาไปหาอุปัชฌาย์เพื่อบวชให้ แล้วก็กลับเข้าป่าไปเลย
ดังนั้น กระทั่งผมเองก็ไม่ทราบกำหนดบวช
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบวชแล้วก็คงต้องเก็บตัวปฏิบัติ คงไม่ได้พบพวกเราอีกนานครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 08:00:34

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 10:00:07
ขอบพระคุณในความกรุณาของพี่ครับ ที่ได้ทิ้งแนวทางไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป
ในความคิดของผมก็ยังเหมือนเดิม คือรู้สึกว่าพี่ก็คือบุคคลที่ถูกกำหนดมาให้พวกผมได้รู้จัก
ตัวผมและก็เชื่อว่าเพื่อน ๆ ก็คงรู้สึกอย่างเดียวกันคือซาบซึ้งในความกรุณาที่พี่มีต่อพวกเราทุก ๆ คน

อีกเรื่องคือขอละลาบละล้วงหน่อย่นะครับคือที่พี่จะไปบวชนั้นพี่ลาออกจากงานไปเลยหรือเปล่าครับ
ผมอ่านดูแล้วเหมือนกับพี่จะไม่มีกำหนดกลับหรือไม่รู้กำหนดกลับที่แน่นอน

ขอขอบพระคุณอีกครั้งครับในความกรุณาทั้งหลาย
นพชัย
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 10:00:07

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 11:20:06
ต้องลาออกครับคุณคิดเอาเอง มิฉะนั้นเขาคงจะไล่ออก
เนื่องจากเป็นการบวชที่ไม่มีกำหนดที่จะลาสิกขา
คิดว่าจะขอตายในผ้าเหลืองอีกสักครั้งหนึ่งครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 11:20:06

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ อู๊ด วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 12:33:09
อนุโมทนาครับกับการบวชของคุณอา  ธรรมที่ได้จากคุณอาเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าสิ่งอื่นๆใดๆ   จนนึกสะท้อนใจหวั่นใหวเมื่อคิดว่า จะไม่มีใครให้ถาม หรือ เป็นที่พึ่งได้  แต่อีกใจก็รู้สึกปลาบปลื้มยินดีว่า คุณอาจะได้ปลดเปลื้องภาระต่างๆ และไปในทางที่เราทุกคนก็ประสงค์จะเดินไปครับ

กราบขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อู๊ด วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 12:33:09

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 15:16:01
อนุโมทนากับการบวชของคุณอาด้วยคนค่ะ _/I\_
รู้สึกเหมือนตัวเองตกข่าวไปเยอะ เพราะไม่ค่อยได้แวะเข้ามา
อ่านกระทู้บ่อยๆแบบเมื่อก่อน พยายามสำรวมตัวเอง
ไม่อ่านมาก ไม่คุยมาก ไม่ยุ่งมาก เพราะรู้ว่าตัวเองฟุ้งง่ายเหลือเกิน

รู้สึกใจหายเหมือนกันค่ะที่คุณอาจะไปบวชแล้ว
แล้วใครจะมาคอยกระทุ้งหนักๆให้เราสะดุ้งเฮือกๆหนอ :-)
จะตั้งใจปฏิบัติภาวนาให้เต็มที่ เพื่อเดินตามรอยคุณอาด้วยคนค่ะ

ขอรบกวนเรียนถามคุณอาซักนิดนะคะ
เมื่อก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติภาวนา เรียกว่าไม่รู้เลยว่าการปฏิบัติคืออะไร
มักสงสัยอยู่เรื่อยๆว่า ศีล สมาธิ ปัญญา 3 คำนี้
มันเกี่ยวเนื่องกันยังไง นั่งสมาธิยังไง ไม่เห็นมีปัญญาซักที
ปัญญาหน้าตามันเป็นยังไง ปฏิบัติจนมาได้ เกือบๆปี
ถึงจะเพิ่งเคยรู้จักหน้าตาว่าอ๋อ ปัญญาที่รู้เห็นจากการปฏิบัติมันเป็นแบบนี้เอง(รึเปล่า)
มันแตกต่างจากความรู้จากการอ่านเอา (แต่ก็ยังไม่แน่ใจจนต้องมากถามนี่ค่ะ :-)
ไม่ทราบว่าสิ่งที่จะเล่าไปนี้ ถูกต้องนักรึเปล่า แต่เอาเป็นว่า เห็นคุณอาจั่วกระทู้ไว้แบบนี้
เผื่อเกิดบ่อยๆ จะได้พ้นทุกข์ซักที อิอิอิ :-)
มันเป็นความรู้ใหม่ที่ได้มาจากการภาวนาของตนเอง
เช่นว่า ขณะนั่งสมาธิ รู้กายไปเรื่อยๆ มันเกิดรู้ขึ้นมาว่า
กายนี้ไม่ใช่ของเรา ตัวเราก็เป็นเพียงอาการรู้เท่านั้นเอง
หน้าตา รูปร่างอะไรก็ไม่มี สังเกตเห็นว่า พอตัวเองรู้แบบนั้นเข้า
ครั้งแรกตื่นเต้น ตกใจ ใจเต้นโครมคราม ครั้ง 2 ก็ยังตื่นเต้นอยู่
สังเกตว่าพอเริ่มรู้ไป รู้ไปบ่อยเข้า คราวนี้เค้าเฉยเลย ไม่รู้สึกอะไรกับการรู้แบบนั้น

กับอีกอันที่รู้มาว่า อารมณ์คือสิ่งที่เกิดจากจิต ที่หลงไปยึดก็จิต
อารมณ์ไม่ใช่เรา อันนี้ก็ไม่ทราบว่าถูกอีกรึเปล่า
เพราะเห็นและรู้สึกมาแบบนั้น แต่ไม่ได้เห็นทันแบบนั้นได้บ่อยๆ :-)
คือวันนั้น มันกำลังรู้กายที่เดินสบายๆอยู่ พอดีโดนคนกระแทกเข้าจังๆ
เห็นความโกรธพุ่งออกมาจากกลางอก แล้วก็ดับทันที รู้ชัดๆจังๆว่า โทสะมันไม่ใช่เรา
ไม่ทราบว่าแบบนี้ จะเรียกว่าเป็นปัญญาจากการภาวนาได้บ้างรึเปล่าคะคุณอา
หรือว่าเกิดจาการการสรุปความเอาเอง แบบที่เมื่อปฏิบัติใหม่ๆเลย ใหม่จริงๆ
ต่ายเคยโดนคุณอาดุแบบนี้ ว่ากิเลสไม่กลัวการสรุปธรรมด้วยความคิด
แล้วสังเกตว่าตัวเอง จะเกิดความรู้ชัดแบบนี้ นานๆที ไม่บ่อยนัก

กราบขอบพระคุณคุณอาล่วงหน้าค่ะ
โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 17 ตุลาคม 2543 15:16:01

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 18 ตุลาคม 2543 11:15:39
การที่นั่งทำสมาธิแล้วรู้ว่า
"กายนี้ไม่ใช่ของเรา ตัวเราก็เป็นเพียงอาการรู้เท่านั้นเอง หน้าตา รูปร่างอะไรก็ไม่มี"
ก็นับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องอันหนึ่ง
แต่ความรู้ตรงนี้ยังไม่พอถึงขั้นปลอดภัยจากความหลงผิดนะครับ
เพราะนักปฏิบัตินอกพระพุทธศาสนาเขาก็เห็นเหมือนกันว่ากายไม่ใช่เรา
ส่วนตัวเราเป็นเพียงธรรมชาติรู้ หรือจิตนั่นเอง
ความเห็นว่าจิตเป็นเรานี้แหละ แสดงว่า สักกายทิฏฐิ ยังมีอยู่

ความรู้ความเข้าใจทุกชนิด เมื่อพบคราวแรกก็ย่อมนำความตื่นเต้นยินดีมาให้
แต่เมื่อพบบ่อยๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป
แม้แต่เรื่องโลกๆ ก็เป็นอย่างเดียวกัน
เหมือนคนที่เป็นแฟนกัน เวลาเจอหน้ากัน
ย่อมตื่นเต้นกว่าคนที่แต่งงานอยู่กินกันแล้ว
ถ้าไม่เชื่อถาม หนึ่ง ดูก็ได้ :)

ที่ต่ายเล่าว่า เดินอยู่แล้วโดนคนกระแทกเข้าจังๆ
เห็นความโกรธพุ่งออกมาจากกลางอก แล้วก็ดับทันที รู้ชัดๆจังๆว่า โทสะมันไม่ใช่เรา
อันนี้เป็นความรู้ที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อรู้แล้วก็ให้ทิ้งความรู้นั้นเสีย
อย่าเอามาอนุมานสำหรับการรู้คราวต่อไป

เช่นต่อไปโดนคนกระแทกอีก เกิดความโกรธขึ้นอีก 
ก็ให้รู้ความเกิดดับของความโกรธไป
ไม่ใช่เอาความรู้เดิมมาอนุมานว่า ความโกรธไม่ใช่เรา
แต่ต้องให้รู้ความเกิดดับของความโกรธจริงๆ


ธรรมดาของจิตนั้น ถ้ามันสรุปอะไรไว้แล้ว 
มันมักจะชินกับการเอาความรู้ของเก่ามาตัดสินปรากฏการณ์ใหม่
ทำให้หมดโอกาสที่จะหาความรู้เพิ่มขึ้น

เช่นพอความโกรธเกิดขึ้น ก็จะไม่สนใจรู้สภาวะของความโกรธ
แต่ไปคิดรวบยอดเอาว่า ความโกรธไม่ใช่เรา ช่างมันเถอะ
กลายเป็นการเอาความจำ เข้ามาปิดกั้นการเรียนรู้สภาวธรรมอันเป็นปัจจุบันของจิต
แล้วก็เกิดความภูมิใจว่า เดี๋ยวนี้ฉันรู้ทันความโกรธ พอรู้ปุ๊บมันก็ดับปั๊บ

ที่ผ่านมาจิตของต่ายมันชอบสรุปเอาเองล่วงหน้าอย่างนี้
เช่นเดินจงกรมอยู่แล้วเกิดความรู้เห็นหรืออาการอย่างนั้นอย่างนี้
ก็ไปหลงยินดีกับมัน แล้วสรุปเอาเลยว่า
อันนี้คืออย่างนี้ เกิดจากอย่างนี้ แก้ได้อย่างนี้
แทนที่จะเฝ้ารู้ความเกิดดับของสภาวธรรมทั้งหลายต่อไปด้วยจิตที่เป็นกลาง

เวลาพบหน้าครูบาอาจารย์จึงต้องถูกเข่นเป็นธรรมดา
เพราะถ้าได้รับคำชมก็จะยิ่งเหลิงว่าตัวเก่งหนักเข้าไปอีก
แล้วก็จะพยายามไปปฏิบัติเพื่อหาความรู้ความเห็นต่างๆ มาคุยอีก
แทนที่จะเฝ้ารู้ เฝ้าสังเกตจิตใจของตนไปอย่างเงียบๆ เพื่อความพ้นทุกข์ของตนเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 18 ตุลาคม 2543 11:15:39

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ กระต่าย วัน พุธ ที่ 18 ตุลาคม 2543 15:00:48
กราบขอบพระคุณค่ะคุณอา _/I\_
ขอบน้อมรับคำตักเตือนด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
ระยะหลังๆนี้ ปฏิบัติไปจึงสังเกตเห็นว่า จิตมันตื่นเต้น
ดีใจกับปรากฏการณ์ต่างๆน้อยลง วันนึงมันเดินจงกรมอยู่
มีความรู้สึกขึ้นมาว่า อ้อ นี่มันก็เป็นเพียงสภาวธรรมอันหนึ่ง
ก็เฝ้าดูมันดับไป แต่พอหลังจากดับไป จึงเห็นอาการทบทวนเอาใหม่ว่าเกิดขึ้นยังไง
แล้วมันเป็นยังไงต่อไป ทบทวนวนไปวนมา ทบทวนจนพอใจแล้วจึงหยุด
สังเกตเห็นว่ามันจะเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ หลังจากที่มันเห็นอะไร

รบกวนถามคุณอาอีกซักนิดนะคะ (นอกเรื่องจากหัวข้อกระทู้นิดนึง)
ถ้าการที่เราเกิดความรู้อะไรขึ้นมา แล้วเราไม่ได้เฝ้าดูมันด้วยใจเป็นกลาง
นี่คือการหลงรู้รึเปล่าคะ อย่างเช่น ขณะที่เรานั่งสมาธิรู้กายไปเรื่อยๆ
แล้วเกิดอาการที่เห็นกายไม่ใช่เรา เราไม่มีตัวตน
เราก็นั่งดู จนลืมกายที่เราดูอยู่ด้วยไป มัวแต่ดูเจ้าความรู้อันใหม่นั้นไปเรื่อย
แบบนี้เข้าใจถูกรึเปล่าคะ เพราะรู้สึกจะหลงไปบ่อยๆแล้วละมั้งค่ะ แหะๆๆๆ
โดยคุณ กระต่าย วัน พุธ ที่ 18 ตุลาคม 2543 15:00:48

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 09:30:44
ต่ายไปถามครูเอานะต่าย เรียนจากหลายอาจารย์เดี๋ยวจะยุ่ง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 09:30:44

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 10:50:53
หมายความว่ายังไงเหรอคะคุณอา ที่ว่า ต่ายไปถามครูเอานะต่าย เรียนจากหลายอาจารย์เดี๋ยวจะยุ่ง หนูอ่านแล้วไม่เก็ตน่ะค่ะ แหะๆ
โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 10:50:53

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ กระต่าย วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 18:37:37
_/I\_ ขอบพระคุณค่ะคุณอาที่แนะนำ

เรียนคุณหนู
ความหมายของคุณอาหมายถึง
ให้ต่ายไปถามอาจารย์หญิงอีกท่านนึงดูถึงข้อสงสัย หรือที่ถามไม่จบ
ส่วนคืออาจารย์ท่านไหน ท่านคงไม่สะดวกที่จะเปิดเผยตัวค่ะ
โดยคุณ กระต่าย วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 18:37:37

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 22:30:54
กิเลสไม่กลัวการสรุปธรรมด้วยความคิด

เจอคำครูคำนี้ที่ต่ายยกมา ซัดเปรี้ยงเข้าตรงใจเชียวครับ ช่วงนี้ผมกำลังสะบักสะบอมกับความฟุ้งซ่านขนาดหนัก จิตใจคอยแต่จะคิดวนเวียนอยู่เรื่องเดิม ทั้งที่คิดไตร่ตรองหาข้อสรุปครั้งแล้วครั้งเล่า สรุปได้ตรงใจคราวหนึ่งใจก็สงบลงไปคราวหนึ่ง เดี๋ยวเดียวฟุ้งเรื่องเดิมอีกแล้ว ฟุ้งและวนเวียนไปมาจนผมต้องจดความคิดไว้ พอคิดหนักๆจะได้เปิดดู อ้อ คิดไปแล้วหลายครั้ง ทีนี้เลยเห็นความอยากคิดแทน

กิเลสมันไม่กลัวความคิดจริงๆ

อีกอันคือกระทู้ "เสื่อม" ของคุณธีรชัย ตรงใจเหลือเกินครับ แม้ตัวผมจะไม่ได้ปฏิบัติจริงจังจนถึงขั้นพบกับสภาวะนั้นได้ (อย่างผมต้องเรียกว่า ขี้เกียจ มากกว่า) แต่ก็ทำให้ได้คิด ได้คิดว่าที่อึดอัดทรมานกับความฟุ้งซ่าน คิดหาทางออกสารพัด มันเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ ถึงเวลาที่จิตมันยอมรับ มันก็จะปลงลงไปเอง สงบไปเอง ไม่ต้องไปคิดไปบังคับให้มันยอม (ที่มั่นใจอย่างนี้ เพราะเคยเจอกับตัวเองมาหลายครั้ง) เหมือนกับยอมจำนน แต่ไม่ใช่ ซึ่งตรงกับที่พี่ปราโมทย์ว่าไว้ครับ

อีกอย่างคือความจริงเราหวงทุกข์ไปเองน่ะแหละ โดยไม่รู้ตัว (อย่างที่คุณศรัณย์เขียนไว้ใน ทางนฤพาน เป๊ะเลย)

ก็เลยตะลุมบอนกับมันทุกวัน คิดเสียว่านี่เป็นวิบากกรรมที่มาเล่นงานเราคืน ดีเสียอีก ใช้ๆมันเสียให้หมด

เคยนึกจะเพ่งให้เป็นสมถภาวนาไปเลย ให้มันหายฟุ้งเป็นคราวๆไป ก็ไม่ได้ลงมือครับ มันรู้สึกว่า ทำไปก็เหมือนเอาปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง มาปิดปัญหาเดิม เสียเวลาเปล่าๆ ครูอาจารย์ก็สอนนักสอนหนา อีกอย่างคือมีนิสัยถนัดเหม่อ มากกว่าจะเพ่ง

ตั้งใจแก้เหม่อดีกว่า ขืนเอาเพ่งเข้ามาอีก จะยุ่งกันใหญ่

นั่งสมาธิหรือเดินจงกรม แทบจะเรียกว่านั่งหรือเดินไปเรื่อยเปื่อย รู้ตัวได้เดี๋ยวเดียว ฟุ้งไปอีกแล้ว แต่ยังอุ่นใจที่ไม่เห็นความท้อใจเลยแม้แต่นิดเดียวครับ ออกจะฮึกเหิมด้วยซ้ำไป มาสิ เป็นไงเป็นกัน เป็นอย่างนั้นครับ อ้อ...สลับกับความหวาดเสียวในวัฏสงสาร น่ากลัวจริงๆครับ

ส่วนที่ต่ายว่าพอรู้สภาวธรรมหนึ่งๆขึ้นแล้ว มานึก มาพิจารณาทีหลัง หลังจากมันเพิ่งดับไปหยกๆ ผมก็เป็นครับ สรุปให้ก่อนได้เลยว่า "เผลอ" เห็นๆครับ พอรู้ว่ากำลังมาคิดวิพากษ์วิจารณ์ มาตั้งชื่อสภาวธรรมนั้นๆ ก็รู้ต่อไปได้เลยครับว่าเผลอแล้ว เพราะอาการรู้ต้อง real time ครับ ผมเองจะเผลออย่างนี้ประจำ รู้ปุ๊บ เผลอตามมาทันที ตามสไตล์คนชอบคิดน่ะครับ ตอนที่เผลอคิดน่ะ เนื้อตัวหายไปใหนหมดแล้ว

วิธีแก้ ไม่ทราบครับ เป็นแต่รู้ไปอย่างเดียว รู้แค่ว่า รู้แล้วเดี๋ยวดีเอง เผลอก็รู้ ว่างั้น เล่นมันทื่อๆ ตรงไปตรงมานี่แหละ เพราะเป็นคนไม่มีกระบวนท่า ไม่มียุทธวิธีมาแต่ไหนแต่ไรครับ

การแจมกระทู้ได้บ่อยๆของผมช่วงนี้ ฟ้องอาการฟุ้งซ่านของผมอย่างชัดเจนเชียวครับ ก็ขออภัยเพื่อนๆทุกท่านด้วยครับ หวั่นๆอยู่ว่า ความเห็นของผมจะพาให้ปิดกระทู้ไปเสียอีกแล้ว :)
โดยคุณ น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2543 22:30:54

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ สายขิม วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 07:56:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 08:28:57
อยากเรียนถามครับ
ผมเจออาการอย่างนี้ครับ
เวลาเรานอนหลับอยู่
พอทำท่าจะฝัน...ความรู้สึกจะตื่นขึ้น
พอทำท่าจะตกภวังค์...ความรู้สึกตื่นขึ้น
(เหมือนไม่ได้หลับเลย)
หรือถ้ามีกำลังมากหน่อย...จิตวูบลงไปสว่างแวบเดียว
แล้วถ้อยออก แต่ถ้อยออกมา..แต่ออกมาไม่หมด
เหมือนมันมาค้างอยู่กลางๆ

อาการพวกนี้ต่อเนื่องมาจากที่เราฝึกปกติ ตอนนั้งหรือเดินจงกลมครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 08:28:57

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ เจื้อย วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 08:52:55
ขอบคุณค่ะคุณต่าย อ๋อ คุณต่ายมีอาจารย์หญิงอีกท่านนึงด้วยเหรอคะ หนูไม่รู้เรื่องเลย  แหม ก็กำลังฟังถามตอบธรรมะระหว่างคุณต่ายกับคุณอาปราโมทย์อยู่เพลินๆ แล้วสะดุดกึกน่ะ  (เหมือนเทปยังไม่จบ แล้ว stop กระทันหัน อิอิ) ก็เลยงงนิดๆน่ะค่ะ
โดยคุณ เจื้อย วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 08:52:55

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 09:50:47
เวลาที่เราเจริญสติมากๆ จิตมันเป็นอย่างนั้นแหละครับคุณอี๊ด
ประเภทกายหลับ จิตยังไม่ยอมหลับ แต่กลับตื่นขึ้นทำสมาธิ
ต่อเมื่อภาวนาไปนานๆ มันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
คือหลับก็หลับลงภวังค์ไปเลย เป็นการพักจริงๆ
ตอนตื่นจะรู้กายเช่นลมหายใจ หรือรู้จิตทันทีเป็นอัตโนมัติ

ช่วงที่ผมยังหนุ่มกว่านี้
จิตใจมันยังขยันแบบไม่รู้จักแยกเวลาปฏิบัติกับเวลาพักผ่อน
คราวหนึ่งผมไปราชการต่างจังหวัด ตอนนั้นยังเด็กก็ต้องนอนห้องละ 2 คน
พอหลับ จิตก็ตื่นขึ้นนั่งสมาธิตลอดคืน สดชื่นดีเหลือเกิน
พอเช้ามืดตื่นขึ้นมา เห็นเพื่อนร่วมห้องนอนคลุมโปงตัวสั่นอยู่
เรียกขึ้นมาถามก็ได้ความว่า เมื่อคืนเขาหลับไปตื่นหนึ่ง
พอลืมตาขึ้นก็เห็นผมนั่งสมาธิอยู่บนเตียง
แล้วก็เห็นผมอีกคนหนึ่งนอนหลับอยู่
เขาคิดว่าผมเลี้ยงผีเอาไว้นั่งเฝ้าเวลาเจ้าของหลับ
ก็เลยรีบคลุมโปงอยู่จนสว่าง

เรื่องนี้เล่ากันสนุกๆ นะครับอย่าคิดมาก
ถ้าคุณอี๊ดมีอาการกายหลับแต่จิตตื่นบ่อยๆ
สักวันอาจจะมีคนเห็นอย่างนี้บ้างก็ได้เหมือนกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 09:50:47

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 23:23:19
เรียนถามพี่ด้วยค่ะ

อาการอย่างเดียวกับคุณอี๊ดมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร
หรือไม่คะ และเป็นการถูกต้องของการเจริญสติหรือเปล่าคะ เพราะตั้งใจปฏิบัติแล้วเป็นแบบนี้เหมือนกันค่ะ
เหมือนไม่ได้หลับได้นอนเลย

โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 23:23:19

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ นิดนึง วัน เสาร์ ที่ 21 ตุลาคม 2543 09:22:52
ต้องกราบขออภัยพี่ด้วยค่ะ
มาอ่านทวนที่พี่ตอบอันหลัง ถึงเห็นว่า
"เวลาที่เราเจริญสติมากๆ จิตมันเป็นอย่างนั้นแหละครับคุณอี๊ด
ประเภทกายหลับ จิตยังไม่ยอมหลับ แต่กลับตื่นขึ้นทำสมาธิ
ต่อเมื่อภาวนาไปนานๆ มันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
คือหลับก็หลับลงภวังค์ไปเลย เป็นการพักจริงๆ
ตอนตื่นจะรู้กายเช่นลมหายใจ หรือรู้จิตทันทีเป็นอัตโนมัติ"

เป็นคำตอบอยู่แล้ว ^_^
โดยคุณ นิดนึง วัน เสาร์ ที่ 21 ตุลาคม 2543 09:22:52

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com