กลับสู่หน้าหลัก

การดูจิต : ความหมาย วิธีการ และผลของการปฏิบัติ 

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 09:33:00

กระทู้นี้ผมเขียนไว้ในลานธรรม
เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างนักปริยัติกับนักปฏิบัติ
แต่นำมาโพสต์เก็บไว้ที่นี้ด้วย เพราะสมาชิกของวิมุตติบางส่วน
ไม่ได้เข้าไปอ่านกระทู้ในลานธรรม

****************************************************

เพื่อนใหม่ที่เข้ามาสู่ลานธรรม มักจะมีคำถามเสมอว่า 
การดูจิตคืออะไร ทำอย่างไร ดูแล้วมีผลอย่างไร 
คำตอบที่ได้รับจากหลายๆ ท่าน ค่อนข้างแยกเป็นส่วนๆ 
วันนี้ผมขอโอกาสเล่าถึง การดูจิตในภาพรวม สักครั้งนะครับ 

ความหมายของการดูจิต

คำว่า การดูจิต เป็นคำที่นักปฏิบัติกลุ่มหนึ่ง 
บัญญัติขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายกันเองภายในกลุ่ม 
หมายถึงการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ) 
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ) 
รวมถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน(บางอย่างที่เป็นฝ่ายนามธรรม) 
กล่าวอย่างย่อ ก็คือการเจริญวิปัสสนาด้วยอารมณ์ฝ่ายนามธรรม 
ได้แก่การรู้จิตและเจตสิกนั่นเอง 

วิธีการเจริญวิปัสสนา(ดูจิต)

การเจริญวิปัสสนาทุกประเภท รวมทั้งการดูจิต ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ให้ผู้ปฏิบัติ 
"รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลางเท่านั้น" 
 แต่จะรู้ได้ถูกต้อง ก็ต้อง (1) มีจิตที่มีคุณภาพ 
และ (2) มีอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง เท่านั้น
 

ซึ่งจิตที่มีคุณภาพสำหรับการทำสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา 
ได้แก่จิตที่มีสติ(สัมมาสติ) สัมปชัญญะ(สัมมาทิฏฐิ) และสัมมาสมาธิ 
ส่วนอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง คืออารมณ์ที่มีตัวจริงที่สามารถแสดงไตรลักษณ์ได้ 
หรือที่นักปฏิบัติมักจะเรียกว่าสภาวะ และนักปริยัติเรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์ 

เมื่อจะลงมือปฏิบัติ ก็ให้ (1) มีสติเฝ้ารู้ให้ทัน (มีสัมมาสติ) 
(2) ถึงอารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ (มีอารมณ์ปรมัตถ์) 
(3) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่เผลอส่งส่ายไปที่อื่น และไม่เพ่งจ้องบังคับจิต (มีสัมมาสมาธิ) 
แล้ว (4) จิตจะรู้สภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง (มีสัมปชัญญะ/สัมมาทิฏฐิ) 

การมีสติเฝ้ารู้ให้ทัน หมายถึงสิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ก็ให้รู้เท่าทัน 
เช่นขณะนั้นรู้สึกมีความสุข ก็ให้รู้ว่ามีความสุข 
เมื่อความสุขดับไป ก็ให้รู้ว่าความสุขดับไป 
มีความโกรธก็รู้ว่ามีความโกรธ 
เมื่อความโกรธดับไปก็รู้ว่าความโกรธดับไป 
เมื่อจิตมีความทะยานอยากอันเป็นแรงผลักดัน 
ให้ออกยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 
ก็ให้รู้ว่ามีแรงทะยานอยาก เป็นต้น 

อารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ 
ต้องเป็นอารมณ์ของจริง ไม่ใช่ของสมมุติ 
โดยผู้ปฏิบัติจะต้องจำแนกให้ออกว่า 
อันใดเป็นของจริง หรือปรมัตถธรรม 
อันใดเป็นของสมมุติ หรือบัญญัติธรรม 

เช่นเมื่อจิตมีความสุข ก็ต้องมีสติรู้ตรงเข้าไปที่ความรู้สึกสุขจริงๆ 
เมื่อจิตมีความโกรธ ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความโกรธจริงๆ 
เมื่อมีความลังเลสงสัย ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความลังเลสงสัยจริงๆ ฯลฯ 
และเมื่อหัดรู้มากเข้าจะพบว่า นามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นที่อก หรือหทยรูป 
แต่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเที่ยวควานหาหทยรูป 
หากกิเลสเกิดที่ไหน และดับลงที่ไหน ก็รู้ที่นั้นก็แล้วกันครับ 
ถ้าเอาสติไปตั้งจ่อดูผิดที่เกิด ก็จะไม่เห็นของจริง 
เช่นเอาสติไปจ่ออยู่เหนือสะดือสองนิ้ว 
จะไม่เห็นกิเลสอะไร นอกจากเห็นนิมิต เป็นต้น 

และการมีสติรู้ของจริง ก็ไม่ใช่การคิดถามตนเอง หรือคะเนเอาว่า 
ตอนนี้สุขหรือทุกข์ โกรธหรือไม่โกรธ สงสัยหรือไม่สงสัย อยากหรือไม่อยาก 
ตรงจุดนี้สำคัญมากนะครับ ที่จะต้องรู้สภาวธรรม หรือปรมัตถธรรมให้ได้ 
เพราะมันคือ พยานหรือแบบเรียนที่จิตจะได้เรียนรู้ 
ถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของมันจริงๆ 
ไม่ใช่แค่คิดๆ เอาว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 

เมื่อมีสติรู้สภาวธรรมหรือปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว 
ผู้ปฏิบัติจะต้องมีจิตที่รู้ตัว ตั้งมั่น 
ไม่เผลอไปตามความคิดซึ่งจะเกิดตามหลังการรู้สภาวธรรม 
เช่นเมื่อเกิดสภาวะบางอย่างขึ้นในจิต อันนี้เป็นปรมัตถธรรม 
ถัดจากนั้นก็จะเกิดสมมุติบัญญัติว่า นี้เรียกว่าราคะ 
สมมุติตรงนี้ห้ามไม่ได้ เพราะจิตเขามีธรรมชาติเป็นนักจำและนักคิด 
ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปห้ามหรือปฏิเสธสมมุติบัญญัติ 
เพียงรู้ให้ทัน อย่าได้เผลอหรือหลงเพลินไปตามความคิดนึกปรุงแต่งนั้น 
หรือแม้แต่การหลงไปคิดนึกเรื่องอื่นๆ ด้วย 
แล้วให้เฝ้ารู้สภาวะ(ที่สมมุติเรียกว่าราคะนั้น)ต่อไป ในฐานะผู้สังเกตการณ์ 
จึงจะเห็นไตรลักษณ์ของสภาวะอันนั้นได้ 

ในทางกลับกัน ผู้ปฏิบัติที่ไปรู้สภาวะที่กำลังปรากฏ 
จะต้องไม่เพ่งใส่สภาวะนั้นด้วย 
เพราะถ้าเพ่ง จิตจะกระด้างและเจริญปัญญาไม่ได้ 
แต่จิตจะ "จำ และจับ" สภาวะอันนั้นมาเป็นอารมณ์นิ่งๆ แทนการรู้สภาวะจริงๆ 
พึงให้จิตเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เหมือนคนดูละคร ที่ไม่โดดเข้าไปเล่นละครเสียเอง 
จิตที่ทรงตัวตั้งมั่น นุ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงาน 
โดยไม่เผลอและไม่เพ่งนี้แหละ คือสัมมาสมาธิ 
เป็นจิตที่พร้อมที่จะเปิดทางให้แก่การเจริญปัญญาอย่างแท้จริง 

คือเมื่อจิตมีสติ รู้ปรมัตถธรรม ด้วยความตั้งมั่น ไม่เผลอและไม่เพ่ง 
จิตจะได้เรียนรู้ความจริงของปรมัตถธรรมอันนั้นๆ 4 ประการ 
คือ (1) รู้สภาวะของมันที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (รู้ตัวสภาวะ) 
(2) รู้ว่าเมื่อสภาวะอันนั้นเกิดขึ้นแล้ว 
มันมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร (รู้บทบาทของสภาวะ) 
(3) รู้ว่าถ้ามันแสดงบทบาทของมันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น (รู้ผลของสภาวะ) 
และเมื่อชำนาญมากเข้า เห็นสภาวะอันนั้นบ่อยครั้งเข้า 
ก็จะ (4) รู้ว่า เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว 
จึงกระตุ้นให้สภาวะอันนั้นเกิดตามมา (รู้เหตุใกล้ของสภาวะ) 
การที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ หรือวิจัยธรรม (ธรรมวิจัย) 
อันนี้เองคือการเจริญปัญญาของจิต หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ 

ตัวอย่างเช่นในขณะที่มองไปเห็นภาพๆ หนึ่งปรากฏตรงหน้า 
จิตเกิดจำได้หมายรู้ว่า นั่นเป็นภาพสาวงาม 
แล้วสภาวธรรมบางอย่างก็เกิดขึ้นในจิต (ซึ่งเมื่อบัญญัติทีหลังก็เรียกว่า ราคะ) 
การรู้สภาวะที่แปลกปลอมขึ้นในจิตนั่นแหละคือการรู้ตัวสภาวะของมัน 
แล้วก็รู้ว่ามันมีบทบาทหรืออิทธิพลดึงดูด 
ให้จิตหลงเพลินพอใจไปกับภาพที่เห็นนั้น 
ผลก็คือ จิตถูกราคะครอบงำ 
ให้คิด ให้ทำ ให้อยาก ไปตามอำนาจบงการของราคะ 
และเมื่อรู้ทันราคะมากเข้า ก็จะรู้ว่า 
การเห็นภาพที่สวยงาม เป็นเหตุใกล้ให้เกิดราคะ 
จึงจำเป็นจะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกต ขณะที่ตากระทบรูปให้มากขึ้น เป็นต้น 

ในส่วนตัวสภาวะของราคะเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้อยู่นั้น 
มันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นทันที คือระดับความเข้มของราคะจะไม่คงที่ 
มันตั้งอยู่ไม่นาน เมื่อหมดกำลังเพราะเราไม่ได้หาเหตุใหม่มาเพิ่มให้มัน 
(ย้อนไปมองสาว) 
มันก็ดับไป แสดงถึงความเป็นทุกข์ของมัน 
และมันจะเกิดขึ้นก็ตาม ตั้งอยู่ก็ตาม ดับไปก็ตาม 
ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยกำหนด ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะให้เป็น 
นอกจากนี้ มันยังเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา 
เหล่านี้ล้วนแสดงความเป็นอนัตตาของสภาวะราคะทั้งสิ้น 

ผลของการดูจิต และข้อสรุป

จิตที่อบรมปัญญามากเข้าๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่า 
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจิต เจตสิก กระทั่งรูป ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น 
ถ้าจิตเข้าไปอยาก เข้าไปยึด จิตจะต้องเป็นทุกข์ 
ปัญญาเช่นนี้แหละ จะทำให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูลง 
ความทุกข์ก็จะเบาบางลงจากจิต เพราะจิตฉลาด 
ไม่ไปส่ายแส่หาความทุกข์มาใส่ตัวเอง 
(แต่ลำพังคิดๆ เอา ในเรื่องความไม่มีตัวกูของกู 
ย่อมไม่สามารถดับ ความเห็นและความยึด ว่าจิตเป็นตัวกูของกูได้ 
จะทำได้ก็แค่ "กู ไม่ใช่ตัวกูของกู" คือจิตยังยึดอยู่ 
ส่วนการที่จะลดละได้จริง ต้องเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เท่านั้นครับ) 

สรุปแล้ว การดูจิตที่ชาวลานธรรมพูดถึงกันนั้น ไม่ใช่การดูจิตจริงๆ 
เพราะจิตนั้นแหละ คือผู้รู้ ผู้ดู ผู้ยึดถือ อารมณ์ 
แต่การดูจิต หมายถึงการเจริญวิปัสสนา โดยเริ่มต้นจากการรู้นามธรรม 
ซึ่งเมื่อชำนิชำนาญแล้ว ก็จะรู้ครบสติปัฏฐานทั้งสี่นั่นเอง 
ดังนั้น ถ้าไม่ชอบคำว่า ดูจิต ซึ่งนักปฏิบัติส่วนหนึ่งชอบใช้คำนี้เพราะรู้เรื่องกันเอง 
จะใช้คำว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 
 + การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 
 + การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้ครับ 

แต่การที่นักปฏิบัติบางส่วนชอบพูดถึงคำว่า "การดูจิต" ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน 
คือเป็นการเน้นให้ทราบว่า จิตใจนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง 
และเป็นการกระตุ้นเตือนให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของจิตเมื่อมันไปรู้อารมณ์เข้า 
เพราะถ้ารู้จิตชัด ก็จะรู้รูปชัด รู้เวทนาชัด รู้กิเลสตัณหาชัดไปด้วย 
เนื่องจากจิตจะตั้งมั่น และเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง 
ในทางกลับกัน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ 
แม้จะพยายามไปรู้ปรมัตถ์ ก็ไม่สามารถจะรู้ปรมัตถ์ตัวจริงได้ 
นอกจากจะเป็นเพียงการคิดถึงปรมัตถ์เท่านั้น 

ถ้าเข้าใจจิตใจตนเองให้กระจ่างชัดแล้ว การเจริญสติปัฏฐานก็จะทำได้ง่าย 
ถ้าไม่เข้าใจจิตใจตนเอง ก็อาจจะเกิดความหลงผิดได้หลายอย่างในระหว่างการปฏิบัติ 
เช่นหลงเพ่ง โดยไม่รู้ว่าเพ่ง อันเป็นการหลงทำสมถะ แล้วคิดว่ากำลังทำวิปัสสนาอยู่ 
พอเกิดนิมิตต่างๆ ก็เลยหลงว่าเกิดวิปัสสนาญาณ 
หรือหลงเผลอ ไปตามอารมณ์ โดยไม่รู้ว่ากำลังเผลอ 
หรือหลงยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ 
หรือหลงคิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัติ 
แล้วคิดว่ากำลังรู้ปรมัตถ์หรือสภาวะที่กำลังปรากฏ เป็นต้น 
ถ้าเข้าใจจิตตนเองได้ดีพอประมาณ ก็จะไม่เกิดความหลงผิดเหล่านี้ขึ้น 

ข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการดูจิตก็คือ 
การดูจิตเป็นวิปัสสนาชนิดเดียวที่ทำได้ทั้ง 3 โลก 
คือในกาม(สุคติ)ภูมิ รูปภูมิ(ส่วนมาก) และอรูปภูมิ 
แม้แต่ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อันเป็นภวัคคภูมิหรือสุดยอดภูมิของอรูปภูมิ 
ก็ต้องอาศัยการดูจิตนี้เอง เป็นเครื่องเจริญวิปัสสนาต่อไปได้จนถึงนิพพาน 

อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่าการดูจิตนั้น แม้จะเริ่มจากการรู้นามธรรมก็จริง 
แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง 4 อย่าง

โดยจิตจะมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง 
เพียงก้าวเดินก้าวเดียว ก็เกิดการเจริญสติปัฏฐานได้ตั้งหลายอย่างแล้ว 

คือเมื่อเท้ากระทบพื้น ก็จะรู้รูป ได้แก่ธาตุดินคือความแข็งภายในกาย (รูปภายใน) 
และธาตุดินคือความแข็งของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป (รูปภายนอก) 
อันนี้ก็คือการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว 
และรู้ถึงความเย็น ความร้อนคือธาตุไฟของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป เป็นต้น 

ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าสติรู้เข้าไปที่ความรู้สึกอันเกิดจากการที่เท้ากระทบพื้น 
เช่นความเจ็บเท้า ความสบายเท้า 
ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว 

ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าพื้นขรุขระ เจ็บเท้า ก็สังเกตเห็นความขัดใจ ไม่ชอบใจ 
หรือถ้าเหยียบไปบนพรมนุ่มๆ สบายๆ เท้า ก็สังเกตเห็นความพอใจ 
อันนี้ก็เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว 

ขณะที่เหยียบนั้น ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ก็จะเห็นกายเป็นส่วนหนึ่ง 
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่ละส่วนๆ 
หรือรู้ถึงความทะยานอยากของจิตที่ส่งหลงเข้าไปที่เท้า 
หรือรู้อาการส่งส่ายของจิต ตามแรงผลักของตัณหาคือความอยาก 
แล้วหนีไปเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 
หรือรู้ถึงความเป็นตัวกูของกูที่เกิดขึ้นในจิต 
หรือรู้ถึงนิวรณ์ที่กำลังปรากฏขึ้น แต่ยังไม่พัฒนาไปเป็นกิเลสเข้ามาครอบงำจิต 
หรือรู้ชัดถึงความมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร มีปีติ มีความสงบระงับฯลฯ 
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น 

ที่เล่ามายืดยาวนี้ เพื่อนใหม่ที่ไม่เคยลงมือเจริญสติสัมปชัญญะจริงๆ มาก่อน 
อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยครับ 
ดังนั้น ถ้าอ่านแล้วเกิดความสงสัยมากขึ้น 
ก็ลองย้อนมารู้เข้าไปที่ ความรู้สึกสงสัยในจิต เลยทีเดียว 
ก็จะทราบได้ว่า ความสงสัยมันมีสภาวะของมันอยู่ 
(ไม่ใช่ไปรู้เรื่องที่สงสัยนะครับ แต่ให้รู้สภาวะหรือปรมัตถธรรมของความสงสัย) 
เมื่อรู้แล้วก็จะเห็นว่า เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น มันจะยั่วจิตให้คิดหาคำตอบ 
แล้วลืมที่จะรู้เข้าไปที่สภาวะความสงสัยนั้น 
เอาแต่หลงคิดหาเหตุหาผลฟุ้งซ่านไปเลย 
พอรู้ทันมากเข้าๆ ก็จะเข้าใจได้ว่า ความสงสัยนั้นมันตามหลังความคิดมา 
เป็นการรู้เท่าทันถึงเหตุใกล้ หรือสาเหตุที่ยั่วยุให้เกิดความสงสัยนั่นเอง 

เมื่อรู้ที่ สภาวะของความสงสัย ก็จะเห็นสภาวะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 
มันเกิดขึ้นเพราะความคิด พอรู้โดยไม่คิด มันก็ดับไปเอง 

หัดรู้อยู่ในจิตใจตนเองอย่างนี้ก็ได้ครับ แล้วต่อไปก็จะทำสติปัฏฐาน 4 ได้ในที่สุด 
เพราะจะสามารถจำแนกได้ชัดว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็นอารมณ์ 
อะไรเป็นอารมณ์ของจริง 
และอะไรเป็นเพียงความคิดนึกปรุงแต่งหรือสมมุติบัญญัติที่แปลกปลอมเข้ามา 
รวมทั้งจำแนกได้ด้วยว่า อันใดเป็นรูป อันใดเป็นจิต อันใดเป็นเจตสิก 

ขอย้ำแถมท้ายอีกนิดหนึ่งนะครับว่า 
การดูจิต ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดเสมอไป 
เพราะในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดในโลก 
มีแต่ "วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด" เฉพาะของแต่ละบุคคลเท่านั้น 
ดังนั้น ถ้าถนัดจะเจริญสติปัฏฐาน  อย่างใดก่อน ก็ทำไปเถิดครับ 
ถ้าทำถูกแล้ว ในที่สุดก็จะทำสติปัฏฐานหมวดอื่นๆ ได้ด้วย


******************************************** 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 09:33:00

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 13:18:03
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 14:19:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ฐิติมา วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 17:47:49
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ tana วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 21:23:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม 2543 23:48:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 21 ตุลาคม 2543 05:16:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ อาจ วัน อังคาร ที่ 24 ตุลาคม 2543 20:48:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 26 ตุลาคม 2543 20:38:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ มรกต วัน ศุกร์ ที่ 27 ตุลาคม 2543 15:14:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 30 ตุลาคม 2543 09:37:29
ขออนุญาตฝากข้อความจากลานธรรมไว้ด้วยครับ
**************************************************
ความคิดเห็นที่ 37 : (สันตินันท์) 

ที่คุณสุภะตั้งประเด็นเรื่องปรมัตถ์นั้น ขอเรียนสั้นๆ ว่า
พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมโดยสมมุติ แก่ผู้ควรฟังธรรมโดยสมมุติ
ทรงสอนปรมัติ แก่ผู้ควรฟังปรมัติ
เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่ออวดว่าพระองค์รอบรู้

พระอริยสาวกชั้นต้นๆ ไม่เคยฟังเรื่องปรมัตถ์เลยก็มี แต่ก็รู้ธรรมได้
อันนี้ผมเห็นว่า (ขอย้ำว่าเป็นความเห็นนะครับ) เพราะคุณภาพในการฟังของท่านดี
เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์
จิตที่อบรมมาดีแล้ว ได้รับธรรมอย่างนี้ ก็ทราบว่า ความแก่เป็นทุกข์ ฯลฯ
ไม่ไปติดอยู่แค่ว่า "คนแก่เป็นทุกข์"
คือท่านสามารถมองทะลุสมมุติบัญญัติเข้าถึงสภาวะของความแก่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ในมหาสติปัฏฐานนั้น ท่านสอนทั้งโดยสมมุติและปรมัตถ์
ที่สอนโดยสมมุติ ก็เพราะทรงสอนธรรมต้นทางของการปฏิบัติก่อน
คือสอนให้ปรับจิตให้มีคุณภาพด้วยการรู้อารมณ์อย่างเป็นวิหารธรรม
มีตปธรรม มีสัมปชัญญะ มีสติ นำความยินดียินร้ายในโลกออกจากจิต
ผู้ใดปรับจิตให้มีคุณภาพแล้ว ก็ย่อมสามารถ (1) เห็นอารมณ์โดยความเป็นสภาวะ
และ (2) เห็นสมมุติโดยความเป็นสมมุติ
ส่วนท่านที่อินทรีย์แก่กล้าแล้ว ก็จะก้าวกระโดดด้วยปรมัตถ์ทีเดียว

ลองสังเกตเถิดครับว่า ธรรมที่พระองค์แสดงแม้ในขั้นสมมุติ 
บางทีก็แฝงปรมัตถ์อย่างนึกไม่ถึง อย่างเช่นลองอ่านอริยสัจจ์ 4 ดูเถิดครับ
เช่นทรงสอนว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรัก พบสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์
แต่ลงท้ายท่านก็มักจะขมวดว่า "ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์"
และถ้าสังเกตธรรมที่ท่านทรงสอนผู้ที่จะบรรลุพระอรหันต์จริงๆ
จะเป็นธรรมขั้นปรมัตถ์
เช่นพระสารีบุตรได้ฟังเรื่องเวทนา พระพาหิยะฟังเรื่อง รูปกระทบตาฯลฯ
พระมหากัสสปะและพระอานนท์ สำเร็จด้วยกายคตาสติ
(กายคตาสติสูตร มีเนื้อหาอันเดียวกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนะครับ
อันนี้จะไม่ตรงกับวิสุทธิมรรค ที่จัดกายคตาสติเป็นสมถะเท่านั้น)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชั้นพระไตรปิฎกว่า
พระองค์เคยทรงสอนว่า จะต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์จึงเห็นไตรลักษณ์
คำว่าปรมัตถ์ 400 กว่าแห่งในพระไตรปิฎก เกือบทั้งหมดอยู่ในกถาวัตถุ
ซึ่งแต่ขึ้นหลังพุทธกาลราว 230 ปีเศษ
ที่ผมเรียนอย่างนี้ เพราะเห็นว่าเราต้องซื่อตรงต่อการศึกษา
แม้ผมจะเชื่อโดยส่วนตัวเรื่องปรมัตถ์ ก็ต้องยอมรับว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนไว้
แต่ผมพบว่า ถ้าดำเนินจิตให้ถูกต้อง จะเห็นปรมัตถ์
แล้วพระองค์ทรงสอนถึงการดำเนินจิตที่ถูกต้องไว้ ซึ่งเพียงพอแล้ว
หากทรงสอนเรื่องปรมัตถ์มากเกินไป พระศาสนาคงไม่ตั้งมั่นลงได้แน่ๆ
เพราะหาคนฟังรู้เรื่องและเข้าใจ และปฏิบัติได้ ยากเต็มที

เรื่องจิตผู้รู้นั้น ขอเรียนว่าจะไม่ใช่การสร้างมโนภาพ 
เพราะการสร้างมโนภาพ เอาไปเจริญวิปัสสนาไม่ได้ครับ
แต่ไม่ว่าเราจะชอบคำว่าจิตผู้รู้หรือไม่
ถ้าเราเจริญสติสัมปชัญญะจริงๆ ก็จะรู้จักจิตชนิดหนึ่ง
ซึ่งตั้งมั่น เป็นกลาง รู้อารมณ์ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
อันนี้เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริงครับ แต่นักปฏิบัติไปบัญญัติเรียกกันเองว่าจิตผู้รู้

เมื่อจิตเป็นของจริง เหมือนที่เจตสิกและรูปเป็นของจริง
มันจึงไม่ใช่มโนภาพ แต่ถ้าใครไปสร้างสโนภาพของจิตผู้รู้
ไม่ได้รู้เองด้วยปัญญา อันนั้นผิดครับ

แล้วก็ไม่ใช่การสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นก่อน แล้วปล่อยวางความยึดมั่นทีหลัง
เพราะจะรู้จักจิตผู้รู้หรือไม่ ปุถุชนทุกคนย่อมเห็นว่าจิตเป็นเราทั้งนั้น
และผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมยึดว่า จิตเป็นเรา
จะรู้ตัวหรือไม่ ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

เรื่องจิตส่งออกนอก ไม่เกี่ยวกับการรู้อารมณ์ภายนอกและภายใน
เป็นคนละเรื่องกันเลยครับ เพราะเราต้องรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง
คือตามที่วิญญาณหยั่งลงรู้ลงไปทางใด
คำว่าจิตส่งออกนอกเป็นคำบัญญัติของนักปฏิบัติบางกลุ่ม
ที่สอนว่า เมื่อรู้อารมณ์แล้ว อย่างหลง อย่าเผลอ 
อย่าขาดสติคิดนึกปรุงแต่งตามอารมณ์ไป

สำหรับที่คุณรูปนามหนึ่งถามนั้น 
ผมมีความหมายดังที่คุณวิชชากรุณากล่าวไว้ครับ
คือพระอริยบุคคล 7 ประเภท เว้นแต่พระโสดาปัตติมรรค
หากไปปฏิสนธิในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ก็ไปดูจิตต่อได้ที่นั่น
เพราะจิตที่อบรมสติสัมปชัญญะไว้ดีแล้ว มันทำงานได้โดยอัตโนมัติครับ
พอรู้อารมณ์อันใด มันก็เจริญปัญญาตรงนั้นเลย
เรื่องนี้เดิมผมไม่กล้าพูดหรอกครับ คิดว่าเป็นความรู้ที่แปลกเกินไป
แต่ไปเห็นในภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ สอดคล้องกัน ก็เลยกล้านำมาเขียนไว้
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 30 ตุลาคม 2543 09:37:29

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ กอบ วัน เสาร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 20:27:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com