กลับสู่หน้าหลัก

มโนวิญญาณ-จิต-ใจ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 11:59:24

กระทู้ในลานธรรมครับ ฝากไว้ที่นี้ด้วย เพราะอยากฟังความเห็นของพี่ปราโมทย์ครับ

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวิญญาณ

ตามความหมายในพจนานุกรมพุทธศาสน์กล่าวไว้ว่า
วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายใน
และอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น ได้แก่
การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ; วิญญาณ ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส) ๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

วิญญาณคือความรู้แจ้งนั้นนับตามเหตุที่เกิดก็นับได้ 6 อย่างข้างต้น แต่ทั้งหมดก็คือวิญญาณเหมือนกัน
(ดูในมหาตัณหาสังขยสูตรข้างล่าง) ในขณะหนึ่งๆ จะมีวิญญาณชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้นสับเปลี่ยนหมุน
เวียนกันไป แล้วแต่ว่าจะเกิดผัสสะทางไหน

**************************************************************************************
                           มหาตัณหาสังขยสูตร
                        ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ
      [๔๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น
 ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุ
 วิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ วิญญาณ
 อาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยชิวหาและรส
 ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น
 ก็ถึงความนับว่ากายวิญญาณ วิญญาณอาศรัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า
 มโนวิญญาณ เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ ไฟอาศัยไม้
 ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้น
 ก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า ไฟอาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟโคมัย ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น
 ก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ ฉันใด ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ
 วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตและ
 เสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น
 ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า
 ชิวหาวิญญาณ วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น  ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ
 วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ.
*******************************************************************************************

วิญญาณในทางปฏิบัติ
ถ้าอยากรู้ว่าวิญญาณในทางปฏิบัติคือ อะไร ก็คงต้องหาช่วงที่วิญญาณดับไปมาเปรียบเทียบกันดู
เมื่อวิญญาณทางอายตะใดดับไปความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุด ก็คือความรู้สึก สักแต่ว่า
เช่น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ก็คือ สภาพที่จักขุวิญญาณดับไป
ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ก็คือ สภาพที่โสตวิญญาณดับไป อย่างนี้เป็นต้น
แต่ที่สังเกตยากที่สุดคงเป็น มโนวิญญาณ
เพราะในการปฏิบัติถึงแม้ว่า บางครั้งเราจะพบกับสภาวะที่วิญญาณทางกายดับไป
แต่จะมีวิญญาณทางใจ คือมโนวิญญาณยังมีอยู่เสมอ
ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องมโนวิญญาณจึงเป็นเรื่องยากสำหรับปุถุชน
เพราะยังไม่เคยเห็น หรือ รู้จักกับภาวะที่มโนวิญญาณดับไป จึงไม่มีอะไรให้เปรียบเทียบ
ความดับแห่งมโนวิญญาณจะเกิดมีเมื่ออวิชชาดับ และเจตนาดับไป
ในมรรคญาณเท่านั้น
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 11:59:24

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 12:03:46
วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท
วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจนแล้วในพระสูตร
ว่า ...
[๑๕] ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุวิญญาณ
โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณ ฯ


วิญญาณ นี้มีปัจจัยให้เกิดคือสังขาร คือความคิด หรือเจตนานั่นเอง
ในทางปฏิบัติ ก็ลองสังเกตดูได้ว่า เมื่อมีเจตนา หยั่งลงทางอายตนะใด
ก็จะเกิความรู้สึกรู้อารมณ์ทางนั้น แต่ตัณหายังไม่เกิด
สภาพเช่นนี้ก็คือสภาพของ ความมีสัมปชัญญะนั่นเอง
มโนวิญญาณจึงแยกไม่ออกจากปัญญาสัมมาทิฏฐิ (ดังแสดงในพระสูตรข้างล่างนี้)
หรือมโนวิญญาณก็คือจิตผู้รู้นั้นเอง

*****************************************************************************

                       ๓. มหาเวทัลลสูตร
                     เรื่องปัญญากับวิญญาณ
      [๔๙๔] ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระสารีบุตรว่าดูกร
 ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีปัญญาทรามๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ จึง
 ตรัสว่า บุคคลมีปัญญาทราม?
      ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุ บุคคลไม่รู้ชัดๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค
 จึงตรัสว่า เป็นบุคคลมีปัญญาทราม ไม่รู้ชัดอะไร ไม่รู้ชัดว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
 นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลไม่รู้ชัดๆ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า บุคคลมีปัญญาทราม.
      ท่านพระมหาโกฏฐิกะ ยินดี อนุโมทนาภาษิต ของท่านพระสารีบุตรว่า ถูกละ ท่านผู้มี
 อายุ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหาต่อไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีปัญญาๆ
 ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ จึงตรัสว่าบุคคลมีปัญญา?
      สา. ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลรู้ชัดๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นบุคคล
 มีปัญญา รู้ชัดอะไร รู้ชัดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะ
 ฉะนั้น จึงตรัสว่า บุคคลมีปัญญา.

      ก. ดูกรท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิญญาณๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ
 จึงตรัสว่า วิญญาณ?
      สา. ธรรมชาติที่รู้แจ้งๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่าวิญญาณ รู้แจ้งอะไร
 รู้แจ้งว่า นี้สุข นี้ทุกข์ นี้มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ธรรมชาติย่อมรู้แจ้งๆ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า
 วิญญาณ.

      ก. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน หรือแยกจากกันท่านผู้มีอายุ
 อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้หรือไม่?
      สา. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ผมไม่อาจแยก
 ออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น วิญญาณ
 รู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น ฉะนั้น ธรรม ๒ ประการนี้ จึงปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ผมไม่
 อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้.

      ก. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน แต่มีกิจที่จะพึง
 ทำต่างกันบ้างหรือไม่?
      สา. ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน แต่ปัญญาควร
 เจริญ วิญญาณควรกำหนดรู้ 
นี่เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม ๒ ประการนี้.

**********************************************************************************
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 12:03:46

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 12:04:34
มโนวิญญาณ จิต ใจ

เป็นความขัดแย้งที่ไม่ขัดแย้งระหว่างพระสูตรกับพระอภิธรรม
หากแต่เป็นการมองคนละมุม ในธรรมอันเดียวกัน
เหตุของเรื่องก็คือ ในพระสูตรกล่าวไว้ว่า ผัสสะทางใจ เกิดจากการประชุม
กันของ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ และใจ ดังนั้นมโนวิญญาณ ไม่ใช่ใจ
ในขณะที่พระอภิธรรมกล่าวว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

ขออนุญาตวกกลับมาเรื่อง มโนวิญญาณคือจิตผู้รู้
หรือในความหมายหนึ่ง วิญญาณก็คือจิตนั่นเอง
ความในข้อนี้คงไม่ขัดกับตำราในฝ่ายใดแน่ๆ

เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญภาวนาจนเห็นแจ้ง มีมรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ครบถ้วนสมบูรณ์ ในคราวนั้น มรรคก็จะประชุมรวมกัน
สะบั้นกิเลส ขุดรากถอนโคนอวิชชาออกจากใจ เป็นการสิ้นสุดแห่งเจตนาทั้งปวง
นิพพานถูกเผย ให้เห็น เหมือนลูกไก่ที่ออกมาพบแสงสว่างภายนอก
นิพพานมีอยู่อย่างนั้น เหมือนแสงสว่าง แต่คนเราถูกอวิชชาบังใจ
เหมือนไก่ที่อยู่ในฟองไข่

ถามว่าจิตยังมีอยู่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มี
ถ้าในพระอภิธรรม ก็จะมีการแสดงว่าจิตของพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ประกอบด้วย อะไรบ้าง เป็นมหากริยาจิต เป็นต้น

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า แล้วที่ว่ามโนวิญญาณดับ หมายถึงจิตดับหรือเปล่า
คำตอบก็คือถูกแล้วจิตดับ เพราะจิตเกิดดับติดต่อกันอยู่แล้ว
แต่จิตที่ดับไปคือจิตผู้รู้ ที่ประกอบดัวยปัญญาเจตสิก
แต่จิตที่เกิดดวงต่อไป เป็นจิตที่ปราศจากอวิชชา
(จะประกอบด้วยอะไรบ้างก็ไปเปิดพระอภิธรรมอ่านกันเองนะครับ)

จิตที่ปราศจากอวิชชานี้เองที่ท่านเรียกว่า ใจ
เพราะเหตุที่ มโนวิญญาณดับไป ก็เหลือแต่ธรรมารมณ์ กับใจ
ใจ ยังเป็นสภาพรู้ เหมือนจิต แต่สิ่งที่ใจรับรู้คือพระนิพพานนั่นเอง

จบซะที ว่าจะเขียนเรื่องนี้นานแล้ว ได้แต่ตั้งท่า ในที่สุดก็เขียนจนจบ
หวังว่าคงจะสร้างความเข้าใจอันดี และสัมมาทิฏฐิให้เกิดมีแด่ทุกท่านด้วยครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 12:04:34

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 14:40:44
คำว่าจิต มนะ(ใจ) และวิญญาณ นั้น
ในทางอภิธรรมถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์

ส่วนในพระสูตร ท่านใช้ทั้ง 3 คำนี้โดยจำแนกที่ใช้อย่างชัดเจน
(แต่ท่านก็ไม่ได้กล่าวว่า มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน)
เช่นเมื่อจะพูดถึงความทุกข์และความหลุดพ้น ท่านจะให้คำว่า จิต
จะพูดถึงสภาพที่เป็นกุศล หรืออกุศล ท่านก็พูดว่าจิตเป็นกุศล หรืออกุศล
ท่านไม่กล่าวว่าใจ/วิญญาณเป็นทุกข์ หลุดพ้น เป็นกุศล หรืออกุศล

เมื่อท่านกล่าวถึงขันธ์ 5 และสภาพที่รู้อารมณ์ทางอายตนะ
ท่านกล่าวถึง วิญญาณ ไม่กล่าวถึงจิตและใจ

เมื่อท่านกล่าวถึงสิ่งที่รู้ธัมมารมณ์ สิ่งที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน
ท่านกล่าวถึงใจ ไม่กล่าวว่าจิต/วิญญาณ เป็นผู้รู้ธัมมารมณ์

ผมเห็นด้วยกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ที่ท่านกล่าวว่า ถ้าจะอธิบายพระอภิธรรม ให้ใช้ความหมายตามนัยอภิธรรม
ถ้าจะอธิบายพระสูตร ให้ใช้ความหมายตามนัยพระสูตร
เพียงเท่านี้ก็ตัดความยุ่งยากไปมากแล้วครับ

ในส่วนความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวิญญาณที่คุณมะขามป้อมเขียนไว้นั้น
ถูกต้องเป็นธรรมดีแล้วครับ
ส่วนคำอธิบายวิญญาณในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากสักหน่อย
มีจุดที่ผู้ศึกษาตำราจะโต้แย้งได้บางอย่างครับ
เช่นมโนวิญญาณนั้น มันเกิดวับเดียวก็ดับได้เช่นเดียวกับวิญญาณอื่นๆ
เช่นในขณะที่ตาเห็นรูป ขณะนั้นมีจักขุวิญญาณ ก็ย่อมไม่มีมโนวิญญาณ
ขณะที่ธัมมารมณ์สัมผัสกับใจ ก็เกิดมโนวิญญาณ ไม่มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น
ส่วนความดับแห่งวิญญาณขันธ์ในขณะเกิดอริยมรรคนั้น
แรกทีเดียววิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ดับไป
เหลือแต่วิญญาณทางใจ ซึ่งดับเป็นตัวสุดท้าย
อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แยกต่างหากจากมโนวิญญาณที่เกิดดับถี่ยิบอยู่เสมอๆ

วิญญาณนั้นจัดเป็นอเหตุกวิบากจิต จึงไม่จัดว่าเป็นสิ่งดีหรือสิ่งชั่ว
มันมีหน้าที่รู้อารมณ์เฉยๆ คือสักแต่รู้เฉยๆ โดยธรรมชาติของมันเอง
แม้ผู้ปฏิบัติ หรือผู้ไม่ปฏิบัติ กระทั่งในสัตว์ต่างๆ
วิญญาณก็สักแต่รู้อารมณ์เฉยๆ เหมือนๆ กัน
ส่วนที่นักปฏิบัติพูดเรื่องสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นนั้น
เป็นเรื่องที่เกิดในมหากุสลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา
คือจิตมีปัญญารู้จริงในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่มันเป็น
จึงมีสภาพสักแต่รู้ สักแต่เห็น
คือปราศจากความหลงยินดียินร้าย ด้วยกำลังของปัญญา

อันที่จริงนักปฏิบัติที่ต้องการรู้จักวิญญาณก็ทำได้ไม่ยากนักถ้าสติไวพอ
เช่นพอลืมตาขึ้น ภาพแรกที่ตาเห็น แล้วยังไม่รู้ว่าภาพอะไร
นั่นแหละครับคือวิญญาณทางตา
ถัดจากนั้นถ้าจิตมีปัญญา ก็จะรู้สมมุติด้วย รู้ปรมัตถ์หรือสภาวะด้วย
จิตก็จะสักแต่ว่ารู้ ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้าย
ถ้าจิตไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะเกิดความสำคัญผิด
ว่านั่นคน นั่นผู้หญิงผู้ชาย แล้วหลงยินดียินร้ายต่อไป
ไม่สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ได้จริง

สำหรับทีี่ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าท่านแยกปัญญากับวิญญาณไม่ได้นั้น
หมายถึงจิตกับเจตสิกเป็นของที่เกิดร่วมกัน
คือวิญญาณเป็นความรู้แจ้งอารมณ์ หรือเป็นธรรมชาติรู้
ส่วนปัญญาเป็นความรู้ชัด หรือเป็นคุณภาพในการรู้
ตัวธรรมชาติรู้นั้นจัดเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นตัวทุกข์ ท่านจะให้กำหนดรู้
ส่วนตัวปัญญาเป็นคุณภาพของจิต เจริญปัญญาก็คือเจริญมรรค
กิจจึงเป็นการทำให้มาก ทำให้เจริญ

สำหรับความเห็นที่ 2 ของคุณมะขามป้อม ผมของดออกความเห็นนะครับ
เพราะยังไม่มีเวลาพอจะพิจารณาครับ เดี๋ยวต้องรีบไปทำงานอย่างอื่นแล้ว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 14:40:44

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 14:56:31
เขียนตก ผิดในสาระสำคัญครับ ขอแก้ใหม่ดังนี้

อันที่จริงนักปฏิบัติที่ต้องการรู้จักวิญญาณก็ทำได้ไม่ยากนักถ้าสติไวพอ
เช่นพอลืมตาขึ้น ความรับรู้ภาพเมื่อแรกที่ตาเห็น แล้วยังไม่รู้ว่าภาพอะไร
นั่นแหละครับคือวิญญาณหรือความรับรู้อารมณ์ทางตา
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 14:56:31

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 15:17:26
_/\_ ขอบคุณครับพี่

ผมหมายถึงอาการ สักแต่ว่าเห็น ที่เราเห็นในระหว่างการเจริญสัมปชัญญะนั้น
เป็นเพราะจักขุวิญญาณดับไป ในขณะที่มโนวิญญาณทำงาน
คือรู้อยู่กับธรรมารมณ์ มีเจตนาที่จะเฝ้ารู้อยู่อย่างนั้น
เกิดผัสสะที่ใจ แต่จิตไม่ทะยาน(ตัณหา)ออกไปเกาะอารมณ์ เพราะกำลังปัญญา
ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่าครับ
(บางที่สภาวธรรมมันละเอียดเกินกว่าที่ผมจะตามทัน)

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 15:17:26

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 15:46:31
ถ้าสักแต่ว่ารู้หลังจากวิญญาณทางกายดับไป
และหลังจากจิตไหวตัวขึ้นรับอารมณ์ทางใจแล้ว อันนั้นใช้ได้เลยครับ
เพราะการเจริญปัญญานั้นทำได้ในขณะที่จิตเป็นกุศล
มีสติ สัมปชัญญะ และสมาธิอยู่ครับ

นักปฏิบัตินั้น ต้องพูดกับนักปฏิบัติจึงจะเข้าใจง่ายครับ
ถ้าพูดกับนักปริยัติ เข้าใจกันยากมาก
ยิ่งนักปฏิบัติที่ไม่ได้เรียนปริยัติ เวลาบัญญัติอะไรก็คลาดเคลื่อนจากตำรา
นักปริยัติน้อยคนครับ ที่จะยอมแหวกตำราเข้ามาพิจารณาว่า
สิ่งที่นักปฏิบัติกล่าวนั้น คืออะไรกันแน่
ส่วนมาก พอเห็นบัญญัติผิด ก็สรุปว่าผิดแล้วครับ
ซึ่งเราจะว่าเขาก็ไม่ถูก เพราะเราใช้คำไม่ตรงตำราเอง

ตัวอย่างเช่น ใจ หรือมโน หรือมนะนั้น มันเป็นอายตนะอันหนึ่ง
พอมันกระทบธัมมารมณ์แล้ว จะเกิดมโนวิญญาณขึ้นมา
ถ้าเราพูดว่า ใจคือมโนวิญญาณ อย่างนี้ก็ไม่ถูกตำราแล้วครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 15:46:31

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 16:49:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ กอบ วัน เสาร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 20:26:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 6 พฤศจิกายน 2543 10:22:34
ที่จริงปัญหานี้เป็นปัญหาของสมมุติบัญญัติ
ที่ใช้สื่อสารให้เข้าใจกันเท่านั้นเองครับ
ธรรมนั้นไม่มีคำอธิบายกำกับหรอกครับ เห็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ผมเองเผลอไผล่เข้าไปอ่านในลานธรรมแล้วก็
หยิบเอาธรรมมาเปรียบเทียบกับบัญญัติว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ถูกบ้างผิดบ้างไปตามเรื่อง
ผมคงไม่เขียนเรื่องต่างๆ ในธรรมอันละเอียดอีกแล้ว
เก็บไว้ให้มันอยู่อย่างนั้น อยู่อย่างไม่มีคำอธิบายนั้นดีแล้ว

ผมมีความเห็นสุดท้ายฝากกับเพื่อนๆ ไว้ตรงนี้ครับว่า
ธรรมที่ควรเรียนรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติคือสติปัฏฐาน 4 นั้น
ผมคิดว่าเพียงพอแล้วสำหรับนักปฏิบัติ และก็เพียงพอแล้ว
ที่เราจะนำไปบอกต่อๆ กันไป เพื่อประกาศธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ให้ดำรงค์อยู่ให้เราได้เจริญรอยตามในชาติต่อๆ
ตราบเท่าที่เรายังวนเวียนในสังสารวัฏ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 6 พฤศจิกายน 2543 10:22:34

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 8 พฤศจิกายน 2543 11:19:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com