กลับสู่หน้าหลัก

อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 08:51:09

คำว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" นี้ ผมเชื่อว่าคนไทยเกือบจะทุกคนย่อมเคยได้ยินมาทั้งสิ้น และน่าจะเคยได้ยินเป็นคำพูดให้กำลังใจอีกด้วย

ครั้งที่ผมได้ยินหนแรกนั้นก็ยังเด็กอยู่ และเข้าใจไปในความหมายว่า "เราต้องทำอะไรเอง เราต้องต่อสู้ ดิ้นรน ด้วยตัวเราเอง ไม่มีใครมาช่วยเราไปได้ตลอดหรอก" และไม่ได้คิดว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย

แต่เมื่อโตขึ้น ก็ได้ทราบว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีหลายท่านที่เคยถกเถียงกันด้วยเรื่อง อัตตา - อนัตตา ว่านี้แหละที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ "อัตตา" หรือ ทรงแสดงว่ามี "อัตตา"

เมื่อได้ทราบว่า คำสอนนี้เป็นขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผมก็มิได้สนใจอะไรต่อมิอะไรไปมากกว่านี้ แต่หลังจากที่อยู่ดูโลกนี้ในชีวิตฆราวาสมานานพอสมควรก็สังเกตเห็นว่า ชีวิตฆราวาสนี้อยู่กันอย่าง อัตคัต เบียดเสียด และหาสุขได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น วันๆหนึ่งหมดไปกับปัญหา หรือ ทุกข์ เกือบทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ก็เครียดด้วยความรับผิดชอบที่มีอยู่ มีเวลาหัวเราะได้น้อย แต่วิตกกังวลกลับมากนัก หาความรู้สึกที่เห็นว่าตัวเองมั่นคงสักน้อยหนึ่งก็แทบไม่มี แต่ที่อยู่กันได้ก็เพราะมีความหวัง ว่าพรุ่งนี้จะดีกว่านี้ พรุ่งนี้จะมั่นคงกว่านี้ กันแทบทั้งนั้น

เมื่อมีครอบครัว ก็ทำให้ได้รับรู้อีกว่า ต่อไปนี้ มิใช่ว่าเราจะต้องเป็นหลักเป็นที่พึ่งเฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่เรากลับต้องเป็นหลักให้กับครอบครัวด้วย ทั้งภริยาและลูก ก็ยิ่งทำให้คิดไปอีกว่าเราจะเป็นหลักให้กับลูกแลภริยาได้อย่างไร หากว่าเราเองยังไม่เห็นว่าตัวเราเองเป็นที่พึ่งให้กับตัวเราเองได้ บางวัน บางขณะ เราเองยังรู้สึกหวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เรื่องราวที่เข้ามากระทบใจ บ้างก็รู้สึกโกรธ บ้างก็รู้สึกท้อถอย บ้างก็รู้สึกเสียใจ หวั่นไหวไปมาดั่งไม้ที่ปักในเลน หาความมั่นคงอะไรไม่ได้เลย

ก็พิจารณาในคำว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนคือที่พึ่งแห่งตน นี้อยู่ พิจารณาอยู่ว่า อะไรที่จะทำให้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้อย่างแท้จริง

มีข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ หากช่วงใดที่เราสามารถเจริญสติได้อย่างสม่ำเสมอ จะดีขึ้นบ้าง จะเลวลงบ้าง ก็แล้วแต่ แต่หมั่นเจริญสติอยู่เนือง ในช่วงนั้นเราจะไม่รู้สึกถึงความหวั่นไหวอันเกิดจากจิตนี้เลย แต่มีความรู้สึกเบาสบายเป็นที่สุด ภาระหรือความรับผิดชอบใดๆไม่เป็นที่หนักใจเลย แต่หากเมื่อใดที่ไม่หมั่นขยันเจริญสติ แต่หลงไปในความเย้ายวนของกามคุณ(ทั้ง 5)ไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะพบว่าจิตใจกลับมีความหวั่นไหว อ่อนแอ และท้อแท้เป็นที่สุด จนบางครั้งก็อยากจะหลบหนีไปให้พ้นจากปัญหาที่มีอยู่ ไม่อยากจะแบกรับภาระใดๆไว้ รู้สึกว่าภาระและปัญหาที่มีอยู่เป็นเรื่องที่เหลือวิสัยที่จะรับผิดชอบได้

จากการพิจารณาเช่นนี้ จึงทำให้เห็นคุณของการเจริญสติเป็นอย่างยิ่งว่า การเจริญสตินี้มีคุณมิใช่เฉพาะผู้ที่มุ่งหวังจะหลุดพ้นในชาตินี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีคุณกับทุกผู้ทุกนามอย่างหาโทษใดๆมิได้เลย ผู้มีอินทรีย์ที่ยังอ่อน ก็ยังสามารถพึ่งพิงการเจริญสติ เพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตของตนเป็นไปอย่างราบรื่น และปกติสุขอยู่ได้ ผู้ปราถนาโพธิญาณก็อาศัยการเจริญสตินี้เป็นเครื่องประคับประคองให้ตนทนอยู่ในสังสารวัฏฏ์อยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อนมากนัก และยิ่งเป็นการย่นระยะทางที่ต้องเดินอีกด้วย

ผมนั่งคำนึงอย่างนี้ได้สักประมาณสัปดาห์เดียว ก็ได้ยินข่าวจากครู ว่าคุณสุรวัฒน์อาจจะพ้นจากความเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสมาแล้ว และจากรายละเอียดที่ได้ทราบอย่างคร่าวๆ ก็ทำให้ทราบว่า คุณสุรวัฒน์ไม่ได้มีวิธีที่พิศดารประการใดเลยที่ทำให้บรรลุธรรม นอกเสียจากการ เจริญสติ ตามคำสอนของครูอย่างแท้จริงเท่านั้น เมื่อผมได้รับทราบเรื่องราวของคุณสุรวัฒน์เช่นนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างใหญ่หลวงว่า การเจริญสตินี้แหละที่ชาวพุทธทั้งหลายควรจะเอาเป็น เครื่องอยู่ หรือเป็น วิหารธรรม

เมื่อวานนี้ผมจึงได้สนทนากับครูดังนี้
ตึก : เป็นปุถุชนนี้ มีสติเป็นวิหารธรรม วิเศษกว่าธรรมอื่นทั้งปวงจริงๆครับ
ครู : สติเป็นวิหารธรรมไม่ได้ครับ ต้องมีฐานของสติเป็นวิหารธรรม
ตึก : ขอขยายความเรื่อง "สติเป็นวิหารธรรมไม่ได้ครับ ต้องมีฐานของสติเป็นวิหารธรรม" ครับ
ครู : สติเป็นเครื่องมือระลึกรู้อารมณ์หรือวิหารธรรมครับ วิหารธรรมเป็นอารมณ์ประจำให้สติระลึกรู้เป็นฐานไว้ เช่นกาย เวทนา จิต เป็นต้น อันนั้นจึงเป็นวิหารธรรม เป็นฐานที่ตั้งของสติ
ตึก : จริงสิ ผมไม่เคยได้แยกแยะเรื่อง สติ - ฐานของสติ เลยครับ ครับครู เข้าใจแล้วครับ ผมนี่เข้าใจผิดไปครับ

หลังจากที่ผมนึกทบทวนอยู่ และนึกเปรียบเทียบตนเองในช่วงที่เจริญสติ กับช่วงที่มิได้เจริญสติอยู่ ก็ถึงได้รู้ว่า หากเราจะอยู่อย่างผู้ที่พึ่งตัวเองได้จริงแล้ว จำต้องอยู่อย่าง มีฐานของสติเป็นวิหารธรรม และเมื่อมีฐานของสติเป็นวิหารธรรมได้แท้จริงแล้ว ธรรมอื่นๆก็จะงอกงามได้อย่างแท้จริง เหมือนดั่งดอกไม้ที่ได้งอกงามในที่ที่อุดมสบูรณ์ด้วยแสงแดด, น้ำและปุ๋ย อย่างนั้น


โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 08:51:09

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 10:09:06
เมื่อวานนี้ นายสงบ (นิพ) เมล์มาถึงผม  ก็เลยขอนำมาให้อ่านกัน
เพราะเห็นว่าเข้ากันได้กับกระทู้นี้ครับ

    >ที่เขียนมาก็คงจะขอรบกวนในการชี้แนะ เล็กๆน้อยๆถึง
    >วิถีปฎิบัติของพี่ครับ ว่าเจริญสติยังไงบ้าง หรือดูจิตตลอดเวลาได้หรือไม่

    ผมก็เจริญสติสัมปชัญญะไปตามที่ครูสอนให้
    ไม่ได้มีอุบายอะไรมากไปกว่า ...รู้สิ่งปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง...
    ในการปฏิบัติช่วงแรกๆ ผมก็เหมือนๆกับทุกคน  คือไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
    จึงต้องไปนั่งให้ครูคอยตรวจให้ด้วยจิต  โดยทำไปตามที่เราเข้าใจ (ลองผิดลองถูก)
    เมื่อถูกครูทักว่า  อันนั้นเพ่งเอา หรือ อันนั้นส่งจิตออกนอก หรือ ฯลฯ
    ซึ่งล้วนแต่เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง  ก็จดจำไว้
    หากเผลอไปทำอย่างนั้นอีก ก็จะได้รู้ว่า ทำผิดอีกแล้ว
    แต่ถ้าทำแล้ว ครูทักว่า ต้องอย่างนั้น ให้ทำให้ได้อย่างนั้น
    ก็จดจำเอาไว้  เพื่อเปรียบเทียบว่า เราทำถูกต้องหรือไม่
    หากทำถูกต้องก็จะได้รู้ว่า  ทำถูกแล้ว
    เมื่อแยกแยะการทำที่ผิดกับที่ถูกได้บ่อยๆเข้า
    (ทำผิดก็ให้รู้ว่าทำผิด  ทำถูกก็ให้รู้ว่าทำถูก)
    การปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปได้เองครับ

    ส่วนที่ถามว่าดูจิตตลอดเวลาได้หรือไม่  ขอตอบว่า
    ดูไม่ได้ตลอดเวลาครับ  และการพยายามบังคับจิตให้ดูจิตก็ทำไม่ได้
    ผมทำได้เพียง ใช้ชีวิตไปตามปกติธรรมดา ด้วยความตั้งใจว่า จะดูจิต เท่านั้น
    ส่วนจะดูหรือเผลอก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเผลอไปจะนานแค่ไหนก็ตาม
    เมื่อหายเผลอ ก็ให้รู้ว่า เมื่อตะกี้เผลอไปแล้ว เผลอแล้วก็แล้วไปครับ
    แต่ถ้าดูจิตแล้วไม่ค่อยเห็นอะไร  ก็ใช้วิธีดูการเคลื่อนไหวแทน
    เช่นเดินก็ให้รู้ว่าเดิน ไม่ต้องเจาะจงว่าต้องรู้การกระทบของเท้า
    แค่รู้ว่าเดินก็พอแล้วครับ
    ผมทำเพียงเท่านี้เอง ส่วนจิตจะพัฒนาไปอย่างไรก็ตามรู้ไปเรื่อยๆ

    หากนิพไปที่ศาลาอีก ก็ให้รีบไปนั่งทำให้ครูดูอย่างที่ผมเล่านะครับ
    เพราะเวลาที่เราจะได้เจอครูน้อยลงทุกทีแล้ว
    หากครูไม่อยู่ ผมก็สอนแบบครูไม่ได้ครับ ทำได้เพียงภาคบรรยาย
    ภาคปฏิบัตินั้นจนปัญญา เพราะไม่รู้วาระจิตผู้อื่นเหมือนครู
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 10:09:06

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 11:24:11
ขอเพิ่มเติมความเห็น ต่อจากความเห็นที่ 1 ว่า

การจะทำตนให้พึ่งตนเองได้ ด้วยการมีฐานของสติเป็นวิหารธรรม อย่างที่คุณพัลวันกล่าวไว้
ก็ต้องรู้จักการเจริญสติให้ถูกต้อง  ซึ่งการเจริญสติให้ถูกต้อง ก็ต้องพึ่งตนเองเช่นกันครับ
ผมเลยนำข้อเขียนที่ตอบนายสงบมาให้อ่านกัน เผื่อว่าใครสนใจจะได้นำไปใช้บ้างครับ
จะเอาแต่พึ่งครูให้บอกอยู่ทุกครั้งว่า เผลอแล้วนะ เพ่งแล้วนะ ไม่ได้แล้วครับ
เพราะเวลาจะเจอครูน้อยลงทุกทีครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 11:24:11

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ tana วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 13:19:15
เหนื่อยอีกล่ะครับ  ครู
โดยคุณ tana วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 13:19:15

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 14:23:12
สาธุ 2 รอบเลยครับ _/|\_ :-)

ได้ทราบเรื่องของพี่สุรวัฒน์แล้วดีใจมากๆจริงๆครับ
ทำให้คิดได้ว่า สักวันหนึ่ง สิ่งนี้ก็คงเกิดขึ้นกับพวกเรา
ทุกคน โดยเฉพาะตัวผมเองก็เป็นได้ ขอเพียงปฏิบัติ
ไปอย่างซื่อตรงและต่อเนื่อง

รุ่นพี่ใช้เวลา 8 เดือน ผมจะใช้สัก 8 ปีก็คงไม่สาย :-)
(ถ้า 8 ปีไม่ทัน 24 ปีก็ยังดีนิ แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ขอก่อน
ตายก็เอาครับ อิอิอิ)
โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 14:23:12

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ฐิติมา วัน เสาร์ ที่ 11 พฤศจิกายน 2543 13:33:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 12 พฤศจิกายน 2543 14:25:02
เรื่องของคุณสุรวัฒน์ แม้จะเป็นความยินดีของหมู่คณะ แต่ก็ต้องระวังเหมือนกันครับ
เราไม่มีสิทธิชี้ขาดว่าใครถึงธรรมหรือไม่ เป็นปุถุชนหรือไม่
ผมเองก็บอกคุณสุรวัฒน์ว่า เอกสิทธิ์ชี้ขาดในเรื่องนี้ควรเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
แต่ที่เราทราบได้ก็คือ คุณสุรวัฒน์เจริญสติสัมปชัญญะได้ดี
จนเชื่อว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอยู่ในใจ และน่าจะไม่แปรปรวนไปหาที่พึ่งอื่นอีก

สำหรับการแนะนำการปฏิบัติที่ผมให้กับพวกเรามาตลอดนั้น
ก็ไม่ต่างกับที่ให้กับคุณสุรวัฒน์นั่นเอง
เวลานี้ จึงไม่ใช่เวลาที่จะพากันมาให้ผมอบรมจิตให้แล้ว
แต่เป็นเวลาที่จะต้องตั้งหน้าอบรมจิตตนเองให้มาก
เพราะตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน
และบุคคล ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 12 พฤศจิกายน 2543 14:25:02

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน จันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 07:59:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 08:21:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 08:36:18
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ จ้อม วัน จันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 10:39:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ กอบ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 12:31:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:05:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com