กลับสู่หน้าหลัก

เก็บเล็กผสมน้อย

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 09:41:04

ตอนที่ 1 พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จริงหรือ

วันนี้คุยกันด้วยเรื่องเบาๆ สักเรื่องหนึ่งก็แล้วกันครับ
เป็นเรื่องที่ผมเคยสงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จริงหรือ!!!
แล้ววันนี้ได้ไปอ่านความเห็นในลานธรรม
ก็พบว่ามีคนตั้งคำถามนี้เหมือนกัน

เหตุผลที่สงสัยในเรื่องนี้ก็เนื่องจากได้อ่านพระพุทธประวัติว่า
ในยามต้นของคืนตรัสรู้ พระสิทธัตถโพธิสัตว์
ทรงได้บุปเพนิวาสานุสติญาณ คือทรงระลึกชาติได้เป็นอันมาก
ในเวลานั้นเอง น่าจะทรงระลึกได้ว่า
ทรงเคยฟังธรรมแทบเบื้องบาทของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาอย่างไรบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เหตุใดจะระบุว่า ท่านตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ความจริงอาจจะเป็นเพียง พระองค์เพิ่งจะเข้าใจธรรม
ที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงประกาศไว้แล้ว เท่านั้นเอง

เรื่องนี้ผมไม่เคยพบตำราใดๆ กล่าวอธิบายไว้
แต่อ่านพบพฤติกรรมบางอย่าง เมื่อเวลาพระโพธิสัตว์ได้พบพระพุทธเจ้า
เช่นท่านสุเมธดาบสโพธิสัตว์ เมื่อเวลาที่เข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้านั้น
ท่านเกิดมหาปีติเพราะชื่นชมในพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
จนไม่อาจส่งจิตไปตามกระแสธรรมได้

ผมเห็นว่า ข้อเท็จจริงตรงนี้พอจะอธิบายได้ว่า
เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงระลึกชาติไปถึงการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ย่อมทรงระลึกถึงมหาปีติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
มากกว่าจะระลึกถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

เพราะธรรมชาติของการระลึกชาตินั้น
ผู้ระลึกย่อมระลึกถึงอารมณ์ที่เด่นที่สุดในขณะนั้น
ซึ่งก็คือความปีติอันยิ่งใหญ่ในการได้ชื่นชมพระบารมีของพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่ระลึกถึงเนื้อธรรม ซึ่งแม้ขณะได้ฟังจริง ยังจับใจความไม่ได้
แล้วจะมาตามจับใจความในภายหลังได้อย่างไรกัน

ยิ่งเป็นคนทั่วไปที่ระลึกชาติกัน ก็มักระลึกได้เฉพาะอารมณ์ที่แรงๆ
เช่นการได้เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์
การได้ชัยชนะสำคัญในสงคราม อันเป็นเรื่องดีใจสุดขีด
หรือถูกไล่ฆ่า ไล่ทำร้าย ประเภทกลัวสุดขีด
ส่วนเรื่องที่ธรรมดาๆ เช่นเคยเกิดเป็นชาวนา เช้าก็ไปทำนา
กลางวันกินข้าวคลุกน้ำพริก ตอนเย็นอาบน้ำและสุมควันให้ควาย
เรื่องแบบนี้จะไม่ค่อยระลึกถึงกัน เพราะธรรมดาเกินไป

ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงเชื่ออย่างสนิทใจว่า
แม้พระสิทธัตถโพธิสัตว์ จะทรงระลึกชาติได้ถึงการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในอดีต
แต่ในด้านธรรมแล้ว ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

ความเห็นเรื่องนี้อาจจะผิดก็ได้ครับ
ถือว่าเราคุยกันเล่นเพื่อความรื่นเริงใจในธรรมก็แล้วกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 09:41:04

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 09:47:11
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ tana วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 10:44:40
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ กอบ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 12:38:46
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 13:42:29
ตอนที่ 2 นิพพาน มีจิตหรือไม่

ชาวพุทธเรามักสนใจและถกเถียงกันอยู่เสมอว่า นิพพาน เป็นอย่างไร
เรื่องนี้ ผมไม่ค่อยได้พูดถึง เพราะเห็นว่า สิ่งที่เราน่าจะสนใจในเบื้องแรก
คือธรรมต้นทางของการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน
ถ้าตั้งต้นการปฏิบัติถุกต้อง ก็จะไปถึงปลายทางที่ถูกต้องเช่นกัน

นิพพานนั้น เป็นธรรมชาติของจริง หรือปรมัตถธรรมอันหนึ่ง
เช่นเดียวกับจิต เจตสิก และรูป ซึ่งต่างก็เป็นปรมัตถธรรมคนละอย่างกัน
ในความหมายทางตำรา
นิพพานเป็นธรรมชาติของความดับทุกข์ดับกิเลสสิ้นเชิง
นิพพานเป็นธรรมชาติที่พ้นจากรูปนามสิ้นเชิง
นิพพานเป็นธรรมชาติของความว่างอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นบรมสุข
นิพพานเป็นอนัตตา
สำหรับครูบาอาจารย์บางองค์ก็สอนว่า นิพพานเป็นอนัตตา
บางองค์สอนว่า ไม่ควรกล่าวว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา
เพราะนิพพานเป็นธรรมที่เหนือสมมุติบัญญัติ
จึงไม่ควรแขวนป้ายว่า นิพพานเป็นอะไร อย่างไร

ในพระไตรปิฎกท่านแบ่งนิพพานเป็น 2 ประเภท
คือประเภทนิพพานกิเลส แต่ขันธ์ยังอยู่
กับประเภทนิพพานขันธ์ ไม่มีขันธ์เหลืออยู่
กระทั่งจิต ก็ดับไป เหมือนไฟที่ดับไปฉะนั้น

นิพพานนั้นไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม
แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิตได้เช่นเดียวกับรูปและนาม
ซึ่งอารมณ์นิพพานจะปรากฏ
เมื่อจิตเข้าถึง มรรค ผล นิโรธสมาบัติ และนิพพาน
อย่างไรก็ตามสำนักปฏิบัติบางแห่งซึ่งเชี่ยวชาญอภิธรรมด้วย
มักระบุว่า ในขณะที่เข้าสูมรรค ผล 
และนิโรธสมาบัติ อันมีอารมณ์นิพพานนั้น ไม่มีจิต

ผมมีความเห็นว่า ในขณะที่บรรลุมรรค ผล นั้น มีจิต
(ส่วนนิโรธสมาบัตินั้น ผมขอแขวนไว้ก่อน เพราะยังเกินความรู้)
ซึ่งความเห็นนี้ก็สอดคล้องกับคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะด้วย
เพราะในคัมภีร์นั้นเองระบุถึงจิตประเภทหนึ่ง เรียกว่าโลกุตรจิต
ประกอบด้วยมรรคจิต 4 ดวง ผลจิต 4 ดวง รวม 8 ดวง
(ซึ่งหากแจกแจงอย่างละเอียด โดยนำเอารูปฌาน 5 ชั้น
เข้าไปประกอบกับมรรคจิต ผลจิตแต่ละดวง
ก็จะมีมรรคจิต 20 ดวง ผลจิต 20 ดวง รวม 40 ดวง)
เมื่อมีตำรายืนยันชัดเจนขนาดนี้
ผมจึงเห็นว่า ในขณะที่บรรลุมรรค ผล นั้น มีจิตแน่นอน
แต่จิตไปรู้อารมณ์นิพพาน ซึ่งเหนือกว่ารูปและนาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวาระแห่งการทิ้งขันธ์ของพระอรหันต์
ผมไม่เชื่อว่า จิตจะดำรงอยู่อย่างเป็นอมตะ เพราะจิตไม่เคยเป็นอมตะ
ทั้งพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า
จิตพระอรหันต์ที่นิพพานนั้น มีสภาพเหมือนไฟที่ดับไป

ไฟที่ดับไป หายไปไหน / สูญไปหรือ?
หรือไม่ได้หายไปไหน / เที่ยงอยู่หรือ?
นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดมากเลยครับ
เพราะถ้าคิดทีไร ก็อดตกลงไปสู่ความสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้

***********************************

ผมตั้งใจว่า นี่น่าจะเป็นธรรมกระทู้สุดท้ายครับ
เลยเที่ยวเก็บสิ่งที่ชาวพุทธเราชอบถาม นำมาตอบไว้
หากพวกเรายังสงสัย/ใคร่รู้ เรื่องอะไรในพระศาสนา ก็ขอให้ถามได้
ถ้าตอบได้ก็จะตอบให้
แต่ถ้าเกินความรู้ ก็จะตอบว่าไม่ทราบครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 13:42:29

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 14:00:14
ขอโอกาสนะครับ เห็นว่าครูเปิดโอกาสให้ เลยขออนุญาต ถามเรื่องที่อยู่ในขอบเขตพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่ทางตรงนัก (เพราะทางตรงครูบรรยายไว้แจ่มแจ้งแล้ว)

คือเราจะมีทางพิจารณาอย่างไรว่า เรามีของเก่า มาในทางเพื่อพ้นทุกข์ในชาติใกล้ หรือ เพื่อ บำเพ็ญบารมี ในทางพุทธภูมิ
ผมกำลังรู้สึกว่าตัวเองอยู่บนทางสองแพร่ง คือทางหนึ่ง ก็กลัวภัยในทุคติ อีกทางหนึ่งก็เสียดายอยากจะรู้ธรรมให้กว้างขวาง
เคยอ่านกระทู้เก่าของคุณพัลวัน แนะนำให้ปฏิบัติสติปัฎฐาน ไปจนถึงสังขารุเบกขาญาณแล้วจะรู้เอง

หากคำถามนี้ไม่สมควร ด้วยประการใด ครูจะไม่ตอบก็ได้ครับ และขออภัยครูและหมู่เพื่อนด้วยครับ
โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 14:00:14

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ หนึ่ง วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 14:25:02
ผมขอรบกวนถามตามพี่ listener ครับ :-) ...

เนื่องจากเห็นคุณอากล่าวถึงสมาบัติที่ด้านบนนี้ครับ
จึงอยากรบกวนเรียนถามคุณอาครับว่า ปกติแล้ว ประโยชน์
ที่สำคัญของการเข้าฌาณสมาบัตินี่คืออะไรหรือครับ
และพวกเราควรพยายามฝึกหัดไว้บ้างหรือไม่น่ะครับ _/|\_
โดยคุณ หนึ่ง วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 14:25:02

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 14:49:38
ตอนที่ 3 ทางเลือกระหว่างพุทธภูมิกับสาวกภูมิ

พวกเราหลายท่านมีจิตใจฝักใฝ่ไปในทางจะเป็นพระโพธิสัตว์บ้าง
หรือยังลังเลว่าตนกำลังเดินไปสู่พุทธภูมิ หรือสาวกภูมิ กันแน่บ้าง
(เช่นจะไปสู่พุทธภูมิก็กลัวภัยในสังสารวัฏ เบื่อหน่ายที่ต้องเดินทางไกลบ้าง
ครั้นจะดำเนินไปสู่สาวกภูมิ ก็สงสารสัตว์โลกบ้าง
เสียดายว่ามีความรู้น้อยไปบ้าง
เสียดายความอหังการ์ในอันที่จะเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง)

เป็นการยากที่เราจะทราบว่า เราบำเพ็ญบารมีมาในเส้นทางใด
และที่ว่าเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง
ในเมื่อเราไม่มีญาณที่จะระลึกรู้ได้
ก็จำเป็นต้องสังเกตจิตตนเองเอาครับ


จากประสบการณ์ของผม คนที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า
เพราะความอยากใหญ่ก็ดี เพราะปรารถนาในความรอบรู้ก็ดี
หรือด้วยเหตุอื่น นอกเหนือจากมหากรุณาของจิตต่อสรรพสัตว์ก็ดี
มักจะเดินแนวพุทธภูมิไม่ตลอดรอดฝั่ง

ความอยากใหญ่ อยากรู้ ฯลฯ มันมีรากฐานอยู่บนโลภะและตัณหา ซึ่งเป็นของร้อน
ส่วนมหากรุณามีรากฐานอยู่บนกุศลจิต ซึ่งเป็นความชุ่มเย็นที่หล่อเลี้ยงจิต
คุณภาพของจิตจึงแตกต่างกันมาก
ความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าด้วยแรงขับของอกุศลนั้น
เมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ที่เผ็ดร้อนแล้ว ก็มักจะท้อถอย
ดังนั้น ถ้าสำรวจจิตตนเองพบว่าปรารถนาพุทธภูมิด้วยแรงขับของอกุศล
ก็เลิกคิดเถอะครับ เพราะจะเสียเวลาโดยใช่เหตุ
ไม่เลิกวันนี้ ก็ต้องไปเลิกในวันหนึ่งข้างหน้าอยู่ดี

เราคงได้ยินบ่อยๆ ว่า พระโพธิสัตว์ไม่กลัวนรก
อันนั้นท่านไม่กลัวเพราะมหากรุณาครับ
ไม่ใช่ว่าไม่กลัวเพราะกิเลสหนาปัญญาหยาบ
เหมือนเมื่อหลายปีก่อน แถวๆ ปิ่นเกล้า รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้
มีตำรวจคนหนึ่งพยายามช่วยเด็กจนตัวเองถูกไฟลวกยับเยิน
และหยุดช่วย เมื่อคิดว่าช่วยเด็กออกมาหมดแล้ว
โดยไม่ทราบว่า มีเด็กติดค้างอีก 2 คน
ตำรวจนี้ให้สัมภาษณ์ด้วยความเสียใจว่า นึกว่าช่วยเด็กออกมาหมดแล้ว
ถ้าทราบ ก็จะต้องพยายามช่วยต่อไปอีก เพราะ "สงสารเด็ก"
มหากรุณาชนิดนี้แหละครับ ที่ทำให้กล้าฝ่าไฟนรกได้

ลองวัดใจตนเองดูเถิดครับว่า ปรารถนาพุทธภูมิเพราะอะไรแน่
ถ้าไม่ใช่เพราะมหากรุณาแล้วละก็ อย่าไปคิดถึงพุทธภูมิเลยครับ
จะเนิ่นช้า แล้วก็ไปไม่รอดในภายหลัง

อีกประการหนึ่ง หากยังไม่แน่ใจว่า เราเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่
ก็ไม่ควรลังเลใจที่จะเร่งปฏิบัติธรรมให้เต็มที่
เพราะถ้าเป็นพระโพธิสัตว์จริง ก็จะได้มีบารมีเต็มเปี่ยมเร็วๆ
ถ้าไม่เป็นพระโพธิสัตว์ จิตก็จะได้เข้าถึงวิมุตติหลุดพ้นเร็วๆ

เร่งปฏิบัติเข้า มีแต่ได้กับได้ครับ

**********************************
คำถามของหนึ่งจะทะยอยตอบให้นะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 14:49:38

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 15:02:21
_/|\_ กราบขอบคุณอย่างยิ่งครับ
โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 15:02:21

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 15:36:54
เรียนถามคุณอา ด้วยคำถามสนองกิเลสครับ ^-^!
(ก็คุณอาเปิดโอกาสให้ถามอะไรก็ได้นี่ครับ)
1.อย่างไรถือว่าอยู่ในโสดาปฎิมรรคครับ
2.ถ้าเป็นพระสกทาคามี ขณะยังหนุ่มอยู่ ด้วยความที่
กิเลสเบาบางลงแล้ว ยังจะมีความรักหรือภรรยาได้หรือไม่ครับ
3.ถ้าผมจำไม่ผิดคุณอาเคยบอกผมเรื่องการระลึกชาติ
โดยการกำหนดรู้ในความคุ้นเคยที่มี
ระหว่างคนสองคน ต้องทำยังไง ขณะอยู่ในฌาณหรือตามปกติครับ
(ตอนนั้นคุณอาเล่าให้ฟังไม่ทันจบก็มีคนมาถามเรื่องอื่นไปเลยลืมครับ)
ขอบคุณครับ
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 15:36:54

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ bonbak วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 17:26:47
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ bonbak วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 17:26:47
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ bonbak วัน อังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน 2543 17:27:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 07:44:41
ขอบพระคุณครับ
อืม..กระทู้สุดท้าย..อ่านแล้วใจหายเหมือนกันนะครับ
เวลาผ่านไปรวดเร็วจริงๆ

สำหรับคำถาม...นึกไม่ออกว่าจะถามเรื่องอะไรดี
กราบขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 07:44:41

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 08:04:23
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 08:43:52
"ผมตั้งใจว่า นี่น่าจะเป็นธรรมกระทู้สุดท้ายครับ
เลยเที่ยวเก็บสิ่งที่ชาวพุทธเราชอบถาม นำมาตอบไว้
หากพวกเรายังสงสัย/ใคร่รู้ เรื่องอะไรในพระศาสนา ก็ขอให้ถามได้
ถ้าตอบได้ก็จะตอบให้"


เลยฉวยโอกาสที่จะถามเลยครับ
คือระยะสัปดาห์หลังมานี่ ตั้งใจเต็มที่ว่า จะกำหนดสติให้เผลอน้อยที่สุด
เอาแบบอย่างคุณสุรวัฒน์คือ ไม่ว่าจะทำอะไร มีสติรู้ให้หมด
คะเนว่ากำหนดสติได้วันละ70%ของเวลาทั้งหมดน่ะครับ
แม้แต่ตอนนอนก็กำหนดตัวเองว่า นอนท่าใหนก็ตื่นท่านั้น
ก็ดีเหมือนกันครับ ตื่นปุ๊บ สติมาก่อน เลยมัวไม่นาน
แต่เมื่อวานพลาด เพราะเป็นหวัดอยู่แล้วไปนอนท่าเดียว เส้นคอเลยพลิกเงยหัวไม่ขึ้น
เลยเดินเหมือนคนเดินจงกรมทั้งวันเลยครับ คือก้มหน้าเดิน มองไม่เกิน3ก้าว
เพราะเงยไม่ได้คอมันเคล็ดน่ะครับ

มีอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากไล่รู้ไปเรื่อยๆตั้งแต่อารมณ์หยาบปกติ รู้แล้วทิ้งๆจนถึงจุดหนึ่ง
มันรู้ได้ละเอียดจริงๆ คือมีแต่รู้เท่านั้นผมเข้าใจว่ายังมีอารมณ์ที่ละเอียดกว่ารออยู่ แต่มันมี
ปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นครับ คือ พอรู้ไปๆแล้วมัน"รู้"สะอาดจริงๆ แต่ทรงตัวไม่อยู่น่ะครับ
จะมีวิธีใหนบ้างครับ ที่จะทรงตัวรู้นั้นให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว อารมณ์ที่ละเอียดขึ้น
ก็จะไม่มีวันได้รู้จักเลย เพราะรู้ไม่ถึง เมื่อวานนี้ใช้คำบริกรรม กำกับเข้าไปด้วย
มันก็ทรงตัว รู้ได้นานขึ้น อีกนิดนึง แล้วก็หลุดเหมือนเดิม เลยอยากจะถามครูน่ะครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 08:43:52

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 09:19:43
ตอนที่ 4 ประโยชน์และความจำเป็นของฌานสมาบัติ

การทำฌานสมาบัติมีประโยชน์หลายประการ
เช่นเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพื่อให้ได้อภิญญา
เพื่อความมีสติสัมปชัญญะ และเพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการบรรลุมรรคผล ฯลฯ

โทษของฌานสมาบัติ ก็มีหลายประการ โดยเฉพาะฌานที่เป็นมิจฉาสมาธิ
เช่นทำให้เนิ่นช้าในการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดสัญญาวิปลาสและทิฏฐิวิปลาส
และเพิ่มพูนมานะอัตตาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ฯลฯ

ผู้มีปัญญาต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากฌานสมาบัติ และระวังไม่ให้เกิดโทษ
เหมือนคนที่ใช้พลังงานปรมาณู ที่ต้องใช้ให้เป็นจึงจะไม่เกิดโทษ

สำหรับความจำเป็นของฌานสมาบัตินั้น ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า
จะมองในแง่ความจำเป็นสำหรับผู้ใด
เช่นพวกโจรผู้ร้าย ไม่จำเป็นต้องมีสมาบัติ เพราะจะยิ่งทำชั่วได้ง่ายขึ้น
แต่เข้าใจว่า หนึ่ง ต้องการถามถึงความจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
ซึ่งผมเห็นว่า มีประโยชน์ แต่ไม่ถึงขั้นจำเป็นยิ่งยวดที่ขาดเสียไม่ได้

กล่าวคือ

หากเราสามารถพักจิตในฌานสมาบัติ แทนการพักจิตด้วยกามคุณ
เช่นกินเหล้า ร้องคาราโอเกะ ดิ้น หลอกผู้หญิง หลอกผู้ชาย
ความสุขสงบในชีวิตมันประณีตกว่ากันมากครับ
อย่าง หนึ่ง ทำธุรกิจ วันหนึ่งๆ ต้องปวดหัวกับความเครียดมากมาย
ถ้าก่อนนอนสามารถพักจิตได้ ก็จะพักผ่อนได้เต็มที่
ไม่ใช่นอนหลับจมความเครียดอยู่

การพักผ่อนเช่นนี้ อาจจะคำนวณเป็นตัวเงินก็ได้
เช่นเราเคยเสียเงินเพื่อความผ่อนคลายเดือนละเท่าไร
พอพักในฌาน ก็ประหยัดเงินส่วนนี้ได้
แถมไม่ต้องรับผลข้างเคียงจากการพักผ่อนที่ไม่ดีอีก

ยิ่งเป็นนักปฏิบัติที่เป็นนักบวชนั้น
ชีวิตค่อนข้างแร้นแค้นทางวัตถุ
การพักในฌานก็มีประโยชน์ ให้เกิดความสุข
มีกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป


สำหรับประโยชน์ในด้านอภิญญานั้น
ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้ฌานจะได้อภิญญาเสมอไป
คนเราในยุคนี้ กระทั่งทำฌานได้ก็มีน้อยเต็มที
ที่จะได้อภิญญาด้วย ยิ่งน้อยหนักเข้าไปอีก
ส่วนมากที่มีอภิญญากันบ้าง จะเป็นผลจากการสะสมในอดีตเสียมากกว่าครับ
อีกอย่างหนึ่ง อภิญญาไม่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม
ไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ

ประโยชน์ของฌานสมาบัติในด้านการสร้างสติสัมปชัญญะนั้น
จำเป็นสำหรับคนที่เริ่มปฏิบัติ ด้วยวิธีเจริญปัญญาไม่ได้
หรือเจริญปัญญาจนจับผู้รู้ได้ แต่จิตไม่ตั้งมั่นพอ (แบบหนึ่ง)
ก็ต้องเสริมด้วยการทำสมาธิ

แต่บางคนทำอย่างไรก็ไม่ได้ฌาน ซึ่งก็ไม่เป็นไรครับ
หัดเริ่มจากขั้นบริกรรมภาวนา
แล้วแยก คำบริกรรม หรือ อารมณ์กรรมฐาน เช่นลมหายใจ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้
หัดเท่านี้ ไม่ต้องถึงฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไรครับ
แต่ถ้าถึงฌาน จิตก็มีกำลังมาก
แต่อย่าเสียเวลาเพื่อไปหัดเลยครับ
มันเกินจำเป็นไปหน่อยสำหรับคนเมืองที่ใช้วิธีดูจิต

สำหรับประโยชน์ของฌานสมาบัติในการเกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนั้น
เป็นสิ่งที่ไม่ต้องหัดครับ เพราะเมื่อเวลาจิตจะเกิดมรรคผลนั้น
จิตจะได้ฌานเองโดยอัตโนมัติ

ในตำราระบุว่าจิตที่เกิดมรรคผล จะประกอบด้วยฌาน 1 - 5 ซึ่งเป็นรูปฌานล้วนๆ
(อภิธรรมแยกรูปฌาน 4 ออกเป็นรูปฌาน 5)
แต่ผมเห็นว่า แม้อรูปฌานก็เกิดขึ้นได้ ในขณะที่เกิดมรรคผล
เพราะองค์ฌานของอรูปฌานก็มี 2 เหมือนรูปฌานที่ 5 คืออุเบกขากับเอกัคคตา
นอกจากนี้ อันที่จริงมรรคผลนั้นรู้อารมณ์นิพพาน ไม่ได้รู้อารมณ์รูปและนาม
องค์ฌานคืออุเบกขาและเอกัคคตา เป็นเพียงตัวสนับสนุนให้จิตมีกำลังเท่านั้น
ความสำคัญจึงอยู่ที่องค์ฌาน ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ในตำราอภิธรรมเอง
กล่าวถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานของพระอริยบุคคลในอรูปภูมิ
ถ้าหากเวลาบรรลุมรรคผล ต้องเกิดในรูปฌานเท่านั้น
ก็เท่ากับพรหมนั้นตายจากอรูปภูมิมาอยู่ในรูปภูมิเพื่อบรรลุมรรคผล
ซึ่งตำราอภิธรรมเองไม่ได้กล่าวเช่นนั้น
ดังนั้น การบรรลุมรรคผล ด้วยจิตที่มีกำลังของอรูปฌานสนับสนุน
จึงน่าจะเป็นไปได้

สรุปแล้ว ฌานสมาบัติมีประโยชน์ต่อนักปฏิบัติ
แต่ไม่ถึงขั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้ครับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 09:19:43

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 09:24:07
เรียน คุณเก๋

เวลาเด็กหัดเดินครั้งแรกน่ะ ทรงตัวไม่อยู่ แต่ก็ไม่เห็นต้องใช้วิธีการ หรืออุบาย หรือเครื่องมือใดๆมาช่วยเลย ทำไปให้ได้บ่อยๆ ก็จะทรงตัวอยู่ได้เองครับ แรกก็หกล้มหกลุกไปก่อน แต่ไม่มีเด็กคนไหนท้อใจเลิกหัดเดินไปก่อน ก็ทำให้เดินกันได้ทุกคนนี่ครับ เว้นแต่เด็กที่ไม่มีขา หรือขาพิการเป็ฯโปลิโอ
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 09:24:07

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 09:28:29
คำถามทั้งหลายผมจะทะยอยตอบให้นะครับ
ตอบจบหมดคำถามแล้ว ก็ถือว่าจบเรื่องการตั้งกระทู้กันเสียที
เพราะหลักปฏิบัติและอุบายต่างๆ ผมก็เขียนไปมากพอแล้ว
เหมือนกับเล็คเชอร์จบแล้ว ตอนท้ายชั่วโมงจึงให้ถามได้
เพื่อปิดประเด็นต่างๆ ที่พวกเรายังติดใจอยู่
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 09:28:29

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ หนึ่ง วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 10:01:58
_/|\_ กราบขอบพระคุณคุณอาครับ
โดยคุณ หนึ่ง วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 10:01:58

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 11:03:56
ตอนที่ 5 เรื่องปลีกย่อยเกี่ยวกับพระอริยบุคคล

เราเคยได้ยินว่าพระอริยบุคคลมี 8 ประเภท
คือพระโสดาปัตติมรรคบุคคล พระโสดาปัตติผลบุคคล
พระสกทาคามิมรรคบุคคล พระสกทาคามิผลบุคคล
พระอนาคามิมรรคบุคคล พระอนาคามิผลบุคคล
พระอรหัตตมรรคบุคคล และพระอรหัตตผลบุคคล

ประเด็นที่นิพสงสัยก็คือ
ผู้ใดจะเริ่มนับเนื่องเข้าในพระอริยบุคคลขั้นต้น พ้นจากความเป็นปุถุชน
จะเป็นคนที่ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาถึงระดับใดกันแน่

ขอเรียนว่า ผู้ที่กำลังพากเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระโสดาบันนั้น
ยังเป็นปุถุชน ไม่จัดว่าเป็นพระโสดาปัตติมรรคบุคคล
พระอริยมรรคบุคคลทั้ง 4 ประเภทเกิดขึ้นในช่วงขณะจิตที่เกิดอริยมรรคเท่านั้น
แล้วถัดจากนั้นเพียงวับเดียว ก็เกิดผลจิตสืบต่อทันที
สำเร็จเป็นพระอริยผลบุคคล โดยไม่มีอะไรมาคั่นกลาง
แต่ที่จำแนกประเภทพระอริยมรรคบุคคลเอาไว้
ก็เพราะไม่ใช่ทั้งปุถุชน และไม่ใช่ทั้งพระอริยผลบุคคล
จึงจัดเป็นพระอริยบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง

ผู้ที่บรรลุพระโสดาบันนั้น จิตเพียงแต่ละความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิได้
ประหารสังโยชน์เบื้องต้น 3 ประการซึ่งล้วนเป็นเรื่องของทิฏฐิได้
และละโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้ 4 ตัวเท่านั้น
พระโสดาบัน จึงมีความรัก โลภ โกรธ หลง ไม่ต่างกับปุถุชนมากนัก

ส่วนพระสกิทาคามีนั้น ราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง
ความใคร่จะเบาบางลง เรียกว่าบางเฉียบทีเดียว
แต่ความรัก ความผูกพันต่อคู่ของตนยังคงอยู่
เพราะมีวาสนาบารมีที่เกื้อกูลกันมาก่อน
ส่วนถ้ายังไม่แต่งงาน แล้วจะมีแฟนหรือแต่งงานได้ไหม
ขอเรียนว่าได้ แต่คงต้องมีแรงจูงใจทางบวกเป็นพิเศษด้วย
ไม่ใช่แรงจูงใจด้วยกามซึ่งไม่มีกำลังพอเสียแล้ว

สำหรับนิพนั้น ให้เร่งภาวนาเข้าเถอะครับ
อย่ากลัวว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว จะมีภรรยาไม่ได้

สำหรับเรื่องการระลึกชาตินั้น ถ้าไม่มีอภิญญาสนับสนุนก็ทำได้แค่ความรู้สึกๆ
ซึ่งกิเลสจะหลอกเอาเมื่อไรก็ได้ครับ
และการระลึกชาติของพระอริยบุคคลกับปุถุชนก็อาจจะต่างกันบ้าง
เท่าที่ทราบมา พระอริยบุคคลอาจจะระลึกชาติข้ามลำดับชาติได้
(ไม่ใช่ว่า พระอริยบุคคลจะระลึกชาติได้ทุกองค์นะครับ)
แต่ผมไม่แน่ใจว่า ปุถุชนจะทำแบบนี้ได้หรือไม่
เพราะเคยเห็นในตำราวิธีหัดระลึกชาตินั้น
เขาต้องระลึกย้อนไปเป็นลำดับๆ ครับ
ดังนั้น ถ้าเป็นปุถุชนแล้วเข้าใกล้ใคร เกิดรู้สึกคุ้นเคยขึ้นมา
ที่จะทำฌานแล้วเอาสติจับเข้าที่ความคุ้นเคย แล้วพิจารณาออกไปถึงอดีตนั้น
อาจจะทำไม่ได้ง่ายๆ ครับ เพราะอาจจะถูกกิเลสหลอกเอาได้มากกว่า
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 11:03:56

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 14:53:10
ขอบพระคุณคุณอามากครับ _/|\_
โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 14:53:10

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 16:00:31
ตอนที่ 6 การสร้างความต่อเนื่องของสติ

ผู้ปฏิบัติที่ฝึกหัดความรู้ตัวไปถึงจุดหนึ่ง
จนเข้าใจแล้วว่าสภาวะของความรู้ตัวจริงๆ เป็นอย่างไร
จะเกิดปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ
ทำอย่างไรจะรักษาความรู้ตัวให้ต่อเนื่องได้

บางคนพยายามจับอารมณ์อันใดอันหนึ่งให้ชัดๆ ไว้
จนกลายเป็นการเพ่งอารมณ์ไปโดยไม่รู้ตัว
เช่นจับลมหายใจเอาไว้ไม่ให้เผลอ
จนกลายเป็นการเผลอเพ่งลมหายใจ
หรือจับดูอาการของจิตอันใดอันหนึ่ง แล้วจมอยู่กับอาการนั้น
เมื่ออาการนั้นดับไปแล้ว ก็เผลอสติจดจ่อเพ่งจ้อง
อยู่ที่ "จอภาพ" อันว่างเปล่าตรงหน้า
จิตในขณะนั้นกำลังจมอยู่กับอารมณ์
แต่คิดว่ากำลังรู้ความเกิดดับของอารมณ์อยู่

ถ้ารู้ทันตรงนี้ จิตก็จะเกิดความรู้ตัวขึ้นมาอีกคราวหนึ่ง
หรือบางคนทราบว่าจิตยังหลงอยู่
ก็เกิด "ความจงใจ" ที่จะรู้ตัว แล้วไม่รู้ทันว่า จิตกำลังจงใจอยู่
ซึ่งก็คือความหลงอีกนั่นเอง

ความ รู้ ตื่น และเบิกบานของจิตนั้น
รักษาไว้ไม่ได้ด้วยการเพ่งจ้องหรือจงใจ

ดังนั้นที่เก๋ถามว่า รู้ตัวแล้ว ทำอย่างไรจะให้ รู้ นั้นต่อเนื่อง
ก็ต้องขอตอบว่า ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น
นอกจากคอยรู้ให้ทันจิตตนเองไว้เท่านั้น
เพราะการกระทำใดๆ นั่นแหละ ที่ทำให้จิตพลาดไปจากความรู้ตัว

การปฏิบัติที่ถูกหรือผิดนั้น เราไม่พูดกันหรอกว่า
วันนี้หรือเดือนนี้ปฏิบัติถูก วันนี้หรือเดือนนี้ปฏิบัติผิด
เพราะความถูกผิดของการดำเนินจิตนั้น
มันพลิกแพลงแปรเปลี่ยนอยู่ทุกขณะ
ไม่ต้องไปคิดว่าจะให้มันถูกนานๆ
เอาแค่ให้มันถูกอยู่ในขณะปัจจุบันก็พอแล้ว
ส่วนอดีตที่ผิดแล้วก็แล้วไป
และไม่ต้องไปคิด ไปพยายาม
ที่จะให้มันถูกต่อเนื่องไปถึงอนาคตด้วย


หมั่น รู้ อยู่ให้เป็นปัจจุบันเฉพาะหน้านี้แหละ ดีที่สุดแล้ว
แต่การที่จะรู้เฉพาะหน้าให้ถูกต้องเสมอๆ จะว่าไม่มีวิธีเลยก็ไม่ใช่
ธรรมเบื้องต้นที่มีประโยชน์มากก็คืออิทธิบาท 4 หรือธรรมแห่งความสำเร็จนั่นเอง
เราต้องปลูกความพอใจในอันที่จะ รู้ตัว อยู่เสมอๆ
เผลอแล้วก็แล้วไป แต่ถ้าจิตเราพอใจจะรู้ตัว พอใจจะดูจิต
สติสัมปชัญญะก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยไม่ต้องบังคับ

(ทำนองเดียวกับถ้าเรารักกาม ความคิดความสนใจในกามก็จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ)
เมื่อเกิดความรู้ตัวบ่อยๆ แล้ว ก็ต้องมีความเพียรพยายาม
มีความใส่ใจและใคร่ครวญที่จะดูจิตให้สม่ำเสมอ

เมื่อปลูกความพอใจที่จะรู้ตัว และรู้ตัวได้บ่อยๆแล้ว
งานต่อไปที่มีประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน
คือเราจะต้องหาบ้านให้จิตอยู่ หรือหาเครื่องรู้ประจำให้กับจิต

วันนี้มีหมู่เพื่อนไปหาผม 7 ท่าน
การปฏิบัติมีหลากหลายกัน ครบทุกอย่างตามที่ผมกล่าวมานี้
เช่นบางท่านจมแช่อยู่กับจอภาพในใจ แล้วคิดว่ากำลังเจริญสติอยู่
บางท่านจงใจที่จะรู้ตัว โดยมองไม่ออกว่ากำลังจงใจอยู่
แต่ในภาพรวมแล้ว แต่ละคนก็ดีขึ้นโดยทั่วกันครับ
คือจากที่เคยถูกโมหะครอบงำมากๆ ก็เบาบางลง
เคยบังคับจิตรุนแรง ก็เบาบางลง
หรือสามารถแก้ไขความเผลอสติ แต่สำคัญว่ากำลังเจริญสติอยู่ ได้

ส่วนที่เห็นแล้วเข้าตากรรมการมากก็มี
คือสามารถก้าวมาถึงจุดที่จิตมีคุณภาพ และลงมือเจริญสติปัฏฐานได้แล้ว
เพื่อนคนนี้เคยมีความทุกข์มาก มีความเครียดมาก
ทั้งที่ในทางโลกก็มีความรู้แตกฉานสุดขีดที่ทางโลกเขาสมมุติกัน
ส่วนการปฏิบัติกลับล้มลุกคลุกคลานมาร่วมปี เพราะจิตมีโมหะมาก
ผมถามว่าเอาอะไรเป็นฐานของสติก็ได้ความว่า
ใช้การเคาะนิ้วกับโต๊ะมา 2 - 3 สัปดาห์แล้ว และเคาะด้วยความรู้ตัว
(ถ้าเคาะด้วยความไม่รู้ตัว ก็ได้เพียงสมถะครับ)

ในขณะที่เคาะนิ้วไปนั้น จิตสามารถตั้งมั่นเป็นธรรมเอก
มีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏในจิต
ซึ่งส่วนมากก็เป็นเพียงความชัด ความมัว และความไหวๆ ของจิตเท่านั้น
อารมณ์ใดกระทบเข้าสู่ภูมิรู้ของจิต ก็ดับลงโดยเร็วด้วยกำลังของปัญญา

เมื่อปฏิบัติมาถึงจุดนี้ เพื่อนคนนี้ก็เข้าใจชัดด้วยตนเองว่า
การเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เป็นอย่างไร
แต่ผมก็ต้องกำชับหลายครั้งว่า ให้เคาะต่อไป
ถึงลายนิ้วมือจะลบหมดก็ให้เคาะไป
อย่าไปเปลี่ยนแปลงกรรมฐานที่ทำอยู่
ถ้าเจริญสติขนาดนี้แล้ว เอาดีไม่ได้ ก็ให้มันรู้ไป

สรุปแล้ว เมื่อรู้ตัวเป็นแล้วก็ต้องเจริญสติปัฏฐาน
ความรู้ตัวจึงจะต่อเนื่องยาวนานไปเอง
ทั้งยังจะอบรมทั้งสมาธิและปัญญาไปพร้อมกันด้วย
ส่วนการเจริญสติปัฏฐานจะเป็นอย่างไร ผมเขียนไว้มากแล้วครับ
และผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้จริงๆ นั้น
จัดว่าเป็นผู้เข้าใกล้ต่อสัจจธรรมมากแล้ว

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 16:00:31

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ กอบ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 21:19:54
สาธุครับครู
โดยคุณ กอบ วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 21:19:54

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 23:11:56
สาธุ สาธุ สาธุ

เหมือนได้อ่านเซ็นในแบบฉบับของเถรวาท อย่างไรก็อย่างนั้น
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543 23:11:56

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 07:41:48
_/\_
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 07:41:48

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 08:09:52
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 15:33:37
ตอนที่ 7 จากปฐมเทศนา ถึงปัจฉิมโอวาท

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนา
โดยทรงชี้ถึง ที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว
เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และการประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

แล้วทรงสรุปชี้ชัดลงถึงข้อปฏิบัติเรื่องแรกที่ทรงสอน
อันเป็นการประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงไว้ในโลก
คือ "ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8
คือปัญญาอันเห็นชอบ  ความดำริชอบ  เจรจาชอบ
การงานชอบ  เลี้ยงชีวิตชอบ  พยายามชอบ
ระลึกชอบ  ตั้งจิตชอบ"

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
ทรงสอนแนวทางปฏิบัติอยู่ในกรอบของปฐมเทศนานี้เอง
ตราบจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
ซึ่งทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงยัง"ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ"

ผู้ไม่ประมาท ก็คือผู้ที่ดำเนินอยู่ในทางสายกลางนี้เอง
นับเป็นคำเตือนด้วยพระมหากรุณาอย่างแท้จริง
เพราะเมื่อทรงชี้ทางไว้แล้ว ก็ยังพร่ำสอนให้สาวกพากเพียร
เดินไปตามทางอย่างไม่เนิ่นช้าเพราะความประมาท

พวกเราควรสำรวจตนเอง ว่าเข้าข่ายเป็นผู้ประมาทหรือไม่
วิธีดูที่ง่ายที่สุดก็คือ ให้หมั่นตรวจสอบว่า
เราได้พยายามเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า
หรือเราผลัดผ่อนเอาไว้ค่อยเจริญสติสัมปชัญญะทีหลัง

เพราะยังมีเรื่องอื่นสนุกสนานที่จะต้องสนใจก่อน
เพราะเห็นว่า ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังมีเวลาที่จะปฏิบัติได้อีกถมเถไป
เพราะเห็นว่า เข้าใจแนวทางแล้ว เอาไว้สบายใจแล้ว จึงค่อยปฏิบัติ
เพราะ ... ฯลฯ

พระศาสดาท่านทรงสอนทิ้งท้ายด้วยเรื่องความไม่ประมาท
ผมจึงต้องอัญเชิญเรื่องความไม่ประมาท มาเป็นธรรมทิ้งท้ายให้กับพวกเรา
เพราะไม่มีธรรมอันใด สมควรเป็นของฝากส่งท้ายมากกว่านี้อีกแล้ว

เมื่อผมไม่อยู่แล้ว วันใดที่นึกถึงผม ขอให้นึกถึง รู้
คือนึกถึงการเจริญสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด
ที่มนุษย์ผู้หนึ่งควรปฏิบัติให้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากการได้เป็นมนุษย์ในยุคที่พระศาสนายังรุ่งเรืองอยู่


***********************************************

ผมเขียนกระทู้ธรรมมาตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม 2541
เรื่องใดที่ควรบอกเล่ากับพวกเรา ก็บอกเล่าไปหมดแล้ว
บัดนี้ก็สมควรที่จะพักผ่อนเสียทีครับ
ต่อไปนี้จึงขอเป็นคนอ่าน และสังกัดแผนกสาธุการบ้าง
และเรื่องที่รออ่านเป็นพิเศษ ก็คือเรื่องประสบการณ์การปฏิบัติของคุณสุรวัฒน์
ซึ่งพวกเราหลายคนบอกมาทางผมว่า อยากจะฟังมากทีเดียว
แล้วหลังจากนี้ ถ้าวิมุตติยังอยู่
ก็คงมีโอกาสได้อ่านประสบการณ์ของเพื่อนๆ อีกหลายท่าน
ที่กำลังตามหลังคุณสุรวัฒน์มาติดๆ

อนึ่ง กรรมน่าติเตียนอันใดที่ผมกระทำล่วงเกินพวกเราไว้
ผมขออโหสิกรรมนั้น และผมให้อโหสิกรรมกับพวกเราด้วยเช่นกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 15:33:37

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 15:43:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 17:49:55
_/|\_
โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 17:49:55

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ tuli วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 18:35:36
ขอกราบขอบพระคุณครู  ผู้ชุบชีวิตผมให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  ผมยกพระคุณนี้เท่ากับบิดา มารดาครับ
  ขอยกคำพูดของหลวงปู่ดูลย์แสดงถึงความในใจครับ
      การที่เราได้มีโอกาศปฏิบัติธรรมที่ถูกหนทางเช่นนี้มีน้อยนัก  หากปล่อยโอกาศให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาศพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้  แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้
          รีบปฏิบัติให้พ้นทุกข์เสีย  มิฉะนั้นจะเสียโอกาศอันดีนี้ไป  เพราะว่าเมื่อสัจธรรมถูกลืม  ความมืดมนย่อมครอบงำสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน
โดยคุณ tuli วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 18:35:36

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ อาจ วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 21:09:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 22:16:05
เห็นจากแนวโน้มความเป็นไปของโลก
คงอีกนานแสนนานถัดจากนี้ไป
กว่าจะได้พบพระพุทธศาสนาอีก
กว่าจะได้รู้จักทาง จะได้พบผู้ที่อยู่ในทาง ผู้ที่ก้าวล่วงพ้นทางนั้นยังมีอยู่

กิเลสมีแรงดึงดูดอย่างไร โลกมีแรงดึงดูดอย่างนั้น
กราบคุณอาที่เมตตาแนะนำให้เห็นทางที่ตรงลัดเสมอมาครับ
_/|\_ กราบ กราบ กราบ
โดยคุณ พีทีคุง วัน พฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2543 22:16:05

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ tung วัน ศุกร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 00:10:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 13:48:43
_/|\_ _/|\_ _/|\_
กราบขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่งครับคุณอา
โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 13:48:43

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 16:27:39
ขอสาธุการให้กับธรรมะอันบริสุทธิ์และผ่องใสที่คุณอาได้มีให้กับพวกกระผมตลอดมา และผมขออโหสิกรรมให้กับกรรมใดๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เคยล่วงเกินคุณอาไว้ (หากมี) ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ สาธุครับ _/|\_
โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 16:27:39

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน เสาร์ ที่ 18 พฤศจิกายน 2543 09:14:09
หากที่ผ่านมา ผมได้ได้ล่วงเกินครูไม่ว่าจะด้วย กาย วา ใจ
จะด้วยเจตนา หรือไม่เจตนา ก็ตาม ผมกราบขออโหสิกรรมจากครูด้วยครับ

สำหรับเรื่องที่ครู และอีกหลายท่านรออ่านนั้น  คงต้องรอนานสักนิดครับ
เพราะช่วงนี้มีงานเยอะกว่าปกติ แต่ผมจะพยายามเขียนให้เสร็จทัน
เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ให้กับวิมุตติครับ




โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน เสาร์ ที่ 18 พฤศจิกายน 2543 09:14:09

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ filmman วัน อาทิตย์ ที่ 19 พฤศจิกายน 2543 10:13:06
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 38 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน 2543 09:04:23
ขอบพระคุณครับ _/|\_ _/|\_ _/|\_
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน 2543 09:04:23

ความเห็นที่ 39 โดยคุณ กาลามะชน วัน จันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน 2543 23:07:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 40 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:41:21
กราบขอบพระคุณพี่อีกครั้ง ในพระคุณอัน
ยิ่งใหญ่ที่ชี้ทางสว่างให้ครับ ธรรมใดที่
พี่ได้สอนไว้จะอยู่ในใจ และจะเป็นเครื่อง
ระลึกอยู่เสมอครับ _/|\_
โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:41:21

ความเห็นที่ 41 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 07:40:53
ผมได้รับทราบทัศนะของทุกท่านแล้วครับ
เป็นการดีทีเดียว ที่พวกเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง
อย่ายึดตัวบุคคลเป็นที่พึ่ง เพราะบุคคลนั้น อยู่กับเราตลอดไปไม่ได้

ส่วนพระธรรมนั้นแสดงตัวอยู่แล้วในจิตใจของเราเองทั้งวันทั้งคืน
ทั้งที่เป็นอกุศล ที่แสดงแล้วก่อทุกข์ก่อโทษให้เห็น
ทั้งกุศล ที่แสดงแล้วก่อความสุขความสงบให้
ทั้งที่เป็นกลางๆ ไม่มีคุณไม่มีโทษ
ถ้ามีสติสัมปชัญญะก็สามารถเรียนรู้ธรรมแท้เหล่านี้ได้แล้ว
ที่ผมแนะนำให้นั้น ก็คือการฝึกสติสัมปชัญญะ
เป็นการให้เครื่องมือเอาไว้ฟังธรรมแท้ในใจตนเอง
แล้วก็บอกทางว่า ให้เอาสติสัมปชัญญะเรียนรู้เข้ามาในกายในใจตนเองนี้แหละ
ขณะนี้หมดหน้าที่ของผมแล้ว
เป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องฟังธรรมของจริงกันเองแล้วครับ
ไม่มีใครจะมาทำกิจอันนี้แทนได้เลย นอกจากทำเอาเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 07:40:53

ความเห็นที่ 42 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:26:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 43 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:59:56
เครื่องมือที่พี่มอบให้เป็นเครื่องมือที่มีการมอบต่อกันมายาวนาน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องมือจากพี่เหมือนกันจริง ๆ แล้วก็คงมีเครื่องมืออยู่แล้วแต่ไม่รู้จัก (ก็คงรอให้พี่มาบอกแหละครับ) ขอบพระคุณอย่างสูงครับ แต่เครื่องมือของผมก็ยังไม่พัฒนาเท่าไร (อันนี้เกิดจากตัวผมเอง) แต่ผมก็ให้สัญญาครับว่าจะไม่ทิ้งเครื่องมือนี้แน่นอนในชาตินี้
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:59:56

ความเห็นที่ 44 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:30:55
ไม่ทิ้งเครื่องมือในชาตินี้ เดี๋ยวชาติหน้าก็ทิ้งครับ
ยิ่งถ้าเกิดมาไม่พบพระพุทธศาสนา ยิ่งลำบากมากทีเดียว
ดังนั้น เราต้องเตรียมการเพื่อไม่ให้ทิ้งเครื่องมือในชาติหน้าด้วย
โดยการฝึกสติสัมปชัญญะเอาไว้ให้ชำนิชำนาญ จนเป็นอุปนิสัยติดตัวไป
ยิ่งถ้าถึงธรรมได้เลย ก็จะปลอดภัยมากขึ้นครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:30:55

ความเห็นที่ 45 โดยคุณ นิดนึง วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 08:51:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 46 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:27:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 47 โดยคุณ thesky วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 16:01:43
กราบขอบพระคุณมากค่ะ
อนุโมทนาสาธุ     _/|\_
โดยคุณ thesky วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 16:01:43

ความเห็นที่ 48 โดยคุณ สายขิม วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 12:57:14
สาธุค่ะครู
   กราบขอบพระคุณครูที่ช่วยชี้ทางที่ถูกให้เดิน
   ไม่ว่าศิษย์คนนี้จะแย่ยังไงครูก็สั่งสอนด้วยความเมตตาเสมอมา
   ได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้มาพบครูในชาตินี้
   ขิมถือได้ว่ายิ่งใหญ่เหลือเกิน ต่อจากนี้ไปขิมก็ต้องช่วยตัวเอง
   ต้องปฏิบัติด้วยความพากเพียร
   ขิมไม่ได้หวังว่าจะต้องสำเร็จในชาตินี้ หรือชาติไหน
   แต่ก็ตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้ดีที่สุด
   วันที่ขิมจะได้ไปถึงฝั่งคงมาถึงสักวัน...
โดยคุณ สายขิม วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 12:57:14

ความเห็นที่ 49 โดยคุณ tung วัน พุธ ที่ 6 ธันวาคม 2543 01:32:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 50 โดยคุณ นุดี วัน พุธ ที่ 6 ธันวาคม 2543 12:14:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com