กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาการดำเนินสติตอนป่วย

โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 14:41:56

ช่วงที่ผมเขียนคำถามนี้ พอดีผมกำลังเป็นหวัด
ได้เจริญสติมาตามลำดับ ช่วงใหนที่สติสมบูรณ์พร้อม
ก็ทำให้ไม่ค่อยทุกข์กับสังขารเท่าใดนัก จึงได้พยายามเจริญสติ
แบบไม่ยอมให้เว้นวรรคโดยไม่จำเป็น
แต่ก็มีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้น คือในระหว่างการกำหนดสตินั้น
หากจิตใจพร้อม ก็ไม่มีปัญหาอะไร ดำเนินสติไปได้เรื่อยๆ
แต่พอหมดกำลังที่พิจารณาต่อ ทีนี้จิตไม่ยอมอยู่บ้านแล้วครับ
คือเขาคงเห็นว่าบ้านนี้มันร้อน(ไข้ขึ้น) ไม่มั่นคง(ปวดเมื่อย)
ทีนี้จิตเลยหนีเที่ยวเลย และพอได้ออกเที่ยวเท่านั้นแหละ
ยากที่จะกลับมาง่ายๆ เรียกว่า เตลิดเปิดเปิงไปเลย
กว่าที่จะพากลับมาได้ เล่นเอาร่างกายแย่ไปเลย
ในช่วงที่จิตหนีเที่ยวนั้น ผมใช้ทั้งเคาะนิ้ว กำหนดลมหายใจ
และอะไรอีกหลายอย่างเพื่อให้เกิดสติ

ก็เข้าใจครับว่าแค่เรารู้เท่านั้น มันก็มาแล้ว
แต่เป็นเพราะขณะที่เกิดปัญหานั้น โดนความมัวครอบแบบไม่รู้ตัว
จึงอยากเรียนถามครูว่า ทำอย่างไร จึงจะสามารถดำรงสติให้อยู่ได้
ในขณะที่มีความทุกข์ครอบงำอยู่น่ะครับเพราะในขณะที่โดนเวทนาครอบนั้น
มันแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเหมือนโดนมัดมือมัดเท้าหมดน่ะครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 14:41:56

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:10:29
เพื่อนท่านใดมีประสบการณ์การปฏิบัติขณะเจ็บป่วยหรือมีทุกข์มากๆ
ช่วยแนะนำคุณเก๋หน่อยนะครับ
ช่วงนี้ผมกำลังงานยุ่งๆ
เอาไว้ว่างแล้วจะเข้ามาดูกระทู้นี้อีกครั้งหนึ่งครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:10:29

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:48:24
ผมคิดว่า สำหรับประเด็นนี้ คงจะแยกออกเป็นสองส่วนครับ
ส่วนแรก เรื่องจิตชอบหนีเที่ยว อันนี้ไม่แน่ใจว่า ไม่ป่วย ก็คงจะชอบหนีเที่ยวอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว
ส่วนที่สอง คืออยากให้จิตสงบ เป็นสมาธิ น่ะครับ

เรื่องแรก ผมไม่มีอุบายอันใดที่จะไปบังคับให้จิตเขาไม่ให้หนีเที่ยวหรอกนะครับ รู้แต่ว่า เมื่อจิตอยากหนีเที่ยว ก็ให้ดูที่ความอยากนั้น เวลาจิตถูกบังคับแล้วทุรนทุราย ก็ให้ดูความทุรนทุรายของจิตนั้น

เรื่องที่สอง ผมก็ไม่มีอุบายอะไรอีกเหมือนกัน รู้แต่ว่าเมื่อจิตอยากสงบเป็นสมาธิ แล้วไม่เป็นสมาธิ ก็ดูอาการกระสับกระส่ายอยากเป็นสมาธิของจิตนั้นเองแหละครับ

ส่วนเรื่องที่สาม เป็นเรื่องของหัวข้อนี้ คือ เจริญสติตอนป่วยอย่างไร ผมก็ไม่มีอุบายอะไรอีก นอกจากดูความเจ็บป่วยของกายนี้ไปเท่านั้น เมื่อปวด ก็ดูความเจ็บปวด เมื่อรู้สึกทรมานเพราะความเจ็บปวด ก็ดูความทรมานด้วยความเจ็บปวด เมื่อรู้สึกรำคาญ ก็ดูความรำคาญอันนั้น

ส่วนดูแล้วมันหนีเที่ยว ก็ตามไปดูต่อว่าหนีเที่ยวอะไร อย่างไร แค่นั้น ไม่เคยดึงกลับมาเลย ไม่เคยห้ามกลับมาเลย พอเตลิดเปิดเปิงไปสักพัก เดี๋ยวเวทนาที่เจ็บปวด มันก็ดึงกลับมาหากายอีก ดูตามนี้ไปเรื่อยๆ สักพักก็จะเห็นว่า อันความเจ็บปวดของกายนั้น กองอยู่ตรงหน้า กองอยู่ตรงนั้น ผู้รู้ไม่ได้เจ็บปวดไปด้วย พอแว่บหนึ่งก็เผลอไปกอดเอาความเจ็บปวดมาเป็นของตน เป็นทุกข์อยู่ ก็ดูความทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บปวด ก็ดูความอยากหาย อยากสบายที่ผุดขึ้นมา มีแค่นั้น

ผมไม่มีอุบายอะไรเลยจริงๆครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:48:24

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:51:40
"ทำอย่างไร จึงจะสามารถดำรงสติให้อยู่ได้ ในขณะที่มีความทุกข์ครอบงำอยู่น่ะครับเพราะในขณะที่โดนเวทนาครอบนั้น มันแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเหมือนโดนมัดมือมัดเท้าหมดน่ะครับ"

เป็นเพราะความอยากสบาย ความอยากหาย หรือเปล่าครับ?
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 15:51:40

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 16:12:11
ขอร่วมแชร์ปัญหา มากกว่าแนะนำนะครับ
เมื่อวาน ผม กำลัง เจอปัญหาคล้ายกันครับ เป็นปวดหัวข้างขวา จนจะอาเจียน ขณะขับรถ
จึงลองใช้วิธี แยกแยะ
อาการ แรงกด ที่ขมับ และความร้อน เป็น กายสัมผัส
ความรู้สึก เจ็บปวดเพราะแรงกด เป็น เวทนา ทางกาย
แต่พอสักพัก รู้สึกกระสับกระส่าย รู้สึก ว่า เรา (กู) เจ็บ ทนไม่ไหวแล้ว อันนี้เข้าใจว่า เป็นสังขารกับ เวทนาทางใจปนกัน
ลองพยายามแยก ผู้รู้ ผู้ดู ออก จากกอาการทั้งสาม ก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้างผลุบๆ โผล่ๆ  ขณะใดที่ถอยออกได้ ความบีบคั้นก็น้อยลง

ผมรู้สึกว่า มีข้อดีเหมือนกัน คือ อย่างน้อยเวทนาทางกาย ปรากฎชัด พอ เป็นอารมณ์ภาวนาได้ ส่วนจะเป็นสมถะ หรือ วิปัสสนา , มิฉฉา หรือ สัมมา นั้น ขึ้นกับ รู้ตัวดีแค่ไหน
โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 16:12:11

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ Lee วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 21:52:49
จากประสพการณ์ของผม ที่เคยพยายามดูเรื่องนี้

ขั้นที่หนึ่ง คงเป็นการตั้งสติให้มั่นๆก่อน  อาจเป็นการใช้สมถะช่วยก็ได้ เอาอานาปานสติ จะดีเพราะ อานาปานสติจะสามารถลดเวทนาได้ดี 

ขั้นที่สอง  น้อมสติที่ตั้งมั่นดีแล้ว ไปศึกษาเวทนาที่เกิดขึ้น ทั้ง ลักษณะ ของเวทนา การเปลี่ยนแปลงที่มี ศึกษาไป ศึกษามา เวทนาจะแยกจากจิตได้  เราจะรู้ได้ว่า เวทนาไม่ใช่จิต  เวทนามี แต่จิตไม่ทุกข์ 

ทีนี้ เวทนาจะมายังไง  สบายครับ  เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต  ทางใครทางมัน
โดยคุณ Lee วัน อังคาร ที่ 21 พฤศจิกายน 2543 21:52:49

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:14:36
อย่างที่พี่ๆหลายๆคนว่า
เวลาที่เวทนาทางกายหนักๆ
แม้จะแยกออกมาเป็นผู้ดู ผู้รู้อารมณ์เฉยๆแล้วก็ตาม
แต่จิตที่ขาดกำลังลงมักไหลไปจมกับเวทนานั้นได้ง่ายทีเดียว

เวลาผมดู มีความรู้ตัวได้ ก็จะหันมาแยกกายแยกจิต เห็นจิตออกมาต่างหาก
ช่วงไหนมีกำลังดี ก็จะเห็นความสบาย ความเฉยอยู่
ที่จิตไม่ไปจมเวทนาทางกายอันหนักนั้น
แต่ส่วนบางคราวที่จิตขาดกำลังลงเมื่อไร ก็ดูอาการจมนั้นแทน
ที่เดี๋ยวบางทีก็ผลุ๊บๆ บางทีก็โผล่ๆ เหมือนคนหายใจขึ้นมาเหนือน้ำที
สองสามจังหวะแล้วก็ลงไปจมบุ๋มๆๆ อยู่อีกนาน
คล้ายๆกับตอนที่มีโมหะเยอะๆ จิตมักขาดกำลังลงได้ง่าย
แต่นี่จิตขาดกำลังเพราะเวทนากายมาเพิ่มให้บีบรัดขึ้นอีกบ้าง

เมื่อสังเกตเห็นแบบเรียนที่เป็นเวทนา(ด้านบีบรัด)ทางกายนี้แล้ว
ก็เลยทำให้เป็นสิ่งเตือนตนในยามปกติและยามที่ตั้งมั่นเป็นปกติแยกมารู้กายแล้วว่า
จิตนั้นก็ยังมีการกำ ยังมีการยึด บางคราวยังอาลัยขันธ์ คือ กายอยู่ 1
จิตนั้นยังไม่มีความชำนาญในความสงบ หรือสมถะ อยู่ 1

เมื่อทราบดังนี้ เวลาสังเกตตนตามปกติที่ไม่มีเวทนาทางกายมีบีบรัด
ก็ช่วยให้เท่าทันในส่วนที่เราใช้กำลังความสงบเกินความจำเป็นด้วย
สิ่งที่เกินความจำเป็นนี้ เกิดจากน้ำหนักความตั้งใจให้ตั้งมั่น
ซึ่งไปได้ไม่นาน แม้จิตที่เคยสงบอยู่ก็หมดกำลังลงได้ง่ายๆทีเดียว
ก็เมื่อเท่าทันและชำนาญขึ้นมาอีกหน่อย
ก็พบเองว่า บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องใช้กำลังขนาดนั้น
เมื่อคราวหลังๆ บางคราวก็เลยช่วยให้ลด "อาการประคอง" รู้ อย่างไม่ต้องไปใช้กำลังได้มากขึ้น
จิตก็แยกง่ายขึ้นบ้าง ไม่ไหลไปจมกับเวทนาทางกายง่ายๆเหมือนแต่ก่อน
จิตไม่ขาดกำลัง อันเป็นสิ่งเสริมการดำรง "สติ" อยู่ต่อไป
โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:14:36

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:38:49
ปัญหาของเก๋มีหลายเรื่องซ้อนกันครับ
คือเรื่องจิตหนีเที่ยวอย่างหนึ่ง
เรื่องความมัวคือโมหะครอบงำอย่างหนึ่ง
และเรื่องถูกเวทนาครอบงำอีกอย่างหนึ่ง
ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ในเวลาที่เจ็บป่วย

ในฐานะที่เก๋เป็นพ่อลูกอ่อน แถมลูกดกกว่าเพื่อน
ถ้าพูดธรรมะเกี่ยวกับเด็กคงเข้าใจง่าย
จิตก็เหมือนเด็กซนๆ นั่นเอง เวลาที่ผู้ใหญ่(มีสติ)คอยดูอยู่ ก็ไม่หนีไปไหน
ถ้าผู้ใหญ่มีงานยุ่ง หรือเจ็บไข้ได้ป่วย เด็กมันก็หนีเที่ยวเป็นธรรมดา
บางทีเด็กก็ไปเล่นคลุกฝุ่นมอมแมม
เล่นไปเล่นมา บางทีก็เจ็บตัวกลับมาบ้าน

จิตที่มันชอบหนีเที่ยวนั้น
ถ้าวันหนึ่งมันรู้ว่าไปแล้วจะเป็นทุกข์ มันก็ไม่ไปเอง
แต่วันนี้ปัญญาของจิตยังไม่พอที่จะเห็นทุกข์
จิตก็ยังพอใจที่จะไปเที่ยวอยู่

การจะจัดการกับจิตนั้น ก็เหมือนจัดการกับเด็ก
คือจะหักหาญกับเขาด้วยกำลังไม่ได้
ต้องรู้จักขู่ ต้องรู้จักปลอบ ต้องรู้จักชม ต้องรู้จักให้รางวัล
ตรงนี้มีอุบายสารพัดที่จะจัดการได้

ในขณะที่เจ็บป่วย โมหะครอบงำ เวทนาครอบงำ
ถ้าสู้ได้ด้วยวิปัสสนา ก็ต้องสู้ด้วยวิปัสสนาอย่างที่พรรคพวกแนะนำไว้แล้ว
ถ้าสู้ด้วยวิปัสสนาไม่ไหว ก็ต้องทำสมถะ
ถ้าทำสมถะก็ไม่ไหว ก็ต้องพักผ่อนให้สบาย หาอารมณ์ที่ชอบใจมาล่อ
อย่างผมเวลาปฏิบัติจนเหนื่อย หรือก่อนจะนอน
บางทีก็หาหนังสือเบาๆ มาอ่าน
ให้จิตใจผ่อนคลายเสียก่อน แล้วค่อยเจริญสมถะวิปัสสนาใหม่
จะทำได้ง่ายกว่าการดันทุรังทำครับ

ถ้าทั้ง 3 วิธียังไม่ได้ผล ก็ทานยา แล้วนอนให้หลับเสีย
ตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบฝึกสติสัมปชัญญะต่อไปใหม่
ไม่เห็นจะยากอะไรเลยครับ
(ถ้าไม่ถูกความ "อยากดี" มาครอบงำจิต)
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:38:49

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:57:07
เห็นพวกเราหลายคนพูดเรื่องจิตผลุบๆ โผล่ๆ เข้าไปติดอารมณ์
แล้วรู้สึกว่าการปฏิบัตินี้น่าสนุกจริงๆ ครับ
คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติ เขาคงสงสัยว่า พวกนี้เป็นอะไรกัน พูดอะไรกัน

ผมเองเมื่อแรกปฏิบัตินั้น ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิต
ระหว่างขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ก็พยายามพิจารณาขันธ์ 5 เพื่อหาจิต
โดยหัดแยกอารมณ์ที่ถูกรู้เรื่อยๆ ไป
จนถึงกรุงเทพก็แยกเอาจิตออกจากอารมณ์ได้เป็นคราวแรก
ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่จิตมันแยกแป๊บเดียว ก็ถูกอารมณ์ห่อหุ้มเข้ามาอีก
พยายามพิจารณา พยายามแยก พยายามดึง พยายามทำลายสิ่งห่อหุ้ม
ราวสักสัปดาห์หนึ่งก็แยกได้อีก และนานขึ้นหน่อย
ต่อมาก็แยกได้บ่อยขึ้น จนถึงกับตั้งใจไว้ว่า วันไหนแยกไม่ได้จะไม่นอน
หรือตอนตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน
ก็ตั้งใจว่า ต้องแยกก่อนจึงจะนอนต่อ

หัดมากเข้าๆ จนเกิดจิตรวมใหญ่คราวหนึ่งแล้ว
คราวนี้พอเห็นการห่อหุ้ม ไม่นานจิตก็แยกออกได้ไม่ยาก
โอกาสที่จิตจะถูกห่อหุ้มอย่างเก่ามีไม่มากนัก
ถัดจากนั้นชำนาญขึ้น จิตก็ไม่ถูกเข้าห่อหุ้มอีก
มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานเป็นปกติ
ถัดมาอีกจิตมีปกติลอยตัวขึ้นเหนือสิ่งห่อหุ้ม
มาถึงขณะนี้ พบอีกว่าจิตที่ลอยตัวแล้วนั้น
มีการทำงานก่อภพก่อชาติอยู่ภายใน
คือกิเลสหมุนตัวทำงานก่อภพก่อชาติไป
ปัญญาก็ทำงานถอดถอนกันเรื่อยไป

พวกเราปฏิบัติกันไปเถอะครับ
วันนี้ยังถูกห่อหุ้ม ยังผลุบๆ โผล่ๆ ก็ปฏิบัติไป
อีกหน่อยก็ไม่ต้องผลุบโผล่
ถัดจากนั้นจะลอยตัวพ้นจากความปรุงแต่งหยาบๆ เหล่านี้
แล้วมีความสุขมากเชียวครับถ้าพอใจจะลอยตัวอยู่อย่างนั้น
ถ้าจะเดินต่อ ก็ย้อนมาศึกษาจิตที่ลอยตัวเพื่อทำลายเชื้อเกิดกันต่อไป

จะหาอะไรสนุกและน่าสนใจเท่ากับปฏิบัติ ไม่มีหรอกครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 08:57:07

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:13:40
พอจะเทียบให้พวกเราฟังง่ายๆ อีกหน่อยก็ได้ครับ
อันนี้เราพูดกันภายในหมู่คนกันเอง

จิตที่ถูกห่อหุ้ม จมแช่อยู่ในก้อนทุกข์นั้น ยังเป็นจิตที่เกิดในอบายภูมิ
จิตที่พ้นออกจากการจมแช่นั้น ก็คือจิตที่เกิดในสุคติภูมิระดับมนุษย์และเทวดา
จิตที่ลอยตัวขึ้นนั้น ก็คือจิตที่เกิดในพรหมโลก
ในขั้นแรกที่ปฏิบัตินั้น จิตยังผลุบโผล่อยู่ระหว่างอบายและมนุษย์/เทวดา
พอทำมากเข้า จิตก็ไม่ไปอบาย แต่มาอยู่ในภูมิมนุษย์/เทวดา
ทำมากเข้าอีก จิตก็ผลุบโผล่อีก
แต่เป็นการผลุบโผล่ระหว่างภูมิมนุษย์/เทวดากับพรหมโลก
ทำมากเข้าอีก ก็จะอยู่ในภูมิของพรหมโลก
ไม่กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์และเทวดา

การพัฒนาจิตไปตามลำดับนี้
จะพัฒนาไปด้วยการทำทาน รักษาศีล และทำสมถะก็ได้
แต่ทำแล้วยังเวียนลงได้อีก
แต่ถ้าจิตพัฒนาไปด้วยวิปัสสนา
ก็มีแต่จะเขยิบขึ้นไปตามลำดับ ไม่มีลงครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:13:40

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:28:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:32:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:36:31
_/|\_ สาธุครับอา
โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 09:36:31

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 12:24:13
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 13:57:09
"จนถึงกรุงเทพก็แยกเอาจิตออกจากอารมณ์ได้เป็นคราวแรก
ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่จิตมันแยกแป๊บเดียว ก็ถูกอารมณ์ห่อหุ้มเข้ามาอีก"


ประสบการณ์ตรงนี้ของพี่ผมขอรบกวนถามหน่อยนะครับว่าตอนที่จิตกับอารมณ์แยกออกจากกันนั้น
พี่รู้ได้โดยการสังเกตจากอะไรครับ เพราะตามความเข้าใจของผมอารมณ์นั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อมีผัสสะ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ผมจึงเกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่าในขณะนั้นพี่มีผัสสะอะไรครับ

เพราะผมสังเกตว่าในชีวิตปัจจุบันหากไม่มีผัสสะที่รุนแรงหน่อย ๆ มันก็มีแต่ความรู้สึกเฉย ๆ
อารมณ์ก็คือความเฉย ๆ ถ้าอารมณ์เป็นความเฉย ๆ ผมก็นึกไม่ออกว่าในขณะที่จิตแยกออกจากอารมณ์นั้น
เราจะสามารถมองเห็นการที่จิตแยกออกจากอารมณ์ได้อย่างไรครับ

ตอนนี้สติของผมยังไม่แข็งแรงพอ แต่ความอยากรู้แข็งแรงมาก เลยขอรบกวนพี่ด้วยครับ
ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 13:57:09

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 15:26:45
ที่คุณคิดเอาเองกล่าวว่า
"เพราะผมสังเกตว่าในชีวิตปัจจุบันหากไม่มีผัสสะที่รุนแรงหน่อย ๆ
มันก็มีแต่ความรู้สึกเฉย ๆ อารมณ์ก็คือความเฉย ๆ ถ้าอารมณ์เป็นความเฉย ๆ
ผมก็นึกไม่ออกว่าในขณะที่จิตแยกออกจากอารมณ์นั้น
เราจะสามารถมองเห็นการที่จิตแยกออกจากอารมณ์ได้อย่างไรครับ"

ตรงเฉยนี่แหละครับที่จิตคุณคิดเอาเองจมแช่อยู่โดยมองไม่ออก
เพราะถ้ามองออกก็จะไม่จมแช่อยู่ แต่จะผลุบๆ โผล่ๆ จนกว่าจะหลุดออกได้
เหตุที่จิตไปจมแช่ความเฉยๆ นั้น เพราะจริตนิสัยเป็นคนเงียบๆ ง่ายๆ
ถ้าโลดโผนวุ่นวายอย่างคนอื่น ก็จะเห็นจิตจมแช่อยู่กับสิ่งที่หยาบกว่านั้นครับ
บางคนติดเป็นก้อนแน่น เหนียว หยุ่น หนา อยู่กลางอกทีเดียว
เมื่อติดของละเอียด ก็รู้ยากสักหน่อยครับ
ถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องหมั่นเจริญสติสัมปชัญญะ หมั่นสังเกตเรื่อยไป
จนจิตเข้าใจแจ่มแจ้งไปเองครับ

การที่จิตไปติดอะไรแล้วรู้ไม่ทันนี้แหละ ทำให้ติดไม่เลิก
เมื่อใดสติปัญญารู้ทันสิ่งนั้น ก็หลุดจากสิ่งนั้น
ไปติดสิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกครับ
ในกระทู้ที่ 171 เรื่องสติปัญญาเป็นเครื่องถอดถอนจิตออกจากกองทุกข์
ก็คือเรื่องนี้เองครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543 15:26:45

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 08:54:58
_/\_
ขอบพระคุณครับ
ถูกใจกับคำตอบของครูที่ว่า
" ถ้าทั้ง 3 วิธียังไม่ได้ผล ก็ทานยา แล้วนอนให้หลับเสีย
ตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบฝึกสติสัมปชัญญะต่อไปใหม่ "


แต่บังเอิญว่าหลังจากที่ตั้งกระทู้นี้แล้วเกิดกำลังใจอย่างประหลาดขึ้นมา
แบบแรงฮึดสู้น่ะครับ ตัดพลั๊วะ แล้วก็ประกาศกับตัวเองเท่านั้นว่า
ลำบากนักก็ไปนอน(ซิวะ) แล้วจะมาบ่นทำอะไร หลังจากนั้นก็พรั่งพรูกันออกมาเลย
ว่าลืมเรื่องพละ5, อินทรีย์6 ไปแล้วหรือ ก็ตัวเรามันไม่พร้อม
สู้ไปก็แค่สนองกิเลสความอยากเท่านั้น ตัณหาเกิดขึ้นแล้วยังไม่รู้ตัว
สรุปว่าจมปลักกับความโง่นี้ไปประมาณ 6-7 ชั่วโมง หลังจากที่หลุดออกมาได้แล้ว
จึงได้คอยสังเกตุโดยเชื่อว่ามันต้องมาอีกแน่ๆ ก็คอยรู้เอาไว้ สักพักรู้สึกง่วงนอน
ก็ลงไปนอน(ไม่ฝืนแล้ว : ) ) ช่วงที่นอนก็กำหนดรู้ ไปเรื่อยๆก็ปรากฏว่านอนไม่หลับอีก
แต่เคลิ้มลงอาการทางร่างกายก็ดีขึ้น สักพักมีคนมาเรียกเพื่อถามงาน เห็นชัดเลยว่า
มันมาแล้วขุ่น-มัวอย่างรุนแรง พอกำหนดรู้มันก็ค่อยๆจางไป ก็เลยไม่ขุ่นอีก

ที่เล่ามานี้ อย่าได้ถือว่าผมนอกครูเลยนะครับ เพราะโพสท์แล้ว รอไม่ไหว
ก็ต้องสู้ไปพลางๆ เพราะมันทุกข์จริงๆ

ขอบพระคุณครูมากๆครับที่ได้ให้คำตอบ คงได้ใช้วิธีการต่างๆที่ครูสอน
(คงเลือกการนอน : ) ) เพราะผมเชื่อว่า ผมไม่ได้ป่วยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
เพราะป่วยครั้งนี้ ยังไม่ตายน่ะครับ

ขอบคุณเพื่อนๆที่ได้ช่วยให้คำตอบ ผมคงจะได้ใช้ต่อไปในเวลาข้างหน้าครับ
ขอบคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 08:54:58

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 13:29:31
ถ้าสู้ได้ก็ต้องสู้ไปตามลำดับขั้นนะครับ
ไม่ใช่จู่ๆ ก็ไปเลือกขั้นที่ 4 คือนอนหลับทันที
เหมือนอย่างการแก้ง่วง 8 วิธี
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโมคคัลลานะนั้น
ผู้ปฏิบัติจะเอาแต่วิธีที่ 8 คือสีหไสยาสน์ อย่างเดียว ก็ไม่ไหวหรอกครับ
เพราะกิเลสจะเอาไปกินหมด

อ้อ.. อินทรีย์มี 5 นะครับ ของคุณเก๋มีอินทรีย์เกินมาตัวหนึ่ง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 13:29:31

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปิ่น วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 15:58:03
รบกวนเรียนถามพี่ปราโมทย์ครับ อย่างในกรณี
ของคุณคิดเอาเองนั้นที่ว่าถ้าไม่มีผัสสะแรงๆ
มากระทบจิตก็เฉยๆไม่รู้อะไร
    อย่างนี้ถ้าขณะนั้นเราเปลี่ยนความรู้สึกเฉยๆนั้น
มารู้ลมแทน แล้วแยกรู้กับลม จะเป็นทางออกที่ดี
ไหมครับ?
โดยคุณ ปิ่น วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 15:58:03

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 07:52:31
จิตที่เฉยๆ เงียบๆ เป็นจิตชนิดที่ดูยากที่สุดครับ
การจะแก้ไข อาจจะกำหนดลมจนจิตสงบ
เกิดปีติและความสุขแล้ว ค่อยรู้ปีติสุขก็ได้
หรือจะกำหนดลม แยกว่าลมเป็นของถูกรู้ ก็ได้
จะใช้ความคิดพิจารณาธรรมที่ถูกใจ เพื่อให้จิตแสดงอาการออกมาก็ได้
หรือจะใช้กรรมฐานอื่นๆ เช่นการรู้อิริยาบถก็ได้
สรุปแล้วต้องหางานให้จิตทำ
อย่าให้จิตไปจมแช่ความนิ่งเฉยอยู่นานๆ ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 07:52:31

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:55:00
ขอบคุณคุณปิ่นครับที่ถามคำถามพี่เค้า
ทำให้ผมได้ทราบวิธีปฏิบัติด้วย
ผมมัวแต่อยากรู้ว่าในขณะที่จิตของพี่เค้า
แยกออกจากอารมณ์นั้น ในขณะนั้นพี่เค้ามี
ผัสสะอะไร แต่ลืมถามสิ่งที่สำคัญกว่า

ขอบคุณครับสำหรับคำถามและขอบคุณ
พี่ปราโมทย์ครับสำหรับคำตอบ

แต่พี่ครับผมก็ยังอยากรู้อยู่นะครับว่าในขณะ
นั้นพี่มีผัสสะอะไร พี่ยังไม่ได้ตอบเลย
(เอ เซ้าซี้เกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้)
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:55:00

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 09:36:02
ผมก็มีตาเห็นรูป มีหูได้ยินเสียง มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นรู้รส
มีกายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง มีจิตคิดนึก
ไม่ได้มีผัสสะอะไรแปลกแตกต่างจากคนอื่นๆ เลยครับ
แต่ความแปลกมันไปต่างกันที่คุณภาพของจิตที่รู้อารมณ์ต่างหากเล่าครับ
คือบางคน จิตรู้อารมณ์แล้ว จิตประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ
บางคน จิตรู้อารมณ์แล้ว จิตซึมอยู่เฉยๆ เป็นอกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ
บางคนจิตเป็นกุศลจิต มีสติรู้อารมณ์ก็จริงแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
แต่บางคน จิตมีปัญญาประกอบจิตซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
เป็นจิตรู้ สงบ เบิกบาน และฉลาดแจ่มใส

การปฏิบัตินั้น เราพัฒนาจิตกันครับ ไม่ใช่พัฒนาอารมณ์หรือผัสสะ
ถึงเป็นพระอรหันต์ ก็พบอารมณ์ พบผัสสะอย่างเดียวกับคุณคิดเอาเองนั่นเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 09:36:02

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 20:10:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 07:54:30
_/\_
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 07:54:30

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ นิดนึง วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 09:18:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 10:27:21
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 11:07:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 14:16:28
รบกวนถามพี่ปราโมทย์ต่ออีกนิดครับ
หลังจากแยกรู้ คือรู้ลมเข้าออก และจิต
เป็นผู้รู้แล้ว  หลังจากนั้นให้คงความรู้นั้น
ไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะดำเนินไปเอง  หรือต้องทำอย่างไร
ในขั้นต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ _/|\_
โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 14:16:28

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 14:56:46
เมื่อแยกลมหายใจอันเป็นรูป ออกจากนามคือจิตผู้รู้แล้ว
ก็ให้ทำจิตใจให้สบาย รู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ โดยไม่เผลอและไม่เพ่ง
ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ถ้ามีสิ่งใดแปลกปลอมเข้ามาในจิต
เช่นขี้เกียจรู้ลมหายใจ หรือสงสัยว่าจะต้องรู้ลมหายใจไปถึงไหน
ก็ให้รู้ทันสิ่งแปลกปลอมนั้น จนมันดับไป
แล้วก็มีรู้ความเกิดดับของลมหายใจต่อไปด้วยจิตที่สบายๆ เป็นกลางๆ ต่อไปอีก

ทำมากเข้า บางคราวจิตก็พักสงบ รู้ อยู่เฉยๆ บ้าง
บางคราวจิตจะเกิดปัญญา พิจารณาธรรมไปเองบ้าง
เช่นเห็นลมเข้าออกไปช่วงหนึ่ง จิตก็เฉลียวใจว่า
ชีวิตมันก็แค่นี้เอง ลมเข้าแล้วไม่ออกก็ตาย ลมออกแล้วไม่เข้าก็ตาย
หรือเห็นว่าชีวิตเป็นของเปราะบาง กว่าจะเกิดมาแล้วตัวโตเท่านี้ใช้เวลาตั้งนาน
แต่พอหยุดหายใจไม่กี่ชั่วโมงก็ตัวแข็งและเน่าเสียแล้ว ฯลฯ
ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ รู้แล้ววางเสีย คือรู้แล้วก็ไม่ต้องไปคิดต่อ
ให้กลับมารู้ลมหายใจด้วยความมีสติสัมปชัญญะต่อไป

ปฏิบัติธรรมอย่าเอาหลายอย่างครับ จะรู้ลมหายใจ ก็ให้รู้เรื่อยไป
ไม่ใช่วันนี้รู้ลมหายใจ พรุ่งนี้ไปรู้เวทนา มะรืนไปรู้การไหวกาย
เอาให้รู้กรรมฐานอันเดียวคือลมหายใจยืนพื้นไว้
แต่หากจิตเขาจะไปรู้สิ่งอื่นเป็นครั้งคราวก็แล้วแต่เขา
เพียงแต่เราอย่าจงใจพาเขาสัญจรไปทำกรรมฐานอย่างนั้นที อย่างนี้ที
เมื่อเขาไปรู้สิ่งใดแล้วก็แล้วกันไป
สุดท้ายก็กลับมารู้ลมหายใจต่อไปอีก
เพราะเราจะใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรมของเรา

เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะด้วยจิตที่เป็นกลางมากเข้าๆ
วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้จงใจ
ตรงจุดนี้ก็สำคัญครับ บางคนปฏิบัติไปแล้ว จู่ๆ ก็สรุปเอาว่า
เวลานี้เราน่าจะรู้ธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว เพราะปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว
และก็ได้ฟังธรรมจนเข้าใจแล้วว่า ขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์

จิตที่เกิดมรรคเกิดผลนั้น มันมีสภาวะของมันอยู่ครับ
คือจิตจะตัดกระแสการเจริญปัญญาเข้าสู่ภวังค์
แล้วจึงเกิดอริยมรรคซึ่งเป็นปัญญาญาณอันประกอบด้วยฌานขั้นหนึ่งอันใด
เป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างปุถุชนกับพระอริยบุคคลที่ชัดเจน

เราต้องระวังอย่าให้เป็น พระอริยะน้อม พระอริยะนึก ขึ้นได้นะครับ
เพราะถ้าไม่ได้เป็นแล้วคิดว่าเป็น
ถ้าไม่มีใครแก้ให้ บางทีก็สำคัญผิดอยู่จนตลอดชีวิตก็มี
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 14:56:46

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 15:02:47
ขอโทษครับ มีคำผิดครับ

"เช่นขี้เกียจรู้ลมหายใจ หรือสงสัยว่าจะต้องรู้ลมหายใจไปถึงไหน
ก็ให้รู้ทันสิ่งแปลกปลอมนั้น จนมันดับไป
แล้วก็มารู้ความเกิดดับของลมหายใจ
ด้วยจิตที่สบายๆ เป็นกลางๆ ต่อไปอีก"
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 15:02:47

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 15:47:08
มิน่าบางทีก็มึน ๆ เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะเอายังไงแน่ เพราะผมใช้หลายวิธีนั่นเอง

บางทีก็รู้การเคลื่อนไหวของกาย
บางทีก็รู้ลมหายใจ(เวลานั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย)
บางทีก็รู้เวทนา(เมื่อมีผัสสะที่ค่อนข้างแรงหน่อย ๆ)

แล้วแต่ว่าในขณะนั้นสิ่งไหนจะเด่นกว่ากัน
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า วิธีไหนเหมาะกับตัวผมเอง

พี่ปราโมทย์มีข้อแนะนำไหมครับ หรือว่าก็ทำไปตามเดิมครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 15:47:08

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 17:02:14
กราบขอบพระคุณพี่ปราโมทย์มากครับ _/|\_
จะพยายามต่อไปให้ดียิ่งขึ้นครับ

เรียนคุณคิดเอาเองครับ  จำได้ว่าเคยถามพี่ปราโมทย์
เหมือนกันครับและได้รับคำตอบว่าในชีวิตประจำวัน
ถ้าต้องทำงานไปด้วยเช่นขับรถ ก็ให้มีสติอยู่ที่
การขับรถ หรือ เดิน, ทำงานใดก็ให้มีสติอยู่ที่
การไหวกายนั้นๆ   ต่อเมื่อถ้านั่งเฉยๆ ก็เอาจิต
มาอยู่ที่ลมหายใจ  เพราะถ้าเราเอาสติอยู่ที่การ
งานใดๆด้วย และเอามาอยู่ที่ลมหายใจด้วยพร้อมๆ
จะทำไม่ได้น่ะครับ
( ถ้าผมกล่าวผิดอย่างไร รบกวนพี่ปราโมทย์
  ชี้แนะด้วยครับ _/|\_ )
โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 17:02:14

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 08:44:08
ขอบคุณครับคุณปิ่น
ผมอาจจะเคยอ่านที่พี่เค้าตอบเหมือนกัน
แต่ลืมไป

ขอบคุณอีกครั้งครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 08:44:08

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 09:32:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com