กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาเรื่องการตรวจสอบตัวเอง

โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 08:18:04

ตอนนี้จะทำตัวเป็นมนุษย์เจ้าปัญหา(ชั่วคราว)
เพราะอยากอ่านข้อธรรม, คอยเตือนสติ,เพื่อเป็นแผนที่และ
ตรวจสอบเส้นทางสำหรับเดินทางต่อไปหลังจากที่ครูออกบวชแล้ว

ขณะนี้ผมได้เห็นกิเลสอย่างหยาบที่เห็นได้ยากในสมัยก่อน
ได้อย่างชัดเจน เช่นความจงใจปฏิบัติ, ความอยากหลุดพ้น,ความอยากสงบ,
ความยึดถือตัวตนของบุคคล, ความเหม่อซึม, ความอยากได้ไคร่ดี,ฯลฯ
ผมจะมีวิธีตรวจสอบตัวเองอย่างไรครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 08:18:04

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 08:39:39
โพสท์แล้วเห็นว่าคำถามยังไม่ชัดเจน จึงขอขยายความสักนิดหน่อย
คือในระยะหลังมานี้ การปฏิบัติ เป็นเรื่องไม่ลำบาก สะดวก
เว้นแต่บางสิ่งบางอย่างไม่สมดุลย์กัน การปฏฺบัติจึงจะสะดุด
การจมแช่ในกิเลสนั้นก็มีบ้างแต่ใช้เวลาไม่นานนักก็สลัดหลุดออกมารู้ความอยากนั้นได้
ที่ต้องการเรียนถามครูนั้นก็คือ เมื่อเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น เกิดความสบายใจแบบ(เข้าใจว่า)ไม่เจือด้วยความอยากแล้ว
การตรวจสอบผลการปฏิบัติในขั้นต้นนี้ จะใช้วิธีการใดเป็นหลักครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 08:39:39

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 09:39:33
คุณเก๋ตั้งคำถามแบบอ้อมค้อม
แต่ผมขอตอบอย่างตรงไปตรงมาก็แล้วกันครับ

การตรวจสอบว่าผู้ใดสำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลหรือไม่ มีหลายวิธี
อย่างแรกคือการตรวจสอบตนเอง อีกอย่างหนึ่งคือการตรวจสอบผู้อื่น

การตรวจสอบตนเอง ก็มี 2 แบบ
แบบแรกเป็นการทราบชัดทันทีที่ผ่านการเกิดมรรคผลแล้ว
โดยผู้ที่ผ่านมรรคผล ที่เกิดผลญาณยาวนาน
และเคยเรียนรู้ปริยัติธรรม ว่าพระโสดาบันละสังโยชน์ใดได้บ้าง
และพระโสดาบันมีองค์คุณใดบ้าง (คือการเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้น
การมีศีลบริสุทธิ์ และการไม่เที่ยวแสวงหาบุญกิริยาอื่นนอกหลักของพระศาสนา)
ในขณะที่ผ่านผลญาณออกมานั้น จิตจะพิจารณาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทันที
แล้วรู้ชัดด้วยตนเองในขณะนั้นเลยว่า เกิดอะไรขึ้นแล้ว

บุคคลชนิดนี้ จะไม่สนใจกระทั่งการไปสอบถามครูบาอาจารย์
แต่ก็จะคิดถึงครูบาอาจารย์ เพราะคิดถึงคุณของท่าน
เมื่อไปกราบครูบาอาจารย์ ก็จะไม่ไปเพื่อขอคำรับรอง
เพราะธรรมรับรองตนเองเรียบร้อยประจักษ์ใจไปแล้ว
(พวกที่ทำผิดแล้วมั่นใจมากๆ ก็มีเหมือนกันนะครับ
โดยเฉพาะพวกที่พลาดไปติดวิปัสสนูปกิเลส)

การตรวจสอบตนเองอีกชนิดหนึ่ง เป็นการสังเกตตนเองในภายหลัง
คือบางคนบรรลุพระโสดาบันโดยมีผลญาณเกิดในช่วงสั้นๆ
หรือผู้ที่ไม่เคยรู้ตำราเกี่ยวกับพระอริยบุคคล
แม้รู้ธรรมแล้ว สังโยชน์ขาดแล้ว แต่ก็พูดไม่ได้อธิบายไม่ถูก
ประเภทนี้ก็ต้องคอยสังเกตเอาในภายหลัง
และแม้ผู้ที่เกิดผลญาณยาวดังที่กล่าวมาแล้ว
ก็ควรตรวจสอบตนเองในภายหลังด้วย
เพื่อกันความเข้าใจผิดไปหลงติดวิปัสสนูปกิเลส

วิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบตนเองภายหลังก็คือ
สังเกตที่จิตตนเอง โดยรู้ลงไปที่จิตตนเอง
ว่ายังเหลือ "ความเห็นว่าจิตเป็นตัวเรา" หรือไม่
เพราะพระโสดาบันนั้น ไม่มีความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราเหลืออยู่เลย
และกระทั่งจิตยังไม่เป็นตัวเรา ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร
เพราะสิ่งเหล่านั้นจะถูกเห็นเป็นตัวเราไปไม่ได้เลย
ถ้าไม่เห็นว่าจิตเป็นตัวเราเสียแล้ว

ถัดจากนั้นก็คอยดูว่า จิตมีความรักศีลเพียงใด มีความจงใจทำผิดศีลหรือไม่
เพราะพระโสดาบันนั้น จะไม่มีความจงใจทำผิดศีลเกิดขึ้นเลย

การตรวจสอบตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ
ชาวลานธรรม/วิมุตติหลายต่อหลายท่าน เจริญสติยังไม่ถูกต้องเลย
ปรมัตถธรรมก็ยังไม่เคยเห็น แต่อาศัยการเรียน ความจำ และความคิด
จู่ๆ ก็คิดว่า เราน่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว
หรือบางท่านจิตรวมด้วยสมถะ แล้วเข้าใจผิดก็มี
ต้องคอยสังเกตจิตใจตนเองให้มากๆ นะครับ ว่ายังเห็นว่าจิตเป็นเราหรือไม่

สำหรับการตรวจสอบผู้อื่นนั้น มีหลายวิธีเช่นกัน
วิธีแรกเป็นวิธีของผู้ที่ไม่มีเจโตปริยญาณ
จะต้องตรวจสอบด้วยการสังเกตพฤติกรรม หรือด้วยการซักถามสอบอารมณ์
โดยเทียบเคียงกับความรู้ด้านปริยัติธรรม
เช่นบุคคลผู้นั้นมีอาการของจิตอย่างไรในขณะที่คิดว่าบรรลุพระโสดาบัน
บุคคลผู้นั้น มีศีลอันงามหรือไม่
จิตโลภของผู้นั้น ยังเจือปนด้วยมิจฉาทิฏฐิหรือไม่
ผู้นั้น เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเราของเราหรือไม่ เป็นต้น

วิธีนี้ถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยได้ผลสมบูรณ์นักหรอกครับ
ที่สำคัญก็คือ แต่ละสำนักวางมาตรฐานของพระโสดาบันไว้ต่างๆ กัน
ส่วนผู้ตอบ บางคนก็พูดไม่ได้ อธิบายไม่ถูก ก็มี
เท่าที่เคยทราบมา กระทั่งคนที่เข้าไปติดอสัญญสัตตาหรือพรหมลูกฟัก
ก็ได้รับการพยากรณ์มรรคผลไปแล้ว ก็มีครับ

การตรวจสอบอีกวิธีหนึ่ง เป็นการใช้เจโตปริยญาณ
วิธีนี้จะให้ผลแม่นยำที่สุดในบรรดาการตรวจสอบทั้งหลาย
แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า
ผู้ตรวจสอบนั้น มีเจโตปริยญาณจริง
และไม่เพียงแต่มีเจโตปริยญาณอันเป็นโลกียญาณเท่านั้น
ผู้ตรวจสอบนั้นยังจะต้องผ่านมรรคผลมาแล้วด้วย
ซึ่งก็ไม่มีใครที่จะพยากรณ์รับรองได้
จึงเข้าทำนองที่ว่า กระทั่งผู้ตรวจสอบก็ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน
เพราะผู้ที่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรับรองได้ ก็คือพระศาสดาเท่านั้น

มาถึงจุดนี้แล้ว ผมก็มีความเห็นว่า การสังเกตตนเองในระยะยาว
ด้วยการรู้ให้ถึงจิตถึงใจตนเองจริงๆ
ไม่ใช่คิดๆ เอา แบบมีอคติเข้าข้างตนเอง
น่าจะเป็นวิธีที่มาตรฐานที่สุดในยุคนี้
ส่วนความเห็นของครูบาอาจารย์ เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นครับ
ถ้าท่านรับรองว่าใช่ ก็มาดูกิเลสตนเองว่าใช่จริงหรือเปล่า
ถ้าท่านว่าไม่ใช่ แต่เราว่าใช่ ก็มาตรวจสอบว่าเราใช่จริงหรือเปล่า

ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราคิดว่าใช่ แล้วมารู้ทีหลังว่าไม่ใช่
ก็อย่าท้อแท้จนเตลิดเปิดเปิงเลิกปฏิบัติไปเลย ก็แล้วกันครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 09:39:33

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปิ่น วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 16:12:37
อย่างนี้ดูเหมือนว่าการที่จะบรรลุโสดาบันนั้น
จะต้องผ่าน ญาณทั้ง 16 ขั้นใช่หรือเปล่าครับ?
ขอบพระคุณครับ_/|\_
โดยคุณ ปิ่น วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 16:12:37

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ tuli วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 05:42:32
ปฏิบัติไป พอจิตสงบสักหน่อยความอยากบรรลุชอบมารบกวน 
ต้องใช้โยนิโสมนสิการมาช่วยบ่อยๆ
เช่นคิดว่าจะเป็นโสดาไปทำไม ถ้าเป็นแล้วยังมีความอยาก ยังขาดสติแบบนี้อยู่  เป็นปุถุชนที่มีสติสมบูรณ์  ยังดีกว่าเป็นโสดาขาดสติ  ....
พี่มีอุบายอย่างไรช่วยแนะนำบ้างครับ
โดยคุณ tuli วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 05:42:32

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 07:59:54
ที่จริงเรื่องนี้ผมก็ไม่ค่อยจะกล้าถามเท่าไรเพราะเดี๋ยวเพื่อนๆจะเข้าใจ
ผิดว่าผมฟุ้งซ่านขนาดหนักเข้าให้แล้ว แต่มันมีเหตุผลบางอย่างที่
ผมจำเป็นจะต้องชะลอการปฏิบัติหลังจากที่ได้รับผลในครั้งแรก
จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบ ถึงแม้ว่าการบรรลุจะไม่ไช่เรื่องง่ายๆ
แต่ความคิดในคราวก่อนเห็นว่าไม่ควรประมาท จึงทำให้คิดถึงเรื่องนี้
อยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อวันก่อน ครูจึงได้สอนมาว่าไม่ต้องเป็นห่วงอะไรทั้ง
นั้น เพราะสิ่งที่เราห่วงนั้นมันถูกบันทึกเป็นจิตใต้สำนึกไปเรียบร้อยแล้ว
จึงสบายใจได้ว่าอย่างไรก็ต้องติดอยู่ที่ชั้นแรก(เพราะไปตั้งใจเอาไว้เอง)
ดังนั้นไม่มีทางที่จะผ่านชั้นที่สองไปได้เลยถ้าใจยังไม่ยอม

และเมื่อครูได้สอนผมมาแล้ว การบรรลุหรือไม่บรรลุ ก็ไม่จำเป็นแล้ว
ผมจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องที่ถามนี้จะเก็บไว้
ตรวจสอบคนอื่นเมื่อจำเป็น แต่สำหรับตัวเองแล้ว ไม่รู้จะยืนยันตัวเองไปทำไม
และถ้าจะตรวจสอบตัวเองจริงๆ คงไปรบกวนครูดีกว่าครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 07:59:54

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:06:05
อุบายสอนใจของคุณหมอธุลีก็ดีแล้วครับ

สำหรับคำถามของคุณปิ่นที่ว่า
จะเป็นพระโสดาบันจะต้องผ่านญาณทั้ง 16 ขั้นหรือเปล่า
ขอเรียนว่าต้องผ่านวิปัสสนาญาณ 16 ครับ แต่ไม่ใช่ 16 ขั้น
เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว โสฬสญาณ หรือญาณ 16 ขั้น
เป็นตำราที่แต่งขึ้นในชั้นหลัง โดยเรียบเรียงขยายความมาจากปฏิสัมภิทามัคค์ในพระสูตร
ซึ่งในพระสูตรต้นตำรับนั้น ท่านระบุถึงชื่อญาณไว้เป็นอันมากก็จริง
แต่ท่านจับชื่อญาณเข้าเป็นกลุ่มๆ ประมาณกลุ่มละ 3 ชื่อ
โดยระบุว่าญาณเหล่านี้มีชื่อต่างกัน แต่มีเนื้อหาอันเดียวกัน
แต่ตำราชั้นหลังพยายามแยกย่อย ให้แต่ละญาณมีความหมายต่างกันด้วย

ถ้ารวมญาณเป็นกลุ่มๆ แล้ว ก็มีไม่ถึง 16 ขั้นหรอกครับ
ซึ่งก็สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง
ที่บางคนพอสามารถจำแนกรูป หรือเจตสิก เป็นส่วนหนึ่งจากจิตผู้รู้ได้แล้ว
ก็เห็นความเกิดดับของอารมณ์เรื่อยไป ด้วยจิตที่เป็นกลาง
แล้วจิตตัดกระแสเกิดมรรคผลไปเลยก็มี
บุคคลเหล่านี้ถ้าถามว่าผ่านญาณ 16 หรือไม่ ก็ต้องกล่าวว่าผ่าน
แต่ผ่านเร็ว เหมือนขึ้นเครื่องบินผ่าน วูบเดียวก็ถึงปลายทาง
จิตไม่มัวหยุดรีรอรับประกาศนียบัตรในการผ่านญาณเป็นขั้นๆ ไป
แบบนี้ก็มีครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:06:05

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:16:22
พระอริยบุคคล ท่านไม่มีความคิดเห็นว่า ท่านบรรลุอะไรหรอกครับ
เพราะท่านไม่มีความเห็นผิดว่า "เรามีอยู่ และเราบรรลุแล้ว"
และท่านไม่มีความเห็นผิดว่า
"เรามีอยู่ แต่เราเห็นเรา โดยความเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่มีตัวมีตน"
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:16:22

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:31:23
กิดสงสัยขึ้นมาบางอย่างน่ะครับ คือ
ที่คำสอนของหลวงปู่ดูลย์สอนว่า
"จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค มีผลเป็นนิโรธ"นั้น
ผมสงสัยว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรคอย่างไร
และที่ว่าเห็นนั้นเห็นอะไร
จึงรบกวนเรียนถามครูมาอีกครั้ง

(และจะมีอีกหลายๆคำถามเพราะก่อนครูบวชนี่
ผมต้องเอาสิ่งที่ค้างคาออกไปให้หมดด้วยนโยบายที่ว่า

"อายครู บ่รู้วิชา   อายภรรยา บ่มีบุตร"

: )
โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:31:23

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:36:06
เคยอ่านอรรถกถาหรือยังไงนี่แหละ
ไปใส่ล็อกไว้หมดเลย
เช่นท่านพาหิยะบรรลุธรรม
ก็บอกว่าวิปัสสนาญาณจำเริญตั้งแต่ขั้น 1, 2, 3...
ถึงธรรมขั้นหนึ่งก็ตกกลับมาที่ญาณ 4 แล้วจำเริญขึ้นอีก
คนเขียนผูกไว้แบบคิดเองเออเองอย่างนี้บาปมหันต์จริงๆ
แล้วกรรมก็ตกอยู่กับคนรุ่นหลังที่เชื่อเสียด้วย
เพราะถ้าคนปฏิบัติได้จริงไม่อธิบายตามนี้ก็เสร็จเลย
ถูกพิพากษาว่าไม่ใช่แล้ว อย่างครูบาอาจารย์หลายๆท่านที่โดนไปแล้ว
โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 08:36:06

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 09:45:19
คุณเก๋มีคติประจำใจแบบนี้เอง จึงมีบุตรมากกว่าผู้อื่นในวิมุตติ :)

ผมรับจะเขียนอธิบายให้ครับ แต่ต้องรอว่างก่อนครับ
เพราะธรรมอันนี้ประณีตลึกซึ้งมากทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 09:45:19

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 12:46:20
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ
มรรคจึงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากอริยมรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ก็แล้วเหตุใดหลวงปู่ดูลย์ พระสาวกผู้ซื่อตรงมั่นคงต่อพระรัตนตรัย
จึงสอนว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
แสดงว่าในทัศนะของท่านแล้ว
มรรคมีองค์ 8 จะต้องเป็นสิ่งเดียวกับจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง อย่างแน่นอน

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ขั้นแรกสุด เราควรมาทำความรู้จัก
กับสภาวะของจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเสียก่อน
ถ้าเข้าใจว่าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอย่างไรแล้ว
ก็จะตอบคำถามได้ว่า เป็นสิ่งเดียวกับอริยมรรคมีองค์ 8 หรือไม่

ก่อนที่จะมีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องเจริญวิปัสสนาเสียก่อน
คือรู้ชัดว่า กาย เวทนา จิต(สังขาร) ธรรม เป็นอันหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้
และจิตเป็นอันหนึ่ง คือเป็นธรรมชาติผู้รู้
แล้วเห็นความเกิดดับของอารมณ์(ปรมัตถ์)เรื่อยไป ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ตรงจุดนี้ยัง เป็นการเจริญมรรคปฏิปทา
ยังไม่ใช่อริยมรรคญาณ และยังไม่มีมรรคจิต
และยังไม่ใช่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง แต่เป็นการเห็นอารมณ์อย่างแจ่มแจ้ง
(โปรดดูกระทู้เรื่องการดูจิต ประกอบด้วย)

เมื่อรู้จริงว่า กาย เวทนา จิต(สังขาร) และธรรมเป็นไตรลักษณ์แล้ว
จิตก็ปล่อยวางสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง แล้วรวมเข้ามาที่จิตอีกทีหนึ่ง
ตรงนี้ถ้าจิตยังเจริญปัญญาไม่พอ จิตก็รวมเข้ามาพักสงบในอัปปนาสมาธิ
(บางคนจะรวมพักได้เพียงอุปจารสมาธิ)
แต่ถ้าเจริญปัญญามามากเพียงพอแล้ว
จิตจะเข้าสู่อัปปนาสมาธิ แล้วปฏิวัติตนเองไปสู่อริยมรรค อริยผล

การที่รู้จักกับจิตที่หลุดพ้นจากอารมณ์หยาบ
และไปรู้จักอารมณ์นิพพาน โดยไม่มีความยึดถือเกาะเกี่ยวใดๆ นั้น
นับว่าเป็นคราวแรกที่มีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งจริงๆ
เพราะไม่มีสังขตธรรม หรือสังขารธรรม
มาห่อหุ้มปกปิดเคลือบแฝงจิตที่บริสุทธิ์ไว้
ในขั้นนี้ก็คือขั้นของการเกิดอริยมรรค
ดังนั้นที่ท่านสอนว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค จึงถูกต้องแล้ว

เมื่อผ่านจากการเกิดมรรคผลคราวแรกแล้ว
พระโสดาบันบุคคลก็ยังไม่มีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งอีก
ยังต้องเจริญวิปัสสนาจนเกิดอริยมรรคอีก 2 ครั้ง
เมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้วนั่นแหละ จิตจึงจะเห็นจิตอยู่เป็นนิจ
เพราะพระอนาคามีบุคคล คือผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
จิตจึงเป็นหนึ่ง ทรงตัวรู้จิตอยู่ได้เสมอๆ
ไม่แส่ส่ายหลงไปตามแรงดึงดูดของกามคุณ

ตรงจุดนี้จิตจะมีทางดำเนินอยู่สองแบบ
แบบหนึ่งคือการทรงตัวอยู่กับจิตเพียงนั้น ไม่เจริญปัญญาต่อไป
เพราะยังหาทางไปไม่ถูก คือเห็นจิตอวิชชาอยู่ แต่จับเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ถูก
เห็นว่าจิตยังไม่หลุดพ้น แต่ไม่ทราบว่าจะทำให้จิตหลุดพ้นได้อย่างไร
เพราะมองไม่ออกว่า จิตไปติดข้องยึดถือสิ่งใดอยู่
ถ้าติดอยู่ตรงนี้จนสิ้นชีวิต ก็ต้องไปเกิดในพรหมโลก
ทั้งนี้ก็เพราะจิตยังไม่เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จนสามารถทำลายเชื้อเกิดในจิตได้

แต่ผู้ที่มีความช่างสังเกต จะค่อยๆ เรียนรู้อยู่ที่จิตนั้นเอง
จนเห็นชัดว่า เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุแห่งทุกข์
เป็นเหตุให้เกิดความปรุงแต่งขึ้นภายในจิต
แล้วความปรุงแต่งนั้นเอง เป็นเหตุให้มโนวิญญาณหยั่งลงสู่รูปและนาม
แล้วจิตก็ก่อภพก่อชาติไปตามกลไกของปฏิจจสมุปบาท
แต่เมื่อรู้เท่าทัน เห็นเชื้อเกิดภายในที่หมุนวนก่อภพก่อชาติสืบเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด
ความหมุนวนนั้นก็ถูกปัญญาเข้ากวาดล้างดับสลายไป
จิตก็เข้าถึงวิมุตติหลุดพ้น แบบถอนรากถอนโคน
เหมือนต้นไม้ที่ถูกดึงทั้งโคนทั้งราก กระทั่งรากฝอยขึ้นจากพื้นดิน

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จะแสดงอานุภาพสูงสุด
ในขั้นที่จะเจริญอรหัตตมรรคนี้เอง
เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำลายเชื้อเกิดคืออวิชชา
ที่แฝงตัวอย่างเร้นลับอยู่ในจิต

ผมเคยพบท่านที่หลุดรอดไปแล้ว ท่านก็บอกว่า
"พระอรหันต์ไม่ได้รู้อะไรมากหรอก แต่รู้จิตหนึ่ง"
คือท่านรู้จิตที่วิมุตติหลุดพ้นแล้วอย่างแจ่มแจ้งนั่นเอง
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นกระทั่งเครื่องอยู่ของท่านอีกทีหนึ่ง
เช่นที่พระอรหันต์ท่านเจริญสติปัฏฐานเพื่อเป็นเครื่องอยู่นั่นเอง

สรุปแล้ว จิตเห็นจิตที่เป็นมรรคปฏิปทา
คืออยู่ในขั้นเจริญศีล สมาธิ ปัญญาก็มี
ที่เป็นมรรคญาณก็มี ที่เป็นเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าก็มี
นับว่าเป็นธรรมที่กว้างขวางมาก


อนึ่ง เมื่อเข้าใจคำว่าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
ก็จะเห็นว่า สามารถเชื่อมโยงกับอริยมรรคมีองค์ 8 ได้อย่างไร
คือผู้มีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ย่อมมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
ย่อมมีความดำริชอบคือดำริที่จะออกจากทุกข์ ออกจากกาม ออกจากความวุ่นวาย
มีวาจาชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีการงานชอบ เพราะไม่ถูกกิเลสครอบงำ
และมีความเพียรชอบที่จะถอดถอนตนออกจากกองทุกข์ กองกิเลส
เพราะองค์มรรคทั้ง 8 ย่อมประชุมลงที่จิตดวงเดียว
มรรคไม่ได้เกิดที่กาย เวทนา จิตสังขาร หรือธัมมารมณ์
หรือที่อื่นใดเลย  นอกจากเกิดที่จิตนี้เอง

*************************************
ขอนอกเรื่องสักหน่อยครับ ผมเคยได้ยินบางคนกล่าวว่า
ในเวลาเกิดมรรคผลนั้น จิตดับหมด คือไม่มีจิตนั่นเอง พอจิตดับก็ถึงนิพพาน
ผมเห็นว่าเป็นความสำคัญผิดอย่างมาก
ที่ไปหลงเอาสภาวะของพรหมลูกฟักเป็นมรรคผล
ในอภิธัมมัตถสังคหะเอง ก็ระบุถึงมรรคจิต ผลจิตไว้ถึง 20 ดวง
แล้วจิต ที่ชื่อว่าจิตก็เพราะเป็นธรรมที่รู้อารมณ์
ถ้าตรงมรรคผลไม่มีจิต และไม่มีการรู้อารมณ์นิพพาน
ตำราอภิธรรมท่านคงไม่ระบุว่ามีจิตไว้หรอกครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 12:46:20

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 20:10:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ กอบ วัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 21:32:01
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 08:14:26
_/\_
สาธุครับ

: )
แหม แค่ 3 หน่อเองครับครู

ใหนๆก็พูดถึงเรื่องจิตแล้ว ก็ของถามเรื่องเกี่ยวกับจิต
ต่อเลยแล้วกันครับ
คือในการปฏิบัติด้วยการ"ดูจิต" นั้น บางทีก็ทำให้ผมเกิดความสงสัย
ขึ้นมาว่า เมื่อเราดูจิต เราก็ย่อมต้องเห็นจิต แต่ทำไมจึงไม่แจ่มแจ้ง
สักที ย้อนพิจารณาดูก็เห็นว่า ต้องเป็นคนละเรื่องแน่ๆ
อันหนึ่งจิตถูกรู้ อีกอันหนึ่งจิตผู้รู้ เมื่อคิดได้อย่างนี้ ผมเลย
เลิกใส่บัญญัติ-วิธีการ โดยหันมาใช้ศัพท์กลาง
ในการเรียกขาน เช่น" ดูมันไป" , "มันจะเป็นอะไรก็ช่างมัน ดูมันไป",ฯลฯ

ในจุดนี้ ผมจึงเห็นว่าปริยัติ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว คงจะกลายเป็นพูดคนละเรื่องเดียวกันเป็นแน่
ดังนั้นคำถามนี้จึงมาลงที่ว่า เมื่อนักปฏิบัติเกิดลังเลกับคำว่าจิต
ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร และหากจำเป็นต้องพูดคุยเกี่ยวกับการปฏิบัติ
จะมีวิธีการอย่างไรที่จะสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างที่ตัวเองเป็นน่ะครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 08:14:26

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 14:45:11
เมื่อหัดดูจิตใหม่ๆ ที่จะมีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งนั้น เป็นไปไม่ได้หรอกครับ
เพราะเมื่อแรกดู ย่อมเห็นแต่จิตสังขาร หรือเจตสิกเท่านั้น
ได้แก่เห็นเวทนา สัญญา และสังขาร
ส่วนจิตเป็นคนรู้คนดู จู่ๆ จะเที่ยวแสวงหาจิตนั้น มีแต่จะยิ่งพลาดมากขึ้น

จิตที่รู้จักตัวเองอย่างแจ่มแจ้ง ก็คือเห็นจิตที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยจิตสังสาร
จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อถึงธรรมแล้วเท่านั้นครับ
ก่อนหน้านั้น เรา "สมมุติ" เอาจิตสังขาร เป็นจิตไปพลางๆ ก่อน
หลังจากนั้น สังขารก็เข้ามาปรุงแต่งจิตอีก
ก็ต้องดูไปจนพ้นความปรุงแต่งเป็นคราวๆ ไป
จิตที่ไม่ถูกปรุงแต่งจึงจะปรากฏให้รู้ได้

ส่วนที่ถามว่า ผู้เริ่มหัดดูจิตแล้วเกิดความลังเล จะทำอย่างไร
เรื่องนี้ง่ายมากครับ ก็แค่รู้ความลังเลสงสัยที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง
เพราะนั่นคือจิตสังขารที่กำลังปรากฏ
เมื่อรู้ความเกิดดับของจิตสังขารมากเข้า ในที่สุดจิตก็ปล่อยวางจิตสังขาร
แล้วก็จะรู้จักจิตที่ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เองแหละครับ

ส่วนการจะสื่อความเข้าใจกับผู้อื่นนั้น ถ้าไม่รู้ปริยัติ ก็อธิบายถึงสภาวะแทน
เช่นไม่รู้จักราคะ ก็อธิบายว่า มันมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดจิตกับอารมณ์เข้าหากัน
ถ้าไม่รู้จักโทสะ ก็อธิบายว่า มีอะไรบางอย่างที่ผลักดัน/ปฏิเสธอารมณ์ เป็นต้น
ถ้ารู้บัญญัติก็พูดได้ง่าย เพราะคำเดียวกินความหมายมาก
ถ้าไม่รู้บัญญัติก็ต้องบรรยายสภาวะ ใช้คำพูดหลายคำหน่อย
แต่นักปฏิบัติก็เข้าใจกันได้ครับ จะยุ่งก็ตอนที่คุยกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติเท่านั้น
และเมื่อเห็นว่ามันยุ่งนัก ก็อย่าพูดสิครับ ง่ายจะตายไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 14:45:11

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ นิดนึง วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 19:32:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 19:50:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 20:55:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 10:19:17
เมื่อวานที่ศาลาผมได้รับการชี้แนะจากพี่สุรวัฒน์
รู้สึกว่าการปฏิบัติมันง่ายจริงๆง่ายจนเกินไป จนเกิด
ความลังเลสงสัยขึ้นทั้งในการปฏิบัติและในครูอาจารย์  ^-^! ก็เลยรู้ทันเห็นตัวสงสัยมันเข้ามันก็หายไปเลยถึงบางอ้อ หมดสงสัยไปชั่วคราวครับ
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 10:19:17

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 10:23:56
สาธุครับ (เมื่อกี้ลืมครับ)
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 10:23:56

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 11:18:21
การปฏิบัติจะยากอะไรกันครับ
เพียงลืมตาตื่น สัจจธรรมก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว
เพราะธรรมะก็คือธรรมชาติแท้ๆ แต่ถูกความคิดปิดบังเอาไว้จนมิดชิด
เช่นความเกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นเรื่องธรรมดาแท้ๆ เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว
แต่จิตยอมรับความจริงไม่ได้
คอยคิดแต่เรื่องไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย
บางบ้านถึงกับสั่งสอนกันไม่ให้คิด ไม่ให้พูดเรื่องความตาย หรือโรคร้ายแรง
ก็เพราะเกลียดกลัวความจริงเสียเหลือเกิน

การปฏิบัติธรรมก็เป็นเพียงการหันกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง
เอาของจริงๆ มายืนยันให้จิตเห็นจนสุดปัญญาที่จะคิดดีดดิ้นไปทางอื่นได้
แล้วยอมจำนนต่อความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างของสังขาร
เมื่อปล่อยวางเลิกดิ้นรนแล้ว
ก็จะเข้าใจถึงธรรมชาติที่เหนือความคิดนึกปรุงแต่งได้

ธรรมแท้ซุกซ่อนอยู่ในกายในจิตนี้ เหมือนเพชรที่ซ่อนอยู่ในกองขยะ
ถ้าเอาแต่เบือนหน้าหนีกองขยะ ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากสนใจ
เพราะอยากรู้เห็นแต่ของสวยงามลวงโลกทั้งหลาย
เมื่อไรจะค้นพบเพชรงามเม็ดนี้ได้
ส่วนคนที่ตั้งใจปฏิบัติ เจริญสติรู้ลงมาในกายในจิตอันสกปรกโสโครกนี้
ค่อยคุ้ยค่อยเขี่ยสิ่งที่ปกปิดออก เขาก็ค้นพบเพชรงามได้ไม่ยากอะไรนัก

เมื่อวานนี้ผมก็บอกกับพวกเราหลายคน เหมือนที่บอกมาตลอดว่า
การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย
เพียงแต่คอยรู้ความจริงที่กำลังปรากฏเรื่อยไปเท่านั้นเอง
แต่คนเราไม่ชอบของง่าย เพราะรู้สึกว่ามันง่ายเกินไปจนไม่น่าเชื่อถือ
ก็พยายามปฏิบัติธรรมให้ยุ่งยาก ด้วยการใช้ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ นานา
สร้างกระบวนการปฏิบัติที่มากมายซับซ้อนขึ้นมา
เช่นต้องกำหนดอย่างนั้น ต้องทำท่าอย่างนี้ ต้องมีข้อวัตรต่างๆ อย่างนั้นๆ
แทนที่จะมีสติสัมปชัญญะรู้เข้ามาในกายในจิตตนเองอย่างซื่อๆ ตรงๆ

เมื่อวานนี้ก็ได้คุยกับคุณสุรวัฒน์ด้วยว่า
คนเราวาดภาพพระอริยบุคคลเสียเกินจริงไปมาก
เมื่อตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก การปฏิบัติก็ต้องทำให้ยากเพื่อให้สมศักดิ์ศรีกัน
เหมือนอย่างจะเรียนปริญญาเอก ก็ต้องมีอะไรๆ ให้สมกับจะเป็นดอกเตอร์สักหน่อย

ทั้งที่ความจริงแล้ว พระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์เพียงแค่ความพ้นทุกข์
ไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้อะไรมากมายเลย
และพระโสดาบันบุคคล ก็เพียงแค่ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตนเท่านั้น
ส่วนกิเลสก็เพียงละโลภะหยาบๆ ที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิได้เท่านั้น
ดังนั้นแม้จะมีศีล 5 แต่ความรู้สึกนึกคิดอื่นๆ ในการดำรงชีวิต
ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเมื่อยังเป็นปุถุชนมากนัก
ยังมีรัก โลภ โกรธ และหลงที่ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิอยู่เต็มหัวใจ
ถ้าไม่เข้าใจความจริงเหล่านี้ เกิดไปเจอพระโสดาบันที่ยังโสดๆ
แล้วคิดว่าท่านเหมือนพระอิฐพระปูน มันจะยุ่งทีหลังครับ :)

ถ้าเข้าใจความจริงเหล่านี้แล้ว ก็ขอให้พากันแก้มิจฉาทิฏฐิ
ด้วยการมีสติสัมปชัญญะเรียนรู้ขันธ์ 5 หรือกายกับจิตตนเองให้มาก
อย่าไปเสียเวลาทำอะไรให้ยุ่งยากซับซ้อนเกินไปเลยครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 11:18:21

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:00:44
_/I\_ สาธุค่ะ

พอเห็นคุณสงบพูดถึงเรื่องนี้ ก็เกิดกิเลสอยากเข้ามาแจมด้วยทันที จนถึงขั้นต้องวิ่งกลับไป log in อิอิ

เมื่อวานที่ไปศาลาลุงชิน และได้คุยกับคุณสุรวัตน์ ก็ได้ทราบว่า คุณสุรวัตน์ปฏิบัติแบบ ทำความรู้ตัว ดูจิตในชีวิตประจำวันอย่างเดียว โดยไม่ได้มีการนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม (ตามแบบแผน) เลย ซึ่งเท่าๆที่คุยกันมา หนูรู้สึกว่า หนูก็มีจริตเดียวกับคุณสุรวัตน์เหมือนกัน ตรงที่ถ้าต้องนั่งสมาธิเป็นเรื่องเป็นราว หรือพยายามเดินจงกรมแบบ ตั้งใจเน้นเดินจงกรมจริงๆ หนูจะทำไม่ได้เลย โดยเหตุนี้ หนูก็รู้สึกอยู่ลึกๆในใจมาตลอดว่า หนูปฏิบัติไม่ครบหลักสูตร ไม่ตามหลักการมาตลอด แต่หนูก็ไม่เคยคิดเรื่องมรรคผลอยู่แล้ว เพราะหนูไปคิดว่า หนูไม่ได้ปฏิบัติครบถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น และหนูเอาแต่เรื่องความรู้ตัวอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่ได้เข้มข้นมากด้วย นึกได้เมื่อไหร่ ก็รู้เมื่อนั้น (วันๆก็เผลอซะเป็นส่วนใหญ่ รู้เป็นส่วนน้อย) เรื่องนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์ไหว้พระนี่แทบจะไม่ค่อยได้ทำเลย (ทำนับครั้งได้) เรียกว่าเอาแต่เรื่องการรู้ตัวในชีวิตประจำอย่างเดียวเท่านั้น  และรู้นี่ก็รู้แบบตามธรรมชาติ จิตตระหนักรู้ขึ้นมา ก็รู้ไปเฉยๆ (แต่พักเดียวก็เผลออีก)

ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา ไม่ได้นึกสนความก้าวหน้าอะไร (เพราะประมาทว่า ที่เป็นอยู่ทุกข์วันนี้ก็มีความสุขดี) จนกระทั่งมาได้คุยกับคุณสุรวัตน์เมื่อวาน มันเหมือนเป็นอะไรที่แปลกใหม่ในความรู้สึกมาก ยิ่งตอนที่คุณสุรวัตน์บอกว่า ขณะที่จิตพลิกนั้น ไม่ได้กำลังอยู่ในความรู้ตัวด้วย (ซึ่งหนูเข้าใจมาตลอดว่า มันจะเกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังทรงความรู้ตัวอยู่) หนูเลยเอามานั่งคิดเป็นวัน (อันนี้ไม่ได้ตั้งใจนั่งคิดนะคะ เพียงแต่เรื่องนี้มันแวบเข้ามาในหัวบ่อย แต่หนูก็รู้ทันความคิดนั้นด้วย ทำอวด อิอิ) ซึ่งหนูก็บอกไม่ถูกว่าหนูรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ที่เห็นชัดๆคือจากที่หนูไม่เคยคิดหวังในเรื่องมรรคผลนิพพาน มันก็ทำให้หนูชักเริ่มเกิดกิเลสคิดอยากเรื่องนี้ขึ้นมาในใจ เพราะมาเห็นว่า คุณสุรวัตน์เค้าก็มาแนวเดียวกับเราเลย ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรมตามแบบแผน เพียงแต่เค้าเอาจริงเอาจังในเรื่องการพยายามตามรู้มากกว่าที่เราเป็นเท่านั้นเอง เค้าก็สามารถประสบความสำเร็จได้ นี่ถ้าเราขยันมากกว่านี้ มุ่งมั่นที่จะไม่ปล่อยให้ใจเผลอมากกว่านี้ โดยที่เราไม่ต้องไปฝืนใจเรื่องความรู้สึกว่า จะต้องนั่งสมาธิ หรือจะต้องเดินจงกรมเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเค้าก็ไม่ได้ทำเหมือนกัน เราก็อาจจะประสบความสำเร็จอย่างเค้าก็ได้นะ

อยากกราบขอคำแนะนำสั่งสอนด้วยค่ะ ถ้าหนูกำลังเข้าใจอะไรผิดไป หรือกำลังคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ ในเรื่องจะไม่ยอมเดินจงกรม นั่งสมาธิ (ตามแบบแผน)
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:00:44

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:10:17
พอดีพึ่งได้อ่านของคุณอาปราโมทย์อันหลังสุด เลยเหมือนได้คำตอบของที่ถามไปส่วนหนึ่งเลยค่ะ

"การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย
เพียงแต่คอยรู้ความจริงที่กำลังปรากฏเรื่อยไปเท่านั้นเอง
แต่คนเราไม่ชอบของง่าย เพราะรู้สึกว่ามันง่ายเกินไปจนไม่น่าเชื่อถือ
ก็พยายามปฏิบัติธรรมให้ยุ่งยาก ด้วยการใช้ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ นานา
สร้างกระบวนการปฏิบัติที่มากมายซับซ้อนขึ้นมา
เช่นต้องกำหนดอย่างนั้น ต้องทำท่าอย่างนี้ ต้องมีข้อวัตรต่างๆ อย่างนั้นๆ
แทนที่จะมีสติสัมปชัญญะรู้เข้ามาในกายในจิตตนเองอย่างซื่อๆ ตรงๆ"

จับใจมากค่ะ กราบขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ _/I\_
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:10:17

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:33:23
> ยิ่งตอนที่คุณสุรวัตน์บอกว่า  ขณะที่จิตพลิกนั้น ไม่ได้กำลังอยู่ในความรู้ตัวด้วย

คุณเจื้อยเข้าใจผิดแล้วครับ  เพราะที่คุยกันนั้นผมพยายามที่จะบอกว่า
ในตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ระหว่างการทำสมาธิหรือเดินจงกรมหรือทำอะไรที่เป็นแบบแผนเลย
ผมเพียงแค่ต้องการหลับตาพักผ่อน เพราะรู้สึกเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน
....ซึ่งในขณะนั้นก็มีความรู้ตัวอยู่ครับ....เพราะถ้าไม่รู้ตัวแล้วมรรคจะเกิดขึ้นไม่ได้
(ผมคงไม่ได้พูดถึงความรู้ตัว คุณเจื้อยจึงเข้าใจผิดไป ต้องขออภัยด้วยครับ)
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:33:23

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:53:55
อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ คุณสุรวัตน์ ก็ถึงว่าสิคะ หนูก็ยังนึกๆสงสัยอยู่ เพราะหนูก็คิดมาตลอดว่า เวลาที่เกิดขึ้นนั้น มันควรจะต้องเป็นเวลาที่เรามีความรู้ตัวอยู่ด้วย ไม่ใช่ขณะที่เราเผลอหรือไม่ทรงความรู้ตัว

ขอบพระคุณอีกครั้งที่ช่วย confirm เรื่องนี้ และแก้ความเข้าใจผิดให้ค่ะ (จริงๆก็เคยเข้าใจถูก แต่ฟังคุณสุรวัตน์ผิดไปนั่นเอง)
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 12:53:55

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 13:16:17
รู้สึกว่าหนูเจื้อย พยายามทำความเข้าใจ อย่างที่อยากจะให้เป็น เสียแล้วล่ะครับ

อันที่จริงแล้ว การทำสมาธิ การเดินจงกรม การสวดมนต์ไหว้พระ ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นกำลังเสริมในการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น
เพียงแต่การทำสมาธิ การเดินจงกรม การสวดมนต์ไหว้พระ ฯลฯ
ไม่ควรเห็นเป็นเรื่องของการทำตามรูปแบบ

เช่นการทำสมาธิ จะนั่งท่าไหนก็ได้ จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้
แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ต้องนั่งท่านั้น หันไปทิศนี้ ฯลฯ
หรือการเดินจงกรม ก็คือการก้าวไปอย่างมีสติ
ให้เราสนใจแก่นคือการมีสติขณะที่เดินอยู่ทุกย่างก้าว
เพราะการเดินจงกรม ไม่ได้หมายถึงการเดินเหม่อกลับไปกลับมา
แต่ทุกย่างก้าวจะต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอ
ถึงอยู่ในอิริยาบถอื่น ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอเช่นกัน
ส่วนการสวดมนต์ไหว้พระ ก็ต้องไหว้ให้ถึงใจ
คือระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยความมีสติ มีความสงบเบิกบาน
ไม่ใช่นั่งท่องปาวๆ ไปเฉยๆ แบบเด็กท่องอาขยาน
(ไม่ทราบว่าเด็กเดี๋ยวนี้ยังท่องกันหรือเปล่า)

แล้วการปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้อาศัยลูกฟลุ้ค
เช่นปล่อยตามใจชอบ นึกได้เมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น
แต่จำเป็นจะต้องปลูกฉันทะคือความพอใจที่จะมีสติสัมปชัญญะไว้ในใจ
พอมีฉันทะแล้ว วิริยะคือความเพียรก็จะเกิดขึ้น
เราจะขยันเจริญสติสัมปชัญญะโดยอัตโนมัติ
ไม่ใช่รีบมาดูเอาตอนที่กำลังจะได้พบครูบาอาจารย์เท่านั้น
แล้วจิตก็จะเกิดความใส่ใจ เกิดความใคร่ครวญในธรรม
มีความเบิกบานบันเทิงใจในการปฏิบัติธรรมไปได้ตลอดสาย
ไม่รู้สึกฝืดหรือฝืนใจที่จะปฏิบัติ แต่สนุกที่จะปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเสมอในเรื่องการมีความเพียร
แต่การเพียรนั้น ไม่ใช่เอาแรงเข้าแลกอย่างเดียว
และก็ไม่ได้สู้แบบมวยวัด ไม่รู้เหนือรู้ใต้
แต่ให้มีสติสัมปชัญญะรู้ของจริงในกายในจิตไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ
เพราะแก่นของการปฏิบัติอยู่ที่การเจริญสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องและต่อเนื่อง
ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ พิธีการ อันเป็นเพียงเปลือกนอก
ของการทำสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกรม ฯลฯ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 13:16:17

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 13:49:44
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 14:20:36
_/I\_ สาธุ กราบขอบพระคุณมากค่ะคุณอาปราโมทย์
เข้าใจมากขึ้นอีกเป็นกองเลยค่ะ หนูนี่เข้าข้างกิเลสตัวเองจริงๆ แหะๆ

สรุปว่า ทุกครั้งที่เราอยู่ในท่านั่งที่มีความรู้ตัว หรืออยู่ในท่าเดินที่มีความรู้ตัว
ก็ถือได้ว่าเรากำลังนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่แล้วใช่มั๊ยคะ
แล้วทีนี้ ที่การนั่งสมาธิแบบหลับตา หลังตรง หรือ เดินจงกรม แบบกลับไปกลับมา
เราก็ยังจำเป็นต้องทำใช่มั๊ยคะ แม้ถึงเราไม่อยากทำ เราก็ควรฝืนกิเลสหรือเปล่าคะ
คือพอเห็นคุณสุรวัตน์บอกว่า ไม่ได้เดินจงกรม ไม่ได้นั่งสมาธิ
หนูเลยรีบฉวยโอกาสเอามาคิดเข้าข้างตัวเองเลย แหะๆ
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 14:20:36

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 14:31:36
ขอย้ำอีกครั้ง เพื่อความแน่ใจ ที่ว่าการนั่งสมาธิแบบหลับตา หลังตรง หรือ เดินจงกรม แบบกลับไปกลับมา ซึ่งเป็นไปอย่างมีสติสัมปะชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม และก็ตามรูปแบบด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความจำเป็น แต่ว่ามันจะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติธรรม อย่างนี้เข้าใจถูกต้องแล้วหรือยังคะ
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 14:31:36

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:10:33
การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำวัตรสวดมนต์
ไม่จำเป็นนักกับคนที่มีสมาธิ และมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน
แต่คนส่วนมาก ไม่ได้มีสมาธิและสติสัมปชัญญะจริงนะครับเจื้อย
การปฏิบัติธรรมตามรูปแบบ จึงจำเป็นสำหรับคนบางคน
แต่ก็เป็นเครื่องรุงรังสำหรับคนบางคน ที่เขาพร้อมมากแล้ว

อาจะยกตัวอย่างให้ฟังท่านหนึ่ง คือหลวงพ่อทูล
ในขณะที่ท่านเข้าถึงธรรมนั้น ท่านได้ฌาน 8 โดยอัตโนมัติด้วย
เพราะท่านอบรมสมาธิจิตมาดีแล้วตั้งแต่อดีต
เพียงทำความสงบนิดหน่อย ท่านก็สามารถมีสติปัญญาอยู่ในชีวิตประจำวัน
แล้วพัฒนาจิตใจไปได้อย่างน่าอัศจรรย์
แต่คนอื่นที่จะเอาอย่างท่านนั้น ลำบากสักหน่อยครับ
เพราะแทนที่จะเป็นการเจริญปัญญาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน
ก็อาจจะกลายเป็นการคิดๆ เอา แล้วกิเลสหลบในอยู่เฉยๆ ได้ง่ายๆ

สมาธินั้นจำเป็นสำหรับการบรรลุมรรคผลครับ
ถ้ายังไม่มีก็ต้องทำให้มี
ถ้ามีแล้วก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์เพื่อหนุนปัญญา
ให้ฉลาดแหลมคมขึ้นไปเป็นลำดับๆ
แต่การทำสมาธิหรือปฏิบัติธรรมตามรูปแบบ
สำหรับคนที่หลอมรวมการปฏิบัติเข้าในชีวิตจริงได้แล้ว
ก็ไม่มีความสำคัญมากนัก
เพราะในขณะที่เจริญสติสัมปชัญญะอยู่นั้น
หากจิตฟุ้งซ่าน หรือต้องการพักในสมาธิ
ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดจิตเข้าพักในความสงบได้เป็นระยะๆ ไป
ซึ่งก็คือการทำสมาธินั่นเอง แต่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเห็นได้เป็นรูปธรรม
เพราะเป็นงานภายในล้วนๆ ทีเดียว

อาเคยอ่านธรรมะของคุณ listener แล้วรู้สึกถึงใจมาก
จึงนำมาให้หนูเจื้อยได้อ่านด้วย ดังนี้
ขอทุกย่างก้าว จงเป็นโอกาสแห่งการเดินจงกรม
ขอทุกลมหายใจ จงเป็นโอกาสแห่งการเจริญสติ
ขอทุกคำพูด จงเป็นโอกาสแห่งเมตตาและสัจจะ
ขอทุกความคิดและการกระทำ จงเป็นสัมมาทิฏฐิ


ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติตามรูปแบบ
ถ้ายังไม่ได้อย่างนี้ การทนๆ ทำตามรูปแบบ ก็มีประโยชน์มากเช่นกัน
อาจึงไม่อาจสรุปชี้ขาดไปทางใดทางหนึ่งตามที่เจื้อยต้องการได้
ว่าการปฏิบัติตามรูปแบบ จำเป็นหรือไม่
อย่างพระหนุ่มเณรน้อยตามวัดป่านั้น
ถ้าไม่มีกิจวัตรต้องทำวัดสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ก็อาจจะไม่ปฏิบัติเลยก็ได้
เพราะยังไม่มีฉันทะที่จะปฏิบัติเองโดยไม่ถูกบังคับ

หรืออย่างพวกเราส่วนมาก มีสิ่งดึงดูดไปทางโลกมาก
ถ้าบังคับตนเองให้ทำกิจวัตรหรือปฏิบัติตามรูปแบบไว้บ้าง
จะช่วยเสริมกำลังใจได้มากครับ
มิฉะนั้นก็จะขี้เกียจปฏิบัติ
แต่ปลอบใจตนเองว่า เราปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน

เราหลอกตนเองได้ แต่หลอกกิเลสไม่ได้หรอกครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:10:33

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:14:54
มานั่งอ่านประโยคที่คุณอาบอกว่า

"ส่วนการสวดมนต์ไหว้พระ ก็ต้องไหว้ให้ถึงใจ
คือระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยความมีสติ มีความสงบเบิกบาน
ไม่ใช่นั่งท่องปาวๆ ไปเฉยๆ แบบเด็กท่องอาขยาน
(ไม่ทราบว่าเด็กเดี๋ยวนี้ยังท่องกันหรือเปล่า)"

มาระลึกดู ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นประเภทสวดมนต์ปาวๆเหมือนเด็กท่องอาขยานจริงๆด้วย ต้องปรับปรุงตัวใหม่จริงๆด้วยค่ะ
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:14:54

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:23:01
_/I\_ สาธุ กราบขอบพระคุณคุณอามากค่ะ
มองเห็นอะไรชัดเจนขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ
แหม ถูกกิเลสหลอกมาทั้งวันเลยเมื่อวาน
หลงนึกว่า สบายแล้วสิ ไม่ต้องฝืนปฏิบัติตามรูปแบบแล้วล่ะ
แต่ก็ไม่ได้รู้กำลังสติสัมปะชัญญะของตัวเองเล๊ย ว่ามีแค่ไหน
กราบขอบพระคุณคุณอาปราโมทย์อีกครั้งที่ช่วยกรูณาแนะนำสั่งสอนค่ะ
โดยคุณ เจื้อย วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:23:01

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:27:23
อามีตัวอย่างอันหนึ่งจะเล่าให้เจื้อยฟัง เป็นเรื่องเมื่อสัก 15 ปีมาแล้ว
ตอนนั้นอาไปปฏิบัติที่วัดหินหมากเป้งกับหมู่เพื่อนกลุ่มหนึ่ง
พออยู่วัดไปหลายวันเข้า เช้าวันหนึ่งพี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไปวัดด้วยกัน
ก็เข้าไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์ว่า
"หลวงปู่เจ้าคะ ทีนี้หนูจะไม่นั่งสมาธิ และเดินจงกรมแล้ว
เพราะปราโมทย์ไม่เคยนั่งสมาธิ และเดินจงกรมเลย
แต่หลวงปู่บอกว่าเขาปฏิบัติดี"
หลวงปู่ตอบเบาๆ ว่า "ทำให้ได้อย่างเขาสิ"

อาจึงได้ความคิดมาแต่ครั้งนั้นว่า
เหตุใดครูบาอาจารย์ท่านจึงต้องนำนั่งสมาธิและเดินจงกรม
ทั้งที่ท่านไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรแล้ว
แต่ท่านก็ต้องทำเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานดู

ม่ายยังงั้น ลูกหลานมันจะพากันขี้เกียจ
แล้วบอกว่าเอาอย่างครู :(
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 15:27:23

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 16:15:46
เหตุที่ผมไม่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมนั้น
เป็นเพราะไม่สามารถเจริญสติสัมปชัญญะในขณะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมได้เลย
ทำทีไรความรู้ตัวหายไปหมด มีแต่ความคิดฟุ้งซ่านและง่วงนอน
แต่พอฝึกเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตประจำวัน
กลับทำได้ดีและง่ายกว่า จึงฝึกในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ
ส่วนใครจะเหมาะกับการฝึกลักษณะใดนั้น  ต้องสังเกตด้วยตัวเองครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 16:15:46

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 08:47:50
อิ อิ คุณอาพูดดักไว้อย่างนี้ผมก็หมดข้ออ้างที่จะขี้เกียจปฏิบัติแล้วสิครับ
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 08:47:50

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 11:08:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 15:32:06
"รู้สึกว่าหนูเจื้อย พยายามทำความเข้าใจ
  อย่างที่อยากจะให้เป็น เสียแล้วล่ะครับ"
น้องเจื้อยพลาดประโยคเด็ดนี้ไปรึเปล่า:-)

ที่ศาลาลุงชิน..เห็นคนรุมคุณสุรวัฒน์อยู่
จะขยับเท้าเข้าไปรุมบ้าง  แต่มีประโยคหนึ่ง
ที่ทุบหัวตัวเองมาหลายเดือน
"อย่าเอาแต่ชวนพระที่ยังไม่จบกิจคุย"
คิดได้ว่า version เขา ไม่ใช่ version เรา
ก็เลยถอย ขอโมทนาสาธุอยู่ห่างๆดีกว่า:-)
โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 15:32:06

ความเห็นที่ 38 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 16:42:55
อย่างนี้ถ้าเราสามารถทำความรู้ตัวหรือรู้ในอาการ
ยืน, เดิน, นั่ง, นอน, กิน, ดื่ม, ทำฯ ,พูด, คิด
ให้มีสติกำกับอยู่ตลอด โดยจิตเป็นกลาง ก็เท่ากับว่าเป็นการ
เจริญสติ โดยไม่ต้องมานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม
ก็ได้ใช่ไหมครับ?
   
โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 16:42:55

ความเห็นที่ 39 โดยคุณ เจื้อย วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 17:16:01
ไม่พลาดหรอกพี่ไพ อ่านปุ๊ปเหมือนถูกตีเข้าแสกหน้า หงายหลังกลิ้งไปเลย : ) แล้วก็เป็นอันเข้าใจ๊ เข้าใจความรู้สึกของพวกที่เคยโดนอย่างนี้มาแล้ว อิอิอิ

นึกแล้วก็ดีใจว่า ตัวเองมานั่งถามอยู่ในนี้ ไม่ได้ไปคิดเอง เออเอง ถ้าไม่อย่างนั้น สงสัยจะถูกกิเลสหลอกต่อไปอีกยาวเชียวล่ะ : )
โดยคุณ เจื้อย วัน อังคาร ที่ 28 พฤศจิกายน 2543 17:16:01

ความเห็นที่ 40 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 09:15:48
คำถามของคุณปิ่นต้องแยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ครับ

"อย่างนี้ถ้าเราสามารถทำความรู้ตัวหรือรู้ในอาการ
ยืน, เดิน, นั่ง, นอน, กิน, ดื่ม, ทำฯ ,พูด, คิด
ให้มีสติกำกับอยู่ตลอด โดยจิตเป็นกลาง ก็เท่ากับว่าเป็นการเจริญสติ"

อันนี้ถูกต้องเลยครับ

"โดยไม่ต้องมานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม ก็ได้ใช่ไหมครับ?"

ถ้าทำอย่างประโยคข้างบนได้ นั่งอยู่ก็คือนั่งสมาธิ
เดินอยู่ก็คือเดินจงกรมแล้วครับ

ผมขออธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ
เพราะเห็นว่าพวกเราบางคนอาจจะยังเข้าใจไขว้เขวอยู่บ้าง
เรื่องการปฏิบัติธรรมนั้น ถึงอย่างไรก็ต้องเจริญไตรสิกขา
คือศีล สมาธิ และปัญญา จะทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย

แต่การเจริญสมาธินั้น ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบของการนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมเสมอไป
หากแต่อยู่ที่สภาวะของจิตที่เข้าไปพักสงบอยู่กับอารมณ์อันเดียว
ซึ่งนักดูจิตที่ชำนาญ ในเวลาดูจิต จะทำวิปัสสนาก็ได้ จะเข้าพักในสมถะก็ได้
เช่นในเวลาที่ผมแนะนำกรรมฐานให้พวกเรานั้น
ผมก็เข้าสมาธิอยู่เป็นระยะๆ เพื่อพักผ่อนโดยไม่มีใครทราบ
หรือที่คุณสุรวัฒน์ฯ หรือผม ไม่ค่อยได้นั่งสมาธิตามรูปแบบ
ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำสมาธิ แต่เราทำในระหว่างการดูจิตนั้นเอง
คือจิตพลิกไปมาระหว่างสมถะกับวิปัสสนาอยู่ในตัวแล้ว
ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ความจำเป็นของการนั่งสมาธิ
หรือการเดินจงกรมตามรูปแบบก็มีไม่มากนัก

แต่ผมเองชอบการเดินจงกรมครับ
เพราะได้กำลังดีทั้งสมาธิและปัญญา แถมได้กำลังกายด้วย
อันนี้เป็นความถนัดเฉพาะตัวครับ

สิ่งที่อยากจะฝากกับพวกเราอีกประเด็นหนึ่งก็คือ
การสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมตามรูปแบบนั้น
เป็นกิจวัตรที่ช่วยเสริมความมั่นคงให้กับคนที่อินทรีย์ยังอ่อนได้เป็นอย่างดี
ถ้าเราประกาศทิฏฐิว่า สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นเลย ก็จะเป็นอันตรายกับคนรุ่นหลัง
ซึ่งพร้อมที่จะอ้างว่า ตนเองปฏิบัติธรรมอยู่ในระหว่างการตีสนุ๊กบ้าง
ในระหว่างเล่นเกมส์บ้าง ในชีวิตประจำวันบ้าง ในขณะจีบสาวบ้าง

ทั้งที่ความจริงในระหว่างนั้น
จิตไม่มีพลังสมาธิและปัญญาที่คมกล้าจริงๆ
หากแต่เจริญสติทื่อๆ มัวๆ ไปอย่างนั้นเอง
เป็นการปฏิบัติแบบถนอมกิเลส หรือสะกิดเอวให้กิเลสหัวเราะเท่านั้น

ขอให้พวกเราห้าวหาญในการปฏิบัติธรรมดีกว่าครับ
อย่างเวลาที่ผมอ่านธรรมะที่พระท่านไปขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า
พอพระองค์สอนกรรมฐานแล้วก็จะทรงแนะนำต่อไปว่า
โน่นโคนไม้ โน่นป่า โน่นถ้ำ ฯลฯ
ให้เธอไปนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
สำรวมกาย วาจา ใจ มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมให้สมกับเป็นลูกตถาคต
ผมอ่านธรรมเหล่านี้แล้ว จิตใจคึกคักเข้มแข็งเสมอ
เหมือนได้อ่านเรื่องราวของนักรบที่ก้าวเข้าสู่สมรภูมิทีเดียว

ลูกๆ หลานๆ ทั้งหลายของพระพุทธเจ้า จงตั้งใจต่อสู้ไว้ครับ
อย่ามัวคิดเรื่องที่จะทำให้เราย่อหย่อนอ่อนแอ
ขอให้คิดไว้ก่อนว่า เราจะเจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ตั้งเป้าหมายสูงไว้ก่อนแล้วพยายามทำบ้าง
ก็ยังดีกว่าจะไปตั้งเป้าว่า เราจะรู้ๆ เอาในชีวิตประจำวันก็เพียงพอแล้ว

เพราะถ้ามันพอจริง ก็ยังรอดตัวได้
แต่ถ้ามันไม่พอจริง เมื่อไรจะพ้นทุกข์ได้ล่ะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 09:15:48

ความเห็นที่ 41 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 09:27:56
เรื่องนี้สรุปแล้ว จะเป็นอย่่างที่คุณสุรวัฒน์กล่าวไว้เลยครับ ว่า
"เหตุที่ผมไม่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมนั้น
เป็นเพราะไม่สามารถเจริญสติสัมปชัญญะในขณะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมได้เลย
ทำทีไรความรู้ตัวหายไปหมด มีแต่ความคิดฟุ้งซ่านและง่วงนอน
แต่พอฝึกเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตประจำวัน
กลับทำได้ดีและง่ายกว่า จึงฝึกในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ
ส่วนใครจะเหมาะกับการฝึกลักษณะใดนั้น  ต้องสังเกตด้วยตัวเองครับ"

นั่นก็คือ ผู้ใดปฏิบัติอย่างไรแล้ว
อกุศลเสื่อมไป สติสัมปชัญญะหรือกุศลเจริญขึ้น
ก็ขอให้ทำอย่างนั้นไปครับ ให้พิจารณาตนเองด้วยปัญญาอย่างถ่องแท้
ว่าสมควรอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น

และที่คุณสุรวัฒน์ไม่ค่อยเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ
ก็เพราะทำแล้วสติสัมปชัญญะไม่คล่องแคล่ว เท่ากับรู้ในชีวิตประจำวัน
อันนี้เป็นเหตุผลในทางธรรมล้วนๆ ทีเดียว
ไม่ใช่เพราะคุณสุรวัฒน์ขี้เกียจเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ
เลยหาข้ออ้างว่าจะทำเฉพาะในชีวิตประจำวัน

ตรงนี้ต้องวัดใจตนเองให้ดี อย่าถูกกิเลสหลอกเอานะครับ
ที่ผมต้องพูดเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้
ก็เพราะห่วงใยว่า พวกเราจะเสียท่ากิเลสน่ะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 09:27:56

ความเห็นที่ 42 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 10:42:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 43 โดยคุณ ปิ่น วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 14:20:35
_/|\_ กราบขอบพระคุณพี่ปราโมทย์มากครับ
โดยคุณ ปิ่น วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 14:20:35

ความเห็นที่ 44 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:04:54
สาธุครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:04:54

ความเห็นที่ 45 โดยคุณ จ้อม วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 11:40:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 46 โดยคุณ นุดี วัน พุธ ที่ 6 ธันวาคม 2543 12:10:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 47 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 8 ธันวาคม 2543 21:41:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 48 โดยคุณ Tuledin วัน ศุกร์ ที่ 15 ธันวาคม 2543 15:11:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com