กลับสู่หน้าหลัก

สงสัย

โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 15:07:44

ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา วิมุตติมีเรื่องดีๆเกิดขึ้นมากมาย แต่มืเรื่องหนึ่งที่ผมไม่คิดว่าในชาตินี้จะได้เห็นประจักษ์พยาน นั่นคือ การเจริญสติสัมปชัญญะ จนได้ดวงตาเห็นธรรม

หากในอดีตที่ผ่านมา สัก 5 - 6 ปี มาแล้วนั้น ผมรู้จักพระป่าก็หลายองค์อยู่ หากแต่รู้จักเพียงชื่อและฉายาของท่านเท่านั้น และหลงคิดไปว่า ปัจจุบันนี้จะหาพระที่ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบให้เป็นที่พึ่งได้นั้น คงไม่มีแล้ว

นี่ก็นับเป็นความเห็นที่ผิดที่เกิดจากการคาดเดาของผมเองทั้งนั้น

เมื่อวันหนึ่งได้ทราบข่าวกับน้องชายว่า ได้พบกับพระรูปหนึ่งที่วัดแถวๆทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ท่านบอกว่า ครูบาอาจารย์ทางสายพระป่ายังมีอยู่ และท่านจะพาไป ผมก็เกิดความยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยว่าตนเองยังมีภาระต่อพ่อยู่ ผมจึงบอกน้องชายว่า ให้น้องชายไปบวชก่อน ไม่ต้องห่วงพ่อหรอก ไว้ให้เป็นธุระของพี่ชายพี่สาวเถิด และได้ออกอุบายวิธีการที่จะทำให้พ่อต้องเอ่ยปากอนุญาตให้บวชไว้ได้เสร็จสรรพ

เหตุการณ์ผ่านล่วงเลยมา ผมก็ไม่ได้ตามน้องชายไปบวชสักที ก็ใช่ว่าจะเสียเวลาเปล่าแต่อย่างเดียว ด้วยบุญพาวาสนาส่ง ทำให้ผมได้พบกับครูทางอินเตอร์เน็ต เมื่อเกือบ 2 ปี ที่แล้ว ครูได้อุตส่าห์แนะนำ ปลอบประโลม ให้กำลังใจ กับการปฎิบัติที่แสนจะไม่ได้เรื่องของผมอยู่เสมอมา ดีบ้าง แย่บ้าง ไปตามเรื่องตามราว ส่วนใหญ่จะแย่เสียมากกว่า เป็นเพราะการปฎิบัติธรรมแบบ ทอดหุ่ย เสียมากกว่าเพราะเหตุอื่น

เมื่อประมาท ก็ปล่อยตัวให้หลงระเริงอยู่กับอารมณ์อย่างไม่รู้ตัว เป็นเหตุให้ใจนี้เศร้าหมองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อคราวต้องทุกข์ใจ ก็ทุกข์ใจแสนสาหัส คราใดที่โลกธรรม 8 แสดงอาการสั่นไหวกระทบกระทั่งใจ ก็ทุกข์ใจไปทุกคราว เมื่อทุกข์ใจก็เสื่อมถอยกำลังใจไปเป็นอันมาก

มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่เคยพบเห็นก็คือ คราใดก็ตามที่เราหมั่นฝึกฝนทำสมาธิ จิตใจเราจะมีกำลัง แต่ก็ไม่เบิกบานอะไร ยังมีความเศร้าหมองเคลือบอยู่เสมอๆ ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น และการไม่ปล่อยตัวเองไปตามใจของตัวเองมากนักมาควบคุมเอาไว้ จึงจะรักษาไม่ให้เกิดความเสียหายตามมาได้

เมื่อวันใดที่ต้องไปศาลาฯ ก็รู้สึกว่าตนเองผิดที่ไม่รู้จักเจริญ สติ-สัมปชัญญะ ตามที่ครูสอนมา และกลัวครูจะรู้ เหมือนเด็กที่ถูกจับได้ว่าแอบไปทำความผิดมา ก็ยิ่งกระวนกระวายใจไปกันใหญ่

จวบจนกระทั่งได้รู้ได้เห็นผลของการเจริญสติสัมปชัญญะอย่างเต็มที่ ไม่บกพร่อง ของคุณสุรวัฒน์ นั้นแหละที่ทำให้มีความเห็นว่า เห็นทีเราคงจะต้องเจริญสติให้สม่ำเสมอบ้างแล้ว และช่างเป็นจังหวะที่ดีเสียด้วยสิครับ เพราะในขณะนั้นก็มีปัญหาเรื่องการทำงานอยู่ด้วย ความทุกข์ใจก็ไม่น้อยเลย แต่อาศัยว่ากัดฟันได้แน่น เลยอดทนได้เรื่อยมา

เมื่อเห็นประโยชน์ที่คุณสุรวัฒน์ได้รับ ก็ทำให้เห็นว่า การเจริญสติ-สัมปชัญญะนี้ มีประโยชน์ไม่น้อยเลย เราควรจะเจริญสติดีกว่า อย่างน้อยก็คงจะดีกว่าที่เราปล่อยใจให้ทุกข์อยู่อย่างนี้

เมื่อเริ่มเจริญสติ-สัมปชัญญะ ก็ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่า การตามจับอาการของกาย ว่าในขณะนี้มีอริยาบถใด บ้างก็จับที่มือ บ้างก็จับที่ขา บ้างก็จับที่ศีรษะ พยายามทำบ่อยเท่าที่จะทำได้ เมื่อทำไปได้สักพัก ก็เริ่มมาสังเกตที่อาการของใจด้วย ว่าในขณะนั้นใจเองมีอาการอะไรอยู่บ้าง กำลังดีใจ กำลังเสียใจ กำลังโกรธ กำลังเพลิน กำลังอยาก หรือกำลังทำอะไร แต่ก็มิได้เพ่งเข้าไปที่ใจเพื่อดูอาการของใจ หากแต่ทำเหมือนกับเงี่ยงหูฟังมากกว่า ว่าในขณะนี้ใจกำลังเป็นอย่างไร

เมื่อขณะนั้นใจกำลังเฉย ก็รู้ กำลังโกรธ ก็รู้ กำลังคิด ก็รู้ กำลังชอบ ก็รู้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ไปตลอด เพียงแต่ทำได้เป็นพักๆ

เมื่อทำดังเช่นที่ว่านี้สัก 3 วัน ควาทุกข์ใจเพราะเหตุของการงานกลับไม่มาปรากฎ หากแต่มีความสบายใจปรากฎขึ้น มีความสุขอันละเอียด สุขุม ปราณีต เกิดขึ้นด้วย เป็นสุขที่ละเอียดกว่าสุขใดๆที่เคยได้มาจากสมาธิก่อนหน้านี้ด้วย

สุขตรงนี้จะเรียกว่าอะไร ผมไม่ได้สนใจ รู้ว่ามีปรากฎเป็นระยะอย่างนั้น แต่ที่สังเกตรู้ก็คือ ใจมิได้มีอาการปฎิเสธหรือรังเกียจความสุขอันนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปราถนาในสุขอันนี้เช่นเดียวกัน ต่างจากความสุขอื่นที่เคยได้พบในสมาธิ ที่ใจเองนั้นปฎิเสธอย่างเต็มเหนี่ยว นอกจากจะไม่ยินดีแล้วยังรังเกียจด้วย โดยมีความรู้สึกว่า สุขนี้แหละเป็นเหตุของทุกข์ (หากเราเผลอไปคลุกคลีส้องเสพมันเข้าไป)

ที่เขียนตรงนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า มีความสุขอันอื่นใดอีก แต่หากเปรียบเทียบกับสุขอื่นที่ได้จากสมาธิแล้ว สุขนี้ละเอียดปราณีตกว่า เป็นความสุขเพราะวางทุกข์ที่แบกไว้ก่อนหน้านี้ได้ (แม้จะชั่วคราวก็ตาม) เพียงแต่ตรงนี้ทำให้เห็นว่า แม้โลกธรรมทั้ง 8 เราจะวางทิ้งอย่างไม่ไยดียังไม่ได้ก็ตาม หากแต่เมื่อใดที่เราวางชั่วคราวได้ โดยการไม่ไปสนใจใยดีอะไรในโลกธรรมนี้ หากแต่ไปเจริญสติ-สัมปชัญญะแทนเท่านั้นเอง

เท่านี้ ก็เพียงพอที่จะยืนยันกับตนเองได้แล้วว่า เราควรที่จะเจริญสติ-สัมปชัญญะนี้ให้มาก เอา ฐานของสติ เป็นวิหารธรรม มากกว่าที่จะเอา การแสวงหากามคุณ 5 เป็นวิหารธรรม ซึ่งนอกจากไม่ให้ประโยชน์แล้วยังให้โทษอีกมากด้วย

เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ได้บอกกล่าวกับครูว่า ต่อไปนี้ผมจะเอาฐานของสติเป็นวิหารธรรม

เมื่อเจริญสติ - สัมปชัญญะ ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าในขณะนั้นจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือ ขับรถอยู่ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะเกิดความสุขใจอย่างที่เกิดมาก่อนหน้านั้นอีก เพราะคราวนี้ก็เป็นไปตามปกติ ก็คือ เรื่อยๆ เรียบๆ ไม่มีอะไรให้โลดโผน ตื่นตา ตื่นใจ แม้แต่น้อย แต่มีปรากฎการณ์บางอย่างที่น่าแปลกใจก็คือ เมื่อเผลอ จะเผลอไม่นาน เหตุเป็นเพราะจิตเองแหละที่กลัวทุกข์ กลัวว่าหากหลงไปในอารมณ์แล้วตนเองจะต้องทุกข์ พอเผลอไปในอารมณ์ต่างๆ สักพักจิตก็จะเตือนตนเอง ให้กลับมาอยู่กับการเจริญสติ-สัมปชัญญะต่อไป

เมื่อ 2 - 3 วัน ก่อน ในขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น ความปวดเมื่อยก็มาเยือนตามปกติ จิตก็มองความปวดเมื่อยนั้นพร้อมกับพิจารณาความเป็นทุกข์ของกายไปด้วย เป็นการพิจารณาเวทนาไปพร้อมๆกับกาย และพิจารณาความเป็นทุกข์ของกาย และเมื่อพิจารณาไปเช่นนั้นก็ย้อนกลับมาดูใจตนเองด้วย ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีความอยากสบายบ้างไหม หรือมีความรู้สึกอยากหนีออกจากความเป็นทุกข์บ้างไหม ก็ดูสลับไปสลับมาทั้งกายเวทนาและจิตไปอย่างนั้น เดี๋ยวก็เห็นความอยากนั้นผุดขึ้นแล้วก็ดับลง ความอยากอย่างนี้ผุดขึ้นแล้วก็ดับลง และบางขณะก็เห็นความวางเฉยของจิตผู้รู้ปรากฎอยู่ด้วย

ในขณะที่เห็นความเป็นไปเช่นนั้นปรากฎอยู่ สลับวนเวียนไปมาเช่นนี้ ก็เห็นว่า ความสงสัยเป็นเพียงอาการของใจ และมีความรู้แว่บหนึ่งผุดขึ้นมาอีกว่า เมื่อก่อนนี้เราศึกษาธรรมด้วยความคิด และ เมื่อศึกษาธรรมด้วยความคิด ก็ต้องหลงอยู่กับความสงสัย และจากนั้นก็เห็นว่า ความสงสัยก็คือความขุ่นมัวที่หุ้มห่อใจ ซึ่งก็มาเข้าใจทีหลังว่า ความสงสัยนี้ก็เป็นพวกเดียวกับโมหะเหมือนกัน

เรื่องความสงสัยนี้ เคยได้ยินครูพูดมานานแล้วว่า เมื่อสงสัย ให้ดูความสงสัย แต่เมื่อก่อนนี้ทำไม่ได้ และไม่เข้าใจว่า ทำไมครูจึงแนะนำเช่นนี้ แต่มาในระยะหลังนี้ ตั้งแต่ตั้งใจว่าจะเอาฐานของสติเป็นวิหารธรรม ก็พยายามทำอย่างที่ครูแนะนำไว้ และจนบัดนี้ แม้ว่าจะไม่สิ้นสงสัย แต่ก็รู้เท่าทันว่า ความสงสัยก็เป็นเพียงอาการหนึ่งของจิตเท่านั้น และเมื่อสงสัยครั้งใด ความสงสัยก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และไม่มีอานุภาพเพียงพอที่จะดึงให้หนีออกไปจาก ฐานของสติ อันเป็นสิ่งที่ตั้งใจที่จะทำให้เป็นวิหารธรรมได้เลย (อาจจะมีบ้างที่ดึงไปได้นานหน่อย แต่จิตเองก็กลัวทุกข์ ก็จะกลับมาในระยะเวลาไม่นานนัก)


โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 15:07:44

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 15:24:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ โยคาวจร วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 16:00:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ เจื้อย วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 17:51:31
สาธุค่ะ คุณพัลวัน

อยากจะขอรบกวนคุณพัลวันช่วยอธิบายคำว่า "เอาฐานของสติเป็นวิหารธรรม" ให้หน่อยค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
โดยคุณ เจื้อย วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 17:51:31

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 18:48:39
ขออนุโมทนา ในการเจริญในธรรมด้วยครับ

โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 18:48:39

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 18:53:04
"เอาฐานของสติเป็นวิหารธรรม" ก็คือ การเจริญสติอยู่เนืองๆ หรือที่เรียกกันว่า "ภาวนา" ก็ได้ครับ เพียงแต่พูดในมุมมองที่ต่างออกไปครับ หรือหากพูดให้ง่ายก็คือ "เอา สติปัฏฐานเป็นวิหารธรรม" น่ะครับ

จริงๆแล้วจะพูดว่า หมั่นเจริญสติ ก็ไม่ผิดความหมายประการใดครับ เพียงแต่เมื่อพูดว่า เอาฐาน(หรือที่ตั้ง)ของสติ เป็นวิหารธรรม จะทำให้เห็นภาพพจน์ในแง่ของการดำเนินชีวิตได้ดีครับ หรือหากจะพูดในอีกแง่มุมหนึ่งที่เราคุ้นเคยดีก็คือ "พยายามไม่ส่งจิตออกนอก" น่ะครับ พูดแบบนี้อาจจะเข้าใจเพราะคุ้นเคยอยู่ก่อนครับ เพียงแต่สำหรับผมแล้วไม่ถึงใจเท่ากับคำกล่าวที่ว่า "เอาฐานของสติเป็นวิหารธรรม" ครับ เพราะใจประจักษ์อย่างนั้นครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 18:53:04

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 18:56:35
กลับมาอ่านอีกที บางทีการโพสต์ข้อความที่ไม่รัดกุม อาจะทำให้เข้าใจผิดไปได้ครับ

"แต่มืเรื่องหนึ่งที่ผมไม่คิดว่าในชาตินี้จะได้เห็นประจักษ์พยาน นั่นคือ การเจริญสติสัมปชัญญะ จนได้ดวงตาเห็นธรรม"

ข้อความนี้ ไม่ได้หมายถึงผมนะครับที่ได้ดวงตาเห็นธรรมน่ะครับ เพราะตอนนี้ก็ยังมัวๆซัวๆอยู่เช่นเดียวกับปุถุชนทั้งหลายครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 18:56:35

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2543 19:27:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 10:13:17
ขอบคุณมากค่ะ
โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 10:13:17

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 10:33:02
เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะได้ถูกต้อง และสามารถพัฒนาจิตให้เจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันได้
ความเข้าใจและเข้าถึงคำสอนของครูก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าจะทำได้
อย่างที่คุณพัลวันก็ได้เห็นแล้วว่า ความสงสัยก็เป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งเท่านั้น
และเป็นเพียงสิ่งสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยจิตที่เป็นกลาง (เมื่อสงสัย ก็ให้รู้(ดู)ความสงสัย)
อนุโมทนากับคุณพัลวันด้วยครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 10:33:02

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 14:03:28
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า
ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติชาวเมือง หรือพวกปัญญาชนที่สำคัญที่สุด
ได้แก่ความสงสัยอย่างหนึ่ง กับความเบื่ออีกอย่างหนึ่ง

ความสงสัยนั้นมีตั้งแต่สงสัยว่า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง
จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง
ตลอดไปถึงความสงสัยว่า
ปฏิบัติเพียงตามรู้ปรากฏการณ์ทางกายและจิตเท่านี้น่ะหรือ
จะทำให้ถึงมรรคผลนิพพานได้จริง

ส่วนความเบื่อนั้น เกิดจากการที่เคยอ่านมาก ฟังมาก คิดมาก
เมื่อต้องมาเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์ซ้ำๆซากๆ อยู่ในกาย เวทนา จิต
ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะรู้สึกจำเจ ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่
หรือเบื่อที่จะเฝ้ารู้ เพราะไม่สนุกเร้าใจเหมือนกามคุณทั้ง 5
ถูกกามคุณทั้ง 5 ชักจูงให้เบื่อการปฏิบัติ

ถ้าผู้ปฏิบัติเพียงแต่รู้ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของความสงสัย
ก็ไม่ต้องมีเรื่องให้คิดค้นคว้าใดๆ อีก คงตั้งหน้า รู้ ไปอย่างเดียว
และเมื่อเห็นความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ผู้ปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะปฏิบัติไปด้วยความไม่เบื่อ

ผมพากเพียรบอกกับพวกเรามานาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก
จนบางคนรู้สึกขำ แล้วเอาไปพูดล้อเลียนเล่นกันก็มี
คือบอกว่า สงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย เบื่อก็ให้รู้ว่าเบื่อ
แต่ไม่ว่าจะพูดบ่อยเพียงใด ก็หาคนที่เข้าใจ และปฏิบัติตามได้ยากเต็มที
เพราะรู้สึกว่าเป็นธรรมที่ตื้นเหลือเกิน
ดังนั้น คนที่ผ่านด่านคู่นี้ได้ จึงมีไม่มากนัก
เมื่อคุณพัลวันผ่านด่านความสงสัยได้อีกคนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา

ความสงสัย ความเบื่อ ความรัก ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่
ความสุข ความทุกข์ ความสงบ ตลอดจนกุศลธรรมทั้งปวง
ล้วนแต่เป็นกิริยาอาการหรือความปรุงแต่งของจิตทั้งสิ้น
ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล ก็ล้วนเป็นความเศร้าหมองของจิต
ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล ก็เป็นความแจ่มใส เบาสบายของจิต
แต่ทั้งหมดก็ล้วนไม่ใช่จิต ถ้าเข้าใจจุดนี้และจิตฉลาด
ไม่ถูกความปรุงแต่งครอบงำ จิตก็จะเป็นอิสระ หมดภาระวุ่นวายต่างๆ

แต่การจะรู้ความสงสัย (หรือความปรุงแต่งอื่นๆ) ต้องรู้ให้ถูกด้วย
คือรู้เข้าไปที่  "ความรู้สึกสงสัย" อันเป็นสิ่งที่ี่นักอภิธรรมเรียกว่าปรมัตถธรรม
ไม่ใช่ไปรู้ "เรื่องที่สงสัย" อันเป็นบัญญัติ
เช่นเมื่อฟังคำสอนเรื่องการดูจิตแล้ว เกิดสงสัยว่า
"เอ แล้วเราจะดูจิตอย่างไรดี?" อันนี้เป็นเรื่องที่สงสัย เป็นของสมมุติบัญญัติ
เราไม่ต้องไปเฝ้าดูความคิดหรือประโยคที่ว่านี้
แต่ให้ระลึกรู้ตรงเข้าไปที่ "ความรู้สึกสงสัย"
ตัวความรู้สึกสงสัยนี้แหละเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่แสดงไตรลักษณ์ได้
เมื่อรู้เข้าไปที่ความรู้สึกนี้แล้ว จะเห็นระดับความเข้มของความรู้สึกสงสัย
ว่าไม่คงที่ แล้วก็เห็นมันดับไป อันนี้คือการเห็นไตรลักษณ์

ถ้ารู้ปรมัตถธรรมของความสงสัยเป็นแล้ว
ก็ไม่ยากที่จะรู้ปรมัตถธรรมของความรู้สึกอื่นๆ ได้ไม่ยาก

ดังนั้น อย่ามองข้ามการรู้ความสงสัยเลยครับ
นี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นสนุกๆ แต่อย่างใด
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 14:03:28

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ จ้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 16:17:30
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 16:29:34
ลำพังการที่จะรู้เข้าไปที่ ความรู้สึกสงสัย มักจะไม่ง่ายนักครับ เหตุเพราะว่า จุดอ่อนของปัญญาชน (คือพวกที่ศึกษาเล่าเรียนมามาก) มักจะใช้ความรู้สึกสงสัยนี้แหละเป็นตัวนำ เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดความสนใจที่จะค้นคว้า ศึกษ แสวงหา ความรู้ใหม่ๆ กันต่อไปเรื่อยๆ

ผมเองก็ใช่ว่าจะเก่ง จึงรู้เท่าทัน ความรู้สึกสงสัย อันนี้ได้ แต่เป็นเพราะว่า เมื่อมีความตั้งใจที่จะเจริญสติ มีฐานของสติเป็นวิหารธรรม ในชีวิตประจำวัน ผมสังเกตเห็นความเศร้าหมองของจิตที่ปรากฎขึ้น หลังจากที่เกิดความสงสัยก่อนหน้านั้น และเมื่อสังเกตเห็นบ่อยเข้าก็เห็นว่า ความสงสัยนี้เป็นตัวทำให้เกิดความขุ่นมัวเช่นกัน เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกว่า ความสงสัยนี้คือตัวปรุงแต่งจิตอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงตั้งใจไว้ว่า หากมีความสงสัยปรากฎอีก จะตามรู้เท่าทันให้ได้

เมื่อทำไปดังนั้นแล้ว จึงได้เห็นสิ่งที่กระตุ้นก่อให้เกิดความสงสัย ซึ่งก็คือ ผัสสะ และอาศัยสัญญาร่วมด้วย จึงเกิดเป็นเวทนา แล้วจึงเกิดเป็นความคิด ปรุงแต่งต่อมาเป็นความสงสัย จะผิด จะถูกอย่างไร ก็เคยเห็นเป็นเช่นนี้ครับ

แต่เมื่อถึงตรงนี้แล้ว ใช่ว่าจะรู้โดยประจักษ์แก่ใจในเรื่องของความสงสัยอย่างชัดเจน แม้เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วก็ยังไม่เห็นว่า ความสงสัย นี้ เป็นตัวปรุงแต่งจิตอย่างประจักษ์แก่ใจ แต่ก็ทำให้มีความพยายามที่จะไหวตัวให้รู้เท่าทันความสงสัยแล้ว

เมื่อมาถึงวันหนึ่ง ตามที่เล่าข้างบน (ซึ่งเล่าเรื่องพร่องไปหน่อยครับ) ผมสังเกตเห็นด้วย ว่ามีการบริกรรมพุทโธไปด้วยในใจ ซึ่งก็มีการสังเกตซ้ำไปด้วย ว่าใครภาวนาพุทโธ เมื่อจิตผู้รู้เห็นว่า จิตผู้รู้เป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดู อยู่เฉยๆ ในจิตผู้รู้เองก็วางเฉยๆ เป็นกลางๆอยู่ ดังนั้น การบริกรรมดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จึงเห็นต่อมาว่า คำบริกรรมนี้เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดมาจากที่ใดที่หนึ่งที่ไม่ใช่จิตผู้รู้

เมื่อจิตมีความเห็นว่า คำบริกรรมนี้มิใช่จิต ก็มีความรู้สึกต่อมาว่า คำบริกรรมนี้ก็คือความคิด ดังนั้น ความคิดนี้แหละเป็นผู้บริกรรม (ผิดถูกอย่างไร ต้องขอให้ครูช่วยวินิจฉัยด้วยครับ) เมื่อเห็นว่าความคิดเป็นผู้บริกรรมแล้ว ก็พิจารณาที่ความคิดที่บริกรรม ซึ่งเกิดๆดับๆไปตามปกติอันเป็นธรรมชาติของความคิด ก็ทำให้รู้ขึ้นมาว่า เพราะเราศึกษาธรรมด้วยความคิด เราจึงต้องหลงติดในความสงสัย

ต้องขออภัยด้วยครับที่คราวก่อนเล่าเรื่องตกหล่นไปครับ มานึกได้อีกทีจึงขอเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 16:29:34

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 17:26:30
ตึกอธิบายแจกแจงธรรมได้ดีครับ
เพราะอาศัยผัสสะจึงเกิดสัญญาเวทนา
เพราะสัญญาเวทนาจึงมีสังขารหรือความคิดปรุงแต่ง
เพราะความคิดจึงกระตุ้นให้เกิดกุศล อกุศลขึ้นมาอีกทีหนึ่ง

แต่สำหรับความคิดนั้น ไม่ใช่ผู้บริกรรม ผู้บริกรรมคือจิต
เพราะจิตคือผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
แต่ความคิด เป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างหากจากจิต คือเป็นสังขารขันธ์
ทำนองเดียวกับความสุขความทุกข์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งจากจิต คือเวทนาขันธ์
และทำนองเดียวกับความจำได้หมายรู้ คือสัญญาขันธ์
คล้ายๆ กับแสงสว่างและความร้อนเกิดจากดวงอาทิตย์
แต่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์

รวมความแล้ว จิตนั้นเองปรุงเอง แล้วก็ติดอยู่ในสิ่งที่ตัวเองปรุงขึ้นมา
ท่านจึงว่ามันปรุงเพราะความไม่รู้ว่าจะนำความทุกข์มาสู่ตัวมันเอง

ธรรมะเหล่านี้แสดงตัวอยู่ตลอดมา
ถ้าใครมีตาที่จะมองธรรม ก็ย่อมเห็นธรรมครับ
เวลานี้ตาของพวกเราก็มีอยู่แล้ว
รอแต่เวลาจะลืมตาตื่นขึ้นเท่านั้นเอง
อันความจริงนั้น เราต้องรู้เอา
ถ้าคิดเอาก็ย่อมได้แต่ความคิดเท่านั้น

มารีบปลุกจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานกันเถิดครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 17:26:30

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ tana วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543 18:54:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 07:42:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ป๋อง วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 07:50:41
ผมว่า "เอาฐานของสติเป็นวิหารธรรม" มันฟังดูแปลกๆ นะครับ
สติปัฏฐาน => ฐานของสติ => พื้นสำหรับวางสติ
วิหารธรรม => ธรรมอันเป็นที่อยู่ => บ้านสำหรับให้สติอยู่
ผมรู้สึกว่าสองคำนี้ ความหมายมันเหมือนๆกัน แต่มองคนละแง่

คือหมายถึง กาย/เวทนา/จิต/ธรรม ที่ใช้พิจารณาอยู่
แต่มีสองแง่ คือแง่ที่เป็นเชื้อให้ "สติ" ดำรงอยู่ได้
และเจริญยิ่งขึ้น กับแง่ที่ว่า เป็นของที่ปฏิบัติจนเคยชิน
จนอยู่กับตัวเองแทบตลอดเวลา (เหมือนบ้านของเรา)
อีกทั้งปกป้อง จิต ไม่ให้ซัดส่าย ส่งออกนอก

บางทีผมเห็นมีการใช้คำว่า วิหารธรรมบ่อยๆ กลัวความหมาย
จะเพี้ยนไปจนเหลือเพียงว่า สิ่งที่นึกถึงเสมอๆ เท่านั้นเอง
(อย่างเช่น มีสติเป็นวิหารธรรม มีโมหะเป็นวิหารธรรม ฯลฯ)
ทั้งๆที่ (ในความรู้สึกผม) คำว่ามีวิหารธรรม จะชี้ไปถึงสภาพจิต
ที่มีความตั้งมั่น และเป็นกลาง ด้วยความคุ้มครองของฐานนั้นๆด้วย

หรือผมเอง อาจจะเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนเองก็ได้
โดยคุณ ป๋อง วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 07:50:41

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:22:48
ได้อ่านข้อความของครู แล้วกลับไปทบทวนที่ตัวเอง post อีกที ก็เห็นความรวบรัดของตัวเองทั้งที่ไม่ค่อยจะแน่ใจนัก  (อาจเป็นเพราะเห็นธรรมนี้ไม่ชัด)

"แต่สำหรับความคิดนั้น ไม่ใช่ผู้บริกรรม ผู้บริกรรมคือจิต" ตรงนี้ผมเชื่อว่าจริงครับ เพราะว่าเมื่อผมอ่านทบทวนสิ่งที่ตัวเอง post เข้ามา ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกหรือไม่ เพราะดูแล้วแปร่งๆชอบกลน่ะครับ

"คำบริกรรมนี้มิใช่จิต" อันนี้เห็นอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ คำบริกรรมนี้ก็คือความคิด อันนี้ชัดเจนแน่ เพราะเห็นไม่ต่างไปจากเวลาปกติ เวลาที่คิดนึก หรือคิดก่อนจะพิมพ์ข้อความอย่างนั้น แต่ที่ผมไม่แน่ใจจนต้องถามครูก็คือ ความคิดนี้แหละเป็นผู้บริกรรม ซึ่งตรงนี้ก็ผิดจริงๆด้วยล่ะครับ

เหตุที่ผมไม่แน่ใจนั้นก็เพราะว่า ที่ผมสังเกตเห็นจริงๆก็คือ คำบริกรรมนี้ก็คือความคิด และเห็นว่า คำบริกรรมนี้มันออกมาจากจุดๆหนึ่ง เล็กมาก และไม่เห็นว่าเป็นอะไร เห็นเพียงแว่บเดียวแล้วก็ไม่เห็นอีกเลย ดูเหมือนคล้ายกับ คำบริกรรมนี้เกิดขึ้นเองด้วยซ้ำไปครับ จนทำให้สรุปความ(ในขณะที่ post) ว่า ความคิดนี้แหละเป็นผู้บริกรรม ซึ่งก็รู้สึกทะแม่งๆชอบกลเหมือนกันครับ มาอ่านทบทวนอีกทีแล้วเห็นว่า ความคิดนี้แหละคือคำบริกรรม น่าจะใกล้เคียงกว่า แต่ก็ยังทะแม่งๆอยู่ดีล่ะครับ ซึ่งหากผมไม่มา post กระทู้นี้ ผมคงไม่สนใจหรอกครับว่า ตรงนั้นมันจะเป็นอะไร มีชื่อว่าอะไร เพราะประจักษ์แก่ใจแล้วว่า อุปสรรคสำคัญของการเจริญสติสัมปชัญญะอย่างหนึ่งก็คือ การพยายามที่จะบัญญัติชื่อให้กับธรรมที่พบนั้น ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว หากไม่ต้องสื่อสารกับใคร ก็ไม่ต้องทำอยู่แล้ว และเป็นงานที่ยากด้วยสิครับ

ดีที่ครูยังอยู่ในวิมุตติ คอยให้คำแนะนำครับ ขอบพระคุณครูมากๆครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:22:48

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:22:48
สาธุครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:22:48

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:39:25
ได้อ่านของคุณป๋องแล้ว ทำให้นึกๆอยู่ครับว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการปฎิบัติธรรม ยังยากน้อยกว่าความพยายามที่จะสื่อสารกันเรื่องธรรม

เห็นอย่างนี้แล้วไม่แปลกใจเลยครับ ที่ท่านว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านแสดงธรรมไม่ได้ ก็ขนาดเราๆเองมีธรรมที่บัญญัติชื่อให้โดยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังสื่อกันไม่ค่อยจะถูกเหมือนกันครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมเคยสังเกตเห็นก็คือ เมื่อจิตผู้รู้ เกิดความรู้อะไรสักอย่างขึ้นมาแล้ว เมื่อจะต้องชี้แจงหรือแสดงให้กับคนอื่นๆ ก็ต้องอาศัยหรือพึ่งพา สัญญา นี้เป็นตัวหลัก ทั้งในเรื่องการหมายรู้ถึงธรรมที่เคยเห็นในอดีตนั้น และทั้งการพยายามที่จะแปลความหมาย ทำความเข้าใจ และเทียบเคียงกับประสบการณ์หรือความรู้(ทางโลก)เดิมๆที่ตนมีด้วย ตรงนี้ล่ะครับที่ทำให้บางครั้ง พอเริ่มจะสื่อสารกัน ก็เริ่มผิดเสียแล้ว

สำหรับคำว่า เอาฐานของสติ เป็นวิหารธรรมนี้ ผมก็ไม่คิดที่จะให้ใครนำไปใช้หรอกครับ เพราะว่าเห็นว่า มันเป็นอุบายเฉพาะตน ที่จะทำให้หมั่นเจริญภาวนา สติ - สัมปชัญญะ ต่อไปได้ครับ

เหตุที่ผมกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า ในขณะที่ผมกำลังมีความรู้สึก ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย เหมือนกับจะจมลงในทะเล ผมกลับพบว่า การเจริญสติ หรือ การปฎิบัติตามสติปัฎฐานนี้แหละที่ช่วยเราได้ เหมือนกับคนที่ว่ายน้ำในทะเล กำลังจะหมดแรง แล้วก็พบว่ามีขอนไม้อันหนึ่งลอยมา พอที่เราจะอาศัยพักเหนื่อย และสร้างสมกำลังเพื่อที่จะว่ายน้ำต่อไปให้ถึงฝั่ง

เมื่อจิตประจักษ์ชัดในประโยชน์ของ สติปัฎฐาน เช่นนี้แล้ว ก็ทำให้มีความรู้สึกว่า เอาการเจริญสตินี่ล่ะเป็นเหมือกับเป็นบ้านของตนเอง แทนที่เราจะไปมุ่งหวังเรื่องทางโลก ซึ่งต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ต้องแสวงหากันไม่สิ้นสุด ทำไมเราไม่เอาการเจริญสตินี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเราเอง เราไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ไม่ต้องไปแย่งชิงอะไรกับใคร อย่างนี้เหมาะกับนิสัยของเราที่สุด ได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ตัวเราเองทั้งสิ้น

เมื่อได้คิดและตัดสินใจเช่นนั้น จึงได้กล่าวกับครูว่า ต่อไปนี้ผมจะเอา สติเป็นวิหารธรรม ครูก็กรุณาตอบกลับมาว่า สติเป็นวิหารธรรมไม่ได้หรอก แต่ฐานของสติเป็นวิหารธรรมได้ ผมจึงขอให้ครูขยายความต่อไปอีกว่า ฐานของสติ เป็นวิหารธรรม เป็นอย่างไร ครูก็ได้กรุณาตอบว่า ก็คือสติปัฎฐานนั่นเอง

และสำหรับผมแล้ว คำว่า เอาฐานของสติ เป็นวิหารธรรม นั้น ถึงใจที่สุดแล้วครับ ใช้เตือนตัวเองได้เป็นอย่างดี เมื่อตนเองเริ่มที่จะเผลอ และปล่อยตัวเองให้เผลอ ไม่ดึงกลับมาให้มีสติอยู่ และมักจะอบรมจิตใจของตนเองบ่อยๆด้วย ว่าโทษของการไม่เจริญสติ แต่ไปเจริญความหลงนั้น มีโทษทุกข์ประการใด โดยเอาเหตุการณ์หรือเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเองก่อนหน้านั้น มาเป็นเครื่องเตือนใจเสมอๆครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:39:25

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:44:07
รวมความแล้ว จิตนั้นเองปรุงเอง แล้วก็ติดอยู่ในสิ่งที่ตัวเองปรุงขึ้นมา ท่านจึงว่ามันปรุงเพราะความไม่รู้ว่าจะนำความทุกข์มาสู่ตัวมันเอง

ที่สุดของธรรม ก็คือการรู้เท่าทันตรงนี้ และละวางไปได้เองจริงๆ

สาธุ สาธุ สาธุ
โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:44:07

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ listener วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 08:55:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปิ่น วัน ศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม 2543 11:20:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 3 ธันวาคม 2543 15:35:53
ฐานของสติคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ครับ
การจะรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ต้องรู้อย่างเป็นวิหารธรรม
คือใช้เป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่ที่สบายของจิต ไม่ใช่คุกขังจิตด้วยการเพ่งจ้องบังคับจิต

ความจริงแล้ว ถ้าจะสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ คุณพัลวันอาจจะใช้คำง่ายๆ ว่า
นับแต่นี้ไป จะขอเอาธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อให้รอดจากทุกข์ในโลก
ซึ่งธรรมในที่นี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่ประดิษฐานลงในจิตของคุณพัลวัน
จึงต้องอาศัยธรรมที่ยังต้องปฏิบัติ ฝึกฝน อบรม ตนเอง เป็นที่พึ่งต่อสู้ในทะเลทุกข์นี้
คือแทนที่จะเวียนว่ายไปอย่างไร้จุดหมาย
ก็ขอเอาการปฏิบัติธรรม(เจริญสติปัฏฐาน)นี้แหละ เป็นที่พึ่งที่อาศัยต่อไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 3 ธันวาคม 2543 15:35:53

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 08:54:52
ครับครู บางทีกระทู้นี้ไม่น่าจะ Post สักเท่าไหร่ เพราะว่าจะว่าไปแล้ว คำพูดคำกล่าวก็พื้นๆธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่เหมือนกับที่ประจักษ์กับใจ

เมื่อเช้าวันเสาร์ก็ได้พิจารณาอีกที ใจก็รำพึงมาเองครับว่า ไปโพสต์ทำไม และไปเขียนอะไรให้วุ่นวาย ที่จริงมันก็มีแต่เพียง อาการของจิต กับ สิ่งที่ปรุงแต่งจิต ก็เท่านั้น
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 08:54:52

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 09:04:00
คุณศรันย์บอกมาว่าให้เพิ่มเติมอีกหน่อย เพราะว่าอ่านแล้วเหมือนกับตัดพ้ออะไรอย่างนี้ ที่จริงเปล่าครับ เพียงแต่เมื่อวันเสาร์มานั่งพิจารณาอีกที ก็รู้สึกว่า มันมีแค่นี้เอง ไปอธิบายอะไรกันยืดยาว แต่ว่าวันเสาร์นั้นโพสต์ไม่ได้ครับ เพราะว่าที่บ้านไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ครับ (คราวก่อนที่สมัครไว้ เขาตัด Account ไปครับ คงเป็นปัญหาเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพราะผมสมัครทาง อินเตอร์เน็ตแล้วก็ไม่เห็นเขามาเก็บตังค์เสียที ไปๆมาๆเขาก็ตัดไป ซึ่งผมว่าก็ดีเหมือนกันครับ เพราะว่าไม่ค่อยใช้ประโยชน์อะไร ใช้ที่ทำงานก็ได้เหมือนกันครับ)
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 09:04:00

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 09:19:50
ถ้าจะกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมมีเพียงผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้
หรือมีเพียงจิต กับอารมณ์
หรือมีเพียงจิต กับอาการของจิต
หรือมีเพียงจิต กับสิ่งที่ปรุงแต่งจิต
ก็ย่อมไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดอะไรกันมากเลยครับ

แต่ที่ธรรมะมีอะไรๆ ให้พูดกันตั้งมากมาย
ก็เพื่อเป็นอุบายตะล่อม หรือแหวกสิ่งแปลกปลอมเข้าหาจิตเท่านั้นเอง
เมื่อรู้เข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว
สิ่งอื่นๆ ก็หมดเรื่องที่จะต้องพูดกันอีกต่อไป

ธรรมะที่ถึงจิตถึงใจ เป็นธรรมะใหม่เอี่ยม สดชื่นเบิกบาน
แต่พอบัญญัติออกมาก็จืดๆ เก่าๆ เป็นธรรมดาอย่างนี้แหละครับ
เพราะสมมุติบัญญัติเป็นแค่เงาๆ พอให้เทียบเคียงเข้าถึงธรรมเท่านั้น

สำหรับที่เขียนเรื่องความสงสัยก็ดีแล้วครับ
เพราะเรื่องนี้ พวกเรายังติดกันอย่างไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมาก
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 09:19:50

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 09:26:54
วกกลับมาพูดที่ ความสงสัย อีกทีครับ คือผมสังเกตเห็นว่า คราใดที่ความสงสัยเริ่มปรากฎขึ้น จิตก็รู้สึกเหมือนกับว่า ความสงสัย นี้เป็นของหนัก ไม่อยากแบกไว้ ก็เลยไม่นำพากับความสงสัยนี้ ตรงนี้เป็นมาก่อนที่จะรู้เท่าทันความสงสัยอย่างนี้ ก็เริ่มๆมาตั้งแต่เริ่ม Post กระทู้น้อยลงไปเรื่อยๆล่ะครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 09:26:54

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 10:22:54
ที่คุณพัลวัน post และที่ครูช่วยอธิบายเพิ่มเติม มีประโยชน์กับผม ครับ
นึกถึงแฟนผม ถามผมอยู่เรื่อยว่า อ่านธรรมะ มากมาย ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมไม่จบเสียที
ผมได้แต่ ตอบ(ในใจ)ว่า  เรื่องเดิม อ่านเพื่อไม่ให้ ลืม (ตัว) และเพื่อให้ใจยอมรับ (เสียที)
โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 10:22:54

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 11:36:01
ธรรมะที่แท้จริงที่จะพาข้ามภพข้ามชาติมีนิดเดียวครับ
คือเข้ามารู้ หยุด อยู่ที่จิต แล้วจิตมันพลิกออกไปเอง
แต่เพราะความไม่รู้ เราจึงวนเวียนอยู่ภายนอก หรือมีจิตส่งออกนอก
ไม่สามารถปฏิบัติเพื่อให้จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาๆ เท่านี้เอง
ที่ผิดธรรมดาก็เพราะไปหลงความปรุงแต่ง
ผมได้อ่านหยดน้ำบนใบบัวที่พวกเราพิมพ์ไว้
ก็พบว่าในขั้นแตกหักของหลวงตา
ก็คือจุดที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งนี้เอง
ไม่มีการกระทำใดๆ นอกจาก รู้ แม้แต่นิดหนึ่ง
ท่านเขียนไว้อย่างนี้ครับ

"จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเปกขามัธยัสถ์
ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใด ๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ
ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน
สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด

ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล
เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ
ได้กระเทือนและขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์
คือใจ กลายเป็น วิสุทธิจิต ขึ้นมาแทนที่"

นี่เป็นขั้นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างถึงที่สุดครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 11:36:01

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 11:58:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 12:03:27
คุณ listener ลองหยุดอ่านหนังสือ แล้วกลับมาอ่านใจให้เหมือนอ่านหนังสือ (หลวงปู่ชา ท่านว่าไว้) จะดีกว่าหลายประการ (ขออนุญาตแนะนำนะครับ โดยมีสมมุติฐาน ว่าคุณ listener อ่านมามากแล้ว)

1. ได้เห็นของจริง ซึ่งเมื่อเห็นแล้วก็จะพบว่า เกินบรรยาย
2. จะไม่มีการ ลืม (ตัว) เด็ดขาด หากทำอย่างสม่ำเสมอ แต่หากอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ อาจจะ ลืม (ตัว) ได้อีก
3. ใจ ก็จะยอมรับ (เสียที)

และมีของแถมให้อีกข้อครับ
4. มีเวลาให้กับแฟนด้วยครับ พร้อมกับสามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้เขาได้ด้วย (แต่ไม่บอกว่าเป็นยังไง แต่ต่อๆไปจะรู้เองครับ)
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 12:03:27

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 12:18:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543 12:40:49
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ MrMail วัน อังคาร ที่ 26 ธันวาคม 2543 02:31:34
ไม่เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ สุกิจ วัน อังคาร ที่ 26 ธันวาคม 2543 08:50:52
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com