กลับสู่หน้าหลัก

คำถามเรื่อง เครื่องตัดสินแนวทางการปฏิบัติ

โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 21 ธันวาคม 2543 16:02:44

ในยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคข่าวสาร การเผยแพร่พระศาสนานั้น
ก็ได้ประโยชน์จากการเผยแพร่ข่าวสารนี้ไม่น้อย
แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยอีกเช่นกันที่ฉวยโอกาสที่จะดึงเอาศรัทธาของ
ชาวบ้านมาเพื่อเป็นประโยชน์ของตนเอง ดังที่ได้เห็นในข่าวในระยะนี้อยู่บ่อยๆ
ดังนั้น ผมจึงได้ผูกคำถามนี้ขึ้นมา คือ
แนวทางปฏิบัติในยุคนี้มีมากมาย จะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสินว่าอันไหนถูกหรือผิดน่ะครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 21 ธันวาคม 2543 16:02:44

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 ธันวาคม 2543 16:32:58
อืมม์...ปัญญาน้อยตอบไม่ได้ครับเลยมารอขอฟังคำตอบครับ

โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 ธันวาคม 2543 16:32:58

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 08:32:55
เครื่องตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการมีอยู่ครับ
แต่นั่นเป็นเครื่องตัดสินว่า คำสอนใดเป็นคำสอนของพระศาสดาหรือไม่
ส่วนเรื่องแนวทางการปฏิบัติธรรมที่หลากหลายนั้น
ถ้าพูดกว้างๆ ในหลักการก็ต้องกล่าวว่า
แนวทางใดอยู่ในกรอบของสติปัฏฐาน อันนั้นใช้ได้

แต่ปัญหาก็ตามมาอีกว่า ทุกสาย/สำนัก
ต่างก็ยืนยันว่าแนวทางของตนตรงกับสติปัฏฐานทั้งสิ้น
จึงกลายเป็นความยุ่งยากอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้ที่สนใจจะปฏิบัติ
ว่าจะเอาอะไรไปตัดสินว่าแนวทางใดใช้ได้ หรือไม่ได้
เพราะแค่พูดหารือกับในที่สาธารณะเมื่อใด ก็จะตีกันตายเมื่อนั้น

ผมเคยคิดถึงปัญหาเรื่องนี้ และร่างกระทู้ไว้เรื่องหนึ่ง
ทีแรกว่าจะเอาไปโพสต์ที่ลานธรรม
แต่คิดไม่ตกครับว่าจะเดือดร้อนแค่ไหน ก็เลยเก็บไว้เฉยๆ
กะว่าจะเอาไปใส่ไว้ที่สันติธรรมอย่างเดียว
แต่เมื่อคุณเก๋ถามเรื่องนี้ขึ้นมา
เดี๋ยวจะลองค้นดูแล้วนำมาลงให้ที่นี่ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 08:32:55

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 08:52:41
รออ่านคำตอบของพี่ปราโมทย์ด้วยคนครับ

แต่ที่ผมเคยได้ยินมา(จำไม่ได้ว่าจากไหน)
คือเขาบอกว่าเมื่อเราลงมือปฏิบัติไปได้สักระยะหนึ่ง
ลองหันกลับมามองดูจิตใจของตนเอง
ว่ากิเลสทั้ง 3 (โลภ โกรธ หลง) ยังอยู่สบายดีหรือเปล่า
ถ้ามันยังนอนตีพุงยิ้มร่าไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย
ก็คงต้องใช้วิจารณญาณแล้วล่ะครับว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องหรือเปล่า

ที่ผมใช้สังเกตจิตใจตัวเองก็มีเพียงแค่นี้เองครับ
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 08:52:41

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 09:22:47
เรื่องที่จะกำหนดรู้ว่า กิเลส 3 นี้ ลดลงสักเท่าไหร่ ก็ดูยากอยู่ครับ โดยเฉพาะกับผู้ที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ครับ เหตุเพราะว่า เขาแยกแยะไม่ออกว่า อันนี้ๆเป็นกิเลสหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเราบริจาคทานอันมหาศาล เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา เราย่อมรู้สึกว่า เราเป็นผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ (ที่จริงเรารู้สึกว่า เราเป็นเจ้าของทานอันยิ่งใหญ่) แบบนี้จะให้รู้สึกว่า กิเลสคือความโลภของเราลดลง หรือเพิ่มขึ้นล่ะครับ ผมเชื่อว่า ใครต่อใครก็ต้องบอกว่า อย่างนี้ลดลงแล้ว แต่จริงแล้ว มันลดลงหรือเปล่า

แต่หากผู้ที่มีอินทรีย์ที่กล้าแข็งขึ้น ก็คงมองออกครับ ว่าแบบนี้ ก็ยังทำให้ใจเศร้าหมองอีก และแม้ว่ามาวันหนึ่ง มีคนที่บริจาคได้ยิ่งกว่าเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เมื่อเราสูญเสียอันดับหนึ่งไปแล้ว เราต้องขวนขวายหามาบริจาคหรือไม่??? ต้องช่วงชิงอันดับหนึ่งมาหรือไม่???

ดังนั้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามที่คุณ คิดเอาเอง เสนอมา ผมก็ขอเสนอว่า ให้ใช้กับพวกเราเองคงจะได้ แต่ใช้เป็นหลักทั่วไปคงจะยาก เพราของปลอม ของเทียม ของเลียนแบบ มีมากมายครับ จนบางทีเราก็นึกไม่ถึงครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 09:22:47

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:00:08
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:10:27
การตรวจสอบแนวทางปฏิบัติด้วยปริยัติธรรม

น่าอัศจรรย์ที่ว่า แนวทางปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนามีความหลากหลายมาก
ทั้งที่มีต้นกำเนิดมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน
ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้ที่ต้องการความพ้นทุกข์เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
จะใช้สิ่งใดเป็นเครื่องตัดสินว่า แนวทางใดจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริง

จากประสบการณ์ที่ผมรู้จักนักปฏิบัติจำนวนมาก
พบว่าส่วนใหญ่ อาศัย "ความชอบใจ" เป็นเครื่องตัดสินว่าจะเลือกแนวทางใด
ยิ่งกว่าจะเลือกแนวทางด้วยเครื่องมือที่เป็น "ศาสตร์"
เช่นชอบใจเพราะความคุ้นเคย ที่บรรพบุรุษเคยนิยมการปฏิบัติสายนั้น
ชอบใจเพราะสนองความต้องการฤทธิ์อำนาจและสิ่งเหนือธรรมชาติ
ชอบใจเพราะเห็นคนจำนวนมากเชื่อถือแนวทางนั้น
ชอบใจเพราะเป็นของแปลกใหม่ เป็นแฟชั่น น่าทดลอง
ชอบใจเพราะบุคลิกภาพของครูบาอาจารย์
ชอบใจเพราะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้บางอย่าง หรือทำแล้วสบายใจขึ้น
ชอบใจเพราะสนองความเชื่อ เช่นการปฏิบัติต้องกดข่มควบคุมตนเองอย่างเข้มงวด
ชอบใจเพราะคำสอนและวิธีการสอนทันสมัย เหมาะกับปัญญาชนที่ชอบใช้ความคิด
และชอบใจเพราะมีหลักปฏิบัติเป็นขั้นตอน มีเหตุผลรองรับ ฯลฯ

พฤติกรรมการเลือกแนวทางปฏิบัติตามความชอบใจนี้
เป็นพฤติกรรมปกติ แม้แต่ในสมัยพุทธกาล
คนก็เลือกเพราะชอบใจในคำสอนของศาสดาองค์นั้นท่านนี้
ทั้งนี้ ก็เพราะเราไม่รู้ว่า "ความจริง" เป็นอย่างไร
เราจึงต้องตัดสินด้วย "ความน่าจะเป็น" เท่านั้น

จุดตั้งต้นอาจจะใช้ความชอบใจ แล้วลองผิดลองถูกได้
แต่เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ผมเห็นว่าอันตรายเหลือเกิน
ถ้าเราไม่รู้จักตรวจสอบแนวทางปฏิบัติที่กำลังดำเนินอยู่
ด้วยเครื่องมือที่เป็นศาสตร์ และด้วยจิตใจที่ปราศจากอคติ
ทั้งนี้เนื่องจากแนวทางที่ปฏิบัติอยู่นั้น  อาจจะไม่ถูกต้อง
เพราะความสำคัญผิดหรือความจอมปลอมของอาจารย์บ้าง
เพราะเราตีความคำสอนของอาจารย์ผิดไปบ้าง

หากไม่รู้จักตรวจสอบ เราก็จะเสียเวลาทั้งชีวิต
แล้วไปไม่ถึงความพ้นทุกข์ตามหลักพระพุทธศาสนาที่เราต้องการ

ศาสตร์หรือเครื่องมือมาตรฐานที่ผมอยากเรียนเสนอให้ลองใช้กัน
ก็คือปริยัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อภิธรรม

ผมเองสารภาพตามตรงว่า เดิมผมก็ไม่ประทับใจอภิธรรมนัก
เพราะได้รับอิทธิพลความคิดว่าอภิธรรมเป็นของแต่งใหม่บ้าง
เพราะเห็นความรุนแรงของผู้ศึกษาอภิธรรมบางท่านบ้าง
เพราะได้เห็นว่า ผู้ปฏิบัติแนวอภิธรรมก็ติดสมถะเช่นเดียวกับสายอื่นๆ บ้าง
แต่เมื่อลงมือศึกษาอย่างเป็นระบบแล้ว ก็พบว่า
เนื้อหาของอภิธรรมในส่วนที่เป็นศาสตร์แห่งจิตใจ
จะลงกันได้เป็นเนื้อเดียวกับการปฏิบัติจริงๆ

ด้วยเหตุที่ได้พิสูจน์ชัดด้วยตนเองเช่นนี้แล้ว
ผมจึงมีความเชื่อ (ขอย้ำว่าความเชื่อ) ว่าปริยัติธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมนี้แหละ
คือเครื่องมือตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเป็นสาธารณะที่สุด
ทั้งนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีเจโตปริยญาณ + สัมมาทิฏฐิ
ที่จะตรวจสอบการปฏิบัติด้วยจิต ได้อย่างเที่ยงตรง

***********************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:10:27

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:11:36
ผมขอนำอภิธรรมมาตรวจสอบแนวทางปฏิบัติในสายพระป่า
เพื่อเป็นตัวอย่างให้แต่ละท่านลองตรวจสอบแนวทางปฏิบัติที่ดำเนินอยู่
เพราะผมเติบโตมาในสายพระป่า เรื่องนี้จึงเป็นการตรวจสอบตนเอง
ซึ่งน่าจะมีปัญหาน้อยกว่าการตรวจสอบผู้อื่น

ธรรมที่จะใช้ตรวจสอบแนวทางปฏิบัติ
ได้แก่เรื่องการจำแนกสมถะกับวิปัสสนา
เพราะหากหลงไปทำสมถะแล้วคิดว่าเป็นวิปัสสนา
แนวทางนั้นย่อมนำไปสู่มรรคผลนิพพานไม่ได้

แต่ก่อนการตรวจสอบ ผมขอสรุปเสียก่อนว่า
สมถะกับวิปัสสนาแตกต่างกันอย่างไร

สมถะและวิปัสสนา

สมถกรรมฐานมี (1) วัตถุประสงค์เพื่อให้จิตสงบ
มี (2) หลักปฏิบัติง่ายๆ คือ
"การมีสติรู้อารมณ์(บัญญัติ)อันใดอันหนึ่งโดยต่อเนื่อง"
และมี (3) เทคนิคคือ ให้รู้อารมณ์ไปตามสบาย อย่าจงใจบังคับจิต
เพราะถ้าบังคับ จิตจะไม่สงบจริงๆ

ทั้งนี้ ไม่ต้องตกใจว่า อารมณ์ที่เป็นบัญญัติเป็นอย่างไร
เพราะอารมณ์กรรมฐานเกือบทั้งหมดของทุกสำนัก
ล้วนแต่เป็นบัญญัติแทบทั้งสิ้น
อาทิ (1) การบริกรรม เช่นพุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง นะมะพะทะ
กระทั่งการบริกรรมว่ารูปหนอ เห็นหนอ อันเป็นการบริกรรมถึงปรมัตถ์
(2) การคิด เช่นการพิจารณากายลงเป็นไตรลักษณ์ การพิจารณาอสุภะ
การพิจารณาอาหารเป็นปฏิกูล กระทั่งการฝึกใช้ความคิดต่างๆ
(3) การเพ่ง เช่นเพ่งลมหายใจ เพ่งกสิณ เพ่งลูกแก้ว เพ่งพระพุทธรูป
เพ่งอิริยาบถ เพ่งความเคลื่อนไหวของกาย
และ (4) การกำหนดแผ่ พรหมวิหารธรรม ฯลฯ

ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน มี (1) วัตถุประสงค์เพื่อให้จิตเกิดปัญญา
มี (2) หลักปฏิบัติคือ "การมีสติสัมปชัญญะ
รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง และอ่อนโยน"
และ (3) มีเทคนิคคือ ให้รู้ ไม่ใช่คิด

อนึ่ง การทำวิปัสสนาจริงๆ จะต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์
ซึ่งรายละเอียดผมกล่าวไว้ในกระทู้เรื่อง การดูจิต* แล้ว
แต่ในที่นี้ ผมจงใจไม่ใช้คำว่าจะต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์
เพราะในความเป็นจริง ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา
ย่อมรู้ทั้งอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์และบัญญัติ
ความพลาดของผู้ศึกษาอภิธรรมแล้วมาลงมือปฏิบัติ
ส่วนมากก็เพราะ "จงใจ" จะรู้อารมณ์ปรมัตถ์มากเกินไปนั่นเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:11:36

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:13:25
วิเคราะห์การปฏิบัติธรรมสายพระป่า

หลักปฏิบัติของพระป่าสายหลวงปู่มั่นนั้น
ส่วนมากท่านให้เริ่มด้วยการบริกรรมพุทโธ จนจิตสงบ
ตรงจุดนี้ก็คือ การเจริญ พุทธานุสติ อันเป็นการทำสมถะที่ชัดเจน
ไม่มีทางจะเป็นวิปัสสนาไปได้เลย

เมื่อจิตสงบแล้ว ท่านสอนให้น้อมจิตออกไปพิจารณากาย หรือเจริญกายคตาสติ
คือคิดให้เห็นว่ากายเป็นธาตุ เป็นขันธ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอสุภะ
ตรงจุดนี้เองที่ส่วนมากไปเข้าใจกันว่า เป็นการเจริญวิปัสสนา
ทั้งที่ความจริง การคิดพิจารณา เป็นสมถะแท้ๆ

การพิจารณากายเป็นอุบายสำคัญในช่วงเชื่อมต่อ
ระหว่างจิตที่สงบแล้วด้วยการบริกรรมพุทโธ
กับการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงในภายหลัง
คือเป็นการกระตุ้น ไม่ให้จิตไปติดความสงบนิ่งๆ เพราะการบริกรรมพุทโธ
แต่ให้รู้จักพิจารณาลงไปในสิ่งที่จิตไปติดยึดอยู่
เมื่อจิต "น้อมใจเชื่อ" แล้วว่าสิ่งนั้นไม่น่ายึดถือ
จิตก็จะวางจากสิ่งนั้นชั่วขณะ แล้วรวมสงบลงที่จิตอีกคราวหนึ่ง
ซึ่งความสงบคราวนี้ จะต่างจากความสงบเพราะการบริกรรมพุทโธ
คือเป็นความสงบที่พร้อมจะตื่นตัว ขึ้นมารู้การกระทบของอารมณ์ปรมัตถ์

ถ้าถามว่า ทำไมต้องทำความสงบตั้งสองชั้นซ้อนกัน
คือทำความสงบด้วยพุทธานุสติ กับทำความสงบด้วยกายคตาสติ
ขอเรียนว่าถ้าไม่ทำความสงบของจิตไว้บ้างเลย
จู่ๆ จะไปพิจารณาร่างกายตรงๆ โอกาสที่จิตจะฟุ้งซ่านก็ย่อมมีมาก
คือแทนที่จะคิดพิจารณาอย่างมีระบบระเบียบ
กลับจะกลายเป็นการคิดอย่างฟุ้งซ่านไปได้ง่ายๆ

แต่ถ้าถามว่า จะพิจารณากายหรือสิ่งแวดล้อมลงไปเลยตรงๆ ไม่ได้หรือ
ขอเรียนว่าได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลาคิด มากและจริงจังสักหน่อย
และครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นบางองค์ เช่นหลวงพ่อทูล
ท่านก็ไม่ชอบให้บริกรรมพุทโธ
เพราะท่านเห็นว่าเริ่มด่านแรกก็มักจะไปติดพุทโธกันเสียแล้ว
สู้ให้ "ฝึกใช้ความคิด" พิจารณาลงไปยังสิ่งที่จิตติดยึดอยู่เลยไม่ได้
แต่ตรงนี้ก็มีจุดอ่อนที่ต้องระวังเหมือนกัน
คือผู้ปฏิบัติอาจจะเกิดความสำคัญผิด
ว่าจิตที่ "น้อมใจเชื่อจนปล่อยวาง" นั้น
เป็นการปล่อยวางด้วยวิปัสสนาปัญญาอย่างแท้จริง
แล้วจะเกิดมานะอัตตาที่รุนแรงซ่อนอยู่ในจิตส่วนลึก

ทั้งการบริกรรมพุทโธ ทั้งการคิดพิจารณา ล้วนเป็นการทำสมถะทั้งสิ้น
ต่อเมื่อจิตที่หัดใช้ปัญญา จนน้อมใจเชื่อและปล่อยวางสิ่งที่จิตติดยึดชั่วคราวแล้ว
และรวมสงบลงอีกคราวหนึ่งนั้นแหละ จิตจะมีสติสัมปชัญญะพร้อมอยู่ในตัว
คือมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาจากการบริกรรมพุทโธ
มีสัมปชัญญะเพราะเคยได้รับการอบรมปัญญาจากการพิจารณากาย
คราวนี้แหละ จิตจึงพร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา
อันได้แก่การเจริญสติสัมปชัญญะ อยู่ในชีวิตประจำวันนี้เอง


ถ้าพวกเราเคยอ่านประวัติหลวงพ่อชา จะมีตอนหนึ่งที่ท่านยังหนุ่ม
ท่านเคยไปอยู่กับหลวงปู่กินรี ศิษย์หลวงปู่เสาร์ ที่วัดกันตศีลาวาส
ครั้งนั้นท่านยังไม่เข้าใจการปฏิบัติ ท่านได้นึกตำหนิหลวงปู่กินรี
ว่าหลวงปู่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมนิดเดียว แล้วก็เที่ยวทำงานอย่างนั้นอย่างนี้
ไม่เหมือนหลวงพ่อชาที่นั่งสมาธิและเดินจงกรมทั้งวัน
ต่อเมื่อหลวงพ่อชาเข้าใจการปฏิบัติจริงแล้วนั่นแหละ
จึงได้สรรเสริญหลวงปู่กินรี ว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่ฉลาดแหลมคม
คือท่านเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่ติดที่รูปแบบของการปฏิบัติ

หลักปฏิบัติของหลวงปู่มั่นท่านเป็นอย่างนี้
แต่ลูกศิษย์ที่เข้าใจและสืบทอดการปฏิบัติมาจนถึงวันนี้ได้จริงๆ ก็เหลือไม่มากนัก
บ้างก็ไปหลงพิจารณากายอย่างเป็นสมถะ แล้วคิดว่าเป็นวิปัสสนา
แม้แต่ศิษย์ที่ได้ฟังเรื่องหลวงพ่อชากับหลวงปู่กินรี
ก็มักจะเกิดความสำคัญผิดไปอีกแบบหนึ่ง
คือพยายามปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตประจำวัน
ทั้งที่ทำได้เพียงการใช้ความคิดเพื่อน้อมจิตให้ปล่อยวางเท่านั้น
เนื่องจากจิตไม่มีพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิเพียงพอ

ถ้าตั้งคำถามว่า หากจะเจริญสติสัมปชัญญะตรงๆ เลยทีเดียว
ไม่ต้องไปทำความสงบเสียก่อน จะได้หรือไม่
อันนี้ขอเรียนว่าได้เหมือนกัน แต่มักจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ง่าย
คือจิตไม่ได้มีสติสัมปชัญญะจริงๆ แต่คิดว่ากำลังเจริญสติสัมปชัญญะอยู่
ผลก็คือการทำสมถะโดยไม่รู้ตัวอีกนั่นเอง

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้น ท่านไม่สนใจการทำสมถะ
แต่มุ่งสอนตรงเข้าถึงเรื่องวิปัสสนาเลยทีเดียว คือท่านสอนว่า
การปฏิบัตินั้น "คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงจะรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด"
หมายความว่าวิปัสสนานั้น ต้อง "รู้" สภาวะหรือปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ
เป็นการ "รู้" ที่บริสุทธิ์ คือไม่ปะปนด้วยความ "คิด"
ส่วนที่ว่า "ต้องอาศัยคิด" เหมือนกันนั้น ก็เพื่อเป็นอุบายขั้นต้นให้จิตสงบ
เช่นคิดพุทโธ คิดพิจารณากาย พิจารณาผมเส้นเดียว พิจารณากระดูก
พิจารณาอสุภะ พิจารณาไตรลักษณ์ ฯลฯ
การใช้ความคิดทั้งหมดนั้นเป็นการทำสมถะ ให้จิตรวมสงบลง
เพื่อจะได้เจริญสติสัมปชัญญะรู้จิต อันเป็นการเจริญวิปัสสนาได้ต่อไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:13:25

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:15:32
ขอพักไว้ชั่วคราวครับ มีงานด่วนครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:15:32

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ณรงค์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 10:39:38
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 11:08:29
วิเคราะห์การปฏิบัติธรรมของสายต่างๆ โดยสังเขป

อันที่จริงผมเที่ยวเข้าออกสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ หลายแห่ง
และได้พบปะผู้ปฏิบัติธรรมในแนวทางต่างๆ มากมาย
กระทั่งอาจารย์ใหญ่ของวัดคลองสาม
หรืออาจารย์กรรมฐานในสายอภิธรรมหลายท่าน
รวมทั้งสำนักที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ส่วนมากก็เคยพบปะเรียนรู้มาบ้างแล้ว
จึงพอจะเข้าใจหลักปฏิบัติของแต่ละสายสำนักอยู่บ้าง

แต่หากกล่าววิจารณ์การปฏิบัติตรงไปตรงมาเป็นรายสำนัก
ก็อาจจะเกิดปัญหาเดือดร้อนวุ่นวายขึ้นได้
จึงขออนุญาตกล่าวเพียงในหลักการ โดยไม่ระบุนามสำนัก
แต่ถ้าจะกล่าวอย่างสรุปก็คือ ที่นักปฏิบัติพากันปฏิบัติอยู่นั้น
ส่วนมากก็คือการทำสมถกรรมฐาน ไม่ใช่วิปัสสนาอย่างที่เข้าใจกัน
เพราะไม่เห็นปัจจุบันธรรมตามความเป็นจริง
ซึ่งก็คือปัญหาเดียวกันกับผู้ปฏิบัติจำนวนมากในสายหลวงปู่มั่นนั่นเอง

แนวทางปฏิบัติของแต่ละสำนักล้วนแต่ดีๆ ทั้งสิ้น
คือสอนให้มีสติรู้ปัจจุบันธรรม
บางแห่งเน้นย้ำชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่าให้รู้ปรมัตถธรรม
อย่างไรก็ตาม แทนที่การเจริญสติสัมปชัญญะของแต่ละสำนักจะสอดคล้องกัน
กลับมีความแปลกแยกกันมากมาย ในหลักการขั้นพื้นฐานของการทำวิปัสสนา

ตรงจุดนี้ บางท่านอาจจะเห็นว่า แต่ละคนเดินทางต่างกันได้ตามจริตนิสัย
ซึ่งผมก็เห็นด้วย ว่ารายละเอียดของวิธีปฏิบัติแตกต่างกันได้
แต่หลักการดำเนินจิตแล้ว น่าจะมีทางเดียวตามหลักของสติปัฏฐานเท่านั้น
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ผมอยากจะพาเพื่อนๆ
เที่ยวชมแนวทางปฏิบัติของสำนักต่างๆ ดังนี้

สำนักกลุ่มแรก เป็นสำนักหลอกลวง เจ้าสำนักมักจะวางท่าดี จัดฉากเก่ง
สำนักพวกนี้ขอข้ามไปเลย เพราะไม่ได้มีการปฏิบัติธรรมจริงจังอะไรนัก
หรือทำก็เป็นแบบฉาบฉวยไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

สำนักปฏิบัติธรรมบางแห่ง มีหลักการปฏิบัตินอกเหนือคำสอนของพระพุทธศาสนา
คือไม่ได้มุ่งไปสู่มรรคผลนิพพาน แต่มุ่งสร้างพลังฤทธิ์ สร้างของวิเศษทางใจ
หรือระดมพลพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาปราบมาร
บางสำนักปฏิบัติเพื่อติดต่อกับพระศรีอารย์
เพื่อจับจองใบสมัครเป็นสาวกของท่าน
บางแห่งปฏิบัติโดยเน้นการสวดมนต์และอธิษฐานจิต
เพื่อประเทศชาติ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว
สำนักลักษณะนี้มีอยู่มากแห่งด้วยกัน
ซึ่งลึกๆ แล้วอาจารย์ของสำนักเหล่านี้ จะเน้นการสร้างบารมีเป็นสำคัญ
ไม่ได้มุ่งเจริญวิปัสสนาอย่างแท้จริงในปัจจุบัน

คราวนี้ลองมาเยี่ยมชมสำนักที่สอนการเจริญสติปัฏฐานกันบ้าง
ผมเคยไปพบปรมาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมาก
และท่านสอนการปฏิบัติด้วยอานาปานสติเป็นหลัก
ผมสังเกตเห็นว่า กระทั่งองค์ท่านเอง ก็แยกการเจริญสติออกจากปัจจุบัน
คือในระหว่างที่พูดคุยสนทนาธรรมกัน
ท่านจะทิ้งสติไปเลย เข้าลักษณะพูดไปเผลอไป
สักพักท่านก็จะหยุดพูด แล้วหันมากำหนดลมหายใจใหม่
แต่การกำหนดลมหายใจนั้น มีลักษณะเอาสติจอจ่ออยู่กับลมหายใจ

การปฏิบัติอย่างนี้พลาดในสองจุดด้วยกัน คือเจริญสติไม่ต่อเนื่อง อย่างหนึ่ง
และเจริญสติโดยเผลอเพ่งจ้องลมหายใจอันเป็นการทำสมถะ อีกอย่างหนึ่ง
ดังนั้น แม้ท่านจะกล่าวถึงจิตที่ไม่ยึดมั่นอะไรเลย
และเรื่องการมีสติในชีวิตประจำวัน
แต่ท่านก็ยังไม่สามารถหลอมรวมความมีสติสัมปชัญญะเข้าในชีวิตจริงได้

และผมเพิ่งได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับปรมาจารย์องค์นี้เพิ่มเติมมา
คือมีผู้ไปกราบเรียนถามท่านว่า
ที่ท่านสอนธรรมะไว้มากมายนั้น ท่านเคยสอนผิดไหม
ท่านตอบว่าเคยสอนผิดสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง
คือไปสอนว่าวิปัสสนาต้องใช้ความคิด
แต่ตอนหลังท่านทราบแล้วว่า ใช้ความคิดไม่ได้ ต้องรู้เอาเท่านั้น

สำนักหนึ่ง สอนให้เคลื่อนไหวมืออย่างเป็นจังหวะ
อีกสำนักหนึ่ง สอนให้รู้ความเคลื่อนไหวของท้อง
อีกสำนักหนึ่ง สอนให้กำหนดจังหวะในการเดิน ซึ่งจงใจหน่วงจนช้ามาก
ความจริงทั้งหมดนี้ ก็คือการรู้ความเคลื่อนไหวของกาย
ตามนัยแห่งสัมปชัญญบรรพ ของกายานุปัสสนานั่นเอง

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายก็คือ แทนที่จะรู้รูปชนิดนี้
ลูกศิษย์จำนวนมาก มักจะใช้สติเพ่งจับเข้าที่ร่างกายส่วนความเคลื่อนไหวนั้น
เช่นเผลอไปเพ่งที่มือ ที่ท้อง ที่เท้า หรือคิดเรื่องการเคลื่อนไหวมือ ท้อง และเท้า
ซึ่งการเพ่งก็ดี การคิดก็ดี ยังไม่ใช่การเจริญสติรู้ปัจจุบันธรรมอย่างแท้จริง
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นักปฏิบัติจำนวนมาก ทำสมถะ แต่คิดว่าทำวิปัสสนาอยู่

อีกสำนักหนึ่ง สอนให้รู้เฉพาะรูปเดิน
โดยขณะที่เท้ากระทบพื้นไม่ต้องกำหนด เพราะเป็นรูปกระทบ ไม่ใช่รูปเดิน
สำนักนี้คลาดเคลื่อนอยู่สองจุดเช่นกันคือ
การเจริญสติแบบแยกส่วน ไม่ต่อเนื่องกันไป อย่างหนึ่ง
และใช้กำลังของสติเพ่งจ้องลงไปที่เท้า อันเป็นการเพ่ง ไม่ใช่การรู้ อีกอย่างหนึ่ง

บางสำนัก(มีหลายแห่ง) เจริญสติโดยใช้อิริยาบถบรรพ ของกายานุปัสสนา
คือการรู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอน
และเนื่องจากรูปยืน เดิน นั่ง นอน เป็นวิญญัติรูป ซึ่งต้องรู้ด้วยใจ
จึงมีการสอนกันว่า ให้ทำสติกำหนดเข้าไปที่หทยรูปคือที่หัวใจ
แล้วตรึกนึกถึงรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนอน อยู่ที่หทยรูปนั้น
จุดที่ผมเห็นว่าพลาดก็คือ การรู้นั้นไม่ใช่รู้ปัจจุบัน แต่เป็นการรู้ตามหลัง
เพราะในขณะที่รูปปรากฏนั้น ยังไม่รู้
ต้องใช้เวลาผ่านกระบวนการกำหนดเข้าไปที่หทยรูป
แล้วจึงตรึกนึกถึงรูปยืน เดิน นั่ง นอน อีกช่วงหนึ่ง
ทั้งที่ความจริงแล้ว การรู้ด้วยใจ สามารถรู้ได้โดยไม่ต้องกำหนด
หากไปกำหนดขึ้นก็เป็นนิมิต ไม่ใช่ปรมัตถธรรมจริง
ผลที่ตามมาก็คือการติดสมถะอีกเช่นกัน

บางสำนักสอนให้คอยถามตนเอง เช่นเมื่อนั่งอยู่ จะเปลี่ยนอิริยาบถ
ก็ให้ถามตนเองเสียก่อนว่า ทำไมจึงจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ
แล้วก็ตอบตนเองว่า จำเป็นต้องเปลี่ยน
เพราะเกิดทุกขเวทนาบ้าง เพราะจะไปทำกิจธุระบ้าง
ถามตอบเสร็จแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ
กระบวนการถามตอบนี้ เป็นกระบวนการทางความคิดทั้งสิ้น

บางสำนักเน้นเรื่องอารมณ์ปรมัตถ์
แต่เมื่อปฏิบัติจริงก็ยังหลงอยู่กับอารมณ์บัญญัติ
เช่นเมื่อตาเห็นรูป (เช่นดอกไม้) ก็เกรงว่าจิตจะไปหลงบัญญัติ
จึงใช้ความคิดย้ำลงไปว่า รูป ๆ เพื่อจิตจะได้รู้รูปปรมัตถ์ และเป็นกายานุปัสสนา
อันนี้เป็นการเปลี่ยนบัญญัติจาก "ดอกไม้" เป็น "รูป" เท่านั้น
บางท่านก็เน้นเข้าไปที่การเห็น ใช้ความคิดย้ำลงไปว่า เห็น ๆ
เพื่อให้จิตรู้ ผัสสะ อันเป็นนามปรมัตถ์ และเป็นธัมมานุปัสสนา
ทั้งที่ในขณะที่รู้ กับขณะที่คิดนั้น
มันตามหลังกันนิดหนึ่ง จึงไม่ใช่การรู้ปัจจุบันจริงๆ
และผลจากการที่คอยใส่ใจจดจ่อกำหนดสติตามหลังเพื่อรู้บัญญัติเช่นนี้
สิ่งที่ได้มาก็คือความสงบอันเกิดจากการทำสมถะนั่นเอง

เรื่องการสำรวจแนวทางปฏิบัติของสำนักต่างๆ ผมขอกล่าวแต่เพียงเท่านี้
สรุปก็คือ คำสอนที่ดีๆ มีอยู่ในสำนักต่างๆ โดยทั่วไป
บางสำนัก อาจารย์ก็ยังปฏิบัติไม่ได้จริง
บางสำนักอาจารย์ดีจริง แต่ลูกศิษย์จำนวนมากทำไม่ถูกตามที่อาจารย์สอน
ด้วยเหตุนี้แหละที่ผมมักกล่าวว่า
ผู้ปฏิบัติส่วนมาก มักทำสมถะ แต่คิดว่าเป็นวิปัสสนา
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 11:08:29

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 11:10:59
การรู้อารมณ์ปรมัตถ์

ผมขอเพิ่มเติมเรื่องการรู้ปรมัตถ์สักเล็กน้อย
อันที่จริงการรู้ปรมัตถ์ไม่สามารถกระทำได้ด้วยการคิด
แม้จะเป็นการคิดถึงปรมัตถ์ก็ตาม
แต่ทำได้ด้วยการมีสติสัมปชัญญะที่มีคุณภาพจริงๆ เท่านั้น ดังนี้

ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ผมขอจำแนกการรู้ปรมัตถ์ออกเป็น 2 ส่วน
คือการรู้ปรมัตถ์ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง
และการรู้ปรมัตถ์ด้วยจิตที่มีญาณสัมปยุต อีกอย่างหนึ่ง

การรู้ปรมัตถ์ตามธรรมชาติก็เช่น เมื่อตากระทบรูป
ก็เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมารู้รูป
(คือสีที่ตัดกัน โดยจิตยังไม่ทันบัญญัติว่ารูปอะไร)
หรือเมื่อใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง (เฉพาะส่วนที่เป็นปรมัตถ์
ไม่รวมบัญญัติซึ่งเกิดในภายหลัง และรู้ได้ด้วยใจเช่นกัน)
ก็เกิดมโนวิญญาณขึ้นมารู้ความคิดนึกปรุงแต่ง
อารมณ์แรกที่มากระทบอายตนะภายในตรงจุดนี้ เป็นอารมณ์ปรมัตถ์นั่นเอง
เกิดขึ้นกับสัตว์ทั้งหลาย ที่อายตนะภายนอกภายในกระทบกัน
แล้วเกิดวิญญาณขึ้นรู้อารมณ์ที่มากระทบนั้น
มันเป็นกลไกธรรมชาติ เป็นวิบาก ที่ยังใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้

แต่ถ้าเมื่อใดเจริญสติสัมปชัญญะจนช่ำชองแล้ว
จะเป็นการง่ายมาก ที่เมื่อรู้ปรมัตถ์ทางอายตนะ
และมีการส่งทอดความรับรู้เข้าสู่ใจแล้ว
จิตจะผลิตสติสัมปชัญญะขึ้นมา พิจารณาอารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ
โดยเป็นจิตที่มีปัญญา หรือญาณสัมปยุติ
จะสามารถรู้ชัดเฉพาะอารมณ์ปรมัตถ์จริงๆ ซึ่งแสดงไตรลักษณ์ออกมา
รวมทั้งรู้ชัดว่าอารมณ์ปรมัตถ์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีน้ำหนักใดๆ
ในทางที่จะก่อทุกข์ให้จิต เว้นแต่จิตจะหลงไปยึดถือเข้า
ส่วนบัญญัติทั้งหลายที่เกิดตามหลังมา
นับตั้งแต่การจำได้หมายรู้ว่า อันนี้ชื่อนี้ ทำกิจอย่างนี้ ดีหรือไม่ดีอย่างนี้ๆ
จิตก็จะรู้ชัดว่า นี้เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง

ในเวลาที่ปฏิบัติจริงนั้น จิตจะมีสภาพตั้งมั่น เป็นผู้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ
คือเป็นคนดูละคร ไม่ใช่คนเล่นละคร อันเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิ
และการรู้นั้น ไม่มีความจงใจกำหนดรู้ เพราะรู้ก็คือรู้ ไม่ต้องแกล้งรู้
คือจิตจะมีสติกำหนดรู้อารมณ์เอง อันเป็นสัมมาสติ
ผู้ปฏิบัติไม่ต้องจงใจช่วยกำหนด อันเป็นมิจฉาสติและนำไปสู่ภูมิของสมถะ
ส่วนสิ่งที่ถูกรู้ หรืออารมณ์นั้น จะรู้อารมณ์สองอย่างซ้อนกันอยู่
เหมือนเห็นคน พร้อมกับเห็นเงาของคน
คือสามารถจำแนกอารมณ์ปรมัตถ์ กับบัญญัติออกจากกันได้
ด้วยจิตที่มีสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ

ธรรมตรงนี้ละเอียดอ่อนมาก จึงมีทางแยกย่อยที่จะพลาดได้ง่าย
เช่นต้องมีสัมมาสมาธิ คือจิตตั้งมั่น นุ่มนวล
ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ

ต้องมีสัมมาสติ หรือรู้อารมณ์ปรมัตถ์ไปตามธรรมชาติธรรมดาที่สุด
และต้องเป็นปัจจุบันจริงๆ

ต้องมีสัมมาทิฏฐิ จำแนกได้ชัดว่าอารมณ์อันใดเป็นปรมัตถ์ของจริง
อันใดเป็นบัญญัติที่จิตคิดนึกปรุงแต่งขึ้นมาเอง

จิตที่มีคุณภาพเช่นนี้จึงจะเจริญวิปัสสนาได้จริง
มิฉะนั้นก็จะหลงเพ่งบ้าง เผลอไปบ้าง เจริญสติขาดช่วงบ้าง
จงใจปรุงแต่งอารมณ์ปรมัตถ์ขึ้นบ้าง คิดเอาบ้าง
เหล่านี้แหละครับคือทางแยกย่อยมากมายที่คอยดักนักปฏิบัติอยู่

------------------------------------
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 11:10:59

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 11:26:30
การตรวจสอบแนวทางปฏิบัติของสำนักต่างๆ นั้น ยากมากครับ
เรื่องที่ผมเขียนขึ้นและนำมาโพสต์นี้
เหมาะกับคนที่เจริญสติสัมปชัญญะเป็นแล้วจะนำไปใช้
คือนำปริยัติมาตรวจสอบแนวทางปฏิบัติของตนเอง
เป็นการสะกิดผู้ปฏิบัติในสาย/สำนักต่างๆ ให้เฉลียวใจคิดตรวจสอบตนเองเท่านั้น
แต่สำหรับคนใหม่ ที่ยังไม่รู้อะไรเลย
การจะนำปริยัติไปตรวจสอบแนวทางปฏิบัติ ก็ยังยากอยู่ดี
เพราะถ้าไม่ยาก ที่ไหนนักการศึกษาธรรมะจะหลงทำสมถะกันเป็นส่วนมาก

ที่จริงถ้าคนเรามีโยนิโสมนสิการ คือการรู้จักพิจารณาให้แยบคาย
จึงจะนำปริยัติไปใช้ตรวจสอบแนวทางปฏิบัติได้จริง
ผมจึงไม่เห็นสิ่งใดเลย จะเทียบได้กับโยนิโสมนสิการ
แต่โยนิโสมนสิการก็เป็นสิ่งที่สร้างได้ยากมาก
เหมือนอย่างการสอนให้คนมีความรู้นั้นไม่ยาก
แต่การสอนให้คนรู้จักคิดพิจารณา เป็นเรื่องยากกว่ากันหลายเท่า
หากจะกล่าวว่า ให้เอาโยนิโสมนสิการมาใช้
ก็จะไม่เห็นภาพอะไรเลย
จึงจำเป็นต้องลดระดับลงมากล่าวถึงปริยัติธรรมแทน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 11:26:30

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 12:10:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ณรงค์ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 13:46:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 14:47:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 16:03:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ dawn วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543 19:54:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 23 ธันวาคม 2543 07:58:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ อี๊ด วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 09:37:07
สาธุครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 09:37:07

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 10:28:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 11:04:26
ไหนๆ กระทู้นี้วิจารณ์แนวทางปฏิบัติเอาไว้มากแล้ว
ขอย้อนมาวิจารณ์การปฏิบัติของหมู่เพื่อนบ้างก็แล้วกันครับ
เมื่อวานนี้ เพิ่งได้พบเพื่อนๆ จำนวนมากที่ศาลาลุงชิน
ผมเห็นจุดหลักๆ ที่พวกเราหลายคนปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปดังนี้

เพื่อนจำนวนมากมักจะหัด "ทำความรู้ตัว" มากกว่าจะหัด "รู้ตัว"
ทั้งที่ความจริงแล้ว รู้ตัวก็คือรู้ตัว เช่นกำลังเผลออยู่ แล้วเกิดรู้ตัวขึ้นมา
กำลังโกรธอยู่ แล้วรู้ว่าโกรธอยู่ ฯลฯ
การรู้ตัวนั้น ต้องรู้กันอย่างซื่อๆ (ภาษาอีสาน) คือรู้ไปตรงๆ ง่ายๆ ธรรมดาๆ
ไม่ใช่พยายามปั้น พยายาม "ทำความรู้ตัว" ขึ้นมา
เพราะความรู้ตัวที่พยายามปั้นขึ้นมา เป็นของปลอมครับ

ส่วนมากเมื่อเผลออยู่ แล้วเกิดมีสติระลึกรู้ตัวขึ้นได้
ตรงจุดแรกที่รู้ตัวนั้น เป็นความรู้ตัวที่ดี ถูกต้อง เป็นธรรมชาติ
แต่ถัดจากนั้น ก็จะเกิด "ความอยาก" ที่จะรู้ตัวให้ต่อเนื่อง
จิตก็จะไป "ทำความรู้ตัว" ขึ้นมาทันที
เป็นการสร้างภพไปด้วยอำนาจของตัณหานั่นเอง แล้วไม่รู้ทันว่ากำลังมีตัณหา

บางคนที่เป็นน้องใหม่หน่อย ก็มักจะเพ่ง
คือพยายามจะ "รู้อะไรสักอย่าง"
มากกว่าจะ "รู้ทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้า ตามความเป็นจริง"
เมื่อเพ่ง ก็รู้สึกจิตก็หนัก และอึดอัดขึ้นมา
แล้วก็ "อยากจะหายอึดอัด" ซึ่งก็คือการสร้างเหตุแห่งทุกข์ซ้อนเข้ามาอีก
จิตใจก็เลยอึดอัดอยู่อย่างนั้นเอง
น้องใหม่บางท่าน เห็นรุ่นพี่เคาะนิ้ว ก็เคาะบ้าง โดยที่ยังรู้ไม่เป็น
ผลก็คือการเพ่ง การพยายามกดข่มบังคับจิต ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติเช่นกัน

พี่เก่าบางท่าน เคยทำความรู้ตัวได้ดีด้วยการเคาะนิ้ว
ก็เคาะเรื่อยไป จนลืมสังเกตจิต
จิตถูกโมหะเข้าแทรก ครอบงำ รู้สึกมัวซัว แต่ก็ยังตั้งหน้าเคาะเรื่อยไป
ความจริงถ้าเฉลียวใจนิดเดียวว่า อันนี้ก็เป็นภพอันหนึ่ง เกิดด้วยตัณหา
พอรู้ทันตัณหา คือความอยากให้จิตพ้นจากโมหะ
จิตก็พ้นจากการครอบงำของโมหะแล้ว
ลักษณะนี้เรียกว่า พยายามเจริญสติปัฏฐาน จนลืมความรู้ตัวครับ

ถ้ากล่าวในภาพรวมแล้ว ก็ดีขึ้นตามๆ กันครับ
ที่ย่ำอยู่กับที่มีน้อยคนนัก ส่วนมากก็คือคนที่ไม่ปฏิบัตินั่นเอง
แต่เส้นทางธรรมนั้นละเอียดและซับซ้อนเหลือเกิน
การใส่ใจอย่างแยบคาย ที่จะสังเกตจิตใจตนเอง
คืออาวุธวิเศษที่ควรจะหัดใช้ให้เป็นนะครับ
เพราะเมื่อไม่มีคนที่จิตไวกว่าคอยบอกแล้ว
จะได้รู้เท่าทันกลมายาของกิเลสตัณหาที่มันคอยล่อลวงได้ด้วยตนเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 11:04:26

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 11:29:04
สาธุครับ

ปัญหาเรื่อง เมื่อรู้ตัวแล้วก็พยายามที่จะรักษาการรู้ตัวให้ต่อเนื่อง เป็นปัญหาของผมอย่างไม่รู้คลายจริงๆครับ

เมื่อวานนี้ได้แอบนั่งฟังอยู่ข้างหลังครู ก็ได้คำสอนที่ดีๆไปประกอบการภาวนาของตนเองอยู่มากครับ (แม้จะเป็นเพียงประโยคสั้นๆ ซึ่งก็มีเนื้อหาตามที่ครูกล่าวมาครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 11:29:04

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 11:34:25
ผมขอน้อมรับคำชี้แนะจากคุณอาไปปฏิบัติครับ ^-^
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543 11:34:25

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ โยคาวจร วัน อังคาร ที่ 26 ธันวาคม 2543 08:51:24
สาธุครับ
ผมติดเพ่งมานานแล้วครับ
ตื่นขึ้นมาพอรู้สึกตัวก็ค่อยๆ ก่อขึ้นมา
อึดอัดหนักขึ้นๆ จนหูอื้อไปเลย
ก็พยายามดูไปเรื่อยๆ บางครั้งก็หายไป
แต่ไม่นานก็จะกลับมาอีก
จึงรู้ว่าตัวเองยังปฏิบัติผิดอยู่
โดยคุณ โยคาวจร วัน อังคาร ที่ 26 ธันวาคม 2543 08:51:24

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 26 ธันวาคม 2543 11:18:04
รู้ว่าผิดก็ไม่ยากแล้วครับ เพียงแต่รู้ด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ ก็หายครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 26 ธันวาคม 2543 11:18:04

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ MrMail วัน พุธ ที่ 27 ธันวาคม 2543 06:21:55
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ สุกิจ วัน พุธ ที่ 27 ธันวาคม 2543 08:44:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ MrMail วัน พุธ ที่ 27 ธันวาคม 2543 13:18:24
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 27 ธันวาคม 2543 14:18:57
ขออนุญาต ใช้เนื้อที่กระทู้ตรงนี้ สอบทานความเข้าใจกับครู  เรื่องแนวทางการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีความเข้าใจที่ผิดพลาดข้ามปี (หรือข้ามชาติ)

ผมสรุปเพื่อช่วยจำให้ตัวเองอย่างนี้จะถูกไหมครับ

การปฎิบัติ สมถะ ใช้สติ รู้ อารมณ์ ของจิต ที่จิตกำลังรับรู้ในปัจจุบัน

การปฏิบัติวิปัสนา ใช้สัมปชัญญะ รู้ อาการ ของจิต ในปัจจุบัน ขณะที่กำลังรู้อารมณ์ ควบคู่ไปกับการรู้อารมณ์

ในเบื้องต้น ไม่ต้องพยายามรู้จิต เพราะจะรู้ได้ก็เพียงอาการของจิต

ผิดพลาดอยากไร รบกวนครู หรือท่านอื่นแก้ให้ด้วยครับ
โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 27 ธันวาคม 2543 14:18:57

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ nucharat วัน พุธ ที่ 27 ธันวาคม 2543 15:08:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 06:41:27
สมถะมีหลักการสำคัญคือการเอาสติไประลึกรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง
จะประกอบด้วยความคิดก็ได้ แต่ต้องคิดเรื่องอันเดียวให้ต่อเนื่อง
ตัวอย่างของการทำสมถะเช่นการบริกรรมคือคิดซ้ำๆ ว่าพุทโธ สัมมาอรหัง ฯลฯ
การคิดเช่นการพิจารณากาย พิจารณาอาหาร พิจารณาชีวิต ฯลฯ
การเพ่ง เช่นเพ่งกสิณดิน น้ำ ลม ไฟ ช่องว่าง ฯลฯ
การแผ่ เช่นแผ่เมตตา ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า สมถะยังมีการดัดแปลงอาการของจิต ไม่ใช่รู้จิตตามที่จิตมันเป็น
เช่นดัดแปลงให้เพ่ง ให้แผ่ ให้น้อมเข้าหาความสงบ เป็นต้น
ถ้าเมื่อใด จิตน้อมเข้าหาความสงบได้แล้ว ก็หมดภาระของการทำสมถะ

สมถะก็ยังมี 2 ชนิดคือมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ
มิจฉาสมาธินั้น มุ่งเข้าหาความสงบอย่างเดียว
ส่วนสัมมาสมาธินั้น นอกจากสงบแล้ว จิตยังต้องตั้งมั่น อ่อนโยน ว่องไว ควรแก่การงาน
เนื่องจากจิตดวงที่เป็นผลของสัมมาสมาธิ จะมีทั้งสมาธิ สติ และปัญญาคือสัมปชัญญะครับ

สำหรับวิปัสสนามีหลักการคือ การรู้อารมณ์ที่มีสภาวะหรือมีตัวจริงที่แสดงไตรลักษณ์ได้(ปรมัตถ์)
และต้องรู้อารมณ์นั้น ด้วยจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ คือมีทั้งสมาธิ สติ สัมปชัญญะ(ปัญญา)
เช่นเมื่อเกิดความโกรธพุ่งขึ้นมา ก็มีสติระลึกรู้ความโกรธนั้นอย่างเป็นปัจจุบัน
สติ ทำหน้าที่เหมือนยามเฝ้าประตู พออะไรผ่านมา จะดีหรือชั่วก็คอยรู้ทันเสมอ
เมื่อสติรู้ทันแล้ว จิตก็ยังตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่ถลำ ไม่หลงเข้าไปเพ่งจ้อง หรือเผลอตามอารมณ์นั้นไป
เหมือนกับว่ายามที่ยืนเฝ้าประตูนั้น ไม่หลงวิ่งตามคนแปลกหน้าไป แต่เฝ้ายืนดูเฉยๆ
หรือเหมือนคนยืนบนฝั่งแม่น้ำ ไม่หลงโดดลงย้ำเมื่อเห็นบางสิ่งลอยตามน้ำผ่านหน้าไป

เมื่อมีสติรู้สภาวธรรม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายตามอารมณ์
ก็จะเปิดทางให้ปัญญาหรือสัมปชัญญะทำงาน
คือจะเห็นความโกรธนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ปัญญาในขั้นนี้ เป็นขั้นที่เห็นความเกิดดับของอารมณ์ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา
เมื่ออบรมมากเข้า ก็จะส่งทอดให้เกิดโลกุตรปัญญา คือการเห็นอริยสัจจ์แห่งจิต
แล้วเกิดมรรคเกิดผลตามลำดับไปครับ

ดังนั้นเมื่อรู้อารมณ์แล้ว อย่ากังวลถึงจิตเกินควร
ให้รู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ
ต่อเมื่อจิตเองถลำตกน้ำ คือเกิดยินดียินร้ายขึ้นมา
จึงค่อยรู้ทันจิตที่ถลำเข้าไปยึดอารมณ์ หรือยินดียินร้ายนั้น
เพื่อให้จิตถอดถอนตนเองกลับมาเป็นคนยืนบนฝั่งต่อไป
จะได้ให้สติระลึกรู้อารมณ์ที่ผ่านมา ให้สัมปชัญญะรู้ความเกิดดับของอารมณ์
โดยจิตตั้งมั่นและเป็นกลางอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 06:41:27

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 09:26:49
สาธุ _/|\_
กราบขอบพระคุณครับ
โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 09:26:49

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 17:34:29
แถมอีกหน่อยครับ
สมถะนั้นเป็นการตกแต่งจิต
ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ก็ตกแต่งจิตให้สงบอย่างเดียว
แล้วเพลิดเพลินไปด้วยราคะและโมหะ
หากเป็นสัมมาสมาธิ ก็เป็นการตกแต่งจิตที่มีนิวรณ์ให้ปราศจากเครื่องถ่วงคือนิวรณ์
ให้จิตมีทั้งสมาธิ สติ ปัญญา
คือตั้งมั่น + อ่อนโยน(สมาธิ) ว่องไว(สติ) ควรแก่การงาน(ปัญญา)

ส่วนวิปัสสนาจะใช้จิตที่มีคุณภาพแล้วนั้นไปทำงาน
คือระลึกรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏอย่างเป็นวิหารธรรม(เครื่องอยู่ ไม่ใช่เครื่องจองจำ)
และด้วยความเป็นกลาง
ในขั้นนี้จะไม่มีการตกแต่งจิตแม้แต่น้อย
มีแต่ปล่อยจิตที่มีคุณภาพนั้น ให้ทำงาน รู้ ไปตามธรรมชาติธรรมดา
แต่นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด จะอดตกแต่งจิตไม่ได้
เช่นน้อมจิตเพื่อไปรู้อารมณ์ แทนที่จะรู้อารมณ์ตามธรรมดาเมื่อตากระทบรูป... ใจกระทบความคิดนึก
หรือบีบบังคับ กดข่มจิต จนแน่นไปหมด เป็นต้น

ขอให้พวกเราหัดสังเกตจิต เวลาที่คิดจะปฏิบัติไว้เถิดครับ
ส่วนใหญ่จะเผลอไปตกแต่งจิตแทบทั้งสิ้น
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 17:34:29

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 28 ธันวาคม 2543 18:55:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ MrMail วัน ศุกร์ ที่ 29 ธันวาคม 2543 13:39:29
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 3 มกราคม 2544 11:57:49
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 38 โดยคุณ จ้อม วัน ศุกร์ ที่ 5 มกราคม 2544 10:25:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com