กลับสู่หน้าหลัก

เหมือนดั่งชายเจ้าชู้ ที่กลับมาตายรัง

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:34:29

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้มีโอกาสสนทนากับพระน้องชาย ก็ได้พูดคุยกันหลายเรื่องสารพัด แต่มีตอนหนึ่งได้คุยกันเรื่องนิพพาน

พระน้องชายบอกผมว่า หลวงตาบัวท่านกล่าวว่า "นิพพาน เป็นเหมือนภพ" เมื่อผมได้ยินครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนก็แปลกใจ แม้ได้ฟังครั้งที่สองก็ยังคงแปลกใจอีกเหมือนกัน

ผมพิจารณาทบทวนดู ก็เลยเข้าใจเอาเองว่า หลวงตาท่านคงต้องการจะสื่อให้รู้ว่า นิพพานมีอยู่ แต่ท่านคงจะหาทางกล่าวให้ผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับภพให้พอเข้าใจได้ ได้เพียงเท่านี้ และไม่มีครั้งใดเลยที่หลวงตาท่านจะกล่าวว่า นิพพาน คือภพอีกภพหนึ่ง

แต่ดูเหมือนว่า มีบางสำนักกำลังจะเอาคำพูดของหลวงตาไปยืนยันกับลัทธิของตน ว่า นิพพานคือภพ เป็นอีกภพหนึ่งซึ่งพ้นไปจากภพทั้งสาม (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) ถึงขนาดให้หนังสือพิมพ์ของสำนักออกข่าวเชียร์หลวงตาอยู่บ่อยๆ

ผมมาพิจารณาว่า ทำไมหลวงตาท่านบอกว่า นิพพานเป็นเหมือนภพ แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่หลวงตาจะพูดว่า นิพพานก็คือภพอีกภพหนึ่ง

ผมย้อนมาพิจารณาใน ปฎิจจสมุปบาท ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวว่า "ภโว ปจฺจยา ชาติ" ซึ่งแสดงอย่างชัดแจ้งว่า ภพเป็นปัจจัยให้เกิด ซึ่งไม่ว่าภพใดก็ตาม ก็ย่อมมีสัตว์โลกเกิดอยู่ในภพนั้นๆเสมอๆ แต่กับนิพพานนี้ ไม่เคยได้ยินว่ามีสัตว์ไปเกิดในนิพพานได้ (ยกเว้นกับสำนักอันโด่งดังสำนักหนึ่ง) และไม่เคยได้ยินด้วยว่า หลวงตาท่านพูดไว้ในทำนองว่า "เราจะไปเกิดอีกในนิพพาน" หรือได้ยินว่า "ได้พบกับพระอรหันต์ทั้งหลายในนิพพาน" หรือได้ยินว่า "ได้พบกับพระพุทธเจ้าในนิพพาน"

สิ่งที่พิจารณาตามมาอีกก็คือ แล้วเหตุใดหลวงตาท่านจึงกล่าวเช่นนี้ ก็มีความรู้ปรากฎขึ้นมาสั้นๆในห้วงของความคิดว่า "อารมณ์พระนิพพาน" ซึ่งเราเคยได้ยินมานักต่อนักว่า เมื่อจิตได้ตัดขาดสังโยชน์แต่ละครั้ง จิตจะไปรู้ที่พระนิพพาน ซึ่งตามความหมายของคำว่า "อารมณ์" ก็คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ดังนั้นพระนิพพานจึงเป็นอารมณ์ให้กับจิตได้ สิ่งนี้ไม่ต่างจากภพเลย เพราะภพก็เป็นสิ่งที่จิตจะเข้าไปรู้ได้ เพราะหากจิตไม่สามารถรู้ได้ จิตจะเหนี่ยวเอาภพนั้นมาเป็นของตนได้อย่างไร และหากจิตเหนี่ยวเอาภพนั้นมาเป็นของตนไม่ได้ แล้วการเกิดจะมีขึ้นได้อย่างไร

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ พระนิพพานนั้น จิตรู้ได้ แต่จิตเข้าไปยึดครองไม่ได้ หรือแม้แต่จะหลงเข้าไปยึดครองก็ไม่มี เพราะจิตในขณะที่รู้อยู่กับพระนิพพานนั้น เป็นจิตที่ไม่มีเจตนา หากแต่เป็นจิตที่รู้อยู่กับธรรมอย่างธรรมดาธรรมชาติที่สุด ต่างจากการรู้ในภพต่างๆของคนที่มีกิเลสอย่างหนา ที่มักประกอบไปด้วยเจตนา (ด้วยเหตุว่ามีเหตุแห่งเจตนาคือตัวตัณหา) จิตที่กำลังรู้พระนิพพาน เป็นเพราะอำนาจแห่งปัญญาหาใช่อำนาจแห่งตัณหา ดังนั้นเจตนาอันเกิดจากตัณหาจึงไม่มี เมื่อไม่มีแล้วเจตนาจะเข้ายึดเอาเป็นตน หรือของตนจะมาจากไหน

แม้ว่าจะไม่เคยได้ยินหลวงตาท่านพูดว่า "นิพพาน ไม่มีใครเข้าไปเกิดได้ หรือเข้าไปอยู่ได้" แต่ก็ไม่เคยได้ยินหลวงตาท่านพูดว่า "มีสัตว์ไปเกิดในนิพพานเช่นกัน" (แต่ท่านจะกล่าวในวงในกับผู้ปฎิบัติธรรมด้วยกันอย่างไร ผมก็ไม่สามารถติดตามไปฟังการสนทนาได้ เพราะความเป็นจริงแล้ว ได้เห็นหลวงตาท่านจริงๆนับครั้งได้เลย)

เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้แล้ว ก็เกิดความรู้ว่า ไม่มีใครครองครองพระนิพพานได้ หรือแม้แต่ ไม่มีใครไปเกิดในพระนิพพานได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่หลวงปู่เหรียญท่านเคยบอกกับผมว่า พระอรหันต์เมื่อละสังขารแล้ว ดับหมด ไม่มีเหลือ

เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้วก็พบว่า ความสนใจต่อพระนิพพานก็หมดลง และมีความรู้ขึ้นว่า หากใครก็ตามที่ตั้งจิตอธิษฐานว่า "จะเอาพระนิพพาน" โดยมีเจตนาว่าจะครอบครองพระนิพพาน หรือจะไปเกิดพระนิพพาน ก็จะเป็นคำอธิษฐานที่ไร้ผล และยังอาจจะทำให้เกิดมิจฉาทิฎฐิได้ในอนาคต หรือแม้แต่จะอธิษฐานว่า "ขอให้ถึงพระนิพพาน" โดยมีเจตนาแท้จริงว่า จะขอไปเกิดในพระนิพพาน ก็จะเป็นผลเช่นเดียวกับที่กล่าวมาในประโยคก่อน

คำอธิษฐานที่ดีที่สุดที่เคยได้ยินคำแนะนำมา เป็นของหลวงปู่เหรียญ ท่านสอนให้อธิษฐานว่า "ขอให้พ้นทุกข์ ขอให้พ้นสังสารวัฏฏ์" ซึ่งท่านยังสอนทางลัดไปสู่พระนิพพานสำหรับผู้มีอินทรีย์ยังอ่อนทั้งหลายว่า ให้ทำสังฆทาน (หมายถึง ทำทานกับพระภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป) และให้อธิษฐานต่อจากนั้นทันทีว่า "ขอให้พ้นทุกข์ ขอให้พ้นสังสารวัฏฏ์" มิใช่อธิษฐานว่า "ขอให้มีความสุข ขอให้เกิดในสวรรค์"

เมื่อพิจารณาจนเห็นว่า พระนิพพาน ไม่ได้มีอะไรที่ควรจะสนใจหรือใส่ใจที่จะค้นคว้าต่อไป ก็ย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องของตัณหา ว่าเราจำเป็นต้องค้นคว้าหรือพิจารณาในเรื่องของตัณหามากน้อยเพียงใด จิตก็ย้อนไปยังเมื่อได้เห็นตัณหา และพิจารณาเห็นว่า ตัณหาก็เป็นอาการปกติของจิตที่ยังคงมีความหลงยินดีในโลกนี้เท่านั้น ซึ่งการละตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์หรือที่เรียกว่า สมุทัย ให้ได้ ก็ต้องให้เห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์

เมื่อพิจารณาได้ดั่งนี้แล้ว จิตก็สาธยายคำพูดนี้ขึ้นมาในทันที

        ทุกข์ควรกำหนดรู้
        สมุทัยควรละ
        นิโรธควรทำให้แจ้ง
        มรรคควรทำให้มาก


จากนั้นจิตก็หวนกลับไปคิดถึงพระสูตร ธรรมจักฯ ก็ยิ่งย้ำความเห็นลงไปอีกว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งประกาศพระศาสนา และเป็นเหตุให้มีพระภิกษุเป็นองค์แรก และเป็นอริยะด้วยนั้น ท่านมิได้สาธยายเรื่องพระนิพพานเลย หากแต่ท่านได้แสดง อริยสัจจ์ 4 นี้ เท่านั้น ซึ่งเป็นผลทำให้มั่นใจว่า ความรู้นี้ถูกต้อง

ถัดจากนั้นมาก็มีความรู้สึกว่า เราเสียเวลาไปกับความรู้มากมายที่อยู่อย่างกลาดเกลื่อนในพระไตรปิฎกเต็มไปหมด และรวมถึงกับการไปเสาะแสวงหาความรู้จากที่อื่นๆมากมาย แต่แท้ที่จริงแล้วสุดยอดแห่งความรู้ทั้งมวล องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรวบรวมไว้แล้ว และแสดงไว้แล้วตั้งแต่เมื่อทรงประกาศพระศาสนาในครั้งแรกนี้เท่านั้น

หากการเสาะแสวงหาความรู้อย่างไม่เลือก เป็นเหมือนชายสำส่อนที่แสวงหาหญิงมาเชยชมไม่เว้นวาย ในวันนี้ก็เปรียบเหมือนชายชู้ที่กลับมาตายรัง ในวันนี้จิตมีความตั้งใจว่าจะกำหนดรู้ทุกข์ให้มาก ด้วยสติ-สัมปชัญญะ

ต้องขอขอบพระคุณครูเป็นอย่างมาก ที่ช่วยประคับประคองศิษย์หัวขี้เลื่อยคนนี้ จนพอที่จะดูแลตัวเองได้บ้างแล้ว แม้ว่าจะยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้อย่างแท้จริง ก็เชื่อว่าคงจะพึ่งตนเองได้ในสักวันหนึ่งข้างหน้านี้แน่ๆ แม้ว่าจะใช้เวลานานก็ตาม

สาธุ สาธุ สาธุ
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:34:29

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:36:58
หมายเหตุ ครูเคยเป็นห่วง ว่าผมยังติดนิสัย "ฟุ้งไปในธรรม" ซึ่งต่อไปครูคงจะลดความเป็นห่วงนี้ได้แล้ว เพราะศิษย์คนนี้ได้เห็นแล้วว่า อะไรคือสิ่งที่ควรรู้
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:36:58

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ โยคาวจร วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:42:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:45:59
โห...พี่ตึก ชื่อกระทู้นี้ยังกับละครไทยเลยครับแต่มีคุณค่ากว่ากันเยอะครับ ^-^
ผมเองเดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่าไม่มีหลักธรรมใดที่จะถึงใจไปกว่า
อริยสัจจ์ 4 แล้วครับ

_/I\_ สาธุครับ
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 09:45:59

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 10:08:59
สาธุครับตึก ถ้าจับหลักอริยสัจจ์ได้ ก็เห็นจะหายห่วงได้ครับ
เพราะทุกข์ที่จะต้องรู้นั้น มีตั้งแต่ทุกข์หยาบจนทุกข์ละเอียด
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งถึงจุดไหน ก็ละสมุทัยในจุดนั้นได้
เช่นเห็นขันธ์เป็นทุกข์ จิตก็ไม่ทะยานเข้าไปยึดขันธ์แต่รวมลงมาอยู่ที่จิตผู้รู้
ถ้าเห็นจิตผู้รู้อย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นทุกข์อีก
ก็จะปล่อยวางจิตเสียได้

เมื่อปล่อยวางจิตได้แล้ว จิตจะนิพพานหรือไม่นิพพาน
ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกังวลสนใจต่อไปอีก
เพราะความปรารถนานิพพาน ก็เกิดจากความยึดจิต
ว่าเป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง

นิพพานเป็นธรรมชาติที่สิ้นทุกข์ สิ้นความปรุงแต่ง
ถ้าอยากรู้จัก ก็ต้องอบรมจิตจนสิ้นทุกข์และสิ้นความปรุงแต่งจริงๆ จึงจะรู้ได้
สุขของนิพพานนั้น เป็นสุขเพราะสิ้นความเสียดแทง
ของกิเลสตัณหาเครื่องปรุงแต่งทั้งปวง
ไม่ใช่สุขที่เกิดจากการเสพย์พระนิพพาน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 10:08:59

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 10:54:13
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 11:35:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 15:27:26
อนุโมทนากับคุณพัลวันครับ
ที่ฝ่าฟันมาจนเห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ควรรู้ ตามหลักของอริยสัจจ์
เมื่อจับหลักอริยสัจจ์ได้ การปฏิบัติก็จะเรียบง่าย
ไม่เที่ยวแสวงหาความรู้อื่นที่นอกไปจาก รู้ทุกข์

แต่ตรงที่ รู้ทุกข์นี้ ผมเห็นว่า
จะเป็นการรู้ทุกข์ที่เป็นอริยสัจจ์แห่งจิตได้นั้น ต้องรู้ทุกข์ในลักษณะว่า
จิตที่ไปยึดอยู่กับสิ่งใดๆเป็นทุกข์  จึงจะปล่อยวางสิ่งนั้นๆลงได้
แต่ถ้ายังเห็นว่าสิ่งที่จิตไปยึดเป็นทุกข์ (ไม่เห็นว่าจิตที่ไปยึดเป็นทุกข์)
ก็ยากที่จิตจะปล่อยวางได้  และมักจะกลายเป็นการเกิดความอยากที่จะทำให้สิ่งที่จิตไปยึดหายไป
เช่นเห็นว่าความโกรธเป็นทุกข์  แต่ไม่เห็นว่าจิตที่ไปยึดความโกรธอยู่เป็นทุกข์
จึงเอาแต่อยากและหาทางที่จะให้ความโกรธหายไป ซึ่งไม่ใช่การทำกิจอริยสัจจ์
เพราะถ้าเป็นการทำกิจอริยสัจจ์แห่งจิต ต้องรู้ว่าจิตที่ไปยึดกับความโกรธอยู่เป็นทุกข์
หรือแม้แต่การรู้ทุกข์ชั้นในสุดตามที่ครูกล่าวไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้
ก็ต้องรู้ว่า จิตที่ไปยึดจิตผู้รู้อยู่เป็นทุกข์ จิตจึงจะปล่อยวางจิตผู้รู้ได้

หากผมเข้าใจคลาดเคลื่อนประการใด ขอครูช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ ...ขอบคุณครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 15:27:26

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 17:01:07
ผมได้อ่านข้อความของคุณสุรวัฒน์แล้วเชื่อว่าเป็นจริงครับ เพราะสอดคล้องกับที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า "อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 (ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ) เป็นตัวทุกข์" ครับ และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับว่า เมื่อไม่รู้เท่าทันใน อุปาทาน ก็ย่อมอาจเกิดความเห็นที่วิปลาสไปว่า ขันธ์คือตัวทุกข์ครับ

ขอน้อมรับคำแนะนำของคุณสุรวัฒน์โดยดุษฎีครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 8 มกราคม 2544 17:01:07

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ สุกิจ วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 08:44:44
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 09:08:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 11:35:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 12:06:39
กระทู้นี้ คงเป็นกระทู้สุดท้ายที่ผมจะตั้งเองในที่แห่งนี้ และช่างดีจริงๆครับ ที่ได้ข้อความของครูขมวดตอนสุดท้ายไว้ให้

"ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งถึงจุดไหน ก็ละสมุทัยในจุดนั้นได้ เช่นเห็นขันธ์เป็นทุกข์ จิตก็ไม่ทะยานเข้าไปยึดขันธ์แต่รวมลงมาอยู่ที่จิตผู้รู้ ถ้าเห็นจิตผู้รู้อย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นทุกข์อีก ก็จะปล่อยวางจิตเสียได้"

"สุขของนิพพานนั้น เป็นสุขเพราะสิ้นความเสียดแทง ของกิเลสตัณหาเครื่องปรุงแต่งทั้งปวง ไม่ใช่สุขที่เกิดจากการเสพย์พระนิพพาน"

สาธุ สาธุ สาธุ

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 12:06:39

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 13:01:51
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ณรงค์ วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 13:04:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 9 มกราคม 2544 14:58:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 09:05:27
ที่ผมสาธุไว้นั้น เพราะชอบใจที่คุณสุรวัฒน์ชี้ประเด็นว่า
ต้องรู้เข้ามาที่จิตซึ่งเป็นทุกข์เพราะยึดอารมณ์
ไม่ใช่เพียงแต่รู้ทุกข์ชั้นนอกๆ ของขันธ์เท่านั้น
ตรงนี้เป็นแก่นสำคัญของการดูจิตเชียวครับ
เพราะชื่อว่าการดูจิตได้ ก็เพราะดูให้ถึงจิตจริงๆ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 09:05:27

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ณรงค์ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 09:27:31
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 09:50:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 10:23:32
ความจริงกระทู้นี้น่าจะเป็นเรื่อง "สูงสุดคืนสู่สามัญ"
ยิ่งกว่า "เจ้าชู้กลับมาตายรัง" นะครับ
คือบรรดานักปฏิบัติทั้งหลายนั้น
ศึกษาธรรมออกไปกว้างขวางมากมาย
และมีวิธีหรืออุบายปฏิบัติต่างๆ มากมาย
ก็เพียงเพื่อจะทวนกระแสโลกกลับมาปลดปล่อยจิตออกจากกองทุกข์
ด้วยการกระทำ ที่ไม่มีการกระทำใดๆ เลย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 10:23:32

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 10:43:59
สาธุ X 1000 กับคุณอาครับ ถึงใจมากเลยครับ

นึกถึงนิยายกำลังภายในบางเรื่องที่วิชาสุดยอด
มีเคล็ดวิชาว่า ต้องทำลายวรยุทธ์เดิมทิ้งก่อนถึง
จะฝึกได้ คือจากมีกระบวนท่าไปสู่ความไร้กระบวน
ท่า เรียกได้ว่าสูงสุดคืนสู่สามัญอย่างแท้จริงครับ

อิ อิ ผมเองก็เสียดายเวลาที่ไปยึดติดกับ
วิทยายุทธ์เก่า กระบวนท่าเก่าๆเสียตั้งนาน
ทำให้ยังไปไม่ถึงไหนทำให้เป็นจอมยุทธ์ปลายแถว
อยู่ตั้งนาน ^-^
โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 10:43:59

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 15:05:14
ว่าแล้ว..ว่าชื่อหัวข้อกระทู้มันแหม่งๆ:-)
(ตามสไตล์คุณน้องตึก)
ถ้าเป็นตัวเองคงตั้งชื่อว่า
เหมือนดั่งฟันที่ขูดหินปูนจนเกลี้ยงแล้ว
โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 15:05:14

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ tuli วัน พุธ ที่ 10 มกราคม 2544 19:50:18
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ จ้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 11 มกราคม 2544 12:42:45
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ กอบ วัน พฤหัสบดี ที่ 11 มกราคม 2544 21:29:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ tung วัน ศุกร์ ที่ 12 มกราคม 2544 02:27:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ หนึ่ง วัน จันทร์ ที่ 15 มกราคม 2544 13:17:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ นิดนึง วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 19:25:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com