กลับสู่หน้าหลัก

คำถามเรื่อง การปฏิบัติธรรมแนวพระสูตรกับแนวพระอภิธรรมขัดแย้งกันหรือไม่

โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 15 มกราคม 2544 19:46:55

เนื่องจากผมเคยได้ยินมาหลายความเห็นที่เกี่ยวกับพระอภิธรรม
ซึ่งบางท่านก็บอกว่าเป็นของแต่งใหม่ มีสิ่งที่นอกเหนือจากที่
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ ควรอ่านแต่พระสูตรเป็นหลัก,ฯลฯ
แต่ถ้าอย่างนั้นก็คงจะไม่ครบองค์ดังที่เรียกว่า"พระไตรปิฎก"
และด้วยตัวผมเองก็เน้นทางด้านการปฏิบัติมากกว่าอย่างอื่น
ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดคำถามนี้ขึ้นมา คือ
การปฏิบัติธรรมแนวพระสูตรกับแนวพระอภิธรรมขัดแย้งกันหรือไม่ครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 15 มกราคม 2544 19:46:55

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 08:17:27
หากหมายเอา อภิธรรม คือ การอธิบายธรรมที่จำแนกโดยละเอียดแล้ว ก็ลงได้กับพระธรรมวินัยเดิม แต่หากเอาแนวคิดที่เกิดจากอาจารย์อภิธรรมมาเป็นแนวปฎิบัติแล้ว คงจะทำได้ยากอยู่ครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 08:17:27

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 08:56:59
ผมเขียนบทความไว้พอดี กะว่าจะเอาไปไว้ที่ลานธรรมเพราะที่นั่นเถียงกันมาก
แต่คิดไปคิดมา เอามาลงที่กระทู้คุณเก๋ดีกว่าครับ
เพราะที่โน่นคนมากเกินไป โอกาสยุ่งก็มากตามไปด้วย

***************************************

การปฏิบัติธรรมแนวพระสูตรกับแนวพระอภิธรรม

ผู้นิยมพระสูตรกับผู้นิยมพระอภิธรรม มักมีความเห็นไม่ลงรอยกันหลายเรื่อง
เรื่องหนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจมากก็คือเรื่อง แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนา

ในพระสูตรท่านจะสอนวิปัสสนาแบบมีบุคคล ตัวตน สัตว์ เรา เขา
เช่นให้พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจ
ความไม่สมปรารถนา ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
ความเหี่ยวแห้งใจ และความคับแค้นใจ เป็นต้น
และมีตัวอย่างผู้ปฏิบัติธรรมที่ปรากฏในพระสูตรจำนวนมาก
ที่ท่านพิจารณาความทุกข์ โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อมของท่าน
เช่นบางองค์พิจารณาเรื่องการทำนา บางองค์พิจารณาน้ำค้างแข็งที่ละลาย
บางองค์พิจารณาประทีปที่ดับเพราะขาดน้ำมัน ฯลฯ

หรือในยุคสมัยของเรานี้ พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นส่วนมาก
ท่านจะใช้ความคิดพิจารณากายลงเป็นไตรลักษณ์ เป็นธาตุ เป็นอสุภะ ฯลฯ
ที่ก้าวไปยิ่งกว่านี้ก็เช่นหลวงพ่อทูล ถึงกับมีการเข้าค่ายฝึกคิดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

การเจริญวิปัสสนาตามแนวพระสูตรดังกล่าว
ไม่ได้รับการยอมรับจากนักอภิธรรม
ซึ่งมีความเห็นว่า วิปัสสนาจะต้องรู้ ไม่ใช่คิด
และสิ่งที่รู้ต้องเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่บัญญัติที่มีบุคคล ตัวตน สัตว์ เรา เขา

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ พระสูตรนั้นมีหลักฐานแน่นอนว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เองบ้าง
หรือเป็นเรื่องราวและประสบการณ์จริงของคนในครั้งพุทธกาลบ้าง
พระสูตรจึงไม่น่าจะผิดพลาด
แต่พระอภิธรรมนั้นเล่า มีที่มาไม่ชัดเจนเท่าพระสูตร
จึงมีปัญหาว่า จะน่าเชื่อได้สักเพียงไหน ถ้าสอนขัดแย้งกับพระสูตร
และทั้งที่สอนต่างจากพระสูตร
เหตุใดฝ่ายอภิธรรมจึงแสดงธรรมด้วยท่วงทำนองที่เชื่อมั่นมาก

เรื่องนี้ผมเคยพิจารณามานานแล้ว แต่พิจารณาไม่ออก
เพราะผมไม่ทราบว่า ที่ว่ารู้ปรมัตถ์ ๆ ของอภิธรรมนั้น เขารู้อะไรกันแน่
ครั้นมาได้อ่านธรรมของอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี วัดมเหยงค์
และได้ศึกษาอภิธรรมอย่างเป็นระบบจริงจังขึ้น
จึงได้ทราบว่า การดูจิตที่ผมทำมานานนั้น
เอาเข้าจริงแล้วก็คือการรู้ปรมัตถ์นั่นเอง

และเมื่อพิจารณาจากคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ที่ว่า
"คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงจะรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด"
ประกอบกับได้ฟังคำอธิบายของศิษย์พี่ของผม
จึงเข้าใจได้ว่า การปฏิบัติธรรมตามแนวพระสูตร
ที่มีตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา
กับการปฏิบัติธรรมตามแนวอภิธรรม
ที่มีแต่ปรมัตถ์ ไม่เอาเรื่องตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา นั้น
ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลย หากแต่เป็นการปฏิบัติที่สืบเนื่องกันนั่นเอง

นั่นก็คือเมื่อแรกที่เริ่มฟังธรรมหรือลงมือปฏิบัตินั้น
ผู้ปฏิบัติมีมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว คือมีความเห็นว่ามีตัวตนของตนเต็มที่
ท่านจึงต้องเริ่มสอนที่ตัวตนของตนนั่นแหละ ด้วยการให้สังเกตความจริงว่า
สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวตน ของตน นั้น
เอาเข้าจริงมันล้วนเป็นของแปรปรวน ยึดไว้ไม่ได้ทั้งสิ้น
เช่นร่างกายนี้ มีแก่ เจ็บ ตาย
บุคคลรอบข้าง ทรัพย์สินเงินทอง และชื่อเสียงเกียรติยศ
ก็ล้วนแต่แปรปรวนได้ทั้งสิ้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นให้มากเกินไป

เมื่อจิตใจของผู้ศึกษาธรรมผ่อนคลายความยึดถือหยาบๆ ลงแล้ว
ท่านจึงสอนให้รู้จักการเจริญสติสัมปชัญญะ ดังที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่นี้เอง
เมื่อจิตดำเนินอยู่ในครรลองของสติสัมปชัญญะ จิตก็เริ่มรู้เห็นปรมัตถธรรม
จนเกิดวิปัสสนาญาณ และมรรค ผล เป็นลำดับๆ ไป

หลวงปู่ดูลย์ท่านพาศิษย์ตัดตรงเข้ามาเรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิต
อันเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมล้วนๆ ทีเดียว
แต่ท่านก็ยอมรับความจริงว่า คนจำนวนมากตัดตรงเข้ามาที่นี้ไม่ได้
ท่านจึงกล่าวว่า "ก็ต้องอาศัยคิด"
เช่นการคิดพุทโธ คิดพิจารณากาย คิดพิจารณาชีวิตและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
พอให้จิตมีกำลังเสียก่อน แล้วจึงตัดตรงเข้ามาศึกษาปรมัตถธรรมที่จิตเลยทีเดียว

สรุปแล้ว ถ้าเราเข้าใจการปฏิบัติอย่างถึงแก่นจริงๆ
เราจะไม่แปลกใจเลยที่พระสูตรสอนอย่างหนึ่ง พระอภิธรรมสอนอีกอย่างหนึ่ง
และผู้ปฏิบัติในครั้งพุทธกาล แม้ท่านจะฟังธรรมตามแนวพระสูตร
แต่เมื่อจิตมีกำลังแล้ว ก็ย่อมต้องเข้ามาศึกษาปรมัตถธรรมทุกๆ ท่านไป
(โดยท่านอาจจะไม่รู้จักคำว่าปรมัตถธรรมเลยก็ได้)
เพื่อจะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นเรื่องทุกข์และความพ้นทุกข์ของจิตนั่นเอง
เพราะถ้าไม่เห็นปรมัตถธรรม จะรู้ทุกข์ ละสมุทัย
ทำนิโรธให้แจ้ง และเจริญมรรคให้สมบูรณ์ไม่ได้
เนื่องจากการปฏิบัติจะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้ กับศัตรูที่มองไม่เห็นตัว
ต่อเมื่อเห็นปรมัตถธรรมนั่นแหละ จึงจะรู้ว่า ศัตรูที่แท้จริงคืออะไร อยู่ที่ไหน
มันมีบทบาทอย่างไร มันเกิดมาได้ด้วยเหตุใด และจะสู้มันได้อย่างไร

**********************************************

หมายเหตุ ***
ถ้าสังเกตพระสูตรให้ดี จะพบว่าพระศาสดา
ทรงแทรกปรมัตถธรรมไว้เมื่อทรงมีโอกาส
เช่นทรงสอนเรื่องทุกขสัจจ์ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์
แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์ขมวดท้ายไว้ด้วยอภิธรรมว่า
"กล่าวโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 คือทุกข์"
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 08:56:59

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 09:10:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 09:19:10
เพิ่มรายการเปิดใจสักหน่อยครับ
ช่วงนี้ที่ผมเข้าไปยุ่งที่ลานธรรมมากขึ้น ก็เพราะอยากจะช่วยเคลียร์ปัญหา 2 ประการ
เพราะถ้าผมไม่อยู่แล้ว โอกาสที่พวกเราจะเคลียร์ได้ก็ลำบากสักหน่อย

เรื่องแรกก็คือเรื่อง การดูจิต ซึ่งคนอื่นๆ เขาไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรกัน
เวลานี้ก็เคลียร์ไปได้มากแล้ว การโจมตีเรื่องการดูจิตก็หายไปจากลานธรรม

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องความขัดแย้งในแนวทางปฏิบัติ
ระหว่างแนวพระสูตรกับแนวพระอภิธรรม
เรื่องนี้ยังเคลียร์ไม่เสร็จ และอาจจะเสร็จไม่ทันก็ได้ครับ
เพราะผู้ศึกษาพระสูตรก็ฝังแน่นกับพระสูตร
ผู้ศึกษาอภิธรรมก็ฝังแน่นกับอภิธรรม
ราวกับว่ามีพระพุทธเจ้ากันคนละองค์
ทั้งที่ความจริง เรื่องนี้เข้าใจไม่ยากเลย (ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะเป็นแล้ว)

ถ้าเราสามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสำนักปฏิบัติต่างๆ
โดยมีพระไตรปิฎกเป็นแกนกลาง และมีความรู้สึกเป็นมิตรต่อกัน
รวมทั้งปราศจากอคติระหว่างผู้นิยมพระสูตรและอภิธรรมได้
น่าจะช่วยให้การศึกษาและเผยแผ่พระศาสนาราบรื่นมากขึ้น
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 09:19:10

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 09:46:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 09:54:30
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 10:03:11
ขออนุโมทนากับ ความพยายามครั้งสำคัญของครูด้วยครับ
ขออนุญาต ปรับทุกข์นะครับ
ที่ผม ไม่สบายใจกับลานธรรมตอนนี้ คือมีผู้เสนอแนวคิดแนวคิดที่ จะชักจูงให้ผู้ปฎิบัติ เนิ่นช้า 2 แนวคิด
คือ แนวหนึ่ง เห็นว่าผู้ปฎิบัติ ต้องศึกษาพระอภิธรรมให้ถี่ถ้วนก่อนจึงจะปฏิบัติได้
และอีกแนวหนึ่ง คือ ชวนให้ปฎิบัติเพื่อสร้างบารมี รอไปบรรลุธรรม ใน สมัยพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป เพราะสิ้นหวังที่จะบรรลุในสมัยนี้

ก็เห็นมีแต่คุณดังตฤณเท่านั้น ที่ยอมเป็นหลัก ในวิวาทะกับ 2 แนวข้างต้น เห็นแล้วเหนื่อยแทนครับ

ผมเห็นว่า ผู้ศึกษาพระอภิธรรม ดีแล้ว และปฎิบัติ ไปด้วย เช่น คุณประสงค์ คุณรูปนามหนึ่ง คุณวิชา  กับผู้ที่ศึกษาพระสูตร และปฎิบัติไปด้วย จะสามารถศึกษาร่วมกัน ได้อย่างไม่มีข้อขัดแย้ง
จะมีปัญหาก็เฉพาะผู้ที่ศึกษาปริยัติ โดยทิ้งปฎิบัติ หรือ ผู้ที่ปฏิบัติ โดยทิ้งปริยัติ เท่านั้น

โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 10:03:11

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ณรงค์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 11:55:22
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 13:56:52
ผมเห็นด้วยกับคุณ listener ครับ

เรื่องการชักชวนคนให้สร้างบารมีไปรอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
เพราะเห็นว่ามรรคผลนิพพานพ้นสมัยแล้ว นั้น
เป็นการสร้างความไขว้เขวอย่างมากจริงๆ ครับ
ส่วนเรื่องชวนไปเรียนอภิธรรมให้จบก่อนนั้น ยังไม่ร้ายแรงเท่า
เพราะเรียน 7 ปีครึ่งก็จบแล้วครับ
แต่สิ่งที่เรียนในหลักสูตร 7 ปีครึ่งนั้น มีทั้งส่วนที่มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติ
และมีทั้งส่วนเกินออกไปไกลจากเรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์
ถ้ารู้จักเลือกเรียนเฉพาะส่วน ก็มีประโยชน์โดยใช้เวลาน้อยลง

อภิธรรมนั้นโดยเนื้อหาก็คือคำอธิบายธรรม
(ส่วนคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นคัมภีร์ที่ประมวลเนื้อหาของอภิธรรมอีกชั้นหนึ่ง)
และคำอธิบายธรรมนี้ ก็มีปะปนอยู่ในพระสูตรด้วย
เช่นคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ซึ่งมีร่องรอยว่าเป็นต้นกำเนิดของอภิธรรมปิฎก
ก็อาจจะเขียนขึ้นหลังการสังคายนาครั้งที่ 1
แต่ผู้นิยมพระสูตร อาจจะไม่ทราบว่า
ในพระสูตรก็มีคำอธิบายที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นเหมือนกัน
และคำอธิบายเพิ่มเติมนั้นก็เป็นต้นเค้าของอภิธรรมในสมัยต่อมา

ส่วนผู้นิยมอภิธรรม ก็อาจจะลืมไปว่า ตนกำลังเรียนคำอธิบายธรรม
จึงแสดงท่าทีเหมือนมองข้ามความสำคัญของเนื้อธรรมไปอย่างน่าเสียดาย
เพราะไปชอบคำอธิบายแทน
เช่นกล่าวว่าใครๆ ก็อ่านมหาสติปัฏฐานสูตรไม่รู้เรื่อง ต้องเรียนอภิธรรมจึงจะรู้เรื่อง
พูดอย่างนี้แม้จะมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ฟังอีกทีก็เหมือนลบหลู่ว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไม่ชัดเจนพอ
อันที่จริงสิ่งที่ทรงแสดงไว้นั้น พอแล้วกับผู้ฟังธรรมของท่าน
แต่การมีคำอธิบายเพิ่มเติม ก็ทำให้เข้าใจได้เร็วและถูกตรงขึ้น

การที่จะประสานความเข้าใจระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ
และประสานผู้นิยมพระสูตรกับพระอภิธรรมได้นั้น
ผู้ประสานจะต้องเข้าใจทั้งปริยัติและปฏิบัติ
และต้องรู้ทั้งพระสูตรและพระอภิธรรมด้วย
จึงจะเข้าใจทัศนะพื้นฐานของผู้นิยมธรรมแต่ละอย่างนั้น
เมื่อเข้าใจเขาแล้ว จึงจะสร้างความเข้าใจกับเขาได้

ผมเห็นคุณดังตฤณต้องเหนื่อยยากในการถกเถียง
เรื่องอภิธรรมบ้าง เรื่องมรรคผลเป็นของพ้นสมัยบ้าง
จึงได้แนะให้คุณดังตฤณลองหันมาเรียนอภิธรรมดูบ้าง
นอกจากจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นและตรวจสอบตนเองได้มากขึ้นแล้ว
ยังจะช่วยให้ทำความเข้าใจกับผู้ศึกษาอภิธรรมง่ายขึ้น
เพราะเขาเหล่านั้นโดยพื้นฐานแล้วก็รักพระธรรมวินัยเช่นกัน
เขากลัวนักปฏิบัติจะเผยแผ่สัทธรรมปฏิรูป ซึ่งก็น่ากลัวจริงๆ
หากพูดภาษาเดียวกับเขาได้ ก็จะเข้าใจกันง่ายขึ้น
แล้วก็จะมีแนวร่วมในการช่วยกันต่อต้านสัทธรรมปฏิรูปทั้งหลายด้วย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 13:56:52

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 16 มกราคม 2544 19:31:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 08:03:43
เรื่องการปฏิบัติธรรมนั้น
ถ้าเราขจัดอคติระหว่างสายการปฏิบัติเสียได้จะเป็นเรื่องดีที่สุดครับ
อย่างสายพองยุบนั้น ก็มีดีอยู่มากทีเดียว
ที่ไม่ดีหรือทำแล้วเพี้ยนๆ ก็เพราะทำกันไม่ถูกเสียแหละมาก
ผมไปเจอธรรมะที่คุณ Quin เขียนในลานธรรม
ก็เห็นว่าเป็นข้อเขียนที่ดีมีประโยชน์จริงๆ
แสดงให้เห็นว่าผู้รู้จริงในสายพองยุบก็ยังมีอยู่
จึงลอกมาให้อ่านกันในวิมุตติบ้าง
เพราะเห็นว่าธรรมที่ดีนั้น กล่าวโดยใครก็ใช้ได้ทั้งนั้น

ในการปฏิบัติแบบยุบพองครูบาอาจารย์หลาย
ท่านมักจะเน้นการกำหนดให้ทันปัจจุบัน
ซึ่งคำว่า "กำหนด" นี้เองที่กำลังจะทำให้เกิดปัญหา
หากผู้ปฏิบัติขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

คำว่า "กำหนด" นั้น คือการใช้บัญญัติ(ซึ่งเป็นเรื่องรอง)
ไปกำกับสภาพปรมัตถ์ที่ปรากฏในอารมณ์ปัจจุบัน(ซึ่งเป็นเรื่องหลัก)
ผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน
จึงมีความกังวลกับการใช้บัญญัติในการกำหนดสภาวะต่าง ๆ ของตน
มากกว่าการใส่ใจพิจารณาสภาพปรมัตถ์
ที่กำลังปรากฏในปัจจุบันขณะ และเป็นปัจจุบันอารมณ์
ทำให้ท่านผู้ปฏิบัติเหล่านั้นเผลอสติได้โดยง่าย
บางครั้งผู้ปฏิบัติหลายท่านก็พยายามบริกรรมถี่ ๆ
จนกลายเป็นการสร้างสภาพธรรมใหม่
ขึ้นปิดบังสภาพปรมัตถ์แท้จริงที่กำลังปรากฎ

ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติบางท่านเกิดความคิดแทรกขึ้นมา
ในขณะที่กำลังอยู่ในอิริยาบทนั่ง
เขาก็พยายามบริกรรมว่าคิดหนอ ๆ ๆ ๆ ซ้ำ ๆ
แต่ความคิดซึ่งมีสภาพเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้
แทนที่จะเบา ๆ ลงตามการกำหนดองค์บริกรรมที่มากขึ้น
กลับฟุ้งซ่านยิ่งขึ้น เขาก็กำหนดใหม่ว่าฟุ้งหนอ ๆ ๆ ๆ
แต่ก็มิได้ทำให้ความฟุ้งมันลดลงได้เลย
จนท้ายที่สุดเขาทนไม่ได้ ใจก็อยากให้หยุดคิด หยุดฟุ้งซ่าน
ก็เลยกำหนดว่าหยุดคิดหนอ หยุดฟุ้งหนอ 
แล้วจึงเปลี่ยนไปบริกรรมนั่งหนอ เมื่อยหนอแทน
เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ตนเอง

จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าผู้ปฏิบัติท่านนี้คิดว่า
การบริกรรมให้ทันอารมณ์ปัจจุบันเป็นการเจริญสติ
เป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
แต่กลับตกพร่องหัวใจหลักของการเจริญสติ
คือโยนิโสมนสิการพิจารณาสภาพปรมัตถ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ในขณะที่ความคิดเกิดขึ้น การบริกรรมว่า "คิดหนอ" เป็นสิ่งที่ทำได้
แต่การปฏิบัติเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอ
ผู้ปฏิบัติยังจะต้องพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฎกับจิตที่คิดด้วย
ว่ามีลักษณะเช่นไร มีอารมณ์อื่นใดเกิดขึ้นประกอบด้วยหรือไม่
เช่นความยินดีพอใจ ความไม่พอใจไม่อยากให้คิด
หรือลักษณะซัดส่าย หาประเด็นหลักไม่ได้ ที่เรียกกันว่าฟุ้ง เป็นต้น

การเข้าไปพิจารณานั้นผู้ปฏิบัติมีหน้าที่รู้เท่านั้น
โดยสภาพจิตที่ทำงานจะมีลักษณะของธาตุรู้ดูธาตุไหว
ปราศจากการปรุงแต่งว่า อยาก หรือไม่อยาก
การรู้ของจิตผู้ปฏิบัติจะทำหน้าที่พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ
ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีลักษณะการสั่งการ หรือบังคับบัญชาใด ๆ

หากผู้ปฏิบัติโยนิโสมนสิการพิจารณาธรรมที่ปรากฏขึ้นตามทวารต่าง ๆ
อย่างแยบคายด้วยสภาพจิตที่ประณีต
ท่านเหล่านั้นก็จะพบอารมณ์ละเอียด ที่เกิดดับมากมายต่อเนื่องกันเป็นสาย
และยากที่จะหาบัญญัติใด ๆ มารองรับ
ดังนั้นหากผู้ปฏิบัติพยายามจะคิดหาบริกรรมใด ๆ มากำหนด
ในขณะที่อารมณ์เหล่านั้นปรากฏ
สภาวะที่กำลังแสดงสภาพของมันอยู่ก็จะขาดลง
การใช้องค์บริกรรมในภาวะนี้จะทำให้ตกปัจจุบันไปมาก
อารมณ์ที่รู้ได้ก็จะเป็นอารมณ์หยาบ ๆ
ยากที่จะนำมาใช้พิจารณาธรรมขั้นสูงได้
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 08:03:43

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 08:09:34
ที่คุณ Quin ตั้งข้อสังเกตเรื่อง "การกำหนด" นั้น น่าฟังมาก
เรื่องนี้แหละที่ผมเห็นมานานแล้วว่า ผู้ปฏิบัติทุกสายพลาดกันมาก
คือแทนที่จะมีสติ รู้ ปรมัตถธรรม
กลับไป จงใจ และ กำหนด กันทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ
อย่างละเอียดก็คือ จงใจจะรู้ตัว และ ตั้งใจกำหนด จนกลายเป็นจดจ้องอารมณ์
อย่างหยาบๆ ก็จะเป็นอย่างที่คุณ Quin เขียนไว้
คือไป กำหนดคำบริกรรมตามหลังการ รู้
การปฏิบัติจึงพลาดจากการรู้สภาวะ หรือการรู้ปรมัตถ์อย่างซื่อๆ ตรงๆ
ไปเป็นการปรุงแต่งจิตและอารมณ์ อันตกไปอยู่ในลักษณะของการทำสมถะ
ทั้งที่คิดว่ากำลังทำวิปัสสนาอยู่
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 08:09:34

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 10:03:38
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 10:04:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ จ้อม วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 10:17:30
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 11:00:56
สาธุครับครู

ถ้าเป็นการปฏิบัติเพื่อความพ้นจากทุกข์
ผมเองยังมองไม่เห็นความไม่ลงรอยหรือความขัดแย้งกัน (ในด้านการปฏิบัติ)
ไม่ว่าจะเป็นสายใดๆก็ตาม
ส่วนการแตกย่อยออกไปเป็นแนวพระสูตร แนวพระอภิธรรม
แนวยุบพอง แนว....ฯลฯ  นั้นเป็นเพียงเปลือกนอกของการปฏิบัติ
เป็นเพียงคำพูดคำกล่าวเพื่ออธิบายธรรมในด้านปริยัติบ้าง ด้านปฏิบัติบ้าง
หรือเป็นเพียงสื่อกลางในการแสดงธรรมเท่านั้น

ปัญหาจึงมาอยู่ตรงที่เปลือกของการปฏิบัตินี่เอง
เพราะผู้ที่สนใจศึกษา มักเรียนแต่ความรู้ของเปลือกการปฏิบัติ
แต่ไม่ยอมเรียนรู้การปอกเปลือก เพื่อจะได้เข้าถึงเนื้อของการปฏิบัติ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 11:00:56

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 11:21:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 13:41:42
เห็นด้วยกับ คุณสุรวัฒน์ ครับ
ที่ว่าถ้าเป็นการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงก็ลงกันได้ทั้งนั้น
เพราะแก่นแท้ของการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
อยู่ที่การเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง เหมือนๆ กัน
ส่วนรูปแบบของการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการแยกสำนักหรือสายการปฏิบัตินั้น
เป็นเพียงเปลือกที่ผู้ปฏิบัติควรเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง
การเอาเปลือกมาอวดกัน ว่าเปลือกของใครจะดีกว่ากัน
ก็คือการอวดความไม่เข้าใจถึงการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ ผมหมายถึงสำนักหรือแนวทาง
ที่มีหลักปฏิบัติถูกต้องตามหลักสติปัฏฐานเท่านั้น
เพราะยังมีสำนัก/แนวทางนอกพระพุทธศาสนา
แต่แฝงตัวอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนาอีกเป็นอันมาก
ซึ่งเราจะประนีประนอมยอมรับว่าพวกนี้เป็นชาวพุทธไม่ได้
เพราะจะเท่ากับการทำให้พระพุทธศาสนาต้องปนเปื้อน

เคยมีผู้วิจารณ์ว่าชาวพุทธชอบการประนีประนอม
จนกลายเป็นการโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหา
วิธีการเช่นนี้ ไม่ใช่พุทธวิธีเลยครับ
เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยอ้อมแอ้มหลีกเลี่ยงปัญหา
ด้วยการยอมรับว่า คำสอนของพระองค์เหมือนกับคำสอนของครูทั้ง 6
หากแต่ทรงแจกแจงความจริงอย่างสมเหตุสมผล
เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้น
มีความเป็นตัวของตัวเองโดยเฉพาะ
แต่ชาวพุทธรุ่นต่อมาอ่อนแอลง กลับไปยอมรับเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไว้
จนพระพุทธศาสนาเลือนลางลงอย่างน่าใจหาย

เวลานี้มีลัทธิแปลกปลอมแฝงตัวเข้ามาในพระพุทธศาสนามากมาย
เช่นการนับถือภูติผีปีศาจ การเชื่อโชคเคราะห์
การปฏิบัติธรรมโดยพึ่งพาอำนาจภายนอก
เช่นการสนับสนุนของพระศรีอารย์และเทวดา
การฝึกพลังและสะสมอาวุธไว้ต่อสู้กับเทวปุตตมาร
และการยอมรับต้นธาตุต้นธรรมและปลอมปนอริยสัจจ์
โดยอธิบายทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ออกไปเป็นลูกกลมๆ มีสีและขนาดต่างๆ
เป็นต้น

ดังนั้น เราจะยอมรับปนๆ ไปว่า ทุกสำนักดีทั้งนั้น ไม่ได้นะครับ
เพราะทำอย่างนั้นก็เท่ากับการปล่อยพระพุทธศาสนาไปตามยถากรรมนั่นเอง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 13:41:42

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ โยคาวจร วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 13:44:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 14:00:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 14:02:11
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 14:15:59
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 15:08:07
ในความเข้าใจของตัวเอง
รู้สึกว่า...สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ตามความเป็นจริงนั้น
มันไม่สามารถหาภาษา คำพูด
มาอธิบายให้ตรงให้ละเอียดให้ชัดแจ้งได้
ต้องใช้ภาษาใช้สื่อที่ใกล้เคียงที่สุด
ผู้ที่รับฟังเมื่อยังไม่เห็นสภาพธรรมนั้นจริงๆ
จึงได้แต่จินตนาการเอาเอง
แล้วก็เพี้ยนไปเรื่อยๆ กลายเป็นลัทธิต่างๆขึ้น
(สรุปธรรมเอาเองอย่างที่ตัวเองเป็นบ่อย)
ตอนนี้ถึงได้เอะใจว่าทำไมพระพุทธเจ้า
ท่านถึงให้ปฏิบัติ กาย วาจา ใจ
ไม่ใช่แค่ กายกับใจ
วาจา สามารถสร้างอะไรพิลึกพิลั่น
ได้มากมายจริงๆ..เนอะ
โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 15:08:07

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ณรงค์ วัน พุธ ที่ 17 มกราคม 2544 17:06:51
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ tung วัน พฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม 2544 01:42:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม 2544 08:19:28
มีเพื่อนๆ ถามผมว่า ผมเชื่ออภิธรรมทั้งหมดหรือไม่
นับตั้งแต่ที่มาของพระอภิธรรมที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงบนดาวดึงส์
จนถึงตำราอภิธรรมตามสำนักเรียนต่างๆ

ขอเรียนว่า ผมเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมบนดาวดึงส์
แต่ไม่มีหลักฐานว่า ทรงแสดงอภิธรรมในส่วนใดบ้าง

ผมเชื่อว่า พระอภิธรรมปิฎก บางส่วนเป็นการเขียนขึ้นโดยพระเถระยุคหลัง
ที่มีหลักฐานชัดเจนก็คือ กถาวัตถุ ซึ่งแต่งโดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ
ผู้นำการสังคายนาครั้งที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
และแม้แต่พระวินัย และพระสูตร ก็ไม่ได้ประมวลขึ้นคราวเดียวในการสังคายนาครั้งแรก
เพราะในพระวินัยมีเรื่องการสังคายนาครั้งต่อๆ มาอยู่ด้วย
หรือพระสูตรหลายเรื่อง เป็นการแสดงธรรมของพระอานนท์หลังพุทธกาลบ้าง
เป็นคำอธิบายธรรมบ้าง เช่นการขยายความธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อ
ศิษย์ของพราหมณ์พาวรี 16 องค์ มีพระอชิตะเป็นหัวหน้า เป็นต้น

ผมเชื่อว่า คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นผลงานชั้นเลิศที่สุดชิ้นหนึ่งของมนุษย์
มีความละเอียด ประณีต แสดงแก่นแท้ของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นอนัตตาของจิต เจตสิก รูป นิพพาน
เป็นการประมวลธรรมซึ่งซับซ้อน ให้เป็นหมวดหมู่ สั้น กระชับ ง่ายต่อการศึกษา
แต่ธรรมบางเรื่องก็ไม่ปรากฏในชั้นพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิถี

ผมเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับตำราชั้นหลังจากนั้น เป็นส่วนๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราเรียนอภิธรรมในปัจจุบัน บางเรื่องก็รับได้ บางเรื่องก็รับยาก
ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทุกข์และการดับทุกข์แล้ว ผมไม่สนใจเลย
เช่นเรื่องกำเนิดมนุษย์ที่มีกำเนิดจากต้นไม้ก็มี
เกิดเองแล้วโตเลยแบบโอปปาติกะก็มี (มนุษย์ต้นกัปป์ ทำนอง อดัม - อีฟ)
เรื่องโครงสร้างของจักรวาลที่เป็นแผ่นแบนๆ ซ้อนกันเป็นชั้นๆ
โดยระบุว่าโลกเรานี้เป็นชั้นดินหนาเท่านั้น ชั้นหินหนาเท่านั้น
น้ำแข็งหนาเท่านั้น รองรับด้วยชั้นลมหนาเท่านั้น เป็นต้น

แต่ผมก็เห็นว่า แม้อภิธรรมจะมีจุดไม่แน่ชัดเกี่ยวกับที่มา
บางส่วนไม่ปรากฏหลักฐานรองรับในชั้นพระไตรปิฎก
บางส่วนเกิดจากนักปราชญ์ชั้นหลังใช้ความคิดและตรรกะเขียนขึ้นมา
บางส่วนมุ่งจะตอบปัญหาที่คนสนใจ แม้จะนอกขอบเขตของพระพุทธศาสนา
แต่จุดดีเด่นของอภิธรรมก็มีอยู่อย่างมาก
จนจุดด้อยไม่มีน้ำหนักพอจะทำลายคุณค่าของอภิธรรมได้
อภิธรรม มีประโยชน์อย่างมาก ถ้ารู้จักเรียนอย่างมีโยนิโสมนสิการ
อย่างน้อยก็เป็นมาตรฐานอันหนึ่ง ที่จะจำแนกสัทธรรมปฏิรูปออกไป
และบางส่วน มีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะเป็นกรอบการปฏิบัติธรรม
ซึ่งในวันนี้ หลักการปฏิบัติในบ้านเมืองของเราเข้าขั้นสับสนมากทีเดียว

ที่ผมสนับสนุนการศึกษาพระอภิธรรมในลานธรรม
ก็เพราะเห็นว่า ที่นั่นเป็นเวทีเปิด มีสัทธรรมปฏิรูปมาก
อภิธรรมจะเป็นมาตรฐานกลางที่ดีที่สุด ที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้
เพราะเราจะอาศัยตัวบุคคลไปรักษามาตรฐานไม่ได้
เนื่องจากไม่มีบุคคลใดที่จะรู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยจริงๆ
แม้กระทั่งพระอรหันต์ ก็ไม่มีทางจะรู้ทั่วถึงพระปริยัติสัทธรรมได้
เนื่องจากนั่นคือที่รวมของพระปัญญาตรัสรู้
และความรู้ของพระสาวกนับแต่พระอัครสาวกลงมา
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม 2544 08:19:28

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ สุกิจ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม 2544 08:59:17
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ ณรงค์ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม 2544 16:22:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 19 มกราคม 2544 18:34:55
"ที่ผม ไม่สบายใจกับลานธรรมตอนนี้ คือมีผู้เสนอแนวคิดแนวคิดที่ จะชักจูงให้ผู้ปฎิบัติ เนิ่นช้า 2 แนวคิด
คือ
แนวหนึ่ง เห็นว่าผู้ปฎิบัติ ต้องศึกษาพระอภิธรรมให้ถี่ถ้วนก่อนจึงจะปฏิบัติได้
และอีกแนวหนึ่ง คือ ชวนให้ปฎิบัติเพื่อสร้างบารมี รอไปบรรลุธรรม ใน สมัยพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป เพราะสิ้นหวังที่จะบรรลุในสมัยนี้"
"เคยมีผู้วิจารณ์ว่าชาวพุทธชอบการประนีประนอม
จนกลายเป็นการโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหา
วิธีการเช่นนี้ ไม่ใช่พุทธวิธีเลยครับ
เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยอ้อมแอ้มหลีกเลี่ยงปัญหา
ด้วยการยอมรับว่า คำสอนของพระองค์เหมือนกับคำสอนของครูทั้ง 6
หากแต่ทรงแจกแจงความจริงอย่างสมเหตุสมผล
เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้น
มีความเป็นตัวของตัวเองโดยเฉพาะ
แต่ชาวพุทธรุ่นต่อมาอ่อนแอลง กลับไปยอมรับเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไว้
จนพระพุทธศาสนาเลือนลางลงอย่างน่าใจหาย"

ที่ผม Quote ของคุณ Listener และของพี่ปราโมทย์มา เพราะผมจำได้ว่าเคยร่วมกระทู้ของผู้หนึ่งที่แสดงความเห็นอย่างสิ้นหวังมรรคผลนิพพานในอัตภาพนี้ รอหวังบารมีพระศรีอารย์ โดยที่ผมไม่ได้แสดงความเห็นแย้งอะไรไป พอมาอ่านกระทู้ของพี่ปราโมทย์ที่นี่แล้วก็รู้สึกละอายใจที่ไม่ได้ช่วยออกแรงเสนอความเข้าใจที่ตรงอย่างเพื่อนๆได้พยายามกันเลยครับ ก็เลยขอมาสารภาพกันที่นี่เลย :)

แม้จะไม่ได้รู้พระสูตรหรือพระอภิธรรมเลย แต่ผมก็เห็นว่า หากเอาแต่อ่านเอาแต่คิด ก็จะยิ่งเลอะเทอะ แตกแยกเป็นสายๆกันไปใหญ่ แต่หากได้ปฏิบัติแล้ว ธรรมะก็เนียนเป็นเนื้อเดียว เหมือนผ้าผืนเดียว แต่มีสีสันลวดลาย สิ่งที่สัมผัสจากการปฏิบัติตามตัวอย่างในพระสูตร ก็อธิบายแจกแจงได้ตรงตามพระอภิธรรมทุกทีไป ขอให้ปฏิบัติให้ถูกให้จริงให้ตรงเท่านั้นเอง

เพื่อนคนหนึ่ง พอผมแนะให้ดูจิต ก็ต้องมาโดนคำถามว่าจิตอยู่ตรงใหน เป็นอะไรในขันธ์ 5 (นึกถึงที่พี่ปราโมทย์เขียนเล่าขึ้นมาทันที) ผมก็ใบ้ไปเลยครับ ได้แต่สารภาพกับเขาไปว่า ผมมันรู้น้อย ปฏิบัติไปแบบลูกทุ่ง แล้วก็เว้นที่จะชวนเขาปฏิบัติ คุยกันธรรมดาๆดีกว่า

ตัวผมจนปัญญาที่จะอธิบายให้นักอ่านนักคิดทั้งหลายเข้าใจน่ะครับ ลำพังตัวเองยังยืดๆยาดๆอยู่นี่เอง :) ได้อ่านความเห็นของพี่ของเพื่อนก็สาธุการ อิ่มใจครับ
โดยคุณ น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 19 มกราคม 2544 18:34:55

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ tuli วัน ศุกร์ ที่ 19 มกราคม 2544 18:37:33
พระอภิธรรมน่าศึกษาพอให้เข้าใจว่าจิต เจตสิก รูป เป็นอย่างไร  แต่ไม่ใช่เพื่อให้ติดในตำรา
ของจริงเราต้องอาศัยเรียนรู้เอาจากการปฏิบัติเอง เห็นเองมากกว่า
คิดว่าปัญหาอยู่ที่ครูผู้นำมาสอน ยังไม่สามารถปฏิบัติจนเห็นธรรมได้จริง ก็เลยพาลูกงูหลงทางกันไปหมด
โดยคุณ tuli วัน ศุกร์ ที่ 19 มกราคม 2544 18:37:33

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 08:32:35
ผมเห็นด้วยกับคุณหมอธุลีครับ
การศึกษาอภิธรรม จะเอาแต่ตำราอย่างเดียวไม่พอ
จะต้องปฏิบัติจนเห็นปรมัตถ์ของจิต เจตสิก รูป จริงๆ
จึงจะนับว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา

ผมเองเข้าออกตามสำนักปฏิบัติสายอภิธรรมหลายต่อหลายแห่ง
ยังไม่พบว่า กระทั่งครูบาอาจารย์ในสำนักเหล่านั้น
จะสามารถรู้ปรมัตถ์ด้วยจิตที่เป็นสัมมาสมาธิจริงๆ ได้
(สำนักที่รู้จริงอาจจะมี แต่ผมยังหาไม่พบนะครับ)
เพราะการรู้ตามตำรา กับการรู้ด้วยจิตนั้น เป็นคนละเรื่องกันทีเดียว

ถ้าพวกเราเจริญสติสัมปชัญญะถูกต้อง ไม่ต้องทำอะไรมาก
แค่เอานิ้วมือ 3 นิ้ว จับนิ้วมือสักนิ้วหนึ่งของอีกมือหนึ่ง ขยับไปมาเบาๆ
ก็จะเห็นปรมัตถธรรมเกิดขึ้นมากมาย
คือท่อนนิ้วมือที่ถูกจับขยับนั้น จะแสดงธาตุดินออกมาอย่างชัดเจน
มีสภาวะเป็นท่อนแข็งๆ ไม่ใช่ตัวเราของเรา
เวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนาที่เกิดขึ้น (ไม่ได้จับนิ้วบิดจนเกิดทุกขเวทนา)
ก็เป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในธาตุดินนั้น แต่ไม่ใช่ธาตุดิน
ความรู้สึกหรือกายวิญญาณที่เกิดจากนิ้วจับนิ้ว
ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่ทั้งรูป และเวทนา เป็นต้น
ล้วนแต่แสดงสภาวะของตนๆ ที่ไม่ใช่ตัวเราของเราออกมาทั้งสิ้น

แต่ผู้ที่เจริญสติสัมปชัญญะยังไม่ถูกต้อง แม้ทำสิ่งเดียวกันก็ไม่เห็นปรมัตถ์
เช่นพอจับนิ้วมือ จิตส่วนลึกก็รู้สึกแล้วว่า เราจับนิ้วมือ(ของเรา)
แล้วอาศัยการตรึก ว่านี่เป็นธาตุดิน หรือตรึกถึงการกระทบระหว่างนิ้วกับนิ้ว
สภาวะของจิตที่อาศัยการตรึก ยังอาศัยอารมณ์ที่จำได้ มาเป็นอารมณ์
ไม่ใช่รู้อารมณ์ปรมัตถ์ของจริงแต่อย่างใด
และส่วนมากที่พบเห็นว่า
พอตรึก จิตก็ถลำ/เคลื่อน เข้าไปยึดถือ เกาะเกี่ยว กับอารมณ์นั้น
เพื่อกำหนด เพื่อจดจำ อารมณ์นั้น
และใช้อารมณ์ทางใจที่กำหนดหรือจำไว้
เป็นอารมณ์เพื่อการปฏิบัติธรรมต่อไป
ดังนั้น แม้จะเรียนรู้รูปตามตำรา
แต่กลับไม่เห็นรูปปรมัตถ์ของจริงกัน
ผลก็คือจิตดำเนินไปตามครรลองของสมถะ
เกิดความสุข เกิดความสงบเบิกบาน
บันเทิงอยู่ในความรู้ของตนโดยไม่รู้เท่าทัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 08:32:35

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 11:49:44
ฝากข่าวเรื่องส่วนตัวสักหน่อยครับ
เมื่อกี้นี้ผมไปยื่นใบลาออกจากงานแล้ว มีผล 1 มีนาคม 2544
ผมจึงขอยกเลิกการใช้เพจ (ตั้งแต่วันนี้ เพราะขี้เกียจพกครับ)
ขอเลิกตอบเมล์ เพราะเมล์ที่ใช้ประจำเป็นของที่ทำงาน
และเมื่อออกจากงานแล้ว ก็คงเลิกใช้ ICQ ด้วย
สำหรับโทรศัพท์ที่บ้านก็เป็นเลขหมายราชการ คงจะต้องยกเลิกเช่นกัน
เพราะมีไว้แล้วถูกคุณเก๋กวนบ่อย :)

ถ้าจะติดต่อผม ก็ไปที่ศาลาลุงชินในวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือนก็แล้วกันครับ
คงจะยังไปได้อีกสัก 3 - 4 ครั้ง


โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 11:49:44

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 16:06:59
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ ณรงค์ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 17:15:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ นิดนึง วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544 20:35:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 23 มกราคม 2544 08:44:49
_/\_
สาธุครับ

" ถูกคุณเก๋กวนบ่อย :) "

จุกเลยครับ
: )
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 23 มกราคม 2544 08:44:49

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ สุกิจ วัน อังคาร ที่ 23 มกราคม 2544 09:37:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 38 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 23 มกราคม 2544 10:02:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 39 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 23 มกราคม 2544 10:35:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 40 โดยคุณ น้ำ วัน พุธ ที่ 24 มกราคม 2544 10:33:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 41 โดยคุณ tung วัน พฤหัสบดี ที่ 25 มกราคม 2544 02:29:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 42 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 11:35:03
สาธุครับ
มีโอกาสขึ้นมากรุงเทพอีกครั้ง

อยากเรียนถามเรื่องอาสวะกิเลสกับกิเลสผัสสะครับ
(ไม่ทราบจะเรียกถูกหรือเปล่า)
คือผมมีโอกาสไปอยู่สถานที่สงบๆไม่ค่อยได้ผัสสะอารมณ์แรงๆ
ทำให้ผมเข้าใจว่ากิเลสน่าจะมีสองส่วน
1ส่วนที่เกิดตอนผัสสะ(เป็นส่วนที่จรเข้า)
2ส่วนที่ฝังรากอยู่กับจิตมานาน(อาสวะ)
อยากเรียนถามครับ
กิเลสส่วนที่หนึ่ง จะมีตลอดเวลาเท่าที่มีการครองขันธ์อยู่หรือเปล่า?ครับ

คงมีโอกาสได้ไปศาลาลุงชินอาทิตย์28 มกรานี้อีกครับ

ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 11:35:03

ความเห็นที่ 43 โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 13:31:10
ช่วงนี้ผมไม่ค่อยสบาย 2 วันก่อนหลับแล้วตอนใกล้ๆตื่น
จิตตัดไปรู้เห็นสภาพอยู่สภาพนึง
ที่ไม่ได้ออกมารับรู้ผ่านทางกาย และ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณที่ผ่านกายนี้
ไปรับรู้อะไรสักอย่างทางใจ (จำไม่ได้ว่าอะไร)

ตื่นขึ้นมาจิตไปหมายจำได้ ก็เข้าใจคร่าวๆ ในสภาพที่จิตแสดงตัวให้เห็น
ถึงลักษณะจิตที่ยังไม่พ้น ยังมีกิเลสเต็มหัวจิตหัวใจอยู่นี้
ว่า การหลงวนตามกิเลสเป็นวัฏฏะ ก็เป็นเพราะ
จิตท่องเที่ยวเสพไปในอารมณ์ที่รับรู้ผ่านจากอายตนะของอัตภาพนึงๆ แต่โดยมาก
แม้ตอนตื่น(นอน) ก็หลงวนอยู่โดยมากเพียงนี้

บางคราว ที่น้อยครั้งจิตที่สงบจากอารมณ์ภายนอก
ตามคราวๆของจิต ตัดเข้าสู่ การรับรู้อารมณ์ที่ของใจ

ประกอบว่า คุณอี๊ด ถามเกี่ยวกับกิเลสมา
ขอฟังธรรมจากคุณอาด้วยคนครับ
โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 13:31:10

ความเห็นที่ 44 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 14:59:37
ขอติดไว้ก่อนนะครับ วันนี้อาเหนื่อยแล้ว
หรือถ้าพวกเราคนใดตอบได้ ก็วานช่วยตอบให้หน่อยนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 14:59:37

ความเห็นที่ 45 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 07:39:52
เรียนคุณอี๊ด กิเลสก็คือสังขารขันธ์อันหนึ่ง
มีเหตุมันก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไป ไม่มีเหตุ มันก็ไม่เกิดขึ้น
ดังนั้น ถ้ายังมีเหตุอยู่ กิเลสก็จรมาตลอดเวลาที่ครองขันธ์อยู่ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 07:39:52

ความเห็นที่ 46 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 07:56:15
สำหรับที่แมนพบเห็นกิเลสนั้นก็ดีแล้วครับ
แม้จะหลับ และสิ่งที่รู้เห็นจะจริงหรือไม่ก็ตาม
แต่อย่างน้อยข้อสรุปเกี่ยวกับความหลงวนด้วยกิเลส
ก็เป็นข้อเตือนใจที่เป็นประโยชน์แล้ว

ผมเคยเห็นข้อความในลานธรรม
เห็นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่ยังไม่ได้แก้ไขอยู่เรื่องหนึ่ง
เกี่ยวกับการบรรลุธรรมหรือเกิดมรรคผลในขณะนอนหลับ
ขอเรียนว่า ไม่มีหลักฐานรองรับในชั้นพระไตรปิฎกว่าเป็นไปได้นะครับ
กระทั่งในคัมภีร์กถาวัตถุ ก็ชี้ว่าเป็นความเข้าใจผิด
และผมก็ไม่เคยพบเห็นตัวอย่างจริงด้วย

อย่างไรก็ตาม ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า
จิตที่บรรลุธรรมต้องประกอบด้วยอัปนาสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง
ในเวลาที่ท่านเล่าเรื่องการบรรลุมรรคผลของท่าน
ให้ผู้ปฏิบัติฟังเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
บางท่านก็เล่าแบบเลี่ยงๆ ว่า ท่านฝันไปว่าจิตดำเนินอย่างนั้นๆ
ผู้ฟังไม่เข้าใจว่า นั่นเป็นโวหารของท่านเพื่ออนุโลมตามพระวินัย
จึงไปจำเอาเองว่า การบรรลุมรรคผลเกิดขึ้นได้ในขณะที่นอนหลับ

ผมเองก็เคยได้ยินหลวงพ่อองค์นี้ท่านเล่าเรื่องนี้มาแล้วด้วยตนเอง
จึงเข้าใจความนัยของท่าน
ว่าท่านไม่ได้บอกว่า ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุมรรคผลในขณะหลับได้
เพราะขนาดตื่น ยังมีสติสัมปชัญญะกันไม่ค่อยดี
จะไปหวังรู้ธรรมตอนนอนหลับกันทำไมครับ

จึงฝากเรื่องนี้เป็นข้อมูลไว้ครับ เพื่อไม่ให้พวกเราไขว้เขวในธรรมกัน
เพราะผู้มีความรู้ทางปริยัติเขาจะติเตียนเอาได้
ว่าพวกเราเผยแพร่สัทธรรมปฏิรูปกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 07:56:15

ความเห็นที่ 47 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544 08:48:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 48 โดยคุณ พีทีคุง วัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544 12:52:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 49 โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 15:17:11
สาธุค่ะคุณอา พอดีพึ่งจะได้มีโอกาสมาเริ่มอ่านกระทู้นี้ตั้งกะต้นจนจบวันนี้เอง เลยไม่รู้ว่าจะล้าสมัยไปหรือยัง (แบบว่าเค้าคุยกันจนจบไปแล้วน่ะ)

คือหนูอยากจะบอกว่า หนูนี่แหละค่ะ คือตัวอย่างชัดเจน ของพวกปฏิบัติสายพองหนอยุบหนอมาก่อน แล้วก็ติดอยู่กับบัญญัติคำบริกรรมกำหนดพวกนี้ จนทำให้ไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง (เป็นแบบเดียวกับที่คุณ Quin ว่าไว้)  นี่ถ้าไม่ได้มารู้จักคุณอา และถูกสอนให้รู้ว่า วิธีการรู้ตัวที่แท้จริงเป็นยังไง หนูก็คงยังงมโข่งนั่งกำหนด หนอๆ อะไรของหนูต่อไปเรื่อยๆ

หลังจากที่หนูรู้ตรงนี้แล้ว เดี๋ยวนี้หนูเลยทิ้งคำกำหนดไปเลย รู้ไปซื่อๆ ตรงๆ ล้วนๆ อย่างเดียว (เลิก นั่นหนอ นี่หนอไปแล้ว) เพราะพอรู้จริงๆเป็น ก็เริ่มเห็นว่า มันเกะกะและเป็นภาระทางจิต และไม่เห็นว่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องไปคอยกำหนด สร้างบัญญัติ อะไรพวกนี้ตรงไหนเลย แต่กว่าจะเลิกได้ หายจากติดบัญญัติ ก็ใช้เวลาเหมือนกันนะคะ เพราะมันเป็นอัตโนมัติในตัวเราที่จะคอยกำหนดนั่นนี่มาหลายปีแล้ว แต่ก็รู้สึกว่า พอเลิกกำหนดแล้ว มันก็รู้ชัดขึ้น รู้ง่ายขึ้น สบายขึ้น และรู้ทันปัจจุบันตรงนั้นมากขึ้น

หนูว่าคงจะมีคนอีกมาก ที่เรียนมาทางสายนี้ แล้วเป็นแบบเดียวกับที่หนูเคยเป็น เพราะเค้าถูกฝึก ถูกเพาะบ่มมาให้เป็นอย่างนั้น อย่างเวลาไปฝึกปฏิบัติเป็นคอร์ส พอเกิดอะไรขึ้น ไปส่งอารมณ์ อาจารย์ที่สอนจะต้องบอกว่า กำหนดรู้ทันมั๊ย ซึ่งหนูว่า เจ้าการกำหนดรู้นี่ บางทีมันทำให้ไปบดบังการรู้สภาพธรรมตรงนั้นจริงๆ เพราะเรามัวแต่ไปติดกับการกำหนดน่ะค่ะ จริงๆเค้าควรจะเน้นการ รู้ทันอารมณ์ตรงนั้น คือเน้นที่การ "รู้"  ไม่ใช่การ "กำหนดรู้"  ซึ่งหนูก็เข้าใจนะคะว่า เค้าคงตั้งใจที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น คือเน้นการรู้ แต่ด้วยความที่เค้าสอนให้กำหนดด้วย คนก็เลยไปติดกับการกำหนดตรงนั้นไปอย่างช่วยไม่ได้ มันก็เลยไปบดบังการรู้ตัวที่แท้จริงไป
โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 15:17:11

ความเห็นที่ 50 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 15:30:52
สาธุครับคุณหนูเจื้อย (พอหาทางเข้าได้ ก็เจื้อยไม่น้อยเชียวนะครับ)
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 15:30:52

ความเห็นที่ 51 โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 15:49:12
แหม ก็คิดถึงน่ะค่ะ ไม่ได้มาแจมที่วิมุตติซะนาน
วันนี้พึ่งว่างนั่งไล่ตามอ่านกระทู้ทั้งหมดจบ เลยอยากเจื้อยแจ้วซะหน่อย อิอิ
โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 15:49:12

ความเห็นที่ 52 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 07:41:14
กระทู้นี้ยาวแล้ว เอาไปรวมคุยกันที่กระทู้ 200 ก็แล้วกันนะครับเจื้อย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 07:41:14

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com