กลับสู่หน้าหลัก

หยุดแค่"ขณะแรกที่รู้" หรือ "แว่บแรกที่รู้" จริงๆ

โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 12:55:20

จากหนังสือ อตุโลไม่มีใดเทียม

  ในระหว่างการสนทนาระหว่างพระราชาคณะรูปหนึ่ง
กับหลวงปู่ดูลย์   ท่านเจ้าคุณรูปนั้นเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า
"เขาว่าคนที่สนใจเรียนคาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์
สมัยก่อนเป็นยักษ์"
  หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งทันที แล้วกล่าวว่า
" ผมไม่ได้สนใจในเรื่องเหล่านี้เลยท่านเจ้าคุณ
ท่านเจ้าคุณเองเคยศึกษาถึง ปัญจทวาราวัชชนจิตไหม"

  ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้คือ  กิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้ง 5
ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกิริยาจิตที่ทำหน้าที่
ประจำรูปกาย อาศัยอยู่ตามทวารทั้ง 5 เป็นทางที่
ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งภายนอก
หรืออารมณ์ภายนอก เป็นกิริยาจิตอยู่อย่างนั้น

  เป็นอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้
แต่อาจเป็นพาหะให้เกิดทุกข์ได้และที่น่าตื่นใจก็คือ
ให้กิริยาจิตเหล่านี้เป็นไปได้โดยประการที่ทุกข์จะ
เกิดขึ้นไม่ได้ก็ได้

  อันนี้แหละที่น่าสนใจ น่าสำเหนียกศึกษาที่สุด
ว่าทำอย่างไร เมื่อตาเห็นรูปแล้วรู้ว่าสวยงาม
หรือน่ารังเกียจอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารำคาญอย่างไร
แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อย
หรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้ว
ก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็น
อย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อกายสัมผัส
โผฏฐัพพะ รู้ว่าอ่อนแข็งเป็นอย่างไร แล้วก็หยุด
เพียงเท่านี้

  ครั้นเมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะปรากฏเหตุอัน
น่าอัศจรรย์ที่เรียกว่า "หัสสิตุปปาทะ" คือ
กิริยาที่จิตยิ้มขึ้นมาเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ
หาสาเหตุที่มาไม่ได้

  อันหัสสิตุปปาทะ หรือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง
ย่อมไม่ปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป
  ดังนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายควรกระทำไว้ในใจ
ในอันที่จะสำเหนียกศึกษา ทำความกระจ่างแจ้งใน
"อเหตุกจิต"อันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน
ในการปฏิบัติ

  ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า เมื่อปฏิบัติไปถึงลำดับนี้แล้ว
จิตจะเกิดยิ้มขึ้นมาเองไม่มีการกระทำ ไม่มีการบังคับ
ให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว


   อนึ่ง เมื่อปฏิบัติตามหลัก "จิตเห็นจิต"
อันมีการ "หยุดคิดหยุดนึก" เป็นลักษณะ
ถ้าใช้ปัญญาอันยิ่งสอดส่องสำรวจตรวจตราดู
ตามทวารทั้ง 5 เหล่านี้ เพื่อจะหาวิธีป้องกันจิต
จะแล่นไปหาเรื่องใส่ตัวในภายนอก ก็จะเห็นและ
เข้าใจได้ว่า เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเราใช้ทวาร
ทั้ง 5 เหล่านั้น กระทำการอันสัมพันธ์กับภายนอก

   เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้น ก็จะได้อุบายอันแยบคาย
ว่าในขณะที่เกิดสัมพันธภาพกับภายนอก
จิตก็ควรจะกำหนดให้อยู่ในจิต
เมื่อเห็นก็กำหนดให้รู้เท่าทันการเห็น
แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ
เห็นแล้วหนออะไรหรอก เพราะขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้น
ม้นไม่กินเวลาอะไร เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็ไม่ต้อง
ไปรำพึงรำพันเป็นการปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก


  ในการกำหนดให้รู้ให้เท่าทันนั้น อย่าได้ถูกลวง
ด้วยสัญญาแห่งภาษาคน ภาษาโลก ดังเช่นการรู้
เท่าทันคนที่จะมาหลอกลวงเรา เป็นต้น

  การรู้เท่าทันอารมณ์ในภาษาธรรมนั้น
หมายความว่า ความ "รู้" จะต้องทันกันกับการ
รับอารมณ์ของทวารทั้ง 5 เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป
จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่สมบูรณ์ มีความรู้ตัวพร้อม
อยู่ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกข์อันอาศัยปัจจัย คือ การเห็น
เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เกิด และเราก็จะสามารถ
มองอะไรได้อย่างอิสระเสรี โดยที่รูปหรือสิ่งที่เรา
มองเห็นไม่อาจมีอิทธิพลอันไดเหนือเราได้เลย
แม้แต่น้อย


  ปัญจทวารวัชชนจิต หรือกิริยาจิตที่แล่นอยู่ตาม
ทวารทั้ง 5 ย่อมสัมพันธ์กับมโนทวาร ในมโนทวาร
นั้นมี มโนทวาราวัชชนจิต อันเป็นกิริยา
จิตที่แฝงอยู่ มีหน้าที่คิดนึกต่างๆสนองตอบอารมณ์
ที่มากระทบไปตามธรรมดา

  ดังนั้นในการปฏิบัติ จะให้หยุดคิดหยุดนึกทุกกรณี
ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยการอาศัยอุบายวิธีดังกล่าว
นี้แหละ เมื่อจิตตรึกความนึกคิดอันใดออกมา
ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ก็ทำความกำหนดรู้พร้อม
ให้เท่าทันกัน


  เช่นเดียวกัน เมื่อมีความรู้พร้อมทันๆกันกับ
การรับอารมณ์ ดังนี้แล้ว ปัญญาที่รู้เท่าเอาทัน
ย่อมตัดวัฏจักรให้ขาดออกจากกัน ไม่อาจสืบเนื่อง
หมุนเวียนต่อไปได้

  กล่าวคือ การก่อรูปก่อร่างต่อไปของจิตย่อมไม่
อาจเกิดขึ้นได้ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีอยู่เอง
โดยไม่ต้องมีการลวงๆว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย
ความไม่ยึดมั่นนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรานำมาใข้
เรียกขานกันให้รู้เรื่อง เมื่อวัฏฏะมันขาดไปเท่านั้น


  โดยนัยอย่างนี้ จึงน่าจะศึกษาให้เข้าใจในอันที่
จะกำหนดรู้อย่างไรจึงจะถูกต้อง เมื่อจิตกระทบเข้ากับ
อารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น
อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง  อย่าไปเอออวยเห็นดี
เห็นงามให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะ
เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากย์
วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียง
รู้อารมณ์เท่านี้ หยุดกันเพียงเท่านี้"
โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 12:55:20

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ธนา วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 13:08:57
สาธุ
สาธุ
สาธุ
ที่หลวงปู่กล่าวไว้นั้นครบถ้วนดีแล้วทุกกระบวนความ  ทุกสิ่งอยู่แค่รู้  ไม่ต่อไปปรุงแต่ง  ย่อมไม่เกิดซึ่งกิเลสตัณหาอันจะพาให้ไปสู่ความปรุงแต่งต่างๆของจิต
thanks for your reminders, Dr.
โดยคุณ ธนา วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 13:08:57

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 13:09:54
อะไรที่เกินกว่า "แว่บแรกที่รู้" จึงเป็นภาระของจิตทั้งหมด
แม้แต่เมื่อรู้แล้ว ขยับเพื่อจะรู้ให้ชัดขึ้น
หรือแค่หน่วงลงมานิดเดียวว่า รู้อะไร
หรือพยายามประคอง ไม่ให้รู้มันหาย
หรือแค่ใส่ความรู้สึก รู้ แรงไปนิดเดียว
กลายเป็นภาระของจิตไปทั้งหมด
ความเห็นตรงช่วงนี้ ถ้าไม่ถูกต้อง
รบกวนพี่ช่วยแก้ไขให้ด้วยนะคะ
โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 13:09:54

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ กอบ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 19:56:24
สาธุครับ
โดยคุณ กอบ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 19:56:24

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ สุกิจ วัน ศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 08:18:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 09:21:02
สาธุในธรรมของหลวงปู่ที่พี่ไพนำมาแสดง _/I\_
และขอสาธุ+เห็นด้วยในความเห็นที่2ของพี่ไพ
ครับถึงใจที่สุดแล้วครับ ^-^
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 09:21:02

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 13:47:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 16:58:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ filmman วัน อาทิตย์ ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2544 20:25:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ tuli วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 06:26:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:02:13
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:12:14
ตั้งแต่หมอไพตั้งกระทู้มา มีกระทู้นี้แหละครับ ที่น่าสาธุการให้เป็นอย่างยิ่ง
เพราะสะท้อนให้เห็นความเข้าใจถึง รู้ ได้อย่างปราณีต
การที่ผู้มีความฟุ้งซ่านรุนแรงเป็นนิจ จะเข้าใจ รู้ ได้นั้น ไม่ใช่ง่ายเลย
เมื่อพากเพียรจนเข้าใจได้ในเบื้องต้นแล้ว ก็ควรสำรวมระวัง
เพื่อให้จิตพัฒนาเข้าถึง รู้ ได้อย่างแท้จริงต่อไป

คำสอนเรื่อง อเหตุกกิริยาจิต 3 ประการของหลวงปู่ดูลย์
คือปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต
และหสิตุปบาทจิต
เป็นคำสอนภาคปฏิบัติของการดูจิตที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุด
โดยท่านได้ขอยืมศัพท์เหล่านี้มาจากตำราอภิธรรม
แต่การอธิบายความหมายของท่าน เป็นการอธิบายเชิงปฏิบัติ
ซึ่งไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิมในตำราอภิธรรม

ผู้ที่จะศึกษาตามจึงควรจำแนกให้ออก
ถ้าจะฟังเอาเนื้อความของวิธีการปฏิบัติ ก็ให้เข้าใจอย่างหนึ่ง
ถ้าจะฟังในเชิงปริยัติ ก็ขอให้เข้าใจความหมายอีกอย่างหนึ่ง
หากนำมาปะปนกัน อาจจะเกิดความยุ่งยากและสับสนขึ้นได้
เช่นจะไปเปิดคำแปลของจิตแต่ละชนิดจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์
เพื่อจะทำความเข้าใจคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้จริง
หรือจะนำคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ไปพูดกับนักอภิธรรม
เขาก็จะไม่รู้เรื่อง เป็นต้น

ผมเคยฟังคำสอนเรื่องอเหตุกจิตจากหลวงปู่ดูลย์ 
ในการเข้าไปศึกษากับท่านครั้งที่สอง เมื่อราวช่วงพฤษภาคม 2525
ครั้งนั้นฟังแล้วยังจับต้นชนปลายไม่ถูก
เพราะท่านกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เคยรู้เห็นสักอย่างเดียว
กลับมากรุงเทพแล้วก็ไปเปิดตำราอภิธรรมดู
ก็ยังไม่เห็นว่า เกี่ยวข้องอะไรกับการปฏิบัติ

ในตำราอภิธรรมอธิบายถึงอเหตุกกิริยาจิต ไว้ 3 ชนิด
ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจิตที่พิจารณาอารมณ์ทางทวารทางกายทั้ง 5
คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้งอารมณ์ที่ดีและไม่ดี
เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉยๆ
จิตดวงนี้ทำหน้าที่แค่เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า
มีอารมณ์มากระทบทวารทางกายทวารใด
เพื่อที่จะได้เกิดวิญญาณจิตรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ
คล้ายๆ กับเดิมเรานอนหลับอยู่ในบ้าน (ภวังค์)
พอมีเสียงกุกกักมาทำให้เราตื่นนอน
ตอนแรกยังจับไม่ได้ว่าเสียงนั้นดังขึ้นทางใดของบ้าน
ปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นแหละ จะเป็นผู้จำแนกว่า
เสียงมาทางประตูหรือหน้าต่าง หน้าบ้านหรือหลังบ้าน ชั้นบนหรือชั้นล่าง
เพื่อวิญญาณคือความรับรู้จะได้หยั่งรู้ได้ถูกทิศทางของเสียงนั้นต่อไป

ส่วน มโนทวาราวัชชนจิต มีความหมายคล้ายกัน แต่เกิดขึ้นทางใจ
เพื่อจะจำแนกอารมณ์ทางใจที่มากระทบนั้น ว่าดีหรือไม่ดี
แล้วส่งสัญญาณให้จิตเกิดกุศลหรืออกุศล หรือกิริยาจิต ต่อไป

สำหรับ หสิตุปบาทจิต อันเป็นอเหตุกกิริยาจิตดวงสุดท้ายนั้น
ตำราอภิธรรมระบุว่าเป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้ม(ทางกาย)ของพระอรหันต์
เกิดขึ้นพร้อมกับความโสมนัส (สุขเวทนาทางใจ)
ผู้ที่อ่านมาถึงตรงนี้จะสรุปว่า พระอรหันต์ยิ้มได้เท่านั้น จะหัวเราะไม่ได้
ถ้าพระรูปใดหัวเราะ แสดงว่าไม่ใช่พระอรหันต์
ทั้งที่ความจริง จิตที่ทำให้พระอรหันต์หัวเราะยังมีอีก 4 ดวง
คือมหากิริยาจิตที่พร้อมด้วยความโสมนัส

สำหรับความหมายของ อเหตุกกิริยาจิต ของหลวงปู่ดูลย์นั้น
ท่านอธิบายความหมายต่างออกไปจากตำราเดิม
เป็นการยืมคำตามตำราเดิมมาใช้โดยอนุโลมเพื่ออธิบายแก่นักปฏิบัติเท่านั้น
คือท่านสอนถึงจิตที่ตื่นตัวขึ้นมารับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 5 + 1
และสอนว่า เมื่อรับรู้อารมณ์ทางทวารใดแล้ว
ให้มีสติรู้เท่าทันจิตของตนทันที
อย่าส่งจิตออกนอก คือปล่อยให้จิตเคลื่อนออกทางทวารทั้ง 6 โดยไม่รู้เท่าทัน

คำว่าดูจิตก็ดี คำว่าอย่าส่งจิตออกนอกก็ดี
เป็นเรื่องละเอียดอย่างถึงที่สุดทีเดียว
ไม่ใช่เรื่องหยาบๆ อย่างที่พวกเราเข้าใจกัน
ทั้งนี้เพราะผู้ปฏิบัตินั้น พอคิดที่จะปฏิบัติ
จิตก็เคลื่อนออกนอกแล้ว ด้วยความพอใจ/จงใจจะปฏิบัติ
และไม่รู้ทันว่ากำลังพอใจ/จงใจอยู่
เช่นพอคิดจะเดินจงกรม ก็ตั้งท่ากำหนดจิตให้สงบสำรวม
เพื่อจะรู้การเคลื่อนไหวของกาย
ถัดจากนั้นก็เพ่งกายไปเรื่อยๆ อันเป็นการทำสมถะ แต่คิดว่าทำวิปัสสนาอยู่

หรือพอเกิดความดำริที่จะดูจิต ก็เริ่มเพ่งเข้าไปที่จอภาพในใจของตน
ดูว่ามีสิ่งใดปรากฏอยู่บ้าง โดยคิดว่านั่นคือการดูจิต
ทั้งที่ความจริงแล้ว นั่นคือการส่งจิตออกนอกอย่างหนึ่งเหมือนกัน
คือไม่ได้ดูจิต แต่เที่ยวดูสิ่งอื่นๆ ถ้าจอภาพว่างๆ ก็สงสัยว่าควรจะดูอะไรดี
แล้วส่งจิตเที่ยวตรวจตราดูว่า จะมีอะไรให้ดูได้บ้าง

หลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนไว้อย่างชัดเจนในเรื่องอเหตุกจิตว่า
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึกปรุงแต่ง
ให้รู้อารมณ์ที่มากระทบนั้นตามความเป็นจริงที่จิตจะรู้ได้
การกระทำใดๆ ที่เกินจากแว่บแรกที่รู้นั้น เป็นส่วนเกินทั้งสิ้น
อย่าหลงปล่อยให้จิตก่อเกิดพฤติกรรมใดๆ ไปตามความไม่รู้ได้
(หากจิตก่อพฤติกรรมใดๆ เช่นเพ่งเพื่อจะรู้ให้ชัดขึ้น
หรือพยายามประคองรักษาความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ฯลฯ
ก็ให้รู้เท่าทันพฤติกรรมนั้นของจิต จิตก็จะกลับเข้าสู่ความเป็นกลางเอง)
จิตจะทรงสภาพเป็นผู้รู้ ที่สักว่ารู้อารมณ์ ด้วยความเป็นกลางจริงๆ

ในภาวะที่จิตรู้สักว่ารู้ คือไม่ส่งออกนอกไปวุ่นวายกับอารมณ์ต่างๆ นั้น
ในขณะนั้นเอง ปรมัตถธรรมของสิ่งที่มากระทบก็จะปรากฏอย่างชัดเจน
และปรมัตถธรรมเหล่านั้น ล้วนแต่ว่างเปล่าจากตัวตนและกิเลสตัณหาทั้งสิ้น
เช่นเมื่อตาเห็นรูป รูปจะมีสภาพของสีที่ตัดกันเท่านั้น
มีสภาพเป็นความว่างเปล่า ปราศจากตัวตนตามอำนาจของสมมุติบัญญัติ
และไม่ก่อน้ำหนักใดๆ ขึ้นมาแม้แต่น้อยนิด
ถึงจิตที่รู้รูปก็เป็นความว่างเปล่าเช่นกัน
ไม่มีตัวตนรูปร่าง น้ำหนัก หรือความเคลื่อนไหวภายในใดๆ ทั้งสิ้น
มีแต่ธรรมชาติที่รู้ ตื่น และเบิกบานอยู่ในตัวเองเท่านั้น

บางคนจิตเห็นปรมัตถธรรมคราวแรก
ก็ตัดกระแสเข้ามารู้จิตที่ปราศจากความปรุงแต่งได้แล้ว
บางคนเมื่อเห็นปรมัตถธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว
จิตยังสนใจปรมัตถธรรมนั้นอยู่ ก็ไม่อาจทวนกระแสเข้ามาถึงจิตได้
ต่อเมื่อฝึกมากเข้าจึงทวนกระแสเข้ามาถึงจิต เป็นจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้

จิตที่พ้นจากความปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นตัวของตัวเองนี้แหละ
มันมีธรรมชาติที่เบิกบานอยู่ในตัวเอง 
ที่หลวงปู่ดูลย์เรียกว่า หสิตุปบาทจิต หรือจิตยิ้ม (ไม่ใช่การยิ้มทางกาย)
ถ้าผู้ใดปฏิบัติจนถึงจุดนี้ก็จะเห็นนิพพาน
และเข้าใจชัดทีเดียวถึงพระพุทธวัจจนะที่ว่า
นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง

หากเป็นการเข้าถึงจิตที่รู้อารมณ์นิพพานคราวแรก
โลกก็สมมุติเรียกว่าพระโสดาบัน
พอรู้นิพพานอยู่ 2 - 3 ขณะแล้ว ความปรุงแต่งก็จะกลับเข้ามาปรุงแต่งจิตอีก
แต่ธรรมชาติของจิตที่เคยรู้นิพพานแล้ว จะต่างไปจากเดิม
เพราะจิตจะพ้นจาก สภาพคนหนา (ปุถุชน) อย่างเด็ดขาดแล้ว
กลายเป็นคนบาง คือไม่ถูกความเห็นผิดเข้าแทรกจิต
โลภะหยาบๆ ที่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็จะหมดไป
เช่นความเห็นว่ามีตัวมีตนจะหมดไป

เมื่อรู้อารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง 6 ในแบบไม่สร้างภาระเพิ่มเติมมากเข้า
สติปัญญาก็จะกล้าแข็ง และรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิตมากเข้า
การรู้ปรมัตถธรรม อย่างสักว่ารู้ ก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากขึ้นทุกที
ในที่สุดจิตก็หลุดพ้นจากการย้อม หรือปรุงแต่งของอารมณ์ทั้ง 6 ได้เด็ดขาด
คือเมื่อรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็เห็นความว่างจากตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา
แม้จิตเองก็ว่างจากกิเลสตัณหา และความเป็นตัวตนแม้แต่น้อยหนึ่ง
เป็นสภาพจิตที่รู้ความว่างทางทวารทั้ง 6
กับความว่างของจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวกัน
แล้วดำรงชีวิตอยู่ด้วยสันติสุขอันรุ่งเรืองจนสิ้นอายุขัย
พ้นความลำบากในเรื่องการครองขันธ์แต่เพียงเท่านี้

ธรรมที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนแต่ละประโยคนั้น
กว่าจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง บางทีต้องใช้เวลาปฏิบัติถึง 10 - 20 ปีก็มี
นับว่าท่านเป็นครูที่ไม่เหมือนใคร
คือไม่แจกแจงรายละเอียด ไม่ช่วยลูกศิษย์ทำการบ้านหรือแบบฝึกหัด
เพียงแต่ชี้ทางเดินไว้ให้เห็นร่องรอยเพื่อเดินตามท่านไปเองเท่านั้น
ส่วนใครไม่เดิน ท่านก็ไม่ว่าอะไร
พอบอกทางแล้ว ท่านก็หยุด เงียบ
อยู่กับความว่างอันเป็นเครื่องอยู่ของท่านต่อไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:12:14

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:37:42
ความเห็นที่ 2 ของหมอไพก็ดีครับ
ไม่ต้องแก้ไขอะไร ขอให้ทำเท่านั้นแหละครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:37:42

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:44:36
สาธุ X 100000000000000 ครับ _/I\_
ถึงใจมากๆๆครับ ^-^
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:44:36

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 10:04:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 10:41:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ สุกิจ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 15:07:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 15:57:54
ผมเขียนเรื่องการทวนกระแสเข้าถึงจิตซึ่งพ้นจากความปรุงแต่งไว้
และอาจจะก่อความไขว้เขวแก่ผู้อ่านได้ จึงขอเพิ่มเติมว่า
การทวนกระแสเข้ามาที่จิตนั้น จะจงใจทำเอาเองไม่ได้
หากจิตรู้อารมณ์ปรมัตถ์จนปล่อยวางแล้ว
เขาย่อมทวนกระแสโลก ซึ่งเคยแผ่ซ่านไปทางทวารทั้ง 6
เข้ามารู้อยู่ที่จิตซึ่งพ้นความปรุงแต่งได้เอง

อนึ่งคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ในเรื่องเหล่านี้
สะท้อนให้เห็นว่า การเจริญวิปัสสนาที่แท้จริงนั้น ต้องใช้การรู้
จะคิดๆ เอาไม่ได้  เพราะความคิดเป็นความฟุ้งซ่านปรุงแต่งของจิต
ต่อให้คิดถึงความว่าง หรือคิดถึงไตรลักษณ์สักเพียงใด
สิ่งที่ได้ก็คืออารมณ์ที่สงบเท่านั้น
ส่วนผู้ที่ต้องการเจริญวิปัสสนา
จะต้องรู้ทันปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6
จนจิตปล่อยวางและทวนกระแสเข้ามารู้จักจิตซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง
โดยไม่มีความจงใจหรือพอใจที่จะทวนกระแสเข้ามาแต่อย่างใด
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 15:57:54

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 20:19:41
_/\_
สาธุครับ

แล้วปรมัตนี่จงใจรู้ได้หรือไม่ครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 20:19:41

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:12:11
ในขณะที่สติระลึกรู้ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ นั้น
จะรู้โดยไม่ต้องจงใจครับ
เช่นมดกัดแขน เกิดความเจ็บขึ้นมา ก็รู้ถึงความรู้สึกตรงนั้นเลย
แต่ถัดจากนั้นจะเกิดความผิดพลาดตามมาทันที
เช่นเกิดโทสะ ที่ "มด" มากัด "เรา" แล้วบี้มดตาย
หรือรีบตั้งท่า จงใจรู้ปรมัตถธรรมคือความเจ็บที่แขน

ความเจ็บนั้นก็ยังรู้สึกอยู่ แต่จิตที่ไปรู้ความเจ็บนั้น ไร้คุณภาพเสียแล้ว
ตรงจุดนี้แหละครับที่ผู้ปฏิบัติในสำนักอภิธรรมส่วนใหญ่พลาดกัน
เพราะจิตในขณะนั้นปราศจากสัมมาสมาธิ
ได้หลงเคลื่อนเข้าไปเพ่งความเจ็บโดยไม่รู้ตัว
นั่นก็คือ การรู้อารมณ์ด้วยจิตที่ประกอบด้วยโมหะ
ไม่ใช่ด้วยปัญญาที่ปราศจากโมหะ ไม่มีอสัมโมหสัมปชัญญะ
เพราะการเพ่ง กับการรู้ ไม่เหมือนกัน
ยิ่งทำมาก มานะอัตตาก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:12:11

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ กอบ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:13:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:22:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:25:52
อาการทั้ง 2 ประการ ผมสังเกตเห็นได้ครับ

1. ในขณะที่เกิดผัสสะ จิตรู้อารมณ์ที่เป็นผัสสะนั้น
2. จิตพยายามที่จะรู้ผัสสะให้ชัด พยายามจับอารมณ์ให้นิ่ง ให้ชัด

และที่เห็นตามมาคือ ผลแห่่งความเพ่งที่เป็นก้อนจุกอกบ้าง เป็นความมึนซึมของจิตบ้าง

จึงขอเรียนปรึกษาครูครับ ว่าผมควรจะทำอย่างไรต่อไป (แต่สำหรับผมเองตนนี้คือ เมื่อรู้ว่าเพ่งแล้ว ก็ละออกจากอารมณ์ที่เพ่งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตกไปที่เผลออีกครับ อีกสักพักก็จะมาวนข้อ 1 ใหม่ครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:25:52

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ สุกิจ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 08:27:29
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 11:25:47
จิตเขาเคยชินทางไหน เขาก็ไปทางนั้นครับตึก
เช่นเมื่อเวลาอยู่ธรรมดาๆ เคยชินที่จะเผลอ เขาก็สมัครใจที่จะเผลอ
เมื่อเวลาปฏิบัติ เคยชินที่จะเพ่ง เขาก็สมัครใจที่จะเพ่ง

สิ่งที่จะแก้ความเผลอ ไม่มีครับ มีแต่เผลอแล้วรู้ตัวให้เร็วเท่านั้น
และจะรู้ตัวให้เร็วได้ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
คือผูกความรู้สึกตัวเข้ากับกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งที่ถนัด
เช่นตั้งใจไว้ก่อนว่า ถ้าขยับตัวเมื่อใด จะรู้ตัวเมื่อนั้น
หรือถ้าหายใจเข้า/ออกเมื่อใด จะรู้ตัวเมื่อนั้น
หรือถ้ากิเลสตัณหาเกิดเมื่อใด จะรู้ตัวเมื่อนั้น เป็นต้น
ทั้งนี้สิ่งที่จะเอามากระตุ้นความรู้ตัว ควรเป็นสิ่งที่เกิดได้บ่อยๆ
ไม่ใช่ตั้งใจว่า ถ้ากราบพระเมื่อใดจะรู้ตัวเมื่อนั้น
แล้ววันหนึ่งกราบพระก่อนนอนครั้งเดียว อย่างนี้ก็ไม่พอครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 11:25:47

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 07:24:29
ขอบพระคุณครับครู ผมได้อุบายที่ดีอีกแล้วครับ (สารภาพว่า ที่จริงก็สังเกตอยู่ครับ ว่าในบางอริยาบถ สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้ตัวได้ครับ หากแต่ว่ามีความลังเลสงสัยครับ ว่าทำถูกหรือไม่ และก็มีอีกครับว่า ไปปฎิเสธวิธีนั้นด้วย ดังนั้นพอรู้ตัวปั๊บ ตัวปฎิเสธก็มาปุ๊บ เลยเรรวนไปกันใหญ่ ได้ครูยืนยันแบบนี้ค่อยสบายใจขึ้นครับ)
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 07:24:29

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ สุกิจ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 08:24:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 08:40:21
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 08:40:25
ครูคะ หลังจากที่พบกับครูที่ศาลาครั้งสุดท้ายแล้วทำท่าว่าจะเข้าใจเกี่ยวกับการรู้ตัว เอี้ยงเกิดอาการสับสนอีกแล้วค่ะครู คือ
1. การรู้สึกที่ชัดเจนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ใช่จิตเขารับรู้อยู่แล้วหรือคะ แล้วทำไมเราต้องรู้ตัวอีกคะ มันซ้ำซ้อนบอกไม่ถูกค่ะครู 
2. ครูคะ ที่ครูบอกว่าเมื่อเกิดสงสัย ให้ดูที่สงสัย ก็ถ้าในขณะนั้นความรู้สึกที่ชัดเจนมันไม่ใช่ที่สงสัยละคะ ครู แบบเกิดไปชัดเจนที่ความคิด แล้วการที่เราหันกลับมาดูที่สงสัย มันไม่กลายเป็นจงใจ หรือตั้งใจไปหรือคะ
หนูกราบขอโทษค่ะที่กวนครู แล้วก็อีกครั้งนะค่ะ แหะๆ ที่หนูหวังใจว่าครูเข้าใจที่หนูถาม
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 08:40:25

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 08:42:29
อิ อิ อิ พี่นกเอี้ยง เมื่อสงสัย ให้รู้เท่าทันความสงสัย ด้วยการดูไปที่ความสงสัย ครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 08:42:29

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:52:27
>การรู้สึกที่ชัดเจนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ใช่จิตเขารับรู้อยู่แล้วหรือคะ แล้วทำไมเราต้องรู้ตัวอีกคะ

การรู้สึกที่ชัดเจนต่อสิ่งที่ปรากฏ (เช่นรู้ความเจ็บปวดอย่างแรง)
อาจเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏแบบที่ จิตไปคลุกเคล้าแนบแน่นกับสิ่งนั้นๆ หรือหลงอยู่ในสิ่งที่ปรากฏนั้น
หากยังรู้แบบนี้ก็ยังไม่ใช่การรู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง (ยังไม่รู้ตัว)
ซึ่งยังไม่ใช่การเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง
แต่ถ้ารู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง (รู้แบบรู้ตัว) จิตจะไม่คลุกเคล้าแนบแน่นกับสิ่งนั้นๆ
จึงจะเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องหรือเพื่อความพ้นทุกข์ครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:52:27

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 10:51:26
ขอบคุณคุณสุรวัฒน์ครับ ที่ช่วยตอบคำถามข้อแรกของเอี้ยงให้
แต่น่าจะตอบทั้งสองข้อนะครับ :)

ที่เอี้ยงถามว่า "เมื่อเกิดสงสัย ให้ดูที่สงสัย
ก็ถ้าในขณะนั้นความรู้สึกที่ชัดเจนมันไม่ใช่ที่สงสัยละคะ ครู
แบบเกิดไปชัดเจนที่ความคิด
แล้วการที่เราหันกลับมาดูที่สงสัย
มันไม่กลายเป็นจงใจ หรือตั้งใจไปหรือคะ "

ทางที่ดีเวลาปฏิบัติ เอี้ยงอย่าไปหยุดอยู่แค่การรู้ความคิด(เรื่องที่คิด)นะครับ
ให้คอยสังเกตจิตใจของตนเองดีกว่า ว่าขณะนั้นมันสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ
หรือมันเกิดกุศล หรืออกุศล หรือเป็นกลางๆ อยู่
เพราะในจิตตานุปัสสนานั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า
จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะให้รู้ว่าไม่มีราคะ
จิตมีโทสะ โมหะ ก็รู้ว่ามี ไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
ท่านไม่ได้สอนให้ตามรู้ความคิด (เรื่องที่คิด)
เพราะมันคิดของมันไปได้เรื่อยๆ ทั้งวันไม่มีจบสิ้น คือมันไม่แสดงไตรลักษณ์
สู้มารู้เวทนา หรือกุศลอกุศลเหล่านี้ไม่ได้ครับ จะเห็นไตรลักษณ์ทันที

ทีนี้สมมุติว่าเอี้ยงรู้อารมณ์อันหนึ่งอยู่ แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมา
เอี้ยงยังรู้สึกว่าอารมณ์เดิมก็ชัดเจนอยู่แล้ว
และเห็นว่าการรู้ความสงสัยยังต้องฝืน ต้องจงใจ
อันนั้นแสดงว่าจิตยังพอใจในอารมณ์เดิมอยู่
สังเกตให้ดีเถอะครับ อาจจะพบว่า จิตไปติดสมถะอยู่ก็ได้
มันจึงผูกพันพอใจจะรู้อารมณ์เดิมนััก
จนถึงกับจะละเลยความสนใจศัตรูสำคัญที่กำลังปรากฏขึ้น

เวลาที่เอี้ยงไปเดินช็อปปิ้ง เที่ยวเดินดูสินค้าที่สนใจอยู่
แล้วเกิดสังเกตเห็นคนที่ท่าทางแปลกๆ พยายามเบียดเข้ามาใกล้ๆ
ถ้าจิตใจเอี้ยงเป็นปกติ ไม่ถูกสินค้าหลอกล่อจนลืมโลก
เอี้ยงก็คงต้องหันมาสนใจคนที่อาจจะเป็นอันตรายก่อน
เวลาปฏิบัติอยู่ก็เหมือนกัน ครับ
ถ้ารู้อารมณ์ใดอยู่แล้วมีกิเลสตัณหา หรือนิวรณ์โผล่ขึ้นมา
ก็ต้องรู้ทันมันเสียก่อน ก่อนที่มันจะครอบงำจิตใจเอา
เพราะถ้าโดนมันครอบงำแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ได้อย่างมีคุณภาพหรอกครับ

วันนี้จิตผมมันเงียบเหลือเกิน ตอบธรรมะไปอย่างแกนๆ ครับ
ถ้ายังตอบไม่ตรงคำถาม ไว้วันหลังเจอกันแล้วเอี้ยงค่อยถามใหม่ก็แล้วกันครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 10:51:26

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 11:15:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ tung วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 02:10:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 09:16:49
ขอบคุณค่ะคุณสุรวัฒน์ _/|\_ คำตอบของคุณทำให้เห็นคนดูกับคนเล่นดีจังเลยค่ะ และทำให้เห็นคำถามของเอี้ยงเป็นบทแสดงกับคนเล่นไปเลย ขอบคุณมากจริงๆ ค่ะ
กราบขอบพระคุณค่ะครู ^-^_/|\_ ขนาดจิตของครูเงียบ ครูยังอุตส่าห์มาตอบคำถามให้หนู ขอบพระคุณมากจริงๆ ค่ะ ครู
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 09:16:49

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ กอบ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 10:17:38
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 22:46:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com