กลับสู่หน้าหลัก

สัมมาสมาธิ

โดยคุณ กาลามะชน วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 19:42:28

ผมสังเกตว่าชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องสัมมาสมาธิ
ผมจึงอยากขอความกรุณาจากครูช่วยอธิบายด้วยครับ
โดยคุณ กาลามะชน วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 19:42:28

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 11:28:28
วันนี้ยังไม่ว่างเลยครับ
ใครว่างจะช่วยตอบแทนไปก่อน ก็เชิญนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 11:28:28

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 07:19:31
หากจะพิจารณาอย่างโดดๆว่า อะไรคือสัมมาสมาธิ อะไรคือมิจฉาสมาธิ ผมคงไม่สามารถที่จะอธิบายได้ เหตุเพราะว่า สัมมาสมาธิ ย่อมคู่อยู่กับสัมมาสติ

หากพิจาณาผลแห่งสมาธิ ว่าการทำสมาธิแบบใดเป็นคุณ เป็นกุศล เป็นหนทางแห่งปัญญา คือ สัมมาสมาธิแล้ว ย่อมมิอาจแยกออกไปจากสัมมาสติได้

นี่คือความสัมพันธ์ที่เห็นชัดๆครับ

และยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ผลแห่งสมาธิที่ถูกต้อง กลับมีผลต่อปัญญาด้วย เหมือนดั่งว่าเกิดในคราวเดียวกันด้วยซ้ำไป ซึ่งก็คือสัมมาทิฎฐิอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ผมจึงจนปัญญาที่จะกล่าวถึงสัมมาสมาธิอย่างโดดๆครับ (ด้วยปัญญาที่น้อย สมาธิก็น้อย ก็พอจะจำแนกได้เท่านี้ครับ)

สัมมาสมาธิ - สัมมาสติ ประกอบกัน (ตามความเห็นของผม) เสมอ ลองพิจารณาอย่างนี้ครับ

เมื่อเริ่มต้นที่ทำสมาธิ ซึ่งบางท่านก็บอกว่า คือความตั้งมั่นของจิต เช่นการบริกรรมพุทโธ (หรือจะเรียกว่าคิดพุทโธก็ไม่ผิด เพราะคือสังขารขันธ์เช่นกัน) หากเราพยายามเพ่งพุทโธ คือบังคับจิตให้จ่อรู้กับคำบริกรรมพุทโธอย่างแรง มิให้คลาดเคลื่อนจากคำพุทโธแม้ขณะจิตเดียว ผลก็คือ ความเหน็ดเหนื่อยของจิต ความอึดอัดของจิต และจะสะสมไปเป็นความท้อแท้ของจิต อย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

บางท่าน เมื่อเริ่มภาวนาด้วยการตามดูลมหายใจ เกิดความสงบ ความสุข ก็มีจิตยินดีต่อความสุขอันนั้น เคลิบเคลิ้มในความสุขอันนั้น อย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเป็นการทำให้ราคะเจริญ

บางท่าน เมื่อภาวนาด้วยการพิจารณากาย เห็นกายของตนตั้งอยู่ ปรากฎเป็นนิมิต เกิดความสำคัญตนว่าเป็นผู้รู้ ผู้มีนิมิต เป็นผู้มีคุณวิเศษเหนือคนทั่วไป เกิดความภาคภูมิใจในตนว่าเหนือผู้อื่น ตนเป็นผู้ที่มีความพิเศษเหนือผู้อื่น เกิดเป็นความยินดีอยู่อย่างนี้ อย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเป็นการทำให้ อัสมิมานะเจริญขึ้น

แม้บางท่าน เมื่อเห็นกายแยกจากจิตแล้ว เกิดเป็นความเห็นว่า กายนี้ไม่ใช่เรา (แต่จิตนี้เป็นเรา) เจริญอย่างนี้ทุกค่ำเช้า ไม่มีความกลัวเกรงต่อความตาย เพราะเห็นว่าเราไม่มีทางตาย มีแต่เปลี่ยนร่างไปเท่านั้น เมื่อกายนี้ดับ ก็ไปหากายอื่นอยู่ต่อไป(ด้วยการเกิดใหม่ทางกาย) อย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเป็นการทำให้โมหะเจริญขึ้น

กล่าวโดยย่อคือ การทำสมาธิใด ที่ทำให้กิเลสพอกพูนขึ้น ทำให้โมหะมากขึ้น โทสะงอกงามขึ้น โลภะงอกงามขึ้น หรือราคะงอกงามขึ้น เหล่านั้นคือ มิจฉาสมาธิ ไม่จำกัดว่าจะเป็นการทำสมาธิแบบไหน แนวใด แม้แต่การบริกรราพุทโธ ก็เป็นมิจฉาสมาธิได้ การตามดูลมหายใจก็เป็นมิจฉาสมาธิได้

สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร?

ในความเห็นของผมเห็นว่า สมาธิใดที่ลงมือทำแล้ว จิตถูกครอบงำด้วยกิเลสน้อยลง ถูกครอบงำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ยากขึ้น การทำสมาธิเช่นนั้นเป็นสัมมาสมาธิ

แต่การที่จะทำสมาธิ แล้วให้จิตมีความเข้มแข็ง ต้านทานหรือทนทานต่อสิ่งยั่วเย้าด้วยกามคุณทั้ง 5 ผัสสะ ทั้ง 6 ได้นั้น มิใช่ว่า จู่ๆจะเกิดขึ้นได้ หากแต่ต้องประกอบไปด้วย สัมมาสติ ด้วย และยิ่งหากเจริญไปเป็น สต - สัมปชัญญะ ด้วยแล้ว นี่คือ สัมมาอย่างแท้จริง เป็นสัมมาสมาธิอย่างแท้จริง

เมื่อบริกรรมพุทโธ จิตจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมพุทโธที่ผูดขึ้นในใจ รู้อยู่ว่าจิตจดจ่ออยู่กับการบริกรรมพุทโธ
รู้อยู่ว่าพุทโธผุดขึ้นมาจากตรงไหน
รู้อยู่ว่ารู้พุทโธชัดเจน
รู้อยู่ว่ารู้พุทโธไม่ชัดเจน
รู้อยู่ว่าในขณะนี้มิได้รู้พุทโธ (แต่รู้อย่างอื่นอยู่)
รู้อยู่ว่าจิตกำลังเบิกบาน
รู้อยู่ว่าจิตกำลังซึมเซา
รู้อยู่ว่าจิตกำลังฟุ้งซ่าน
รู้อยู่ว่าจิตคิดแค้น
รู้อยู่ว่าจิตครุ่นคิดถึงสิ่งที่น่ารักใคร่
รู้อยู่ว่าจิตกำลังลังเลสงสัย
รู้อยู่ว่าจิตปลอดพ้นจากนิวรณ์ทั้ง 5
รู้อยู่ว่าจิตกำลังมีปีติ ไม่หลงเพลินเสพในปีตินั้น ไม่หลงเพลินยินดีในความปีตินั้น
รู้อยู่ว่าจิตกำลังมีสุข ไม่หลงเพลินเสพในสุขนั้น ไม่หลงเพลินยินดีในความสุขนั้น
รู้อยู่ว่าจิตมีความตั้งมั่นเป็นหนึ่ง ไม่หลงว่าตนเป็นผู้มีความตั้งมั่นเป็นหนึ่ง ไม่หลงเพลินในความตั้งมั่นเป็นหนึ่ง
รู้อยู่ว่าจิตนั้นมีความเป็นกลางต่อสรรพสิ่ง ไม่หลงว่าตนเป็นผู้มีความเป็นกลางต่อสรรพสิ่ง ไม่หลงเพลินในความเป็นกลางต่อสรรพสิ่ง

ผมคิดว่า หากเป็นไปในทำนองนี้แล้ว เชื่อว่า เป็นสัมมาสมาธิครับ และแน่นอนว่าประกอบไปด้วย สัมมาสติ และสัมมาทิฎฐิด้วย (ส่วน มรรค อีก 5 องค์ที่เหลือ ประกอบอยู่ด้วยแล้วครับ ตั้งแต่ก่อนจะมามีอีก 3 องค์ที่เหลือนี้)

ความเห็นของผมก็มีเท่านี้ครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 07:19:31

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:43:52
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:46:55
ที่จริงผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับสัมมาสมาธิเอาไว้หลายคราวแล้ว
ครั้งนี้จึงขอเขียนเพียงย่อๆ ว่า 
สมาธิที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ทำกันอยู่นั้น เป็นมิจฉาสมาธิ
คือเป็นความสงบ ตั้งมั่น ที่ยังประกอบด้วยราคะและโมหะ
ไม่ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ(ปัญญา)
ส่วนสัมมาสมาธิจะอยู่โดดๆ ไม่ได้
เพราะองค์มรรคทั้งหลาย ย่อมต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะขาดสัมมาทิฏฐิ(ปัญญา)และสัมมาสติไม่ได้เลย

การทำสัมมาสมาธิ จึงต้องทำไปเพื่อความรู้ตัว
ไม่ใช่เพื่อความสงบ หรือเพื่อคุณสมบัติพิเศษต่างๆ

แต่เมื่อรู้ตัวแล้ว จิตก็จะสงบระงับจากกิเลสตัณหา
และกิเลสตัวหนึ่งก็คือความฟุ้งซ่าน จะถูกรู้แล้วหมดกำลังไปเอง
แล้วจิตก็จะเข้าถึงความสงบในแบบของสมถะด้วยโดยอัตโนมัติ

สัมมาสมาธิจำแนกได้ 3 แบบคืออัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ และขณิกสมาธิ
อัปปนาสมาธินั้น พระศาสดาทรงสอนไว้ดังนี้ครับ

[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน 
            นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ 
            สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ 
            สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ 
             ...................................
            สัมมาสมาธิ เป็นไฉน 
            ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม 
            บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ 
              
            เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น 
            เพราะ วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร 
            มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ 
              
            เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย 
            เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า 
            ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
              
            เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข 
            เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ 
            มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ 
            อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

สำหรับอุปจารสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินั้น
หมายถึงสมาธิที่เฉียดๆ ฌาน ไม่ใช่ว่าจิตเฉียดๆ จะเกิดสมาธิ
เพราะอุปจารสมาธินั้น จิตเป็นสมาธิแล้ว แต่ยังไม่รวมแน่วลง
ส่วนใหญ่ของคนเมืองที่ทำสมาธิกันนั้น จะได้เพียงเท่านี้ครับ

ส่วนขณิกสมาธินั้น เป็นสมาธิที่สำคัญมากอันหนึ่ง
หมายถึงความตั้งมั่นของจิตเป็นขณะๆ ไปในขณะที่รู้อารมณ์
ผู้ที่ทำอัปปนาสมาธิได้แล้ว
ท่านสอนให้มีสติรู้อารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง 6
โดยในขณะนั้น อำนาจของอัปปนาสมาธิที่ทำมาแล้วยังเหลือเชื้ออยู่
สติระลึกรู้อารมณ์แล้วก็จริง แต่จิตยังคงตั้งมั่นอยู่ ไม่เลื่อนไถลไปตามอารมณ์
อันนี้แหละครับคือขณิกสมาธิ
นักปฏิบัติจำนวนมากไม่เข้าใจตรงจุดนี้
พอสติรู้อารมณ์แล้ว จิตก็ถลำกระโจนเข้าไปจับอารมณ์นั้น
เหมือนคนตกน้ำเพราะชะโงกดูสิ่งที่ลอยน้ำมา
หรือเหมือนคนที่ดูละครแล้วกระโดดขึ้นเวทีไปแสดงเอง
ในที่สุดก็กลายเป็นการเพ่งอารมณ์
สิ่งที่นึกว่าเป็นวิปัสสนา ก็กลายเป็นสมถะไปทันที

ทีนี้คนที่ทำอัปปนาสมาธิไม่ได้
ก็สามารถมีขณิกสมาธิได้ด้วยการสนับสนุนของปัญญา
โดยฝึกรู้เท่าทันจิตตนเอง เมื่อเผลอ หรือเพ่ง
จนเข้าใจสภาวะจิตที่มีสติรู้อารมณ์ โดยไม่เผลอ และไม่เพ่งได้
ในขณะนั้นแหละจิตมีขณิกสมาธิแล้ว

ขณิกสมาธิที่เกิดด้วยปัญญาดังกล่าวนี้ ในช่วงแรกจะมีกำลังไม่มาก
จิตทรงตัวตั้งมั่นได้วับเดียว ขณะต่อไปก็ไม่ตั้งมั่นเสียแล้ว
ต่อเมื่อฝึกมากเข้าๆ นั่นแหละ
ความรู้ตัวที่ทรงตัวตั้งมั่นอยู่ตามธรรมชาตินั้นก็จะเกิดบ่อยเข้า
จนรู้และตั้งมั่นได้บ่อยๆ เช่นเดียวกับผู้ที่ทำอัปปนาสมาธิมาก่อนแล้ว

จิตที่มีขณิกสมาธิและเจริญสติรู้ปัจจุบันธรรม
ไปทีละขณะๆ อันเป็นการเจริญปัญญานั้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะเกิดอัปปนาสมาธิขึ้นได้เอง
ดังนั้นการเจริญปัญญา จึงมีส่วนอบรมสมาธิขึ้นในตัวด้วย
แต่การทำสมาธิอย่างเดียว ถ้าไม่ออกเจริญปัญญา
ด้วยการรู้ความเกิดดับของปรมัตถธรรม ทางตา หู .. ใจ
ก็จะไม่เกิดปัญญาขึ้น

นึกไม่ออกแล้วครับ เอาเท่านี้ก่อนนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:46:55

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:56:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 10:06:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ณรงค์ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 13:23:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ จ้อม วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 15:39:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ พีทีคุง วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 15:50:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ tung วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 01:49:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ tuli วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 20:23:03
อารมณ์ รู้ ตื่น เบิกบาน มันก็มีตัวราคะปนอยู่
จะเป็นสัมมาสมาธิหรือเปล่าครับ
แล้ว ปิติ สุข ในสัมมาสมาธิ จัดว่าเป็น ราคะหรือเปล่า
โดยคุณ tuli วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 20:23:03

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 22:46:38
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ สุกิจ วัน ศุกร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 08:28:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 09:53:42
คุณหมอธุลีถามว่า
"อารมณ์ รู้ ตื่น เบิกบาน มันก็มีตัวราคะปนอยู่
จะเป็นสัมมาสมาธิหรือเปล่าครับ"

จะเป็นสัมมาสมาธิหรือเปล่า พักไว้ก่อนเถอะครับ ยังไม่สำคัญหรอกครับ
มาสนใจตรงนี้ดีกว่าครับ
คือว่าจิตผู้รู้จริงๆ เป็นแค่ผู้รู้ครับ อารมณ์หรือกิเลส ก็เป็นคนละส่วนกับจิตผู้รู้
แต่ที่คุณหมอเห็นว่า จิตผู้รู้ของคุณหมอยังมีราคะปนอยู่นั้น ดีแล้วครับที่เห็น
เพราะราคะมันแฝงตัวในจิตคุณหมอมานานแล้ว
ผมก็รอเวลาอยู่ว่า เมื่อใดคุณหมอจะรู้ทันตรงนี้ครับ
เมื่อรู้ทันแล้วค่อยรู้ต่อไปอีกครับ ในที่สุดก็จะพบจิตที่รู้ ตื่น และเบิกบานจริงๆ
จิตใจก็จะก้าวหน้าต่อไปอีกครับ เพราะรู้ทันกิเลสตัณหาได้ละเอียดยิ่งขึ้น

"แล้ว ปิติ สุข ในสัมมาสมาธิ จัดว่าเป็น ราคะหรือเปล่า"
สุขเป็นเวทนาครับ ปีติก็เป็นสังขารอันหนึ่ง แยกต่างหากจากราคะ
แต่เพราะมีสุขนั่นแหละครับ ราคะจึงแฝงตัวอยู่ในจิต
เพราะราคะมันเกิดตามสุขเวทนามา
เมื่อรู้ทันแล้ว ราคะดับไป ก็มารู้ปีติและสุขต่อไปด้วยจิตที่เป็นกลาง
ปีติก็จะดับไปเหลือแต่สุข รู้ไปอีกสุขก็ดับอีก
กลายเป็นจิตที่มี สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
การรู้อย่างนี้ เป็นการเอาองค์ฌานมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาครับ
เป็นวิธีปฏิบัติที่สุขสบายจนน่าอิจฉาเชียวครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 09:53:42

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 13:09:23
^-^ _/|\_
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 13:09:23

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 14:37:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 20:11:32
ขอบพระคุณในความเมตตาครับ  ถ้าไม่กระทุ้งผมบ้างแบบในกระทู้ที่แล้ว  ผมคงไม่ฉลาดขึ้น 
เมื่อก่อนตอนสงบหาอารมณ์ไม่เจอ  แต่ตอนนี้พบว่าทุกสิ่งนอกจากจิตผู้รู้ที่ยังไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของมันนี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมด
แม้แต่ความรู้ หรือ ธรรมะทั้งหมดก็ถูกรู้ด้วย
โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 20:11:32

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 09:20:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ สุกิจ วัน อังคาร ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 08:13:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 22:47:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com