Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] ความคิดกับการปฏิบัติธรรม โดย คุณสันตินันท์  (Read 3224 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ  24 ส.ค. 2542 / 15:58:14 น.

ผมได้ฟังผู้ปฏิบัติธรรมหลายท่าน
ปรารภกันถึงเรื่อง "ความคิดกับการปฏิบัติธรรม"
บ้างก็สนใจในจุดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความคิดเสียได้
เพราะความคิดเป็นสิ่งตรงข้ามกับ "รู้" เมื่อหมดความคิดจะได้เหลือแต่ "รู้"
บางท่านถึงกับตราหน้าความคิด ว่าเป็นตัววิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา
เมื่ออยากจะทำวิปัสสนา จึงต้องดับความคิดเสียให้ได้
อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติอีกกลุ่มหนึ่งกลับกลัวว่า
ปฏิบัติแล้ว จะเหลือแต่ "รู้" ไม่มีความคิด
แล้วจะทำให้กลายเป็นคนโง่เขลา หรือสมองฝ่อในภายหลัง


ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สิ่งที่ปรารภกันส่วนมากนั้น
เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับความคิด ที่สุดโต่งกันอยู่ 2 ด้าน
ระหว่าง "กลุ่มที่ปฏิเสธความคิด" คือไม่อยากให้มีความคิด
กับ "กลุ่มที่กลัวว่าจะหมดความคิด"

ผมขอไม่กล่าวถึงเรื่องที่ว่า  หมดความคิดไปชั่วขณะแล้วจะทำให้โง่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนเราแทบไม่เคยหยุดคิดเลย  แม้กระทั่งในเวลาหลับ
ยิ่งคนที่พยายามจะไม่คิดนั้น ก็มักจะยิ่งคิดมากขึ้น คือคิดที่จะไม่คิด
ประเด็นที่จะขอกล่าวในที่นี้ จึงตีกรอบไว้เพียงประเด็นเดียว
คือจะกล่าวถึงการปฏิเสธความคิดของนักปฏิบัติ

ที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ปฏิเสธความคิด
ก็เพราะเคยได้ยินคำสอนที่หลากหลายเกี่ยวกับการไม่คิด
เช่น ในอรรถกถาพระธรรมบท
เล่าถึงพระรูปหนึ่งที่ท่านปรารภว่า
"สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข"
ก็เลยคิดว่าสังขาร รวมทั้งสังขารขันธ์หรือความคิดนึกปรุงแต่ง
เป็นตัวทุกข์ ดับมันเสียได้แล้ว จึงจะพ้นทุกข์

หลวงพ่อเทียน แห่งวัดสนามใน ท่านสอนว่า "คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว"
ความคิด พอกระทบ "รู้" ก็ดับวับไป เหลือแต่ "รู้"


นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านกล่าวว่า คิดกับรู้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน
เมื่อ "รู้" ต่อเนื่อง จิตจะดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะที่การคิดนั้น มักจะเป็นเรื่องของอดีตและอนาคต ไม่เป็นปัจจุบัน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม สุรินทร์ ท่านสอนว่า
"คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด"

คำสอนในฝ่ายเซ็น มีเรื่องเกี่ยวกับมหาสุญญตา
อันเป็นเรื่องเหนือความคิดและคำพูด
เช่นเมื่อท่านวิมลเกียรติจะแสดงธรรมสูงสุด
ท่านแสดงด้วยการไม่กล่าวคำพูดใดๆ เลย
ทำให้พระโพธิสัตว์มัญชุศรี กล่าวสรรเสริญว่าท่านแสดงธรรมได้สุดยอดที่สุด
คือ ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด

อีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำว่า
"วิปัสสนึก" อันหมายถึงการใช้ความคิด ไม่ใช่วิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติบางท่านศึกษามากเกินไป จนเกิดสับสนขึ้นเอง
ในเรื่อง ความคิดกับการปฏิบัติธรรม

*****************************************************

ในเวลาที่มีท่านหนึ่งท่านใดถามผมว่า
"ทำอย่างไรจึงจะดับหรือหยุดความคิดได้"
ผมมักจะถามกลับว่า
"คิดจะหยุดความคิดแล้ว
คิดจะหยุดลมหายใจเข้าออกด้วยหรือเปล่า"
ที่ถามเช่นนี้ ไม่ได้ถามด้วยความยียวน
แต่ถามเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ
เพราะตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีลมหายใจอยู่
และตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีความคิดนึกปรุงแต่งอยู่

ความคิดเป็นสังขารขันธ์
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนว่า "ขันธ์" เป็นทุกข์
เพราะขันธ์ เป็นเพียงขันธ์ เป็นกลุ่ม เป็นกอง
เป็นธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่ประกอบกันเป็นชีวิต
ตัวมันเองไม่มีความทุกข์ความสุขใดๆ หรอก
แต่เมื่อใด จิตเข้าไปยึดมั่นในขันธ์
ขันธ์อันถูกยึดมั่น หรือ "อุปาทานขันธ์" ต่างหากที่คือทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรา "รู้ทุกข์" ท่านไม่ได้สอนให้เรา  "ละทุกข์"
สิ่งที่ท่านสอนให้ละคือสมุทัย หรือตัณหา หรือความทะยานอยากของจิต
แต่ผู้ปฏิบัติจำนวนมากกลับ "อยากจะละขันธ์" เพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์


การที่เห็นขันธ์อันเป็นธรรมชาติธรรมดาเป็น ทุกข์
คือความเห็นผิดในเบื้องต้น  เนื่องจากไม่ทราบว่า
ทุกข์คืออะไร และเกิดจากอะไร
ส่วนการปฏิเสธทุกข์ หรืออยากละทุกข์  คือความผิดพลาดในขั้นต่อมา

ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า เข้าใจสิ่งที่พระองค์สอน
ก็จะรู้ว่า เราไม่ต้องคิดไปดับความคิด
เหมือนที่เราไม่ควรคิดจะเลิกหายใจ


*************************************************

คราวนี้มาถึงปัญหาที่ว่า  เราจะจัดการกับความคิดอย่างไร

ผู้ปฏิบัติจำนวนมากแยกไม่ออกระหว่างความคิด กับความฟุ้งซ่าน
ความคิดนั้น อาจจะคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้
แต่ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมฝ่ายชั่ว มันเป็นความหย่อนสมรรถภาพของจิต
จิตถูกผลักดันให้โลดเร่าไปตามกระแสอารมณ์
หากเราจะปฏิบัติธรรม เราจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดกับความฟุ้งซ่าน
เพราะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้จิตมีคุณภาพพอที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
เครื่องมือที่จะใช้จัดการกับความฟุ้งซ่าน คือการทำสมถะ

สมถะ เป็นเครื่องมือจัดระเบียบจิตใจไม่ให้โลดเร่าเกินไป
คือแทนที่ผู้ปฏิบัติจะปล่อยให้จิตโลดเร่าไปเรื่อยๆ
ก็รวมจิตให้ลงมารู้อารมณ์อันเดียว
เมื่อจิตสามารถรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่องแล้ว
คราวนี้จิตก็พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา
คือรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง
ด้วยจิตที่เป็นกลาง พ้นจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
ก็จะเห็นธรรมทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ความคิดก็เป็นธรรมอันหนึ่ง
เป็นกระแสความปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่คงที่ มีแล้วก็ดับไป
ไม่มีใครเลยที่จะดับความคิดได้ เว้นแต่การตกภวังค์
การเข้านิโรธสมาบัติ และการเข้าอยู่ในภพของพรหมลูกฟัก
ตัวความคิดเอง ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
แต่การจัดการอย่างไม่ถูกต้องกับความคิดต่างหาก
ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

เมื่อจิตจะคิด ก็ควรปล่อยให้มันคิดไป
อย่าไปคิดที่จะดับความคิด เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเสียเปล่าๆ
แม้แต่มันจะคิดชั่ว คิดจนเกิดกิเลส ก็ไม่ต้องไปห้ามมัน
ให้ทำสติรู้เท่าทันปฏิกิริยาของจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกระแสความคิดนั้น

จิตมีอกุศล เช่นมีราคะ หรือมีโทสะ  ก็รู้
จิตมีกุศล เช่นไม่มีราคะ หรือไม่มีโทสะ ก็รู้

ถ้าจะเจริญวิปัสสนา ก็อย่าห้ามความคิด
ความคิดจะผันแปรอย่างไรก็ช่างมัน
ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นไม่หลงตามความคิด หรือเสียความเป็นกลางไปก็พอแล้ว
เพราะถ้าจิตซัดส่ายเลื่อนไหลไปตามความคิดและอารมณ์ที่มากระทบ
อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน
เป็นภาวะที่ไม่มีทั้งสมถะ และไม่มีทั้งวิปัสสนา


**************************************************

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า สิ่งที่ผมกล่าวมานี้
ขัดกับคำกล่าวของพระเถระทั้งในตำราฝ่ายเถรวาท
ตำราฝ่ายมหายาน และผู้ปฏิบัติร่วมสมัยของเราเช่นหลวงพ่อเทียน หรือไม่

ขอเรียนว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย
ที่พระเถระครั้งพุทธกาลท่านปรารภถึงความดับสนิทแห่งสังขารนั้น
เป็นภาวะที่เป็น ผล ของการปฏิบัติ
ซึ่งจิตของท่านเข้าถึงความดับสนิทแห่งขันธ์
ส่วนพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติอันเป็นการทำ เหตุ
จะนำธรรมที่เป็นเหตุ กับเป็นผล มาอธิบายปนกันไม่ได้

ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด ที่เซ็น กล่าวโดยไม่มีการกล่าว นั้น
ก็เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เป็น ผล แล้วเช่นกัน

ส่วนสิ่งที่หลวงพ่อเทียน หลวงปู่ดูลย์ และคุณหมอประเวศกล่าวนั้น
ท่านกล่าวเพื่อเตือนสตินักปฏิบัติ ให้รู้จัก "รู้"
โดยสามารถแยก "รู้" กับ "คิด" ออกจากกันได้

"รู้" คือสภาวะจิตที่มีสัมมาสมาธิ มีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา
ซึ่งเป็นจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

หรือจะกล่าวว่า จิตสามารถทำตนเป็นผู้สังเกตการณ์
โดยปราศจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ได้
ความรู้แท้ทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องเกิดจากการที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์
จนเข้าใจความจริงของสังขารธรรมทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์
และเข้าใจอริยสัจจ์ซึ่งประจักษ์อยู่กับจิตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติ จะคิดเอาง่ายๆ ว่า
จิตของตนเป็นกลาง และมีขณิกสมาธิแล้ว
เพราะสามารถขับรถได้ อ่านหนังสือได้ ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้
ทั้งที่ความจริงในขณะนั้น จิตกำลังหลงอยู่กับอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า
เพียงแต่ไม่รู้ว่า จิตกำลังหลงอยู่


ท่านที่ปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน จึงย้ำนักหนา ให้รู้จัก "รู้"
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะสั่งให้พวกเราต้องหัดเข้าฌานก่อน
เพราะทั้งหลวงพ่อเทียน หรือหลวงปู่ดูลย์
ไม่เคยสอนเรื่องการเข้าฌานเลย
(ทั้งที่หลวงปู่ดูลย์ เป็นพระที่ชำนาญในสมาบัติต่างๆ สูงมาก)
มีแต่สอน ให้เจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตจริงๆ ของเรานี่แหละ
แต่ภาวะที่จิตมีสติสัมปชัญญะจริงๆ หรือจิตรู้นั้น
ไม่เหมือนกันเลยกับจิตที่กำลังหลงไปตามความคิด


ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติบางท่านเดินจงกรมอยู่
จิตเคลื่อนออกไปเกาะอยู่ที่เท้าบ้าง
ไหลไปในความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวเท้าบ้าง

หรือบางท่านนั่งอยู่ พอเมื่อยอยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ
ก็คิดบรรยายอาการจิตตนเองว่า  "อยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วตั้งคำถามตนเองว่า "ทำไมจึงอยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วก็ตอบตนเองว่า "เพราะจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ"
พอคิดตามสูตรเสร็จแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ
เหล่านี้ เป็นการปฏิบัติที่ยังเจือด้วยความคิดทั้งสิ้น
เป็นการสร้างภาระให้จิตต้องคิด ต้องทำงาน
แทนที่จิตจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขึ้น

เรื่อง "รู้" เป็นเรื่องที่อธิบายด้วยตัวหนังสือยากที่สุด
แต่ถ้าสามารถ "รู้" ได้แล้ว การปฏิบัติจะเป็นเรื่องง่ายไปหมด
เพราะสามารถกระทำต่อเนื่องได้ตลอดเวลาที่ยังตื่นอยู่

หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้"
เพราะถ้าหลงอยู่ในโลกของความคิด
ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ท่านสอนอีกว่า "ต้องหยุดจึงจะรู้"
ตรงนี้ท่านไม่ได้สอนให้เรา "คิดที่จะหยุดคิด"
แต่เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้องไปถึงจุดๆ หนึ่ง ขันธ์จะดับลงชั่วขณะ
ตรงนั้นแหละเมื่อผ่านแล้วจิตจึงย้อนทวนพิจารณา
ก็จะเข้าใจธรรมทั้งฝ่ายที่เกิดดับ และฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ

ที่สำคัญ หลวงปู่ดูลย์ ยังสอนประโยคสุดท้ายที่เราชอบลืมกันว่า
"แต่ก็ต้องอาศัยคิด"
คือเราต้องปล่อยให้จิตคิดไป จิตรู้ไป
จิตก็จะเห็นปฏิกิริยาของจิต เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางบ้าง
เกิดความยินดียินร้ายขึ้นบ้าง
เห็นมากเข้า ก็จะเห็นความไม่มีสาระแก่นสารของธรรมที่เกิดดับเหล่านั้น
แล้วจิตก็จะปล่อยวางธรรมเหล่านั้น
เข้าถึงธรรมที่เหนือความคิดนึกปรุงแต่ง 

*************************************************************

สรุปแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่ควรรังเกียจความคิด คิดไปเถอะครับ
(แต่ไม่ใช่คิดจนฟุ้งซ่าน คือจิตวิ่งหลงตามความคิดไป)
และที่สำคัญก็คือ ต้องรู้จัก "รู้" ให้ดี
เพราะถ้าไม่มี "รู้" จิตจะหลงไปตามความคิดทันที
และไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลางได้เลย


(มีต่อ)

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)


ขอบคุณอาจารย์000000 นะครับ ที่ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม
และดีใจกับอาจารย์ด้วยครับ ที่ลูกสาวก็ปฏิบัติตามคุณพ่อ
นับเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ดีทีเดียว

ผมเที่ยวศึกษาการปฏิบัติของสำนักต่างๆ หลายสำนักมากครับ
พบว่าแนวทางของแต่ละสำนักจะเหลื่อมกันอยู่เสมอ
แม้แต่สำนักที่มีรากฐานอภิธรรมจากท่านอาจารย์แนบด้วยกัน
พอลงมือปฏิบัติจริงก็ยังเหลื่อมกัน

ผู้ปฏิบัติในทุกๆ สำนัก กระทั่งในสายพระป่าที่ผมเติบโตมา
ส่วนมากจะทำแค่สมถะกันแทบทั้งนั้น
กระท่ังผู้ที่บอกว่ากำลังเจริญวิปัสสนาจำแนกรูปนามอยู่
เอาเข้าจริง ก็เป็นการทำสมถะ แต่นึกว่ากำลังเจริญวิปัสสนา

ทั้งนี้เพราะไม่ได้ เตรียมความพร้อมของจิต ให้ดีเสียก่อนที่จะทำวิปัสสนา
สิ่งที่ทำจึงพลิกจากวิปัสสนาไปเป็นสมถะอยู่เสมอ

จิตที่พร้อมจะดำเนินวิปัสสนาได้นั้น
ต้องมีคุณสมบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ปรากฏในบทอุทเทสของมหาสติปัฏฐาน
คือท่านให้มี กายในกาย หรือเวทนาในเวทนา
หรือจิตในจิต หรือธรรมในธรรม เป็น วิหารธรรม
คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ ไม่ใช่เครื่องจองจำผูกมัดให้จิตสงบนิ่ง

ท่านให้มี อาตาปี คือความเพียรแผดเผากิเลส
มีความอดทนอดกลั้นที่จะปฏิบัติให้ต่อเนื่อง
และไม่ใช่ปฏิบัติเพราะกิเลสตัณหาจูงให้ปฏิบัติ
ด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้


ท่านให้มี สัมปชัญญะ หรือความรู้ตัว
ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นความรู้ตัวที่ไม่ถูกโมหะหรือความหลงครอบงำจิต
ที่เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ
ความรู้ตัวนี้แหละครับ ที่มียากที่สุด
ส่วนมากจิตของผู้ปฏิบัติจะมีโมหะแทรกอยู่เสมอ
ไม่รู้ตัว ทั้งที่คิดว่ากำลังรู้ตัว
ฝัน ทั้งที่กำลังตื่น

[size=12pt]
ท่ามให้มี สติ คือความระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ท่านให้ นำความยินดียินร้ายในโลกออกเสีย
คือรู้อารมณ์ทั้งปวงด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ

สรุปแล้ว จิตที่พร้อมจะเจริญวิปัสสนานั้น
ต้องเป็นจิตที่รู้จัก รู้อารมณ์ อย่างเป็น "เครื่องอยู่ของจิต"
คือไม่เพ่งจ้องอารมณ์เพื่อ บังคับให้จิตนิ่ง หรือให้อารมณ์ดับไป หรือให้รู้ชัดกว่าปกติธรรมดา
ไม่เผลอหลุดไปในความฟุ้งซ่าน ไม่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า
จิตต้อง "ไม่ถูกกิเลสครอบงำ"
มี "ความรู้ตัว" ไม่หลง ไม่เผลอ
มี "สติ" ว่องไวรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วย "ความเป็นกลาง" ปราศจากความยินดียินร้าย


จิตที่จะมีคุณภาพเช่นนี้ได้นั้น คือจิตที่มี สัมมาสมาธิ เป็นกำลังสนับสนุน
ตรงจุดนี้อาจารย์กับผมมีความเห็นเหลื่อมกันบ้างนิดหน่อยครับ
ตรงที่อาจารย์ห่วงว่าพวกเราเน้นการฝึกสมาธิมากเกินไป
น่าจะใช้ขณิกสมาธิระลึกรู้รูปนามไปเลย
ในขณะที่ผมเห็นว่า จิตที่ไม่มีกำลังเพียงเท่านั้น
มักจะหลงตามอารมณ์ มากกว่าจะสักแต่ว่ารู้อารมณ์
ทั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแสดงสัมมาสมาธิด้วยฌาน 4
ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ก็ระบุชัดว่าจิตวิสุทธิ์คืออุปจาระและอัปปนาสมาธิ

แสดงว่าสมาธิที่แนบแน่นกว่าขณิกสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ ท่านจึงแสดงไว้เช่นนั้น

เมื่อจิตมีกำลังตั้งมั่น สักว่ารู้อารมณ์ได้แล้ว
คราวนี้ไม่ว่าอารมณ์อันใดปรากฏกับจิต
จิตจึงสักว่ารู้ว่าเห็นได้จริงๆ และเห็นชัดว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ 5
โดยที่ไม่ต้องมีความคิดแทรกปนเข้าไปเลย
แต่เป็นการประจักษ์ชัดต่อหน้าต่อตานั่นเอง

สำหรับผมเองเดี๋ยวนี้ก็ไม่นิยมการเข้าฌานหรอกครับ อย่างมากก็เข้าพักเพียงสั้นๆ
เพราะสามารถใช้ปัญญาสนับสนุนสมาธิได้
คือสามารถแยกอารมณ์อันเป็นข้าศึกของสมาธิออกได้
จิตก็เป็นสมาธิคือตั้งมั่น รู้ อยู่เป็นอัตโนมัติ
เรียกว่าใช้ ปัญญาอบรมสมาธิ
ส่วนมากจึงเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตธรรมดาเหมือนกับที่อาจารย์กล่าวนั่นเอง

แต่ผมก็เห็นชัดเจนว่า ผู้ปฏิบัติส่วนมาก จิตไม่มีความรู้ตัวจริง
ยังหลงอยู่ทั้งที่คิดว่ารู้ตัว ยังฝันอยู่ทั้งที่ลืมตา

เวลาน้องๆ หลานๆ มาขอคำปรึกษา ก็จะแนะให้เขารู้จัก รู้ตัว เท่านั้นเอง
บางคนก็แนะให้ทำสมาธิก่อน แต่ส่วนมากจะแนะวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิโดยใช้กำลังปัญญา
เพราะคนเมืองนั้นถ้าไม่มีอุปนิสัยมาก่อน ยากจะเริ่มด้วยแนวทางเจโตวิมุติได้
ทั้งนี้ เพื่อเขาจะสามารถไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้
ซึ่งก็จะสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของอาจารย์นั่นเองครับ

(มีต่อ)

[/size]
« Last Edit: Sun 21 Nov 10, 20:13:37 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)
ปัญญาที่อบรมสมาธิ เป็นอุบายวิธีที่ช่วยย่นเวลาทำสมาธิได้อย่างดี
วิธีใช้ปัญญาอบรมสมาธินั้น
ถ้าใครสามารถแยกจิตกับอารมณ์ออกจากกันได้ชำนาญแล้ว
จะรู้สึกว่าทำสมาธิได้ง่ายมาก คือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย
เพียงแต่ระลึกรู้นิวรณ์ธรรมที่กำลังปรากฏกับจิต
แล้วเห็นว่านิวรณ์ไม่ใช่จิต จิตเป็นกลาง นิวรณ์ก็จะดับจากจิต
จิตเข้าถึงรู้ ที่เป็นกลาง และสงบเพราะพ้นจากความรบกวนของนิวรณ์ต่างๆ
ถ้าย้อนออกมารู้ภายนอก ก็เป็นการใช้งานของขณิกสมาธิ
ถ้าจะรู้ธรรมละเอียดภายใน ก็ดำเนินไปในอุปจารสมาธิ
หากจะเข้าอัปปนาสมาธิต่อ ก็ทำสติระลึกรู้ลมหายใจต่อไปเลย
หรือถ้าจะเข้าอรูปฌาน ก็ทำสติระลึกรู้ความว่างของจิตต่อไปเลย
เมื่อจิตเคล้าเคลียกับลมหายใจ หรือความว่าง โดยไม่มีการควบคุมแล้ว
จิตก็จะเข้าถึงอัปปนาสมาธิเอง
เป็นภาวะที่เหลือแต่รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้เพียงอันเดียว
จิตจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
แต่ทำอะไรไม่ค่อยได้ครับ ดูจะเป็นที่พักเอากำลังเสียมากกว่า


มีอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ความคิดพิจารณาธรรมเอาตรงๆ นี่แหละครับ
เช่นพิจารณาร่างกาย ให้เห็นเป็นธาตุ เป็นอสุภะ หรือพิจารณาความตาย
เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าจิตเกิดสลด หรือจิตเห็นจริงในระดับหนึ่ง(ไม่ถึงขั้นเห็นแจ้ง)
จิตจะวางการพิจารณา แล้วรวมสงบเข้ามาเป็นสมาธิเป็นคราวๆ ไป
แต่สมาธิด้วยวิธีนี้มักจะไปได้เพียงอุปจารสมาธิ

และใช้เวลามากกว่าวิธีแรกที่แยกอารมณ์อันเป็นศัตรูของสมาธิออกไปเลย

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline ภูหนาว

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 36
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • นักรู้
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
 _/|\_ ขอบคุณครับที่นำมาให้อ่าน
คนเรามักมีความคิดในทางสุดโต่งเป็นเรื่องปกติ
เพราะเราถนัดในการใช้วิธีนี้ทำความเข้าในโลก
แม่แต่พวกเต๋ายังรู้เลยครับว่าทุกอย่างมีคู่เทียบ
แต่พวกเขายังสาวไปไม่ถึงต้นตอเท่านั้นเอง
มีแต่ศาสนาพุทธเท่านั้นที่รู้ถึงขั้น
เหนือ รู้ เหนือ หลง เหนือคู่เทียบทั้งปวง

อยากเพิ่มเติมเรื่องนี้นิดหนึ่งให้เพื่อน ๆ ได้นำมาเตือนใจครับ
คือ "รู้" ยังไงก็เป็นแค่เรือลำหนึ่งเท่านั้น
เราไม่ได้ภาวนาเอาเรือครับ แต่แค่ใช้ข้ามฝั่ง
บางคนติด"รู้"ครับ
อันนี้อ่านแล้วก็นึกขึ้นมาได้เลยนำมาขึ้นมาคุยกัน
คงไม่คิดว่าสอนจระเข้ว่ายน้ำนะครับ  ;D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช