Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] การพิจารณากาย โดย คุณสันตินันท์  (Read 5919 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 08:23:42

1 พุทโธ เพื่อสิ่งใด

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และศิษย์ส่วนมากของท่าน
ปฏิบัติธรรมด้วยการพิจารณากาย
(มีเพียงส่วนน้อย เช่นหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ปฏิบัติตัดตรงเข้าสู่จิต)
แต่ก่อนจะพิจารณากาย ท่านให้ทำจิตให้สงบเสียก่อน
ด้วยการบริกรรมพุทโธเป็นหลัก
แต่ศิษย์ของท่านบางองค์ กำหนดลมหายใจควบเข้าไปด้วย
มีบางองค์เท่านั้น ที่ใช้กรรมฐานพิเศษออกไปตามจริตนิสัย
เช่นหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเจริญเมตตาเพราะมีปกติเจ้าโทสะ

การบริกรรมพุทโธ ไม่ได้บริกรรมปาวๆ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง
แต่ท่านให้บริกรรมเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่อื่นไกล แต่อยู่ในจิตใจของเรานี่เอง
การบริกรรมพุทโธ จึงเป็นเครื่องน้อมจิตให้สงบ
แล้วเข้ามาทำความรู้จักกับ จิตผู้รู้พุทโธ


ครูบาอาจารย์บางองค์เช่นหลวงปู่บุญจันทร์ ถาวโร
เคยแนะนำให้บริกรรมว่า "พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ"
คือให้บริกรรมจนพบผู้บริกรรมว่าพุทโธ
ซึ่งจะพบไม่ยากเลย หากตระหนักชัดว่า
คำว่าพุทโธ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตนั้นแหละ เป็นผู้คิดคำว่า พุทโธ
และเมื่อมีจิตผู้รู้แล้ว คราวนี้จึงพร้อมที่จะพิจารณากาย

***********************************

2 กายคตาสติ เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

เมื่อพูดถึงการพิจารณากาย หรือกายคตาสติ
ตำราชั้นหลังจะถือว่าเป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้น
ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงชัดว่า
กายคตาสตินำผู้ปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ทั้งยังมีพยานบุคคล ที่บรรลุพระอรหันต์ด้วยการเจริญกายคตาสติ
ได้แก่ท่านพระมหากัสสปเถระ และท่านพระอานนทเถระ เป็นต้น

อันที่จริงการพิจารณากายจะทำให้เป็นสมถะก็ได้ ทำให้เป็นวิปัสสนาก็ได้
หากพิจารณาด้วยการคิดเอา ว่ากายแต่ละส่วนนี้มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนี้ๆ
มีสี มีกลิ่น มีความสกปรก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ๆ
หรือบางท่านเมื่อพิจารณาแล้ว ก็เกิดนิมิต เห็นตนเองเป็นศพเน่าสลายไป
การคิดพิจารณาอย่างนี้ยังเป็นสมถกรรมฐาน เพราะยังอาศัยความคิด อาศัยนิมิต
ไม่มีตัวจริงของจริงเป็นหลักฐานรองรับการพิจารณา

แต่การคิดก็เป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน
สำหรับแก้ความเกียจคร้านในการเจริญปัญญา
เนื่องจากบางท่านบริกรรมพุทโธแล้ว เข้าไปติดความสงบอยู่
ยังไม่สามารถแยกเอาจิตผู้รู้พุทโธออกมาได้
ครูบาอาจารย์ก็จะออกอุบายไม่ให้จิตสงบอยู่เฉยๆ แต่ให้หัดพิจารณาไว้
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการคิดพิจารณากายก็คือ
เป็นเครื่องข่มราคะโดยตรง เหมาะกับพระหนุ่มๆ จะได้ไม่สึกตามสาวไปเสียก่อน

บางท่านเห็นว่าการพิจารณากายจะเป็นสมถะ
ถ้าคิดว่ากายส่วนนี้คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
แต่ถ้าคิดว่า นี้เป็นเพียงรูป ไม่ใช่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
มีความแค่นแข็งเป็นธาตุดิน มีความไหวเป็นธาตุลม
มีความเกาะเกี่ยวคงรูปร่างอยู่ด้วยธาตุน้ำ และมีความอบอุ่นด้วยธาตุไฟ
การคิดพิจารณาอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่วิปัสสนาอยู่นั่นเองถ้าจิตไม่พร้อมจริง
เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อเรียกหา จาก ผม เป็น รูป เท่านั้น
แล้วก็ยังเป็นการคิด ไม่ใช่การรู้

ส่วนการพิจารณากายที่เป็นวิปัสสนานั้น จะทำได้เมื่อรู้จักจิตผู้รู้แล้ว
เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติมีจิตผู้รู้ ก็จะมีองค์ธรรมสำคัญ 3 ประการสำหรับเจริญวิปัสสนา
คือสัมมาสมาธิ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ
หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ สติ และสัมปชัญญะ นั่นเอง

***********************************

3 หลักของวิปัสสนา

การที่จิตตั้งมั่นทรงตัวเป็นหนึ่ง หรือเป็นธรรมเอก
โดยไม่ต้องบังคับ (ไม่เพ่ง)
และไม่กวัดแกว่งส่งส่ายออกไปตามสิ่งเร้า(ไม่เผลอ)
ไม่ถูกนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมหะครอบงำ
สภาพความตั้งมั่นเช่นนี้แหละคือสัมมาสมาธิ
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจริญวิปัสสนา

เพราะในสภาพนั้น หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏขึ้นให้จิตรู้
จิตจะรู้ได้อย่างว่องไว และชัดเจนที่สุด
เพราะมันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเพิ่มขึ้นจากภาวะของจิตปกติ
ที่ทรงตัวตั้งมั่น และรู้อยู่
เมื่อสติรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว จิตที่ตั้งมั่นไม่หลงไม่เผลอนั้น
ก็จะทำงานวิจัยสภาวธรรมที่กำลังปรากฏนั้น
(เรียกว่าธรรมวิจัย หรือปัญญา หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ)
คือรู้ว่า สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นมีบทบาทอย่างใด แล้วสิ่งนั้นก็ดับไป

ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมซ้ำๆ หน้ากันบ่อยๆ
จิตจะเริ่มสาวถึงเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด
และเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นดับไปได้เอง

ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ทำความรู้ตัวอยู่นั้น
จู่ๆ ก็พบว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมา
(ซึ่งพอดูอาการมันแล้วสามารถเรียกชื่อในภายหลังได้ว่าราคะ)
ก็จะเห็นสภาวะของราคะที่เกิดขึ้นนั้น เห็นอาการที่มันล่อลวงให้จิตหลง
เห็นอาการที่จิตหลงบ้าง ไม่หลงบ้าง แล้วแต่ความฉลาดของจิต
และเห็นว่า ในที่สุดมันก็ดับไป

พอเห็นมันเกิดดับหลายคราวเข้า ต่อมาก็จะเกิดความเข้าใจราคะมากขึ้น
รู้ว่าถ้าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึกไปในสิ่งที่พอใจ
จะทำให้ราคะเกิดขึ้นได้ง่าย เป็นต้น

สัมมาสมาธิ หรือการมีจิตผู้รู้ หรือการมีธรรมเอก หรือเอโกทิภาวะ
เหมือนกับการเก็บกวาดโต๊ะทำงานจนเกลี้ยงเกลา
มันเกื้อกูลให้สติสัมปชัญญะทำงานได้อย่างเต็มที่
คือพอมีอะไรตกแว้บลงบนโต๊ะ
แม้แต่ชิ้นเล็กๆ ก็รู้ทันทีด้วยอำนาจของสัมมาสติ
แล้วสัมปชัญญะหรือปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ
ก็จะวิจัยเองว่า สิ่งนี้คืออะไร มาได้อย่างไร
มาแล้วมีผลอย่างไรกับโต๊ะ(จิต)
แต่ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่จิตดำเนินไปเองนะครับ
เราเพียงแต่ทำความรู้ตัวไว้ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง

อนึ่ง คำว่า รู้ ก็คือรู้จริงๆ ไม่ใช่คิดๆ เอา
โดยไม่มีพยานของจริงมารองรับการคิดนั้น

เช่นจะรู้กาย ก็ต้องรู้ที่กายจริงๆ เช่นเท้ากระทบพื้นจริงๆ
ไม่ใช่ไปสร้างภาพนิมิตว่าเราเดินจงกรมเอา


หรือจะรู้เวทนา ก็ต้องรู้เวทนาจริงๆ ที่กำลังปรากฏกับกายหรือจิตในขณะนั้น
เช่นถ้าจิตกำลังเป็นทุกข์ ก็รู้ความทุกข์นั้นไป
ไม่ต้องไปนั่งคิดว่า ความสุขเป็นอย่างไรหนอ

หรือจะดูจิต ก็ต้องรู้สภาวธรรมที่ปรากฏในจิตจริงๆ
เช่นรู้ความโกรธที่กำลังพุ่งขึ้นมา
ไม่ใช่หายโกรธไป 8 ปีแล้ว กลับมานั่งนึกว่า ความโกรธเป็นอย่างไร

หรือจะพิจารณาธรรม ก็ให้เห็นการเกิดขึ้นของนิวรณ์ หรือตัณหา หรือโพชฌงค์ ฯลฯ
คือรู้ถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ
ไม่ใช่ไปนั่งนึกเอาว่า ตัณหาเป็นแรงผลักดันอย่างไรหนอ

เหมือนที่ผมแนะนำหมู่เพื่อนที่มาถามธรรมกับผมว่า
ให้รู้ ความสงสัย ที่กำลังมีอยู่ในจิตในตอนนี้
หรือให้รู้ ความอยากถาม ที่กำลังปรากฏในจิตขณะนี้
เราจะทำวิปัสสนา ต้องทำตอนที่มีของจริงปรากฏให้เห็นครับ
มิฉะนั้น จิตจะไม่เห็นของจริง แล้วไม่ยอมรับความจริง
จะไปคิดหลอกจิตเอาตามใจชอบไม่ได้
เพราะผู้ปฏิบัติเองนั่นแหละ จะถูกกิเลสหลอกเอา


และเมื่อจิตรู้สภาวธรรมอย่างเป็นปัจจุบันไปเรื่อยๆ
จิตก็จะเกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ภายนอกเข้ามาเป็นลำดับ
จนเข้ามาหยุดอยู่ที่จิตเอง
ตรงจุดนี้ จิตมีความตั้งมั่นอย่างสมบูรณ์
เพราะสิ่งเร้าภายนอกไม่อาจหลอกล่อให้จิตกวัดแกว่งออกไปได้
สติ ก็กำหนดรู้อยู่ที่จิต ซึ่งสงบ ว่าง
สัมปชัญญะ ก็พิจารณา(ด้วยการรู้) อยู่ที่จิต
กล่าวง่ายๆ ก็คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ประชุมลงที่จิต
หากมีกำลังพอ จิตก็อาจจะปฏิวัติตนเองไปสู่มรรคผลต่อไป


***********************************

(มีต่อ)
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)

4 การพิจารณากายอย่างเป็นวิปัสสนา

ว่าจะพูดเรื่องการพิจารณากายอย่างเป็นวิปัสสนา แต่กลับนอกเรื่องไปไกล
ขอกลับเข้าเรื่องเลยก็แล้วกันครับ
คือเมื่อเรามีความรู้ตัว มีสติสัมปัญญะอยู่นั้น
เพียงแค่ขยับกาย สติก็จะรู้การไหวของกาย
(ไม่ต้องแขวนป้ายว่าไหวด้วยธาตุลมนะครับ
แล้วไม่ต้องพากย์แบบพากย์มวยด้วย ว่าไหวๆ หรือไหวหนอ
แต่ถ้าจิตจะพากย์เอง ก็เป็นเรื่องของจิตเขา)

พอก้าวเท้าเดิน ก็จะรู้ชัด รู้อย่างสบายๆ ถึงการเดิน
พอเท้ากระทบพื้น จะรู้ถึงความเย็นร้อนอ่อนแข็งของพื้น
หรือรู้ที่ความหยุ่นของเท้าเมื่อแรกกระทบพื้น
พอลงน้ำหนักต่อไป ส่วนแข็งในเท้าก็จะกระทบพื้น
แล้วหยุดอยู่เพียงนั้น ไม่ยุบตัวต่อไป
จิตก็เพียงแต่สักว่ารู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้  (ไม่ต้องแขวนป้ายว่า กายเป็นสักแต่ว่าธาตุดิน)
และประจักษ์ชัดขึ้นมาเองถึงการที่กายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เป็นของภายนอก
เป็นเพียงคูหาให้จิตอาศัย
กายนี้เองมีความเปลี่ยนแปรตลอดเวลา มันตายไปทีละขณะๆ
จิตใจก็ค่อยๆ ถอดถอนความยึดถือว่ากายเป็นของเราออกทีละน้อยๆ

ขอย้ำว่าทั้งหมดนี้ เราปฏิบัติด้วยการทำความรู้ตัวไว้เท่านั้น
รู้ตัวไม่เผลอ ไม่เพ่ง แล้วเคลื่อนไหวกายไปตามธรรมชาติธรรมดา
สติปัญญา หรือสติสัมปชัญญะ ก็จะทำงานเองเป็นอัตโนมัติ
ค่อยๆ ถอดถอนความเห็นผิดออกจากจิตใจเองทีละน้อ


หรืออย่างเราทำกายคตาสติ ด้วยการรู้ลมหายใจ
ก็จะเห็นร่างกายไหวไป ยุบพองไปเรื่อยๆ จิตเป็นคนรู้ เป็นคนดูเท่านั้น
ถ้ารู้โดยไม่เผลอ และไม่เพ่ง
ไม่ต้องกลัวจะไม่มีปัญญาหรอกครับ
เพราะปัญญามันเกิดได้ด้วยการที่เฝ้ารู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านี้เอง

การพิจารณากายยังมีอีกหลายรูปแบบ ตามกายคตาสติสูตร
จะทำแบบไหนก็ได้ทั้งสิ้น ขอเพียงให้ รู้ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง เท่านั้นแหละครับ
แม้กรรมฐานอื่นๆ เช่นการรู้เวทนา การรู้จิต การรู้ธรรม
ก็อยู่ในหลักอันเดียวกัน คือให้รู้ปัจจุบันอารมณ์ โดยไม่เผลอ ไม่เพ่ง


***********************************

5. ของฝากจากครูบาอาจารย์

กระทู้นี้ขออัญเชิญคำสอนของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย มาให้อ่านกัน
ท่านเคยสอนไว้ชัดเจนว่า
สมถะ เกิดเมื่อหมดความตั้งใจ
วิปัสสนา เกิดเมื่อหมดความคิด
คือให้จิตรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เท่านี้เองครับ

***********************************

ข้อสังเกต

1 บางท่านไม่สนใจสัมมาสมาธิ เพราะเห็นว่าองค์ธรรมของสมาธิคือ เอกัคคตา
ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วกับจิตทุกดวง (เป็นหนึ่งใน 7 ของสัพพจิตสาธารณเจตสิก)
ความจริงเอกัคคตาตามธรรมชาติ ยังมีคุณภาพต่ำ มีกระทั่งในสัตว์ในอบายภูมิ
เป็นคนละเรื่อง คนละคุณภาพกับเอกัคคตาในองค์ฌานของสัมมาสมาธิ
หากเป็นสิ่งเดียวกันหรือมีคุณภาพเสมอกัน
พระศาสดาย่อมไม่ต้องทรงสอนถึงสัมมาสมาธิแต่อย่างใด

2 ตำราชั้นหลังถือว่าสติเป็นเจตสิกฝ่ายกุศลเท่านั้น
คือเป็นความระลึกที่ดี เช่นระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
และไม่ยอมรับว่าพระศาสนาทรงสอนถึงมิจฉาสติเอาไว้ด้วย
ผู้ศึกษาบางคนเชื่อตำราชั้นหลัง
ถึงขนาดกล่าวว่า ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่ามิจฉาสติ
*****************************************

(มีต่อ)

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)

ถาม  : การนั่งเคาะนิ้วเป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติหรือเปล่าครับ   ผมมองเห็นเจตนาที่จะเคาะนิ้ว

ตอบ : เมื่อคุณหมอเคาะนิ้ว แล้วเห็นเจตนาที่จะเคาะนิ้ว
ก็นับว่าการเคาะนิ้วของคุณหมอประสบความสำเร็จแล้ว
เพราะเราเคาะ ไม่ใช่เพื่อเคาะ แต่เพื่อจะกระตุ้นตนเองให้ไม่เผลอ และรู้ทันจิต
เคาะไปเรื่อยๆ หากกุศลหรืออกุศลใดเกิดขึ้นกับจิต ก็รู้ต่อไปครับ
แต่ถ้าเคาะแล้วเผลอ อันนั้นแสดงว่าผิดวัตถุประสงค์แล้วครับ

การเคาะนิ้ว ไม่ใช่การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติเหมือนการหายใจเข้าออกตามธรรมดา
แต่เป็นการจงใจสร้างขึ้น เหมือนการ"กำหนด"ลมหายใจ เหมือนการเดินจงกรม
เหมือนการบริกรรมพุทโธ และการทำสมถะอื่นๆ นั่นเอง
เราทำไปเพื่อเพิ่มพลังของสติ
จะได้มีสติว่องไวละเอียดอ่อนเพื่อใช้งานวิปัสสนาต่อไปครับ
การที่คุณหมอเห็นนามธรรมคือเจตนาเกิดแล้วดับไปนั่นแหละครับ คือการเจริญปัญญา
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช