Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] อุบายสู้กาม โดย คุณสันตินันท์  (Read 7261 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เป็นคนละกระทู้กับ กระทู้อุบายสลายกาม

เขียนไว้เมื่อ วัน อาทิตย์ ที่ 1 ตุลาคม 2543 07:02:57

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีเมล์ถามปัญหาเกี่ยวกับกามราคะ
โดยผู้ถามอยากจะถามในกระทู้ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาแต่ไม่กล้าถาม ได้อ่านด้วย
ผมจึงรับอาสามาตั้งกระทู้ตอบให้เสียเอง เพราะผู้ถามเป็นผู้หญิง
แต่ที่การเขียนกระทู้ล่าช้าออกมาเพราะผมไปต่างจังหวัดเสียหลายวัน

ประเด็นของเธอก็คือ เธอสังเกตเห็นว่า
เมื่อมีโทสะแล้ว มักจะพบกามราคะตามมาเสมอ
โทสะนั้นเธอคิดว่าพอสู้ได้ แต่กามราคะ ยังเป็นสิ่งที่เธอพ่ายแพ้
จึงอยากทราบวิธีการในการต่อสู้กับกามราคะ

ความจริงแล้ว กามราคะและโทสะนั้น
เหมือนคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน
เช่นในเวลาที่เกิดความต้องการทางเพศ แต่ไม่รู้ว่ามีกามราคะแล้ว
และกดข่มไว้ โดยไม่รู้ทันว่าได้กดข่มไว้
จิตก็จะพลิกไปเป็นโทสจิต เหมือนเด็กโยเยเพราะไม่ได้ของเล่นที่ชอบใจ
ครั้นโทสจิตผ่านไปแล้ว กามราคะก็แสดงตัวชัดขึ้นมาอีกสลับกันไป

หรือแม้ว่า กามราคะได้รับการตอบสนองแล้วก็ตาม
จะพบว่าจิตมีโทสะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หลังจากที่เสพย์กามไปแล้ว
เพราะการเสพย์กามนั้น ทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหวได้มาก
ยิ่งไปยุ่งกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน ยิ่งหวั่นไหวมาก
ท่านจึงสอนให้สันโดษในคู่ของตน
เพราะแม้จิตจะเศร้าหมองบ้างก็ไม่มากนัก ไม่เหมือนกับไปยุ่งกับคนอื่นๆ
ดังนั้น ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้ ก็อย่าประพฤติผิดในกาม
เพราะกิเลสทั้งราคะและโทสะจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติที่มองกามราคะซึ่งเกิดขึ้นแต่แรกไม่ออก แล้วกดข่มไว้
จึงคิดว่า ตนเองเกิดโทสะขึ้นมาก่อน แต่สู้โทสะได้
แล้วจึงเกิดราคะตามมาทีหลัง
ความจริงแล้ว โทสะก็อาศัยกามราคะที่ไม่ได้รับการตอบสนองเกิดขึ้นนั่นเอง
ถ้าปราศจากกามราคะ โทสะก็พลอยไม่เกิดไปด้วย

***********************************

ก่อนจะต่อสู้กับกามราคะ ควรทราบเสียก่อนว่า
กามราคะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ที่จิตพึงพอใจในกาม
ได้แก่ความพึงพอใจ ติดตรึงใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย
เป็นคำที่กว้างกว่าความต้องการทางเพศ

แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของสตรีเป็นที่พึงใจของบุรุษ
และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษเป็นที่พึงใจของสตรี
ดังนั้น เรื่องของเพศตรงข้ามจึงจัดเป็นกามราคะที่ร้ายแรงมาก
มากกว่ารูปวาดสวยๆ เสียงเพลงเพราะๆ ดอกไม้หอมๆ อาหารรสอร่อยฯลฯ

กามราคะ เกิดขึ้นเพราะจิตไม่รู้เท่าทันความไม่มีสาระของกาย
จิตจึงเพลิดเพลินพึงใจที่จะหาความสุขทางกาย
ด้วยการมองหารูปสวย/หล่อ เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสที่พอใจ ฯลฯ
หากเมื่อใดจิตเห็นจริงว่า กายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นอสุภะ
กิเลสกามก็จะอ่อนกำลังลงทันที


อุบายภาวนาในการสู้กับกาม ก็มีเป็นขั้นๆ ไป
อย่างอ่อนๆ ก็เช่นการหลีกเลี่ยงผัสสะ
เช่นครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านแบกกลดหนีสาวที่ท่านไปหลงรักเข้า
เพราะถ้าสู้ไม่ไหว ก็ต้องหนีเอาไว้ก่อน

อุบายที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ได้แก่การพิจารณาเพศตรงข้าม
เช่นการพิจารณาคนที่เราพอใจลงเป็นอสุภะ หรือไตรลักษณ์
ถ้าจิตเห็นจริงแล้ว จะลดความผูกพันกันทางกามลงได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เคยเล่าให้ผมฟังว่า
มีพระรูปหนึ่งบริกรรมพุทโธได้ไม่นาน จิตกลับไปบริกรรมชื่อแฟน
หลวงพ่อจึงให้บริกรรมชื่อแฟนต่อไป จนเกิดนิมิตรูปแฟนขึ้นมา
พระท่านก็ดูรูปแล้วบริกรรมต่อไป รูปก็เริ่มเหี่ยวโทรมลง หมดสวยหมดงาม
จิตของท่านก็ถอดถอนจากความผูกพันในกามกับแฟน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สมัยเป็นฆราวาส
ท่านแก้ความรักสาวโดยการไปพิจารณาอุจจาระของสาว
สมัยนั้นพิจารณาได้ เพราะชาวบ้านถ่ายกันตามทุ่งนา
เดี๋ยวนี้จะเอาแบบวิธีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะสาวเขาปกปิดร่องรอยมิดชิด

อุบายถัดมา เป็นการทรมานตนเอง
เช่นพระบางรูปไปหลงรักผู้หญิง ท่านยอมอดข้าวจนกว่าจะตัดรักได้
วันแรกยังตัดไม่ได้ พอหลายวันเข้าก็ตัดได้
เพราะจิตกลัวว่ากายจะตายจึงเลิกรักสาว
เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง

อุบายถัดมา เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาตนเอง
ซึ่งพระส่วนมากท่านพิจารณาร่างกายของท่านลงเป็นอสุภะบ้าง
พิจารณาความตายบ้าง พิจารณาความเป็นทุกข์ของกายบ้าง
วิธีนี้เป็นวิธีที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะเป็นการพิจารณาตนเอง
ไม่ใช่วิธีพิจารณาเพศตรงข้าม หรือหนีเพศตรงข้าม

อุบายทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ต่อเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า
จนจิตเกิดปัญญาวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว
นั่นแหละจึงจะเอาชนะกามได้อย่างเด็ดขาดพร้อมทั้งปฏิฆะด้วย


ที่ผมเคยใช้แล้วได้ผล ในการเอาต่อสู้กับกามโดยไม่ได้เจตนาก็คือ
การเดินจงกรมแล้วเอาสติระลึกรู้ลงในกาย
เห็นกายเดินไปตามสภาพของกาย จิตเป็นคนดูอยู่
ถึงจุดหนึ่งจิตเกิดปัญญาขึ้นว่า กายนี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย
แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร
ความทุกข์มันเกิดจากจิตเข้าไปยึดกาย แล้วอยากอย่างนั้นอย่างนี้
ไม่ยอมรับความจริงว่า กายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
จิตจึงเป็นทุกข์เพราะความอยากของจิตเอง
เมื่อจิตเดินปัญญามาถึงจุดนี้
จิตก็เห็นกายเป็นของธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง
พอจิตไม่ยึดกายแล้ว กามก็หาที่ตั้งไม่ได้เอง
ไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อละกามโดยตรงแต่อย่างใด


***********************************

ปกติกามราคะและปฏิฆะจะขาดไปพร้อมๆ กัน
เพราะเหตุที่ว่า กามและปฏิฆะมันเกิดจากรากเหง้าอันเดียวกัน
คือเกิดจากความโง่ของจิตที่เข้าไปยึดกาย และมันรักความสุขทางกาย
มัน(จิต)อยากให้ตาเห็นแต่รูปที่ดี ไม่อยากให้ตาเห็นรูปที่ไม่ดี
มันอยากให้หูได้ยินเสียงที่ดี ไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
มันอยากให้จมูกได้กลิ่นหอม ไม่อยากได้กลิ่นเหม็น
มันอยากให้ลิ้นรู้รสอร่อย ไม่อยากรู้รสที่ไม่อร่อย
มันอยากให้กายสัมผัสความเห็นร้อนอ่อนแข็งที่พอเหมาะ
ไม่อยากสัมผัสสิ่งที่รุนแรงเกินไป
เมื่อมันได้สิ่งที่ชอบใจ มันก็เกิดกามราคะ คือรักใคร่ผูกพันในอารมณ์ที่ดี
เมื่อมันได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ มันก็เกิดปฏิฆะ คือความขัดใจ

ความยึดในกายนี้แหละ เป็นที่ตั้งของกามราคะและปฏิฆะ
เหมือนที่ความยึดในจิต เป็นที่ตั้งของสังโยชน์เบื้องสูง
คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา


***********************************

อันที่จริง เมื่อเรายังละกามไม่ได้
ก็ควรควบคุมให้มันอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ คืออย่าทำผิดศีล 5
แล้วเจริญสติสัมปชัญญะเรียนรู้คุณและโทษของมันไป
ความทุกข์ทรมานเพราะกามก็จะค่อยลดน้อยลงเป็นลำดับ


กามนั้นไม่ใช่จะเป็นโทษอย่างเดียว คุณของมันก็มีเรียกว่ากามคุณ
ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากมันเสียบ้าง ก็จะดีไม่น้อย
แม้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้คนทำทานและถือศีล เพื่อไปเสวยกามสุขในสวรรค์
ถัดจากนั้นจึงสอนให้เห็นโทษของกามเป็นลำดับต่อไป
ท่านไม่หักหาญ ห้ามเรื่องกามกับคนที่ยังไม่พร้อม
แต่ใช้กามเป็นเหยื่อล่อจิตที่อินทรีย์ยังอ่อนให้ยอมรับธรรม
แล้วค่อยแนะนำทางเจริญปัญญาในภายหลัง

เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด เอากิเลสมาแก้กิเลส เอาหนามบ่งหนาม
คือผมรู้จักพระชาวออสเตรเลียรูปหนึ่ง ท่านเครียดและหงุดหงิดใจอยู่เสมอ
เนื่องจากต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยมากมาย
ครูบาอาจารย์จึงออกอุบายอนุญาตให้ท่านเลี้ยงไก่สวยงามนานาชนิด
(เลี้ยงแบบไก่ป่า คือทำที่อยู่ให้ตามต้นไม้ ไม่ได้กักขัง
ไก่มีความสุขกันมากทีเดียว)
เนื่องจากท่านชอบไก่มาก (คลับคล้ายว่าจะเป็นดอกเตอร์เกี่ยวกับไก่ด้วย)
พอเห็นไก่แล้ว ท่านจะอารมณ์ดี หายหงุดหงิดได้

ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก คือท่านแก้ปฏิฆะ ด้วยกามราคะ
เนื่องจากปฏิฆะที่ต่อเนื่องรุนแรงนั้น แทบจะทำให้พระรูปนี้ทิ้งวัดไป
จึงต้องล่อด้วยของที่ชอบใจคือไก่ที่สวยงาม
เมื่อพระท่านดูแลไก่นานเข้า ไม่ไปสนใจกับผู้อื่น
จิตใจของท่านก็ผ่อนคลาย เกิดความนุ่มนวล อ่อนโยน
แล้วจิตใจก็เปลี่ยนจากกาม ไปเป็นความเมตตาต่อไก่อันเป็นกุศลจิต
และทำให้ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป

ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากกามราคะเสียบ้าง ก็เข้าทีเหมือนกัน
แต่วิธีนี้ ไม่แนะนำให้พระหนุ่มเณรน้อยนำไปใช้โดยพลการนะครับ

***************************************

การทำงานศิลปะ การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง
การเล่นพระเครื่อง การเล่นแสตมป์ การยิงธนู ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ยังเป็นราคะ หรือโลภมูลจิตอยู่ครับ เพราะทำไปด้วยความชอบใจ
แต่โทษของมันเบาบางกว่าโทสะ
เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า โทสะมีโทษมาก แต่แก้ง่าย
ราคะมีโทษน้อย แต่แก้ยาก
ส่วนโมหะมีโทษมาก และแก้ยาก

บางคราว การใช้กิเลสก็เป็นอุบายสู้กิเลส
โดยเปลี่ยนจากกิเลสที่มีโทษมาก ให้เป็นกิเลสที่มีโทษน้อยลง
(แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของครูบาอาจารย์)
เช่นแทนที่จะหมกมุ่นกับความน้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ คับแค้นใจ กลุ้มใจ
อันเป็นโทสะซึ่งมีโทษมาก ก็หันมาทำงานอดิเรกที่ชอบใจ
จิตใจก็จะสงบลง หายเร่าร้อนแล้ว กลับมาปฏิบัติธรรมก็ทำได้ง่ายขึ้น

หรือบางคราวโมหะครอบจิตจนมืดตื้อแกะไม่ออก
ยิ่งนั่งดู ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซ้ำโทสะก็จะเริ่มเข้าผสมโรง คือหงุดหงิดใจขึ้นมา
โมหะมีโทษมาก โทสะก็มีโทษมาก
ผมจึงเคยแนะพวกเราบางคนว่า ให้หยุดการปฏิบัติไว้ก่อนชั่วคราว
ไปเปลี่ยนอารมณ์เดินดูสิ่งที่สวยๆ งามๆ ให้สบายใจ
แล้วถ้าจิตเกิดราคะ ก็ให้รู้ราคะไป
อันนี้ก็เป็นอุบายเอาตัวรอดจากกิเลสที่มีโทษมาก ไปเป็นกิเลสที่โทษน้อย
แล้วค่อยพลิกกลับมาเป็นกุศลจิตทีหลัง

อันตรายมันอยู่ตรงที่ พลิกกลับไปเป็นกุศลจิตไม่ได้ นี่แหละครับ
เรื่องอย่างนี้ จึงควรอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ไว้

สำหรับเอี้ยง ปลูกต้นไม้ไปเถอะครับ
จิตใจที่สบายๆ ร่วมกับการที่เราทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นนิจ
เกิดพลาดพลั้งเป็นอะไรไป
ถึงชาตินี้อาจจะไม่รู้ธรรม แต่สุคติก็เป็นที่หวังได้ครับ

(มีต่อ)
« Last Edit: Sun 19 Dec 10, 23:32:29 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)

การตั้งฐานของสติ หรือการทำสติปัฏฐานนั่นเอง
ผมเองใช้เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะหลายอย่างเหมือนกัน
เช่นการรู้ความไหวของกาย ซึ่งฝึกเอาจากการเดินจงกรมแล้วรู้การกระทบ
เวลาเผลอตัวขาดสติ ถ้าขยับกายนิดหนึ่ง ก็จะมีความรู้ตัวขึ้นมาทันที
เวลานั่งอยู่คนเดียว ก็เคาะนิ้วมือไปเรื่อยๆ
แต่เคาะแล้วรู้ตัวนะครับ ไม่ใช่นิ้วเคาะ แต่จิตหนีไปเที่ยว

การที่เรามีฐานที่ตั้งของสติยืนพื้นไว้มีประโยชน์มาก
เพราะถ้าจิตคลาดไปจากฐานนิดเดียวก็จะรู้ทันเร็ว
สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าให้ฐานนั้นกลายเป็นเครื่องจองจำจิตนะครับ
คือไม่ได้ทำเพื่อให้จิตหลงจ่อลงที่จุดนั้น จะกลายเป็นสมถะไปทันที
แต่ทำเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ที่สบายของจิต
แล้วเวลากิเลสตัณหาผ่านมา จิตจะรู้ทันได้ไวมากขึ้น

****************************************

การที่เดินรู้เท้าที่กระทบพื้นนั้น
ถ้าเห็นว่าจิตมันเบาลง ทุกข์มันน้อยลงไป แล้วรู้เท่าทัน
ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว
เพราะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต


แต่ถ้าจิตจดจ่อจมลงในเท้า อันนั้นเป็นสมถะเฉยๆ นะครับ
ให้พยายามรู้เท่าทันจิตใจตนเองไปด้วยจะดีกว่า
เพราะการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ทำได้ในชีวิตประจำวันครับ
ไม่ใช่ว่าในชีวิตประจำวันจะเจริญสติได้อย่างเดียวหรอกครับ

**************************************

เรื่องศีลเป็นข้อๆ นี่น่าปวดหัวครับ
เพราะจะต้องมีการตีความกันอยู่เสมอว่า
ทำอย่างนี้ แค่นี้ จะผิดหรือไม่ผิด
สู้มีศีลอีกแบบหนึ่งไม่ได้ครับ
คือจะทำอะไรก็ทำไปเถิด
แต่ทำแล้วเป็นเหตุให้กุศลเจริญขึ้น อกุศลเสื่อมไป
ทั้งจะต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย

ศีลข้อเดียวชนิดนี้ เป็นศีลสบายสำหรับนักปฏิบัติครับ
และศีลข้ออื่นๆ ก็งอกออกไปจากหลักอันนี้เอง

***********************************
ครูบาอาจารย์ระดับหลวงปู่เทสก์ เวลาญาติโยมเข้าไปกราบท่านคราวละเป็นร้อยเป็นพัน
ท่านยังเคยขยับนิ้วไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องอยู่เลยครับ ทั้งที่สติสัมปชัญญะของท่านบริบูรณ์แล้ว
เราจึงควรมีเครื่องอยู่ เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะประจำตัวไว้บ้าง
จะช่วยให้จิตใจไม่ห่างไกลธรรม คลุกคลีอยู่กับธรรม และเจริญในธรรมโดยง่าย

************************************

ขอเพิ่มเติมเรื่องการถือศีลสักหน่อยครับ
คือความรู้สึก หรือทัศนะต่อศีลของชาวบ้านกับผู้ปฏิบัติจะต่างกัน

ชาวบ้านเขาถือว่าศีลคือข้อห้าม ถ้าฝ่าฝืนจะบาป
นักปฏิบัติเห็นว่าศีลเป็นเครื่องสบายกายสบายใจ ทำแล้วจิตสงบสบาย

ชาวบ้านจะถือศีล ก็ต้องสมาทานเป็นข้อๆ
นักปฏิบัติตั้งใจละอกุศล เจริญกุศลในจิต แล้วเกิดศีลขึ้นมาเอง

ชาวบ้านเห็นว่าศีลทำให้กายและวาจาเรียบร้อย
นักปฏิบัติเห็นว่า ใจที่เป็นปกติเรียบร้อย ไม่หลงตามกิเลสคือศีล
เมื่อใจเรียบร้อยแล้ว กายวาจาก็เรียบร้อยไปด้วยโดยไม่ต้องควบคุม

ศีลของชาวบ้านจะขาดหรือไม่ ต้องอาศัยการตีความ
เช่นจะปาราชิกเพราะเสพเมถุนนั้น อวัยวะต้องล่วงเข้าไปชั่วเมล็ดงาขึ้นไป ฯลฯ
ศีลที่ต้องตีความเป็นศีลโลกๆ เหมือนรัฐธรรมนูญที่ต้องตีความกันเรื่อยๆ
ส่วนศีลเหนือโลกไม่ต้องตีความ
เพราะผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะ ย่อมไม่นำตนเข้าสู่ภาวะล่อแหลมต่อการเสียศีล

ความแตกต่างกันนี้เอง ทำให้ชาวบ้านเขาถือศีลได้อย่างกระพร่องกระแพร่ง
ส่วนผู้ปฏิบัติที่แท้จริงจะมีศีลโดยไม่ต้องสมาทานและรักษา
เพราะสติสัมปชัญญะที่รักษาจิตตนเองนั้นแหละ
คือเครื่องทำศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ไปในตัว


(จบ)

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline อรุณเบิกฟ้า

  • Clips
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 106
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
เป็นอุบายสู้กามที่มีประโยชน์จริงๆ อนุโมทนาด้วยครับ  _/|\_  _/|\_  _/|\_
ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ ยิ่งแสวงหายิ่งไม่เจอ

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
จะมีประโยชน์จริงๆก็ต่อเมื่อ นำไปใช้ครับ ท่านอรุณฯ (ยินดีที่ได้ยินว่ามีความพยายามที่จะไม่ยอมให้กามเข้าครอบงำจนมากเกินไป) _/|\_ อนุโมทนาครับ
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
ปกติแล้วกามราคะ โดยเฉพาะเรื่องสาวนี่ผมก็มีปัญหาครับ
คือเวลาเห็นแล้วมักเกิด ความรัก-ความชอบตามมา(ก็กามราคะแหละครับ ;D)
แล้วก็มักพยายามหักห้ามความชอบของตัวเองตลอดเลยครับ ตอนนี้แหละที่อาการกดจะรุนแรงมาก
มีครั้งหนึ่งที่อ่านหนังสือ ไม่แน่ใจว่าพระไตรปิฎกหรือเปล่า ท่านว่าเหตุใกล้ของกามราคะคือ ศุภนิมิต
หรือการหมายเอาว่า ของที่ไม่สวยไม่งาน เป็นของสวย ของงาม
ผมก็เลยเอามาสังเกตุครับว่า เรากำลังถูกหลอกว่า แบบนี้ก็หมายว่าสวย แบบนี้เรียกว่างาม
แบบนี้เรียกไม่สวย ไม่งาม ดังนั้นหากบางทีพอผมเห็นผู้หญิงที่หน้าตาดี หรือพวกผู้หญิงที่เป็นชาวต่างชาติ
ความคิดเรื่อง "ศุภนิมิต" ก็จะดังขึ้นมา แล้วจะมีสติ เห็นเป็นกาย เป็นวัตถุ ที่เราไปหมายว่าสวย ว่างามไปเองครับ
ปัญหาคือ บางทีเจอแบบที่สวยติดใจมาก ๆ สติเกิดแล้ว ดับไป เสร็จแล้วก็ยังคงเห็นว่าสวยอยู่
อันนี้ก็ต้องใช้ไม้ตายครับ คือ 1.ปิดตา 2.หันหน้าหนี 3.พาตัวออกจากสถานการณ์เสี่ยงทันทีที่ทำได้ครับ  :P
แหมก็บางคนเขาก็สวยจริง ๆ ครับ สติน้อย ๆ ของผมสู้ไม่ไหวจริง ๆ ครับ ต้องหนีเอาตัวรอดก่อนใจจะหมองไปกว่านี้

อ่านข้างบนแล้วมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกสกิดใจครับ
เรื่อง การใช้ราคะและโทสะคานกัน
กล่าวคือ ราคะมีโทษน้อย แต่โทสะมีโทษมาก
ดังนั้นท่านสันตินันท์จึงแนะนำเรื่องครูบาอาจารย์ใช้ราคะแก้โทสะ
ในทางกลับกัน ผู้เขียน E-mail ไปถามท่านสันตินันท์
เกิดราคะ และใช้โทสะในการระงับราคะ คือการกด ข่มไว้ และไม่อยากให้ราคะเกิด
เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของผู้ปฏิบัติธรรมครับ เพราะผมเองก็เป็น คือราคะเกิดก็ไม่ชอบ และตามไม่ทันโทสะเลยครับ
แต่ปัญหาคือ ราคะกับโทสะเป็นเหมือนไม้กระดานหก ที่ดีดไปดีดมา คงต้องหาจุดพอดีที่ไม่ทำให้เดือดร้อนครับ
ท่านสันตินันท์จึงพูดถึงเรื่องศีลในตอนท้ายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติตั้งมั่นเรื่องศีลไว้ก่อน เพราะยังไงก็ห้ามราคะ กับโทสะไม่ได้
และเพราะเราคงไม่สามารถกำจัดราคะ กับโทสะให้หมดไปได้(ไม่ใช่ภูมิของเรา) ดังนั้นจะอยู่กับมันอย่างไม่เป็นปฏิปักษ์กันได้อย่างไร
ส่วนตัวผมคิดว่า ให้โทสะน้อย ๆ แล้วมีราคะ บ่อยกว่า น่าจะเป็นส่วนผสมที่ดีกว่าคงโทสะไว้ แล้วพยายามกำจัดราคะไปนะครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อน ๆ ท่านใดมีประสบการณ์ในการสู้กับกามราคะก็ลองนำมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
เผื่อผมจะได้มีไอเีดียเอามาปรับใช้บ้าง  :D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช