Author Topic: เพิ่งหัดภาวนา จะฝึกอย่างไรดีครับ?  (Read 2207 times)

Offline ม๊า

  • Newbie
  • *
  • Posts: 6
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
ขอคำแนะนำจากลุงถนอมด้วยครับ  :D

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
ครับ ขอบคุณที่ไว้วางใจให้ตอบคำถามนี้นะครับ

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่แปลก ตรงที่ เป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาแห่งศรัทธา ดังนั้น การเริ่มต้นการศึกษาในศาสนาพุทธก็เริ่มต้นด้วย "สัมมาทิฎฐิ" คือ ความเห็นถูกต้อง และที่สุดแล้ว ก็จบลง (จบกิจในศาสนาพุทธ) ด้วย "สัมมาทิฎฐิ" เช่นกัน

บางท่านอาจแย้งว่า อัฏฐังคิกมรรค (อัฏฐะ แปลว่า ๘ อัฏฐังคิกมรรค หากผมเข้าใจไม่ผิด ก็มาจากคำว่า อัฏฐะคำหนึ่ง องค์คำหนึ่ง และมรรคคำหนึ่ง ซึ่งจริงอาจไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้นะครับ แต่เนื่องจากแปลว่า มรรคมีองค์ ๘ ก็ขอเชื่ออย่างนี้ไปก่อน เอาไว้ให้ผู้รู้ทางภาษามาให้ความรู้เพิ่มเติมในภายหลังก็แล้วกันนะครับ) มีตั้ง ๘ อย่าง แต่ผมก็ขอยกเอาไว้ว่า แม้ว่ามรรคจะมีองค์ประกอบ ๘ ประการ แต่องค์มรรคองค์แรกนั้นเป็น สัมมาทิฎฐิ หรือความเห็นตรง ซึ่งพระพุทธองค์ท่านยกไว้ให้เป็นมรรคองค์แรกที่กล่าวถึง

ดังนั้น เมื่อจะหัดภาวนา เมื่อจะเริ่มฝึก ก็ต้องเริ่มที่ "สัมมาทิฎฐิ" ก่อนนะครับ

สัมมาทิฎฐิ คือตัวปัญญา ซึ่งในสัมมาทิฎฐินั้นมีหลายๆอย่างนะครับ แต่เมื่อจะเริ่มต้นและต้องเริ่มต้นด้วยปัญญา ก็เริ่มกันที่ปัญญาตัวแรก หรือปัญญาเบื้องต้นก่อนเลย ปัญญาเบื้องต้นตัวแรกสุดก็คือ "สัมปชัญญะ" ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "ความรู้สึกตัว"

ความรู้สึกตัว เป็นตัวเริ่มต้นของปัญญาเลยนะครับ ดังนั้น หากจะไปถามอาจารย์สุรวัฒน์ว่า จะเริ่มฝึก จะเริ่มภาวนา จะเริ่มด้วยอะไร (หรือแม้แต่จะถามว่า จะเริ่มดูจิต จะเริ่มด้วยอะไร) อาจารย์สุรวัฒน์ท่านจะตอบว่า "ต้องรู้สึกตัวขึ้นมาก่อน" ดังเช่นที่เว็บวิมุตติมีสโลแกนว่า "ดูจิต ด้วยความรู้สึกตัว" ครับ

ทีนี้ เมื่อจะฝึกให้มี "ความรู้สึกตัว" ขึ้นมา จะทำอย่างไร ครูสันตินันท์เคยบอกเอาไว้ว่า "สัมปชัญญะ" ไม่เคยเกิดขึ้นมาได้เองโดดๆ แต่จะต้องอาศัย "ความมีสติ" ขึ้นมาก่อน จึงจะมี "สัมปชัญญะ" หรือความรู้สึกตัวขึ้นมาได้ ซึ่งครั้งแรกที่ได้ยินครูสันตินันท์ท่านสอนอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่เคยเป็นข้อข้องใจมาก่อนในอดีต ว่าทำไมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกให้ "สติและสัมปชัญญะ" เป็น "ธรรมที่มีอุปการะมาก" ไม่เคยเห็นท่านยกย่องธรรมอื่นใดให้ยิ่งเท่านี้หรือกว่านี้มาก่อนเลย พอได้ยินครูสันตินันท์กล่าวคำนี้แล้ว เข้าใจถึงความสำคัญของ "สติ และ สัมปชัญญะ" นับตั้งแต่นั้นมาครับ

นอกจากนี้ ครูสันติันันท์ยังเคยสอนเอาไว้อีกว่า สติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ จะเป็นสติที่ใช้เจริญวิปัสสนาได้ หากสติที่ไม่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ จะเป็นสติที่ใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้ (และมาทราบในภายหลังว่า สติที่ไม่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ใช้เจริญสมถะได้)

ในพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงคำว่า สติ เพียงคำเดียว จะมีความเฉพาะถึง "สติและสัมปชัญญะ" นี้ ก็คือ หากจะเรียกว่า "สัมมาสติ" ก็พูดได้โดยอนุโลม แต่สัมมาสติแท้ๆจะเกิดในอริยมรรคเท่านั้น จึงมักไม่เรียกสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ว่า สัมมาสติ แต่มักจะเรียกว่า สติเฉยๆเสียมากกว่าครับ คล้ายกับว่า คนในยุคนั้นเขาเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ยุคนี้ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ท่านใช้คำเรียกอีกคำหนึ่งว่า "สติตัวจริง" เพื่อแยกออกจากมิจฉาสติ ซึ่งเรียกว่า "สติตัวปลอม" คือ สติที่หลอกใ้ห้หลงเข้าใจว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ (เช่น รู้อารมณ์ชัดเจนมากๆ คมกริบ จนนึกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นวิปัสสนูปกิเลส หรือกิเลสละเอียดที่หลอกว่าเป็นวิปัสสนา)

ทีนี้ เราจะฝึกฝนอย่างไรให้เกิดสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ คำตอบก็ง่ายๆ ก็คือ การฝึกเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั่นแหละ เบื้องต้นก็เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดสติและสัมปชัญญะ หรือเป็นการฝึกเพื่อให้เกิดสติและความรู้สึกตัว

คำว่าสติแปลว่า "ระลึกรู้" นะครับ ตรงนี้มีเขียนไว้ในตำรานักธรรมตรี หรือพระนวกะด้วยซ้ำไปครับ สติคือความระลึกได้ เป็นความหมายหนึ่ง และสติคือ "รู้" อีกคำหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อใด ที่มีสติ คือ ระลึกได้ หรือ "รู้" ที่ประกอบด้วย สัมปชัญญะ หรือ ความรู้สึกตัว ก็จะมีเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเจริญวิปัสสนาต่อไป ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกเจริญสติ(ที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ) หรือ ฝึกการเจริญสติปัฏฐาน ๔

การฝึกเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเขียนเอาไว้อย่างกว้างขวางใน "มหาสติปัฏฐานสูตร" ครับ ซึ่งก็แยกได้เป็น 4 หมวด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วแต่ว่าใครจะมีจริตอย่างไร ก็ฝึกในสิ่งที่ตนถนัด

ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วจะเลือกอะไร ก็ต้องลองสังเกตตัวเองครับว่า อะไรเกิดบ่อยและเห็นได้ง่าย ก็เอาอย่างนั้น หากเป็นคนชอบคิดทั้งวัน ชอบให้ความเห็น ชอบการวิเคราะห์ ทำได้ทั้งวัน (และบางทีก็แทบไมไ่ด้ขยับร่างกายเลยด้วยซ้ำ) อย่างนี้ก็ต้องฝึก จิตตานุปัสสนา อาศัยการสังเกตเห็นจิตทำงานไป เป็นเครื่องมือสำหรับการหัดเจริญสติปัฏฐานครับ โดยส่วนใหญ่แล้ว หากใครมีพฤติกรรมชอบเล่นอินเตอร์เน็ต ชอบเข้าเว็บบอร์ด ชอบให้ความเห็นแล้ว ก็ต้องหัดจิตตานุปัสสนานี่แหละครับเป็นพื้นฐาน

ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วจะเจริญอย่างไร ก็แค่สังเกตง่ายๆครับว่า กำลังอ่านข้อความอยู่ (เนื้อหาในข้อความเป็นอย่างไร เราย่อมรู้อยู่แ้ล้ว แต่เรามักไม่รู้ว่ากำลังอ่านอยู่) หรือ อ่านแล้วคิดจินตนาการไปแล้ว ก็แค่สังเกตเห็นว่ามีการจินตนาการไปแล้ว เช่น เห็นภาพในความคิดอยู่ หรือจะแค่สังเกตเห็นว่า (ในขณะที่คิด)ก็ไม่ได้รู้ว่ามีกายมีใจอยู่ ก็ได้

เมื่อเริ่มต้นก็หัดสังเกตเท่านี้ไปก่อนครับ หรือบางท่านก็อาจสังเกตเห็นว่า จิตคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่จะบอกว่า เมื่อเริ่มต้น ก็อย่าไปเริ่มหลากหลายวิธี อะไรที่สังเกตเห็นได้ง่ายและเห็นบ่อย ก็เอาอันนั้น แล้วก็ใจเย็นๆ สังเกตเห็นเท่าที่เห็นได้ เห็นได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แม้จะหลงจะลืมตัวไปนานๆเป็นชั่วโมงๆ ก็อย่าไปเสียใจ อย่าไปพยายามแก้ไขอดีต เพราะเรื่องในอดีตนั้นจบไปหมดแล้ว เราตามไปแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้อีกแล้ว เริ่มต้นใหม่ ตั้งใจไว้เพียงนิดเีดียว ว่าเราจะสังเกตตัวเอง แบบสังเกตตัวเอง ได้แค่ไหน ก็แค่นั้น แต่จะทำเรื่อยๆ เท่าที่มีโอกาสทำได้ และทำตามกำลังเท่าที่มี อย่ากลัวที่จะทำได้ไม่ดี เพราะตราบใดที่เรายังคงทำเรื่อยๆ สม่ำเสมอ เท่าที่ทำได้ ตามโอกาสเท่าที่มี จะเกิดการพัฒนาขึ้นมาเองครับ

ถามคำถามสั้นๆ เลยต้องตอบยาวๆ เพราะไม่ทราบว่าจะถามประเด็นไหนบ้าง หากว่าคำตอบที่ให้กว้างเกินไป ก็ลองถามเพิ่มเติมดูนะครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline ม๊า

  • Newbie
  • *
  • Posts: 6
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
ขอบคุณมากครับลุงถนอม จะลองฝึกดูนะครับ  _/|\_

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
ไม่เข้าใจ หรือทำไปแล้วติดตรงไหน ก็พูดคุยกันได้เสมอครับ

ด้วยความยินดี และอนุโมทนากับความตั้งใจด้วยครับ _/|\_
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา