Author Topic: สติตัวจริง  (Read 2993 times)

Offline ม๊า

  • Newbie
  • *
  • Posts: 6
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
สติตัวจริง
« on: Tue 12 Oct 10, 14:49:10 »
ขออนุญาติสอบถามลุงถนอมเพิ่มเติมนะครับ

- จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น "สติตัวจริง" มีหลักการสังเกตุอย่างไร?

- ทำอย่างไรจึงจะเกิด "สติตัวจริง" ได้บ่อยๆ?

ขอบคุณล่วงหน้านะครับ
_/|\_

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
Re: สติตัวจริง
« Reply #1 on: Thu 14 Oct 10, 07:15:07 »
สติตัวจริง เป็นคำที่หลวงพ่อปราโมทย์ใช้ ท่านเรียกให้แตกต่างจากมิจฉาสติ โดยท่านหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "สัมมาสติ" ซึ่งจะเป็นสติที่เกิดเมื่อเกิดอริยมรรค

ท่านใช้คำว่า "สติตัวจริง" ก็เพราะ หากสติชนิดนี้เกิดบ่อยๆ โอกาสที่จะเกิดสัมมาสติในอริยมรรคก็มีมากขึ้นๆ จนถึงที่สุดเมื่อโอกาสเต็ม 100% อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น (ไม่ใช่เฉพาะสัมมาสติ) เท่านั้น

สติตัวจริง หมายถึง สติที่มีความรู้สึกตัว คือ สติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

โดยปกติแล้ว ผู้คนที่เรียนหนังสือมาจนจบสูงๆได้ มักจะมี สติ และ สมาธิ เป็นพื้นที่พอตัวอยู่บ้างแล้ว ดังนั้น เวลาที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนผู้มาใหม่ๆ หรือแม้แต่อาจารย์สุรวัฒน์สอนใครที่มาหัดใหม่ๆ (หรือแม้แต่ที่หัดมานานบางท่านก็ตาม) ก็จะสอนลงไปที่ให้หัดรู้สึกตัว

ในขณะที่หัดรู้สึกตัว จะไม่เกิดสติตัวจริงขึ้น เพราะการฝึกหัดนั้น จะยังมีความจงใจเจืออยู่ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเราต้องฝึกให้จิตมีนิสัยที่จะรู้อย่างรู้สึกตัวขึ้นมาครับ

หากฝึกฝนรู้สึกตัว ทั้งการภาวนาตามรูปแบบที่เข้าใจหลักการ และการเจริญสติในชีวิตประจำวันได้จริง เราจะรู้สึกตัวขึ้นมาได้เอง ซึ่ีงเรามักจะพบว่า ความรู้สึกตัวนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ได้ทำอะไร แต่แท้จริงแล้วมีเหตุ

เหตุของการเกิดความรู้สึกตัวได้ ก็คือ จิตเกิดสติในขณะที่ไปรู้สภาวะหรืออารมณ์ที่ตนเองจดจำได้อย่างแม่นยำ

การจดจำได้อย่างแม่นยำนั้นเกิดจาก การที่เราฝึกตามรูปแบบ และฝึกการเจริญสติในชีวิตประจำวันนั่นแหละครับ โดยใช้อารมณ์ หรือสภาวะ ที่เกิดบ่อย แล้วสังเกตได้ง่าย เป็นเครื่องมือ

การที่เราเลือกอารมณ์ หรือสภาวะ (ของกาย ของใจ ของเรา) เป็นเครื่องมือสังเกตในการเจริญสติ ทั้งการฝึกในรูปแบบ และการฝึกในชีวิตประจำวัน ก็คือ วิหารธรรม นั่นเอง

ถ้าว่าตามตำราพระอภิธรรม ถิรสัญญา คือ ความที่จิตจดจำลักษณะของสภาวะได้แม่นยำ (ไม่ใช่คิด แต่เป็นการเห็นสภาวะแท้ๆ หรือที่เรียกว่า เห็นปรมัตถ์) เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ ความจริงหากเขียนในที่นี้ก็คือ เกิดสติตัวจริง

แต่ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า คนทั่วไปนั้น สติเกิดเรื่อยๆอยู่แล้ว แต่เป็นสติที่ไม่ีสามารถนำมาใช้เจริญวิปัสสนาได้ ต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว หรือสติที่ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ ซึ่งสติชนิดนี้เกิดขึ้นได้จากการที่เรามีวิหารธรรม หรือมีการฝึกฝนตามรูปแบบ ฝึกฝนในชีวิตประวันตามที่อธิบายข้างบนน่ะครับ

ลักษณะที่สติตัวจริงเกิดขึ้น สังเกตได้ 2 ประการ นะครับ ก็คือ

1. (ดูเหมือนว่า)เกิดขึ้นเอง (ความจริงก็คือ ไม่ได้จงใจให้เกิด)
2. จิตมีความปลอดโปร่ง โล่งเบา นุ่มนวล ว่องไว ควรค่าแก่การงาน

ข้อที่ 1 อาจสังเกตได้ง่ายกว่าข้อที่ 2 (และความจริงแล้ว ข้อ 2 เป็นลักษณะของจิตที่ปราศจากโมหะ ทำให้คล่องแคล่ว ว่องไว แต่นุ่มนวล และโปร่ง โล่ง เบา สัมปชัญญะเป็นศัตรูโดยตรงของโมหะ หากจำไม่ผิด สัมปชัญญะมีอีกชื่อว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ-ความไม่หลง) แต่ขอเรียนไว้นะครับว่า ข้อที่ 1 เป็นเครื่องมือที่สังเกตง่ายกว่า้ข้อ 2 และข้อ 2 เองนั้นจะดูยาก สำหรับบางท่านด้วยครับ เพราะบางท่านไม่เคยรู้จักจิตชนิดนี้มาก่อน และบางท่านก็รู้จักจิตชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่เกิดจากการทำสมาธิล้วนๆ นะครับ

แต่การฝึกตามประสาคนเมืองที่ไม่สามารถฝึกสมาธิจนถึงฌานได้ วิธีนี้จะทำให้เกิดสติตัวจริงได้ครั้งละแวบเดียวนะครับ แต่แวบเดียวที่ว่ามีความสำคัญไม่น้อย เหมือนกับคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ยามที่มีเงินเหลือแม้เพียงสลึงเดียว หยอดกระปุกไว้ วันหนึ่งก็มีเงินมาก แล้วนำไปลงทุนต่อไปได้ การฝึกสติตามประสาคนอัตคัต คือคนที่ทำสมาธิระดับฌานไม่ได้ สติแวบเดียวนี้สำคัญนะครับ

และความเป็นจริงแล้ว ท่านที่ทำสมาธิในระดับฌาน จนถึงฌาน 2 ได้ เกิดจิตผู้รู้ตั้งมั่นขึ้น จริงๆแล้วก็คือ เกิดจิตที่มีสติตัวจริงถี่ยิบ และต่อเนื่องกันไป แต่เมื่อเราอัตคัตขัดสนกับสมาธิ เราก็ต้องทำแบบคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ก็ค่อยๆหยอดกระปุกด้วยเหรียญสลึงของเราต่อไป ไปพร้อมๆกับการที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองทางโลก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือพนักงาน เจ้าของกิจการ เราก็ทำไปอย่างนี้ได้ครับ

น่าจะตอบคำถามให้ครบนะครับ (แต่ไม่ได้เรียงตามลำดับนะครับ) หากไม่แน่ใจ ถามต่อได้นะครับ ไม่ต้องเกรงใจครับ ยินดีสนทนาด้วยเสมอๆครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

^__^
« Last Edit: Thu 14 Oct 10, 07:19:34 by ลุงถนอม »
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
Re: สติตัวจริง
« Reply #2 on: Thu 14 Oct 10, 07:28:43 »
สำหรับวิธีการฝึกให้เกิดสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ หรือสติตัวจริงนั้น อาจต้องดูไปเป็นแต่ละบุคคลนะครับ ว่าบุคคลใดมีกิเลสใดเกิดบ่อย และชัด ก็ดูอันนั้น

อย่างบางคนเป็นคนเจ้าโทสะ ก็อาศัยการสังเกตเห็นโทสะ ทั้งในการทำตามรูปแบบ และในชีวิตประจำวัน ฝึกฝนตนเอง ให้จิตคุ้นเคยที่จะทำเหตุ (จิตทำของเขาเอง ไม่ใช่เราไปทำให้เกิดสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว) ที่จะำทำให้เกิดสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ครับ

บางคนชอบคิดลงลึกๆ ชอบค้นคว้า ก็อาศัยการสังเกตเห็นว่าตนเองหลงไปในโลกของความคิดแล้ว เป็นเครื่องมือในการฝึกให้มีสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ แต่วิธีสังเกตความหลงนั้น หัดแรกๆจะยากสักหน่อย เพราะการที่ความหลงจะเปิดเผยตัวเองถึงลักษณะของความหลง เป็นการกระทำที่เ็ป็นศัตรูกันโดยตรง เพราะความหลงแท้จริงแล้วก็คือ การปิดบังความเป็นจริง (อย่างเช่น เวลาหลงรักใคร เราจะไม่เห็นความเป็นจริงของคนๆนั้น เป็นต้น)

แต่วิธีการที่อาจารย์สุรวัฒน์มักจะเล่าให้ฟังบ่อยๆก็คือ ให้สังเกตตอนที่กำลังคุยโทรศัพท์ เราจะลืมตัวเราไปหมดเลย เราจะรู้แต่เรื่องที่เราคุย เราไม่รู้แม้แต่ว่า ในขณะนั้น เราถือโทรศัพท์ด้วยมือข้างซ้ายหรือข้างขวา เราไม่รู้ว่าเรากำลังเอียงหน้าไปข้างไห เราไม่รู้ว่าเรากำลังนั่งหรือยืนหรือเดิน ถ้าอยู่บนรถไฟฟ้าบางทีเราก็ไม่รู้เลยว่าเราคุยจนเลยสถานีที่เราจะลงแล้ว หรือขับรถอยู่บนทางด่วน บางทีเราไม่รู้เลยว่าเราขับเลยทางออกที่จะลงทางด่วนแล้ว เป็นต้น

หากฝึกดูหลงได้ ก็จะดี เพราะความหลงจะอยู่กับเราจนกว่าจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่การฝึกอย่างอื่นก็ดี ไม่ต้องกลัวว่าพอสิ้นกิเลสตัวนั้นๆแล้วเราจะไปต่อไม่ได้ เพราะเมื่อเราฝึกฝนที่จะมีสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะแท้จริงแล้ว ต่อๆไป จิตก็จะเริ่มจดจำกิเลส จดจำสภาวะอื่นๆได้มากขึ้น สติตัวจริงก็จะเกิดบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น ไปตามลำดับ แต่การเกิดขึ้นไปตามลำดับ ก็จะมีวงรอบของการเจริญและเสื่อมอยู่ด้วย ดังนั้น หากพบว่าบางช่วงเจริญสติแล้วจิตไม่เกิดสติัตัวจริงแล้ว ก็อย่าตกใจ ให้สังเกต ว่าไปทำอะไรที่หนีจากหลักการนี้หรือเปล่า เช่น ไปเปลี่ยนวิธี หรือไปเกิดความอยาก เพราะความเจริญและเสื่อม ก็เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่บังคับให้เป็นไปตามใจปราถนาไม่ได้เหมือนกัน (ส่วนมากมักจะไปพลาดตรงความเร่งร้อนจะเอามรรคผลนิพพานเป็นหลักใหญ่)

ก็ลองฝึกดูนะครับ หาวิหารธรรมของตนเองให้ได้ แล้วลองฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งตามรูปแบบและในชีวิตประจำวันครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ
_/|\_
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline ม๊า

  • Newbie
  • *
  • Posts: 6
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
Re: สติตัวจริง
« Reply #3 on: Tue 26 Oct 10, 22:47:17 »
ขอบคุณมากครับ จะลองฝึกดูนะครับ
 _/|\_

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
Re: สติตัวจริง
« Reply #4 on: Wed 27 Oct 10, 03:44:19 »
ขออนุโมทนาครับ _/|\_

ฝึกไปแล้วเป็นอย่างไร ก็แวะมาคุยกันนะครับ
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา