Dhammada.net



« | »

กรรมฐานที่เป็นวิหารธรรม


mp 3 (for download) : กรรมฐานที่เป็นวิหารธรรม

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : เราต้องรู้กายรู้ใจอย่างเป็นวิหารธรรม วิหารธรรมแปลว่าบ้าน บ้านไม่ใช่คุก แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อยนะ เอาอารมณ์กรรมฐานมาเป็นคุกขังใจ

เช่นเราจะอยู่กับลมหายใจ เราจะบังคับตัวเอง ให้รู้แต่ลมหายใจ ห้ามรู้อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างอื่นถือว่าไม่ดี มันไม่ดีจริงนะในแง่ของสมถกรรมฐาน แต่ในแง่ของวิปัสสนากรรมฐานน่ะ เราไม่ได้เอาจิตไปติดคุก ทันทีที่พวกเราคิดถึงการปฏิบัติแล้วเราบังคับตัวเอง พอบังคับเมื่อไหร่เนี่ย จิตใจจะหนักๆแน่นๆแข็งๆขึ้นมาเลย ทื่อๆนะ แข็งขึ้นมา หาความสุขความสงบที่แท้จริงไม่ได้ มีแต่ความอึดอัดนะ จงใจปฏิบัติเมื่อไหร่อึดอัดเมื่อนั้นเลย จงใจไปรู้ลมหายใจก็อึดอัด จงใจไปรู้ท้องพองยุบก็อึดอัด ยกเท้าย่างเท้าแล้วจงใจไปรู้อยู่ที่เท้าก็อึดอัดอีก ทำอะไรๆมันก็อึดอัดไปหมดเลย

เพราะอะไร เพราะจิตมันไปติดคุก คนติดคุกมันมีความอึดอัดนะ แต่หลวงพ่อไม่เคยติดนะ อันนี้เดาๆเอา นะ ไม่เหมือนอยู่บ้าน อยู่บ้านสบาย มีธุระออกจากบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้กายรู้ใจเหมือนมันเป็นบ้าน หมายถึงว่ามันเป็นที่อาศัยระลึกของสติเท่านั้น เวลาไม่รู้จะรู้อะไรนะ ก็กลับมาอยู่บ้าน คนไหนใช้ลมหายใจเป็นบ้าน พอจิตใจไม่ต้องไปรู้กายเวทนาจิตธรรมอันอื่น เราก็กลับมารู้ลมหายใจ รู้เล่นๆ ไม่ใช่บังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจ ถ้าบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจเป็นสมถะ

ถ้าจะอยู่อย่างอยู่เป็นบ้านเราก็หายใจไป หายใจออกก่อนนะ หายใจออก หายใจเข้า หายใจออกไป ใจเราอยู่ที่ลมหายใจเราก็รู้ หายใจไป หายใจไป ใจเราหนีไปที่อื่นเราก็รู้ เห็นมั้ย หายใจไป เราเห็นร่างกายนี้หายใจอยู่นะ เกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นร่างกายหายใจ ร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเราหรอก จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจที่ไปรู้ร่างกายที่หายใจเนี่ย แป๊บเดียวมันก็หนีไปคิดเรื่องอื่น หรือมันถลำลงไปเพ่งลมหายใจ หรือมันสุข หรือมันทุกข์ หรือมันดี หรือมันร้ายขึ้นมา

การที่เราเห็นอย่างนี้มากเข้าๆ มันก็จะเกิดปัญญา เห็นเลย จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเราอีกละ เราบังคับมันไม่ได้ เดี๋ยวก็วิ่งไป เดี๋ยวก็วิ่งมา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เนี่ยถ้าเรารู้อย่างนี้ รู้อย่างเป็นวิหารธรรมนะ มันจะรู้ทั้งกายรู้ทั้งใจ ไม่ใช่รู้อันเดียว ถ้าบังคับจิตให้แน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียวเป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน

เพราะฉะนั้นอย่างหลายคนดูท้องพองยุบ ดูท้องพองยุบแล้วเพ่งให้จิตแนบอยู่ที่ท้องเลย ห้ามหนีไปที่อื่น เอาท้องมาเป็นคุกขังจิตน่ะ จนจิตมันไม่ไปไหน มันเซื่องๆอยู่ที่ท้องเนี่ยนะ ได้ความสงบ เกิดปีติ ขนลุกขนพอง เกิดตัวลอยตัวเบาตัวโคลง ตัวใหญ่ตัวหนัก บางคนตัวหนักก็มีนะ บางคนก็ขนลุกซู่ซ่าๆ อันนี้เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน

แต่ถ้าเรารู้ท้องพองยุบอย่างให้เป็นวิปัสสนา หัดเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เราจะเห็นร่างกายมันพองร่างกายมันยุบนะ รูปมันพองรูปมันยุบ ใจอยู่ต่างหาก ใจเป็นแค่คนดู เหมือนเราดูตัวเอง เห็นร่างกายมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เหมือนกันหมดนะ จะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร ยกตัวอย่างใช้ อิริยาบถ ๔ เนี่ย เราก็เห็นร่างกายมันยืน ร่างกายมันเดิน ร่างกายมันนอน ถ้าทำสัมปชัญญะบรรพะ ร่างกายมันคู้ร่างกายมันเหยียด มันเหลียวซ้ายแลขวา เราก็รู้สึกเอา รู้สึกแล้วเราก็เห็นเลย ไอ้ตัวที่เคลื่อนไหวเหลียวซ้ายแลขวาน่ะ ไม่ใช่ตัวเราหรอก รูปมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู ตัวใจเองก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นทั้งรูป เห็นทั้งนามนะ ถ้าเห็นถูกต้อง ไม่ใช่เห็นอันใดอันหนึ่ง ไม่ใช่บังคับเอาอันใดอันหนึ่ง เนี่ยเรียกว่าอยู่เป็นวิหารธรรม บางทีสติก็ไปรู้กาย บางทีสติก็ไปรู้ใจ เราเลือกไม่ได้ ไม่ได้จงใจ มันจะสบาย รู้กายก็สบายใจนะ รู้จิตใจก็สบายใจอีก รู้ไปเรื่อยๆ สบาย เหมือนเราอยู่บ้าน ออกจากบ้านไปเที่ยวเมื่อไหร่ก็ได้ มีธุระจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ เหนื่อยแล้วกลับมาอยู่้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่ศาลาลุงชิน (ศาลากาญจนาภิเษก)
ครั้งที่ ๑๐
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕o


CD: ศาลาลุงชิน ครั้งที่ ๑๐
File: 500318
ระหว่างนาทีที่ ๘ วินาทีที่ ๒ ถึง นาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๑๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 380 times, 1 visits today)

Tags: , , , , ,

Categories: การภาวนา, พองยุบ, ลมหายใจ, วิหารธรรม

« | »




เรื่องล่าสุด


หน้า