Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

นิพพานคือนิพพาน พระธรรมเทศนาโดยหลวงตามหาบัว


อาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (หลวงตามหาบัว)

อาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (หลวงตามหาบัว)

แสดงธรรมโดย อาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒

นิพพานคือนิพพาน

สติเป็นสำคัญนะ เรื่องธรรมที่จะแก้กิเลสทุกประเภท สติกับปัญญาจึงเป็นเครื่องมือชั้นเอกเลยขาดไม่ได้ ที่เป็นพื้นฐานของธรรมทุกขั้นก็คือสติ เป็นพื้นฐาน จากนั้นปัญญาก็รอบ สติธรรม คนมีสติก็เป็นคนธรรมดาเรา คนไม่มีสติก็พลั้ง ๆ เผลอ ๆ คนไม่มีสติจริง ๆ ก็คือคนบ้า ไม่มีผิดมีถูกคนบ้า เช่นอย่างไฟเขียวไฟแดงที่รถวิ่งสวนกันไปสวนกันมานี้ คนบ้าเขาจะไปจัดของเขาอะไรอยู่นั้นแหละ เครื่องบริขารแตก ๆ เติก ๆ ใส่ถุงใส่ย่ามเขา เขาจะจัดนั้นจัดนี้ใส่ เราไปเห็นที่อุดรฯ นี้ โห อย่างนี้เอง เอามาพิจารณาเป็นธรรมนะ คือพวกรถวิ่ง วิ่งมานี่ คนบ้าเขาจัดของอยู่ท่ามกลางของไฟเขียวไฟแดงเลยนะ ทีนี้รถไม่ทราบจะไปยังไงมายังไง ตอนนั้นยุ่ง ตำรวจยังไม่มีนี่นะ ไม่มีตำรวจ รถยุ่ง เขาเฉยไม่สนใจกับอะไร เราก็ดู

อ้อ คนเมื่อขาดสติเสียจริง ๆ แล้วก็เป็นได้อย่างนี้ เอามาเทียบนะ คือสตินี้เป็นคุณภาพอันสูงสุดเทียวนะ ทุกขั้นของธรรมสติเป็นพื้นฐานตั้งแต่ต้นจนสุดยอดเลย พอสุดยอดแล้วตอนที่จะสุดยอดจริง ๆ ท่านเรียกว่ามหาสติมหาปัญญา กลมกลืนกันเป็นอันเดียว ทีแรกต้องวางรากฐานสติไว้ให้ดี นี่เอามาพิจารณาตอนไปเห็นคนบ้าจัดอะไรต่ออะไร ของอะไรมีแต่ของทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ นั้นแหละ เขาเอาจัดใส่ถุงใส่อะไรเขา หยิบอันนั้นใส่ หยิบอันนี้ใส่ของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วรถวิ่งไปวิ่งมา จะตายละรถติด สี่แยกไฟแดงอุดรฯ

นี่ไปเห็นด้วยตานะ เราเอามาพิจารณา อ๋อ คนเราเมื่อขาดสติจริง ๆ แล้วก็เป็นอย่างนี้ นี่หมายถึงว่ามีแต่ความรู้คือจิต ไม่มีสติควบคุม ปัญญาควบคุม เป็นเจ้าของ มีแต่ความรู้มันก็อย่างนี้ อย่างพวกบุ้งกือไส้เดือนนี้เขาก็คืบคลานของเขาไปตามเรื่อง นั่นละมีแต่ความรู้อย่างเดียวเป็นอย่างนั้น ไม่รู้ผิดรู้ถูก เพ่น ๆ พ่าน ๆ ไป รู้ยังไงไปยังงั้น แต่ความรู้นั้นก็มีอันหนึ่งของมันอยู่นั้นละคือฝ่ายชั่ว คือฝ่ายกิเลส มีแต่ความรู้กับกิเลสล้วน ๆ ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าความรู้มีธรรมเข้าไปแทรกก็มีความรับผิดชอบ ต่างกันอย่างนั้นนะ

ความรู้นี่รู้อย่างนั้นแหละ ไม่เคยสูญเคยหายเคยตายเคยฉิบหายเลยความรู้นี้ ท่านจึงบอกว่าเป็นอจินไตยพระพุทธเจ้า ว่าอย่าไปถามถึงเรื่องว่าอดีตกาลเป็นมายังไง กำเนิดของความรู้เป็นมายังไง ความดับของจิตจะดับที่ไหนหรือไม่ดับที่ไหน พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งนี้เป็นอจินไตย ไม่เกิดประโยชน์ ท่านจึงเทียบเข้าไปเหมือน ข้อเปรียบเทียบเทียบเข้าไปปุ๊บ เหมือนหนามยอกเท้าเรา เมื่อหนามยอกเท้าให้รีบถอนหนามออก อย่าไปถามหาสกุลหนามว่าหนามนี้มาจากสกุลไหน เกิดมาแต่เมื่อไร ๆ เท้าจะเน่าเฟะเสียไปหมด ไม่เกิดประโยชน์ ท่านว่าอย่างนั้น

ข้อเปรียบเทียบฟังซิเข้ากันได้ปุ๊บเลย ให้รีบถอนหัวหนามแล้วเอายาใส่ นี่เป็นประโยชน์ อย่าไปถามหาสกุลหนามว่าหนามนี้เป็นมายังไง มาจากสกุลใด มาเมื่อไรเรื่อยไปอย่างนั้น เหมือนถามหาเรื่องจิตว่างั้นเถอะ สุดท้ายเท้าก็เน่าเฟะทิ้งเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์ ท่านจึงห้าม เป็นอจินไตย ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ อันใดที่จะเป็นประโยชน์ให้รีบจัดการตรงนั้น คือรีบถอนหัวหนาม แล้วอะไรมันขัดข้องภายในตัวของเราเวลานี้ ตัวของเราทั้งหมดมันก็เหมือนเท้า กิเลสทั้งมวลความเชื่อทั้งมวลมันก็เหมือนหนามยอกเท้า ให้รีบถอดรีบถอนออก

นี่ละพระพุทธเจ้ารับสั่งคำไหนตรัสคำไหนหาที่ค้านไม่ได้ ให้รีบถอนหัวหนาม อย่าไปถามหาสกุลหนาม ให้รีบถอนออกทันทีแล้วเอายาใส่แล้วหาย ถ้าไปถามหาหนามถามหาสกุลหนามแล้วเท้าเน่าเฟะตายทั้งคนไม่เกิดประโยชน์ การถามอย่างนั้นไม่ใช่เป็นประโยชน์

นี่จิตที่มีแต่จิตล้วน ๆ ไม่มีผู้อารักขา ไม่มีสติไม่มีปัญญารักษา มันก็รู้ของมันไปตามภาษีภาษาไป แต่ความสุขความทุกข์มี แต่ความรู้ดีรู้ชั่วผิดถูกไม่มี เพราะไม่มีสติควบคุม ท่านจึงต้องให้ตั้งสติเริ่มต้น เช่นอย่างพวกภาวนาสติขึ้นเป็นพื้นฐานเลย เวลาตั้งเข้าไป ๆ มันหากมีเครื่องหนุนกันนั่นแหละ ตั้งสติเพื่อทำความดี ผลประโยชน์ที่จะเกิดจากสติที่กระจายออกไปนี้เราพรรณนาไม่ได้นะ พอมีสติตั้งเข้าไปในตัว เฉพาะอย่างยิ่งตั้งเข้ามาในตัวนี้เราจะรู้สึกตัวของเราทันที อย่างไม่มีสติตั้งกับจุดใดอย่างธรรมก็ตาม เพียงมีสติดูตัวเองพิจารณาตัวเอง ปัญญาดูตัวเอง จะมีอะไรทื่อท่าเข้ามาให้เกิดความรู้สึกตัวเรื่อย ๆ ผิดถูกชั่วดีก็จะเริ่มรู้ แล้วความแก้ไขตัวเองก็จะมาพร้อม ๆ กัน คิดหาไตร่ตรองหาความแก้ความไขของตัวเอง ก็จะค่อยเป็นไป เพราะฉะนั้นสติจึงต้องหยั่งเรื่อย ๆ

เช่นอย่างเราภาวนามีสติควบคุมอยู่ตลอด เรียกว่าเป็นความเพียรตลอด พอสติพรากไปเมื่อไรความเพียรขาดทันที ๆ เวลาสติตั้งเรื่อย ๆ ก็มีกำลังขึ้น ๆ ปัญญาก็ค่อยติดตามกันมา ๆ จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ คือไม่ต้องตั้ง ธรรมขั้นนี้ไม่ต้องตั้งสติมีตลอด ปัญญาก็เหมือนกันเมื่อเวลาเข้าถึงขั้นธรรมอันละเอียดแล้ว สติปัญญาจะกลมกลืนเป็นอันเดียวกันเลย เคลื่อนพร้อมกันเลย ๆ เพราะติดแนบด้วยกัน สติปัญญาอัตโนมัติ นี่ละท่านว่าสติปัญญาฆ่ากิเลส ถ้าลงสติปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นแล้วกิเลสมีเท่าไร ๆ เป็นพังทั้งนั้น ๆ วัฏวนความหมุนของจิตเพื่อวัฏวนความเกิดแก่เจ็บตายนี้ จะประมวลเข้ามาหาเชื้อของมันคืออวิชชา นี่ตัวฝังลึก ฝังให้สัตว์เกิดสัตว์ตายตลอดเวลา

คำว่าเกิดตายหมายถึงร่างนะ เข้าไปสู่ร่างนั้นร่างนี้เรียกว่าเกิด ร่างนั้นสลายเรียกว่าตาย แต่จิตนั้นไม่ได้ตาย คือจิตมีอวิชชาเป็นเชื้อพาให้เกิดให้ตายอยู่ในจิตนี้ เข้าตรงนั้นออกตรงนี้เรื่อย ๆ ตามจิตอันนี้ต้องตามด้วยแบบพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ใครจะเอาแบบไหนมาใช้สามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีความหมาย แบบพุทธศาสนาแล้วจะตรงเป๋งเลยเทียว เข้าถึงจุด เหมือนอย่างเราตามรอยโค เราเอาโคไปปล่อยที่ไหน ถ้าเราไปดักตรงโน้นดักตรงนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเจอตัวโคเมื่อไร ให้ติดตามรอยมันไปเช่นอย่างพวกชาวนาเขา เขาปล่อยโคไว้ที่ไหนเขาติดตามรอยไป ตามไปแล้วก็ไปถึงตัวโค

อันนี้ตามรอยวัฏจักรวัฏจิตด้วยจิตตภาวนา คือด้วยความพากเพียรทุกด้านทุกทางเหมือนตามรอยโค ตามเข้าไป ๆ ขั้นหยาบขั้นละเอียดจะทราบไปเป็นระยะ ๆ นี่ทางของพระพุทธเจ้าทางพ้นทุกข์ ตามไป ๆ ทีนี้จิต คำว่าจิตนั้นละเอียด ๆ หมายถึงสิ่งเกี่ยวข้องกับจิต จิตจะละเอียดเข้าไป ๆ คือสิ่งเกี่ยวข้องกับจิตจะละเอียดเข้าไป ๆ ส่วนคำว่าจิตจริง ๆ มีรู้เท่านั้น ความสว่างนี้เป็นอาการอันหนึ่ง ๆ ในเวลาบำเพ็ญ จิตจะค่อยหนาแน่นเข้าไปมีสมาธิ หนาแน่นมั่นคงเข้าไป สติค่อยดีขึ้น ๆ ปัญญาค่อยกระจายออก ๆ มันจะเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายนอกภายในไปพร้อม ๆ กัน

เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ พอปลูกต้นไม้แล้วกิ่งก้านสาขาดอกใบจะแตกออกไปจากต้นของมัน ออกจากลำต้นของมัน กิ่งนั้นแตกไปนั้น กิ่งนี้แตกไปนี้กว้างแคบจะเกิดขึ้นจากลำต้นนี้ อันนี้ก็จะเกิดขึ้นจากจิต ความรู้ความเห็นต่าง ๆ นี้จะแตกออก ๆ คือไม่ต้องไปศึกษากับใครแหละเบื้องต้นที่ปรากฏขึ้นมา ทีนี้พอมันเกิดขึ้นมาแล้วได้ศึกษาละที่นี่นะ ศึกษาครูบาอาจารย์ผู้ท่านเชี่ยวชาญกว่าเรา อันไหนผิดอันไหนถูกท่านจะแนะ ๆ เราก็ค่อยเดินตามท่านแล้วค่อยขยายออก ๆ สุดท้ายก็ค่อยเป็นตัวของตัวเอง

นี่เราหมายถึงเรื่องติดตามวัฏจิตวัฏจักรติดตามด้วยจิตตภาวนา ตามเข้าไป มันจะมีวงแคบเข้าไป สิ่งเกี่ยวข้องของมันจะถูกตัดออก ๆ มันยั้วเยี้ยไปหมดนะ จิตดวงเดียวนี้มันรู้รอบโลกธาตุ มันติดไปหมดเลย เวลาเข้าไปตรงนี้แล้วค่อยตัดทางโน้นทางนี้ ทางเหล่านั้นก็ค่อยหดเข้ามาย่นเข้ามา เพราะออกจากจิตอันเดียว เมื่อจิตหดเข้ามาสิ่งเหล่านั้นก็หดเข้ามาลงไปรวมอยู่ที่จิต ตัดออกไปเรื่อย ๆ ตัดเข้าไป สุดท้ายร่างกายที่เป็นอุปาทานยึดมั่นที่สุด ร่างกายนี่ยึดมั่นส่วนหยาบ ยึดมั่นส่วนละเอียดก็นามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นกิ่งของอวิชชาทั้งนั้นนะ คือเป็นทางหากินของอวิชชา เหล่านี้เป็นทางเดินหากินของมันทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างออกกว้านหากินสร้างวัฏจักรเข้ามาหาวัฏจิต สร้างเข้ามา

ทีนี้เวลามันรู้แล้วก็ค่อยตัดเข้ามา ๆ ตัดเข้ามาจนกระทั่งร่างกายตัดออก ๆ เวลารู้ชัดตรงไหน ๆ มันจะถอนอุปาทานพร้อมกันไป ๆ นี่เรียกว่าตามรอยของจิตคือตามอันนี้ ตามเข้าไป สุดท้ายเมื่อกายก็ขาดไปแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตามเข้าไปอีก ๆ จนกระทั่งถึงจิต ถึงจิตก็ถึงอวิชชา อวิชชาที่ฝังอยู่ในจิต ที่นี่วัฏจักรวัฏจิตจะสิ้นสุดกันลงจุดนั้น เกิดแก่เจ็บตายมากี่กัปกี่กัลป์มีแต่อันนี้ทั้งนั้นแหละพาให้เป็น เวลาตามเข้าไปไปถึงจุดมันแล้ว ทำลายจุดนั้นปั๊บ อวิชชาที่ฝังอยู่ในจิตเหมือนกับหนามยอกเท้ามันฝังอยู่ในจิต หนามอวิชชายอกจิต ถอนปัวะออกมาแล้ว ทีนี้ขาดสะบั้นไปหมด กระจายไปหมดเลย ตัวเดียวเท่านี้ที่ทำให้โลกมืดมิดปิดตา รู้หมดทันทีไม่ต้องไปถามใคร พอตัวนี้ถอนปึ๋งมานี้ขาดสะบั้นออกหมดไม่มีอะไรเหลือเลย โลกธาตุนี้เหมือนไม่มีเพราะจิตไม่ไปหมาย จิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้วไปหมายอะไร คิดกับอะไร

คำว่าจิตบริสุทธิ์เต็มที่นี้เป็นธรรมทั้งดวงไปแล้วนะ หมายถึงว่าธรรมทั้งดวงกับจิตทั้งดวงเป็นอันเดียวกันแล้ว นั่นเรียกว่าจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน ถึงจุดนี้แล้วขาดสะบั้นหมด เรื่องสมมุติทั้งมวลนี้ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้อง เป็นอฐานะ คือให้เป็นไปอย่างไรอีกไม่ได้แล้ว จะบังคับให้ติดก็ไม่ติดเมื่อถึงขั้นของมันแล้ว เมื่อยังไม่ถึงขั้นบังคับให้ถอนมันก็ไม่ยอมถอน มันยึดมั่นถือมั่นของมัน พอถึงขั้นของมันแล้วมันถอนของมันเอง เมื่อถอนเต็มส่วนแล้วทีนี้จะบังคับให้ติดก็ไม่ติด เป็นหลักธรรมชาติแล้ว เรียกว่าเป็นอฐานะ ให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แล้ว

ทีนี้เวลาถึงขั้นนั้นแล้ว นั่นละท่านเรียกว่าขั้นอัศจรรย์ อัศจรรย์โลกสมมุติเรานี้เป็นอันหนึ่งนะ ที่ว่าอัศจรรย์ของธรรมแท้จิตแท้ เรียกว่าจิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต เรียกว่าธรรมธาตุก็ไม่ผิด ท่านให้ชื่อว่านิพพาน ธรรมธาตุ จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วพระพุทธเจ้าทรงให้ชื่อว่านิพพาน จะแยกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ คำว่านิพพานเป็นคำเดียวเท่านั้น อันไหนไม่เหมือน อันไหนไม่ถูก

อย่างที่ว่าไว้ มีผู้มาอ้างในพระไตรปิฎกก็มีนี่นะ ว่าพระไตรปิฎกท่านแสดงไว้ว่านิพพานเป็นอนัตตา หึย ว่าอย่างนี้เลยเรานะ อ้าวจริง ๆ มันยันกันเลยทันที มันเดินให้เห็นอยู่ชัด ๆ นี่นะ นิพพานเป็นอนัตตาได้ยังไง นิพพานคือนิพพานเป็นอนัตตาได้ยังไง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้เรียกว่าไตรลักษณ์เข้าใจไหม เราพิจารณาเพื่อพระนิพพาน ต้องเดินไปตาม อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เมื่อพิจารณาอันนี้รอบแล้วปล่อย ๆ พอถึงขั้น อนัตตา เต็มส่วนแล้วปล่อย อนัตตา ปุ๊บถึงนิพพาน แล้ว อนัตตา ทำไมจะไปเป็นนิพพาน ถ้า อนัตตาเป็นนิพพาน นิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ล่ะซีเข้าใจไหม นี่ละว่าเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อัตตา ก็เป็นส่วนสมมุติ อัตตา คือความยึดถือ อัตตา ตนจะไปเป็นนิพพานได้ยังไง อัตตา ความถือตนถือตัว อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ

พระองค์แสดงไว้แล้วว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต แล้วก็ อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ คือ ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติ ดูโลกให้เห็นเป็นของว่างเปล่า ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียได้ อัตตาฟังซิ ถอนอัตตานุทิฏฐิ อัตตานุทิฏฐิก็เป็นทางเดิน ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พญามัจจุราชจะติดตามเธอไม่ทันอีกแล้ว นั่นท่านให้ถอนอัตตานุทิฏฐิ แล้วยังทำไม อัตตา จะมาเป็นนิพพานเสียเอง เอาพิจารณาซิ ยันกันอย่างนั้นซิ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เป็นทางเดินเพื่อก้าวสู่พระนิพพาน อัตตาความยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องพิจารณาอัตตานี้เพื่อให้ผ่านอัตตานี้ไปได้แล้วจึงไปเป็นพระนิพพานได้ เหตุใดพระนิพพานจึงจะมาเป็นอัตตาเป็นอนัตตาเสียเอง เอาพิจารณาซิ

อย่าเอาหนอนแทะกระดาษมาอวดนะ ให้เอาภาคปฏิบัติจับกันทันทีไม่ต้องทูลถามพระพุทธเจ้า นี้จริง ๆ นะ เราพูดอย่างนี้มันคึกคัก มันหากเป็นของมันนี่นะ ก็มันจัง ๆ อยู่นั่นเห็นประจักษ์ ทูลถามพระพุทธเจ้าทำไมว่างั้นเลย ของอันเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน ถามกันหาอะไร นี่ละคำว่านิพพานต้องเป็นนิพพานเท่านั้นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ จะเอาอัตตา อนัตตา เข้าไปใส่ อย่าเอามูตรเอาคูถไปโปะพระนิพพานว่างั้นเลย นิพพานคือนิพพานเลิศเลอสุดยอดแล้ว พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอง มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แสดงไว้แล้ว นี่มีในพระไตรปิฎก แล้วพระไตรปิฎกไหนจะมาว่านิพพานเป็นอนัตตาได้อีก เอาอย่างนี้ซิ

มี พระเจ้าฟ้าเจ้าคุณท่านมาพูดถึงเรื่องว่า ในพระไตรปิฎกท่านว่านิพพานเป็นอนัตตา ชึ่ย ว่างี้เลยเรา ดีไม่ดีมันส่อให้เห็นผู้ไปจดจารึกพระไตรปิฎกมาเป็นคนประเภทใดอีกด้วยนะ ถ้าเป็นคนประเภทพระพุทธเจ้าพระอรหันต์แล้วจะว่านิพพานเป็นอนัตตาไม่ได้เป็น อันขาด นอกจากพวกคลังกิเลสมันเข้าไปจดจารึก ได้คำบอกเล่าอะไรมาก็มาว่าผิด ๆ ถูก ๆ ไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงส่อให้เห็นว่าผู้ไปจดพระไตรปิฎกมานี้เป็นคนประเภทใด มันบอกด้วยนะ อ่านไปในพระไตรปิฎกบอกไปในตัวเสร็จ ว่าผู้จดจารึกพระไตรปิฎกเป็นคนประเภทใด ถ้าเป็นคนประเภทเป็นพระอรหันต์จดจารึกมาแล้ว จะมีเน้นมีหนัก นี่เรียบ ๆ ไป พูดไปที่ไหนส่งเสริมแต่กิเลสเรื่อยไป ตีกิเลสไม่มีนี่บอกแล้ว ความจริงมีนี่

เหมือนเราถากไม้นี่สมมุติว่าต้นเสานี่นะ ต้นเสาตรงนี้มันเรียบ ๆ ตรงไป เขาก็ถากเสมอ ๆ พอไปถึงจุดคดจุดงอเขาจะถากหนักมือ คดงอที่ไหนจะต้องถากอย่างหนักมือเพื่อให้ราบเสมอกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นพระอรหันต์ท่านจดจารึกตามหลักความจริง หลักความจริงมีชื่อนี่นะ พอไปเจอหลักความจริงก็เน้นหนักลงไปจุดนั้น ๆ พอเรียบ ๆ ถึงจุดไหนที่เป็นบทหนักที่ควรจะเน้นหนัก ก็ต้องเน้นหนัก ๆ นั่นเรียกว่าหลักความจริง อันนี้มีแต่เรียบ ๆ ไปพูดที่ไหนยกมือไหว้กิเลสไปเรื่อย ๆ จดจารึกไปที่ไหนไหว้กิเลสไปเรื่อย ๆ มันอดคิดไม่ได้นะ เรายกให้หลักใหญ่ที่นำมาเป็นแบบเป็นฉบับของพวกเราชาวพุทธนี้นะ เราไม่ได้ปฏิเสธไปหมดนะ ไอ้กิ่งก้านสาขาไปนั่นซิ ไปเอากิ่งไหนมาทับกับกิ่งไหนผสมกับกิ่งไหนก็ไม่รู้ สุดท้ายก็ยกยอกิเลส

ยกยอมันเท่าไร โคตรพ่อโคตรแม่ของกิเลสมันไม่เคยทำประโยชน์ให้แก่ใคร มีแต่เอาไฟมาเผาโลก จะไปยกยอมันหาอะไร ธรรมต่างหากเป็นเครื่องเชิดชูสัตวโลก ควรจะยกยอธรรม เหยียบกิเลสลงไปมันถึงจะถูกว่างั้น พูดต้องขออภัยนะ นี่ละเรียกว่าพูดตามหลักความจริงต้องพูดอย่างนั้น ให้ตรงไปตรงมา เรื่องกิเลส โอ๋ย ไม่ได้นะ ปลิ้นปล้อนหลอกลวง ไพเราะเพราะพริ้งนิ่มนวลอ่อนหวาน แต่ความโกหกอยู่ในนั้นหมดเลย ธรรมะนี้ไม่ ตรงไปตรงมา ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก ดีว่าดี ชั่วว่าชั่วไปเลย จึงเรียกว่าภาษาของธรรมเป็นภาษาที่สะอาดมากที่สุด ไม่มีเล่ห์มีเหลี่ยม ตรงไปตรงมา ภาษาของกิเลสเป็นภาษาที่สกปรกมากที่สุดเลย ต่างกันอย่างนี้นะ

นี่เราพูดถึงเรื่อง อัตตา อนัตตา ก่อนจะถึงพระนิพพาน ถึงธรรมชาติที่ให้ชื่อว่านิพพานนั้นต้องผ่านไตรลักษณ์ไปเสียก่อน ไม่ผ่านไตรลักษณ์ไปจะถึงความบริสุทธิ์ไม่ได้ จะถึงนิพพานไม่ได้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เรียกว่าไตรลักษณ์ พิจารณา ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อะไรก็ตาม ๓ ประเภทนี้จนพอแล้วมันปล่อยของมัน ถ้าไม่พออันนี้ยังไม่ปล่อย ยังต้องพิจารณา อัตตา อนัตตา เหล่านี้อยู่ในวงเดียวกันของการดำเนินเพื่อก้าว ๆ ผ่านไป อัตตาก็เป็นตัวกิเลสอันสำคัญจึงถอนด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ถอนอันนี้อีกทีหนึ่ง อัตตานุทิฏฐิ ความถือว่าเป็นตนเป็นตัว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหล่านี้ ถอนอันนี้ออก แล้วจากนั้นก็ ทั้งหมดนี้เป็น อนัตตา นะ ปล่อย เมื่อถึงขั้นสุดยอดแล้วทั้งหมดเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งนั้นนะ เป็น อนัตตา ทั้งนั้น จิตถอนปึ๋งออกจากนี้ ถอนจากนี้แล้วเรียกว่าอะไรตรงนั้น

นั่นละพระพุทธเจ้าเลิศเลิศจากการถอนทั้งสามนี้แล้วนะ อยู่ใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อัตตาเหล่านี้ถอนไม่ได้ตายอยู่นั่น ถอนจากนี้แล้วจึงจะเป็นนิพพาน แล้วนิพพานอะไรถึงจะมาแอบซ่อนอยู่ในไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และ อัตตา นิพพานก็ไม่มีที่พึ่งเที่ยวไปเกาะไตรลักษณ์อยู่นั้น เป็นอิสระได้ยังไง พูดแล้วเราคันฟันนะ โอ๋ย เถียงกันตาดำตาแดงจนกลายเป็นหมากัดกัน เถียงว่านิพพานเป็นอัตตาเป็นอนัตตา เถียงยุ่งกันไปหมดเลย คนหนึ่งยันว่านิพพานเป็นอัตตา คนหนึ่งยันว่านิพพานเป็นอนัตตา เอ้า กัดกันไปเราว่างั้น เฉย เอ้ากัดกันไป

ถาม : ได้ยินว่าพวกนักปราชญ์ทางศาสนาเขาบอกว่าจะทำการสังคายนาพุทธศาสนา จะได้เขียนว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเขาไม่ได้ปฏิบัติอันนี้น่าเป็นห่วงค่ะ คือทุกคนที่สังคายนาก็ไม่มีใครปฏิบัติเจ้าค่ะ

ตอบ : อันนี้เป็นเรื่องของเขานะ เราก็เตรียมสังคายนาเรานะ ไปสังคายนากับเขาใช้ไม่ได้ เราต้องเตรียมสังคายนาเรา พระพุทธเจ้าสังคายนาพระองค์แล้วจึงตรัสสอนโลก พระอรหันต์ทั้งหลายท่านสังคายนาท่านเรียบร้อยแล้วจึงสั่งสอนโลก ทีนี้เขาจะเอาไปกัดกันที่ไหนมันแล้วแต่เขา

ถาม : ถ้าพยายามรักษาสติ สมาธิมันจะตามมาใช่ไหมเจ้าคะ

ตอบ : ทำสมาธิก็สงบง่ายถ้าสติดี สติเป็นของสำคัญมาก แม้เราจะไม่เข้าบทภาวนาก็ตาม เราทำอะไร ๆ อยู่นี้ให้มีสติประจำตัว เรียกว่ามีธรรมประจำตัว ท่านให้ชื่อว่าผู้มีสติอยู่ตลอดทุกอิริยาบถนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา สติจดจ่อตรงนี้ สัมปชัญญะซ่านไปหมด เรียกว่ารู้ตัวไปหมด สติรู้อยู่จำเพาะ เช่นอย่างเรากำหนดพุทโธ รู้อยู่กับพุทโธ พอย้ายจากพุทโธมาแล้ว เราจะเคลื่อนไหวไปมาทำหน้าที่การงานอะไร ความรู้คือสตินี้จะซ่านไปตามความเคลื่อนไหวของเรานี้ เรียกว่า สัมปชัญญะ แยกมาจากสติ เข้าใจไหม เอาไปสังคายนานะ

เข้าใจเหรอที่พูดอัตตา อนัตตา เป็นอย่างนี้ละ นั่นละให้ฟังเอาซิ นี้ยันเลยไม่ได้มีสะทกสะท้านนะสามแดนโลกธาตุนี้ ที่เราพูดออกมานี้เราไม่ได้สะทกสะท้าน เรารู้แล้วเห็นแล้วทุกอย่างว่างั้นเลย จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม พูดไม่พูดก็ธรรมอันเดียวกันนั่นแหละที่รู้อยู่นั้นแหละ เราจะพูดออกไปไม่พูดออกไปก็ธรรมที่เรารู้อยู่นี้แหละว่างั้นเถอะ ส่วนพูดออกไปมีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้นเอง เช่นว่าเรารู้อย่างนี้ คนที่เขาไม่เชื่อก็เป็นอกุศลแก่เขา คนที่เชื่อก็เป็นมงคลแก่คนนั้นเท่านั้นเอง ถ้าพูดออกไปแล้วมีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าไม่พูดก็ไม่มีได้มีเสีย สำหรับธรรมชาติผู้นั้นเองแล้วนะ จะพูดหรือไม่พูดท่านก็ไม่มีได้มีเสีย แต่มันมีได้มีเสียสำหรับเวลาพูดออกไป ผู้ฟังถ้าเชื่อตามหลักความจริงแล้วก็เป็นมงคลแก่ผู้ฟัง ถ้าไม่เชื่อไม่ยอมรับนี้ก็เป็นอัปมงคลแก่ผู้นั้น และกิเลสครอบหัวเอาเลยว่างั้นเถอะนะ กิเลสครอบเอาเลย หามขึ้นเขียงเลย

นี่เราพูดถึงเรื่องธรรมชาติแท้เป็นอย่างนั้น ท่านให้ชื่อว่านิพพาน คือให้ชื่อธรรมชาตินั้น ธรรมชาติที่จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว เรียกว่าธรรมทั้งแท่งเลย หรือเรียกว่าธรรมธาตุก็ได้ ธรรมธาตุกับนิพพานไม่ขัดกัน แต่อัตตากับอนัตตานี้ โห ไม่ได้เลยนะ อัตตากับอนัตตานี้เข้าไม่ได้เลย เหมือนกับว่าเอามูตรเอาคูถไปโปะทองคำทั้งแท่ง ใครจะยันขนาดไหนก็ยัน ยันขนาดไหนก็เหมือนกับขนมูตรขนคูถเข้าไปโปะทองคำทั้งแท่ง กลบหมดเลยให้มีแต่มูตรแต่คูถเต็มตัว ทองคำไม่ให้เห็นเลย นี่จะไม่ให้เห็นนิพพาน เอาอัตตาเอาอนัตตาเข้าไปเป็นมูตรเป็นคูถเข้าไปโปะเอา ๆ หมดเลย

ก็มันไม่ได้ปฏิบัติ เรียนตามคัมภีร์ใบลานเฉย ๆ เราก็เรียนมาแล้วเราถึงกล้าพูดได้ ใครจะเรียนสูงเรียนต่ำเรียนมากเรียนน้อยก็ตาม ถ้าไม่ได้ปฏิบัติแล้วก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เรียนบาปสงสัยบาป เรียนบุญสงสัยบุญ เรียนนรกสงสัยนรก เรียนสวรรค์สงสัยสวรรค์ เรียนนิพพานสงสัยนิพพาน สุดท้ายเรียนมาเต็มหัวอกความสงสัยเต็มหัวใจ ไม่มีอะไรยึดเป็นของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นการเรียนมากเรียนน้อยจึงถือประมาณไม่ได้นะถ้าไม่นำออกปฏิบัติ ถ้านำออกปฏิบัติก็เหมือนตามรอยโค โคไปไหนตามเลยก็จะถึงตัวโค นี่ก็เหมือนกันภาคปฏิบัติเป็นภาคตัดสินได้เลย ภาคอื่นตัดไม่ได้ ความจำเป็นแนวทาง

เหมือนแบบแปลนของเรา แปลนนี้จะสร้างจะทำสักเท่าไรก็ได้เต็มศาลาก็ได้ก็เป็นแปลนทั้งหมด ไม่ได้เป็นบ้านเป็นเรือนให้ เมื่อดึงแปลนนี้ออกมา แปลนนี้ชี้แจงว่ายังไงจะทำยังไง ตึกรามบ้านช่องหรืออะไรก็ตาม กี่ชั้นกี่ห้องกี่หับ ความกว้างความแคบแปลนเขาบอกไว้เรียบร้อยแล้ว เอานี้ออกไปกางปุ๊บใส่ลงไป แล้วก็จะเริ่มปรากฏตัวขึ้นมาตั้งแต่เริ่มวางรากฐานของตึกรามบ้านช่องขึ้นไป เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงคานถึงตัวตึกสำเร็จ นี่เป็นภาคปฏิบัติ ปฏิเวธก็คือเห็นชัด ๆ อยู่นี้ เวลานี้กำลังวางรากฐานก็เห็นอยู่นี้ ขึ้นถึงไหนแล้ว ปฏิเวธคือความรู้ ความรู้ไปตามลำดับ ความรู้ผลของมันไปตามลำดับ ก็เห็นไปเรื่อย ๆ เห็นจนกระทั่งถึงตึกนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

การศึกษาเล่าเรียนถ้าเทียบก็เหมือนกับว่าแปลนบ้าน ปฏิบัติทีนี้ดำเนินงานปลูกบ้าน ปฏิเวธก็คือว่าคอยดูผลของมันเป็นยังไง เวลานี้ได้ถึงไหน ๆ แล้ว ปฏิเวธก็รู้ไปตามลำดับ เวลานี้เทคานแล้ว เวลานี้กำลังวางนั้น ๆ ขึ้นไป ปฏิเวธก็รู้ไปตามลำดับจนกระทั่งถึงบ้านสำเร็จเต็มภูมิแล้วปฏิเวธก็รู้ อ๋อ บ้านนี้เรียบร้อยแล้ว เข้าใจเหรอ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สืบเนื่องกันอยู่นี้

ศาสนาเราทุกวันนี้มีแต่ศาสนาขาดบาทขาดตาเต็ง ไม่ว่าท่านว่าเรานะ ศาสนาไม่ได้เต็มบทเต็มบาท ศาสนาขาดบาทขาดตาเต็งเวลานี้ มีแต่ภาคปริยัติ เรียนจำได้มากน้อยเพียงไรก็เอาน้ำลายมาโปะกัน ๆ ว่าข้าเรียนได้มากเท่านั้นเท่านี้ ได้แต่ความจำกิเลสไม่ได้ถลอกปอกเปิก ถ้าความจริงจับเข้าไปตรงไหนกิเลสเริ่มไหวตัวนะ จับเข้าไปมากเท่าไร ๆ กิเลสก็เริ่มร้อนละที่นี่ ร้อน ๆ แล้วไล่ขับออกได้หมดด้วยภาคปฏิบัติ ปฏิเวธธรรม ปฏิเวธคือความรู้ ฆ่ากิเลสได้มากน้อยเพียงไรก็รู้ไปโดยลำดับ จนกระทั่งกิเลสมุดมอดหมดไม่มีเหลือทำไมจะไม่รู้ ก็ปฏิบัติเพื่อรู้แท้ ๆ

ภาคปฏิบัติเท่านั้นจะตัดสินศาสนาพุทธได้นะ เพียงภาคปริยัติตัดไม่ได้ว่างี้เลย ยันได้เลย เพราะเรียนเราก็เรียนมาแล้ว โอ๋ย แบกความสงสัยไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่นเราไม่ลืมนะ เพราะความมุ่งมั่นที่จะหวังมรรคผลนิพพาน มุ่งมั่นเต็มหัวใจอยู่แล้ว แต่ยังสงสัย ฟังซิน่ะ ทั้ง ๆ ที่เรียนไปถึงนิพพานนะ แต่ยังสงสัยว่า เอ๊ สมัยนี้มรรคผลนิพพานจะยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่นา นั่นเห็นไหม ขอให้ท่านผู้ใดมาชี้แจงให้เราทราบว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่อย่างสมบูรณ์นี้แล้ว เราจะกราบมอบชีวิตจิตใจกับครูบาอาจารย์องค์นั้น แล้วเราจะปฏิบัติให้ถึงขีดถึงแดนให้ถึงมรรคผลนิพพานนั้น แบบเอาตายสู้เลย

พอไปถึงหลวงปู่มั่น ท่านก็ใส่เปรี้ยงเลยเทียว หือ ท่านเอาเลยนะ เพราะท่านเอาเรดาร์จับไว้แล้วนี่นะ หือ ท่านมาหาอะไร ท่านมาหามรรคผลนิพพานเหรอ อะไรเป็นมรรคผลนิพพาน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ดินฟ้าอากาศแร่ธาตุต่าง ๆ ทั่วสามแดนโลกธาตุนี้ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่กิเลส ตัวกิเลสจริง ๆ ตัวมรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่ใจ ให้ปฏิบัติใจ เอาละที่นี่ชี้เข้ามาหาใจ อยู่ที่นี่นะ มรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่ ธรรมอยู่ที่นี่ ไม่อยู่ที่เหล่านั้น ให้ปฏิบัติใจให้เกิดความสงบร่มเย็นเข้าไปโดยลำดับนะ เอาใจเท่านั้นนะ

แต่นั้นก็มีข้อแม้อันหนึ่งว่า เออ นี่ท่านมหาก็เรียนมามากพอสมควรจนถึงขั้นเป็นมหา อย่าว่าผมตำหนิติเตียนธรรมพระพุทธเจ้านะ ธรรมที่ท่านเรียนมามากน้อยเวลานี้ยังไม่เกิดประโยชน์ ขอให้ท่านยกบูชาไว้ก่อน ให้ท่านเน้นหนักทางภาคปฏิบัติให้มาก เมื่อเวลาถึงขั้นปริยัติที่ท่านเรียนมากับปฏิบัติจะวิ่งเข้าหากันแล้วเอาไว้ ไม่อยู่ จะวิ่งประสานกัน เอาไว้ไม่อยู่ โอ๋ย มันเป็นจริง ๆ นะ พอถึงขั้นสติปัญญาเกรียงไกรแล้ว ปริยัติกับปฏิบัตินี้วิ่งใส่กันเลย เอาไว้ไม่อยู่เหมือนกันนะ มันหากเป็นของมันเอง ดีดใส่กันพับ เอาปริยัติมาอ้างมาอิง ทางภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ภาคปริยัติเป็นยังไง มันจะวิ่ง สงสัยตรงจุดไหน ๆ ปริยัติท่านว่ายังไง มันวิ่งเข้ามาใส่กันผึง ๆ เลย นี่พ่อแม่ครูจารย์ชี้ให้เห็น

จึงว่าเรียนมากเรียนน้อยไม่พ้นความสงสัยนะ ใครอย่าเข้าใจว่าใครเรียนมากเรียนน้อยนั้นจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์นะ ไม่ได้เป็น ว่างี้เลย เราก็เรียนมาแล้วนี่ ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ถ้าธรรมดาเรื่องที่ยึดที่เกาะนี้ผู้เรียนมากเรียนน้อยมันพอ ๆ กัน ดีไม่ดีผู้เรียนมากนี่ทิฐิมานะยิ่งสูงจรดฟ้า หนายิ่งกว่าคนไม่ได้เรียนเสียอีกถ้าไม่ได้ปฏิบัติ แต่ถ้าปฏิบัตินี้จะถอนตัวออกเรื่อย ๆ กระจายออก ๆ เรื่อย จนกระทั่งถึงว่าเด็ดเลยว่างั้นเถอะนะ ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า ธรรมอันใดที่ทรงสอนไว้แล้วสอนไว้แล้วโดยถูกต้อง พอเราเจอเข้าไปพับยอมรับทันที ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว กราบพระพุทธเจ้านะ แต่เรายังไม่เห็นก็เป็นปัญหาอยู่

พอเราเจอเข้าจุดไหน ๆ เท่านั้น อ๋อ ๆ เรื่อย ๆ นั่นภาคปฏิบัติเป็นที่แน่ใจ ปริยัตินี่ไม่ได้ นอกจากเป็นหนอนแทะกระดาษ เขาก็เรียนเราก็เรียน เรียนไปเรียนมาเลยเอาความจำนั้นมาเป็นมรรคผลนิพพานเสีย ไม่ได้เอาความจริงเป็นมรรคผลนิพพานล่ะซี ศาสนาจึงขาดบาทขาดตาเต็งเวลานี้ ศาสนาไม่ได้เต็มบาทเต็มเต็งนะ ได้แต่ปริยัติมาโม้กันภาคปฏิบัติไม่เคยสนใจ ไม่ว่าฆราวาสไม่ว่าพระ ปฏิบัติให้มันรู้ตามนั้นซี นี่เรียกว่าเริ่มจะเต็มละนะ พอปฏิบัติเข้าไปปฏิเวธก็จะมาตาม ๆ กัน ก็เป็นศาสนาเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าศาสนามีทั้งปริยัติมีทั้งปฏิบัติแล้วปฏิเวธไม่ต้องถาม มาด้วยกัน แล้วก็เต็มบาท อันนี้มีแต่ภาคปริยัติ เรียนจำได้เฉย ๆ กิเลสไม่ได้ถลอกปอกเปิกจากความเรียนนะ ต้องถลอกปอกเปิกหรือขาดสะบั้นไปจากการปฏิบัติต่างหาก

เอาละนะที่นี่นะ

- จบ -

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,713 times, 2 visits today)

Comments are closed.