mp 3 (for download) : ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : ผู้ใดเข้าใจอริยสัจจ์ก็จะข้ามภพข้ามชาติ ใครไม่เข้าใจอริยสัจจ์ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด เข้าใจย้ากยาก ฟังเหมือนเข้าใจง่าย
ยกตัวอย่างบอกว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ กายกับใจเป็นทุกข์ ฟังแล้วง่ายใช่มั้ย แต่กว่าจะรู้สึกว่ากายกับใจเป็นทุกข์นั้นยากที่สุดเลย เพราะเรารู้สึกว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จิตเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราไม่ได้เห็นเลยว่ากายกับใจเป็นทุกข์ล้วนๆน่ะ เราไม่เห็นน่ะ เนี่ยเรียกว่าเราไม่รู้ทุกข์
หรือเราเห็นว่า ถ้ามีตัณหาแล้วจิตจะมีความทุกข์ คือมีความอยากขึ้นมานะ จิตดิ้นรนขึ้นมาแล้วจิตทุกข์ แต่กับคนทั่วไปอย่างนี้ก็ไม่เห็นนะ คนทั่วไปเห็นว่ามีความอยากยังไม่ทุกข์ ถ้าไม่สมอยากถึงจะทุกข์ แต่ถ้าสมอยากแล้วมีความสุข เนี่ย(ปัญญา-ผู้ถอด)ตื้นขนาดนี้
ผู้ปฏิบัติเห็นว่า ถ้ามีความอยากถึงจะมีความทุกข์ นี่ก็ยังตื้นนะ ยังไม่ใช่รู้ธรรมะแท้ๆ ถ้ารู้ธรรมะแท้ๆเราจะรู้เลย จะมีความอยากหรือไม่มีความอยาก ขันธ์ก็เป็นทุกข์ กายนี้ใจนี้ก็เป็นทุกข์ล้วนๆโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ถ้ามีความอยากซ้ำขึ้นมา อยากให้ขันธ์มีความสุข อยากให้ขันธ์พ้นทุกข์ล่ะก็ จิตใจจะดิ้นรนและมีความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งนะ เรียกว่าทุกข์ซ้อนทุกข์ ทุกข์แล้วทุกข์อีก ทุกข์ไม่เลิก
นิโรธ นิพพาน ก็ไม่เข้าใจ ตอนที่หลวงพ่อเรียนสมัยเด็กๆ กระทรวงศึกษาฯแต่งตำรา นิพพานแปลว่าตาย นิโรธก็คือนิพพาน เพราะฉะนั้นนิโรธคือตาย เราก็บอก เออ! ทุกข์ สมุทัย มรรค อะไรนี้นะ ไม่น่ารังเกียจนะ แต่นิโรธนี้น่ารังเกียจที่สุดเลย ขอไม่เอา ภาวนาขอไม่เอานิพพานนะ กลัวตาย
นิโรธนี้ก็ลึกซึ้งนะ นิโรธ พวกเราแปลตามตำราก็ว่า “ความดับทุกข์” แต่ในสภาวะ ถ้าเราภาวนาจนจิตหลุดพ้นแล้ว เราไม่รู้สึกว่าดับทุกข์หรอก แต่เรารู้สึกพ้นทุกข์ พระอรหันต์ที่ยังดำรงขันธ์อยู่เนี่ยนะ นิโรธเนี่ยคือความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความดับทุกข์ เพราะว่าอะไร เพราะว่าขันธ์ยังอยู่ ขันธ์เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ของพระอรหันต์ก็ทุกข์เช่นเดียวกันกับขันธ์ของญาติโยมทั้งหลายนั่นเอง
เพราะฉะนั้นนิโรธไม่ใช่ความดับทุกข์ แต่เป็นความพ้นทุกข์ หมายถึงจิตมันพ้นออกจากขันธ์ จิตมันไม่ยึดถือขันธ์ เพราะฉะนั้นขันธ์จะแปรปรวนอย่างไร จิตไม่ทุกข์ด้วย
มรรคก็เหมือนกันนะ เข้าใจยาก มรรคของเรามี ๘ ถ้ามรรคมี ๘ ก็เรียกว่ามักมาก มรรคในความเป็นจริงมี ๑ มรรคมี ๑ แต่มีองค์ประกอบ ๘ คล้ายๆแมงมุม ๑ ตัว มีขา ๘ ขา ไม่ใช่ขา ๑ ขา คือแมงมุม ๑ ตัว ขา ๒ ขา คือแมงมุม ๑ ตัว ไม่ใช่ เนี่ยธรรมะนะลึก ลึกมาเลย ค่อยๆเรียนไป ค่อยๆเรียน
หรืออย่างนิโรธนะ นิโรธ นิโรธพอลึกซึ้งถึงที่สุดเนี่ย แปลว่าความไม่เกิดขึ้นของทุกข์ ความไม่เกิดขึ้นอีกของทุกข์ อันนั้นเป็นพระอรหันต์ที่นิพพาน(หมายถึง ดับขันธปรินิพพาน – ผู้ถอด)แล้ว ไม่มีความเกิดขึ้นอีกของทุกข์ เพราะฉะนั้นเราแปลว่าดับทุกข์ๆ เราก็คิดว่าเหมือนไฟไหม้นะ ไหม้ขึ้นมาแล้วหมดเชื้อแล้วมันก็ดับไป แต่โดยสภาวะแล้ว ถ้ายังดำรงขันธ์อยู่มันก็พ้นทุกข์ ถ้าสิ้นขันธ์ไปแล้วก็คือ ทุกข์ไม่เกิดอีก คือความไม่เกิดขึ้นของทุกข์
CD: ศาลาลุงชิน ครั้งที่ ๑๕
File: 501118.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๔ ถึง นาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๒๗
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่