ตามรู้…คำเดียวกันความหมายต่างกัน
ได้สนทนากับคุณพิมพ์ทอง
เรื่องคำสอนหลวงปู่เทสก์ ตาม link
http://www.thewayofdhamma.org/page2/moradok26.html
จึงขอนำมาเก็บเป็นบันทึกไว้ดังนี้
………………………………………………..
จริงๆ แล้วผมไม่อาจยกเอาสอนหลวงปู่เทสก์
มาขยายความต่อเลยครับ เพราะผมเอง
ไม่ได้ศึกษาธรรมหลวงปู่เทสก์มาก่อน
แต่จากการอ่าน link ที่ให้ไว้เมื่อครู่นี้
ผมเข้าใจว่า หลวงปู่เทสก์แสดงธรรม
ได้ถูกต้องและชอบแล้วเป็นอย่างยิ่ง…(สาธุ)
.
ผมเข้าใจว่าเจตนาของคุณพิมพ์ทอง
จึงน่าจะต้องการให้อธิบายว่า
มีความสอดคล้องหรือไม่อย่างไร
กับที่หลวงพ่อปราโมทย์แสดงธรรมไว้
เพราะมีคำหลวงปู่เทสก์ที่ว่า “ตามรู้”
ซึ่งอ่านแล้วเข้าใจว่า ไม่ใช่การปฏิบัติที่ถูกต้อง
แต่หลวงพ่อปราโมทย์แสดงธรรมไว้ว่า “ให้ตามรู้”
ซึ่งเหมือนกับว่าหลวงพ่อปราโมทย์สอนผิด
แต่ผมเข้าใจว่า หลวงพ่อปราโมทย์แสดงธรรม
ได้ถูกต้องและชอบแล้วเป็นอย่างยิ่ง…(สาธุ)
.
ดังนั้น การใช้คำเดียวกันว่า “ตามรู้”
ของหลวงปู่เทสก์ กับ หลวงพ่อปราโมทย์
เป็นการใช้คำเดียวกัน
แต่มีความหมายต่างกันครับ
.
ทีนี้ก็มาดูกันว่า
ใช้คำเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกันอย่างไร
.
ความหมายต่างกันตรงที่…
หลวงปู่เทสก์แสดงธรรมไว้
ตามวิธีแบบแผนของสายพระป่า
ซึ่งเป็นวิถีแบบแผนที่เป็นที่ยอมรับ
กันอย่างแพร่หลายว่า
นำไปสู่มรรคผลนิพพานได้จริง
ผมเองก็มีความเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อโต้แย้งเลย
.
ส่วนที่หลวงพ่อปราโมทย์แสดงธรรมนั้น
เป็นการแสดงธรรมตามวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป
คือเป็นแนวทางที่ใช้การฝึกสติให้มีจิตตั้งมั่น
ด้วยการหัดรู้สภาวะของกายของจิต (สภาวะรูปนาม)
ซึ่งในกรณีหัดรู้ใจสภาวะทางจิตนี้
จะต้องให้เกิดจิตที่มีสภาวะธรรมต่างๆขึ้นก่อน
แล้วจึงหัดระลึกอย่างมีสติไป จนจิตมีความตั้งมั่น
.
การที่ “ต้องให้เกิดจิตที่มีสภาวะธรรมต่างๆขึ้นก่อน
แล้วจึงหัดระลึกอย่างมีสติไปจนจิตมีความตั้งมั่น” นี้
หลวงพ่อปราโมทย์จะใช้สำนวนว่า “ตามรู้ตามดู”
ซึ่งไม่ได้หมายถึง
การปล่อยให้จิตส่งออกตามอารมณ์ไปอย่างไม่สิ้นสุด
(ไม่ได้หมายถึง ตามรู้ตามเห็นอาการของจิต
ดังที่หลวงปู่เทสก์แสดงธรรมไว้นั่นเอง)
.
ในการตามรู้ตามดู
ดังที่หลวงพ่อปราโมทย์แสดงธรรมนั้น
ถ้าเมื่อไรที่หัดรู้สภาวะจนจิตจำสภาวะนั้นๆ ได้
จิตจะเกิดสติ มีความตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ
แทนที่จิตที่ส่งออกตามอารมณ์ซึ่งเพิ่งดับไป
.
เช่น เมื่อจิตเกิดโทสะ
จิตจะส่งออกไปกับอารมณ์โทสะ
ซึ่งเมื่อเกิดโทสะแล้วหากมาหัดรู้หัดดูจิตที่มีโทสะ
(ตามหลักการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ที่ว่า จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ)
เมื่อหัดรู้ไปจนจิตจำสภาวะมีโทสะได้
จิตที่ส่งออกไปกับอารมณ์โทสะจะดับไป
แล้วเกิดเป็นจิตที่มีสติมีความตั้งมั่นขึ้นมา
เมื่อจิตมีสติมีความตั้งมั่นขึ้นมาได้
จิตก็จะเกิดความสงบ ประหนึ่งถูกควบคุมไว้
ด้วยกำลังของสติและสมาธิ ดังที่หลวงปู่เทสก์
แสดงธรรมถึง “การควบคุมจิต” นั่นเอง
.
ถึงตรงนี้ เส้นทางการภาวนาที่ต่างเส้นทางกัน
ก็จะมาบรรจบกัน คือเมื่อจิตมีสติมีความตั้งมั่น
จิตผู้รู้ก็จะสามารถรู้รูปนามจนเห็นไตรลักษณ์ได้ต่อไป
แต่แม้เส้นทางจะมาบรรจบกันแล้ว
ก็จะยังมีความต่างกันคือ
จิตที่มีสติมีความตั้งมั่น ที่เกิดจากการปฏิบัติ
ตามวิธีแบบแผนสายพระป่าจะเรียกกันว่า “จิตผู้รู้”
จิตผู้รู้นี้จะเกิดดับต่อเนื่องกันได้นานนับขั่วโมง
นับวันหรือหลายวันตามกำลังของสมาธิ
แต่จิตที่มีสติมีความตั้งมั่น ที่เกิดจากการปฏิบัติ
ตามวิธีที่หลวงพ่อปราโมทย์สอนนั้น
จะเกิดดับได้เพียงชั่วขณะหรือเป็นจิตที่มีขณิกสมาธิ
ซึ่งเมื่อหัดให้จิตเกิดสติเกิดความตั้งมั่นอยู่เนืองๆ
จิตก็มีคุณภาพเพียงพอในการรู้รูปนามจนเกิดปัญญาได้ต่อไป.
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่