อย่าสร้างผลโดยไม่ทำเหตุ แต่ให้ทำเหตุไว้แล้วผลจึงจะเกิดขึ้น
การปฏิบัติภาวนานั้น เราย่อมมุ่งหวังผล
แรกเริ่มก็มุ่งหวังให้เกิดสติ เกิดจิตตั้งมั่น
ต่อไป ก็ให้เห็นไตรลักษณ์
ไปจนที่สุดคือให้เกิดมรรคจิต เกิดผลจิต พ้นทุกข์จริงๆ
หรือบางคนก็มุ่งหวัง โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล
อนาคามีผล อรหัตตผล ไปตามลำดับ
แต่ในระหว่างการศึกษาปฏิบัติภาวนา
ในระหว่างที่ยังเป็นผู้ที่ต้องศึกษาเพราะยังไม่จบกิจที่พึงกระทำ
ยังต้องหัดรู้ทุกข์ ยังต้องหัดเจริญมรรค
เพื่อจะละสมุทัย เพื่อจะให้แจ้งนิโรธ
ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า …
ผลต่างๆ ตามที่มุ่งหวังกันอยู่นั้น
หาใช่ได้มาเพราะลงมือลงแรงปรุงแต่งสร้าง”ตัวผล”นั้นขึ้นมาตรงๆ
แต่ตัวผลนั้น เกิดขึ้นได้เพราะ
การหมั่นทำหมั่นสร้างเหตุปัจจัยของผลนั้น
เมื่อเหตุปัจจัยบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวงแล้ว
ผลที่มุ่งหวังก็จะเกิดขึ้นเอง
ในการหมั่นทำหมั่นสร้างเหตุปัจจัยอยู่นี้
หากเราพลาดไปสร้าวตัวผลตรงๆโดยไม่สร้างเหตุ
การภาวนาก็จะผิดพลาดไปเพราะตัวผลที่เราสร้างมันขึ้นมา
มันก็จะเป็นผลเทียม เป็นผลยังไม่เที่ยง ยังเป็นการหลงไปยึดถืออยู่
แล้วก็การลงมืลงแรงสร้างตัวผลขึ้นมานั้น
ก็ไม่ใช่การทำเหตุปัจจัยให้แจ้งอริยสัจหรือให้เกิดมรรคผล
บางคนพอได้ยินได้ฟังว่า
พระอรหันต์ท่านจะไม่หลง ไม่ขาดสติ ไม่เผลอลืมตัวไปเลย
ก็จะ “พยายามที่จะไม่ให้หลง”
แล้วพอไปได้ยินคนอื่นคุยกันว่า …
“ในการเจริญสตินั้น อย่าพยายามไม่ให้หลง
แต่พอหลงไปแล้ว ให้รู้ว่า เมื่อกี้หลงไป
เพราะถ้าขืนพยายามไม่ให้หลง ก็จะกลายเป็นการข่มบังคับจิต”…
ก็เกิดความเข้าใจผิดไปว่า
การพยายามไม่ให้หลงด้วยการกดข่มบังคับจิต เป็นการปฏิบัติภาวนาที่ผิดๆ
ซึ่งก็คงเข้าใจผิดไป เพราะไปเอาตัวผลมาทำโดยไม่ทำเหตุนั่นเอง
ทั้งที่จริงแล้ว
การไม่พยายามบังคับกดข่มจิตใจเพื่อไม่ให้หลงไปนั้น
เป็นหลักๆ หนึ่ง ในการเจริญสติด้วยการหัดรู้สภาวะทางใจ
ที่มีหลักในเบื้องต้นอยู่ว่า
“จิตเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ชัดว่าจิตเป็นอย่างนั้น”
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตหลงไปก็ให้รู้ชัดว่าจิตหลงไป
ไม่ใช่ไปฝืนบังคับกดข่มจิตไม่ให้หลง
ขอให้เข้าใจว่า
จิตที่เผลอหลงไป เป็นจิตทั่วไปตามปกติธรรมดาของปุถุชนทุกคน
ส่วนการหัดรู้สภาวะของจิตที่เป็นไปตามปกติธรรมดานั้น
ก็คือการทำเหตุ เป็นการสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลคือ
เกิดจิตที่มีสติ มีความตั้งมั่น อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง
แล้วเมื่อเกิดจิตที่มีสติ มีความตั้งมั่นบ่อยๆ ต่อเนื่องไปได้ตามกำลัง
ก็จะเจริญต่อไปเป็น สามารถรู้สภาวธรรมอื่นๆ
ทั้งที่เป็นสภาวะทางกายและทางใจ
ได้ด้วยจิตที่มีสติ มีความตั้งมั่นเช่นกัน
การรู้สภาวธรรมต่างๆ ได้ต่อเนื่องอย่างมีสติ มีความตั้งมั่น
อันเป็นผลมาจากการหัดรู้สภาวะในเบื้องต้น
ก็จะกลายมาเป็นเหตุปัจจัยให้เห็นความเกิดดับของรูปนาม
เห็นความเกิดดับของขันธ์ ๕
เห็นขันธ์ ๕ ที่เป็นอุปาทานขันธ์
ซึ่งก็เท่ากับเป็นการ “รู้ทุกข์” อันเป็นกิจของอริยสัจนั่นเอง
การรู้ทุกข์ รู้ความเกิดดับ
รู้ความไม่เที่ยง (รู้อนิจจัง) ของขันธ์ ๕
รู้ความถูกบีบคั้นให้ทนอยู่ไม่ได้ (รู้ทุกขัง) ของขันธ์ ๕
รู้ความไม่ควรยึดถือเอาขันธ์ ๕ มาเป็นตัวตนเป็นของตน
รวมแล้วก็คือ ผลในเบื้องกลางของการหัดรู้สภาวธรรมทั้งทางกายและทางใจ
และผลในเบื้องกลางนี้เอง ที่เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลในเบื้องปลาย
คือขณะจิตใดที่การทำเหตุด้วยการรู้ทุกข์ เต็มพร้อมบริบูรณ์
ก็จะเกิดปัญญาเต็มพร้อมบริบูรณ์ เกิดมรรคจิต เกิดผลจิตขึ้น
^_^
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่