อนัตตา กับ สักกายทิฏฐิ
เป้าหมายแรกๆ ที่นักภาวนานึกถึงกันย่อมหนีไม่พ้น
การละสักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องต้นหนึ่งในสาม
ที่หากใครละได้ขาดจริงๆ
(ละได้พร้อมกับสังโยชน์เบื้องต้นอีกสองอย่าง)
ก็ได้ชื่อว่าเป็น พระโสดาบัน นั่นเอง
.
มาดูกันว่า สักกายทิฏฐิ คืออะไร
สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน
คือความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตน
โดยมุ่งเน้นเฉพาะ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนในขันธ์ 5
ความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเป็นตน
หรือพูดง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้าน ก็คือ
เห็นผิดว่ามีตัวมีตนอยู่ในร่างกายจิตใจคนเรา
เห็นผิดว่าร่างกายจิตใจของคนเราเป็นตัวเป็นตน
.
งง… ไม่เป็นไร งงก็รู้ว่างงไปก่อน
แล้วค่อยๆ อ่านต่อไปสบายๆ
จะหายงงหรือไม่หายก็ช่างมัน
วันนี้ยังงง วันข้างหน้าคงจะหายงงได้เองแหละ
.
ความเป็นผิดว่ามีตัวมีตน เป็นตัวเป็นตน นั้น
เราชอบพูดกันว่า มีอัตตา เป็นอัตตา
ซึ่งโดยลักษณะของธรรมชาติตามที่เป็นจริงแล้ว
“อัตตา ไม่เคยมีอยู่จริงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว”
ลักษณะของธรรมชาติตามที่เป็นจริงนั้นมีแต่ “อนัตตา”
อัตตา กับ อนัตตา จึงเป็นเรื่องตรงข้ามกันอยู่สองข้าง
.
ข้างหนึ่ง (ข้างอัตตา) เป็นเพียงเรื่องเหลวไหลเท่านั้น
เป็นเรื่องที่คนเราเข้าใจผิดเห็นผิดๆไปกันเองว่า
มีตัวมีตนเป็นตัวเป็นตนอยู่ในร่างกายจิตใจนี้
หรือร่างกายจิตนี้แหละที่เป็นตัวเป็นตน
ซึ่งภาษาแขกเรียกว่า “อัตตานุทิฏฐิ”
หากแต่เรื่องเหลวไหลเรื่องที่เข้าใจผิดเห็นผิดนี้
กลับเอิบอาบซึมซาบอยู่กับจิตใจคนทั่วๆไป
จะมีก็แต่เพียงผู้ที่เป็น อริยบุคคล
คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เท่านั้น
ซึ่งเป็นผู้ไม่มีความเห็นผิด ไม่มีความเข้าใจผิด
กับเรื่องเหลวไหลอันนี้อีกต่อไป
.
ส่วนอีกข้างหนึ่ง (อนัตตา)
เป็นข้างของเรื่องจริง เป็นข้างของลักษณะที่แท้จริง
แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก
เพราะถูกเรื่องข้างที่เป็นอัตตาปกปิดบิดบังไว้อย่างมิดชิด
การจะเรียนให้รู้ว่าข้างที่เป็นอัตตาจริงๆ นั้นไม่มี
ก็ต้องเรียนให้รู้ว่า ข้างที่เป็นอนัตตานั้นเป็นอย่างไรกันแน่
.
แล้วจะเรียนอย่างไรละ จึงจะเข้าใจว่า
สิ่งที่เป็นอัตตาจริงๆ นั้นไม่มีหรอก มีแต่สิ่งที่เป็นอนัตตา
ในฐานะและมีโอกาสที่ได้เป็นชาวพุทธ
เราก็ต้องเรียนจากพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
ฟังซิว่าพระพุทธเจ้าบอกว่า อนัตตาเป็นอย่างไร
แล้วจึงค่อยๆ ฝึกสติ ฝึกจิตให้มีความตั้งมั่น
เพื่อจะได้เห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าบอกเอาไว้
.
แต่น่าเสียดายนะที่ คนเราในยุคนี้เวลานี้
ไม่มีโอกาสได้ฟังเรื่องอนัตตาจากพระพุทธเจ้าองค์เป็นๆ แล้ว
คงเหลือแต่ร่องรอยคำบอกเล่าของพระอริยสงฆ์ที่บันทึกเอาไว้
ซึ่งก็ต้องหาอ่านเอาจาก “พระไตรปิฎก” บ้าง
หาอ่านหาฟังเอาบ้างจากครูบาอาจารย์
ผู้ที่ท่านแจ่มแจ้งแล้วเข้าใจแล้วและยังมีชีวิตอยู่
ซึ่งก็ยังพอเป็นหนทางช่วยทำให้เข้าใจได้ว่า
อนัตตา เป็นอย่างไรกันแน่
.
บันทึกเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องราวที่บันทึกไว้
จากที่ร่ำเรียนมา ได้ความว่า….
สิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นร่างกายจิตใจตัวเอง
หรือไม่ว่าจะเป็นของผู้อื่น ตลอดไปจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย
จะมีลักษณะดังนี้
.
1. เป็นเพียงสิ่งที่ประกอบรวมกันของสิ่งอื่นๆ
คนหนึ่งคน สัตว์หนึ่งตัว ก็ล้วนประกอบมาจาก
ร่างกาย ส่วนหนึ่ง
กับจิตใจอีกส่วนหนึ่ง ที่ยังแยกย่อยออกเป็น
ความเจ็บปวด-สุขสบาย (ทุกข์-สุข)
ความจำ ความนึกคิด ความรับรู้ต่างๆ
จริงไม่จริงก็ย้อนกลับมาดูเอาเถอะ
ถ้าจับแยกย่อยส่วนประกอบต่างๆ ออกไปไว้คนละที่กัน
ที่เคยเป็นคนเป็นสัตว์ ก็จะไม่เห็นว่าเป็นคน ไม่เห็นว่าเป็นสัตว์อีก
คน สัตว์ จึงเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบต่างๆ เท่านั้น
หรืออย่างร่างกาย ก็แยกชื้นส่วนออกไปได้เป็น
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เลือด ฯลฯ
และถ้าจะแยกอย่างละเอียดก็ได้เป็น
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แยกไปแล้วมีแต่ธาตุ
มีไหมคน มีไหมสัตว์ ไหนละคน ไหนละสัตว์
หรือจะแยกง่ายๆ จะคนหรือสัตว์
ก็มีแต่ร่างกายและจิตใจมาประกอบรวมกัน
ให้สมมุติเรียกเป็นคนเป็นสัตว์เท่านั้นเอง
.
2. เป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่
ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง
ไม่มีใครจะครอบครองเอาไว้ได้อย่างแท้จริง
ดูออกหรือเปล่าละว่า
ร่างกายนี้ จิตใจนี้ ใครเป็นเจ้าของ
แล้วใครครอบครองเอาไว้ได้
แน่ใจเหรอว่าเราเป็นเจ้าของเราครอบครองเอาไว้ได้
อย่างมากก็แค่เหมือนว่าจะเป็นเจ้าของ
หรือแค่เหมือนว่าจะครอบครองไว้ได้
แต่ท้ายที่สุดร่างกายก็ต้องตาย ครอบครองรักษาเอาไว้ไม่ได้
ส่วนความเจ็บปวด-สุขสบาย (ทุกข์-สุข) ยิ่งเห็นได้เร็วกว่าอีกว่า
ไม่มีใครหรอกที่ครอบครองรักษาความสุขสบายไว้ได้ตลอดกาล
ความทรงจำ ความนึกคิด ความรับรู้ต่างๆ
ก็ไม่เห็นจะมีใครครอบครองรักษาเอาไว้ได้ตลอดกาลเช่นกัน
ทุกอย่างที่เกิดปรากฏขึ้นแล้วย่อมต้องเสื่อมดับลงไปเป็นธรรมดา
ไม่ยอมให้ใครมาครอบครองรักษาเอาไว้ได้เลย
จริงไม่จริงก็ดูเอาซิ
.
3. ไม่เคยมีใครจะบังคับบัญชาร่างกายจิตใจใครได้เลย
แม้แต่ที่เห็นว่าเป็นร่างกายจิตใจตัวเอง
ตัวเองก็ไม่เห็นจะบังคับบัญชาร่างกายจิตใจนี้ได้ตามต้องการเลย
ยามเจ็บป่วย จะให้หายก็ทำไม่ได้
ยามแก่ จะให้กลับมาหนุ่มสาวใหม่ก็ทำไม่ได้
ยามเศร้าโศกเสียใจ จะให้กลายเป็นสุขใจดีใจในฉับพลับก็ไม่ได้
เห็นหรือไม่ว่า
ร่างกายนี้ จิตใจนี้ จะเป็นอะไร จะเป็นอย่างไรก็ตาม
ไม่เคยเลยที่ใครจะทำให้เป็นอีกอย่างได้ดั่งใจจริงๆ
.
4. เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอื่นๆ
ต้องอิงอาศัยสิ่งอื่นให้เกิดขึ้น ให้ตั้งอยู่ก่อนที่จะต้องเสื่อมดับไป
ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นไป ไม่ได้คงทนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเองล้วนๆ
จะมีร่างกายขึ้นมา ก็ต้องอาศัยเหตุต้องอาศัยมีพ่อมีแม่ทำให้เกิดขึ้น
มีร่างกายขึ้นมาแล้ว ก็ต้องอาศัยอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ หยูกยา
และอาศัยอะไรอีกตั้งมากมายจึงจะคงอยู่ได้สักช่วงเวลาหนึ่ง
จะมีความสุขก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาทำให้มีความสุข
จะเกิดความทุกข์ก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาให้เกิดความทุกข์
ถ้าไม่อาศัยสิ่งภายนอก ก็ยังต้องอาศัยร่างกายจิตใจตัวเองนี่แหละ
ไม่งั้นความสุข ความทุกข์ ความยินดี ความพึงพอใจ
หรือกระทั่งความโลภ โกรธ หลง จึงจะเกิดขึ้นมาให้รับรู้ได้
มีหรือร่างกายที่ไม่ต้องกินไม่ต้องอาศัยอะไรเลย
มีหรืออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ
ที่จะเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยทำให้เกิด
เพราะอย่างน้อยก็ต้องอาศัยร่างกายจิตใจตัวเองนี่แหละ
ทำให้เกิดหรือเป็นที่ที่ยอมให้อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นได้
.
นี่แหละคือลักษณะที่แท้จริงของร่างกายจิตใจสรรพสัตว์ต่างๆ
เป็นลักษณะที่เรียกว่า “อนัตตา” ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับอัตตา
ถ้าเข้าใจได้ และเห็นได้จริง ยอมรับได้จริง
โดยไม่มีอะไรจะโต้แย้งแม้เพียงเศษเสี้ยวใดๆ ก็ตาม
จะทำให้ “สักกายทิฏฐิ” ที่เอิบอาบซึมซาบอยู่กับจิตใจ
จะทำให้ อะไรๆ ที่เป็นความเข้าใจผิดความเห็นผิดๆ
ว่ามีตัวมีตนอยู่ในร่างกายในจิตใจคนเรา
อะไรๆ ที่เป็นความเข้าใจผิดความเห็นผิดๆ
ว่าร่างกายจิตใจของคนเราเป็นตัวเป็นตน
จะถูกละออกไปจากจิตใจได้อย่างหมดสิ้น
ไม่กลับมาเข้าใจผิด ไม่กลับไปเห็นผิดได้อีกแล้ว
ความเห็น ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆในใลก
ก็จะกลายเป็นความเห็นถูกมากยิ่งขึ้น
หนทางที่จะพ้นไปเสียจากกองทุกข์
ที่แต่เดิมมืดมัวเต็มที ก็จะปรากฏแจ่มชัดขึ้นมา
เมื่อเห็นทางแจ่มชัด ก็ย่อมเดินทางได้ถึงที่หมายอย่างแน่นอน.
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่