mp 3 (for download) : ถ้ามีสติอย่างเดียว แต่ขาดสัมมาสมาธิ จะไม่เกิดปัญญา และไม่มีกำลังที่จะเกิดอริยมรรค
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : เครื่องมือในการเจริญสติ เครื่องมือหลักๆ ก็คือสติ สัมมาสมาธิ คือเครื่องมือหลักๆ ผลผลิตของมันก็เป็นปัญญา พอปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาทำหน้าที่ประหารกิเลส ทำลาย ตัดกิเลส ตัดสังโยชน์ ถ้าตัดสังโยชน์นี่เรียกว่าเป็นปัญญาในระดับอริยมรรค เพราะฉะนั้นต้องเรียนมากๆ เรื่องสติ กับสัมมาสมาธิ ต้องเรียนสองอันนี้เยอะๆ หน่อย ถ้ามีสติอย่างเดียวนะ ขาดสัมมาสมาธินี่ มันไม่มีกำลังที่จะตัดสินความรู้ สัมมาสมาธิเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่น ความตั้งมั่นของจิต เราจะรู้สึกว่าพอจิตมันถึงฐานของมันจริงๆ นะ มันรู้สึกเลย จิตใจตั้งมั่น จะสามารถสักว่ารู้สักว่าดูอะไรได้หมด นี้ส่วนใหญ่พวกเราจิตใจไม่ตั้งมั่น สมาธิที่พวกเรารู้จักนี่มันเป็นมิจฉาสมาธิ จิตมันชอบเข้าไปตั้งแช่ในอารมณ์ ยกตัวอย่างเวลาเรารู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใจเราชอบไหลเข้าไปอยู่ที่ลม พอรู้ลมนี่ใจก็ไหลไปอยู่ที่ลม เราไปดูท้องพองยุบ ใจไหลไปอยู่ที่ท้อง เราเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า ใจไหลไปอยู่ที่เท้า
บางสำนัก สายหลวงพ่อเทียนท่านขยับมือ ขยับมือ ลูกศิษย์จำนวนมากเลย ใจไหลเข้าไปอยู่ในมือ ใจไหลเข้าไปอยู่ในมือ กับไหลเข้าไปอยู่ที่ท้อง ไหลไปอยู่ที่เท้า ไหลไปอยู่ในลมหายใจ มันก็ไหลเหมือนกัน ใจไม่ตั้งมั่น พอใจไม่ตั้งมั่นนะ ปัญญาจะเกิดไม่ได้จริงหรอก ได้แต่เพ่ง ใจจะเข้าไปแนบ อยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างต่อเนื่อง สงบ ดีแล้วเกิดปีติ ขนลุกขนพอง ตัวลอย ตัวเบา ตัวโพรง ตัวใหญ่ ตัวหนัก มีสารพัด อาการที่แปลกๆ กว่าปกติทั้งหลาย เป็นอาการของปีติ ขนลุกขนพอง วูบๆ วาบๆ นะ เหมือนฟ้าแลบแปล๊บๆ ปล๊าบๆ อะไรอย่างนี้ มันเป็นอาการที่ใจมันทำสมถะ เข้าไปแช่ในอารมณ์นานๆ แล้วจิตใต้สำนึกก็ทำงานปรุงอะไรต่ออะไรขึ้นมา แล้วแต่มันจะชอบ บางคนปรุงเห็นผีเห็นสางอะไรก็ได้นะ บอกว่าผีหลอก จริงๆ หลอกตัวเอง
ค่อยๆ สังเกตไปใจที่ตั้งมั่นกับใจที่ไหลไป วิธีหัดง่ายๆ เลย หัดสังเกตจิตใจของเรา อย่างนั่งฟังหลวงพ่อพูดนะ เดี๋ยวใจก็ไหลไปคิด เดี๋ยวก็ตั้งใจฟัง ฟังแล้วก็ไหลไปคิด ดูออกมั้ย คุณนี่ ฟังไปแล้วก็คิดไป สลับ ดูออกมั้ย แต่เราไม่เคยเห็นจิตที่ไหลไป เพราะฉะนั้นจิตเราไม่ได้ตั้งมั่นจริง คุณลองดูท้องพองยุบซิ ลองเคยทำดูพองยุบมั้ย เคยใช่มั้ย ลองทำเหมือนที่เคยปฏิบัติ ลองเลย ทำจริงๆ ลืมหลวงพ่อซะ นี่รู้สึกมั้ย ใจเรารวมไปอยู่ที่ท้อง ใจเราเคลื่อนไปอยู่ที่ท้อง นึกออกมั้ย นี่แหละคือการทำสมถะล่ะ นะ แล้วพวกเราชอบคิดว่าวิปัสสนา ไม่ใช่วิปัสสนา จิตไม่ตั้งมั่น จิตไหลไปแล้ว ไหลไป งั้นวิธีการที่ง่ายๆ นะ ที่คุณจะดูก็คือ จิตเราไหลไปเรารู้ทันว่าไหล อย่าดึงนะ อย่าออกแรงดึงนะ ถ้าเราเห็นไหลไปแล้วเราดึงนี่ จะแน่นขึ้นมา นี่ส่งใจไปดูอีกแล้วรู้สึกมั้ย ใจเราเคลื่อนไปดู ให้รู้ว่าเราหลงไปดูแล้ว มันคล้ายๆ เราดูโทรทัศน์น่ะ หรือเราจ้องจอคอมพิวเตอร์ ในนี้เหมือนมีจอคอมพิวเตอร์อันนึง เราจ้องไปที่จอ รู้สึกมั้ยเราถลำไปที่จอ ใช้ไม่ได้นะ ที่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อยพลาด ก็พลาดตรงนี้เอง จิตไม่ตั้งมั่น กับจิตตั้งแช่ เข้าไปแช่นิ่งๆ อยู่ที่ท้อง เข้าไปแช่อยู่ที่ลม เข้าไปแช่อยู่ที่เท้า ตราบใดจิตตั้งแช่ มันก็ได้แต่สมถะ สงบไปเฉยๆ แหละ แต่ถ้าจิตตั้งมั่นนะ มันจะเห็นเลย จิตอยู่ต่างหากนะ ความคิดก็ส่วนความคิด จิตส่วนจิต รูปส่วนรูป นามส่วนนาม ไม่ก้าวก่ายกันหรอก จิตหลุดออกจากโลกของความคิดเลย แล้วก็ไม่ได้เพ่งกายไม่ได้เพ่งใจนะ แต่รู้กายรู้ใจ
รู้กายรู้ใจกับเพ่งกายเพ่งใจไม่เหมือนกัน เวลาเราเพ่งกายเพ่งใจนะ เบื้องต้นเราเกิดอยากก่อน อยากปฏิบัติ พออยากปฏิบัติเราก็จงใจกำหนดรูปกำหนดนาม เราคิดว่าถ้าเอาสติไปกำหนด สติมีหน้าที่กำหนด ถ้าเรียนอภิธรรมอย่าง อาจารย์อนัตตาจะทราบ สติไม่ได้แปลว่ากำหนด สติแปลว่าความไม่ประมาท ความไม่หลงลืม ความไม่เลื่อนลอยๆ แต่จิตใจของเราชอบเลื่อยลอย รู้สึกมั้ยลอยไปลอยมา ตอนเนี้ยลอยไปคิดแล้ว นึกออกมั้ย จิตเราลอยไปคิด เวลาที่เราไม่ได้นึกเรื่องปฏิบัติจิตเราก็ลอยไปคิด เค้าเรียกว่าขาดสติ เวลาเรานึกถึงการปฏิบัติเราก็ไปเพ่งใส่ลงไป จิตเราเคลื่อนไป จ่อนิ่งๆ ไว้ อันนั้นไม่ใช่การรู้รูปนาม แต่เป็นการเพ่ง เพ่งรูปเพ่งนาม เพ่งรูปเพ่งนามเป็นสมถะนะ หลายคนเข้าใจว่า ถ้ารู้รูปนามแล้วก็ ถ้ามีอารมณ์รูปนามแล้วต้องเป็นวิปัสสนา ไม่จำเป็นนะ ทำวิปัสสนานี่ต้องใช้อารมณ์รูปนาม ต้องรู้ อารมณ์รูปนาม อันนี้แน่นอน จะไปรู้อารมณ์บัญญัติหรือไปรู้อารมณ์นิพพานไม่ได้ ไม่ใช่วิปัสสนา แต่สมถะนี่ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์รูปนามก็ได้ กระทั่งอารมณ์นิพพานก็ใช้ทำสมถะได้ พระอริยะเจ้าทำสมถะโดยใช้อารมณ์รูปนามก็ได้ ใช้บัญญัติก็ได้ ใช้อารมณ์นิพพานก็ได้ คนทั่วๆ ไปทำสมถะได้โดยใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่คิด กับรูปนาม เพ่งรูปเพ่งนาม เป็นสมถะ งั้นอย่างที่เราเดินจงกรมแล้วใจเราไปแนบเข้าไปที่เท้านี่นะ ทำสมถะอยู่ แต่ถ้าใจของเราตั้งมั่น มันจะเห็นเลย ตัวที่เดินนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นทันทีนะ นี่เราเริ่มเห็นไตรลักษณ์ ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่ สักแต่ว่าเคลื่อนไหว สักแต่ว่าเป็นธาตุ มันรู้ด้วยใจ รู้สึกเอา ไม่ใช่คิดนะ ถ้าคิดใช้ไม่ได้ มันรู้สึกเอาถึงความเป็นธาตุของร่างกาย รู้สึกเอาถึงความไหวของร่างกาย จะไม่รู้สึกว่าเราไหว หรือว่าธาตุนี้เป็นตัวเรา เพราะว่าเราหลุดออกจากโลกของความคิดได้แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องบริกรรมนะ ไม่ต้องบริกรรม เมื่อไรบริกรรมเมื่อนั้นตกจากวิปัสสนาทันทีเลย อย่างเรามีสตินะ สมมติเราใจลอยไป เรามีสติระลึกได้ว่าใจลอย นี่ระลึกได้แล้ว ใช้ได้ นี่มีสติ ถ้ามีปัญญาก็จะต่อตามมาอีก เห็นเลย จิตจะใจลอยห้ามมันไม่ได้ จิตจะรู้สึกตัวสั่งไม่ได้ นี่แสดงความไม่เที่ยง แสดงอนัตตาได้ แต่ถ้าใจลอยไป รู้ว่าใจลอยปุ๊ป ดึงไว้ปั๊ป นี่เป็นสมถะนะ ใจลอยแล้วใจของเราก็ลอยตามมันไปด้วยเลย หลงไป เนี้ยหลงไป
ค่อยๆ ดูสภาวะนะ มาเรียนที่หลวงพ่อไม่ใช่เรียนปริยัตินะ หลายคนไปคุยกันบอกหลวงพ่อปราโมทย์สอนอภิธรรม หลวงพ่อปราโมทย์ไม่ได้เรียนอภิธรรมนะ แต่หลวงพ่อพูดเรื่องสภาวะล้วนๆ เลย อภิธรรมมันเป็นเรื่องของสภาวะล้วนๆ ต่างหากล่ะ งั้นไม่ใช่หลวงพ่อสอนอภิธรรมนะ หลวงพ่อสอนแต่เรื่องสภาวะ แต่บังเอิญๆ อภิธรรมมันคือสภาวะนั่นเอง เนี้ยสภาวะที่เราเห็นด้วยการปฏิบัตินะ กับสภาวะในตำรา อันเดียวกันน่ะ แต่สภาวะในตำราจะหยาบๆ นะ หยาบๆ อย่างโทสะนี่แยกได้ไม่กี่อย่าง พวกเราแยกได้เยอะเลย ขัดใจนิดหน่อยใช่มั้ย โมโหจนเห็นช้างเท่าหมู มีดีกรีด้วย ดีใจเสียใจ นี่แต่ละอันมันกระจายออกไป โอ้ยมีเยอะแยะ เยอะแยะเลย
หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วสติจะเกิด หัดรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น แล้วจิตจะตั้งมั่น ฉะนั้นหัดสองอันเนี้ย หัดรู้สภาวะไป เช่นใจเราลอยไปเรารู้ ใจเราไปคิดเรารู้ ใจเราไปเพ่งเรารู้ นะ ใจหนีไปคิดอีกแล้วทราบมั้ย นี่หลวงพ่อบอกแล้วนึกออกมั้ย คอยดูไปเรื่อยๆ นะพอใจเราไหลไป อย่าไปตั้งใจดูนะ ห้ามไปจ้องไว้ก่อน ต้องตามดู ต้องตามดูนะ ตรงนี้ก็เป็นหลักการสำคัญ
สวนสันติธรรม
CD: 16
File: 491123B.mp3
Time: 0.14 – 9.15
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่