Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 2 พระมหาชนก (วิริยะบารมี)


ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า มหาชนก เสวยราชสมบัติในเมืองมิถิลา ท้าวเธอมีโอรสสองพระองค์ องค์หนึ่งนามว่า อริฎฐชนก อีกองค์หนึ่งมีนามว่าโปลชนก พระองค์ได้ทรงตั้งอริฎฐชนกในตำเเหน่ง อุปราช และโปลชนกในตำเเหน่ง เสนาบดี ต่อมาเมื่อท้าวเธอสวรรคตแล้ว อุปราชก็ได้ขึ้นครองแผ่นดินเสวยราชสมบัติแทน และได้แต่งตั้งเจ้าโปลชนกผู้เป็นน้องให้เป็นอุปราช ในขณะเมื่อเจ้าอริฎฐชนกเป็นอุราชอยู่นั้นก็รู้สึกว่าเป็นคนยุติธรรมดีอยู่ แต่เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วหูเบา ฟังแต่ถ้อยคำคนประจบสอพลอ เพราะตามธรรมดาคนประจบสอพลอนั้น จะต้องหาเรื่องฟ้องคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ เพราะคนไม่ทำงานแต่ก็อยากได้ความชอบ และการได้ความชอบโดยไม่ต้องทำงานวิธีง่ายที่สุดคือเหยียบย่ำผู้อื่นให้ตกแล้วตนจะได้แทนตำแหน่งนั้น

ตามธรรมดาของโลกย่อมจะมีเช่นนี้ตลอดกาล ผู้ทรงอำนาจกับความหูเบามักจะเป็นของคู่กัน ถ้าใครได้อ่านพงศาวดารจีน หรือแม้แต่ประวัติศาตร์ของไทย จะเห็นความหูเบามักจะทำไห้บ้านเมืองต้องพินาศ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน
เจ้าอุปราชโปลชนกถูกกล่าวหาจากผู้ใกล้ชิดของพระเจ้ากรุงมิถิลาว่าจะทำการกบฎ เพราะเจ้าอุปราชทรงอำนาจในทางการเมืองมาก ครั้งแรกก็ยัง ไม่ยอมเชื่อ ครั้งที่สองก็ชักลังเล พอครั้งมี่สามก็ทรงเชื่อเอาเลย ลืมคิดว่าผู้เป็นน้องของพระองค์ที่คลานตามกันออกมาแท้ ๆ ลักษณะเช่นนี้เข้าหลักที่ว่า

“อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลักไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว”

แม้ความรักระหว่างพี่กับน้องก็ตัดได้ ถึงกับสั่งให้จับพระมหาอุปราชไปคุมขังไว้ยังที่แห่งหนึ่ง โดยหาความผิดมิได้มีคนควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง เจ้าอุปราชถูกควบคุมโดยหาความผิดมิได้ ก็คิดจะหลบหนีออกไป จึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า
“ขอเดชะพระเสื้อเมืองทรงเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตัวข้าพเจ้ามิได้คิดทรยศต่อที่ชายเลย แต่กลับถูกจับคุมขังทำโทษหาความผิดมิได้ ถ้าใจของข้าพเจ้าซื่อสัตย์ต่อพี่ชายจริงแล้ว ขอให้โซ่ตรวนขื่อคาตลอดจนประตูคุก จงเปิดให้ประจักษ์เถิด”
พอสิ้นคำอธิษฐานเท่านั้นด้วยความสัตย์สุจริตของมหาอุปราช บรรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายก็หลุดออกจากกายของพระองค์ประตูเรือนจำก็เปิด มหาอุปราชก็เลยหนีออกจากที่นั้นไปซุ่มซ่อนอยู่ตามชายแดน

พวกพลเมืองได้ทราบข่าวอุปราชหนีออกมา และเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเชื่อถือแต่คำสอพลอถึงกับกำจัดน้องในไส้จึงพากันเห็นใจเจ้าอุปราช ๆ ก็ไพล่พลมากขึ้น ตอนนี้พระเจ้าแผ่นดินไม่กล้าส่งคนออกติดตามแล้ว เพราะกลัวจะเกิดศึกกลางเมืองขึ้น เพราะทราบดีว่าถ้าส่งคนออกไปจับเจ้าอุปราชก็คงจะต้องสู้จึงเลยทำเป็นใจดีไม่ติดตาม

เจ้าอุปราชรวบรวมไพล่พลได้พอสมควรแล้วก็คิดว่า
“ครั้งก่อนเราซื่อสัตย์ต่อพี่ชาย แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎถูกจับคุมขัง จนต้องทำสัตยาอธิษธานจึงหลุดพ้นออกมาได้ ต่อไปนี้เราจะต้องทำความชั่วตอบแทนพี่ชายบ้างล่ะ”
เมื่อตัดสินใจเช่นนี้แล้ว เจ้าโปลชนกก็รวบรวมไพล่พลเสบียงอาหาร พร้อมแล้วก็ยกกองทัพเข้ามายังมิถิลานคร บรรดาหัวเมืองรายทางรู้ว่าเป็นกอง ทัพของพระเจ้าโปลชนก ก็ไม่สู้กลับเข้าด้วยเสียอีก เจ้าโปลชนกก็เลยได้คนมากขึ้นอีก ทัพก็ยกมาได้โดยเร็วเพราะหาคนต้านทานมิได้ ตราบจนกระทั่งถึงชานพระนคร จึงมีสาส์นส่งเข้าท้ารบว่า
“พระเจ้าพี่ ครั้งก่อนหม่อมฉันไม่เคยจะคิดประทุษร้ายพระเจ้าพี่เลย แต่หม่อมฉันก็ต้องถูกจองจำทำโทษที่พระเจ้าพี่เชื่อแต่คำสอพลอ บัดนี้หม่อมฉันจะประทุษร้ายพระเจ้าพี่บ้างล่ะ ถ้าจะไม่ให้เกิดสงคราม ขอให้พระเจ้าพี่มอบราชสมบัติให้หม่อมฉันเสียโดยดี ถ้าไม่ให้ก็จงเร่งเตรียมตัวออกมาชนช้างกับหม่อมฉันในวันรุ่งขึ้น

พระเจ้าอริฎฐชนก พอมาถึงตอนนี้ก็ต้องตกกระไดพลอยโจน จึงคิดจะยกพลออกไปต่อสู้กัน แต่ในขณะนี้นพระอัครมเหสีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้าอริฎฐชนกจึงตรัสเรียกมาสั่งว่า
“น้องหญิง ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วไม่ดีเลย เพราะมีแต่ความพินาศเท่านั้น ประดุจสาดน้ำรด กันก็ย่อมจะเปียกปอนไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย
อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายลงไปแล้วแน่นอนว่าจะชนะฝ่ายเดียวนั้นก็ไม่ได้ พี่จะยกพลออกไปสู้กับเจ้าโปลชนก หากพี่เป็นอะไรไป เจ้าจงพยายามรักษาครรภ์ให้จงดีเจ้าจงคิดถึงลูกของเราให้มาก”

แล้วก็ยกพลออกไป และก็เป็นตามลางสังหรณ์ที่พระเจ้าอริฎฐชนกคาดว่าจะแพ้ก็แพ้จริง ๆ เพราะเมื่อได้ชนช้างกับเจ้าโปลชนกก็พลาดพลั้งเสียที ถูกเจ้าโปลชนกฟันสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ไพล่พลก็แตกกระจัดกระจายพ่ายหนีอย่างไม่เป็นกระบวน

พระเทวีได้ทราบข่าวว่าพระสวามีสิ้นพระชนม์ และประชาชนพลเมืองแตกตื่นอุ้มลูกจูงหลานหนีข้าศึก พระนางก็เก็บของมีค่าใส่ลงใน กระเช้า เอาผ้าเก่า ๆ ปิดแล้วแอาข้าวสารใส่ข้างบน แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ร้องไห้ฟูมฟายหลบหนีปะปนไปกับประชาชนพลเมือง โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
“จะหนีไปทางใดจึงจะรอดพ้นจากข้าศึก” พระนางคิดอยู่แต่ในใจ แล้วระลึกขึ้นได้ว่า
“เมืองกาลจัมปาอยู่ทางทิศเหนือกับมิถิลา ถ้าหากหลบหนีไปเมืองนี้ได้ก็ปลอดภัย” จึงพยายามดั้นด้นไปจนออกประตูด้านเหนือของเมืองได้

ด้วยบุญญาธิการของทารกในครรภ์ บันดาลให้ร้อนไปถึงพระอินทร์ เข้าลักษณะที่ว่า “ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน ” อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็ได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในครรภ์ของพระนางจะได้รับทุกข์ พระนางจะไปเมืองกาลจัมปาแต่ก็ไม่รู้จักหนทาง เดี๋ยวนี้ไปนั่งถามทางผู้คนที่ผ่านไปมาอยู่ ณ ศาลาพักคนเดินทางจำจะต้องอนุเคราะห์ ถ้าไม่อนุเคราะห์หัวเราจะต้องแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง เออ.? คิดดูก็น่าหนักใจแทนพระอินทร์เสียจริง ไม่ว่าคนมีบุญจะตกทุกข์ได้ยากอย่างไร เป็นต้องเดือดร้อนไปกับเขาด้วยเสมอ เวลาเขาเสวยสุขสิไม่ เคยคิดถึงพระอินทร์เลย จึงเนรมิตตนเป็นคนชรา ขับเกวียนผ่านมาทางนั้น พระนางพอเหลือบแลเห็นก็ออกปากถามทันที

“ตาจ๋า หลานอยากจะรู้ว่าเมืองกาลจัมปาอยู่ทางไหน”
“แม่หนูจะไปไหนล่ะ”
“ฉันจะไปเมืองกาลจัมปา”
“ญาติฉันมีอยู่ทางเมืองนั้น สามีออกไปรบข้าศึกก็ตายเสีย ฉันก็เลยจะพึ่งพาอาศัยญาติอยู่”
“ถ้าอย่างนั้นดีทีเดียว ตาก็จะไปเมืองกาลจัมปาเหมือนกันแม่หนูมาขึ้นเกวียนเถิด” เหมือนเทวดามาโปรด และแท้ที่จริงก็เทวดามาโปรดจริง ๆ


เมื่อขึ้นเกวียนเพราะความเหนื่อยและเพลียในการที่ระหกระเหิน พระนางก็เอนกายลงพักผ่อนและก็เลยหลับไป นางตื่นขึ้นในตอนเย็น ก็พบว่านางได้ถึงเมืองแห่งหนึ่ง จึงถามตาคนขับเกวียนว่า

ตาจ๋า เมืองที่เห็นอยู่ข้างหน้านั้นเขาเรียกว่าเมืองอะไร” “เมืองกาลจัมปาที่แม่หนูต้องการจะมานั้นเเหละ” “โอ.? ตา เขาว่าเมืองกาลจัมปาไกลตั้ง ๖๐ โยชน์ทำไมถึงเร็วนัก” “แม่หนูไม่รู้ดอก ตาเป็นคนเดินทางผ่านไปมาเสมอ ย่อมจะรู้จักทางอ้อม นี่ตามาทางลัดจึงเร็วนัก” เทวดาว่าเข้านั้น

บ้านอยู่ทางเหนือ จะต้องรีบไป ให้พระนางลงเสียตรงนี้ พระนางจึงลงจากเกวียนไปพักอยู่ที่ศาลาหน้าเมือง คิดไม่ตกว่าจะไปทางไหนดี เพราะเมืองนี้นางไม่รู้จักใครเลย
ในขณะนั้นอาจารย์ผู้ใหญ่ผู้หนึ่งพาลูกศิษย์เดินทาง ผ่านมาทางนั้น เห็นนางนั่งอยู่ในศาลาหน้าตาน่าเอ็นดูเกิดความสงสารเข้าสอบถามได้ความว่า นางหนีภัยมาจากข้าศึกมา ญาติพี่น้องก็ไม่มี
นางดูลักษณะ เห็นว่าเป็นคนดีก็ยอมไปด้วย และได้แสดงตนให้บรรดาศิษย์และคนอื่นทราบว่านางเป็นน้องของอาจารย์ผู้นั้น และได้ไปอาศัยอยู่กับอาจารย์ฐานะน้อง จวบจนกระทั่งนาง ได้คลอดบุตรว่า มหาชนก

มหาชนกเมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาไปกับเด็กทั้งปวง ถูกรังแกก็ต่อสู้ เด็กเหล่านั้นสู้ไม่ได้ วิ่งไปบอกพ่อแม่ว่าถูกเด็กลูกไม่มีพ่อทำร้ายเอา เมื่อเด็กพูดกันบ่อย ๆ มหาชนกก็เกิดสงสัย วันหนึ่งสบโอกาสจึงถามมารดาว่า
“แม่จ๋า ใครเป็นพ่อฉัน” “ก็ท่านอาจารย์นั้นเเหละเป็นบิดาของเจ้า” ครั้งแรกพระมหาชนกก็เชื่อ แต่เมื่อได้ยินพวกเด็ก ๆ ยังพูดอยู่เช่นนั้นก็เกิดสงสัย ดีร้ายมารดาเห็นจะไม่บอกกับเราจริง ๆ แม้ครั้งที่สองมหาชนกถามมารดาก็ตอบเช่นเดียวกับครั้งแรก มหาชนกจึงคิดหาอุบายจะให้มารดาบอกให้ได้ แม่จ๋า ขอให้บอกความจริงกับฉันเถิดว่า ใครเป็นพ่อของฉัน” “ก็ท่านอาจารย์ยังไงเล่าเป็นพ่อของเจ้า” “ทำไมแม่ให้ฉันเรียกว่าลุงเล่า” “เพราะอาจารย์อยากให้เรียกเช่นนั้น”


มหาชนกก็ยื่นคำขาดว่า “ถ้าแม่ไม่บอกความจริงให้ฉันทราบ ฉันจะกัดนมแม่ให้ขาดเลย” ไม่ใช่แต่พูดเปล่า ๆ มหาชนกเอาฟันดัดหัวนมมารดาจริง ๆ ด้วย แต่ไม่แรงนัก “โอ้ย ?แม่เจ็บ” มารดาอุทานออกมา “เมื่อเจ็บแม่ต้องบอกความจริงให้ฉันรู้” “เอาล่ะ แม่จะบอกให้รู้ แต่ที่ยังไม่บอกเจ้าก็เพราะเจ้ายังเล็กนักไม่สามารถทำอะไรได้ เจ้าเป็นลูก

กษัตริย์เมืองมิถิลานครบิดาของเจ้าชื่ออริฐชนก ถูกเจ้าอุปราชโปลชนกแย่งสมบัติ พ่อเจ้าตายในที่รบ มารดากำลังท้องอยู่ก็หลบหนีเซซัดมาอาศัยอยู่กับท่านอาจารย์ ณ ที่นี้”

และนับตั้งแต่นั้นมาเจ้ามหาชนกแม้จะถูกพวกเด็ก ๆ ว่าลูกไม่มีพ่อก็ไม่มีความโกรธเคือง และพยายามเล่าเรียนวิชาการทุกประเภท เพื่อต้องการจะกลับไปเอาราชสมบัติคืนให้จงได้ จวบจนกระทั่งอายุได้ ๑๖ ปี เจ้ามหาชนกก็เรียนศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการจบหมด ผิวพรรณของเจ้ามหาชนกผ่องใสเปรียบเหมือนทองคำความคิดที่จะเอาสมบัติของพ่อคืนก็มากขึ้น วันหนึ่งจึงเข้าไปถามมารดาว่า “แม่จ๋า แม่จากเมืองมาแต่ตัวหรือว่าได้สมบัติของพ่อมาบ้าง” “เจ้าถามทำไม” “เพราะว่าลูกต้องการจะเอาไปทำทุน แก้แค้นเอาสมบัติของพ่อกลับคืนมา” “แม่เอาแก้วมาด้วย ๓ ดวง เป็นแก้ววิเชียน ๑ ดวง มณีดวง ๑ แก้วมุกดาดวง ๑ แก้วทั้ง ๓ นี้ มีราคามาก หากจะมาขายก็ได้เป็นเงินเป็นจำนวนมาก พอที่จะทำทุนสำหรับเอาราชสมบัติของพ่อเจ้ากลับคืนมาได้” “ลูกต้องเอาเพียงครึ่งเดียว เพี่อจะทำทุนไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ จะได้รวบรวมเงินทองและผู้คนเพื่อชิงเอาราชสมบัติของพระบิดากลับคืนมาให้ได้” “เจ้าอย่าไปค้าขายเลย เอาแก้วสามดวงนี้แหละขายซ่องสมผู้คนเถิด เจ้าไปไกลแม่เป็นห่วง”

เจ้ามหาชนกก็ไม่ยินยอม มารดาจึงเอาเงินทองมาให้ เจ้ามหาชนกก็ซื้อสินค้าบรรทุกสำเภาเตรียมจะไปค้าขาย ณ สุวรรณภูมิกับพวกพ่อค้ามากหน้าหลายตาด้วยกัน เมื่อจัดแจงเรียบร้อยแล้ว มหาชนกก็มาลามารดาเพื่อจะเดินทาง
“เจ้าจงเดินทางโดยสวัสดิภาพ คิดอะไรให้สมปรารถนา” มารดาเจ้ามหาชนกให้พรแถมท้ายว่า “เจ้าจงอย่าจองเวรเลยสมบัติมันเสียไปแล้ว ก็แล้วไปเถิด เรามีอยู่มีกินก็พอสมควรแล้ว” แต่เจ้ามหาชนกก็บอกว่าอยากจะเดินทางท่องเที่ยวเป็นการเปิดหูเปิดตา และจะไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในขณะที่เจ้ามหาชนกลงเรือเพื่อเดินทางไปค้าขายยังสุวรรณภูมินั้น ก็พอกับเจ้าโปลชนกกำลังประชวรหนักอยู่ในเมืองมิถิลานคร หลังจากที่ออกเดินทางเห็นแต่น้ำกับฟ้าแล้วประมาณได้สัก ๗ วัน เรือก็ประสบเข้ากับมรสุมอย่างหนัก ผลสุดท้ายเรือบรรทุกสินค้า และผู้โดยสารก็อัปปางลงท่ามกลางเสียงร้องไห้คร่ำครวญของผู้กลัวตาย แต่เจ้ามหาชนกมิได้คร่ำครวญร่ำไรอย่างคนอื่นเขา กับ ๑๕ วา นับว่าเป็นระยะไกลมาก


ขณะที่เรือของเจ้ามหาชนกอับปางนั้น ก็พอดีกับเจ้าโปลชนกซึ่งครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงมิถิลา เสด็จสวรรคตเพราะโรคาพาธ .. เจ้ามหาชนกมิได้ท้อถอย พยายามว่ายน้ำกระเสือกกระสนเพื่อจะให้รอดจากความตาย กล่าวว่านานถึง ๗ วัน และในวันที่ ๗ กำหนด

ได้ว่าเป็นวันอุโบสถ ก็ยังได้สมาทานโดยอธิษธานอุโบสถในขณะลอยคออยู่ในทะเล ..ด้วยบุญบารมีแต่ปางบรรพ์ของเจ้ามหาชนกได้ทำไว้ให้ ร้อนถึงนางเมขลาซึ่งกล่าวว่าเป็นผู้รักษาสมุทรดังที่เล่าไว้ในรามเกียรติ์ว่า นางเมขลาเป็นพนักงานรักษาสมุทร มีแก้วประจำตัวอยู่  ๑ ดวง ถ้านางโยนขึ้นจะเห็นแสงแวววับจับตา ซึ่งเราเรียกกันว่าฟ้าแล่บ ได้ไปเล่นกับเทพบุตรและนางฟ้าในเวลานักขัตฤกษ์ได้โยนแก้วเล่นแสง แก้วนี้ส่องไปจนรามสูรเห็นก็อยากได้ จึงไปไล่หวังจะได้แก้ว แต่ก็ไม่ได้ เพระนางเมขลาเอาแก้วส่องตาทำให้หน้ามืด เลยโมโหขว้างขวานหวังจะฆ่าซึ่งก็ไม่ถูกนาง ทางมนุษย์เราเรียกฟ้าร้องและฟ้าผ่านั้นเอง นี้แหละเป็นเรื่องของนางเมขลา
เผอิญวันเรือแตกนั้นนางเมขลากำลังไปประชุมอยู่กับเทพบุตรนางฟ้า จวบจนถึงวันที่  ๘ จึงกลับมา ได้เห็นมหาชนกว่ายน้ำอยู่จึงช่วยพาขึ้นจากสมุทรมาไว้ในอุทยานของพระเจ้าโปลชนก แล้วก็กลับไปที่อยู่ เจ้ามหาชนก ก็นอนหลับอยู่ในสวน

เมื่อเจ้ามมหาชนกมาหลับอยู่ในพระราชอุทยาน นั้น พระเจ้ากรุงมิถิลาสวรรคตได้  ๗ วันนี้ ราชธิดาของเจ้าโปลชนกพยายามเลือกหาผู้สมควร ให้เสวยราชสมบัติแทนพระบิดา โดยป่าวร้องให้อำมาตย์ข้าราชการมาเฝ้านางจะเลือกเอาเป็นคู่ครอง นางก็ไม่เลือกใคร ต่อมาถึงวาระเศรษฐีคฤหบดีก็ไม่มีใครได้นาง นางจึงปรึกษากับราชปุโรหิตว่า จะทำอย่างไรดีจึงจะได้คนมาครองราชสมบัติ ราชปุโลหิตจึงทูลตอบว่า
“ข้าแต่พระแม่เจ้า ตามโบราณมาถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่มีบุตรชาย ถึงแก่สวรรคตแล้ว อำมาตย์ข้าราชบริพานต่างก็จะเซ่นสรวงสังเวยเทพยดาอารักษ์ เสี่ยงราชรถออกไป ถ้าราชรถไปเกยถูกผู้ใด เห็นทีบุญแล้วก็จงเชิญมาครองราชสมบัติ”


“ถ้าเช่นนั้นท่านอาจารย์จงจัดแจงทำพิธีเสี่ยงราชรถเถิด” ราชปุโรหิตจึงจัดแจงทำบวงสรวงสังเวยอธิษฐานขอไห้ได้ผู้พระทำการสืบราชสมบัติแทน แล้วเทียมรถด้วยม้ามงคลปล่อยออกไป

ม้าที่นำรถนั้นเหมือนจะมีหัวใจ หรือไม่ก็ดูเหมือนมีคนมาชักสายขับขี่ไปให้บ่ายหน้าออกประตูเมืองด้านทิศตะวันออก มุ่งหน้าตรงไปยังอุทยานที่เจ้ามหาชนกนอนหลับอยู่ ราชรถไปถึงสวนหลวงก็เลี้ยวเข้าไปภายในสวน

เมื่อถึงที่เจ้ามหาชนกนอนอยู่ ก็ไป แล่นวนอยู่สามรอบก็หยุดที่ปลายเท้าของเจ้ามหาชนก ราชปุโรหิตที่ตามราชรถไปเห็นดังนั้นจึงคิดว่า
“ถ้าชายคนนี้เป็นผู้ทีบุญ เวลาได้ยินเสียงดุริยดนตรีคงจะไม่ตื่นตกใจ ถ้าไม่มีบุญคงตื่นตกใจหนีเป็นแน่” “จึงสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเสียงดังกึกก้อง

เจ้ามหาชนกได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม รู้สึกตัวตื่นขึ้นก็เปิดผ้าคลุมหน้าออกดู ก็เห็นคนชุมนุมกันอยู่มากมายก็รู้ได้ทันทีว่าเรานี่จะถึงแก่สมบัติแล้ว เลยชักผ้าปิดหน้านอนต่อไป ราชปุโรหิตจึงคลานเข้าปลายพระบาท เลิกผ้าคลุมออกพิจารณาดูเท้า แล้วประกาศแก่ชนทั้งปวงที่มาร่วมชุมนุมกันว่า “อย่าว่าแต่จะครองสมบัติในเมืองเท่านี้แม้ราชสมบัติทั้ง  ๓ ทวิป ท่านผู้นี้ก็สามาถจะครอบครองได้

แล้วจึงสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ดังยิ่งกว่าคราวแรกเสียอีก เจ้ามหาชนกจึงเปิดผ้ามองดู ราชปุโรหิตจึงทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ อย่าทรงบรรทมอยู่เลย สมบัติในเมืองมิถิลานี้มาถึงแล้ว” เจ้ามหาชนกจึงครัสถามว่า
“พระเจ้าแผ่นดินของพวกท่านไปไหนเสียเล่า จึงมาหาคนอย่างเราไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”
“ขอเดชะ พระราชาพระองค์ก่อนได้เสด็จสวรรคตได้ ๗ วันแล้วพระเจ้าข้า”
“พระราชโอรสของพระแผ่นดินท่านไม่มีหรือ”
“ขอเดชะ ไม่มีพระเจ้าข้า มีแต่พระราชธิดาองค์เดียวเท่านั้น”
“ถ้าอย่างนั้นเราจะรับครองราชสมบัติ”

ราชปุโรหิตจึงเอาเครื่องทรงมาถวายให้เจ้ามหาชนกทรงทำพิธีมอบราชสมบัติมอบราชบัติกัน ณ ที่นั้นเอง แล้วจึงได้เสด็จขึ้นสู่พระราชมณเฑียร

พระราชธิดาคิดจะลองดูว่าคนผู้นี้จะมีปัญญาหรือไม่จึงตรัสให้ราชบุรุษคนหนึ่งไปทูลเจ้ามหาชน ว่าพระราชธิดารับสั่งให้เสด็จเข้าไปเฝ้า แต่เจ้ามหาชนกทำเป็นไม่ใส่ใจ เพียงดำเนินชมปรางค์ปราสาท ที่นั่นก็สวย ที่นี่ก็สวย แม้พระราชธิดาจะใช้ไห้มาเชิญ  ๒ ครั้ง ก็ยังปฎิบัติเช่น

ต่อมาเมื่อได้เวลาพอสมควรแล้ว เจ้ามหาชนกก็ได้เสด็จขึ้นสู่เรือนหลวง พระราชธิดาเสด็จออกมารับถึงบันได ยื่นพระหัตถ์ให้เจ้ามหาชนก ๆ จึงจับมือ พระราชธิดาพาเข้าไปประทับภายในพร้อมกับดำรัสเรียกราชปุโรหิตแล้วถามว่า
“พระราชาของพวกท่านจวนจะสวรรคต ได้รับสั่งข้อความว่าอย่างไรไว้บ้าง”
“บอกไว้ว่ามีอะไรบ้าง”

“ขอเดชะ มีรับสั่งไว้หลายประการ”
“ข้อแรก ถ้าผู้ใดทำให้สิวลีราชธิดาของเรายินดีได้ก็ให้ยกราชสมบัติให้ผู้นั้น”
“ข้อนี้ไม่มีปัญหาแล้ว พระนางได้ยื่นมือให้เราพาเข้าในเรือนหลวงแล้ว ข้อต่อไปเล่า”
“ข้อต่อไปนี้ให้ผู้ที่รู้จักบัลลังก์  ๔ เหลี่ยม ว่าที่ใดเป็นปลายเท้าและทางใดเป็นทางศีรษะ”

พอได้ยินเจ้ามหาชนกแกล้งทำเป็นไม่สนใจ หันไปสนทนากับสิวลีราชธิดาเสีย พร้อมถอดปิ่นจากศีรษะส่งให้พระราชธิดาซึ่งนางก็รู้ได้เท่าทัน รับปิ่นแล้ววางที่บัลลังก์  ๔ เหลี่ยม แล้วหันไปถามปุโรหิต
“ท่านว่าอย่างไรข้อต่อไป”
“ข้อต่อไปคือบัลลังก์   ๔ เหลี่ยม ให้รู้จักว่าทางไหนเป็นด้านเท้าและด้านศีรษะ”
เจ้ามหาชนกชี้ไปที่ด้านปิ่นวางอยู่ พลางบอกว่า
“ทางด้านนั้นแหละเป็นด้านศีรษะ”
“ขอเดชะ ข้อที่  ๓ เรื่องประลองกำลังพะย่ะค่ะ”
“ลองอย่างไร”
“ที่เมืองนี้มีธนูอยู่คันหนึ่งต้องใช้คนถึง  ๑.๐๐๐ คน จึงจะดึงสายธนูนี้ได้ ถ้าผู้ใดโก่งคันธนูคันนี้ได้ก็ให้ราชสมบัติแก่ผู้นั้น” “ข้อนี้ไม่ยาก พวกท่านไปเอาธนูคันนั้นมา”

ราชปุโรหิตจึงให้ทหารไปเอาธนูอันใหญ่โตมโหฬารมา ณ ที่นั้น เจ้ามหาชนกก็เสด็จลงไปหยิบคันธนูขึ้นมา ประดุจว่าของเบา แล้วลองขึ้นสายโก่งดูได้อย่างง่ายดายเพระเจ้ามหาชนกทรงกำลังประดุจช้างสาร เสร็จแล้วก็ลดสายวางคันธนูลงดังเก่า
“ข้อต่อไปเป็นเรื่องของการค้นหาขุมทรัพย์”
“พระองค์ตรัสไว้อย่างไร”
“พระองค์ตรัสว่า ขุมทรัพย์แห่งหนึ่งอยู่ในที่พระอาทิตย์ขึ้น
“เวลานี้ไม่พอจะค้นหาขุมทรัพย์ เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยค้นหากันเถิด”
เป็นอันว่าวันนั้นเจ้ามหาชนกได้แสดงทั้งปัญญา และกำลังปรากฎแก่มหาชนทั้งปวงแล้ว

รุ่งขึ้น เจ้ามหาชนกก็ได้ให้ประชุมราชปุโรหิต และเสนาข้าราชบริพารทั้งปวงแล้วถามว่า
“ขุมทรัพย์ข้อต้นของพระราชาว่าอย่างไร”
“ขอเดชะ” ราชปุโรหิตกล่าวว่า “ข้อแรกที่ว่าขุมทรัพย์ ที่  ๑ ของเราอยู่ในที่พระอาทิตย์ขึ้น”
“พวกท่านคิดว่าอย่วงไร”
“พวกข้าพระองค์คิดว่าขุมทรัพย์นี้คงจะอยู่ในทางทิศตะวันออกของพระราชวัง พระเจ้าข้า”
“แล้วพวกท่านทำอย่างไรต่อไป” พวกข้าพระองค์ก็พากันขุดค้นในภาคพื้นทางด้านตะวันออก ในที่ ๆ สงสัยว่าจะฝังขุมทรัพย์ไว้”
“แล้วได้ผลเป็นอย่างไร”
“ผลคือไม่พบขุมทรัพย์อะไรเลย”
“ก็เป็นอันว่าพวกท่านไม่สามารถจะค้นหาได้แล้วใช่ไหม”
“พระเจ้าข้า”
“พระราชาของพวกท่าน ยังนิมนต์พระเข้ามาในพระราชนิเวศน์เพื่อถวายทานบ้างหรือเปล่า”
“ขอเดชะ ข้อนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันของพระราชาของพวกข้าพระองค์ทีเดียว พระองค์นิมนต์พระปัจเจกโพธิมารับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ทุกวัน”
“พวกท่านทราบไหมว่าพระปัจเจกโพธินั้นเวลาพระราชาของพวกท่านเสด็จไปรับที่ใด หรือให้ใครไปคอยรับ”
“ขอเดชะ พระราชาเสด็จประทับยืนคอยรับอยู่ ณ บริเวณพระลานประจำเสมอ โดยมิได้ส่งใครไปคอยรับแทนพระองค์เลย”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงไปขุดในที่ ๆ พระราชาของพวกท่านยืนคอยรับอยู่ที่นั้นเถิด”

พวกอำมาตย์ได้ยินดังนั้นก็ให้จัดแจงจอบเสียมแล้วพาไปขุดในที่นั้น ก็พบสมบัติของพระราชาเป็นขุมแรก ก็พากันดีประหลาดใจ เมื่อกลับมาก็พากันส่งเสียงด้วยความปีติว่า
“ขอเดชะ ขุมทรัพย์ที่พระองค์ชี้ให้ขุดนั้นพบแล้วพระเจ้าข้า”
“เออ พบแล้ว ขุดขึ้นเสียให้หมด แล้วนำมาเก็บไว้ในพระคลังหลวง”
“พวกข้าพระองค์สงสัย”
“สงสัยอะไรล่ะ”
“ทำไมพระองค์จึงชี้ให้ขุดที่นั้น”

“เพราะพระปัจเจกโพธินั้นเปรียบประดุจพระอาทิตย์เมื่อท่านคอยยืนรับที่ใด ก็เเสดงว่าที่นั้นมีขุมทรัพย์อยู่ เราจึงชี้ให้ท่านขุดในที่นั้น แล้วก็ข้อต่อไปเล่าพระองค์ตรัสว่าอย่างไร”
“ขอเดชะ ข้อต่อไปพระองค์ตรัสว่า ขุมทรัพย์ในที่พระอาทิตย์อัสดง”
“แล้วพวกท่านได้ขุดค้นหากันบ้างหรือเปล่า”
“ข้อนี้เปล่าพระเจ้าข้า เพราะขุมทรัพย์ที่หนึ่งยังไม่ได้เลยคิดเสียว่าเหลวไหลมากกว่า พระเจ้าค่ะ”
“ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจะบอกว่าให้เราทราบได้หรือไม่ว่าเวลาเลี้ยงดูพระปัจเจกโพธิเสร็จแล้ว เวลากลับพระปัจเจกโพธิกลับทางใด”
“ขอเดชะ เวลากลับพระปัจเจกโพธิจะกลับทางท้ายพระราชมณเฑียร”
“แล้วพระราชาของพวกท่านไปส่งเสด็จด้วยหรือเปล่า”
“ไปส่งเสด็จเป็นประจำเลยพระเจ้าค่ะ”
“เวลาไปส่งนั้น พระองค์เสด็จประทับที่ใดล่ะ”
“ เวลาไปส่งนั้น พระองค์ประทับยืน ณ สนามท้ายพระราชมณเฑียรเป็นประจำพระเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านลองไปขุดที่ ๆ พระราชาเสด็จประทับยืนที่นั้นดู
พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารก็พากันไปขุด ก็พบขุมทรัพย์เป็นครั้งที่ ๒ ก็พากันคิดประหลาดใจว่าทำไมพระราชาองค์ใหม่ของพวกเขาจึงชี้ให้ขุดได้แม่นถึงเพียงนี้ เพราะว่าพวกเขาเองพยายามขุดค้นหาจนกระทั่งคิดว่าขุมทรัพย์ดังกล่าวนี้คงเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาอย่างไร้สาระโดยไม่มีความจริง จึงพากันโห่ร้องแสดงความยินดีอย่างกึกก้องโกลาหล และพากันเข้ามากราบทูลว่าได้พบสมบัติขุมที่ ๒ แล้ว
“ขุมที่ ๓ พระราชาของพวกท่านตรัสไว้ว่าอย่างไร”
“ทรงตรัสว่า ขุมที่หนึ่งอยู่ภายใน”
“พวกท่านได้ค้นหาหรือยังว่าอยู่ที่ใด”
“พวกข้าพระเจ้าไม่ได้ค้นหา เพราะคิดว่าคงเหลวเหมือนขุมอื่น ๆ นั้นเเหละ”
“ประตูหลวง พวกท่านได้สังเกตหรือเปล่าว่ามีอะไรที่น่าสงสัยบ้าง”
“พวกข้าพระบาทไม่เคยสงสัย และไม่เคยสังเกตเสียด้วยว่าทีอะไร”
“พวกท่านลองไปขุดใกล้ ประตูพระราชนิเวศ ในบริเวณภายในประตูดูที ถ้าโชคของเรายังดีก็อาจจะตีปัญหาออก “

พวกอำมาตย์ก็พากันไปขุด ก็พบอีกตามความบอก ก็ได้กลับมากราบทูลว่าพบได้แห่งที่ ๓ แล้วตามความคาดหมาย ได้ตรัสถามถึงขุมที่ ๔ ต่อไป พวกข้าราชบริพารก็ทูลว่า “ขุมหนึ่งอยู่ภายนอก” ก็ทรงชี้ให้ขุดที่ใกล้ประตูพระราชนิเวศ แต่อยู่ภายนอกประตู ก็ได้พบอีก ข้าราชบริพานก็โห่ร้องด้วยความยินดี ว่าพระราชาใหม่ของพวกเรานี้ช่างทรงปัญญาเกินสามัญชนทีเดียว อันขุมทรัพย์นี้พวกเราเที่ยวค้นหาตามที่ต่าง ๆ จนทอดอาลัยแล้วว่าเป็นของไม่จริง นับเป็นลาภทีพวกเราได้พระราชาที่ทรงปัญญาอย่างนี้ เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบว่าได้พบขุมทรัพย์ที่ ๔ ก็ตรัสถามว่า
“ทรงตรัสไว้เพียงเท่านี้หรืออย่างไร”
“หามิได้ พระองค์ยังตรัสไว้อีก”
“ตรัสไว้ว่า ขุมทรัพย์อีกขุมหนึ่งไม่ได้อยู่ข้างนอกและข้างใน”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงขุดลงที่ธรณีประตูพระราชนิเวศ” เมื่อพวกอำมาตย์ราชปุโรหิตขุดลงไปที่ธรณีประตู ก็พบขุมทรัพย์ดังกล่าว
“แล้วตรัสอย่างไรอีก”
“ตรัสว่า ขุมหนึ่งอยู่ในที่ขึ้น”
“จงขุดที่ประตูขึ้นพระราชนิเวศ” พวกอำมาตย์ได้พากันขุดลงไป ก็พบขุมทรัพย์อีกขุมหนึ่งในประตูราชนิเวศ
“ตรัสว่า ขุมทรัพย์หนึ่งอยู่ในที่ลง”
“พระราชาของพวกท่านเวลาเสด็จออกจากพระราชนิเวศนั้น โดยปกติเสด็จด้วยอะไร”
“ส่วนมากพระองค์เสด็จทรงคชสาร เสด็จเที่ยวตรวจโรงทานและความทุกข์สุขของราษฎร “แล้วเสด็จกลับลงจากคชสาร ณ ที่ใด”
“ขอเดชะ เสด็จลงเกยชาลาข้างหน้า”
“พวกท่านจงไปขุดที่หน้าเกยเป็นที่เสด็จลงนั้นเถิด”

พวกอำมาตย์พากันไปขุด ก็พบขุมทรัพย์ตามที่คาดและได้ทูลให้ทราบต่อไปว่าพระราชาของพวกเขาได้ตรัสว่า
“ขุมทรัพย์ขุมหนึ่งอยู่ในระหว่างไม้สี่”
“พวกท่านเคยเห็นไม้รังหรือเปล่า”
“เคยเห็นพระเจ้าค่ะ”
“เคยมีอยู่ที่ไหนเล่า”
“อยู่ในพระราชอุทยานพระเจ้าค่ะ”
“ไม้รังนั้นมี ๔ ต้น หรือเปล่า”
“ขอเดชะ ไม้รังนั้นมีมากกว่า ๔ ต้น แต่ว่ามิได้ขึ้นเป็น ๔ เหลี่ยม ๔ มุมเลย แต่มีขึ้นเรียงรายกันไป”
“แล้วพวกท่านเข้าใจว่าอย่างไรเล่า”
“พวกข้าพระองค์คิดว่าอยู่ในพระราชอุทยานเป็นแน่พระเจ้าข้า” พวกท่านเคยขุดบ้างหรือเปล่า”
“เปล่าเลยพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าพวกท่านไปขุดในพระราชอุทยานก็คงเหนื่อยเปล่าเพราะจะไม่พบขุมทรัพย์ในนั้นเลย”
“ถ้าอย่างนั้นจะให้ขุดที่ใดพระเจ้าค่ะ จึงจะพบขุมทรัพย์”
“ท่านจงขุดที่ทวารทั้ง ๔แห่ง ที่มีพระแท่นทำด้วยไม้รังอยู่”

พวกอำมาตย์ก็ไปขุดก็พบทั้ง ๔ แห่ง และได้ทูลต่อไปว่า “พระราชาของพวกข้าพระองค์ได้ตรัสไว้อีกว่า ขุมทรัพย์อยู่ประมาณโยชน์หนึ่ง”
“พวกท่านได้ขุดหาบ้างหรือเปล่าล่ะ”
“พวกข้าพระองค์ได้พาไปขุดในบริเวณในป่าที่ห้างจากเมืองไปประมาณโยชน์หนึ่งพระจ้าค่ะ”
“แล้วไม่พบอะไรเลยเชียวรึ”
“ไม่พบเลยพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นลองทดลองดูว่าเราจะคิดปัญหานั้นตกหรือไม่พวกท่านจงลองวัดจากแท่นบรรทมไปดูข้างละ ๔ ศอก แล้วลองคุดไปดูซิจะพบอะไรบ้าง”

พวกอำมาตย์ได้วัดจากทิศตะวันออกครบ ๓ ศอก แล้วก็ขุดลงไปพบขุมทรัพย์ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก รวม ๔ ทิศ ก็พบทั้งสิ้น จึงพากันมากราบทูล “ขอเดชะ พวกจ้าพระองค์ได้ไปขุดค้นตามที่ทรงแก้ปัญหาแล้ว ปรากฎว่าพบทุกแห่งพระเจ้าค่ะ แต่พวกข้าพระองค์ เกิดสงสัยว่าทำไมพระราชาตรัสว่าขุมทรัพย์อยู่ในโยชน์หนึ่งแต่นี้ห่างจากพระแท่นบรรทมเพียง ๔ ศอก เท่านั้น ขอพระองค์ได้โปรดให้ความแจ่มแจ้งด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านฟังให้ดี โยชน์หนึ่งนั้นมี ๔๐๐ ศอก ใคร ๆ ก็รู้จักด้วยกันทั้งนั้น เส้นหนึ่งที ๒๐ วา ๆ หนึ่งมี ๔ ศอก นี่ก็เป็นจำนวนใหญ่ ๆ ก็พวกท่านว่าไม่พบในโยชน์หนึ่ง เราคิดว่าศอกอันนั้นจะนับเป็นวาเป็นเส้นเป็นโยชน์นั้นมีเพียง ๔ ศอกเท่านั้น เราจึงคิดปัญหาข้อนี้เพียงแค่ ๔ ศอก”

พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารต่างก็ส่งเสียงแสดงความยินดีกึกก้องไปทั่วพระลาน
“ปริศนาของพระราชาหมดแล้วหรือยัง”
“ยังพระเจ้าค่ะ”
“มีอะไรอีกล่ะ ว่าไปดูทีหรือ”
“พระองค์ตรัสว่า ขุมทรัพย์หนึ่งอยู่ที่ปลายงา”

เจ้ามหาชนกก็ให้ขุดที่โรงไว้คชสาร ตรงที่พญาเศวตกุญชรยืนปลายงาจรดดิน ก็ได้ดังประสงค์ และให้ขุดตามที่อำมาตย์ทั้งหลายบอกปริศนาก็ได้ดังดำรัส ข้าราชบริพารทั้งหลายพากันโห่ร้องกึกก้องสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระองค์เอิกเกริกไปทั่วพระนคร เมื่อไต่ถามทราบว่า หมดข้อความที่พระราชาตรัสไว้แล้วก็ให้จำหน่ายจ่ายแจกพระราชทรัพย์ โดยให้จัดสร้างโรงทาน ๖ แห่งคือ กลางเมือง แห่งหนึ่ง ที่ประตูเมืองด้านเหนือ ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านตะวันออก รวม ๔ แห่ง และประตูพระราชนิเวศอีกแห่งหนึ่ง

แล้วตรัสให้คนไปรับพระมารดามาจากเมืองกาลจัมปา พร้อมกับให้รางวัลท่านอาจารย์ที่มารดาของพระองค์ไปอาศัยอยู่ ความจริงได้ปรากฎออกมาว่าพระองค์ไม่ใช่ใครอื่นเลยแท้ที่จริงเป็นพระโอรสชองพระเจ้าอริฎฐาชนกนั่นเอง แล้วจึงให้มีการสมโภชในการเสวยราชสมบัติ เมื่อออยู่พระองค์เดียวก็ทรงรำพึงว่า เพราะพระองค์ไม่ทอดทิ้งความเพียรพยายามในการที่เอาตัวรอดจากภัยอันตรายจึงได้ประสบสุขถึงเพียงนี้ ฉะนั้นเกิดเป็นคนควรพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จความประสงค์ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติอยู่ช้านาน จนมีพระโอรสทรงพระนามว่า ทีฆาวุ เมื่ออายุเจริญวัยแล้วก็ได้ตั้งให้เป็นอุปราช

วันหนึ่งเจ้าพนักงานพระอุทยาน ได้นำพืชพรรณชนิดต่าง ๆ มาถวาย ทรงถามได้ความว่า นำมาจากพระราชอุทยานก็คิดจะไปประพาส จึงตรัสสั่งให้ข้าราชบริพารจัดกระบวนไปเสด็จประพาส ในขณะที่ทรงช้างเสด็จถึงประตูสวนก็เห็นมะม่วงต้นหนึ่งมีลูกดก แลดูเต็มต้นไปทั้งต้น กำลังอยากเลยเสด็จลุกขึ้นยืนบนหลังช้าง เก็บมะม่วงลูกหนึ่งมาเสวย แล้วก็เลยเข้าไปประพาสในพระราชอุทยาน ทรงสำราญอยู่ในพระราชอุทยานนั้นจนกระทั่งเย็นจึงเสด็จออกมา พอถึงประตูสวน พระองค์ก็แปลกพระทัยเพราะปรากฎว่ามาม่วงต้นที่มีลูกเต็มไปหมดนั้น จะหาแม้แต่ลูกเดียวก็ไม่พบ แถมข้างล่างยังเต็มไปด้วยกิ่งก้านสาขาที่หัก ใบอ่อนใบแก่หล่นเกลื่อนกลาดไปทั้งบริเวณโคนต้น จึงตรัสถามผู้รักษาสวนว่าเป็นเพราะเหตุอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เขากราบทูลให้ทราบว่า เพราะประชาชนเห็นว่ามะม่วงต้นนั้นพระองค์เสวยแล้ว เขาพากันมาเก็บ ต่างยื้อแย่งกัน สภาพของต้นมะม่วงจึงเป็นอย่างที่ทอดพระเนตรบัดนี้


พระองค์ได้ทรงสดับ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า มะม่วงต้นนี้เพราะมีลูกจึงต้องมีสภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีลูกก็คงจะไม่ต้องหักยับเยินอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีราช สมบัติเสียก็จะหาคนปองร้ายมิได้ พระราชาเสด็จพระนคร เสด็จขึ้นปราสาท. ประทับที่พระทวารปราสาท ทรงมนสิการถึงวาจาของนางมณีเมขลา ในกาลที่นางอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้นจากมหาสมุทร. พระราชาทรงจดจำคำพูดของเทวดาไม่ได้ทุกถ้วยคำ เพราะพระสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน. แต่ทรงทราบว่า เทวดากล่าวชี้ว่าพระองค์จะยังเข้ามรรคาแห่งความสุขไม่ได้ หากไม่กล่าวธรรมให้สาธุชนได้สดับ.

นางมณีเมขลาให้พระองค์ตั้งสถาบันการศึกษา ให้ชื่อว่า ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย. แม้ในกาลนั้นก็จะสำเร็จกิจและได้มรรคาแห่งบรมสุข. พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า : “ทุกบุคคลจะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์ หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น. อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเราต้องหาทางฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผล. เมื่อพระองค์ดำริฉะนี้แล้ว พอเสด็จเข้ามาถึงพระราชวังก็ตรัสเรียกอำมาตย์มาสั่งว่า
“ต่อไปนี้ไปปราสาทของเราห้ามคนไปมา นอกจากผู้ที่จะนำอาหารเข้ามาให้เราเท่านั้น เมื่อมีราชกิจใดมีมาพวกท่านจงช่วยกันพิจารณาจัดไปตามความคิด เราจะจำศีลภาวนาสักระยะหนึ่ง”


และนับแต่นั้น พระมหาชนกก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระปรางค์ประสาทมิได้เสด็จไปทางใดเลย พวกพสกนิกรทั้งหลายพากันสงสัยสนเท่ห์ว่าพระราชาของพวกเขาเสด็จไปอยู่แห่งใด เคยสนุกสนานรื่นเริงในการดูมหรสพก็มิได้มี

บัดนี้พระองค์ไปที่ใดหรือจะสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พากันปรับทุกข์และเล่าลือไปต่าง ๆ นานา แม้จะมีเสียงเล่าลือใด ๆ แต่พระองค์ตรัสห้ามข่าวสารทั้งปวงสิ้น เมื่อบำเพ็ญสมธรรมอยู่ในปราสาทนาน ๆ เข้าก็คิดจะออกไปอยู่ป่า เพราะในพระราชวังยังมีเสียงอื้ออึงไม่มีความสงบ วันหนึ่งนายกัลบกมาเพื่อชำระพระเกศา พระมัสสุได้ทรงตรัสให้ปลงเสียทั้งหมด แล้วทรงนุ่งห่ทผ้ากาสาวะ เสด็จประทับอยู่ในปราสาท ตั้งพระทัยว่ารุ่งขึ้นจะเสด็จออกไปบำเพ็ญพรตในป่า


ในวันนั้นเองพระสิวลีเทวีผู้อัครชายา คิดว่าเรามิได้พบเห็นพระสวามีของเราถึง ๕ เดือนแล้ว ควรจะไปเยี่ยมเยือนเสียที จึงสั่งให้นางสนมกำนัลตกแต่งร่างกาย แล้วพาไป ณ ปรางค์ปราสาทของพระเจ้ามหาชนก พอย่างขึ้นบนปรางค์ปราสาทก็ให้นึกเอะใจ เพราะปรากฎว่าเส้นพระเกศาซึ่งนายภูษามาลาเก็บรวบรวมไว้ยังมิได้นำไปที่อื่น

และเครื่องทรงพระมหากษัตย์วางอยู่ และขณะนั้นก็ได้เห็นพระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งดำเนินสวนทางลับตานางไป นางยังมิทันคิด แต่เมื่อเห็นเส้นพระเกศาและเครื่องทรง จึงคิดได้ว่าเมื่อกี้เห็นจะเป็นพระสวามีเป็นแน่ มิใช่พระปัจเจกโพธิจึงตรัสเรียกนางสนมกำนันว่า
“แม่นางทั้งหลาย พวกเราพากันติดตามพระสวามีเถิดเมื่อกี้ไม่ใช่พระปัจเจกโพธิดอก แต่เป็นพระราชสวามีของพวกเรา” พร้อมทั้งทรงกันแสงไปด้วย แล้วพากันติดตามไปก็ทันพระมหาชนก ต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญรำพันด้วยประการต่าง ๆ แต่พระมหาชนกก็มิได้เสด็จกลับ
พระราชเทวีก็คิดอุบายให้ประชาชนพลเมืองนำเอาเชื้อไฟมากอง แล้วจุดไฟขึ้นนแทบทั่วพระนคร แล้วไปทูลเชิญให้กลับมาดับไฟเพราะพระราชวังไหม้หมด แต่พระมหาชนกก็มิได้เสด็จกลับ โดยคิดว่า
“เราเป็นบรรชิต ไม่มีสมบัติอันใด”

แม้พระราชเทวีจะทำกลอุบายประการใด พระองค์ก็หากลับไม่ คงมุ่งหน้าไปสู่ไพรพฤกษ์ข้างหน้าเท่านั้น พระราชเทวีสนมกำนัล และข้าราชบริพารพากันติดตามไปอ้อนวอนให้เสด็จกลับเข้าครองราชสมบัติดังเก่า แต่พระองค์ก็หากลับไม่ คนเหล่านั้นก็ยังติดตามเรื่อยไป

พระองค์เห็นว่ามหาชนจะทำให้การบำเพ็ญพรตของพระองค์เป็นไปไม่ได้สดวก จึงหันกลับมาขีดเส้น พร้อมกับตรัสถามว่า
“พวกท่านทั้งหลาย ใครเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกท่าน”
“พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกข้าพระองค์”
“ถ้าเช่นนั้นใครข้ามเส้นนี้มาจะต้องได้รับพระราชอาญา” แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไป

คนทั้งหมดก็ไม่อาจจะล่วงพระราชอาญาได้ ก็ได้แต่พากันร้องไห้คร่ำครวญรำพันไปด้วยประการต่าง ๆ พระนางสิวลีถึงกับพระกันแสงกลิ้งเกลือกกันพื้นดิน
จนกระทั่งรอยขีดที่พระราชาขีดไว้ลบเลือนไป คนเหล่านั้นเห็นว่าไม่มีรอยขีดแล้ว ก็พากันติดตามไปอีก พระนารทดาบสเกรงว่าพระมหาชนกจะมีพระทัยท้อแท้ไป จึงมาปลอบใจไม่ให้คลายมานะ ที่จะปฎิบัติธรรม แล้วก็หลีกไป พระมหาชนกก็ดำเนินเรื่อยไป และพระสิวลีเทวีก็เสด็จติดตามไปเช่นเดียวกัน ตราบจนกระทั่งถึงเมืองถุนันนคร พระองค์ก็เสด็จผ่านเข้าไปในเมืองนั้น
ชายคนหนึ่งวางชิ้นเนื้อไว้บนเขียง แล้วตนเองก็หันไปทำงานอื่นเสีย สุนัขเห็นได้ท่วงทีก็วิ่งมาคาบก้อนเนื้อได้ก็วิ่งหนีไป ชายผู้เป็นเจ้าของเนื้อเห็นก็ละจากงานเสียแล้ววิ่งไล่ขับสุนัขไป เมื่อสุนัขวิ่งหนีมาพบพระมหาชนกเดินสวนทางมา อารามกลัวเลยทิ้งก้อนเนื้อเสียแล้ววิ่งหนีต่อไป พระมหาชนกคิดว่าเนื้อก้อนนี้ไม่มีเจ้าของมิได้ ก็หยิบขึ้นมาปัดดินทรายออกเสียแล้วใส่ลงบาตร แล้วเสด็จไปนั่งฉัน ณ ที่แห่งหนึ่ง พระเทวีเห็นอากัปกิริยาเช่นนั้นก็สลดใจว่า แม้แต่สมบัติพัสถานทั้งหลายท่านก็เสียสละหมดแล้ว เสวยได้แม้แต่ของเดนสุนัข เพราะฉะนั้นที่พระองค์จะกลับคืนมาครองเมืองดังเก่าไม่มีแน่แล้วแต่ด้วยความอาลัยก็ยังติดตามพระองค์เรื่อยมา

จนกระทั่งถึงเมืองถุนันนคร เห็นเด็กผู้หญิงมือข้างหนึ่งใส่กำไลสองเส้น ข้างที่มีกำไล สองข้างก็กระทบกันดังกรุ๊งกริ๊งตลอดเวลาที่เคลื่อนไหว พระมหาชนกจึงเสด็จเข้าไปตรัสถามเด็กจึงบอกว่า
“ข้างที่มีสองข้างที่ส่งเสียงดัง เพราะมันกระทบกันกระทั้งกัน ท่านเดินมาด้วยกัน ๒ คน จะไปทางใดเล่า”
พระมหาชนกได้ฟังคำกุมาริกาแล้วคิดว่า “สตรีเป็นมลทินของพรมจรรย์ ควรจะให้พระสิวลีแยกทางไปเสีย”

เมื่อถึงหนทางสองแพร่งจึงบอกกับนางว่า “น้องหญิง นับแต่นี้ต่อไปเราแยกทางกันเดินเถิด และอย่าเรียกเราเป็นสามีอีกต่อไป เจ้าจงเลือกทางเอาว่าจะไปทางใดดี”

พระนางสิวลีทรงเศร้าโศกและตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าพระบาทมีชาติอันต่ำช้า ขอเลือกไปทางซ้าย ขอพระองค์ เสด็จไปทางขวาเถิด”

บัดนี้พระองค์ไปที่ใดหรือจะสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พากันปรับทุกข์และเล่าลือไปต่าง ๆ นานา แม้ เมื่อพระมหาชนกแยกทางไปแล้ว พระนางมีความอาลัยก็เสด็จตามติดไปด้านเบื่องหลังอีก และเมื่อถูกตัดรอนความเยื่อใย พระนางก็ถึงล้มสลบลง แต่ก็ไม่ทำให้พระมหาชนกกลับคืนความคิดได้ คงเสด็จมุ่งหน้าต่อไปเพื่อหาความสงบสงัด จักได้บำเพ็ญพรตภาวนา เมื่อพระนางสิวลีฟื้นคืนสติขึ้นมา ก็ได้พบพระสวามีของพระนางได้เสด็จไปเสียแล้ว พระนางจึงดำริว่า ราชสมบัติทั้งปวงนี้แม้สวามีของเรายังมิได้อาลัยอาวรณ์ เราจะยินดีเพื่อประโยชน์อะไร จึงรับสั่งให้เรียกข้าราชบริพารมา แล้วอภิเษกให้เจ้าทีฆาวุเสวยราชสมบัติพระองค์เองก็เสด็จออกบรรพชา ตราบจนกระทั่งสิ้นชีพไปบังเกิดบนสวรรค์ทั้งสองพระองค์
คติของเรื่องนี้ควรกำหนด ขึ้นชื่อว่า
เป็นคนแล้ว ทำอะไรต้องหมั่นพยายามทำไป
จนกว่าชีวิตจะสิ้น ผลดีที่จะได้ก็บังเกิดขึ้นแน่นอน


เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 53,263 times, 42 visits today)

Comments are closed.