คำถาม
1. การดูจิตที่ หลวงพ่อปราโมทย์ สอนมานั้น คือ การดูลักษณะต่างๆที่จิตไปรับรู้ใช่ไหมครับ เช่น จิตฟุ้งซ่าน โกรธ พอใจ ยินดียินร้าย อะไรต่าง?
2. เหล่านี้ หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านเรียกว่า เจตสิก หรือเปล่าครับ แล้วเจตสิก มันต่างกับ อาการของจิต หรือเปล่าครับ?
- ตอบคำถาม
การดูจิตนั้น แรกๆก็จะเห็นว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีความยินดี ฯลฯ
ซึ่งเป็นการเห็นแบบที่รู้สึกว่า จิตกับเจตสิก เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เห็นเป็นคนละส่วน
(ความฟุ้งซ่าน ราคะ โทสะ ความยินดี ฯลฯ เหล่านี้เป็นเจตสิกจิตที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง)
เมื่อหัดดูไปจนจำสภาวะต่างๆได้ จิตเองก็จะมีสติมีความตั้งมั่น (สติ ความตั้งมั่นก็เป็นเจตสิกเช่นกัน)
แล้วจะค่อยๆเกิดความเข้าใจว่า เจตสิกกับจิตเป็นคนละส่วนกัน
จะค่อยๆเข้าใจว่า จิตจะเป็นตัวทำหน้าที่รู้ ส่วนเจตสิกเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง
เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถเห็นจิตล้วนๆได้
เนื่องจากจิตย่อมต้องมีเจตสิกต่างๆเกิดร่วมด้วยเสมอนั่นเอง
และจิตจะมีอาการปรากฏต่างๆกันไป ตามแต่ว่าจิตดวงนั้นจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย
การดูจิต ไม่ว่าจะมองว่าเป็นการดูอาการของจิต หรือดูเจตสิก
จึงเท่ากับว่า เป็นการดูจิตที่มีอาการต่างๆ เป็นการดูจิตที่มีเจตสิกต่างๆเกิดร่วมอยู่
เพราะฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า เป็นการดูอะไร
แต่ต้องเข้าใจว่า เราดูไปทำไม ดูไปเพื่ออะไร
ซึ่งการดูจิต ที่ไม่ว่าจะมีอาการอย่างไร มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมอยู่
เราดูไปเพื่อให้เห็นว่า
จิตที่มีอาการต่างๆ จิตที่มีเจตสิกต่างๆเกิดร่วมอยู่ในแต่ละขณะนั้น
ล้วนแต่มีลักษณะที่เหมือนๆกันทุกดวงทุกขณะคือ
ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (เป็นไตรลักษณ์ เหมือนๆกันทุกดวง)
เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งในความเป็นไตรลักษณ์
ก็จะเกิดมรรค เกิดผล ปล่อยวางความเห็นผิด ปล่อยวางความยึดขันธ์ว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา
หากสามารถปล่อยวางความยึกขันธ์ได้หมดสิ้นจริงๆ
ก็จะมีสภาวะของการดำรงอยู่ของขันธ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม
(จากที่ได้อ่านได้ฟังมา) คือขันธ์ก็ทำงานของขันธ์ไป แต่จิตจะไม่เกาะเกี่ยวอยู่กับขันธ์อีกต่อไป
หรือเป็นจิตที่พ้นจากทุกข์ (ทุกข์ก็ขันธ์อันเป็นที่ตั้งของอุปาทาน)
จิตที่พ้นจากทุกข์นี่เองที่มีชื่อเรียกกันไปว่า จิตหนึ่งบ้าง จิตเดิมแท้บ้าง
ตามแต่จะตั้งชื่อบัญญัติว่าอย่างไร
*********************************************************************
1. การจะดูจิตให้ถูกจริงๆนะ ต้องไม่จงใจใช่มั้ยครับ คือ ตอนฝึกแรกๆ ก็ต้องจงใจไปก่อน แต่ตอนหลัง ที่รู้สึกได้เองเนี่ย ต้องรู้แบบไม่จงใจเลยใช่มั้ยครับ
- ใช่ครับ
2. ได้ยินมาว่า ถ้ารู้แบบไม่จงใจได้แล้ว ก็คือ เตรียมเปิดประตูอริยมรรคแล้ว ใช่มั้ยครับ
- การรู้ได้เองโดยไม่จงใจ เป็นเบื้องต้นขอการมีสติ
มีสติได้แล้วต่อไปต้องหัดดูสภาวะด้วยความมีสติและตั้งมั่น เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ ให้เกิดปัญญา
ส่วนจะเป็นการเตรียมเปิดประตูอริยมรรคนั้น ไม่ต้องสนใจหรอกครับ
หัดมีสติรู้กายรู้ใจไปเถอะครับ สติปัญญาถึงพร้อมเมื่อไหร่แล้วก็จะเกิดอริยมรรคได้
***********************************************************************
1. โดยปกติแล้ว สมถะ จำเป็นขนาดไหนครับ ผมเคยศึกษาจากหนังสือของ อ. (เพราะมันอ่านง่ายดี อ่านของหลวงพ่อแล้วมีศัพท์เยอะ) อ. บอกว่า ไม่ต้องทำสมาธิเลย แต่หลวงพ่อบอกว่า ต้องทำวันละนิดวันละหน่อย เลยชักไม่แน่ใจครับ
- ผมว่าผมไม่เคยเขียนหรือบอกนะครับว่า “ไม่ต้องทำสมาธิเลย”
แต่เคยบอกว่า ผมทำสมาธิไม่ได้ ทำแล้วฟุ้ง ง่วง หลับ
จึงต้องมาหัดรู้สึกตัวในชีวิตประจำวันเอา
ซึ่งพอรู้สึกตัว จิตก็จะมีสมาธิ(ตั้งมั่น)ได้ชั่วขณะ
แต่ก็พอจะทำให้เห็นจิตเกิดดับได้
ส่วนหลวงพ่อจะบอกว่า อย่าทิ้งสมถะ
และบอกว่า ทุกวันให้ทำตามรูปแบบด้วย เพื่อให้จิตมีกำลังครับ
2. ในขั้นตอนของการทำสมถะนั้น มีหลักอย่างไรกันแน่ครับ ตอนที่หลวงตาท่านจิตเสื่อม ท่านว่า “จะให้จิตแนบกับคำบริกรรม ไม่ให้เผลอเลย เหมือนนักมวยบนเวที เผลอเมื่อไหร่ โดนน็อคเมื่อนั้น” อันนี้ มันจะไม่ขัดกับที่หลวงพ่อบอกว่า ใ้ห้รู้ตามความเป็นจริงเหรอครับ
- ถ้าจะทำสมถะก็ต้องจิตไปแนบอารมณ์ เพื่อให้จิตเกิดกำลังตั้งมั่นขึ้นมา
ซึ่งหากใครทำสมถะได้และต้องการทำสมถะ ก็ต้องทำไปตามขั้นตอนของการทำสมถะ
ส่วนที่หลวงพ่อบอกให้รู้ตามจริง (เช่นกรณีจิตไม่ตั้งมั่นก็ให้รู้ว่าไม่ตั้งมั่น)
เป็นการปฏิบัติสำหรับคนที่ทำสมถะไม่ได้ หรือเวลานั้นไม่เหมาะจะทำสมถะนะครับ
เช่นถ้าขับรถอยู่แล้วจะให้ทำสมถะก็คงไม่ได้
แต่สามารถรู้ได้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น ซึ่งถ้ารู้ได้อย่างถูกต้องว่าจิตไม่ตั้งมั่น
จิตก็จะเกิดตั้งมั่นขึ้นมาชั่วขณะได้เช่นกัน
3. ถ้าทำแล้วอึดอัด ให้เลิกทำ หรือให้ทำต่อไปกันแน่ครับ เพราะเคยอ่านประวัติครูบาอาจารย์มา อย่างหลวงตา และ หลวงพ่อพุธท่านถามตอบปัญหาธรรมะ คล้ายๆกับว่า ระยะแรก มันต้องอึดอัด เป็นเรื่องปกติ คล้ายๆกับว่า เราปล่อยเด็ก(จิต)ให้มันไปตามสบายของมัน จะมาบังคับให้มันอยู่กับคำบริกรรม มันก็อึดอัดในช่วงแรกๆ หรือบางทีเราไปคาดหวังผลมากไปว่าจิตต้องสงบ หลวงพ่อพุธท่านเคยบอกว่า บางคนจิตมันจะลงเนี่ย เหมือนจะขาดใจตายก็มี ถ้าใครสติไม่พอ กลัวตายจิตมันก็ไม่รวมลง
- คุณ student ชอบแบบไหนละครับ
ถ้าชอบที่จะเห็นความอึดอัดแล้วจิตรวมลงไปเกิดสัมมาสมาธิได้
ก็ให้ทำไปแบบที่ครูบาอาจารย์ท่านทำมา
แต่ถ้าอึดแล้วจิตไม่รวมลงไป แต่กลายเป็นยิ่งเครียดมากขึ้น ยิ่งฟุ้งซ่านมากขึ้น
อันนี้ก็ไม่เหมาะที่จะทำต่อแล้วครับ เพราะจะไม่เกิดสัมมาสมาธิ
และยังเกิดอกุศลมากขึ้นไปอีก
รายละเอียดของการภาวนาของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันนะครับ
แต่หลักต้องเหมือนกันคือ
ทำแล้วต้องเกิดสติ เกิดสัมมาสมาธิ(จิตตั้งมั่น) เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ครับ
เพราะฉะนั้นใครถนัดจะตามรอยครูบาอาจารย์ใด ก็เดินตามรอยท่านไปเถอะครับ
หากลังเลสงสัยในแนวทางก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ แล้วก็ลองปฏิบัติดู
แนวไหนที่เราเห็นว่าถูกและสามารถปฏิบัติตามได้ ก็เลือกเอาอันนั้นแหละครับ
ไม่จำเป็นต้องมาดูจิตทุกคนหรอกครับ
**********************************************************************************
อ้างอิง : http://wimutti.net/forum/index.php?topic=2796.0
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่