ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
พระปริตต์คาถาทั้งสองวรรคข้างต้นนี้
พระป่าท่านรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี
และส่วนมากท่านจะบริกรรมกันเสมอ
เนื่องจากมีผลให้จิตใจอ่อนน้อม สงบ เยือกเย็น และกล้าหาญ
และเป็นพระปริตต์คาถาที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ นิยมบริกรรม
เพียงแต่คนวงนอกไม่ค่อยทราบกัน
จะทราบก็แต่ว่า พระป่าท่านนิยมบริกรรม พุทโธ เท่านั้น
พระปริตต์คาถานี้ไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์เวทย์มนต์คาถา
แต่เป็นการน้อมระลึกถึงท่านที่หลุดพ้นแล้ว
คือพระพุทธเจ้าตลอดถึงพระอรหันตสาวก รวมทั้งพระธรรม
ทำนองเดียวกับได้ระลึก พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ รวมกัน
ที่มาของพระปริตต์คาถาสองวรรคนี้มาจาก
โมรชาดก ทุกนิบาตชาดก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 มีเนื้อความดังนี้
ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
[167] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก
เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น
ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง
ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.
[168] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก
เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น
ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง
ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่.
จบ โมรชาดกที่ 9.
คาถานกยูงนี้ สะท้อนสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างคือ
นกยูงเห็นพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกแล้ว
ระลึกถึงคุณของพระอาทิตย์ที่ให้แสงสว่าง
ขึ้นชื่อว่าพระอาทิตย์แล้ว มีชื่อว่า สุริยะ แปลว่ากล้าหาญ
เพราะแสงอาทิตย์นั้น ทำให้มนุษย์(และสัตว์กลางวัน) กล้าหาญ
ส่วน จันทะ หรือพระจันทร์ ทำให้เบิกบานใจ
ไม่เพียงระลึกถึงคุณของพระอาทิตย์
นกยูงยังนอบน้อมพราหมณ์ คือผู้ลอยบาปทั้งปวง
นอบน้อมพระพุทธเจ้าและพระโพธิญาณ
นอบน้อมผู้ถึงความหลุดพ้นแล้ว
และนอบน้อมต่อธรรมแห่งความหลุดพ้นด้วย
นกยูงแม้จะเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ก็ยังไม่รู้ธรรมและไม่มีโอกาสฟังธรรม
จึงไม่สามารถไตร่ตรองในธรรมเพื่อความหลุดพ้นได้
แต่นกยูงก็เจริญในธรรมอันหนึ่ง คือความนอบน้อมในสิ่งที่ควรนอบน้อม
ได้แก่นอบน้อมต่อธรรมชาติที่ทรงคุณ
นอบน้อมต่อบุคคลที่ทรงคุณ
และนอบน้อมต่อธรรม ทั้งที่ตนยังไม่มีส่วนแห่งธรรมนั้น
หลวงปู่มั่น ท่านเห็นความสำคัญของความนอบน้อมมาก
ท่านสอนว่า สมัยก่อนคนเราจะทำอะไร ก็ต้องตั้ง นโม เสียก่อน
นโม คือความนอบน้อม
โบราณถือว่าอักระ น + ม นี้ เป็นสัญลักษณ์ธาตุดินและน้ำ
อันเป็นธาตุของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดร่างกายของเรานี้ ให้มา
เมื่อมีกายแล้ว ก็ต้องมีใจ
คือเมื่อแผลง นโม ออกไป ก็จะเป็น มโน คือใจ
ซึ่งก็เป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง
เหมือนเป็นพ่อแม่ของธรรมทั้งปวงนั่นเอง
พึงทำใจของพวกเราให้มีความนอบน้อมในธรรม
แล้วน้อมสติสัมปชัญญะลงมาที่จิตใจของเราแต่ละคน
ระลึกถึงธรรมในจิตใจของตนอยู่เสมอ
จนใจกับธรรม เป็นสิ่งเดียวกัน
เพราะแม้แต่พระศาสดาของเรา
ท่านก็ยังมีธรรมในพระทัยของท่าน เป็นสรณะ เช่นกัน
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวัน เสาร์ ที่ 6 พฤศจิกายน 2542
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่