mp 3 (for download) : หลักการดูจิต
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : เวลาที่เราดูจิตดูใจ ดูนามธรรม อันแรกเลยดูให้เห็นสภาวะจริงๆ สภาวะของสุขทุกข์ที่เกิด สภาวะของดี-ชั่วที่เกิด สภาวะของจิตใจซึ่งเกิดดับไปทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ให้เห็นสภาวะ
วิธีเห็นนะ ก่อนจะเห็นอย่าดักดู ให้สภาวะเกิดก่อนค่อยรู้เอา เนี่ยหลักของการดูจิตนะ
ข้อที่ ๑. ต้องดูให้เห็นปรมัตถธรรม ให้เห็นสภาวะ
ข้อที่ ๒. วิธีเห็นสภาวะ
๒.๑) วิธีจะเห็นสภาวะอันแรกเลย ก่อนจะเห็นอย่าไปรอดู อย่าดักดู ถ้าไปรอดูดักดูจะไม่เห็นอะไรเลย มันจะว่างนะ
๒.๒) ระหว่างที่ดูนะ ดูห่างๆ อย่ากระโจนเข้าไปดู อย่าถลำเข้าไปดู ดูแบบคนวงนอก ดูเหมือนว่าเราเห็นคนอื่น อย่างเราเห็นความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นเหมือนคนอื่นโกรธ เราเป็นแค่คนดู ต้องเป็นแบบนั้น ถ้าใจกับความโกรธไปรวมเข้าด้วยกันนะ มันจะกลายเป็นเราโกรธ พอเราโกรธดูไม่ได้ละ แต่ถ้าจิตมันอยู่ต่างหาก มันเห็นว่าความโกรธผ่านมาเหมือนเห็นคนอื่นโกรธ อันนี้มันจะเห็นเลยว่าความโกรธไม่ใช่เรา จิตนี้ก็จะไม่ใช่เราด้วย ความโกรธก็ไม่เที่ยง ความโกรธก็บังคับไม่ได้ จิตนี้ก็ไม่เที่ยง จิตนี้ก็บังคับไม่ได้ มันจะเห็นของมันนะ งั้นก่อนดูอย่าไปดักดู ระหว่างดูอย่าถลำลงไปดู ดูห่างๆ
๒.๓) ดูแล้วอย่าแทรกแซง เวลาที่จิตเราไปเห็นสภาวะนะ บางสภาวะจิตก็ยินดี บางสภาวะจิตก็ยินร้าย ถ้าจิตยินดีให้รู้ทัน ถ้าจิตยินร้ายให้รู้ทัน อย่าไปห้ามว่า ห้ามยินดียินร้าย บางคนก็สั่งจิตนะ “ไม่ว่าเธอนะ ไม่ว่าเธอต่อแต่นี้นะจะรู้อะไรเห็นอะไร เธอต้องอุเบกขา สักว่ารู้ สักว่าเห็น” หลวงพ่อได้ยินบางคนพูดกรรมฐานนะ สักว่ารู้ สักว่าเห็น ก็หันไปมองหน้า อย่างเธอไม่สักว่ารู้สักว่าเห็นหรอก เธอยังไม่เห็นอะไรเลย
สักว่ารู้ว่าเห็น ไม่ใช่เรื่องกระจอกนะ สักว่ารู้ว่าเห็นเป็นจิตซึ่งมีปัญญาแก่กล้ามากๆ แล้วนะ จิตถึง”สังขารุเบกขาญาณ” มีปัญญาจนกระทั่งเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งสุข ทั้งทุกข์ เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ต่อดีและชั่วถึงขนาดนั้นแล้ว ถึงจะสักว่ารู้สักว่าเห็นได้ ถ้าก่อนหน้านั้นไม่เป็นหรอกนะ มันจะไปเห็นอย่างนี้ก็ยินดี ไปเห็นอย่างนี้ก็ยินร้าย ไปได้ยินอย่างนี้ก็ยินดี ไปได้ยินอย่างนี้ยินร้าย ไปคิดอย่างนี้ก็ยินดี คิดอย่างนี้ก็ยินร้าย ได้รสอย่างนี้ยินดี ได้รสอย่างนี้ยินร้าย เนี่ยมันจะกระทบอารมณ์นะ แล้วเกิดยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ไม่ห้าม..นะ ให้รู้ทันความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น ถ้ารู้ไม่ทันเมื่อไหร่นะ จิตจะเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ เช่น เราเห็นความทุกข์เกิดขึ้น เราไม่ชอบ จิตก็จะแทรกแซงด้วยการหาทางทำให้ความทุกข์หายไป ทำยังไงจะดับ ทำยังไงจะดับ เวลาพวกเราภาวนา เคยอึดอัดมั๊ย เคยแน่นๆ เคยอึดอัดบ้างมั้ยภาวนา อยากให้หายมั๊ย เนี่ยมันจะแทรกแซง ให้รู้ทันว่าจิตยินร้าย แค่นี้พอแล้วนะ รู้ทันว่าจิตยินร้าย ทันทีที่รู้ว่าจิตยินร้าย ความยินร้ายจะดับอัตโนมัตินะ จิตจะเป็นกลาง แต่อันนี้กลางเพราะ”สติ ” ไม่ใช่กลางด้วย”สังขารุเบกขาญาณ” เป็นแค่กลางเบื้องต้น กลางด้วยสตินะ หรือมันยินดีขึ้นมา รู้ทันนะ ความยินดีก็ดับ จิตก็เป็นกลางด้วยสติ มีสติไปรู้ทันความยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายดับ จิตเป็นกลาง กลางชั่วคราว เดี๋ยวก็ยินดียินร้ายใหม่ เนี่ยคอยรู้ไป พอจิตมันเป็นกลางแล้ว ดูสภาวะทั้งหลายทำงานต่อไป ก็เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น..ตั้งอยู่..แล้วก็ดับไป
นี่หลักของการดูจิตนะ อันแรก ต้องดูให้เห็นสภาวะจริงๆ ไม่ใช่คิดเอา อันที่สองต้องดูให้ถูก วิธีดูให้ถูก..ก่อนดูอย่าไปดักดู..อย่าไปรอดู..ให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยดูเอา..ข้อที่สองของการทำให้ถูกคือ ดูห่างๆ ดูแบบคนวงนอก อย่าถลำเข้าไปดูนะ แล้วก็ ดูแล้วเกิดยินดี..ให้รู้ทัน เกิดยินร้ายให้รู้ทัน นี่หลักของการดูจิตให้เกิดปัญญา
ไม่ใช่ดูจิตให้นิ่งๆว่างๆ นะ อันนั้นดูให้เกิดสมถะ ส่วนใหญ่ที่เค้าฝึกกัน ที่เค้าบอกดูจิตๆ น่ะ ติดสมถะเกือบทั้งนั้นเลยนะ ที่หลวงพ่อเจอนะมีเขียนหนังสือตำหรับตำราสอนกัน อะไรต่ออะไรเนี่ย ติดสมถะซะเกือบทั้งหมดเลย ไม่ได้เห็นสภาวะเกิดดับจริงๆ หรอก บางทีเห็นแต่เหลือตัวหนึ่งเที่ยง เห็นความรู้สึกสุขทุกข์เกิดดับ เห็นความดีความชั่วเกิดดับ แต่จิตตัวนี้เที่ยง ประคองจิตเอาไว้ เนี่ยประคองตัวรู้เอาไว้ คนที่ประคองตัวรู้หน้าตามันจะไม่เหมือนคนปกติ มันจะเป็นยังงี้ (หลวงพ่อทำหน้าให้ดู) จะประคองตัวนี้เอาไว้นะ แล้วก็เห็นทุกอย่างไม่ใช่เรา ทุกอย่างเกิดดับ..แต่ไอ้ตัวนี้เที่ยง ถ้ายังเหลืออยู่อย่างนี้..ใช้ไม่ได้นะ ตัวรู้ตัวนี้ปลอม ตัวรู้ที่ใช้เดินปัญญาได้จริง..ต้องเกิดดับได้ ไม่สงวนตัวรู้เอาไว้ ท่านถึงสอนไง วิญญาณก็ไม่เที่ยงนะ ตัวจิตน่ะต้องไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์..สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรา เนี่ยถ้าตัวรู้เที่ยง..วิญญาณเที่ยง..เป็นพระโสดาไม่ได้หรอก งั้นถ้าใครเห็นจิตเที่ยงนะไม่ใช่โสดา ยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ งั้นเราดูนะเห็นสภาวะเค้าเกิดดับ ไม่สงวนตัวใดตัวหนึ่งไว้ เห็นทุกๆตัวที่เกิดนะ ดับทั้งสิ้น งั้นเวลาที่เป็นพระโสดาบัน ถึงสรุปว่า “สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ” ทุกสิ่งที่เกิดนั่นแหละ..ดับทั้งสิ้น ไม่มีสงวนตัวใดตัวหนึ่งไม่ให้ดับ
ข้อที่ ๓. ดูให้มาก ดูให้บ่อย ถ้านานๆ ดูที..ยาก กิเลสเอาไปกินหมด วันๆหนึ่งหลงตลอด หลายๆ วันมาดูจิตทีหนึ่ง โอ้..จิตโกรธได้เอง แล้วก็โกรธต่อไปเลย อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอกนะ ดูให้ถี่ๆ นะ ตั้งแต่ตื่นนอน..จนนอนหลับ หลับไปแล้วนะ..จิตมันดูอัตโนมัติต่อนะ หลับไปแล้วร่างกายนอนไป จิตลงภวังค์นิดเดียว จิตก็ขึ้นมาอีก จิตนะสว่างไสว เห็นร่างกายนอนกรนครอกๆ เลย จิตรู้ตัวขึ้นมา แล้วก็ความคิดไหลเข้ามา เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว อะไรมันรู้ได้หมดแหละ งั้นเราจะฝึกได้นะ ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่ถ้าเหนื่อย..ทำความสงบ ถ้าเจริญปัญญามากไป..เหนื่อยนะ พุธโทๆ ไป คิดถึงพระพุทธเจ้าไป คิดถึงสิ่งดีๆ คิดถึงทาน คิดถึงศีล อะไรของเราไป
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่ศาลากาญจนาภิเษก (ศาลาลุงชิน) ครั้งที่ ๗o
เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๗
File: 570921.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๓๗ วินาทีที่ ๒ ถึง นาทีที่ ๔๔ วินาทีที่ ๑
ตัด/ถอดคลิปส์โดยคุณ ok2077
ตรวจทานโดยคุณ พัลวัน
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่